ผมเรียนจบแล้วครับ


                วันที่มีความสุขที่สุดของชีวิตการเรียน  คือ  การสำเร็จการศึกษา
                วันที่มีความสุขรองลงมา คือ  วันสอบปลายภาคเรียนเสร็จสิ้น
                วันที่มีความสุขเล็กๆ  คือ  วันที่ครูสอนจบก่อนครบชั่วโมงเรียนตามหลักสูตร  ที่เราเรียกว่า  ปิด Course
                สมัยเรียนผมก็มีวันปิด Course ก่อนครบชั่วโมงเรียนครับ
                ผมในวัยรุ่นก็รู้จักออกเดินเหล่สาวตามห้องเรียนอื่นที่เขากำลังเรียนอยู่เหมือนกัน  ก็ผมไม่ต้องเรียนเพราะครูปิด Course แล้วนี่
                จู่ๆ ขณะที่กำลังเดินเพลินๆ ก็พบผู้อำนวยการวิทยาลัยครูในสมัยนั้นครับ  ท่านรูปร่างสูงใหญ่  เสียงดัง  อายุเกือบ 60 ปีแล้ว  ชื่ออาจารย์พร  ทองพูนศักดิ์  ครับ  ท่านเห็นผมกับเพื่อนก็ถามว่า “ไม่เรียนกันหรือ  มาเดินเล่นกันทำไม”  ผมตอบเสียงดังฟังชัดด้วยความภูมิใจว่า “ผมเรียนจบแล้วครับ” อาจารย์พร  ท่านมองหน้าแล้วถามว่า “เธอน่ะหรือ  เรียนจบแล้ว  ฉันอายุป่านนี้ยังเรียนไม่จบเลย”
                เข้าสมองตั้งแต่บัดนั้นครับ  บัดที่อายุ 20 ปี  ที่การไม่ได้เรียนคือความสุข  เปลี่ยนมาเป็นผมมีความสุขที่สุดเมื่อมีโอกาสได้เรียนในแต่ละช่วงของชีวิต  การศึกษาโดยทั่วไปมุ่งที่ Education for all และ All for Education.
                แต่ผมว่า All are Education ครับ
                การเรียนรู้ (Learning) ที่ UNESGO เคยกำหนดไว้เมื่อปี 1990  ครอบคลุมขอบข่ายการเรียนรู้ดังนี้ครับ
                      Learn how to learn.
                      Learn how to think.
                      Learn how to do.
                      Learn how to live.
และอาจแถมด้วย Learn how to be.
                Learn how to learn  ก็เป็นปัญหาแล้วครับสำหรับการเรียนรู้ปัจจุบัน  เพราะแค่เรียนให้รู้ว่าเรียนอย่างไรจึงจะเกิดการเรียนรู้  ก็ยากเต็มทีแล้ว
                องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) และการจัดการความรู้ (Knowledge Management) จะไม่เกิด  ถ้าสมาชิกองค์กรคิดว่าเรียนจบแล้ว  รู้หมดแล้ว  และเก่งแล้ว
                เรื่องต่อไปนี้เป็นเรื่อง “ความรู้” เหมือนกัน  แต่เป็นการ “อวดรู้ครับ”
                พ่อค้ากับเพื่อนได้รับเชิญไปรับประทานอาหารมื้อค่ำที่บ้านศาสตราจารย์ท่านหนึ่ง  ระหว่างรับประทานอาหาร  มีแขกคนหนึ่งถามเขาว่า  ชอบเชคสเปียร์หรือไม่  เขาตอบว่า “ชอบ  แต่ผมชอบวิสกี้มากกว่า” ทุกคนหัวเราะอย่างขบขัน ระหว่างทางกลับบ้านเพื่อนของเขาพูดว่า “แกนี่โง่มาก  พูดถึงวิสกี้ทำไม  ใครๆ ก็รู้ว่าเชคสเปียร์ไม่ใช่เหล้า  แต่เป็นเนยชนิดหนึ่ง  รู้ไหม  ไอ้โง่”
                ขอแถมอีกเรื่องครับ  ไม่ใช่ “อวดรู้” แต่เป็น “อวดเบ่ง” ครับ
                ที่สนามบินแห่งหนึ่งในเมืองไทย  ชายไทยบุคลิกดี  แต่งตัวหรูหราคนหนึ่ง  ติดต่อที่เคาน์เตอร์การบินไทยแล้วไม่ได้อย่างใจ  จึงตะคอกกับเจ้าหน้าที่ว่า “คุณรู้ไหมว่าผมเป็นใคร?”  เจ้าหน้าที่สาวมองหน้าบุรุษผู้ยิ่งใหญ่  แล้วหยิบไมโครโฟนมาประกาศว่า “ท่านผู้โดยสารโปรดทราบ  มีชายไทยท่านหนึ่งไม่ทราบว่าตัวเองเป็นใคร  จึงขอความกรุณาว่าหากท่านผู้ใดทราบว่าเป็นใคร  กรุณาแจ้งด้วย  ขอบคุณค่ะ”
                เป็นไงครับ  ผลของการอวดเบ่ง
                การบริหารไม่ยากอย่างที่คิด  ถ้าผู้บริหารไม่ “อวดรู้” (ถ้าไม่มีความรู้จะอวด)  แต่ที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง  คือ  อวดเบ่งครับ  “การอวดเบ่ง” เป็นอันตรายและกับดักสำหรับผู้บริหารนะครับ
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 10108เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2005 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณอาจารย์เป็นที่สุดที่อาจารย์เขียนบล็อกให้อ่านอยู่เรื่อยๆ จนทุกวันนี้ รู้สึกว่าถ้าเช้ามาไม่ได้อ่านบล็อกของอาจารย์จะไม่มีกะจิตกะใจทำงาน (อาจจะมีความขี้เกียจผสมอยู่บ้างเล็กน้อยค่ะ) ทำให้อยากทำงานเพื่อองค์กรมากขึ้น ทั้งที่ปัจจุบันก็ทำเพื่อองค์กรอยู่มากนะคะ แต่ก็ถดถอยเพราะคนที่ทำงานร่วมกันนั่นแหละค่ะ แก้ยากจริงๆ การบริหารไม่ยากอย่างที่คิด แต่การบริหารบุคคลให้คิดยากกว่าเป็นไหนๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท