ประสบการณ์ในการจัดประชุม KM เพื่อขยายผล มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี


KM จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย

ประสบการณ์ในการจัดประชุม KM เพื่อขยายผล  มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

หลังจากประชุมปฏิบัติการ KM ตลาดนัดความรู้ สู่ความเป็นเลิศของผู้เรียนและชุมชน ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ  13  แห่ง ที่มีวิทยากรจาก สคส.ทราบว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่ง ได้ขยายผลแล้ว เช่น ท่านรองชัชจริยา  ใบลี จาก มรภ.เลย ก็ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ท่านรองทองม้วน นาเสงี่ยม จาก มรภ.มหาสารคาม ก็ได้ทำกับนักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัยในการทำวิทยานิพนธ์ ก็ได้รับความพอใจมาก ในส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ก็มุ่งมั่นที่จะขยายผลเช่นกัน (เพราะทราบว่า คุณหมอวิจารณ์ติดตามข่าวอยู่ว่า KM ในราชภัฏจะเป็นอย่างไร  เรากลัวว่าคุณหมอจะผิดหวังด้วยส่วนหนึ่ง อันนี้เป็นความกดดันน้อย ๆ ส่วนตัวของผมเอง เพราะไปขอความช่วยเหลือจากคุณหมอ และคุณหมอได้เมตตาเราชาวราชภัฏมาก ไม่ควรทำให้ผู้ใหญ่ผิดหวัง)  เราหาเวลาและสถานที่ไม่ลงตัวจึงเลื่อนมาเรื่อย ๆ แต่ก็เป็นโอกาสที่ดี เราได้มีเวาลาในการเตรียมการประชุมวิทยากรมาอย่างต่อเนื่อง  ในที่สุดเราได้กำหนดเวลา ในวันที่ 19-20 ธันวาคม ณ เมอริไทม์ สปาแอนรีสอร์ท จังหวัดกระบี่ ซึ่งคุณพิมพ์ระพี  พันธ์วิลาศกุล ก็ได้อนุเคราะห์สถานที่อย่างดีมาก การประชุมครั้งนี้ ชื่อว่า ตลาดนัดความรู้สู่คณะคุณภาพ มีผู้เข้าร่วมประชุมคือ คณบดี และรองคณบดี รวมอาจารย์ในคณะ ๆ ละ 10 คน 6 คณะ รวมเป็น 60 คน ก่อนประชุมก็ได้มีการเชิญประชุมเพื่อแจก CD หรือ เอกสารหนังสือและซักซ้อมการเตรียมตัว ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ในการประชุม เมื่อเวลา เวที เหมาะสมเราร่วมประชุม และมีองค์ประกอบที่สำคัญครบ คือ เวลา เวที ไมตรี เพราะผู้เข้าร่วมประชุมได้ความร่วมมือดีมาก สุดท้ายเราได้เชิญ คุณ หญิง นภินทร ศิริไทย มาเป็นที่ปรึกษาโครงการและอยู่กับเราตลอด ไม่ผิดหวังเลย เราตัดสินใจถูกเพราะเราจำเป็นต้องมีที่ปรึกษา น้องหญิงมีประโยชน์กับเรามากใน 2 วันนั้น

จากการประชุมในครั้งนั้นเราได้ความรู้เพิ่มเติมมากมาย จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดประชุมให้กับ ศูนย์ สำนัก ในครั้งต่อไป และตอนนี้ผมได้รับที่จะจัดอบรมให้กับ อบจ.สฏ คิดว่าคงเป็นประสบการณ์อีกรูปแบบหนึ่ง จึงขอร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับเพื่อน มรภ.  13  แห่ง

1.  คณะวิทยากรมีความเข้าใจ KM เพิ่มขึ้นอย่างมากเข้าใจแล้วว่า KM ไม่ทำไม่รู้ ผมภูมิใจในทีมวิทยากรของผมมาก ๆ

2.   อาจารย์ส่วนใหญ่มักไม่ทำใจให้เปิดกว้าง ใจยังไม่ว่างพอที่จะพร้อมรับสิ่งใหม่ ๆ แม้ว่าไมตรีในความร่วมมือดีมาก ทำให้เกิดอาการ หัวปลา ตัวปลา ยังไม่ชัดเลยแต่ด่วนสรุปมั่นใจ คือ สะบัดหางปลาแล้ว บางคนเข้าใจว่า อ๋อ KM คือ การมีส่วนร่วมนั้นเอง KM  คือการระดมความคิดเห็น ทำให้ไม่เข้าถึงหัวใจของ KM  ไม่สามารถจำแนกความแตกต่างระหว่าง KM กับ กระบวนการมีส่วนร่วมได้
3.   อาจารย์ส่วนมากยังยึดมั่นในทฤษฎี ขาดความศรัทธาในความรู้ฝังลึก ดังนั้นในขั้นตอนของการสกัดขุมความรู้ จึงยึดติดกับทฤษฎี โดยให้ความสำคัญกับความรู้พูดได้และความรู้ เขียนได้ มากกว่า ความรู้ ทำได้
4.    การประชุม WS 1 ประสบการณ์เรื่องเล่า คุณอำนวยขาดทักษะทำให้ไม่สามารถสะกดขุมความรู้จาก เรื่องเล่า ได้อย่างดีพอ ตั้งคำถามไม่ชัด หัวปลาไม่ชัด คุณกิจจึงเล่าเรื่องสะเปะสะปะ ไม่เห็นตัวคน ตัวละคร เนื้อหาและบริบท อารมณ์คุณลิขิตไม่สามารถสกัด Keyword ได้ เพราะอาจารย์แต่ละคนคิดว่าเป็นการระดมสมองทั่วๆไป จึงขาดความสนใจในเรื่องเล่าของเพื่อนที่จริงๆจังๆ ทำนอง “ทอดสะพานไปให้เพื่อน เพื่อนก็ไม่เดินข้ามมา เพื่อนทอดสะพานมา เราก็ไม่เดินข้ามไป ” จึงไม่ประสบผลสำเร็จในการร่วมกันตีความ สกัดขุมความรู้และแก่นความรู้ที่เป็น Key word จากเรื่องเล่า ตรงนี้สำคัญมากเลย เพราะทุกคนละเลยความเข้าใจความสำคัญและความศรัทธาของ “ปัญญาปฏิบัติ”

5.    อย่างไรก็ตามในช่วงชวนคุยสุดท้าย ผมได้ชวนคุยโดยนึกภาพของ ดร.ประพนธ์  ผาสุกยืด ในวันนั้น  (แต่ก็ทำได้ไม่ดีเท่าหรอก) นำมาชวนคุย เพื่อให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นว่า KM คืออะไร จุดบกพร่องการจัด WS แต่ละWS อยู่ตรงไหน ควรปรับปรุงอย่างไร เพื่อให้ผู้ร่วมประชุมสรุปเอง แล้วเสริมให้ชัดเพื่อทำความเข้าใจ ผมคิดว่าช่วงนี้เป็นช่วง สำคัญและมีประโยชน์มากทีเดียว ไม่เหมือนการสัมมนาทั่วไป ตอนท้ายผู้เข้าประชุมจะรับกลับแต่  KM ควรให้ความสำคัญในช่วงสุดท้ายไม่น้อยกว่าช่วงแรก ผมคิดว่าช่วงนี้ทำให้หลายคนเกิด “ปิ้งแว้บ” KM ได้ดีมาก อาจารย์บางคนมาบอกผมว่า “แล้วทำไมไม่บอกแบบนี้ตั้งแต่แรก ปล่อยให้ผมเข้าใจผิดอยู่” ซึ่งผมเองนึกในใจว่าความจริงคุณ นภิณทร ก็ได้สรุปพูดนำตอนหลังพิธีปิดแล้ว แต่อาจารย์ส่วนหนึ่งฟังก็ไม่ได้ยิน เพราะมีข้อสรุปในใจตัวเองแล้ว ข้อนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า “KM ไม่ทำไม่รู้ ”

                แม้ผลการประชุมครั้งนี้ขุมความรู้และแก่นความรู้จะไม่ออกมาตามที่คณะวิทยากร มีความคาดหวังมา เพราะเตรียมตัวมากก็ตามแต่ผมว่า”คุ้มมากๆ” มั่นใจว่าอาจารย์เข้าใจและนำไปขยายผลในคณะต่างๆแน่นอน ผมจะคอยดูและหนุนเสริม เพราะนั่นคือตัวชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญ คือต้องเป็น ชุมชนนักปฏิบัติที่มีขุมความรู้ของตนเอง สมาชิกทุกคนร่มกันสร้างขึ้นมาเอง เพื่อใช้งานของตน เปิดเป็น สินทรัพย์อันมีค่าขององค์กร สามารถสบัดหางปลาได้อย่างองอาจสู่ “องค์กรแห่งการเรียนรู้” ดังปรัชญาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ที่ว่า “องค์กรการเรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม นำสังคมพัฒนา”   

>>>>  ผศ.ดร.ประโยชน์   คุปต์กาญจนากุล

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 10390เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2005 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอแสดงความยินดีด้วยครับ   ที่จริงน่าจะมีการวางแผนการนำไปใช้   แล้วมีการกลับมาเล่าว่าเอาไปใช้อย่างไร   ได้ผลหรือไม่ได้ผล อย่างไร

ผมอยากทราบข่าวจาก มรภ. อื่นๆ ด้วยครับ    อยากให้เข้ามาเขียนเล่าแบบนี้

วิจารณ์ พานิช

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท