การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ


มีโอกาสได้เข้าเป็นตัวแทนนายจ้างจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับบุคลากร

          ผมมีโอกาสได้เข้าเป็นตัวแทนนายจ้างจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับบุคลากร

 บุคลากรในองค์กรที่ทำงานมี 2 ประเภท

  • ข้าราชการ ได้แก่ผู้ที่รับเงินเดือนตามระบบราชการ โดยอิงบัญชีเงินเดือนของกระทรวงการคลัง  และมีระบบสวัสดิการต่างๆ ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด  ตลอดจนการเข้าร่วม กบข.
  • พนักงานมหาวิทยาลัย  ได้แก่ผู้ซึ่งทำงานและรับเงินเดือนตามระบบเงินเดือนที่มหาวิทยาลัยบริหารเอง 

เนื่องจากกลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัย  ไม่มีสวัสดิการอื่น ทั้ง กบข. , ค่ารักษาพยาบาล  ค่าเล่าเรียนบุตร  ฯลฯ   ทำให้องค์กรต้องคิดหาวิธีการจัดสวัสดิการให้ได้ใกล้เคียงกับกลุ่มข้าราชการที่มีสวัสดิการหลายอย่าง  กรณีเมื่อพนักงานมหาวิทยาลัยออกจากงานด้วยเหตุปกติ  การให้ได้รับเงินสำรองเลี้ยงชีพเมื่อออกจากงานจึงจำเป็นต้องบริหารงานให้เกิดขึ้นในองค์กรให้ได้

หลักการจ่ายเงินค่าจ้าง - สวัสดิการ - วิธีการ

     สมมุติว่ารัฐต้องการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยคุณวุฒิปริญญาโท  ซึ่งหากจ้างให้เป็นข้าราชการบรรจุใหม่อัตราเงินเดือนเริ่มต้น 8,320บาท โดยมีสวัสดิการต่างๆ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง แต่การจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย  รัฐจ่ายเงินก้อนเดียวให้กับมหาวิทยาลัยเป็นเงิน 1.7 เท่า สำหรับตำแหน่งสายผู้สอน  และ 1.5 เท่า สำหรับสายสนับสนุน  ดังนั้นตำแหน่งอาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยรัฐจ่ายเงินมาเป็นเงินเดือน ในอัตรา 1.7 เท่าของเงินเดือนข้าราชการ คือ 8,320 X 1.7 = 14,144   บาท  ซึ่งตั้งแต่ปี 2545 มหาวิทยาลัยได้จ้างในอัตราดังกล่าวโดยไม่ให้สวัสดิการใดๆ  ซึ่งต่อมาได้มีข้อเรียกร้องจากพนักงานมหาวิทยาลัยให้จัดสวัสดิการให้บุคลากรพนักงานมหาวิทยาลัยด้วย  ซึ่งมีปัญหาว่าไม่มีงบประมาณที่จะจัดสวัสดิการใดๆ  เนื่องจากรัฐบาลเหมามาในอัตราดังกล่าวแล้ว  หากมหาวิทยาลัยต้องการจัดสวัสดิการให้บุคลากรก็ต้องนำเงินที่รัฐจ่ายมาให้นี้ไปบริหารเอง  จึงได้เกิดพัฒนาการในการบริหารค่าจ้างและสวัสดิการขึ้น  วิธีการที่ทำในปัจจุบันก็คือ  แทนที่จะจ่ายให้บุคลากรหมดทั้ง 14,144 บาท  ก็จ่ายให้เพียง 1.5 เท่า  ก็คือ 12,480 บาท  เงินส่วนต่าง 1,664 บาท  ก็นำไปบริหารเป็นสวัสดิการให้พนักงานเหล่านั้น

การบริหารสวัสดิการ

       คณะรัฐมนตรีได้ออกระเบียบฉบับหนึ่งเมื่อปี 2547 โดยสรุปก็คือให้หน่วยงานมีกรรมการสวัสดิการขึ้นมาเพื่อดูแลสวัสดิการภายในองค์กร  และให้สามารถตั้งกองทุนสวัสดิการได้  ดูแลสวัสดิการต่างๆ ตามที่คณะกรรมการสวัสดิการเห็นควร  ซึ่งในทางปฏิบัติการจะตั้งกองทุนสวัสดิการก็จะต้องมีเงินให้บริหาร  เป็นโชคดีของหน่วยงานที่ผมทำงานอยู่  ผู้บริหารอนุมัติงบประมาณในปีแรกจำนวน 2 ล้านบาทเพื่อนำไปบริหารสวัสดิการ  แล้วนำเงินงบประมาณส่วนต่างระหว่าง 1.7 และ 1.5 (ซึ่งก็คือเงิน 1,664 บาท ตามที่ยกตัวอย่าง)  เข้ามาสมทบด้วย  ก็จะทำให้กองทุนสวัสดิการมีเงินที่จะบริหารได้คล่องตัวขึ้น  เมื่อมีเงินให้จัดสวัสดิการ  คณะกรรมการสวัสดิการจึงสามารถออกระเบียบต่างๆ ออกมารองรับเสวัสดิการที่สามารถจะให้ได้  ซึ่งจะทะยอยออกมาในโอกาสต่อไป

 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

         กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ดำริตั้งขึ้นจากคณะกรรมการสวัสดิการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ซึ่งจากการศึกษาการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พบว่าการจัดตั้งกองทุนฯ  ต้องจัดตั้งตามระเบียบตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  และต้องจดทะเบียนต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงจะสามารถตั้งได้

ประเภทของกองทุน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมี 2 ประเภทใหญ่ๆ ประเภทแรกเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบเต็มตัว คือต้องมีเงินหมุนเวียนในกองทุนนั้นๆ ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท  และอีกประเภทคือกองทุนแบบรวมกลุ่ม  คือกองทุนฯนั้นมีเงินหมุนเวียนไม่ถึง 100 ล้านบาท  โดยหลักการก็คือ  เมื่อจดทะเบียนกองทุนแล้วก็มอบหมายให้บริษัทจัดการหลักทรัพย์ (บลจ.) นำเงินจากองทุนไปบริหารจัดการให้เกิดผลตอบแทน  นำผลตอบแทนนั้นกลับมาแบ่งปันให้สมาชิก

       อ้อ! ลืมบอก  กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  เป็นการระดมเงินจากทั้งลูกจ้างและนายจ้างเข้าเก็บไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  และจะจ่ายให้ลูกจ้างเมื่อออกจากงานโดยปกติและไม่กระทำผิดต่อนายจ้าง  โดยยึดหลักลูกจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนฯเท่าไร  นายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบให้ไม่น้อยกว่า  เงินที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ระดมได้จะต้องให้ บลจ. บริหารงาน  หากเกิดดอกออกผลจะต้องนำผลนั้นคืนสู่กองทุนและกองทุนนำจ่ายคืนสมาชิกเมื่อสมาชิกออกจากงาน

ความเสี่ยงในการลงทุน

  ตามที่ทราบแล้วว่าเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบิริหารงานโดย บลจ.  ซึ่งจะนำเงินไปลงทุนในตลาดเงินหรือตลาดทุน  ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่จะได้กำไรน้อยหรือขาดทุนอยู่บ้าง  การตัดสินใจลงทุนกับ บลจ.ใด  จึงเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจให้ถูก  การตัดสินใจตรงนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  ซึ่ง ณ วันที่แก้ไขบันทึกนี้ (29 ก.พ. 51) คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้คณะกรรมการทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างครบแล้ว  หวังว่าการบริหารจัดการที่ดีจะเป็นการสร้างสวัสดิการให้เกิดแก่บุคลากรต่อไป

หมายเลขบันทึก: 102737เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2007 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท