สคส. กับการสร้างเสริมสุขภาพ


สคส. กับการสร้างเสริมสุขภาพ

         สคส. เกิดขึ้นจากการสนับสนุนด้านการเงินจาก สสส.   เพราะ สสส. เชื่อว่าการสร้างเสริมสุขภาพที่จะได้ผลดีนั้นต้องใช้ความรู้   ต้องมีการสร้างความรู้ว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาพ   ซึ่งการสร้างความรู้ที่ดีที่สุดดำเนินการผ่านการปฏิบัติ (action) ในการสร้างเสริมสุขภาพเอง  

         กิจกรรมนี้คือ KM

         สคส. จึงต้องหาทางพิสูจน์ว่ากิจกรรม/เครือข่าย KM ที่ สคส. เข้าไปขับเคลื่อนนั้นก่อผลดีต่อการสร้างเสริมสุขภาพ

         ในรายงานประจำปี KM ประเทศไทย (สคส.) 2548  หน้า 29 - 36 เราได้รายงานผลการประเมินตัวเองโดยใช้ตัวชี้วัดที่ช่วยกันคิดขึ้น   และในหน้า 33 มีอยู่ 1 ตัวชี้วัด   เราให้ผลการประเมินเป็นสีแดง (ซึ่งหมายถึงควรได้รับการปรับปรุง) คือ  จำนวนประเด็น  และร้อยละความครอบคลุมในสุขภาพสำคัญของเครือข่าย

         ในตอนนั้นเราระบุประเด็นที่มีการทำ KM ไว้ว่าได้แก่ HA,  HPH,  อาหารปลอดสารพิษ,  เบาหวาน,  สุขภาพจิตภัยพิบัติ,  สุขภาพจิตชุมชน,  ไข้เลือดออก,   ไข้หวัดนก,  วิกฤติวัยรุ่น   รวม 9 ประเด็น

         คนที่มีส่วนสำคัญในการคิดตัวชี้วัดนี้คือ  อ. กรกฎกับคุณแกบ   ตอนนำเสนอภาพรวมของตัวชี้วัดทั้งหมดและผลการประเมิน   ผมรู้สึกสะดุดตรงตัวชี้วัดตัวนี้   แต่ยังไม่มีเวลาไตร่ตรอง   ตอนจะพิมพ์รายงานประจำปีคุณแกบก็มาถามว่าส่วนนี้จะลงไหม   ถ้าลงเกรงจะเป็นการประจานตัวเอง   เพราะมีผลประเมินสีแดงอยู่ตรงนี้   และยังมีสีเหลือง (หมายถึงผลงานดี  มีข้อปรับปรุงเล็กน้อย) เต็มไปหมด   ผมก็บอกให้เอาลง   เพราะเราต้องการเปิดเผยความจริง   แม้จะเป็นการเปิดเผยจุดอ่อนของเราก็ตาม

         รายชื่อบล็อกและสาระของบันทึกในบล็อก Gotoknow.org ทำให้ผมหวนกลับมาคิดเรื่อง "จำนวนประเด็น และร้อยละความครอบคลุมในสุขภาพสำคัญของเครือข่าย"

ผมลองค้นหา "ชุมชนบล็อก" ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพใน Gotoknow.org พบดังนี้
     1. Communities of Diabetes Care   เป็นชุมชนที่รวบรวมบล็อกของทีมดูแลผู้ป่วยเบาหวานของโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อเป็นเวทีสำหรับการ ลปรร. ระหว่างกัน   มีบล็อกสมาชิก 29 บล็อก
     2. womanhealth  สำหรับผู้สนใจการดูแลสุขภาพสตรี   มีสมาชิก 1 บล็อก
     3. การวิจัยสร้างเสริมสุขภาพ   เป็นแหล่งรวมของเรื่องเล่าเกี่ยวกับการวิจัยสร้างเสริมสุขภาพ   มีสมาชิก 4 บล็อก
     4. ชมรม 2 ล้อเพื่อสุขภาพ   ชุมชนคนออกกำลังโดยใช้จักรยาน   มีสมาชิก 3 บล็อก
     5. พยาบาลเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน   นำแนวคิดการส่งเสริมและสร้างเสริมสุขภาพในชุมชนมาใช้ในการปฏิบัติงานในชุมชน   มีสมาชิก 2 บล็อก
     6. รวมพลคนรักสุขภาพ   เป็นที่แลกเปลี่ยนกลเม็ด  เคล็ดลับ  ความสำเร็จเกี่ยวกับการสร้างสุขภาพของคนรักสุขภาพทั้งหลาย   มีสมาชิก 10 บล็อก
     7. สำนักงานสาธารณสุขอำเภอพะโต๊ะ   เพื่อพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพชุมชนแบบองค์รวม   มีสมาชิก 13 บล็อก
     8. เครือข่ายความรู้ทันตสุขภาพ   มีสมาชิก 3 บล็อก
     9. เครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพด้วยกระบวนการคุณภาพ HA   มีสมาชิก 10 บล็อก

         ผมลองนับใหม่   นับจำนวนบล็อกที่มีชื่อหรือประกาศตัวว่าเกี่ยวข้องกับสุขภาพ   นับได้ 57 บล็อก   ตัวเลขนี้คงจะต่ำกว่าความเป็นจริงมาก   เพราะหลายบล็อกเขียนเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพด้วย    แต่ไม่ได้ประกาศตัวเป็นบล็อกที่บันทึกเรื่องสุขภาพ   เช่น KMI Thailand ของผมประกาศตัวเป็นบล็อกที่บันทึกเรื่อง KM    แต่จริง ๆ แล้วบันทึกเรื่องราวหลากหลายมาก  รวมทั้งเรื่องสุขภาพ

         ลองนับอีกทีหนึ่ง   นับจำนวนบันทึกที่มีคำว่าสุขภาพอยู่ด้วย   พบว่ามีมากมาย   ผมใช้วิธีนับแบบเร็ว   ซึ่งอาจจะผิดพลาดได้บ้างแต่คงจะ+10 หรือ - 10   ได้จำนวน 1,208 บล็อก   ผมดูผ่าน ๆ มีหัวข้อว่าด้วยเรื่องอาหารและโภชนาการ   ความอ้วน  การออกกำลังกาย   สุขภาวะชุมชน  เบาหวาน  สุขภาพฟัน  วัณโรค  เอดส์   PCU  บุหรี่  มะเร็งปอด  ชราภาพ-ผู้สูงอายุ  อีคิว  เด็ก  เป็นต้น

         ผมจึงสรุปกับตัวเองว่าการมองผลงานของ สคส. มองได้หลายแบบเพราะผลงานของ สคส. ทำผ่าน "การขับเคลื่อนเครือข่าย"   ซึ่ง สคส. ทำกิจกรรมขับเคลื่อนที่หลากหลายมาก   อาทิ
     - มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ
     - บล็อก (Gotoknow.org)
     - หนังสือหลายเล่ม  เช่น  การจัดการความรู้ ฉบับมือใหม่หัดขับ,  การจัดการความรู้ ฉบับคนทำจริง  เป็นต้น
     - จดหมายข่าว ถักทอสายใยแห่งความรู้
     - การจัด Workshop KM หรือตลาดนัดความรู้
     - การประชุมภาคี KM ท้องถิ่น  และภาคี KM ภาคราชการ
     - การประชุมวิชาการ
     - การบรรยาย
     - เป็นต้น

         ดังนั้น  การประเมิน "จำนวน  ประเด็น  และร้อยละความครอบคลุมในสุขภาพสำคัญของเครือข่าย"   ไม่น่าจะจำกัดอยู่แค่ 9 ประเด็นที่เอ่ยถึงข้างต้น

         นอกจากนั้น  ที่สำคัญที่สุด   การสร้างเสริมสุขภาพที่แท้จริงต้องเป็นการสร้างเสริมสุขภาพองค์รวม   การประเมินผลงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพโดยการนับความครอบคลุมของ "ประเด็น" จึงอาจเป็นวิธีมองแบบแยกส่วนและทำให้หลงประเด็น

         อย่างไรก็ตาม   ในวันที่ 29 ธ.ค.48  เราจะไปคุยกับผู้บริหารของ สสส. ว่าทาง สสส. ต้องการให้ สคส. บริการอะไรบ้าง   ทั้งเพื่อการใช้ KM ในสำนักงานของ สสส. เอง   และการใช้ KM ในภาคีเครือข่ายของ สสส.

วิจารณ์  พานิช
 21 ธ.ค.48

หมายเลขบันทึก: 10398เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2005 13:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท