ไปดูโรงเรียนส้มเขียวหวานที่คลองขลุง


การดำเนินกระบวนการ ต้องให้กำลังใจกัน โดยการหาข้อดีก่อน (การทำ AAR เป็นการเรียนรู้ไม่ใช่การตำหนิคนทำ)

          วันนี้ พานักส่งเสริมการเกษตรที่บรรจุใหม่ (มือใหม่) ลงฝึกปฏิบัติงานในภาคสนามทั้งวัน ภาคเช้าร่วมเรียนรู้กระบวนการโรงเรียนเกษตรกรส้ม ที่ตำบลท่ามะเขือ อำเภอคลองขลุง  และภาคบ่ายเก็บข้อมูลของเกษตรกรที่เข้าร่วมการผลิตส้มนอกฤดู ที่ตำบลยางสูง อำเภอขาณุวรลักษบุรี  มีนักส่งเสริมการเกษตรมือใหม่ จำนวน 7 ท่าน โดยมี อาจารย์ศักดา  ทวิชศรี คุณสายัณห์ คุณกิติกานต์ และผม ร่วมเดินทางไปด้วย

          เริ่มกันที่ โรงเรียนส้มเขียวหวาน ตำบลท่ามะเขือ อำเภอคลองขลุง วันนี้มีคณะวิทยากรการจัดการศัตรูส้มเขียวหวาน ของภาคเหนือ ซึ่งประกอบไปด้วย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรจาก จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ สุโขทัย และเจ้าภาพกำแพงเพชร จังหวัดละ  5 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากกรมฯ และเขตอีกประมาณ 10 คน ร่วมสังเกตและร่วมเรียนรู้ด้วยในวันนี้ มีเกษตรกรมาร่วมเรียนรู้ประมาณ 30 คน

          ในการดำเนินกระบวนการในวันนี้ทีมนักส่งเสริมของอำเภอคลองขลุง ได้ดำเนินการตามขั้นตอนคร่าวๆ โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ คือ

  • การนำเข้าสู่บทเรียน
  • การแบ่งกลุ่มและชี้แจงการสำรวจโรคและแมลง
  • การลงแปลงปลูกส้มเพื่อสำรวจโรคและแมลง
  • การสรุปผลการสำรวจแปลงปลูกส้ม
  • การนำเสนอผลการสำรวจแปลงฯ และการหาข้อสรุปการเรียนรู้
  • สรุปผลการเรียนรู้

                                         

          นักส่งเสริมมือใหม่ของเราก็ได้ร่วมสังเกตและเรียนรู้กระบวนการ และลงแปลงสำรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่มาจากต่างจังหวัด และเกษตรกรด้วย  ซึ่งก็เป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่ทีมงานต้องการถ่ายทอดให้มือใหม่ โดยการเห็นและได้ปฏิบัติจริงเพื่อที่จะได้เรียนรู้และเกิดทักษะสำหรับนำไปปรับใช้ในการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเกษตรกรในพื้นที่ที่รับผิดชอบของแต่ละคนต่อไป

          จากนั้น ได้เดินทางต่อไปยังตำบลยางสูง และได้ร่วมกันจัดทำ AAR ของภาคเช้ากันที่ยางสูง  โดยในการทำ AAR เราได้ฝึกมือใหม่ให้ทำหน้าที่ดำเนินการ โดยให้ส่งตัวแทน  1 คน มาเป็นคนดำเนินการ โดยการทำ  AAR  ได้ใช้คำถามหลัก ๆ 3 คำถาม คือ

  • ข้อดีของกระบวนการในวันนี้
  • จุดอ่อนของการดำเนินกระบวนการในวันนี้ และ
  • ให้วิเคราะห์กระบวนการและให้ข้อเสนอแนะ

          เริ่มคำถามกันที่ข้อดีก่อน อาจารย์ศักดา บอกว่าการดำเนินกระบวนการ ต้องให้กำลังใจกัน โดยการหาข้อดีก่อน (การทำ AAR เป็นการเรียนรู้ไม่ใช่การตำหนิคนทำ) แล้วจึงหาจุดอ่อน  และทำการวิเคราะห์กระบวนการโดยการฝึกการแกะกระบวนการทั้งหมดที่ได้ดำเนินการ  แล้วหากจะทำให้ดีขึ้น ทุกคนลองให้ข้อเสนอแนะ (โดยให้ทุกคนทำเป็นการบ้านและครั้งหน้านำมาแลกเปลี่ยนกัน)

          นี่เป็นกิจกรรมของภาคเช้า และการทำ AAR ของภาคเช้า ที่ทีมงานได้ดำเนินการร่วมสังเกตและเรียนรู้กันที่โรงเรียนเกษตรกรส้มเขียวหวานที่ตำบลท่ามะเขือ อำเภอคลองขลุง  ส่วนภาคบ่ายขอเขียนตอนต่อไปนะครับ

วีรยุทธ  สมป่าสัก  

        

   

หมายเลขบันทึก: 10537เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2005 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท