เก็บมาเขียน


องค์กรการเงินชุมชนในภาคเหนือ
การดำเนินงานตามแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ผ่านมามีข้อจำกัดหลายประการทำให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นถูกจัดสรร ให้แก่ประชาชนไม่เท่าเทียมกันระหว่างประชาชนในเมืองกับชนบทประชาชนในชนบทซึ่งส่วนใหญ่ยากจนไม่มีโอกาสใช้บริการในสาธารณูปโภคต่างๆ ของรัฐได้อย่างเต็มที่รวมถึงการใช้บริการของสถาบันการเงินหลักทั้งด้านเงินฝากและสินเชื่อทำให้ต้องพึ่งพาตนเองโดยการร่วมกันจัดตั้งองค์กรการเงินชุมชน ในรูปแบบต่างๆพื่อช่วยเหลือด้านการเงินขึ้น การดำเนินงานขององค์กรดังกล่าวยังไม่มีกฏหมายรองรับ เช่นสถาบันการเงินอื่นๆ การจัดตั้งและการดำเนินการ ขององค์กรฯส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำชุมชนในท้องถิ่น เช่น พระสงฆ์ ครูหรือกำนันในท้องถิ่น องค์กรเอกชน และหน่วยราชการต่างๆ เป็นต้น

 

องค์กรการเงินชุมชนดังกล่าวเป็นองค์กรหรือกลุ่มที่คนในชุมชน/ท้องถิ่นหรือที่มีพื้นฐานการประกอบอาชีพเดียวกันซึ่งอาจตั้งขึ้นในเมือง หรือชนบทโดยมีวัตถุประสงค์คล้ายกันคือเพื่อช่วยเหลือทางการเงินซึ่งกันและกันในกลุ่มสมาชิกเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของคนในชุมชนโดยมีเป้าหมาย เพื่อให้ชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้นและสามารถพึ่งตนเองได้ โดยจัดให้มีการออมทรัพย์ร่วมกันเป็นกองทุนกลางในชุมชนและให้กู้ยืมแก่สมาชิก เพื่อนำไปพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้สมาชิกในกลุ่มมีการรวมตัวกันเพื่อพึ่งพาตนเองทั้งในรูปของการดำเนินกิจกรรมชุมชน อาทิการค้าการรวมกลุ่มอำนาจเพื่อการต่อรอง

 

การดำเนินกิจกรรมขององค์กรการเงินชุมชนในภาคเหนือมีรูปแบบการดำเนินงานที่คล้ายกัน โดยรวมกลุ่ม สมาชิกเพื่อออมในรูปแบบต่างๆ เช่น เป็นหุ้น เป็นเงินฝาก และนำเงินออมดังกล่าวให้สมาชิกที่มีความต้องการทุนกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมต่อกลุ่มและสมาชิกเอง การดำเนินกิจกรรมทางการเงินดังกล่าวเปรียบเสมือน “ธนาคารในชุมชน” ที่ชาวบ้านเป็นเจ้าของและจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่พึ่งทางการเงินของชาวบ้านในชุมชน องค์กรการเงินชุมชนในภาคเหนืออาจจำแนกได้เป็น 5 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้

 

1. สหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นองค์กรการเงินชุมชนที่มีสัดส่วนเป็นอันดับหนึ่งในภาคเหนือ ณ สิ้นปี 2541 มีเงินออม ทั้งสิ้น 8.0 พันล้านบาท จากจำนวนสหกรณ์ 128 แห่ง สมาชิก ประมาณ 290,000 คน ทุนดำเนินการ 14.8 พันล้านบาท ขณะที่ปริมาณการให้สินเชื่อรวมของสหกรณ์ประมาณ 31.4 พันล้านบาท สหกรณ์ออมทรัพย์จัดตั้งขึ้นเพื่อให้สมาชิกแต่ละคนฝากเงินไว้กับสหกรณ์อย่างสม่ำเสมอในรูปของการถือหุ้นสหกรณ์และฝากเงิน และเมื่อสมาชิกประสบความเดือนร้อนด้านการเงินก็สามารถกู้ยืมจากสหกรณ์ฯได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสถาบันการเงิน โดยทั่วไปสหกรณ์ออมทรัพย์ตั้งขึ้นในสถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ โรงงาน บริษัท สถานศึกษา และชุมชนต่างๆ ซึ่งสมาชิกมีเงินเดือนประจำ การจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในโรงงานหรือบริษัท นอกจากจะช่วยให้พนักงานมีการออมทรัพย์เพื่อตนเองแล้วยังสามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงานกับเจ้าของกิจการ

 

2. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนและกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน มีอุดมการณ์เพื่อพัฒนาคนให้เป็นผู้ที่มี “ความซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ เห็นอกเห็นใจ และไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน” โดยการประหยัดออมและให้สินเชื่อยามจำเป็น ในปี 2521 กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ประเภทออมทรัพย์ ต่อมาในปี 2522 มีการรวมตัวเป็นเครือข่ายระดับชาติ คือ “ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด” นอกจากนั้นในระดับท้องถิ่นยังมีการรวมตัวในรูปของชมรม เรียกว่าศูนย์ประสานงานหรือชมรมเครดิตยูเนี่ยน ซึ่งมีจำนวน กว่า 13 แห่งทั่วประเทศ ข้อมูล ณ สิ้นปี 2541 ในภาคเหนือมี สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนประมาณ 60 แห่ง มีสมาชิกประมาณ 26,000 คน ขณะที่ปริมาณการออมประมาณ 236.5 ล้านบาท ทุนดำเนินงานรวม 197.3 ล้านบาท ปริมาณการให้กู้ยืมแก่ สมาชิกรวม 293.4 ล้านบาท

 

3. กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ได้รับการส่งเสริมจากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 วัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันออมเงินเพื่อให้ กู้ยืมในการพัฒนาอาชีพ ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2541 มีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตในภาคเหนือกว่า 3,100 กลุ่มใน 17 จังหวัด สมาชิกกว่า 247,000 คน ปริมาณเงินสัจจะสะสมรวม 430 ล้านบาท

 

4. ธนาคารหมู่บ้าน ดำเนินโครงการธนาคารหมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2532 โดยคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อมามีมูลนิธิเผยแพร่ชีวิตประเสริฐและสหกรณ์แรงงานภาคเกษตรกรรมระหว่างประเทศสนับสนุน จุดมุ่งหมายเพื่อมุ่งพัฒนาคน โดยยึดหลักกลยุทธ์ “บ้าน วัด โรงเรียน” เป็นหลัก ให้ผู้นำชาวบ้าน เจ้าอาวาส ครู ในท้องถิ่น เข้ามาร่วมเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษา ต่อมาเมื่อปี 2537 ได้จัดตั้งสมาคมนักพัฒนาหมู่บ้านแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรกลาง ประสานงานธนาคารหมู่บ้านทั่วประเทศ และมีการจัดตั้งเครือข่ายธนาคารหมู่บ้านในระดับจังหวัด 3 แห่ง ได้แก่ที่จังหวัดพะเยา นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช จุดมุ่งหมายของธนาคารหมู่บ้านคือส่งเสริมให้เกิดธนาคารประชาชนซึ่งคนจนในชนบทร่วมเป็นเจ้าของร่วมบริหารและร่วมรับผลประโยชน์อย่างเสมอภาค

 

5. กลุ่มออมทรัพย์ เป็นองค์กรการเงินชุมชนที่มีการจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเช่นเดียวกับองค์กรการเงินชุมชนข้างต้น แต่มีชื่อแตกต่างกันออกไป เช่น กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ กลุ่มออมทรัพย์ชุมชนเมือง เป็นต้น กลุ่มออมทรัพย์เหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากแกนนำหรือองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น มูลนิธิไทยเพื่อการพัฒนา มูลนิธิ ศึกษาพัฒนาชนบท มูลนิธิฟื้นฟูชนบท เป็นต้น นโยบายของกลุ่มจะถูกกำหนดโดยแกนนำ เช่น มูลนิธิไทยเพื่อการพัฒนา จะสนับสนุนให้ประชาชนในหมู่บ้านมีจิตสำนึกในการออม โดยตั้งกลุ่มและเก็บเงินจากสมาชิกในองค์กร 1 บาท/คน/วัน และให้ความช่วยเหลือสมาชิก ในกลุ่มหากมีความจำเป็นต้องการเงินทุนเพื่อการยังชีพ ยึดแนวคิดการพึ่งตนเองและสร้างการมีส่วนร่วม และความเป็นเจ้าขององค์กร มูลนิธิฯจะให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาอาชีพในครัวเรือนและการทำกิจการร่วมกัน ณ สิ้นปี 2540 มีกลุ่มออมทรัพย์กว่า 80 กลุ่ม สมาชิกกว่า 3,400 ครอบครัวใน 70 หมู่บ้าน ประมาณเงินออมของกลุ่มรวม 8.1 ล้านบาท และเงินให้สินเชื่อรวมกว่า 9.2 ล้านบาท มูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท ให้การสนับสนุนกลุ่มออมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และพะเยาโดยอาศัยวัฒนธรรมของสังคมไทยในชนบทที่มีวัดเป็นศูนย์กลาง ของสังคมในชุมชนยึดแนวทางในการดำเนินงานของกลุ่มสี่ประการได้แก่ ทุน ความรู้ ความคิด และคุณธรรม ปัจจุบันกลุ่มออมทรัพย์ประมาณ 15 กลุ่ม วัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกมีทุนในการประกอบอาชีพ โดยให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ มูลนิธิฟื้นฟูชนบทแกนนำการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์โดยดำเนินตาม แนวความคิดของเครดิตยูเนี่ยนคือออมทุกเดือนและเน้นการออมในกลุ่มสตรี เป็นสำคัญ

ที่มา : จากเว็บไซด์ของธนาคารแห่งประเทศไทย

หมายเลขบันทึก: 10474เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2005 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากทราบการดำเนินการของสหกรณ์ชุมชนหรือความเป็นมาของสหกรณ์ชุมชนว่ามีหรือเปล่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท