ตัวอย่างการสอนชีววิทยาในสภาพไม่พร้อม..ให้น่าสนใจ


ตัวอย่างขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนชีววิทยาแบบสืบเสาะหาความรู้อย่างง่ายๆ เรื่อง พฤติกรรมของสัตว์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือ สารเคมีและอุปกรณ์การทดลองอะไรมากมาย ไม่จำเป็นต้องใช้สื่อเทคโนโลยีอันทันสมัย แต่สามารถฝึกให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์สังเคราะห์ ใช้วิธีการและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งยังสามารถทำให้นักเรียนสนใจและเอาใจใส่ต่อการเรียนชีววิทยาได้

ในสภาพขาดแคลนเครื่องมือ สารเคมีและอุปกรณ์การทดลอง เพราะงบประมาณจำกัด ทำให้ครูต้องจัดการเรียนการสอนชีววิทยาด้วยการบรรยาย ทำให้นักเรียนต้องเรียนด้วยการทำความเข้าใจเนื้อหาและท่องจำ โอกาสจะได้ฝึกคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์น้อย การเรียนชีววิทยาจึงไม่น่าสนใจในสายตาของนักเรียน


สภาพดังกล่าวนับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้(Inquiry cycle) ซึ่งเน้นให้นักเรียนค้นหาความรู้ใหม่ด้วยตนเอง โดยผ่านกระบวนการคิดและใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือ ตามที่สาขาชีววิทยา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) ได้เผยแพร่ขยายผลให้แก่ครูผู้สอน


อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าครูผู้สอนชีววิทยาหลายๆคน ซึ่งสอนอยู่ในโรงเรียนที่มีสภาพไม่พร้อมเช่นนี้ คงไม่ยอมจำนนด้วยการใช้แต่การสอนแบบบรรยายแต่เพียงอย่างเดียว


บทความนี้ใคร่ขอเสนอตัวอย่างขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนชีววิทยาแบบสืบเสาะหาความรู้อย่างง่ายๆ เรื่อง พฤติกรรมของสัตว์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือ สารเคมีและอุปกรณ์การทดลองอะไรมากมาย ไม่จำเป็นต้องใช้สื่อเทคโนโลยีอันทันสมัย แต่สามารถฝึกให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์สังเคราะห์ ใช้วิธีการและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งยังสามารถทำให้นักเรียนสนใจและเอาใจใส่ต่อการเรียนชีววิทยาได้


ขั้นแรก : สร้างความสนใจ


1) ทบทวนความรู้เดิมของนักเรียน ด้วยการซักถาม สนทนา ในเรื่องการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของสิ่งมีชีวิต กลไกการทำงานของระบบประสาท หน่วยปฏิบัติงาน ประโยชน์ของการรับรู้และตอบสนอง ฯลฯ เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปว่า

  • ปฏิกิริยาหรืออาการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของสิ่งมีชีวิตเรียกว่า พฤติกรรม
  • พฤติกรรม เกิดจากกลไกการทำงานของระบบประสาท

2) ยกตัวอย่างพฤติกรรมต่างๆ ให้นักเรียนร่วมกัน อภิปราย และตอบร่วมกัน เช่น พฤติกรรมของมนุษย์ต่อไปนี้ ได้แก่ การพูด การเดิน การกินอาหาร การร้องไห้ ฯลฯ สามารถเกิดขึ้นได้โดยต้องได้รับการฝึกฝนมาก่อนหรือไม่ เพราะเหตุใด เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปพฤติกรรมที่มีมาแต่กำเนิด และพฤติกรรมจากการเรียนรู้


3) ตั้งคำถามเพื่อให้นักเรียนอภิปราย แสดงความคิดเห็นร่วมกันต่อไป ดังนี้

  • สิ่งมีชีวิตอะไรบ้างที่สามารถแสดงพฤติกรรมได้ เพราะอะไร
  • สัตว์แสดงอาการดีใจ เสียใจ ด้วยการร้องไห้ ยิ้ม หรือหัวเราะได้หรือไม่
  • สัตว์สื่อสารกับสัตว์ชนิดเดียวกันหรือพวกเดียวกันได้ด้วยวิธีใดบ้าง
  • สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว เช่น พารามีเซียม แสดงพฤติกรรมได้หรือไม่
  • สัตว์อะไรบ้าง ที่แสดงพฤติกรรมการเรียนรู้ได้ดี
  • พฤติกรรมของมนุษย์เหมือนกับพฤติกรรมของสัตว์อย่างไร

ขั้นที่สอง : สำรวจและค้นหา

4) แบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อย เพื่อช่วยกันออกแบบการทดลองศึกษาพฤติกรรมของสัตว์


5) จากนั้นให้นักเรียนเขียนบันทึกแบบการทดลองส่ง โดยกำหนดให้แสดงรายละเอียดในหัวข้อ ดังต่อไปนี้ ชื่อเรื่อง จุดประสงค์ ปัญหา สมมติฐาน ตัวแปรต่างๆ วิธีการทดลอง อุปกรณ์การทดลอง แนวบันทึกผลการทดลอง และเอกสารอ้างอิง


ขั้นที่สาม : อธิบายและลงข้อสรุป


6) ครูสุ่มเลือกนักเรียนนำเสนอแบบการทดลองของกลุ่มตนเอง โดยให้นักเรียนทั้งชั้นร่วมกันอภิปรายถึงจุดเด่น และข้อควรเพิ่มเติม ในประเด็นต่อไปนี้ พฤติกรรมของสัตว์ การกำหนดตัวแปรต่างๆ ความสอดคล้องของหัวข้อที่นำเสนอ ความสามารถทำได้จริง รวมถึงความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นในการทดลอง


7) ร่วมอภิปรายสรุปสาระสำคัญพฤติกรรมของสัตว์ ซึ่งควรจะสรุปได้ว่า

  • พฤติกรรม คือ ปฏิกิริยาที่สิ่งมีชีวิตแสดงออกมาตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้น เพื่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต
  • การศึกษาพฤติกรรมทำได้ 2 วิธี คือ วิธีทางสรีรวิทยา และทางจิตวิทยา โดยที่วิธีทางสรีรวิทยาได้แบ่งพฤติกรรมของสัตว์ได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ พฤติกรรมที่มาแต่กำเนิด และพฤติกรรมการเรียนรู้
  • พฤติกรรมที่มีมาแต่กำเนิด เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมาได้โดยไม่ต้องได้รับการฝึกฝน สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม ได้แก่ โอเรียนเตชัน พฤติกรรมรีเฟล็กซ์ และพฤติกรรมรีเฟล็กซ์แบบต่อเนื่อง
  • พฤติกรรมการเรียนรู้เป็นพฤติกรรมที่อาศัยประสบการณ์ จึงจะแสดงพฤติกรรมออกมาได้ ได้แก่ พฤติกรรมการเรียนรู้แบบแฮบบิชูเอชัน การฝังใจ การมีเงื่อนไข การลองผิดลองถูก และการใช้เหตุผล
  • ความสามารถในการแสดงพฤติกรรมมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาการของระบบประสาท โดยเฉพาะมนุษย์จึงสามารถแสดงพฤติกรรมการใช้เหตุผลที่ซับซ้อนได้ดี
  • เมื่อสัตว์พวกเดียวกันมาอยู่รวมกัน ย่อมเกิดพฤติกรรมทางสังคม เพื่อสื่อความหมายด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจซึ่งกันและกัน และสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้

ขั้นที่สี่ : ขยายความรู้

8) นักเรียนจัดเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ล่วงหน้า แล้วช่วยกันทำปฏิบัติการ โดยการทดลอง ตามที่แต่ละกลุ่มได้ออกแบบ และร่วมกันอภิปรายในชั้นเรียนมาแล้ว จากนั้นเขียนรายงานผลการทดลองส่ง

9) ครูสุ่มให้นักเรียนบางกลุ่มนำเสนอผลการทดลอง ปัญหาอุปสรรคในการทดลองจริง จากนั้นให้นักเรียนทั้งชั้นร่วมกันอภิปรายถึงจุดเด่น ข้อควรเพิ่มเติม รวมถึงให้นักเรียนถามตอบซึ่งกันและกันในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ

ขั้นที่ห้า : ประเมิน


10) นักเรียนร่วมกันอภิปราย สิ่งที่เรียนรู้ทั้งหมด ในเรื่องพฤติกรรมของสัตว์


11) นักเรียนยกตัวอย่างพฤติกรรมต่างๆ ที่นักเรียนนำหลักการจากการเรียนรู้ไปใช้ หรืออาจจะพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน


ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างผลการศึกษาทดลองเรื่อง พฤติกรรมของสัตว์ ของนักเรียนโรงเรียนบ้านกร่างวิทยาคม ต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก ซึ่งได้จัดการเรียนการสอนตามขั้นตอนดังกล่าว ด้วยตัวของผู้เขียนเอง


การศึกษาพฤติกรรมกินเบ็ดของปลาหมอ

นักเรียนศึกษาทดลองโดยการนำปลาหมอมาใส่ไว้ในกะละมังซึ่งจำลองสภาพแวดล้อมให้เหมือนธรรมชาติ แล้วใช้เบ็ดตกปลาหมอในกะละมังนั้น นับจำนวนปลาที่กินเบ็ดหาค่าร้อยละ พร้อมกับแยกปลาตัวที่กินเบ็ดออกมา จากนั้นจึงใช้เบ็ดตกปลาหมอที่เคยกินเบ็ดมาแล้วเหล่านี้อีก นับจำนวนปลาที่กินเบ็ดและหาค่าร้อยละอีกครั้ง แล้วนำร้อยละของปลาหมอที่กินเบ็ดทั้งสองครั้งที่ได้มาเปรียบเทียบกัน ผลการทดลองพบว่าร้อยละของปลาหมอที่กินเบ็ดซ้ำอีกครั้ง จะมีค่าน้อยกว่าร้อยละของปลาหมอที่ไม่เคยกินเบ็ดมาก่อน แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมการกินเบ็ดของปลาหมอเป็นแบบลองผิดลองถูก


การศึกษาพฤติกรรมหาอาหารของหนู

นักเรียนศึกษาทดลองโดยการนำหนูมาใส่ไว้ในกล่องซึ่งจัดทำให้เป็นชั้น เป็นขั้นบันได แล้วนำอาหารของหนูวางไว้ที่ชั้นบนสุด จากนั้น จึงสังเกตบันทึกผลพฤติกรรมของหนู ที่จะไปนำอาหารนั้นมากิน ผลการทดลองพบว่า หนูสามารถหาวิธี โดยการขึ้นไปบนชั้น บนขั้นบันได และนำอาหารมากินได้อย่างง่ายดาย แสดงว่าหนูมีพฤติกรรมการใช้เหตุผลในการหาอาหาร


การศึกษาพฤติกรรมเลือกแหล่งที่อยู่ของไส้เดือนดิน

นักเรียนศึกษาทดลองโดยการจับไส้เดือนดินมาใส่ไว้ในกล่อง ซึ่งได้จัดสภาพแวดล้อมภายในให้มีความชื้น แต่โดยรอบจัดแยกเป็นส่วนต่างๆกัน 4 แบบ ได้แก่ ดินเหนียว ดินร่วน ทราย และดินน้ำมัน ทำการทดลองซ้ำหลายๆครั้งพร้อมบันทึกว่าไส้เดือนดินเลือกจะเคลื่อนที่ไปสู่สภาพแวดล้อมแบบใด สภาพ แวดล้อมนั้นก็น่าจะเป็นแหล่งที่อยู่ที่เหมาะสม ผลการทดลองพบว่าในครั้งหลังๆของการทดลองไส้เดือนดินเลือกจะเคลื่อนที่ไปสู่สภาพแวดล้อมที่เป็นดินร่วนมากกว่า แสดงว่าไส้เดือนดินใช้พฤติกรรมลองผิดลองถูกในการเลือกแหล่งที่อยู่ และดินร่วนเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม


การศึกษาพฤติกรรมเกี้ยวพาราสีของปลา

นักเรียนสงสัยว่าพฤติกรรมเกี้ยวพาราสีของปลากัดตัวผู้กับตัวเมีย ซึ่งเป็นพฤติกรรมทางสังคมสื่อสารกันด้วยท่าทางอย่างที่นักเรียนเคยรู้เห็นเมื่อตั้งขวดเทียบกันนั้น จะเกิดขึ้นกับปลาชนิดอื่นได้หรือไม่ และถ้าในกรณีนำปลาชนิดอื่นมาเข้าคู่กับปลากัดตัวผู้หรือตัวเมียแทน พฤติกรรมการเกี้ยวพาราสีของปลากัดจะเกิดขึ้นเหมือนเดิมหรือไม่ นักเรียนศึกษาทดลองโดยการนำปลากัด และปลาอื่นๆ ที่เลี้ยงไว้มาตั้งขวดเทียบกัน แล้วสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ผลการทดลองว่า เมื่อตั้งขวดเทียบกันระหว่างปลาตัวผู้กับตัวเมียของปลาชนิดอื่นๆ และ ระหว่างปลาชนิดอื่นกับปลากัด (สลับทดลองทั้งตัวผู้และตัวเมียแล้วแต่กรณี) พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของปลาสังเกตได้ไม่ชัดเจนจึงไม่สามารถสรุปได้ว่าปลาอื่นๆแสดงพฤติกรรมเกี้ยวพาราสีได้อย่างปลากัดหรือไม่ นักเรียนตั้งข้อสังเกตว่าระยะเวลาที่ใช้ในการทดลองอาจจะน้อยเกินไป


การศึกษาพฤติกรรมของหนูเมื่อดมแอลกอฮอล์

นักเรียนศึกษาทดลองโดยนำหนูมาใส่ไว้ในกรง สังเกตบันทึกพฤติกรรมต่างๆของหนู จากนั้นจับให้หนูดมแอลกอฮอล์จากสุรา ทิ้งไว้สักครู่แล้วจึงสังเกตบันทึกผลพฤติกรรมต่างๆของหนูอีกครั้ง ผลการทดลองพบว่า หนูมีการเคลื่อนที่ กระโดดปีนป่ายไปมามากขึ้น กระวนกระวาย กระสับกระส่าย คล้ายคลุ้มคลั่ง แสดงว่าฤทธิ์ของแอลกอฮอล์น่าจะไปมีผลต่อการทำงานของสมอง เช่นเดียวกับคนเมาสุราเช่นกัน จึงทำให้พฤติกรรมของหนูเปลี่ยนแปลงจากปกติ


การศึกษาพฤติกรรมหาอาหารของมด

นักเรียนศึกษาทดลองโดยการเลือกบริเวณที่มีฝูงมดอาศัยอยู่ แล้วนำอุปกรณ์เส้นทางเขาวงกตซึ่งตรงกลางมีน้ำตาล(อาหารของมด)ที่นักเรียนได้ร่วมกันจัดเตรียมจากนั้น สังเกต บันทึกระยะเวลาที่มดกลุ่มแรกเลือกเส้นทางเดินถูกต้องมาถึงน้ำตาลได้ ทำการทดลองซ้ำเช่นนี้หลายๆครั้ง กับมดกลุ่มเดิม แล้วเปรียบเทียบระยะเวลาแต่ละครั้งที่มดใช้ ผลการทดลองพบว่า เวลาที่ใช้ในการไปหาอาหารของมดในแต่ละครั้งไม่มีความแตกต่างกัน แสดงว่าการหาอาหารของมดไม่ใช่พฤติกรรมจากการเรียนรู้


ตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนชีววิทยาแบบสืบเสาะหาความรู้ดังกล่าว นอกจากจะเป็นการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางการเผยแพร่-ขยายผลของสาขาชีววิทยา(สสวท.)แล้ว ยังจัดเป็นการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 อีกด้วย


ที่สำคัญไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือ สารเคมี และอุปกรณ์การทดลองอะไรมากมาย ไม่จำเป็นต้องใช้สื่อเทคโนโลยีอันทันสมัย แต่สามารถฝึกให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์สังเคราะห์ ใช้วิธีการและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งยังสามารถทำให้นักเรียนสนใจและเอาใจใส่ต่อการเรียนชีววิทยาได้


เอกสารอ้างอิง

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 2547. หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐานและเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 3. โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว. กรุงเทพฯ.

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 2547. คู่มือครูสาระการเรียนรู้พื้นฐานและเพิ่มเติมชีววิทยา เล่ม 3. โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว. กรุงเทพฯ.สาขาชีววิทยา

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 2548. เอกสารประกอบการเผยแพร่ยายผล และอบรม รูปแบบการเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้(Inquiry Cycle).


    หมายเลขบันทึก: 104224เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2007 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2017 09:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (3)

    ขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงที่อนุเคราะห์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ขอบพระคุณค่ะ

    ขอบคุณเด็กน้อยตาดำๆเช่นกันครับ

    รู้สึกว่าข้อมูลจะขาดเยอะ และยังไม่มีการสรุปในแต่ละการทดลอง

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท