ช.พ.อ. กับการพัฒนาสี่แยกอินโดจีน


ณ วันนี้ ช.พ.อ. ยังเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถฝ่าข้ามไปได้ด้วยความหวังลึก ๆ ในหัวใจที่อยากเห็นการพัฒนาท้องถิ่นอย่างบูรณาการเช่นนี้กลายไป เป็นส่วนหนึ่งของการพลิกฟื้นประเทศไทยไปสู่อิสรภาพชั่วกาลนาน

< เมนูหลัก >

         ความตื่นตัวของนักธุรกิจ นักการเมือง นักวิชาการและชนชั้นนำของพิษณุโลกที่มีวิสัยทัศน์ถึงความเป็นเมืองศูนย์กลางในด้านต่าง ๆ ของจังหวัด อันเนื่องมาจากความได้เปรียบทางด้านภูมิยุทธศาสตร์นั้น ได้ก่อตัวมานานเกือบทศวรรษแล้วและเมื่อประกอบเข้ากับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของภาคเอกชนและภาครัฐในระยะ 5 ปี ที่ผ่านมา ได้ช่วยทำให้วิสัยทัศน์ดังกล่าวเริ่มมองเห็นเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเสียงขานรับจากกลุ่มและบุคคลต่าง ๆ ให้ท้องถิ่นดังขึ้นทุกที โดยมีการเรียกชื่อที่แตกต่างกันไปแต่มีความหมายที่ตรงกันเช่น “สี่แยกประเทศไทย”, “สี่แยกสู่กลุ่มประเทศอินโดจีน”, “ศูนย์กลางเอเชียตอนบน” ฯลฯ ซึ่งต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2540 มีนักคิด นักพัฒนาและข้าราชการกลุ่มหนึ่งได้หารือกันถึงเรื่องนี้โดยมีความเห็นร่วมกันว่า เพื่อที่จะให้การผลักดันยุทธศาสตร์สี่แยกอินโดจีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับผู้กำหนดนโยบายของชาติและระดับประชาคมท้องถิ่นนั้น จำเป็นต้องมีการรวมตัวกันทำงานวิชาการอย่างเข้มแข็ง จากนั้นจึงได้เกิดเป็น “ชมรมศึกษาเพื่อการพัฒนาสี่แยกอินโดจีน หรือ ช.พ.อ.” นี้ขึ้น

         ช.พ.อ. มีลักษณะการทำงานแบบชุมชนวิชาการ ซึ่งเน้นความสนใจและสมัครใจของสมาชิกโดยไม่มีข้อผูกมัดในการเข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น เน้นความหลากหลายขององค์ประกอบผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งส่วนที่เป็นข้าราชการ นักธุรกิจ นักพัฒนาเอกชน ผู้นำชาวบ้าน และนักวิชาการสถาบันต่าง ๆ เน้นการสร้างวัฒนธรรมความสัมพันธ์แบบแนวราบภายในองค์กร เน้นการศึกษารวบรวมข้อมูลความรู้ อันจำเป็นสำหรับการพัฒนาท้องถิ่นครบทุกด้าน ที่สำคัญเน้นการติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิกเพื่อรักษาและพัฒนาความเป็นชุมชนไว้ตลอดเวลา และรำลึกเสมอว่าเราเป็นจุดเริ่มเล็ก ๆ เพียงจุดเดียวที่พร้อมจะร่วมกิจกรรมกับบุคคล กลุ่ม และองค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ในรูปแบบเครือข่ายการพัฒนาท้องถิ่นที่เข้มแข็งให้มากเพียงพอสำหรับการแบกรับภารกิจการเป็นสี่แยกอินโดจีนที่มีความเจริญรุ่งเรือง และเป็นสังคมที่มีความสันติสุขในอนาคต

         นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากที่ชาวพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง เมื่อได้ทราบข่าวก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมของ ช.พ.อ. ด้วยจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จังหวัดกำแพงเพชร เพชรบูรณ์ สุโขทัย พิจิตร และอุตรดิตถ์ ตลอดจนอำเภอ กลุ่ม หน่วยงานและสถาบันต่าง ๆ ได้ดำเนินการจัดประชุมสัมมนาในเรื่องนี้ขึ้น ซึ่งได้รับความสนใจขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ช.พ.อ. ได้ชูปรัชญาของการพัฒนาร่วมกันเป็นกลุ่มจังหวัดสี่แยกอินโดจีนและการพัฒนาเมืองต่าง ๆ ไปสู่การเป็นกลุ่มเมืองขนาดเล็กที่มีความสำคัญ (Little Big Cities) จึงเกิดการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายประชาคมกลุ่มจังหวัดสี่แยกอินโดจีนได้อย่างรวดเร็ว

         ผมต้องขอขอบคุณสภาพัฒน์ฯ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ที่ได้ให้ความสนใจการทำงานของ ช.พ.อ. และได้กรุณาบรรจุ “ยุทธศาสตร์สี่แยกอินโดจีน” เข้าไว้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาภาคเหนือของประเทศ ทั้งยังได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อการเสริมสร้างประชาคมจังหวัดต่าง ๆ ในกลุ่มสี่แยกอินโดจีนอีกด้วย และเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ช.พ.อ. ซึ่งเดิมทำหน้าที่เป็นประชาคมเล็ก ๆ ของจังหวัดพิษณุโลก ได้ร่วมกับแกนนำของทุกจังหวัดในกลุ่ม ตกลงที่จะพัฒนา ช.พ.อ. ไปสู่การเป็นองค์กรประสานงานของเครือข่ายประชาคมกลุ่มจังหวัดสี่แยกอินโดจีน โดยมีตัวแทนของประชาคมทุกจังหวัดเข้าร่วมเป็นกรรมการ ช.พ.อ. ด้วยแล้ว ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งทีเดียว

         ช.พ.อ. มีความตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า แนวคิด “ประชาคมจังหวัด” เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งจำเป็นที่จังหวัดต่าง ๆ จะได้ศึกษาค้นคว้าและสะสมองค์ความรู้ ทักษะ และบทเรียนของตนเอง สำหรับแลกเปลี่ยน-เรียนรู้กับประชาคมอื่น ๆ และก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน แต่ ช.พ.อ. มีความเชื่อมั่นตลอดเวลาว่า ด้วยภูมิปัญญาในท้องถิ่นของกลุ่มจังหวัด จะสามารถนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนได้ หากมีการบริหารจัดการที่ดี และแม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายจากคณะรัฐมนตรี และด้านแผนงาน-งบประมาณจากสภาพัฒน์ฯ มากขึ้นก็ตาม ช.พ.อ. มองเห็นว่าการสร้างความตื่นตัวและเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาของประชาชนนั้นยังยาวไกลนัก ซึ่งภารกิจในการดำเนินงานระดับจุลภาคเช่นนั้นยังต้องอาศัยการทำงานอย่างทุ่มเทของสมาชิกอีกมากและ ณ วันนี้ ช.พ.อ. ยังเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถฝ่าข้ามไปได้ด้วยความหวังลึก ๆ ในหัวใจที่อยากเห็นการพัฒนาท้องถิ่นอย่างบูรณาการเช่นนี้กลายไป เป็นส่วนหนึ่งของการพลิกฟื้นประเทศไทยไปสู่อิสรภาพชั่วกาลนาน

พลเอกศิริ ทิวะพันธุ์

ประธานชมรมศึกษาเพื่อการพัฒนาสี่แยกอินโดจีน

20 สิงหาคม 2540

จากบทนำหนังสือ “พิษณุโลก 2020 : วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาสี่แยกอินโดจีน”

         วิบูลย์ วัฒนาธร

หมายเลขบันทึก: 10499เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2005 13:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท