บายศรีสู่ขวัญ (คำกล่าวอวยพร)


สิ่งใดดี จึงสมควรรักษาไว้ เพื่อรักษาวัฒนาธรรมของชาติ

บายศรีสู่ขวัญ (คำกล่าวอวยพร)  

        พวกเราหลายคนหรืออาจจะทุกคนก็ได้ที่ได้ไปร่วมงานแสดงความยินดีต่าง ๆ ทั้งงานบวชนาค  งานมงคลสมรส  งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่  งานฉลองการได้เลื่อนยศ  งานวางศิลาฤกษ์  ในตอนหนึ่งของงานจะมีพิธีกร (ผู้ประกาศ) ขอเชิญให้บุคคลสำคัญของงานขึ้นสู่เวที พร้อมทั้งเชิญเจ้าภาพขึ้นสู่เวที แล้วพิธีกร ก็เรียนเชิญให้แขกผู้ใหญ่ท่านนั้นคล้องพวงมาลัย และกล่าวคำอวยพร     

              

 

            คำอวยพร โดยทั่วไป หรือส่วนมากเป็นคำกล่าวดี ๆ อวยพร  สิ่งดี ๆ  และแนะนำเรื่องการใช้ชีวิต อาจจะนำเอาประสบการณ์และแนวการใช้ชีวิตมาเล่าให้ฟังบ้างก็ได้ บางท่านก็มีคำกลอนที่ไพเราะมาฝาก  บางท่านก็มีคำคม ๆ สะกิดใจให้คิดได้หลายสิบปี (ซาบซึ้ง) ก็มีบางท่านที่ขึ้นไปอวยพรแล้วในมือถือแก้วใส่น้ำ (เหล้า+โซดา+น้ำแข็ง) เอาไปด้วย  งานทีจัดกลางแจ้ง  ผมได้พบได้เห็นบ่อย ๆ แต่งานมงคลที่เขาจัดกันในโรงแรม และเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ ๆ นี่ซิ ไม่ค่อยได้เข้าไป (กลัวจะทำอะไรผิดพลาด) เพราะไม่ค่อยรู้ประเพณีอย่างนั้น  แต่ก็มีลูกศิษย์หลายคนเหมือนกันเชิญไป แถมเขาให้ผมไปประกอบพิธีตัดเค๊ก และกล่าวอวยพร (เอาเข้าไป) ด้วย 

            บายศรี หรือ ข้าวขวัญ เกี่ยวข้องกับ คำว่าข้าว และสิริ ดังนั้น บายศรี จึงเป็นพิธีกรรม ในการกระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้นั้น เมื่อกระทำกันต่อ ๆ มา จนถึงในยุคปัจจุบันกลายเป็นจารีต หรือขนบธรรมเนียม หรือประเพณีสืบเนื่องต่อกันมาโดยมิขาดสาย จนเรียกว่า วัฒนธรรมครับ           

          เมื่อ 2-3 ปีก่อน เพื่อนที่เขาเรียน ในระดับปริญญาโท เขาทำพิธีสู่ขวัญบายศรีกันที่ จังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ เขามาขอฝึกร้องบทเชิญขวัญ ซึ่งเวลาผมไปเชิญขวัญ ผมสามารถที่จะประยุกต์ใช้บทเดิม แปลงเนื้อให้เข้ากับงานนั้น ๆ ได้เลย  
            - ถ้าเป็นงานเชิญขวัญของคนทรงเจ้า ที่อยู่ตามศาล จะเน้นเรื่องของความเชื่อถือในองค์      
            - ถ้าเป็นการเชิญขวัญ บายศรีสู่ขวัญนักเรียนที่จะจบชั้น ม.6 ก็ว่าเน้นไปที่การเรียกขวัญ     
            - พิธีบายศรีสู่ขวัญทั่ว ๆ ไป เป็นการนำเอาบทร้อง พูด เพื่อการบำรุงขวัญ และให้กำลังใจ   
            - ถ้าเป็นการเชิญขวัญนาค ก็ว่าให้เกี่ยวข้องกับเรื่องเรียกขวัญสร้างสมาธิ สติปัญญา         

          

            บายศรีสู่ขวัญ  เป็นพิธีที่มีมาแต่โบราณกาล โดยเริ่มมาจากพิธีพราหมณ์ก่อนจนมีการแผ่ขยายในวงกว้างมาสู่มนุษย์ ชาวไทยเราจำนวนมากก็นับถือพราหมณ์ นับถือผีผสมผสาน ไปกับพระพุทธศาสนา แทบจะแยกกันไม่ออก (ในเรื่องของศาสนพิธี)       

           คำว่า ขวัญ ผมเคยเล่าบ้างแล้วในบทความทำขวัญนาค ขวัญ เป็นผมหรือเส้นขนที่หมุนเวียน เป็นก้นหอย มีทั้งที่ศีรษะและตามตัว บางคนมีมากกว่า 1 ขวัญ ที่เราต้องเรียกขวัญ รับขวัญ เชิญขวัญ ทั้งนี้เพราะขวัญ เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน แต่เกาะติดอยู่กับตัวคน ที่หัวคน บนศีรษะหรือที่เหนือท้ายทอย    

         การเรียกขวัญ  กระทำสำหรับผู้ที่ตื่นตระหนก  ตกใจ ขวัญหนี  ถ้าเป็นเด็ก ๆ แม่จะปลอบขวัญให้ลูกชาย ลูกสาวที่กำลังตกใจว่า  ขวัญเอ๊ย ขวัญมา มาอยู่กับเนื้ออยู่กับตัวนะลูกนะ แล้วแม่ก็เอามือลูบที่แผ่นหลังให้ลูก เพื่อเป็นการเรียกขวัญให้กลับคืนมา  

                       

สิ่งของเครื่องใช้ที่จะต้องจัดเตรียมในพิธีบายศรีสู่ขวัญ ประกอบด้วย  

       1. บายศรี จำนวน 3, 5 หรือ 7 ชั้น 1 ต้น หรือพานบายศรี  1 พาน (3,5,7 ชั้น) ประดับด้วยดอกไม้         
       2. เหล้าขาว (เหล้าโรง) 1 ขวด หมูนอนตอง 1 ชิ้น (หมูต้มใส่จานวางบนใบตอง)          
       3. เครื่องกระยาบวช (อาหารคาวหวาน) และไข่ต้ม 1 ฟอง     
       4. พานคำนับครูของพ่อหมด 1 พาน ใส่หมากพลูที่มวนมาแล้ว ดอกไม้ ธูป เทียน เงิน 12 บาท         
       5. เทียนจำนวน 9 เล่ม (3 แว่น) สำหรับเวียนเทียน (อาจไม่มีก็ได้) เทียนชัยอีก  1 เล่ม         
       6. ขันน้ำมนต์ สำหรับประพรมในพิธี (อาจไม่มีก็ได้)  และขันข้าวสารำหรับปักแว่นเวียนเทียน         
       7. ด้ายสายศีล และด้ายมงคลที่ตัดเอาไว้สำหรับผู้ข้อมือ  ผูกแขน   

                               

             

ขั้นตอนในการประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญ    

          1. ผู้ทำพิธี เป็นชายผู้สูงอายุ (หมอขวัญ) เป็นเจ้าพิธี กล่าวเชิญชวนแขกมาร่วมในพิธี  

          2. เจ้าพิธีกล่าว ชุมนุมเทวดา สักเค กาเมจรูเป คิริสิ ขะระตะเฏ.” แล้วว่า นะโม 3 จบ   

          3. เริ่มสวดเรียกขวัญ กล่อมขวัญ ให้ศีลให้พรด้วยท่วงทำนองเสนาะ (ตามท้องถิ่น)   

          4. เจ้าพิธี นำเอาด้ายมงคลมาผูกข้อมือรับขวัญ (ข้อมือซ้าย) หยิบอาหาร ไข่ ให้ผู้ที่มารับขวัญกินอย่างละเล็ก อย่างละน้อย (กินพอเป็นพิธี)  

          5. ญาติมิตร บุคคลทั่วไปเข้ามาผูกข้อมือให้กับผู้รับขวัญ จะต้องรักษาด้ายเอาไว้  3 วัน   

 

                        

          จะอย่างไรก็ดี พิธีบายศรีสู่ขวัญ เป็นการให้กำลังใจและบำรุงขวัญ คำว่า บายศรี-สู่ขวัญ จึงเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคล  ในโอกาสอันเป็นมงคลต่าง ๆ เพราะว่าแม้แต่สิ่งของที่มีคนนำเอามาให้ เรายังเรียกว่า ของขวัญ ถ้าเช่นนั้น สิ่งใดดีมีสาระจึงสมควรยกย่อง และรักษาไว้ เพื่อรักษา วัฒนาธรรมของชาติสืบต่อไป  ครับ

(ชำเลือง  มณีวงษ์ / สู่ขวัญ  2550)

หมายเลขบันทึก: 100908เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2007 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:12 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
สิบเอก กิตติศักดิ์ ทองคำ

-ขอให้น้องชาย ข้าพเจ้าบำเพ็ญศิล ธรรม เพื่อนประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนานเทอญ

ข้าพเจ้าไม่ได้ไปผูกข้อมือ ข้าพเจ้าก็จะสวดมนต์แผ่เมตาให้มีความสุข สาธุ

๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔

สิบโท อเนกพงษ์ นามบุตร

ปล[email protected]

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท