ผู้เฒ่าเล่าให้ฟังการสังเกตเพื่อเตรียมการน้ำท่วม


ตำนานที่เล่าต่อ ๆ กันมาแต่โบราณ ซึ่งพ่อเล่าให้ฟัง

     ตามตำนานที่เล่าต่อ ๆ กันมาแต่โบราณ ซึ่งพ่อเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการสังเกตเพื่อเตรียมการรับสถานการณ์มีหลายอย่าง ดังนี้

          อย่างแรก คือ "ปีมะโรงน้ำแดง" หมายถึงพอครบรอบถึงปรมะโรง จะมีน้ำท่วมใหญ่ คือท่วมมากเป็นพิเศษ ที่ว่าน้ำสีแดงเพราะมีพื้นดินถล่มแถวต้นน้ำ ซึ่งมักเป็นดินลูกรัง ผู้คนจะระมัดระวังเป็นพิเศษในปีมะโรง ก่อนถึงหน้าฝนจะกักตุนอาหารการกินทั้งของคนและสัตว์เลี้ยง เช่นข้าวสาร อาหารแห้ง กักตุนไว้มาก ๆ จะเน้นข้าวสารและปลาแห้ง ปลาเค็ม ไม้ฟืน น้ำมันก๊าด เกลือ ตลอดจนฟางข้าวตากแห้งไว้ตั้งแต่หน้าแล้ง เก็บใส่โรงเรือนเรียก "โรงซัง" ไว้ให้วัวกินยามน้ำท่วมใหญ่

          อย่างที่สอง คือ ในแต่ละปีจะสังเกตใบหญ้าก่อนถึงหน้าฝน เช่นใบหญ้าครุน หรือหญ้าปล้อง ซึ่งมีอยู่มากมายกว่าใบหญ้าอื่น ดูที่กิ่วหยักของใบหญ้า ปกติถ้าฝนตกตามฤดูกาลธรรมดาจะมีกิ่วหยักเดียว และกิ่วไม่ลึก ถ้ากิ่วลึกแสดงว่าฝนตกหนัก น้ำท่วมมากกว่าปกติ ถ้ากิ่วสองหยักน้ำจะท่วมสองครั้ง จะห่างกันประมาณห้าวันหรือสิบวัน ให้สังเกตรอยกิ่วแต่ละกิ่ว หรือรอยหยัก ว่ามากหรือน้อยแค่ไหนก็ให้ประมาณเอา ถ้าใบหญ้ากิ่วสามหยัก น้ำจะท่วมสามครั้ง และครั้งใหนมากกว่ากันก็ดูที่หยักไหนลึกหรือตื้นกว่ากัน นับจากโคนใบไปปลายใบ

          อย่างที่สาม คือ เมื่อน้ำท่วมแล้ว ให้สังเกตที่ดอกชุมเห็ดใหญ่ (เทศ) ว่าดอกบานหมดแล้วหรือยัง ถ้ามีดอกที่เตรียมจะบานในครั้งต่อไป น้ำจะท่วมอีกครั้ง หรือว่าจะท่วมอีกกี่ครั้ง ก็ให้สังเกตต่อว่ายังมีที่บานไม่หมดอีกไหม ซึ่งดอกชุมเห็ดเหล่านี้รอจะบานตอนน้ำท่วม แต่วิธีนี้จะใช้สังเกตเมื่อมีน้ำท่วมเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น เพื่อดูว่าจะมีน้ำท่วมอีกไหม เพื่อจะได้ขนข้าวของ เคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงไปไว้ที่เดิม ไม่ต้องเสียเวลาขนไป ขนมาหลายครั้ง

หมายเลขบันทึก: 10205เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2005 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท