รูปแบบการปฏิบัติงานแบบ Matrix Organization ใน สพบ.


  เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (14  ธันวาคม  2547)  ผมได้ขอความกรุณาให้ อาจารย์แก้วตา ไทรงาม และคณะ  นำเสนอการจัดฝึกอบรมองค์กรแห่งการเรียนรู้สำหรับสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ต่อที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงซึ่งมีท่านปลัดกระทรวงฯ เป็นประธาน ท่านปลัดฯ ได้ถามว่า "แล้วสถาบันฯ เองได้พัฒนาตนเองให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้แล้วหรือยัง?"  ผมขอนำคำถามของท่านปลัดฯ มาถามท่านต่อว่า  "เราแน่ใจหรือยังว่าตัวสถาบันฯ ของเราเองเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้แล้ว?"

         ตัวชี้วัดที่สำคัญที่แสดงว่าหน่วยงานนั้น ๆ  เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ได้แก่  บุคลากรทุกคนมีความกระตือรือร้นที่จะค้นคว้าใฝ่หาความรู้อยู่เป็นนิจ  วัฒนธรรมขององค์การเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนความรู้ วิสัยทัศน์ มีการใช้องค์ความรู้  (Knowledge  Based)  ในการปฏิบัติงาน มีการปฏิบัติงานเป็นทีมที่เรียกว่า Synergy  มีโครงสร้างที่เอื้อให้ทุกคนได้ทำงานตามศักยภาพของตน และทุกคนมีโอกาสพัฒนาตนเองในการสร้างภาวะผู้นำ มีแหล่งข้อมูลหลากหลายและทั่วถึงให้บุคลากรได้ศึกษาค้นคว้า ส่งเสริมให้ทุกคนกล้าคิดริเร่ม  คิดนอกกรอบ คิดใหม่ทำใหม่  และที่สำคัญที่สุด ผู้นำขององค์กรต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง  (Change  Agent)  มีวิสัยทัศน์ กล้าคิดริเร่ม  และใช้องค์ความรู้หลากหลายในการปฏิบัติหน้าที่ มีความรู้สึกไว  (Sensitive)  ต่อการปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทันต่อสิ่งแวดล้อมและนโยบายที่เปลี่ยนแปลง  และที่สำคัญที่สุดต้องเป็นคนที่มีทัศนบวก  (Positive Thinking)  ต่อแนวคิดใหม ๆ  หรือวิธีการใหม่ ๆ  ในการปฏิบัติงาน

       ผมขอเรียนเพื่อน ๆ พี่ ๆ  และน้อง ๆ  ชาวสถาบันฯ ด้วยความภาคภูมิใจว่า ขณะนี้สถาบันฯ ถ้าเปรียบเสมือรถเราได้เคลื่อนตัวไปยังจุดหมายปลายทางดังกล่าวแล้ว ส่วนจะไปถึงจุดหมายปลายทางเมื่อไรนั้น ไม่มีใครตอบได้เพราะมันไม่มีที่สิ้นสุด  ขอแต่เพียงให้เรามั่นใจว่ารถของเรากำลังขับเคลื่อนไปบนทิศทางดังกล่าว และรถจะไม่มีวันหยุด

      ผมได้ประชุมคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ  เพื่อนำเสนอรูปแบบการปฏิบัติงานแบบ Matrix  Organization ซึ่งเป็นวิธีการปฏิบัติงานที่เรียกว่า  Project  Based  มีการคัดเลือก Project  Director  จากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ มีภาวะผู้นำและได้รับการยอมรับ ซึ่งเกือบจะทุกท่านได้มีโอกาสเป็นทั้งผู้นำและผู้ตาม ทุกคนได้เลือกปฏิบัติงานตามความถนัด  หรือความต้องการที่จะพัฒนาตนเองในเรื่องนั้น ๆ  ข้อดีของการจัดโครงสร้างการปฏิบัติงานแบบ Matrix ก็คือ  เราใช้คนคุ้มค่าองค์การจะมีพลังเพิ่มขึ้นหลายท่าน  (Synergy)  มีการใช้วิธีการ R & D  และองค์ความรู้  (Knowledge  Based)  ในการปฏิบัติงาน

         ผมกล้าประกาศด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยมว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่สถาบันฯ ของเราใช้โครงสร้างแบบ  Matrix เต็ม 100%  และที่ผมมมั่นใจเพราะ Project  Director  ทุกโครงการจะร่วมจับมือก้าวเดินไปด้วยกัน  มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันนับว่าเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ในการทำงานเป็นทีมอย่างแท้จริง

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1025เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2005 11:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท