บทความ "การจัดการความรู้กับการส่งเสริมการเกษตร"


หากว่าเรามีความรู้และความเข้าใจในกระบวนการการจัดการความรู้อย่างถูกต้องและแจ่มชัด ก็จะเป็นแรงเสริมให้การทำงานของเราดีขึ้น มองการทำงานเป็นระบบ คือมีเป้าหมาย มีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือแบ่งปันความรู้ จัดเก็บ เผยแพร่ นำไปใช้และยกระดับความรู้ในการทำงานอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา

          วันนี้ขอเสนอบทความที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นเพียงมุมมองหนึ่งของผมนะครับ  มีเจตนาเพียงแต่อยากจะเห็นการนำการจัดการความรู้มาสู่งานส่งเสริมการเกษตรอย่างกว้างขวางต่อไป เชิญอ่านได้เลยครับ

บทความ "การจัดการความรู้กับการส่งเสริมการเกษตร"

            ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม  และประชากรส่วนใหญ่ของประเทศประกอบอาชีพเกษตรกรรม  จึงนับได้ว่าอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักและเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศไทย จะเห็นได้จากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ผ่านมา อาชีพเกษตรกรรมได้รับผลกระทบในครั้งนี้น้อยที่สุด  และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งไม่ว่าในปัจจุบันหรือในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ประเทศไทยจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาประเทศ เพื่อยกระดับการพัฒนาที่สามารถหารายได้เข้าประเทศจากฐานการผลิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่เกษตรกรรมก็ตาม ซึ่งอาจเป็นการพัฒนาประเทศโดยใช้ตัวเงินหรือรายได้เข้าประเทศเป็นตัวตั้ง ใช้ระบบของทุนนิยม แต่นั่นคงไม่ใช่การพัฒนายั่งยืน และเป็นการพัฒนาที่ไม่เหมาะสมกับประเทศไทย  เพราะรายได้หรือเงินที่ได้มานั้นจะตกไปอยู่กับคนเพียงบางกลุ่มบางพวก เหมือนที่เราเคยได้ยินว่า ยิ่งพัฒนากลับยิ่งทำให้ประเทศไทย "รวยกระจุก แต่จนกระจาย"

            กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นองค์กรหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาอาชีพทางด้านเกษตรกรรม  ความสำเร็จในการพัฒนาการเกษตรของประเทศที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งก็มาจากการทำงานของกรมส่งเสริมการเกษตร  แม้ว่าในปัจจุบันมีอีกมุมมองหนึ่งกลับมองว่า เป็นเพราะการส่งเสริมการเกษตรของภาครัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งผ่านทางกรมส่งเสริมการเกษตรจะทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ปัญหาการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี เป็นต้น แต่นั่นเป็นผลมาจากการกำหนดทิศทางของการพัฒนา และกระบวนการหรือวิธีการพัฒนาประเทศ ที่มองเห็นภาพหรือเห็นทิศทางของการพัฒนาในขณะนั้นว่าควรเป็นเช่นนั้น

            จะเห็นได้ว่า กระบวนการหรือวิธีการพัฒนาทางด้านการเกษตรที่ผ่านมา มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยในขณะนั้น แต่ว่าในปัจจุบัน สถานการณ์และบริบทต่างๆ ของภาคเกษตรกรรม มีความเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเป็นอย่างมาก ดังนั้น กระบวนการ วิธีการหรือรูปแบบการพัฒนาที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการเกษตรของประเทศไทย ก็น่าจะต้องปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง  โดยให้มีความสอดคล้องและบรรลุเป้าหมาย ควบคู่ไปกับทิศทางของการพัฒนาประเทศ ซึ่งมุ่งหมายให้ประเทศไทยหรือสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  และวิธีการที่จะนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ได้ มีหลากหลายวิธี แต่มีวิธีการหนึ่งที่คิดว่าน่าเหมาะสมและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในปัจจุบัน ก็คือ "การจัดการความรู้" ( Knowledge   Managment : KM )

            การจัดการความรู้หรือการบริหารความรู้ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับกรมส่งเสริมการเกษตร เพราะงานที่เราทำปกติอยู่ทุกวันนี้  ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องและเป็นการจัดการความรู้แทบทั้งสิ้น เพียงแต่เราทำแบบไม่รู้ตัว  ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว การจัดการความรู้แบบไม่รู้ตัว ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและถูกต้อง (ไม่รู้ตัวและไม่มีเป้าหมาย เลยทำให้มองไม่เห็นระบบ)  แต่ถ้าหากว่าเรามีความรู้และความเข้าใจในกระบวนการการจัดการความรู้อย่างถูกต้องและแจ่มชัด  ก็จะเป็นแรงเสริมให้การทำงานของเราได้ดียิ่งขึ้น  มองการทำงานเป็นระบบ คือมีเป้าหมาย  มีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือแบ่งปันความรู้ จัดเก็บ เผยแพร่ นำไปใช้และยกระดับความรู้ในการทำงานอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา เป็นองค์การแห่งการพัฒนา

             ดังนั้น การจะนำการจัดการความรู้เข้ามาสู่งานส่งเสริมการเกษตร และก่อให้เกิดประโยชน์ต่องานส่งเสริมการเกษตรได้อย่างเหมาะสมนั้น ควรมีองค์ประกอบหรือปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรควรมี ควรทำ หรือควรสนับสนุนให้เกิด เช่น      

  • ผู้บริหารทุกระดับต้องมีความเข้าใจ ในกระบวนการจัดการความรู้ ว่าคืออะไร มีประโยชน์ต่อประสิทธิภาพของงานขององค์กรหรือหน่วยงานอย่างไร เมื่อเข้าใจแล้วจึงจะมองเห็นความสำคัญหรือประโยชน์ แล้วจึงจะให้ความสำคัญและให้การสนับสนุน 
  • ควรมีการกำหนดวิสัยทัศน์ในการจัดการความรู้ร่วมกัน แล้วทำการเผยแพร่ให้ทุกคนในองค์กร/หน่วยงานรู้ถึงวิสัยทัศน์ในการจัดการความรู้ นั้น ตลอดจนการสร้างความเข้าใจในกระบวนการ KM
  • การกำหนดสมรรถนะหลักของคน/องค์กร เพื่อให้ทราบว่า คนหรือองค์กร จะต้องใช้ความรู้ใดในการทำงานเพื่อที่จะทำให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้นั้นได้
  • ทำการค้นหาองค์ความรู้หรือสมรรถนะหลักของเราที่มีดีอยู่แล้ว จะทำให้เห็นภาพสิ่งที่ขาดหาย หรือสิ่งที่จะต้องหามาเพิ่มเติม นำเข้ามาประยุกต์ใช้ หรือสร้างความรู้ขึ้นมาใช้ใหม่
  • ควรวางยุทธศาสตร์การทำงานของการจัดการความรู้ในทุกระดับ ทุกส่วน
  • เมื่อมียุทธศาสตร์ก็จะห็นความสำคัญว่าต้องมีคนเอื้อ คนอำนวย และคนปฏิบัติในทุกระดับ ทั้งในระดับกรม กอง หน่วย จังหวัด อำเภอ และตำบล ทำหน้าที่เชื่อมโยงการจัดการความรู้เป็นกระบวนการ หมุนเกลียวความรู้อย่างต่อเนื่อง
  • ในระยะเริ่มต้นควรเอื้อให้เกิดเวทีของการเรียนรู้ เช่นการจัดเวทีให้คนทำงานได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และวางแผนการพัฒนาร่วมกัน หรือคนเอื้ออำนวยที่อยู่ในงานที่เห็นภาพวงกว้างกว่า เอื้อให้เกิดเครือข่ายในทุกประเภทและทุกระดับ ในวงข้างใน/วงเล็กกว่า ไม่ว่าจะเป็นชุมชนจริงหรือชุมชนเสมือน
  • เมื่อทุกคนเข้าใจ และเชื่อมต่อกันเป็นระบบ การทำงานก็จะสนุก  มีกำลังใจที่จะพัฒนาตนเอง พัฒนางานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

          การจัดการความรู้เป็นกระบวนการที่กว้าง และมีเครื่องมือที่เหมาะสมสอดคล้องกับงานส่งเสริมการเกษตร หากเรานำการจัดการความรู้มาปรับใช้และสอดแทรกให้อยู่ในเนื้องาน คือการส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีเป้าหมายของคนที่เราจะไปทำงานด้วยเป็นคนที่อยู้ในฐานใหญ่ของประเทศ จะทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของฐานการพัฒนาที่มีพลังในการเขยื้อนสังคมไทย ให้ก้าวไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ได้อีกแรงหนึ่ง  เพราะการจัดการความรู้ จะมาช่วยในการการพัฒนาคนที่จะไปทำงานกับเกษตรกร  คนทำงานมาร่วมมือกันพัฒนาหรือสร้างระบบการทำงาน  ระบบเป็นตัวเอื้อหนุนการพัฒนาหน่วยงานหรือองค์กรของเรา   องค์กรหรือหน่วยงานก็จะสามารถพัฒนาเกษตรกร  พัฒนาสังคม และพัฒนาประเทศชาติได้อย่างแน่นอน 

วีรยุทธ  สมป่าสัก 20/12/48

หมายเลขบันทึก: 10117เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2005 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท