อนุทิน 119956


ชยพร แอคะรัจน์
เขียนเมื่อ

การผลิตกล้วยไม้การค้า (Commercial Orchid Production)

บทที่ 1 ความหมาย ความสำคัญของกล้วยไม้

1.1.ความหมายของกล้วยไม้

กล้วยไม้ หมายถึง พืชใบเลี้ยงเดี่ยว ในวงศ์ออชิดาซีอี้(Orchidaceae) มีลักษณะที่สำคัญดังนี้คือ

1.ส่วนใหญ่มีรากที่เจริญเติบโตได้ในอากาศ

2.ลำต้นมีทั้งลำต้นแท้จริง ได้แก่ สกุลแวนด้า แมลงปอ และลำต้นเทียม เรียกว่า ลำลูกกล้วย (pseudobulbs) ได้แก่ สกุลหวาย เป็นต้น

3.ใบ มีหลายลักษณะ ได้แก่ ใบ แบน ใบกลม และใบร่อง

4.ดอก ประกอบด้วย กลีบดอกชั้นนอก 3 กลีบ และกลีบดอกชั้นใน 3 กลีบ กลีบดอกชั้นในที่อยู่ด้านล่างมีลักษณะแตกต่างไปเรียกว่าปากหรือกระเป๋า (lip)

5.เป็นดอกสมบูรณ์เพศ เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียรวมเป็นอวัยวะเดียวกันเรียกว่า เส้าเกสร รังไข่ของดอกกล้วยไม้อยู่ตรงส่วนของก้านดอก

1.2.ความสำคัญของกล้วยไม้

1.เป็นอาชีพหลักของเกษตรกรได้

2.เป็นอาชีพเสริมของบุคคลทั่วไปได้

3.เป็นงานอดิเรกได้ดี (งานไม่หนัก, ได้ชื่นชมดอกกล้วยไม้, สิ่งแวดล้อมดี)

4.ช่วยรักษาสมดุลธรรมชาติในระบบนิเวศ

----------------------------

บทที่ 2.ประเภทของกล้วยไม้

2.1.แบ่งตามลักษณะการเจริญเติบโตของลำต้น

1. ประเภทแตกกอ (Sympodial) มีเหง้า ซึ่งเป็นลำต้นที่แท้จริง เจริญไปตามแนวนอนของเครื่องปลูก และมี ลำลูกกล้วย ซึ่งเป็นลำต้นเทียม เจริญตั้งขึ้นมาเป็นลำต้นที่โคนลำลูกกล้วยที่ติดกับเหง้าจะมีตาที่สมบูรณ์ 2 ตา สลับกันเจริญเติบโต ลำที่เกิดก่อนเรียกว่าลำหลัง ส่วนลำที่แตกใหม่เรียกว่าลำหน้า ตาที่อยู่บนลำที่เจริญเต็มที่จะพัฒนาเป็นตาดอก ได้แก่ กล้วยไม้ในสกุลหวาย แคทลียา และรองเท้านารี

2. ประเภทไม่แตกกอ (Monopodial) มีการเจริญเติบโตขึ้นไปทางส่วนยอด โดยตาที่ยอดจะแตกใบใหม่เจริญขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนโคนต้นก็จะออกรากไล่ตามยอดขึ้นไป ไม่มีการแตกลำลูกกล้วย ได้แก่ กล้วยไม้สกุลแวนด้า ช้าง กุหลาบ เข็ม และแมลงปอ

2.2.แบ่งตามลักษณะการเจริญเติบโตของราก

1.รากดิน เช่น นางอั้ว ลิ้นมังกร

2.รากกึ่งอากาศ เช่น หวาย

3.รากอากาศ เช่น แวนด้า เข็ม

2.3.แบ่งตามลักษณะทางพันธุกรรม

1.กล้วยไม้ป่า

2.กล้วยไม้พันธุ์ผสม

---------------------------------

บทที่ 3 การขยายพันธุ์กล้วยไม้

3.1.การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด -นำเมล็ดพันธุ์จากฝักแก่ มาเพาะด้วยอาหารและฮอร์โมนพิเศษ ในระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ -มุ่งประโยชน์เพื่อการปรับปรุงพันธุ์

3.2.การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ -นำส่วนของหน่ออ่อน ที่มีตาเจริญสมบูรณ์ มาเพาะเลี้ยงในระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ -มุ่งประโยชน์เพื่อการรักษาพันธุ์ และขยายพันธุ์เป็นการค้าทีละมาก ๆ

3.3.การขยายพันธุ์โดยการแยกลำต้น -นำต้นกล้วยไม้ ที่มีกอขนาดใหญ่มาขยายพันธุ์ -มุ่งประโยชน์เพื่อการขยายพันธุ์ สำหรับการปลูกเลี้ยงเป็นงานอดิเรก หรือเป็นการค้าขนาดเล็กมาก

1.การแยกลำหน้า -ใช้กับพวกแตกกอ เช่น หวาย

2.การแยกหน่อตะเกียง -ใช้กับพวกแตกกอ เช่น หวาย

3.การตัดลำต้นปักชำ -ใช้กับพวกแตกกอ เช่น หวาย แคทลียา

4.การตัดแยกลำต้น -ใช้กับพวกไม่แตกกอ เช่น แวนด้า มอ็คคาร่า

3.4.วัสดุใช้ปลูกกล้วยไม้

1.กาบมะพร้าว -รักษาความชื้นได้ดี -อายุใช้งานประมาณ 1 ปี -ราคาถูก -เบา -ไม่เหมาะกับปุ๋ยชีวภาพ

2.ถ่าน -รักษาความชื้นได้ปานกลาง -อายุใช้งานได้หลายปี -กำหนดขนาดยาก

3.อิฐ -รักษาความชื่นได้ค่อนข้างน้อย -อายุใช้งานยาวนานมาก -ไม่เหมาะกับกระถางชนิดแขวน -กำหนดขนาดยาก

4.โฟม -ไม่รักษาความชื้น -อายุใช้งานยาวนานมาก -เหมาะกับการรองก้นกระถาง

5.ท่อนไม้ -รักษาความชื้นได้ปานกลาง -อายุใช้งานได้หลายปี -เหมาะกับกล้วยไม้ป่า ประดับ สวยงาม

6.ออสมันด้า(Osmunda) -เป็นรากเฟรินส์ เก็บความชื้นดี ระบายอากาศดี มีธาตุอาหารดี -เหมาะกับกล้วยไม้ที่มีราคาแพงมาก

3.5.ภาชนะใช้ปลูกกล้วยไม้

1.กระถางชนิดแขวน -เหมาะกับกล้วยไม้รากอากาศ หรือกึ่งอากาศ เช่น หวาย แคทลียา แวนด้า เข็ม

2.กระถางชนิดตั้งพื้น -เหมาะกับกล้วยไม้รากดิน รากกึ่งดิน เช่น รองเท้านารี นางอั้ว ลิ้นมังกร

3.ท่อนไม้ -เหมาะกับกล้วยไม้ป่า ประดับ สวยงาม

-----------------------------

บทที่ 4 การดูแลรักษากล้วยไม้

4.1.โรงเรือนกล้วยไม้

-หลังคาโรงเรือนต้องพรางแสงให้เหลือประมาณ 50 %

-โครงสร้างของโรงเรือนควรแข็งแรง มีอายุการใช้งานมากกว่า 3 ปีขึ้นไป

-มี 2 แบบคือ

1. แบบโรงเรือนหลังใหญ่ -โดยสร้างโรงเรือน แล้วสร้างโต๊ะวางกล้วยไม้ หรือราวแขวนไว้ภายใน

2. แบบโรงเรือนหลังเล็ก -โดยสร้างโต๊ะวางกล้วยไม้ และใช้ไม้ต่อจากโต๊ะขึ้นไป เพื่อทำหลังคา เหมาะสำหรับใช้พักกล้วยไม้

-โครงสร้างของโรงเรือน ควรเป็นเสาคอนกรีตหรือแป๊ปน้ำ ฝังลึกลงในดิน 50 ซม. โรงเรือนสูง 3 เมตร

-ใช้ตาข่ายไนล่อนหรือซาแรนสีดำ คลุมหลังคา เนื่องจากมีน้ำหนักเบา ใช้ได้ง่าย และมีราคาถูก

-พื้นที่โรงเรือนควรปูทรายหยาบ หนาประมาณ 10 ซม. และใช้แผ่นซีเมนต์ปูทางเดิน เพื่อไม่ให้น้ำขังและสะดวกต่อการปฏิบัติงาน

-โต๊ะวางกล้วยไม้ ควรมีขนาดกว้าง 1 เมตร สูง 0.7 เมตร ความยาวแล้วแต่ขนาดของโรงเรือน และเว้นทางเดินกว้าง 1.2 เมตร

-ราวแขวน ควรให้แนวราว อยู่สูงจากพื้นประมาณ 2.5 เมตร แต่ละราวห่างกัน 50 ซม. และทุก ๆ 4 ราวควรเว้นทางเดินกว้างประมาณ 1 เมตร

4.2.การให้น้ำกล้วยไม้

-ต้องเป็นน้ำที่ใสสะอาด มีความเป็นกรดอ่อน ๆ ถึงเป็นกลาง คือมีค่า pH ประมาณ 5-7

-น้ำฝน ดีที่สุด รองลงไปคือน้ำประปา ส่วนน้ำบาดาล ควรตรวจสอบก่อนใช้ และอาจต้องกรอง รวมทั้งปรับค่า pH ให้พอเหมาะเสียก่อน

-น้ำจากแม่น้ำ ลำคลอง ควรสะอาด ไม่มีขยะเจือปน ก่อนใช้ควรกรองหรือปล่อยให้ตกตะกอนและปรับระดับค่า pH เสียก่อน

-น้ำบ่อ ควรตรวจสอบก่อนใช้เช่นกัน

อุปกรณ์สำหรับให้น้ำกล้วยไม้ มีดังนี้

1.เครื่องพ่นน้ำขนาดเล็กแบบสูบลมด้วยมือ -ใช้พ่นน้ำแก่ลูกกล้วยไม้อ่อน

2.บัวรดน้ำชนิดฝอยละเอียด

3.หัวฉีดต่อกับสายยาง

4.ระบบฝนเทียม

-ในฤดูฝน ถ้าวันใดภาชนะปลูกหรือเครื่องปลูกในตอนเช้ายังเปียกชื้น ก็ไม่ควรจะให้น้ำ

-ฤดูร้อนและฤดูหนาวอาจจะให้น้ำวันละ 1-2 ครั้ง

-ใน บางฤดูกาลกล้วยไม้ไทยพันธุ์แท้บางชนิดจะอยู่ในระหว่างการพักตัว ซึ่งพอจะสังเกตได้จากการที่กล้วยไม้หยุดการเจริญเติบโตทุกส่วน อย่างลูกกล้วยไม้อาจจะทิ้งใบหมด หรือเหลืออยู่เพียงส่วนน้อย ในระยะนั้นกล้วยไม้ไม่ต้องการน้ำจึงไม่ต้องให้น้ำ รอจนกว่ารากใหม่สีเขียว ๆ หรือหน่ออ่อนกล้วยไม้เริ่มเกิดขึ้นที่โคนลำลูกกล้วย แสดงว่ากล้วยไม้หมดระยะพักตัว

-ให้น้ำตอนเช้า

-ถ้ามีความจำเป็นจะต้องรดน้ำอีกครั้งก็ควรเป็นตอนบ่ายมาก ๆ แสงแดดอ่อน เพื่อช่วยบรรเทาความร้อนภายในเรือนกล้วยไม้

4.3.การให้ปุ๋ยกล้วยไม้

-ชนิดของปุ๋ยกล้วยไม้ มี 2 ชนิด ได้แก่

1.ปุ๋ยเม็ด -เป็นปุ๋ยละลายช้า

2.ปุ๋ยน้ำ -เป็นปุ๋ยละลายเร็ว

-ในระยะลูกกล้วยไม้ ควรให้ปุ๋ยสูตรที่เร่งการเจริญของราก คือปุ๋ยที่มีธาตุฟอสฟอรัสและโปแตสเซียมสูงกว่าไนโตรเจน เช่น สูตร 10-24-24 หรือสูตร 10-52-17

-เมื่อลูกกล้วยไม้มีรากแข็งแรงดีแล้ว ใช้สูตรที่มีธาตุ ไนโตรเจนสูง เช่น สูตร 30-20-10 หรือปุ๋ยสูตรที่มีเรโซเท่ากัน เช่น 15-15-15 เพื่อเร่งการเจริญเติบโตทางใบและต้น

-เมื่อกล้วยไม้เริ่มแทงช่อดอก ใช้สูตรที่มีตัวท้ายสูง เช่น 10-10-20

-ให้ปุ๋ยประมาณสัปดาห์ละครั้ง

-----------------------

บทที่ 5 ศัตรูกล้วยไม้

โรคกล้วยไม้ (เรียบเรียง ดัดแปลงจาก http ://www .cpflower.com)

1.โรคเน่าดำ โรคยอดเน่าหรือโรคเน่าเข้าไส้ (Black rot)

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Phytophthora palmivora Butl

ลักษณะอาการ เกิดได้ทุกส่วนของต้นกล้วยไม้

1. อาการที่ใบ เริ่มจากจุดใสชุ่มน้ำ แผลจะใหญ่ขึ้นและเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาลและสีดำในที่สุด

2. อาการที่ต้นและยอด เชื้อราจะเข้าที่โคนต้นหรือยอด ใบจะเหลืองและเน่าดำ หลุดร่วงจากต้นโดยง่าย เวลาจับจะหลุดติดมือได้โดยง่าย

3. อาการที่ราก จะทำให้รากเน่าแห้ง แฟบและยุบตัวลง 4. อาการที่ดอก กลีบดอกเป็นจุดแผลสีดำ ก้านดอกและปากเหี่ยวเป็นสีน้ำตาล เมื่อเป็นรุนแรงดอกจะหลุดร่วงจากช่อดอก บนกลีบดอกจะมีอาการเน่าฉ่ำน้ำ

การป้องกันกำจัด

1. ปรับสภาพโรงเรือนให้โปร่ง อย่าปลูกกล้วยไม้ให้แน่นจนเกินไป

2. ไม่ควรรดน้ำตอนเย็น ใกล้ค่ำ เนื่องจากความชื้นสูงโรคนี้จะระบาดรุนแรง

3. เผาทำลายต้นที่เป็นโรค ถ้าเป็นกับกล้วยไม้โตควรตัดส่วนที่เป็นโรคออกเสียจนถึงเนื้อเยื่อส่วนที่ดี แล้วใช้สารกำจัดเชื้อราฉีดหรือป้าย

4. ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา ซึ่งมีชื่อสามัญ เมทาแลกซิล (methalaczyl) และแมนโคเซบ (mancozeb) ตามอัตราที่ระบุไว้ ฉีดบริเวณรากลำต้น ใบและดอก

2. โรคดอกสนิมหรือจุดสนิม (Flower rusty spot)

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Curvularia eragrostidis (P. Henn.). A. Meyer

ลักษณะ อาการ อาการจะปรากฏบนกลีบดอก เริ่มแรกจะเป็นจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาลอมเหลือง เมื่อจุดขยายโตขึ้นจะมีสีเข้มคล้ายสีสนิม ลักษณะแผลค่อนข้างกลมมีขนาดตั้งแต่ 0.1 – 0.3 มิลลิเมตร

การป้องกันกำจัด

1. ทำความสะอาดโรงเรือนเป็นประจำ เก็บส่วนที่เป็นโรคและเผาทำลาย

2. ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อ ซึ่งมีชื่อสามัญ แมนโคเซบ (mancozeb) ตามอัตราที่ระบุไว้ ฉีดบริเวณดอกแต่ต้องระวังเกี่ยวกับคราบยาที่จะเกิดขึ้นบนกลีบดอก จึงไม่ควรผสมยาจับใบ

3. โรคต้นเน่าแห้งหรือโรคราเมล็ดผักกาด (Stem rot, Southern blight)

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Sclerotium rofsii Sacc.

ลักษณะ อาการ เชื้อราจะเข้าทำลายบริเวณรากหรือโคนต้น แล้วลุกลามไปส่วนบนบริเวณที่ถูกทำลายจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาลตาม ลำดับ ถ้าอากาศชื้นมาก ๆ จะพบเส้นใยสีขาวแผ่บริเวณแผล และมีเม็ดกลม ๆ สีน้ำตาลขนาดเล็กคล้ายเมล็ดผักกาดบริเวณโคนต้น ซึ่งเม็ดกลม ๆ เป็นกลุ่มของเส้นใยที่อัดตัวกันแน่น โรคนี้บางครั้งแสดงอาการที่ใบทำให้ใบเน่าเป็นสีน้ำตาล

การป้องกันกำจัด

1. ทำความสะอาดโรงเรือนเป็นประจำ เก็บส่วนที่เป็นโรคและเผาทำลาย

2. ราดด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา ซึ่งมีชื่อสามัญ คาร์เบนดาซิม (Cabendazym) ตามอัตราที่ระบุไว้ ราดบริเวณที่เป็นโรค

4. โรคใบปื้นเหลือง (Leaf spot)

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Pesudocercospora dendrobii Deighton

ลักษณะ อาการ โรคนี้จะเป็นกับใบกล้วยไม้แก่หรือใบที่อยู่โคนต้น ก่อนอาการเริ่มต้นจะเป็นจุดกลมสีเหลือง เมื่อเป็นมาก ๆ จะขยายติดต่อกันเป็นปื้นสีเหลืองตามแนวยาวของใบ เมื่อพลิกดูด้านใต้ใบตำแหน่งที่อยู่ตรงข้ามกับแผลจะเห็นผงสีดำคล้ายขี้ดินสอ ขึ้นกระจายเต็มไปหมด แผลจะลุกลามขยายจนเต็มใบ สีใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้ม น้ำตาลและดำ จากนั้นจะร่วงหลุดจากต้นทำให้ต้นทิ้งใบหมด

การป้องกันกำจัด

1. ทำความสะอาดโรงเรือนเป็นประจำ เก็บส่วนที่เป็นโรคและเผาทำลาย

2. ฉีดด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา มีชื่อสามัญ คาร์เบนดาซิม (Carbendazym) แมนโคเซบ (mancozeb) ตามอัตราที่ระบุไว้ ฉีดพ่นบริเวณที่เป็นโรค

5. โรคใบจุด (Leaf spot)

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Phyllostictina pyriformis Cash & Watson

ลักษณะอาการ มีลักษณะอากรแตกต่างหลายลักษณะ

1. อาการบนใบกล้วยไม้ประเภทแวนด้า ลักษณะแผลเป็นรูปยาวรีคล้ายกระสวย ถ้าเป็นมากแผลจะรวมกันเป็นแผ่น บริเวณตรงกลางแผลจะมีตุ่มนูนสีน้ำตาลดำ จะรู้สึกสากมือเมื่อลูบบริเวณแผล จึงมักเรียกว่าโรคขี้กลาก

2. อาการบนใบกล้วยไม้สกุลหวาย ลักษณะแผลเป็นจุดกลมสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ขอบแผลมีสีน้ำตาลอ่อน ขนาดแผลเล็กตั้งแต่เท่าปลายเข็มหมุดไปจนถึงขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร บางครั้งแผลจะบุ๋มลึกลงไป หรือนูนขึ้นมาเล็กน้อย หรือเป็นสะเก็ดสีดำ เกิดได้ทั้งบนใบและหลังใบบางครั้งอาจพบเป็นจุดกลมสีเหลืองก่อนแล้วจึง เปลี่ยนเป็นจุดสีดำทั้งวง

การป้องกันกำจัด

1 รวบรวมใบที่เป็นโรคแล้วเผาทำลาย เพื่อไม่ให้เชื้อราแพร่ระบาด

2. ฉีดด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา ซึ่งมีชื่อสามัญ คาร์เบนดาซิม (Carbendazym) และแมนโคเซบ (mancozeb) ฉีดตามอัตราที่ระบุไว้ ฉีดพ่นบริเวณที่เป็นโรค

6. โรคแอนแทรกโนส (Anthracnose)

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Collectotrichum sp.

ลักษณะ อาการ เกิดได้ทั้งที่ปลายใบและกลางใบ มีลักษณะที่สังเกตได้ชัดเจนคือ มีแผลสีน้ำตาล เป็นวงเรียงซ้อนกันหลาย ๆ ชั้นและจะมีกลุ่มของเชื้อราเป็นสีดำเกิดขึ้นบนวงที่ซ้อนกัน

การป้องกันกำจัด

1. รวบรวมใบที่เป็นโรคแล้วเผาทำลาย เพื่อไม่ให้เชื้อราแพร่ระบาด

2. ฉีดด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา ซึ่งมีชื่อสามัญ แมนโคเซบ (mancozeb) แคบแทน (captan) และคาร์เบนดาซิม (carbendazym) ฉีดตามอัตราที่ระบุไว้ ฉีดพ่นบริเวณที่เป็นโรค

แมลงศัตรูกล้วยไม้ (เรียบเรียง ดัดแปลงจาก http: //www .readyorchid.com)

1. เพลี้ยไฟฝ้าย (Cotton Thrips)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Thrips palmi Karny

ชื่ออื่นๆ ตัวกินสี

ส่วนของพืชที่ถูกทำลาย ช่อดอก

ลักษณะ การทำลาย ตัว อ่อนและตัวเต็มวัยเข้าทำลายดอกกล้วยไม้ โดยใช่ปากเขี่ยเนื่อเยื่อให้ช้ำแล้วดูดน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืช บริเวณที่ถูกทำลายเกิดรอยด่างขาว

ทำลายกล้วยไม้เกือบตลอดปี แต่พบน้อยในช่วงฤดูฝน

การป้องกันกำจัด อาจจะใช้สารป้องกันกำจัดแมลงดังกล่าว

2. บั่วกล้วยไม้ (Orchid midge) ,

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Contarinia sp. ชื่ออื่นๆ :ไอ้ฮวบ , แมลงวันดอกกล้วยไม้

ส่วนของพืชที่ถูกทำลาย กลีบดอก มักเป็นกล้วยไม้สกุลหวาย

ลักษณะ การทำลาย ตัวหนอนจะกัดกินกลีบดอกด้านใน ทำให้กลีบดอกเกิดอาการผิดปรกติ มีผลทำให้ดอกตูมชะงักการเจริญเติบโต บิดเบี้ยว และหงิกงอ ต่อมาจะมีอาการเน่าเหลือง ฉ่ำน้ำและหลุดล่วงจากช่อดอก หากพบระบาดรุนแรง ดอกตูมจะหลุดร่วงอย่างรวดเร็วฮวบฮาบ จนเหลือแต่ก้านดอก จึงเป็นชื่อเรียกว่า 'ไอ้ฮวบ'

การป้องกันกำจัด

1. ใช้วิธีกล โดยทำลายดอกตูมที่มีอาการเน่า ฉ่ำน้ำ หรือแสดงอาการบิดเบี้ยว

2. หากพบมีการระบาดรุนแรง อาจจะใช้สารป้องกันกำจัดแมลงดังกล่าว

3. ไรแดงเทียม (False spider mite)

ชื่อวิทยาศาตร์ Teunipalpus pacificus Baker

ส่วนของพืชที่ถูกทำลาย ลำต้น ใบ ราก

ลักษณะ การทำลาย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย จะดูดน้ำเลี้ยงที่ใบและดอก ถ้าทำลายที่ใบจะทำให้เกิดจุดด่าง ผิวใบไม่เรียบ และเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นจนถึงน้ำตาล บางครั้งบริเวณที่ถูกทำลาย มีสีแดงเป็นปื้น หรือสีน้ำตาลไหม้เกรียม ถ้าทำลายที่ดอกจะทำให้บริเวณที่ถูกดูดกินเป็นสีม่วงเข้ม เห็นได้ชัดในพวกกลีบดอกสีขาว

การป้องกันกำจัด

1. ไม่ควรปลูกกล้วยไม้ในลักษณะที่แออัดมากเกินไป โดยเฉพาะกล้วยไม้ที่มีการแตกหน่อและใบแน่นทึบ เพราะทำให้ยากแก่การดูแลรักษา โดยเฉพาะการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช อาจทำได้ไม่ทั่วถึง

2. ใบและช่อดอกที่ถูกไรแดงทำลาย ควรนำไปเผาทำลาย เพื่อลดปริมาณไรให้เหลือน้อยที่สุด

3. อาจจะใช้สารป้องกันกำจัดแมลงดังกล่าว

4. หนอนกระทู้ผัก ,หนอนกระทูฝ้าย , หนอนกระทู้ยาสูบ (Cluster caterpillar ,Cotton leafworm , Tobacco cutworm , Common cutworm)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Spodoptera litura Fabricius

ส่วนของพืชที่ถูกทำลาย ดอกและใบ โดยหนอนจะกัดกินส่วนดอกและใบ

การป้องกันกำจัด

1. ใช้วิธีกล โดยเก็บกลุ่มไข่และหนอนไปทำลาย เป็นวิธีที่ได้ผลดี และมีประสิทธิภาพ

2. ใช้เชื้อจุลินทรีย์ ได้แก่ ไวรัส เอ็นพีวี ของหนอนกระทู้ผัก อัตรา 30 มิลลิลิตร / น้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบอัตราตามฉลาก ฉีดพ่นในช่วงเวลาเย็นทุก 5 วันในช่วงหนอนระบาด

3. อาจจะใช้สารป้องกันกำจัดแมลงดังกล่าว

5. หนอนกระทู้หอม, หนอนหนังเหนียว ,หนอนเขียว (Beet armyworm ,Lesser worm , Onion cutworm)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Spodoptera exigus Hubner

ส่วนของพืชที่ถูกทำลาย ดอกและใบ

การป้องกันกำจัด

1. ใช้วิธีกล โดยเก็บกลุ่มไข่และหนอนไปทำลาย เป็นวิธีที่ได้ผลดี และมีประสิทธิภาพ

2. ใช้เชื้อจุลินทรีย์ ได้แก่ *ไวรัส เอ็นพีวี ของหนอนกระทู้ผัก หรือ *เชื้อแบคทีเรีย (Bt) ฉีดพ่นในช่วงเวลาเย็นทุก 5 วัน

3. สารสกัดสะเดา ในอัตรา 100 มิลลิลิตร /น้ำ 20 ลิตร

4. อาจจะใช้สารป้องกันกำจัดแมลงดังกล่าว

6. หอยทากซัคซิเนีย (Amber Snail)

ชื่อวิทยาศาตร์ Succinea chrysys West

ส่วนของพืชที่ถูกทำลาย ตาหน่อ ตาดอก และช่อดอก

ลักษณะ การทำลาย หอยทากซัคซิเนีย ระบาดทำลายกล้วยไม้ในแปลงที่มีความชื้นสูง โดยเข้าทำลายตาหน่อ ตาดอก และช่อดอก นอกจากนี้ เมือกที่หอยปล่อยไว้ตลอดแนวที่เดินผ่าน เป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อโรค หรือเชื้อราเข้าทำลายกล้วยไม้ได้อีกด้วย

รูปร่าง หอยทากชนิดนี้เป็นหอยทากขนาดเล็ก มีความกว้าง 0.5-0.6 ซม. สูง 0.8-0.9 ซม.

การแพร่กระจาย และฤดูกาลที่ระบาด แปลงกล้วยไม้ที่มีความชื้นสูง และพบระบาดมากในฤดูฝน

การป้องกันกำจัด

1. เครื่องปลูก เช่น กาบมะพร้าว ควรอบ หรือ ตากแห้ง หรือ ชุบสารกำจัดหอยก่อนนำไปปลูก เพื่อป้องกันกำจัดไข่หอย หรือลูกหอยที่ติดมา

2. เมื่อเริ่มพบหอยทาก ให้วางเหยื่อพิษสำเร็จรูปเมทัลดีไฮด์ มีลักษณะเป็นเม็ด โดยวางเป็นจุด ประมาณปลายช้อนชา ตามโคนต้นกล้วยไม้ในแหล่งที่พบหอยทาก ภายหลังจากที่ให้น้ำกล้วยไม้แล้ว หรือเวลาเย็นในวันที่ฝนไม่ตก เพื่อให้เหยื่อพิษ มีประสิทธิภาพอยู่ได้นานหลายวัน

3. กรณีที่หอยทากระบาดมากทั่วทั้งสวน อาจจะใช้สารป้องกันกำจัดหอยดังกล่าว

7. หอยทากสาริกา (หอยแว่น ,Sarika Snail)

การป้องกันกำจัด- เช่นเดียวกับข้อ 6

------------------------

บทที่ 6 การเก็บเกี่ยวและจัดการหลังเก็บเกี่ยวกล้วยไม้

(เรียบเรียง ดัดแปลงจาก http ://www . cpflower.com และhttp ://www . doae.go.th/library/html/detail/orchid/orchid0.htm)

-การเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้ดอกที่มีคุณภาพดี ผู้ปลูกต้องกำหนดวันตัดดอกให้แน่นอน แล้วจัดตารางใส่ปุ๋ยให้เหมาะสม

-ไม่ ควรเก็บเกี่ยวหลังจากที่เพิ่งให้ปุ๋ย 1-2 วัน โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน เนื่องจากดอกจะเหี่ยวเร็วและช้ำง่าย อันเนื่องมาจากเซลอวบน้ำ จึงควรเว้นระยะไว้สัก 3-4 วัน ก่อนที่จะตัดดอก

-ช่วงเวลา ตัดดอกควรตัดในช่วงเข้ามืด โดยใช้มือหักกดลงที่โคนก้านช่อหรือตัด ด้วยกรรไกร โดยต้องทำความสะอาดกรรไกรทุกครั้ง เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโดยเฉพาะจากเชื้อไวรัส

การตัดดอกกล้วยไม้

-สกุลแคทลียาตัดดอกเมื่อกลีบดอกแยกตัวออกได้ 3-5 วัน

-สกุลหวาย ตัดดอกเมื่อดอกย่อยบานได้ 5-7 ดอก โดยดอกต้องบาน 3/4 ของช่อดอก

-สกุลฟาแลนนอปซิส ตัดดอกเมื่อดอกบานเต็มที่

-สกุลออนซิเดียม ตัดดอกเมื่อดอกย่อยบานเกือบหมด ในระยะเหลือดอกตูมที่ปลายช่อ 1-2 ดอก

-สกุลแวนด้า และแอสโคเซนด้า ตัดดอกเมื่อดอกบานหมดช่อ ส่วนอะแรนด้า, ม๊อคคาร่า ตัดดอกเมื่อดอกบานเกือบหมดช่อหรือหมดช่อ

วิธีตัด

-ควรใช้มีดหรือกรรไกรที่คมมากและสะอาดเพื่อป้องกันก้านดอกบริเวณที่ตัดไม่ให้ช้ำจะช่วยให้ดอกไม้ดูดน้ำได้ดี

-ผู้ ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ส่วนใหญ่มักหักโคนก้านช่อบริเวณข้อด้วยมือมากกว่า ซึ่งทำได้สะดวก แต่จะเกิดรอยช้ำบริเวณเหนือรอยที่หัก ทำให้ดอกกล้วยไม้ดูดน้ำได้น้อยลง

-สามารถตัดได้ทุกเวลาแล้วแต่สะดวก แต่ก็ควรให้ดอกที่ตัดได้รับความชื้นที่สูงและอุณหภูมิที่ต่ำ

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

1.การคัดแยก -แยกขนาดความยาวแล้วใส่ก้านในแต่ละหลอดหรือใส่ในสำลีที่หุ้มด้วยถุงพลาสติก ขนาดเล็กโดยมีน้ำยาแช่อยู่ จากนั้นจึงมัดรวมเป็นช่อแล้วห่อด้วยกระดาษฟาง กระดาษไขหรือแผ่นพลาสติก เพื่อป้องกันการกระแทก แล้วใส่รวมในกล่องย่อยเพื่อบรรจุรวมในกล่องใหญ่อีกทีหนึ่ง

-โรงเรือนที่ใช้คัดเลือกดอกไม้จะต้องสะอาด มีการระบายอากาศดี

2.การใช้น้ำยา แบ่งออกได้เป็น 4 แบบ คือ

2.1.นำก้านดอกแช่ในน้ำอุ่นที่บริสุทธิ์ประมาณ 4-8 ชั่วโมง แล้วเก็บไว้ในห้องเย็น

2.2.ใช้ น้ำยา -ที่ใช้มีน้ำตาลซูโครสที่มีความเข้มข้นสูง ปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่อการเพิ่มอาหารคือ ระยะเวลา อุณหภูมิ และความเข้มของแสง ส่วนใหญ่จะให้ระยะเวลาที่ใช้ประมาณ 12-24 ชั่วโมง อุณหภูมิประมาณ 20-27 องศาเซลเซียส และความเข้มของแสง 1,000 ลักส์

2.3.การทำให้ดอกตูมบาน จะใช้น้ำยาและสภาพแวดล้อมคล้ายกับการเพิ่มอาหาร แต่ใช้น้ำตาลซูโครสความเข้มข้นต่ำกว่าแต่แช่ในระยะเวลานานกว่า

2.4.การ ทำให้ดอกไม้มีอายุการใช้งานนานขึ้น ผู้ขายส่งและผู้ขายปลีกจะเป็นผู้ใช้น้ำยาแช่ก้านดอกไม้ระหว่างรอการขาย และผู้ซื้อก็จะใช้น้ำยาในการยืดอายุการใช้งานหรือการปักแจกกัน

3.การให้ความเย็น -ต้องให้รับความเย็นเร็ว ที่สุดหลังจากเก็บเกี่ยว ยิ่งลดอุณหภูมิเร็วเท่าไรอายุการใช้งานของดอกกล้วยไม้ก็จะยิ่งยาวขึ้น

4.ภาชนะบรรจุ -เพื่อให้ง่ายต่อการขนส่งและการจัดจำหน่าย เพื่อป้องกันดอกกล้วยไม้ระหว่างการเก็บรักษาและการตลาด เพื่อป้องกันความเสียหายจากการกระแทก เพื่อเพิ่มความแข็งแรง เพื่อให้ความเย็นและลดการสูญเสียความชื้นของดอกกล้วยไม้

5.การเก็บรักษา -ควรเก็บที่อุณหภูมิ 5-7 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเก็บได้นานประมาณ10-14 วัน ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับเก็บรักษาดอกกล้วยไม้ขึ้นอยู่กับชนิดและพันธุ์ เช่น สกุลซิมบิเดียมและรองเท้านารีสามารถเก็บได้นานถึง 3 สัปดาห์ที่ 0-1 องศาเซลเซียส ดอกแคทลียาควรเก็บรักษาที่ 7-10 องศาเซลเซียส และดอกแวนด้าเก็บรักษาที่ 13 องศาเซลเซียส

6.การขนส่ง -ต้องมีวิธีป้องกันดอกกล้วยไม้ไม่ให้ได้รับความเสียหายจากการกระแทก จากการสูญเสียน้ำ และควรมีระบบการให้ความเย็นเพื่อลดการหายใจและคายน้ำ การขนส่งที่ดีต้องใช้เวลาสั้นที่สุด รักษาคุณภาพของดอกกล้วยไม้ได้นาน

-------------------------

บทที่ 7 การตลาดกล้วยไม้

7.1.ลักษณะของกล้วยไม้ที่เป็นที่ต้องการของตลาด

1.ปลูกเลี้ยงง่าย

2. แข็งแรง ทนทาน ต่อศัตรูพืช

3.ให้ดอกดก ช่อดอกมา ดอกเรียงเป็นระเบียบ

4.ก้านดอกแข็ง

5.ดอกบานทนนาน

7.2.การตลาดกล้วยไม้ภายในประเทศ

7.3.การตลาดกล้วยไม้ต่างประเทศ

7.4.สถานการณ์การตลาดกล้วยไม้ในปัจจุบัน

------------------------



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท