8 คาถา เด็กไทยไกลโรคอ้วน


ครอบครัวถือเป็นสถาบันหลัก และมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการกินของเด็กมาก ดังนั้นหากพ่อแม่ตระหนักถึงความสำคัญของโภชนาการ และปลูกฝังนิสัยการกินที่ดี ก็จะทำให้เด็กมีโภชนาการที่ดี และส่งผลให้มีสุขภาพที่ดีในอนาคต

วันที่ 19-21 ธ.ค.ที่ผ่านมาดิฉันมีโอกาสได้ไปประชุมวิชาการโภชนาการ'48 เรื่องการเผชิญความท้าทายด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อสุขภาพที่ดี ทำให้ทราบถึงสถานการณ์ภาวะโภชนาการในปัจจุบันที่ก้าวเข้าสู่ยุคที่ไม่ค่อยขาด แต่มักจะเกิน โดยเฉพาะในเรื่องของน้ำหนักตัว ไขมัน และน้ำตาลในเลือด นำมาสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด

ดังนั้นหลายๆองค์กรจึงออกมารณรงค์ในเรื่องของการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคอ้วน โดยเฉพาะการปลูกฟังเรื่องการกินของเด็ก ซึ่งนอกจากจะให้ยึดตามข้อแนะนำการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยที่จัดขึ้นโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขแล้ว ร.ศ.พ.ญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้จัดการชุดโครงการภาวะโภชนาการเกิน เครือข่ายวิจัยสุขภาพ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ยังให้ 8 คาถาเด็กไทยไกลโรคอ้วน เพื่อเป็นข้อแนะนำในการเลี้ยงดูสำหรับคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย ดังนี้ค่ะ

1.ไม่สอนให้เด็กกินจุบจิบ  พ่อแม่บางคนกังวลว่าเด็กจะหิวจึงหาขนมของว่างปรนเปรอเด็ก และคะยั้นคะยอให้เด็กกินโดยที่เด็กไม่ได้ร้องขอ ทำให้เด็กได้อาหารเกินความต้องการและยังติดเป็นนิสัยอีกด้วย

2.ไม่ซื้อขนม นมและอาหารสะสมไว้ในบ้านครั้งละเยอะๆ เนื่องจากเด็กจะไม่สามารถอดใจได้ และจะสร้างนิสัยให้เด็กกินครั้งละเยอะๆ

3.สอนให้กินผักและผลไม้ให้เป็นนิสัยแทนขนมและของว่างที่ทำให้อ้วน

4.สอนเด็กให้มีวินัยการกิน ให้กินเป็นเวลา ตักอาหารให้พอดีกิน ไม่กินทิ้งกินขว้าง บางครอบครัวจัดอาหารมากเกินถึง 2-3 เท่า กระตุ้นให้เกิดการกินแบบไม่ยั้ง การสอนให้เคี้ยวอาหารให้ละเอียดและกินพอดีอิ่ม จะเป็นผลดีต่อสุขภาพ

5.ไม่สอนให้เด็กกินอาหารรสจัด พ่อแม่บางคนชอบปรุงรสอาหาร ก๋วยเตี๋ยว 1 ชามต้องตักน้ำตาลทราย เหยาะน้ำปลาและใส่พริกหลายๆช้อน ทำให้เด็กอยากทำตาม สร้างนิสัยให้เด็กกินรสจัดตามซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ

6.ดื่มนมแต่พอดี พ่อแม่บางคนอยากให้ลูกสูงจึงให้ดื่มนมเป็นลิตรทั้งกลางวันกลางคืนเป็นเหตุให้อ้วนได้ เด็กอนุบาลควรได้รับนมวันละ 2-3 มื้อก็เพียงพอ เด็กโตควรได้รับวันละ 2 มื้อ

7.สร้างนิสัยการออกกำลังกาย ทั้งที่เป็นการเล่นกีฬาเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้กติกา และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และที่เป็นกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน

8.ลดกิจกรรมที่ไม่เคลื่อนไหวร่างกาย โดยเฉพาะการดูโทรทัศน์ซึ่งมักสัมพันธ์กับการกินจุบจิบ มีข้อแนะนำให้เด็กดูโทรทัศน์(ซึ่งอาจรวมการเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์)ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง

ครอบครัวถือเป็นสถาบันหลัก และมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการกินของเด็กมาก ดังนั้นหากพ่อแม่ตระหนักถึงความสำคัญของโภชนาการ และปลูกฝังนิสัยการกินที่ดี ก็จะทำให้เด็กมีโภชนาการที่ดี และส่งผลให้มีสุขภาพที่ดีในอนาคต

จุรีย์พร จันทรภักดี

นักกำหนดอาหาร

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 10532เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2005 18:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2012 12:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท