KM สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา


KM สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา

KM  สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา

-----------------------------------------------

                                                                                                                                                                       

                     ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยของเหตุการณ์ในจังหวัดยะลา  การทำงานส่งเสริมการเกษตร  ซึ่งจะต้องเยี่ยมเยียนเกษตรกรทั้งในรูปแบบรายครอบครัว  รายกลุ่ม  และมวลชน  ถูกจำกัดพื้นที่ลง  การปฏิบัติงานในเรือกสวนไร่นา  ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตเป็นอันดับแรก  การทำงานกับกลุ่มเกษตรกรและมวลชนยิ่งต้องหาหนทางปกป้อง  ทั้งชีวิตตนเองและชีวิตพี่น้องเกษตรกร     

                           สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา  เชื่อว่า  ชุมชนเกษตรกรที่เข้มแข็งจะช่วยเป็นเกราะป้องกันการทำงานของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรได้ระดับหนึ่ง  ดังนั้น  ภารกิจของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร  ที่สำคัญ  ได้แก่  การสร้างและพัฒนาชุมชนเกษตรกรให้เข้มแข็ง  โดยวางเป้าหมายไปยังองค์กรเกษตรกรที่มีอยู่เดิม  หรือภาษาการตลาดเรียกว่า  ลูกค้าเก่า  ซึ่งมีทั้ง  กลุ่มอาชีพ  กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร    กลุ่มเยาวชน  กลุ่มวิสาหกิจชุมชน  องค์กรเหล่านี้มีความผูกพันกับเกษตรตำบลแต่เก่าก่อน  ไม่มากก็น้อย

                     จากการวิจัยพบว่า  ชุมชนเกษตรกรที่เข้มแข็ง  จะต้องดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง  กิจกรรมดังกล่าว  จากง่ายไปยาก  ได้แก่  การออมทรัพย์  การลงหุ้นทำกิจกรรม  การรวมกันซื้อ  รวมกันขาย      ร้านค้าชุมชน  การรวมกันผลิต  การรวมกันแปรรูป  ถนอมอาหาร  ทำหัตถกรรม และศิลปประดิษฐ์  ตลอดจนการรวมกันเพื่อให้บริการ 

                     สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา  จึงวางยุทธวิธีการทำงาน  โดยให้นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล  ได้จัดเป็นทีมคณะทำงานทีมละ 2-3 คน  เพื่อช่วยดูแลซึ่งกันและกัน  ในการออกปฏิบัติงานในพื้นที่  และแต่ละทีม  วางเป้าหมายการทำงานกับองค์กรเกษตรกรอย่างน้อยทีมละ 3 กลุ่ม  กลุ่มองค์กรเกษตรกรดังกล่าว  พิจารณาจากกลุ่มดั้งเดิมที่สามารถเข้าปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยมากที่สุด (พื้นที่ปลอดภัยเต็มร้อยคงหาไม่ได้)  โดยขณะนี้ทั้งจังหวัดมีทีมปฏิบัติงาน 12 ทีม  กลุ่มเกษตรกรเป้าหมายรวม    40 กลุ่มด้วยกัน

                หลังจากที่ได้กลุ่มเป้าหมายในการปฏิบัติงานแล้ว  ทีมนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรแต่ละทีม  จะต้องจัดเวทีชุมชนร่วมกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติงานของกลุ่มประจำปี  โดยมีวัตถุประสงค์ให้บรรลุกิจกรรมสร้างชุมชนเข้มแข็ง  สำหรับการปฏิบัติงานในพื้นที่ของแต่ละเดือน  ทีมนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรจะต้องนำแผนปฏิบัติงานประจำปีของกลุ่มเป้าหมาย  มาทบทวนแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้วจัดทำเป็นแผนปฏิบัติงานของทีมเป็นประจำทุกเดือน

                 ในการจัดการความรู้  เพื่อเสริมสร้างทักษะนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรให้ปฏิบัติงานบรรลุภารกิจเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ  ความรู้ที่ว่านั้น  เป็นความรู้ในการเสริมสร้างและพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งด้วยกิจกรรมต่างๆตามที่ได้กล่าวมา 

                สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา  ได้จัดให้มี  เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรเป็นประจำทุกเดือน  หรือที่เรียกกันสั้นๆในวงการส่งเสริมการเกษตรว่า DW  หรือการสัมมนาเชิงปฏิบัติการนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำเดือน

                  วาระสำคัญใน DW  นอกจากจะใช้การบรรยายความรู้  การส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมต่างๆเพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็งโดยผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว  ยังจัดให้มีการแบ่งนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ออกเป็น 3 กลุ่ม  โดยให้รวมทีมนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร  จำนวน 3 ทีม เป็น 1 กลุ่มย่อย

                 การดำเนินงานของกลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มใน DW  มีวิธีการ  ให้แต่ละทีมในกลุ่มย่อย  นำแผนปฏิบัติงานของแต่ละทีม  ซึ่งสอดคล้องกับกิจกรรมขององค์กรเกษตรกรเป้าหมาย  มาทบทวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  ระหว่างสมาชิกในกลุ่มย่อย  เพื่อสรุปเป็นแนวทางปฏิบัติงานในรอบเดือนต่อไป

                   สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา  ได้ใช้วิธีการจัดการความรู้ หรือ DW ดังกล่าวจนสิ้นเดือน  พฤษภาคม 2550  รวม 5 ครั้ง  และคาดว่าสิ้นเดือนกันยายน 2550  จะสามารถสรุปองค์ความรู้เรื่องชุมชนเข้มแข็งด้วยกลุ่มกิจกรรมต่างๆ  เพื่อใช้เผยแพร่เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป

                      นอกจากการจัดการความรู้ด้วยวิธีการข้างต้นแล้ว  ในการติดตามนิเทศงาน  การวัดผลการปฏิบัติงาน  ตลอดจนการรายงานผลการปฏิบัติงาน  จะใช้กิจกรรมขององค์กรเกษตรกรเป้าหมาย  เป็นเนื้อหาสาระทั้งหมด

                     กล่าวโดยสรุปว่า  ระบบส่งเสริมการเกษตรของสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา  เริ่มต้นด้วยการวางภารกิจของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรให้มีวัตถุประสงค์  เพื่อสร้างและพัฒนาชุมชนเกษตรกรให้เข้มแข็งด้วยกิจกรรมต่างๆ  โดยจัดทีมนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรและกำหนดองค์กรเกษตรกรเป้าหมายที่ชัดเจน  รวมทั้งการวางแผนการปฏิบัติงาน  การจัดการความรู้  การติดตามนิเทศงาน  การวัดผลการปฏิบัติงาน  และการรายงานผล  มีเป้าหมายเดียวกันและสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ

หมายเลขบันทึก: 100089เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2007 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

นับถือในความเสียสละ  และอดทนทำงานช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร  แม้จะอยู่ในสถานะการณ์ที่ล่อแหลม  แต่ก็ยังทำงานได้ผลงานน่าชื่นชมครับ

เป็นกำลังใจให้ชาวเกษตรจังหวัดยะลาทุกๆ ท่านนะครับ

ธวัช  หมัดเต๊ะ

สคส.  

 

  • ผมติดตาม ผลงานท่าน ตั้งแต่อยู่ที่ สสข.5 แล้วครับ
  • ให้ท่าน และทีมงาน ดูแลตัวเอง ด้วยครับ
  • เป็นกำลังใจให้กับทีมงานยะลานะคะ
  • แม้ว่าสถานการณ์จะรุนแรง จ.ยะลาก็เป็นจังหวัดแรก ๆ ที่ใช้ระบบส่งเสริมการเกษตรเป็นเครื่องมือ ขอนับถือและชื่นชมกับทีมงาน โดยเฉพาะเกษตรจังหวัดคะ
  • ขอบพระคุณมากครับ
  • ขอเป็นกำลังใจให้กับนักส่งเสริมการเกษตรของจังหวัดยะลาทุกๆ ท่านนะครับ
ขอฃมเฃยด้วยใจจริง  ต้องการความช่วยเหลือขอให้บอกมาครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท