พลิกโฉมอาชีวศึกษา


มุ่งสู่ความเป็นอาชีวศึกษาทันสมัย(Modernize Vocational Education) แบบก้าวกระโดด

              ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวมาสู่ยุคของการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งรัดพัฒนาคุณภาพของสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ตลอดจนขยายสาขาการผลิตในอุตสาหกรรมที่มีความต้องการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลัก 13 วิสาหกิจยุทธศาสตร์ ที่ประเทศจะต้องเร่งเพิ่มผลผลิต ได้แก่  อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์  อุตสาหกรรมท่องเที่ยว  อุตสาหกรรมแฟชั่น เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมอาหารและเกษตร อุตสาหกรรมเซรามิค อุตสาหกรรมซอพต์แวยร์ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเลคทรอนิค อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมยางและโพลิเมอร์ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อุตสาหกรรมโลจิสติค ซึ่งจากข้อมูลวิจัยของสภาพัฒน์ฯ ได้ชี้ให้เห็นถึงความต้องการแรงงานที่มีคุณภาพอีกเป็นจำนวนมาก

            สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษายุคใหม่ จึงได้กำหนดนโยบายชัดเจนในการผลักดันให้สถานศึกษา ดำเนินงานจัดการเรียนการสอน และกิจกรรมต่างๆที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการเพิ่มกำลังคนของประเทศที่มีสมรรถนะวิชาชีพ ตรงตามความต้องการแรงงานและสถานประกอบการในอุตสาหกรรมหลักทั้ง 13 คลัสเตอร์อย่างแท้จริง เอาไว้หลายประการโดยสังเขปดังนี้

            1. การปฎิรูปการเรียนการสอน (Re-Instructional) ที่ต้องหาวิธีการใหม่ๆในการจัดห้องเรียน ห้องปฎิบัติ ให้ทันสมัย โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (Virtual Classroom) การใช้ห้องปฎิบัติการในชุมชน ( Social Lab)การเรียนจากการปฎิบัติจริง เป็นโครงการ(Project)เป็นชิ้นงานที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนการวิเตราะห์วิจัยประยุกต์และสร้างนวัตกรรมใหม่( Applied Research & Innovation)

             2. การจัดทำมาตรฐานวิชาชีพ (Vocational Standard)ที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ (Occupation Standard) โดยจะต้องทำการวิเคราะห์เส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ(Career Path Analysis) ร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อจะได้นำข้อมูลมาจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ(Competency Base Curriculum) ที่สามารถผลิตนักศึกษาให้มีทักษะและสมรรถนะฝีมือ ตรงตามที่สถานประกอบการของแต่ละอุตสาหกรรมหลักต้องการ สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนของประเทศ ทั้งนี้ หลักสูตรจะต้องมีลักษณะที่เป็นพลวัต(Dynamic) สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของสภาพเศรษฐกิจ สังคม ที่ผันแปร  และยกเลิกหลักสูตรที่ตายตัว (Static) และไม่ยืดหยุ่น

              3. การสร้างเครือข่ายการจัดการอาชีวศึกษา  (Vocational Education Network)เป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางการอาชีวศึกษา เป็นการระดมทรัพยากรที่มีศักยภาพสูงจากภายนอกสถานศึกษาเข้ามาเสริม (Out Source) โดยการร่วมมือกับภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ ที่มีแนวโน้มของความร่วมมือที่เป็นพันธมิตรทางการจัดการอาชีวศึกษาร่วมกัน ในหลายสาขาวิชา เช่นวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ กำลังอยู่ในขั้นตอนเจรจาความร่วมมือในการแลกเปลี่ยน ครู อาจารย์ และนักศึกษาทางด้านสาขาวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กับสถาบัน Lycee Hotellerie Tourisme ของประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น

            บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นับแต่ไปจึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วน จะต้องเข้ามาร่วมดำเนินการจัดการอาชีวศึกษาอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะภาครัฐบาลจะต้องเร่งรัดให้พระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา ได้รับการประกาศใช้อย่างเต็มรูปแบบเสียที เพื่อให้การดำเนินงานการอาชีวศึกษาสามารถเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมหลัก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างแท้จริง และจะเป็นคุณูปการให้เกิดการพลิกโฉมอาชีวศึกษา อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นอาชีวศึกษาทันสมัย(Modernize Vocational Education) แบบก้าวกระโดด พร้อมๆกับความเป็นประเทศไทยสมัยใหม่(Modernize Thailand)ตามที่รัฐบาลมุ่งหวังจะให้เกิดขึ้น

หมายเลขบันทึก: 10229เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2005 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท