จังหวัดพิษณุโลกกับการพัฒนาสี่แยกอินโดจีน


การพัฒนาเส้นทางคมนาคมหลักเช่นนี้ ทำให้จังหวัดพิษณุโลก เป็นจุดตัดของเส้นทางจากเหนือสู่ใต้ และจากตะวันออกสู่ตะวันตก มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การบริการและการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต

< เมนูหลัก >

         การเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมอย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้จังหวัดพิษณุโลก และประชาคมชาวพิษณุโลก ได้ร่วมกำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาโดยมุ่งหวังให้พิษณุโลกเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือตอนล่าง ทั้งด้านพาณิชยกรรม ธุรกิจบริการ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การศึกษา การสาธารณสุข การบริหารราชการ และการคมนาคม ของภาคเหนือตอนล่างที่เชื่อมโยงกับภาคเหนือตอนบน ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

         นโยบายรัฐบาล ได้สนับสนุนให้มีการขยายฐานการผลิต และกระจายความเจริญออกมาสู่ภูมิภาค จึงเร่งรัดให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมายังจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางคมนาคมหลักเชื่อมระหว่างเมืองหลักของภาคที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ การก่อสร้างปรับปรุงเส้นทางจากนครสวรรค์สู่พิษณุโลก ให้เป็น 4 ช่องทางจราจร และจากพิษณุโลกผ่านอุตรดิตถ์ไปยังจังหวัดเชียงราย เพื่อเชื่อมต่อกับพม่า และจีนตอนใต้ ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงอยู่ในขณะนี้ ขณะเดียวกันการก่อสร้างปรับปรุงเส้นทางสายแม่สอด-มุกดาหาร ให้เป็น 4 ช่องทางจราจร ตามแนวเส้นทางที่เรียกว่า “East – West Corridor” ที่จะเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งพม่า ลาว และเวียดนาม การพัฒนาเส้นทางคมนาคมหลักเช่นนี้ ทำให้จังหวัดพิษณุโลก เป็นจุดตัดของเส้นทางจากเหนือสู่ใต้ และจากตะวันออกสู่ตะวันตก มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การบริการและการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต

         สภาพการณ์ที่เรียกขาน “สี่แยกอินโดจีน” จึงหมายรวมถึงกลุ่มจังหวัดของภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย กำแพงเพชร และอุตรดิตถ์ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะบังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ในส่วนของภาครัฐได้เตรียมความพร้อม ทั้งด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับผลจากการพัฒนาดังกล่าวไว้แล้วในระดับหนึ่ง

         จังหวัดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การพัฒนากลุ่มจังหวัดตามยุทธศาสตร์ “สี่แยกอินโดจีน” นี้จะได้รับความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานอย่างจริงจังจาก “ประชาคมจังหวัด” คือ ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาประชาชนและองค์กรประชาชน ในฐานะชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่คาดหวังไว้ ชาวพิษณุโลกจะผนึกกำลังร่วมกันทำให้สี่แยกอินโดจีนเป็นสี่แยกของความสำเร็จ และความผาสุกของประชาชนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างโดยสมบูรณ์

นายนิธิศักดิ ราชพิตร

ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก

จากบทนำหนังสือ “พิษณุโลก 2020 : วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาสี่แยกอินโดจีน”

         วิบูลย์ วัฒนาธร

หมายเลขบันทึก: 10500เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2005 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท