๔๕.แสง-เงาและไรแดด : วิถีคิดและความสร้างสรรค์ทางศิลปวิทยาที่เก่าแก่และก้าวหน้าที่สุดแนวหนึ่ง


 

ภาพที่ ๑   แสง-เงาและไรแดดบนกอบัว  เป็นภาพที่มีความสวยงามในเชิงศิลปะภาพถ่าย ขณะเดียวกันก็งดงามด้วยเรื่องราวอันเกิดจากแสง-เงา และไรแดด ซึ่งนอกจากจัดว่าเป็นศิลปะที่จะสามารถเข้าถึงได้รอบตัวสำหรับคนทั่วไปแล้ว เรื่องของแสงเงาและไรแดดนี้ ก็สามารถใช้ศึกษาวิธีการทางศิลปะ เพื่อเกิดทรรศนะเชื่อมโยงแบบสหวิทยาการ อีกทั้งเห็นหลักคิดสำหรับขยายปัญญาไปสู่เรื่องราวต่างๆได้อีกอย่างกว้างขวาง ที่จะไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยศาสตร์และความรู้เชิงเดี่ยว ถ่ายภาพ : นงนาท สนธิสุวรรณ[คลิ๊กเพื่ออ่านและศึกษาเพิ่มเติม] [๑] 

..............................................................................................................................................................................

   ศิลปะโดยแสง-เงาและไรแดด    
แนวการศึกษาและสร้างสรรค์ศิลปวิทยาที่ความก้าวหน้ามากที่สุดแนวหนึ่ง

แสง-เงา เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการทำงานทัศนศิลป์ทุกแขนง เป็นรากฐานของการสร้างจินตภาพและการเกิดความสร้างสรรค์ วิธีคิด วิธีมอง วิธีเห็น และวิธีจัดความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งต่างๆ ที่อาจเปรียบได้กับทรรศนะแม่บทอีกชุดหนึ่งสำหรับแสดงและซาบซึ้งปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ให้หลักเกณฑ์และวิธีอธิบายความสัมพันธ์ของมนุษย์กับโลกรอบข้างในภาษาศิลปะและกระบวนการทางศิลปะ หลากหลายอยู่ในสังคมวัฒนธรรมต่างๆของโลก

  แสง-เงากับจักรวาลวิทยา
และทรรศนะพื้นฐานในการอธิบายสังคมมนุษย์กับระบบธรรมชาติ

ภาพที่ ๒ ความหลับไหลของเอนดีเมียน : The Sleep of Endymion [๒] งานของจิตรกร ๓ พี่น้องชาวฝรั่งเศส Anne-Louis Girodet, ๑๗๙๑ เป็นภาพเขียนถ่ายทอดวิธีอธิบายโลกและดวงจันทร์ด้วยจินตนาการเกี่ยวกับแสงดวงจันทร์ผสมผสานกับการผูกเรื่องเป็นเทพปกรณัมของกรีก ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวเอนดีเมียน ชายหนุ่มรูปงามและเป็นคนเลี้ยงแกะผู้ต้องหลับไหลไปตลอดกาล กับเทพีแห่งดวงจันทร์ที่มุ่งรักษาพรหมจรรย์แต่ต้องผูกพันลงมายังผืนโลกเพื่อได้ชื่นชมเอนดีเมียนในค่ำคืนยามหลับไหล แสงนวลของดวงจันทร์ส่องมายังโลกที่เราได้เห็นอยู่ตลอดมานั้น ก็คือเทพีแห่งดวงจันทร์กำลังลงมายังโลกหาเอนดีเมียนนั่นเอง

ในหลายสังคมก็มีตำนานที่สื่อสะท้อนระบบวิธีคิดต่อโลกและจักรวาลในลักษณะนี้เช่นกัน เช่น ในสังคมไทยก็มีนิทานเรื่องตากับยาย ๒ คนกำลังทำนาตำข้าวบนดวงจันทร์ ในสังคมจีนก็มีตำนานเกี่ยวกับการทำขนมสื่อสารเพื่อร่วมกันลุกขึ้นต่อสู้ผู้กดขี่ในคืนไหว้พระจันทร์ซึ่งทำให้เกิดมีขนมไหว้พระจันทร์ดังปัจจุบัน ในบางสังคมก็มีนิทานเรื่องบ้านของกระต่ายมีหน้าต่าง ๑๕ ช่องซึ่งกระต่ายต้องหมุนเวียนเปิด-ปิดคืนละบาน เมื่อเปิดก็ทำให้เกิดข้างขึ้นเดือนหงาย เมื่อปิดก็เกิดข้างแรม หมุนเวียนรอบละ ๑๕ วัน ในอารยธรรมโบราณของอินเดียและกรีก แสงและเงาแดดทำให้เกิดระบบหมายรู้เวลาอันเป็นที่มาของระบบปฏิทิน นาฬิกา และมาตรวัดต่างๆในปัจจุบัน

จากตัวอย่างเหล่านี้ เมื่อมองในแง่หนึ่ง ก็จะเห็นได้ว่าแสง-เงานั้น มีบทบาทต่อการก่อเกิดระบบวิธีคิด ปรากฏอยู่ในทุกสังคมวัฒนธรรมของโลก ทั้งนี้ ก็เนื่องจากพระอาทิตย์หรือพลังชีวิตจากธรรมชาติ อันเป็นแหล่งของแสง-เงาและไรแดดนั้น เป็นแหล่งประสบการณ์ต่อโลกภายนอกหนึ่งเดียวที่ดั้งเดิมที่สุด  (Primary Source) ที่ทุกสังคมวัฒนธรรมของโลกมีร่วมกัน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างหลากหลายกันอย่างไร ก็ล้วนมีชีวิตอยู่บนพื้นฐานเดียวกันนี้ทั้งหมดทั้งสิ้น ก่อนที่จะสามารถสร้างภาษา อารยธรรม สร้างสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกันแบบแยกกันเป็นประเทศ กระทั่งสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขยายเพิ่มพูนขึ้นอย่างสลับซับซ้อนดังปัจจุบันนี้ได้เสียอีก

วัตถุประสงค์ของการศึกษา

บันทึกนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีทำงานด้วยแสง-เงาและไรแดดในงานศิลปะแขนงต่างๆ เพื่อเห็นวิธีที่ดีอีกวิธีหนึ่งสำหรับเข้าถึงสิ่งต่างๆที่ก่อเกิดขึ้นจากทรรศนะพื้นฐานที่สุดของระบบภูมิปัญญาและหลักคิดในการจัดความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติในสังคมวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้เราได้ความซาบซึ้ง เข้าใจ เกิดความเคารพนอบน้อม เห็นรากฐานความจริง ความดี และความงาม ที่อยู่ในวิถีชีวิตและวิถีสังคมอันแตกต่างหลากหลาย วิธีนำเสนอจะนำเสนอผ่านการชมผลงานศิลปะ จากนั้นจะให้บทสรุปเป็นหลักคิดที่สำคัญๆ

skyphuttamonton11.jpg picture by waweeme

หมวกเมฆ [๓] ตัวอย่างแสง-เงาอันเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติคู่มากับการเกิดโลกและจักรวาลที่ให้จินตนาการและพัฒนาความรับรู้แก่มนุษย์อยู่โดยพื้นฐานที่สุด  ขอขอบคุณภาพถ่าย : อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ

 แสง - เงาและไรแดด 

ประสบการณ์ต่อแสงเงาและไรแดด เป็นเสมือนทรรศนะพื้นฐานที่นำไปสู่การสร้างสรรค์ทางศิลปะ รวมไปจนถึงความสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สื่อ การอยู่อาศัย สุขภาพในสิ่งแวดล้อมแสงสว่าง สีสัน และเงา เครื่องใช้สอยในชีวิตประจำวัน และอุตสาหกรรมความบันเทิง

ตัวอย่างเช่น องค์ประกอบด้านศิลปะและสุนทรียภาพต่อสีแสงเงา ผสมผสานกับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปฏิกริยาและผลกระทบต่อแสงที่สัมพันธ์กับปัจจัยการเห็น ระดับการมอง ระบบการสื่อสารทัศนสัญลักษณ์ ปัจจัยทางกายภาพ สรีระ สิ่งแวดล้อม ของกลุ่มคนในสังคมต่างๆของโลก ทั้งมิติสุขภาพและอื่นๆ วัฒนธรรมประเพณีและนิเวศวิทยาเกี่ยวกับแสง-เงาและแดด รวมทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมเกี่ยวกับแสง เหล่านี้ เมื่อผสมผสานเข้าด้วยกัน ก็ก่อให้เกิดศาสตร์เกี่ยวกับการยวิทยา หรือ Ergonomics เพื่อออกแบบระบบวิศวกรรมไฟรถยนตร์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อให้สนองตอบต่อความจำเป็นและครอบคลุมความต้องการทั้งอรรถประโยชน์ ความสวยงาม ความเข้าถึงได้ด้วยตนเอง ความสอดคล้องกับระบบสังคม ความปลอดภัย และอื่นๆทุกมิติ ในเงื่อนไขแวดล้อมอันหลากหลายไปตามสังคมและวัฒนธรรมต่างๆของมนุษย์ เหล่านี้เป็นต้น

  แสง-เงากับการจัดความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งศรัทธาสูงสุด

ภาพที่ ๓ กำเนิดพระเยซู : Nativity Scene [๔] โดย Antonio Correggio อันโตนิโอ คอริจจิโอ ๑๕๒๒-๑๕๓๐  การเขียนภาพแสดงจินตนาการวันกำเนิดพระเยซู เป็นศิลปะเพื่อพระศาสนาหัวข้อหนึ่งที่มีการเขียนขึ้นอยู่ทุกยุคสมัยและในแนวทางที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งโดยวิธีสื่อแสดงสัญลักษณ์ รวมทั้งการแสดงข้อมูลและหลักฐานจากการศึกษาค้นคว้า การใช้แสงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของภาพ เป็นวิธีหนึ่งที่นำมาใช้ แต่มีภาษาความเป็นศิลปะที่ต่างออกไปจากการใช้แสง-เงาในภาพเขียนแบบทั่วไป โดยลักษณะของแสง-เงา มีความเป็นแสงที่เปล่งความส่องสว่างออกมาจากข้างในหรือแสงจากภายใน (Inner Ligth) แสดงความเป็นปรากฏการณ์พิเศษและไม่นิยมใช้กับกรณีทั่วไป

  แสง-เงากับการบันทึกประวัติศาสตร์สังคม
และการสื่อสะท้อนทรรศนะของประชาชนด้วยงานศิลปะ

ภาพที่ ๔ การปลงพระชนม์เลดี้เจนเกรแห่งอังกฤษ The Execution of Lady Jane Grey [๕] โดย พอล เดอลาโรเช Paul Delaroche, ๑๘๓๓ เป็นการเขียนภาพโดยใช้แสงสื่อแสดงความสะเทือนใจ บันทึกประวัติศาสตร์สังคมและประวัติศาสตร์ราชสำนักของอังกฤษ ลักษณะของการใช้แสงมีบทบาทในการแสดงฐานะสูงส่งเป็นจุดสนใจสูงสุดของภาพ เน้นความบริสุทธิ์ ความโศกเศร้า ขณะเดียวกันก็มีบทบาทแสดงความสมจริง ผสมผสานขนบการใช้แสงในการเขียนภาพของยุคเรอนาซองส์ ซึ่งแสง-เงามีบทบาทแสดงลำดับความสำคัญของเรื่องราวที่บันทึกถ่ายทอดในภาพ และในยุคโรแมนติค ซึ่งแสง-เงามีบทบาทต่อการเน้นอารมณ์และบอกเล่าความสะเทือนใจของเรื่องราวในภาพ การใช้แสง-เงาในลักษณะดังกล่าวนี้ สื่อสะท้อนถึงจินตภาพและความปราดเปรื่องของจิตรกรในยุคนั้นผ่านการใช้แสง-เงาเหมือนกับการควบคุมด้วยลำแสงสปอตไลต์สมัยใหม่ ซึ่งกาลเวลาผ่านไปจนเกือบล่วงเข้าสู่กลางศตวรรษที่ ๒๐ หรือกว่า ๒๐๐ ปีผ่านไป วิทยาการและเทคโนโลยีการให้แสงเป็นลำแบบสปอตไลต์ รวมทั้งการจัดแสงเพื่อควบคุมทิศทางและสร้างบรรยากาศได้อย่างที่เห็นในภาพ จึงเพิ่งจะสามารถคิดค้นและทำได้ในสังคมโลก

  แสง-เงากับการบันทึกสังคมชาวบ้าน
และสื่อสะท้อนทรรศนะเชิงวิพากษ์ทางสังคม

ภาพที่ ๕ ครอบครัวเกษตรกรและชาวชนบท โดย Antoine, Louis, and Mathieu Le Nain [๖] จิตรกร ๓ พี่น้องชาวฝรั่งเศส ,๑๖๐๐-๑๖๗๗ ลักษณะการใช้แสง-เงาถ่ายทอดความเหมือนจริงแนว Realistic หรือสัจจนิยม ขณะเดียวกันก็สร้างการขัดกันอย่างเข้มข้นของแสง-เงาเพื่อขับอารมณ์ สื่อสะท้อนวิถีชีวิตและเรื่องราวของภาพ วิธีการบอกเล่า จัดวางองค์ประกอบ และเชื่อมโยงความเป็นพื้นที่ รูปทรง และความว่าง ทั้งหมดในภาพ ให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถูกถ่ายทอดผ่านการจัดวางทิศทางของแสง-เงาให้เป็นทิศทางเดียวกัน ซึ่งต่างจากแนวการให้แสง-เงาในภาพเขียนโดยทั่วไปสำหรับงานทัศนศิลป์เพื่อศาสนา ราชสำนัก เทพปกรณัม เรื่องราวสังคมของชนชั้นกลางและชนชั้นสูง แสง-เงาที่ตัดกันเข้มข้น แววตาหลายคู่ที่มองตรงมายังผู้ชม เด็กๆ หมา แมว ที่นั่งนิ่งหงอยเหงา จานและภาชนะทุกใบที่ว่างเปล่า เหล่านี้ ให้ความกระทบใจที่ซาบซึ้งรุนแรง รู้สึกได้ถึงความหิวโหย ทุกข์ยาก มีความหวังอันจำกัด สตรีแม่บ้านด้านซ้ายของภาพ สัญลักษณ์ของอาหารและความอบอุ่นมั่นคงปลอดภัยในบ้าน แวดล้อมด้วยเด็กๆ หมา แมว และเงาของสมาชิกครอบครัวดังความเป็นจริงของชีวิตที่ลางเลือนอยู่ข้างหลัง ในมือมีเหยือกนมและแก้วเหล้าองุ่นซึ่งเป็นสัญลักษณ์การขอประทานพรจากพระเจ้า 

  แสง-เงาและไรแดดกับการบันทึกถ่ายทอดสังคมการผลิตของชุมชน
และสื่อสะท้อนทรรศนะเชิงวิพากษ์ทางสังคม

ภาพที่ ๖ เก็บลูกแอปเปิ้ลที่อีรักนีเซอร์เอ็ปเต้ Apple Picking at Eragny-sur-Epte [๗] โดย คามิลลี ปิซซาโร Camille Pissaro,๑๘๘๘ เป็นการบันทึกถ่ายทอดและบอกเล่าชีวิตเกษตรกร ผ่านบรรยากาศการเก็บลูกแอปเปิ้ลกลางแดดเปรี้ยงยามเที่ยงวันที่พุ่งตรงลงมาจากด้านบน ลักษณะของแสง-เงา บอกเล่าความเป็นชีวิตของเกษตรกรที่อยู่พ้นแดดแรงเพียงในขอบเขตใต้ร่มเงาของต้นแอปเปิ้ล สื่อสะท้อนการทำมาหากินและการคลายความทุกข์ร้อนเมื่อแอปเปิ้ลผลิดอกออกผลให้เกษตรกรได้เก็บเกี่ยว หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือ ในท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจสังคมที่ดำรงอยู่นั้น ชีวิตเกษตรกรต้องฝากไว้กับผลผลิตและขอบเขตอันบีบคั้น อุปมาดั่งดูแลตนได้เพียงร่มเงาอันน้อยนิด การใช้แสงในทิศทางอย่างนี้จัดว่าเป็นภาษาที่แรงต่อการกระทบใจ แหวกแนวออกไปจากทรรศนะของสังคมในยุคเดียวกันซึ่งเชื่อว่าแสงที่งดงามและเป็นมาตรฐานในภาษาศิลปะคือแสง ๔๕ องศา การใช้แสงแบบเที่ยงวันในท่ามกลางบริบททางสังคมอย่างนั้นจึงเป็นการแหกคอกหรือกบฏทางความคิดต่อยุคสมัย ภาษาของแสง-เงา สะท้อนทรรศนะต่อสังคมของศิลปิน รวมทั้งบันทึกสภาพสังคมที่ร่วมยุคสมัยของการทำงาน

  แสง-เงากับการบันทึกและถ่ายทอดความประทับใจจากวิถีชีวิตและฤดูกาล

ภาพที่ ๗  ทิวทัศน์ในเหมันตฤดู Winter Landscape [๘] โดย  Caspar David Friedrich, ๑๘๑๑  บทบาทของเงา นำมาใช้ลดความจ้าของแสง ทำให้เกิดความนุ่มนวลและก่อเกิดลักษณะการใช้แสงแบบการฟุ้งกระจาย Diffused Ligthing ในภาพเขียน ซึ่งเป็นอีกขนบหนึ่งของการเขียนภาพทิวทัศน์ในสังคมที่มีหิมะและแสงจ้าจากหลายแหล่ง

  แสง-เงากับการบันทึกและถ่ายทอดความประทับใจ
ในวิถีชีวิตของปัจเจก ผู้คนรอบข้าง และในสังคมที่อยู่อาศัย

ภาพที่ ๘  มาเน่กับลูกสาวในสวน : Eugene Manet with Daugther at Bougival [๙] งานสีน้ำมันบนผ้าใบของ Berthe Morisot, ๑๘๘๑ การให้น้ำหนักของเงาขับความมีชีวิตชีวาของแสงแดด ขณะเดียวกันก็เพิ่มไรแดดภายในส่วนที่เป็นน้ำหนักของเงา เพื่อร่วมกันให้ผลบอกเล่าความรื่นรมย์ของชีวิตในท่ามกลางธรรชาต สิ่งแวดล้อม และแสงแดด ถ่ายทอดวิถีชีวิตและค่านิยมในการดำเนินชีวิตของหมู่คนชั้นกลางของยุโรป ทรรศนะต่อความงามและความประทับใจ ขยายแนวคิดไปสู่การปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และมิติสังคมวัฒนธรรม ไรแดดสื่อสะท้อนความสำนึกต่อปัจเจกภาพและความเป็นสังคมเสรีนิยมอย่างเด่นชัดมากขึ้น

  แสง-เงาและไรแดดกับการบันทึกถ่ายทอดความประทับใจ
และการนำเสนอทรรศนะใหม่ต่อธรรมชาติความงาม

ภาพที่ ๙ ไรแดดกับหญิงสาวกลางแสงแดด : Nude in Sunligth [๑๐] งานของ เรอนัวร์ Pierre-Auguste Renoir ผลงานประมาณในช่วงทศวรรษ ๑๘๗๐ เรอนัวร์เป็นจิตรกรในกลุ่มอิมเพรสชั่นนิสต์ มุ่งบันทึกและถ่ายทอดความประทับใจจากสิ่งที่อยู่บนวิถีชีวิตของผู้คน รวมทั้งในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความงามและสุนทรียภาพแห่งชีวิตอยู่ที่การมองและความประทับใจ หรือมาจากความรื่นรมย์ที่อยู่ในใจของเรานั่นเอง ไรแดด สีสัน และแสง-เงาที่แสดงบรรยากาศ จึงเป็นองค์ประกอบหลักของการบอกเล่าผ่านภาพเขียน ซึ่งทำให้เห็นมิติความงามและความประทับใจในทุกที่ ไม่ใช่เพียงในทิวทัศน์ที่งดงามอยู่แล้ว หรือดอกไม้ซึ่งมีความสวยงามจูงใจอยู่ในตัวเอง หน้าตาสะสวยของหญิงสาว ตลอดจนความอลังการทางวัตถุและสิ่งตบแต่งซึ่งบอกเล่าตนเองโดยศิลปะไม่ได้มีบทบาทนำเสนอความงามและสุนทรียภาพอันเกิดจากความสร้างสรรค์ของมนุษย์ ไรแดดและแสง-เงาจึงเป็นภาษาของการวิพากษ์ทางสังคม อีกทั้งนำเสนอวิถีแห่งความเรียบง่าย จัดว่าเป็น dialogue ทางวัฒนธรรมวิธีหนึ่ง ที่น่าสนใจมาก

  แสง-เงาและไรแดดกับการบันทึกถ่ายทอดความประทับใจ
และการนำเสนอทรรศนะใหม่ต่อสุนทรียภาพและความงามของชีวิตในธรรมชาติ

ภาพที่ ๑๐ สระบัว The Waterlilly Pond โดย โมเน่ต์  Claude Monet  [๑๑] ประมาณปี ๑๘๙๙ เป็นงานในกลุ่มบุกเบิกศิลปะอิมเพรสชั่นนิสต์ในศตวรรษ ที่ ๑๙ การใช้แสง-เงา และไรแดด มีบทบาทมากกว่าการเป็นองค์ประกอบการแสดงความสมจริงอย่างหลักการของแสง-เงาในงานแนวสัจจนิยมหรือ Realistic  โดยทั่วไป การแสดงความประทับใจต่อเรื่องราวในชีวิต ตลอดจนการบันทึกและบอกเล่าเรื่องราวต่างๆต่อสังคมและความเป็นจริงของโลกรอบข้างถูกถ่ายทอดผ่านการทำงานความคิดและการพัฒนามุมมองในเชิงสะท้อนความหมายหรือ Reflection ในภาพสระบัวนี้ จะเห็นว่าจิตรกรจัดวางอารมณ์ภาพให้ผู้ชมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในจุดยืนเดียวกันทั้งกับจิตรกรและคนอื่นๆที่เป็นผู้ชม โดยใช้ร่มเงาอยู่ด้านหน้าและมีไรแดดกับแสงจากความสดใส ส่องกระทบผิวน้ำ ไล้ไปบนสรรพสิ่งอย่างมีจังหวะและเกิดลีลาความเคลื่อนไหว เหมือนผู้ชมกำลังนั่งอยู่ใต้ร่มเงาอันร่มรื่นในสวนรอบข้าง เห็นการพินิจพิจารณาอย่างมีเรื่องราว ซึ่งเป็นความสุขความประทับใจอยู่เบื้องหน้า จะเห็นได้ว่า แสง-เงาและไรแดดในภาพนี้ ไม่ได้ทำบทบาทอย่างวิธีคิดและความเชื่อต่อเรื่องแสง-เงาโดยทั่วไปซึ่งปรกติก็จะต้องช่วยในการมองเห็นให้แจ่มชัดและแยกพื้นกับรูปทรงให้เกิดมิติทางทัศนศิลป์ ทว่า กลับเป็นองค์ประกอบหลักในการจัดวางแนวคิดของภาพเลยทีเดียว

  แสง-เงากับการถ่ายทอดและนำเสนอประสบการณ์ความลึกซึ้งทางจิตวิญญาณ

ภาพที่ ๑๑ ภาพแสง-เงา [๑๒]ของปรีชา เถาทอง  จิตรกรไทย เป็นการใช้องค์ประกอบของแสง-เงา มาสื่อแสดงสิ่งที่เป็นระบบวิถีคิดของสังคมวัฒนธรรมตะวันออก โดยเฉพาะในสังคมไทย รวมทั้งถ่ายทอดประสบการณ์และสื่อแสดงความลึกซึ้งในพุทธธรรม เพื่อสร้างประสบการณ์เชิงสัมผัสให้กับผู้ชมในการเข้าถึงความสงบใจ ภายในเงาก็มีรายละเอียด เห็นความเป็นสมาธิ ความลึกซึ้งและกระแสธารความต่อเนื่อง  เคลื่อนไหวบนความสงบนิ่ง (ภาพซ้าย) แสงสุวรรณภูมิ(วัดเชียงของ) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ภาพขวา) แสงสุวรรณภูมิ(วัดพระศรีฯ) ประเทศไทย

  แสง-เงากับการสร้างสรรค์ศิลปะของการสื่อสารเรียนรู้และความบันเทิงในวิถีชีวิต

ภาพที่ ๑๒ หนังตะลุง [๑๓] ศิลปะจินตลีลาของแสง-เงาและการเล่าเรื่อง ที่สะท้อนวิถีวิต โลกทัศน์ ภูมิปัญญา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาวบ้านในสังคมวัฒนธรรมไทยภาคใต้

  แสง-เงากับการบันทึกและถ่ายทอดประสบการณ์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์

ภาพที่ ๑๓ ภาพเขียนสีบนผาแต้ม [๑๔] โขงเจียม  อุบลราชธานี เป็นภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์กว่า ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นภาพเขียนสีบนผาหินต่อเนื่องยาวกว่า ๑๘๐ เมตรและประกอบด้วยภาพเขียนกว่า ๓๐๐ ภาพ บันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวด้วยลายเส้น เขียนทึบด้วยสีเดียว(Monochrome) และมีลักษณะการเขียนเงาหรือภาพแบบ Silhouette กับการเขียนบนพื้นเว้นว่างให้เป็นภาพซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการพ่นหรือการเขียนขอบนอกแสดงรูปร่าง แต่เว้นว่างส่วนที่เป็นตัววัตถุ  

ตำราการศึกษาค้นค้วา  แสง-เงาและไรแดด

ภาพที่ ๑๔ ตำราเล่นแสง-เงาด้วยมือเปล่า : Hand Shadows  [๑๕] ตำราบันทึกและถ่ายทอดการเล่นแสง-เงาด้วยมือเปล่าของต่างประเทศ แสดงให้เห็นถึงศิลปะเกี่ยวกับแสง-เงาว่าได้มีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ มีความก้าวหน้า มีการบันทึกและถ่ายทอด  รวมทั้งเผยแพร่อย่างกว้างขวางมาอย่างต่อเนื่อง

                                  Shadow artist Kumi Yamashita Shadow artist Kumi Yamashita

 ศิลปะแสง-เงาและไรแดด
กับพัฒนาการความสร้างสรรค์อย่างไม่มีที่สิ้นสุดของโลก

ผลงานศิลปะเงา Shadow Art ของ Kumi Yamashita [๑๖] ศิลปินหญิงชาวญี่ปุ่น  ๑ ในผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดศิลปินของโลกที่สร้างงานด้วยแสง-เงา หรือ เป็น Master of Ligthing and Shadow Art  ภาพที่ ๑๕ ภาพของผู้หญิงบนผนัง เป็นเงาที่ทอดจากแสงกระทบชิ้นไม้เล็กๆ ที่จัดวางกระจัดกระจาย หากมีแสงส่องตรงไปที่ผนัง ภาพดังกล่าวก็จะหายไปทันที ภาพที่ ๑๖ ภาพของคู่รักจากเงาอันเกิดจากการฉลุกระดาษชิ้นเล็กๆที่เหมือนกับแผ่นกันแดดที่คู่รักช่วยกันถือเหนือศีรษะ หากฉายแสงส่องไปที่ภาพ หรือดับไฟจากด้านบน ภาพดังกล่าวก็จะหายไปทันทีอย่างน่าอัศจรรย์ ภาพที่ ๑๗  ภาพเหมือนของเด็ก เกิดจากการปักเข็มหมุดทั่วแผ่นภาพแล้วใช้ด้ายสีดำ สานถักทอไปตามเข็มหมุด ผสมผสานกับการเกิดเงาจากเข็มหมุดและด้าย

Shadow artist Kumi Yamashita

ภาพที่ ๑๘  ภาพหญิงสาวจากเงาของตัวเลข ผสมผสานเป็นองค์ประกอบเดียวกันกับสภาพแวดล้อมจริง ก่อให้เกิดอีกมิติหนึ่งของความเป็นจริงที่สร้างขึ้นจากเงาและความเป็นจริง เมื่อมีแสงจากอีกด้านหนึ่งย้อนกลับไป ภาพดังกล่าวก็จะหายไป และวัตถุกับสภาพแวดล้อมที่ปรากฏอยู่นั้น ก็จะแสดงเรื่องราวไปอีกมิติหนึ่ง

   

  แสง-เงาและไรแดดกับการพัฒนาเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์
บูรณาการทั้งภูมิปัญญาดั้งเดิมกับวิทยาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า

ภาพที่ ๑๙ ภาพที่ ๒๐ ภาพที่ ๒๑ ภาพที่ ๒๒ : การจัดการแสดง แสง-เสียง ชุด ลำนำคีตกาลแห่งท้องทะเล Song of the Sea [๑๗] ที่เกาะเซนโตซา ประเทศสิงคโปร์ เป็นการนำเสนอประวัติศาสตร์และความเป็นสิงคโปร์บูรณาการกับอุตสาหกรรมบันเทิงและการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้เรื่องราว ใช้สภาพแวดล้อมจากของจริงบนชายหาดผสมผสานกับการทำภาพเคลื่อนไหวด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการฉายด้วยแสงเลเซอร์บนม่านละอองน้ำ เป็นตัวอย่างพัฒนาการอีกแนวหนึ่งของศิลปะแสง-เงา อันนำไปสู่กิจกรรมสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมอีกแขนงหนึ่ง ที่บูรณาการความเป็นสังคมหลายมิติทั้งยุคเก่า ปัจจุบัน และในอนาคต เข้าด้วยกัน และเคลื่อนไหวมิติอื่นๆของสังคมอย่างมีความหมาย

  บทสรุปและการเรียนรู้ 

กล่าวได้ว่า แสง-เงา เป็นทรรศนะพื้นฐานของการสร้างความรู้และการสร้างภูมิปัญญาจากประสบการณ์อีกมิติหนึ่งของสังคมมนุษย์นับแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน สามารถริเริ่ม คิดค้น และพัฒนาผสมผสานเพื่อแสดงความสร้างสรรค์ได้อย่างหลากหลาย

โดยความคุ้นเคยและโดยวิถีคิดทั่วไปนั้น ผู้คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่าความเป็นจริงต่างๆที่เราเห็นนั้นเกิดจากแสงสว่างและการส่องสะท้อนสู่ประสาทสัมผัส รวมทั้งการสร้างความรู้จากการเห็น ต้องเกิดจากความสามารถเห็น ตลอดจนชั่งตวงวัดได้อย่างครบถ้วนเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นจุดหมายของการเห็น ได้อย่างถูกต้อง จึงจะสามารถสร้างความรู้ที่ดีได้ 

ทว่า จากทรรศนะเรื่องแสง-เงานั้น จะเห็นได้ว่า เราสามารถสร้างความรู้และเข้าถึงความเป็นจริงได้ในอีกวิธีหนึ่งคือ จากด้านที่ไม่ใช่สิ่งนั้น แสงกับเงาจึงเป็นของคู่กัน จัดว่าเป็นวิธีคิดซึ่งอยู่ในระนาบเดียวกันกับทรรศนะพื้นฐานแบบทวิลักษณ์นิยมที่สำคัญอื่นๆ เช่น หยิน-หยาง ความมี-และไม่มี วัตถุ-กับจิตใจ รูปธรรม-กับนามธรรม พื้นที่-และความว่าง ตัวตน-ความไร้ตัวตน เหล่านี้เป็นต้น การทำงานบนองค์ประกอบของแสง-เงาและไรแดด จึงเป็นงานเชิงวิธีคิดที่มีความลึกซึ้ง นำไปสู่การพัฒนาความสร้างสรรค์ออกไปหลากหลายสาขา ทั้งทางด้านศิลปะ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ระบบปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารเรียนรู้ทางสังคม เป็นกรอบคิดหลักอีกกรอบหนึ่งที่จะสามารถเปิดเข้าสู่พรมแดนข้ามศาสตร์ โดยใช้ศิลปะเป็นแกนได้

เราสามารถทำงานศิลปะเกี่ยวกับแสง-เงา และไรแดดได้ใน ๒ ระนาบ อันได้แก่ ประการที่ ๑ 'เทคนิควิธีทางศิลปะ' ใช้เป็นวิธีทำงานศิลปะแนวทางหนึ่งโดยเน้นพลังขององค์ประกอบด้านแสง-เงาและไรแดด ซึ่งให้ผลทางศิลปะได้อย่างอัศจรรย์ อีกทั้งมีแง่มุมให้สามารถค้นพบได้อีกอย่างไม่จำกัด และประการที่ ๒ 'Learning Methodology' ใช้เป็นวิธีพัฒนาระบบวิธีคิดและสร้างภูมิปัญญาจากประสบการณ์อันลึกซึ้งของมนุษย์ โดยอ้างอิงออกไปจากกรอบคิดเรื่องแสง-เงาและไรแดดได้อย่างไม่จำกัดเช่นกัน ซึ่งทั้งสองส่วนจะเป็นองค์ประกอบที่ทำให้การทำกิจกรรมทางศิลปะมีความสนุกเพลิดเพลิน สร้างความงอกงามในจิตใจ พร้อมกับสามารถทำให้มีความหมายต่อการเรียนรู้อย่างเชื่อมโยงแตกออกไปได้อย่างหลากหลายตามประสบการณ์ของแต่ละคน ก่อให้เกิดการเรียนรู้แบบพหุปัญญาซึ่งเป็นแนวโน้มความจำเป็นที่สำคัญอย่างหนึ่งของสังคม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต.
...........................................................................................................................................................................
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อร่วมยินดีกับกลุ่มงานศิลป์เล่นกับแสง-เงา และไรแดด ซึ่งพี่นงนาท สนธิสุวรรณ ที่ปรึกษากิจกรรมองค์กรเพื่อสังคมธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด(มหาชน)ได้ตั้งหัวข้อขึ้นเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานศิลปะตามความสนใจ

 เชิงอรรถ อ้างอิง และหนังสือสำหรับอ่านประกอบ  

[๑] นงนาท สนธิสุวรรณ http://gotoknow.org/profile/nongnarts
[๒],[๕][๖][๗][๘][๙][๑๐][๑๑]
Andrew Graham -Dixon (Editorial Consultance).2008.
Art : The Definitive  Visual Guide .Doring Kindersly. 
[๓] ศึกษาเพิ่มเติม ใน บัญชา ธนบุญสมบัติ : ชายผู้หลงรักมวลเมฆ : http://gotoknow.org/blog/weather/398606
[๔] ถ่ายภาพ : ณัฐพัชร์ ทองคำ :  http://gotoknow.org/blog/speakout/402782
[๑๒] ภาพจากสูจิบัตร : การแสดงนิทรรศการของสมาคมศิลปินทัศนศิลป์นานาชาติ แห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๒

หมายเลขบันทึก: 403970เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2010 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (29)

สวัสดีค่ะ

ตามมาจากบ้านพี่นงนาทค่ะ

มาชมความงามและรับความรู้

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ
นี่คอศิลปะแวะมาแอ่วกันเลยนะนี่
ขอบคุณที่มาเยือนและทักทายกันครับ
มีความสุขครับ

*ขอบคุณมากค่ะ สำหรับศิลป์ศึกษาอันมีคุณค่า ที่อาจารย์กรุณานำเสนอ เป็น academic profile ประกอบทัศนศิลป์เฉพาะตัวที่ง่ายแก่การเข้าถึง และเป็นแรงบันดาลใจในงานศิลป์ลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง..

 *เห็นที่ลูกศิษย์จะต้องกลับไปรื้อหนังสือศิลป์เก่าๆที่ซื้อหาไว้นานแล้วมาดูใหม่ ซึ่งจะย่อมได้รสชาติเข้มข้นตามแนว "วิภาษณ์วิธีในศิลปะ" ที่อาจารย์กรุณาแนะนำอย่างละเอียดมากค่ะ..

*ลูกศิษย์มีภาพสวยงามของ Monet มาฝากค่ะ..ที่นอกจากมีประกายของแสงเงาและไรแดดแล้ว..ยังติดตาตรึงใจกับ สายลม พัดระลอกบนเส้นผมและอาภรณ์เบาบางที่สะบัดพลิ้วของหญิงสาวสวยเคียงข้างเด็กน้อย บนทุ่งดอกไม้ที่ลู่ไหวเอนของช่วงฤดูร้อนอย่างน่ารื่นรมย์..

Large_monet24 

สวัสดีครับพี่นงนาทครับ

  • ภาพนี้เป็นภาพหนึ่งที่คนทำงานศิลปะและนักเรียนศิลปะจะใช้เป็นตัวอย่างในการศึกษาการเขียนภาพอากาศในเงาครับ ถือเป็นขนบหนึ่งของการเขียนสีของแสง สีของอากาศ การจัดวางองค์ประกอบภายในภาพ ไม่ว่าจะเป็นขนาด สัดส่วนเชิงเปรียบเทียบ ทิศทางของแสงเงาเพื่อเชื่อมโยงองค์ประกอบย่อยทั้งภาพ ล้วนเป็นลูกเล่นเพื่อจัดวางแสง-เงา ให้ได้อารมณ์ภาพอย่างที่ต้องการ
  • ดูรูปนี้ทำให้อยากเดินออกไปพบความรื่นรมย์จากการให้ชีวิตได้สัมผัสกับธรรมชาติ ได้เห็นแสงแดด ปุยเมฆ ดอกไม้และเรียวหญ้าไหวในสายลมเกรียวกรู อย่างนั้นเลยนะครับ

มีข้อเพิ่มเติมให้นิดหน่อยนะครับ

  • พี่นงนาถได้กล่าวถึง วิภาษวิธีในศิลปะ หรือวิธีการแบบ dialectic ซึ่งผมทำเป็นคำสำคัญในท้ายบันทึก ก็เลยขอเสริมความสนใจเพิ่มอีกสักเล็กน้อยครับ
  • อันที่จริงก่อนที่จะโพสต์ขึ้นนั้น ผมได้เขียนเพื่อหาแง่มุมความเชื่อมโยงวิธีศึกษาทางศิลปะแสง-เงาเข้ากับวิภาษวิธีอยู่ย่อหน้าหนึ่ง แต่ดูแล้วคงจะเขียนให้อยู่ในหัวข้อเดียวกันด้วยย่อหน้าสั้นๆได้ยาก เลยไม่ได้กล่าวถึง แต่ก็ใช้วิธีแสดงคำหลักสำหรับเป็นแนวให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาค้นคว้าต่อไปเอง
  • ผมเคยอ่านงานของต็อลสตอย และจิตร ภูมิศักดิ์ อย่างมึนๆเมื่อกว่า ๒๐ ปีก่อน ก็พอได้วิธีคิดสำหรับใช้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวต่างๆได้หลายเรื่อง ทว่า เรื่องทางศิลปะโดยวิธีคิดแบบวิภาษวิธีนั้น ผมแทบจะเข้าไม่ถึงเลย แต่ก็อยากรู้อยากเข้าใจ เพราะจะเป็นวิธีศึกษาแนวหนึ่งที่สามารถเชื่อมโยงงานทางศิลปะ รวมทั้งความสร้างสรรค์ทางการศึกษาและวัฒนธรรมให้ไปช่วยอธิบายพลังทางการผลิตของชุมชนและสังคมได้อย่างเป็นระบบ เลยก็ค้างอยู่ในหัวและผุดขึ้นมาสู่การคิดทบทวนอยู่เสมอ มาเมื่อ ๒-๓ ปีที่ผ่านมานี้ ผมก็ได้มีโอกาสนำเอาหนังสือเก่าๆมาศึกษาทบทวนอีก ก็พบว่าได้เห็นสิ่งใหม่ๆอีกหลายอย่างที่ตนเองอยากเข้าใจ เลยก็ทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันของหลายอย่าง 
  • แต่ในงานที่กล่าวถึงเหล่านี้ก็ไม่มีที่จะกล่าวถึงเทคนิคทางศิลปะอย่างเจาะจง ทว่า โดยวิธีคิดและวิธีapproachศิลปะที่เชื่อมโยงกับมิติต่างๆ โดยเฉพาะงานทางความรู้  หากได้ลองศึกษาดูแล้วก็จะเห็นถึงความเป็นระบบวิธีคิดชุดเดียวกันได้ เพียงแต่วิธีการสื่อสะท้อนเป็นคนละอย่างเท่านั้น ดังนั้น จึงคิดว่าสำหรับคนที่เขาศึกษาค้นคว้าไปมากพอสมควรแล้ว ก็คงจะเห็นแง่มุมไปศึกษาต่อไปด้วยตนเองได้ซึ่งจะช่วยขยายพรมแดนของสิ่งต่างๆไปได้อีกอย่างกว้างขวาง เลยก็ใส่ไว้พอเป็นที่หมายสำหรับท่านที่สนใจ
  • ประทับใจดีครับ ...ผมคุยกับน้องๆว่าผมไม่แปลกใจ เพราะพี่นงนาทท่านตบแต่งบ้านด้วยต้นไม้ สนามหญ้า และคลังหนังสือ

*ขอบคุณค่ะสำหรับการขยายความเพิ่มเติมของ วิภาษวิธีในศิลปะ ซึ่งลูกศิษย์เข้าใจจากที่ได้อ่านครั้งแรกตามบันทึกนี้ ที่อาจารย์เล่าถึงกลุ่ม Impressionist เช่น Renoir ว่า :

"..กลุ่มอิมเพรสชั่นนิสต์ มุ่งบันทึกและถ่ายทอดความประทับใจจากสิ่งที่อยู่บนวิถีชีวิตของผู้คน รวมทั้งในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความงามและสุนทรียภาพแห่งชีวิตอยู่ที่การมองและความประทับใจ หรือสิ่งที่เป็นความรื่นรมย์และอยู่ในจิตใจของเรานั่นเอง ไรแดด สีสัน และแสง-เงาที่แสดงบรรยากาศ จึงเป็นองค์ประกอบหลักของการบอกเล่าผ่านภาพเขียน ซึ่งทำให้เห็นมิติความงามและความประทับใจในทุกที่ ไม่ใช่เพียงในทิวทัศน์ที่งดงามอยู่แล้ว หรือดอกไม้ซึ่งมีความสวยงามจูงใจอยู่ในตัวเอง หน้าตาสะสวยของหญิงสาว ตลอดจนความอลังการทางวัตถุและสิ่งตบแต่งซึ่งบอกเล่าตนเองโดยศิลปะไม่ได้มีบทบาทนำเสนอความงามและสุนทรียภาพอันเกิดจากความสร้างสรรค์ของมนุษย์ ไรแดดและแสง-เงาจึงเป็นภาษาของ การวิพากษ์ทางสังคม อีกทั้งนำเสนอวิถีแห่งความเรียบง่าย จัดว่าเป็น dialogue ทางวัฒนธรรมวิธีหนึ่ง ที่น่าสนใจมาก.."

... วิภาษวิธีในศิลปะ ที่อาจารย์อธิบายเช่นนี้ ที่ตรงใจลูกศิษย์ตลอดมา และมีความเห็นว่า คนเราทุกคนต่างมีความประทับใจความงามแสง-เงา ในธรรมชาติของสรรพสิ่งที่ไม่เหมือนกันเสมอไป (อาจเป็นความโชคดีที่หากจะมีความประทับใจตรงกัน )..

.. ลูกศิษย์จึงมักเลี่ยงที่จะนำความประทับใจ ความงามแสง-เงาที่ไม่เหมือนกันมาเปรียบเทียบว่าของใตรดีกว่ากัน เราควรแลกเปลี่ยนเติมเต็มกัน ย่อมได้ประโยชน์มากกว่า..

* เรื่องตบแต่งบ้าน และสวน ที่บ้านลูกศิษย์นั้น คงเป็นอย่างที่มีคำกล่าวว่า บ้านเรือนสะท้อนตัวตนของผู้อยู่อาศัย และเป็นไปตามวัย..

.. สมัยก่อนนั้น ได้สะสมโน่นนี่มากพอสมควร..ครั้นแก่ตัวลง..แจกจ่ายไปมากแล้ว..ชอบบ้านโล่งๆ และเจาะจงไปที่ความสอดคล้องกับการใช้สอยแบบสบายๆและง่ายๆค่ะ..

.. ที่ยังต้องรักษาไว้ คือพวกของแอนทีค หรือของมีประวัติบางชิ้น ที่สะท้อนตัวตนของบรรพชนของเรา..เพื่อให้หลานๆได้สืบทอด รากประวัติศาสตร์..ลูกศิษย์กำลังทำตนเป็นพวก ซากวัฒนธรรม (remnant) ..โชคดีที่หลานๆส่อแววเป็น curator..

*ภาพพิมพ์ข้างล่าง มาจากที่บ้านค่ะ...เดินทางมาไกล..มีประวัติเฉพาะตัวคนซื้อ

 

              

                 ภาพชื่อ Madame Henriot เขียนโดย Renoir

 

 

  • งานส่วนใหญ่ของเรอนัวร์ก็จะออกแนวอย่างนี้ละครับ มีบางภาพที่เล่นเรื่องแสง-เงาและไรแดด แต่โดยมากแล้วเรอนัวร์จะเขียนอากาศสวยครับ
  • พี่นงนาทใช้ศัพท์สะท้อนมุมมองแบบโพสต์โมเดิร์นดีนะครับ..ซากวัฒนธรรม...เพิ่งเคยได้ยินนะครับเนี่ย 
  • หากเทียบความเป็นแสง-เงา กับวิภาษวิธีแล้วละก็ วิธีคิดสำหรับการทำงานโดยทั่วไปตามความคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วนั้น ก็คงจะเทียบได้กับ 'ข้อสรุปเดิม' 'ความเป็นจริงชุดเดิม' 'กระแสหลัก' หรือ Thesis  ส่วนการเล่นกับแสง-เงาและไรแดด ซึ่งเป็นวิธีมองที่ต่างจากทั่วไป ก็เหมือนกับการเข้าสู่สิ่งเดียวกัน ทว่า ด้วยวิธีที่ต่างออกไปหรือให้ความเป็นจริงได้ดีกว่า กระทั่งอาจโต้แย้งหรือหักล้างแนวคิดชุดเดิมอีกก็ได้ หากเป็นงานศิลปะก็คือให้มุมมองและได้ความน่าอัศจรรย์ใจราวกับไม่เคยเห็น ดังนั้น การทำงานที่เห็นมิติของเงาและไรแดดด้วย ก็คงนับว่าเป็น Anti-Thesis  หรือ ข้อโต้แย้ง ซึ่งก็จะทำให้ได้อีกมิติหนึ่งที่ก้าวไปข้างหน้า 

                                           

  • อย่างในรูปนี้น่ะครับ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนดีครับ  มองอย่างไรก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเห็นเป็นรูปคนกำลังก้าวเดิน ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว ส่วนที่เราบอกว่าเป็นรูปคนเดินนั้น ในทรรศนะทั่วไปหรือในกระแสความคิดหลักของสังคม ตลอดจนในระบบความรู้ที่เข้าใจกันได้โดยทั่วไปของยุคสมัยนั้น ส่วนนั้นไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่ารูป ทว่า เป็นส่วนที่เรียกว่าเงา แต่ส่วนที่เป็นองค์ประกอบของภาพจริงๆนั้นก็คือ ชิ้นไม้ที่ติดกับผนังกระจายเป็นรูปทรงต่างๆ ทว่า เรากลับมองไม่เห็น
  • จะเห็นว่า การที่เงากลับสร้างความเป็นจริงต่อการรับรู้ได้มากกว่านั้น เป็นอีกวิถีหนึ่งที่ก่อเกิดขึ้นได้จริงและพิสูจน์ให้เห็นได้อีกด้วย ดังนั้น จึงมีความเป็น Anti-Thesis ของวิถีทรรศนะและระบบความรับรู้เดิมที่มีอยู่ทั่วไปที่ว่า สิ่งที่เราสามารถเห็นเรียกว่ารูป ซึ่งเมื่อได้ข้อโต้แย้งและข้อสรุปยืนในวิธีคิดชุดใหม่ เราก็จะได้ความรู้ที่คืบหน้าขึ้นมาอีกชุดว่า ไม่จริงไปเสียทั้งหมด เพราะเงาก็สร้างรูปและสามารถพัฒนาการเห็นได้ อย่างนี้เป็นต้น

ผมเคยเห็นภาพนี้แล้ว แต่มาพบอีกครั้ง ก็ยัง "ได้ใจ" เหมือนเดิม มิเสื่อมคลาย

ชอบจริง ๆ ครับ

สวัสดีครับอาจารย์ Wasawat Deemarn ครับ ภาพนี้เป็นงานยุคแรกๆของอาจารย์ปรีชา เถาทอง จิตรกรจับเอาจิตวิญาณความเป็นวัดมานำเสนอและถ่ายทอดด้วยวิธีการแสง-เงาและบรรยากาศของความเรียบง่าย เงียบสงบ ดูทีไรก็ได้ความสงบเย็นและรื่นรมย์ใจ หรือ 'ได้ใจ' อย่างที่อาจารย์ว่าแหละ

ขอเปลี่ยนภาพที่ ๑๑ ของอาจารย์ปรีชา เถาทอง ให้ทุกท่าน แต่ภาพเดิมยังคงอยู่ใน dialogue box ของท่านอาจารย์ Wasawat Deemarn นะครับ เป็นภาพที่ดึงมาจาก Google แต่ภาพชอบแตก พอดีเพิ่งไปดูงานที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่ถนนราชดำเนินมา เลยเปลี่ยนให้ใหม่นะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

มาเรียนรู้และมารับเอาศิลป์ศึกษาอันมีคุณค่าค่ะ..และเกิดความประทับใจในความงามของแสง-เงา ในธรรมชาติ.ของภาพที่นำมาให้ชม..และวันนี้เลยถือโอกาสมาชวนท่านอาจารย์ไปเที่ยวถิ่นคอมมิวนิสต์ค่ะ..ไปกันเถอะ..เกาหลีเหนือนะคะที่นี่ค่ะhttp://gotoknow.org/blog/0815444794/403277

สวัสดีครับคุณมาตายีครับ

                             

  • ชอบลักษณะการออกแบบพื้นที่บ้านของเกาหลีกับญี่ปุ่นจังเลยนะครับ วัสดุที่ทำผนังบ้านกับหลังคาก็ชอบครับ เมื่อตอนทำบ้านกันเอง ผมเคยหารือกับภรรยาว่าอยากหาวัสดุในบ้านเราทำหลังคาที่ซับความร้อน-หนาว พร้อมกับให้ Texture แปลกๆอย่างนี้ ตอนนั้นนึกถึงต้นปรง ต้นธูปฤาษี ผักตบชวา
  • ไม่ค่อยได้เห็นใครไปเยือนเกาหลีเหนือแล้วนำมาเล่า-ถ่ายรูปมาให้ชมเลยนะครับ
  • ในแต่ละสังคมก็มีจุดแข็งและข้อด้อยต่างกันไปนะครับ ในหมู่ประเทศสังคมนิยม กิจกรรมเพื่อให้ความสร้างสรรค์ต่อชีวิตนั้นเข้าถึงง่ายและพิถีพิถัน เพราะไม่ได้มุ่งขับเคลื่อนเอาผลกำไรของเอกชน แต่มุ่งให้เป็นกำลังการผลิตทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งรัฐบาลมักต้องทำเอง
  • แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ผูกขาดการคิดริเริ่ม ผูกขาดการตัดสินใจ และขาดความหลากหลาย อย่างคุณมาตายีได้ไปดูออเคสตร้าที่เปียงยางนั้น ด้านหนึ่งก็ราคาถูกสำหรับพลเมือง ทว่า อีกด้านหนึ่งก็ถูกตรวจและห้ามโน่นห้ามนี่ยุ่บยั่บไปหมด ไปดูพลุไฟและนั่งรถเห็นกิจกรรมที่น่าสนใจก็ห้ามถ่ายรูป  
  • เคยมีคนพูดเปรียบเปรยให้ฟังว่า เวลาดูการแสดงกายกรรมและออเคสตร้าในบรรยากาศอย่างนี้นั้น การยิ้มที่ดูเหมือนมีชีวิตชีวาของผู้แสดงทุกคนนั้น ก็เนื่องจากพรรคและรัฐบาลสั่งอย่างเข้มงวดให้ยิ้ม ว่ากันไปอย่างนั้นเชียว
  • ประเดี๋ยวต้องหาโอกาสไปบ้าง

ภาพเขียนเล่นกับแสง-เงาสวยๆ ของวิเชษฐ์ จันทร์นิยม
จิตรกรสีน้ำ กลุ่ม Six-Point และสมาชิกกลุ่ม ๑๐ จิตรกรรมสากลเพาะช่าง
จาก การแสดงนิทรรศการของสมาคมศิลปินทัศนศิลป์นานาชาติ แห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๒  ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ ระหว่างวันที่ ๔-๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๓
                         

                          

                                                  เบ่งบานเหนือกาลเวลา  เทคนิค : สีอะครายลิค

                          

                                                   สัตว์สวย ป่างาม  เทคนิค : สีอะครายลิค

การใส่ลูกเล่นของภาพเขียนหรือภาพถ่ายด้วยแสง-เงาและไรแดด ทำให้เกิดมิติความสดใสและได้ความรื่นรมย์ใจที่ต่างออกไปจากบันทึกและถ่ายทอดด้วยองค์ประกอบด้านอื่น

แสง-เงา-ไรแดด ที่สรรสร้างโดยธรรมชาติ

                          skyphuttamonton11.jpg picture by waweeme

  • ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์มากเลยครับ
  • ว่าจะขอยืมเป็นมาตัวอย่างอยู่นะครับ
  • ปรากฏการณ์ของธรรมชาติของแสง-เงา และไรแดดอย่างนี้ ให้ทั้งความน่าอัศจรรย์ สวยงาม และเป็นแรงบันดาลใจที่นำไปสู่งานสร้างสรรค์ต่างๆมากมายเลยละครับ

  ศิลปะแสง-เงาโดยภาพถ่าย  ม้ 

                         

มีภาพศิลปะแสงเงาที่งดงามมากอีกภาพหนึ่งมาฝากกลุ่มศิลปะเล่นกับแสง-เงาและไรแดด เป็นภาพจากเนชั่นแนลจีโอกราฟิค แต่ไม่ทราบว่าได้ตีพิมพ์เผยแพร่ไว้ที่ฉบับไหนหรือเผยแพร่ทางสื่อแบบไหน สวยงามและให้พลังการคิดจากการชมมากครับ

ตามมาขอบคุณที่อาจารย์ไปเยี่ยมชมโครงการสอนและมีข้อติชม

ตามมาชมความงามด้วยคนครับ

อีกทั้งธรรมชาติอันสวยงามที่น่าชื่นชมมาก

คงได้นำไปใช้ประกอบการสอนชีวิตกับสิ่งแวดล้อมด้วยนะครับ

ขออนุญาตไว้ก่อนเลยครับ

ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับอาจารย์ประถมครับ

  • เส้นทางชีวิต วิธีคด ประสบการณ์ เจตนารมย์ต่อการงานของอาจารย์ น่าประทับใจมากเลยครับ มีไฟในชีวิตดีครับ
  • อาจารย์สามารถนำเอาไปดัดแปลงเข้าสู่การสอน-การวิจัยของอาจารย์ได้ตามสบายเลยครับ สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ เป็นปัจจัยชีวิตและเป็นแหล่งความบันดาลใจต่อศิลปะและงานสร้างสรรค์อย่างแนบแน่นทุกสาขา สามารถเชื่อมโยงให้เกิดประสบการณ์มิติจิตวิญญาณ ที่ส่งเสริมความซาบซึ้ง การพัฒนาที่ยั่งยืน และการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม ให้ครอบคลุมความหลากหลายได้มากยิ่งๆขึ้นน่ะครับ

ภาพแสง-เงาของกลุ่มอิมเพรชชั่นนิสต์ที่งดงามมากอีกชิ้นหนึ่ง

                        File:Monet dejeunersurlherbe.jpg

Claude Monet, Le déjeuner sur l'herbe,with Gustave Courbet, 1865-1866, Musée d'Orsay, Paris (คัดลอกภาพจาก Google) ภาพอาหารกลางวันในสวน สีน้ำมันของโมเนต์ เป็นภาพสื่อความประทับใจด้วยแสง-เงา และไรแดด

สวยๆทุกรูป เดี๋ยวเข้ามาใหม่นะค่ะ

  • ขอบคุณครูเอครับที่แวะมาเยือนและทักทายกันอยู่เสมอๆ
  • แวะมาได้เรื่อยๆครับ อย่างทางศิลปะมักเรียกว่ามาหาแรงบันดาลใจเอากลับไปทำการงานและดำเนินชีวิตให้มีความสุข-ความรื่นรมย์

ชอบอย่างที่อาจารย์บอกจริง ๆ ด้วยค่ะ

โดยเฉพาะภาพ "สัตว์สวย ป่างาม"

ดูสว่างกระจ่างจ้า มีชีวิตชีวา สดชื่น

ภาพอื่น ๆ ก็กระทบใจ แตกต่างกันไป

ชักอยากหัดวาดขึ้นมาแล้วซิคะ

จริง ๆ คิดมาหลายเดือนแล้วล่ะค่ะ

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ
ภาพสัตว์สวยป่างาม เป็นผลงานของวิเชษฐ์ จันทร์นิยมครับ วิเชษฐ์เป็นจิตรกรสีน้ำที่มีชื่อเสียง มีผลงานต่อเนื่อง และนักสะสมงานศิลปะชอบติดตามงานของเขามากที่สุดคนหนึ่ง แต่ภาพนี้เขาลองใช้สีอะครายลิคเขียน ก็ให้ความงามได้อย่างจับใจไปอีกแบบ เห็นแล้วทำให้เราเห็นคุณค่าของรสนิยมชีวิตอีกแบบที่โน้มไปหาธรรมชาติที่ไม่ต้องมีอะไรมากมาย นอกจากความเดิมๆของธรรมชาติเลยนะครับ

ไรแดด กับ rim light ประมาณความหมายเดียวกันมั้ยคะ

มีพี่ที่รักกันเคยมอบภาพนี้ให้ จึงนำมาฝากอาจารย์ ชม ด้วยค่ะ

 

Large_g2717983-10

 

 

สวัสดีครับอาจารย์หมอภูสุภาครับ

ไรแดด ในทางทัศนศิลป์ การเขียนภาพ ถ่ายภาพ ศิลปะการออกแบบและจัดแสดง ในภาษาอังกฤษนั้น น่าจะตรงกับที่เรียกว่า Direct Ligth ครับ แต่ว่าต้องขยายความเพิ่มสักหน่อยครับ กล่าวคือ เทคนิคทางศิลปะนั้น การเขียนภาพและการจัดแสงในเงา จะเป็นเทคนิคการเขียนภาพกับการจัดแสง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ต้องมีการศึกษาเฉพาะกันเลยทีเดียวครับ เรียกโดยรวมว่า Shadow Painting หรือ Colour of Shadow Paintning  ในส่วนที่เป็นการเจาะจงเรื่องไรแดดกับแสงที่เล่นกับสวนและต้นไม้ ก็เป็นงานของมืออาชีพในทาง Ligthing Design for Trees

การเขียนภาพในเงา รวมทั้งการถ่ายภาพในเงา กับการอออกแบบและจัดแสงสำหรับต้นไม้และสวนอย่างที่ว่านี้ จะต้องรู้จักแสงที่เกิดขึ้นในเงาอย่างน้อย ๓ ลักษณะ คือ

  • แสงสะท้อนจากความจ้าของแดดและแหล่งกำเนิดแสง เรียก Fill Ligth ทำให้เกิดความสว่างและสามารถเห็นรายละเอียดในเงา เช่น เวลากางร่ม สิ่งที่อยู่ใต้ร่มนั้น เราจะสามารถเห็นรายละเอียดได้ด้วย ไม่ได้มืดสนิท เพราะแสงสว่างจ้าที่ตกกระทบสิ่งต่างๆโดยรอบ ทำให้เกิดแสงสว่างในเงาชนิดหนึ่งที่มาจากทุกทิศทุกทาง  
  • แสงสะท้อนจากวัตถุข้างเคียง เรียก Reflected Ligth จะมีทิศทางสัมพันธ์กับวัสถุสะท้อนแสง มีความส่องสว่างและมีสีสันจากแหล่งสะท้อนไปผสมอยู่บนวัตถุอื่นๆในภาพด้วย เช่น คนยืนใกล้รถสีแดง เนื้อตัวและร่างกายด้านที่หันเข้าหารถก็จะมีแสง สะท้อนสีแดงอุ่นๆ สะท้อนไปอยู่ในสีของเสื้อผ้าและร่างกายของคนในภาพด้วย
  • แสงจากแหล่งกำเนิดแสงโดยตรง หรือ Direct Ligth เป็นแสงจำนวนที่เล็กน้อยที่เล็ดรอดจากช่องว่างของวัตถุไปตกกระทบบนวัตถุอื่นๆ หรือลักษณะแบบไรแดดนั่นเองครับ

Rim Ligth หรือแสงเน้นขอบนั้น จัดว่าเป็นแสงสำหรับให้เทคนิคพิเศษ หรือ Effect Ligth ซึ่งจะเป็นเทคนิคเฉพาะสำหรับการจัดแสงและเทคนิคการออกแบบแสงสตูดิโอครับ เทคนิคแสงสตูดิโอนี้ แสงจากแหล่งกำเนิดแสง หากไม่ใช่แสงอาทิตย์ก็จะเรียกว่า Key Ligth ซึ่งมีความหมายในความเป็นแหล่งปฐมภูมิของแสงหรือเป็น Primary Source of Ligth เหมือนกับเรียกแสงจากพระอาทิตย์ว่าเป็น Primary Source ด้วยเหมือนกันครับ

แต่ Fill Ligth และ Reflecting Ligth ของการจัดแสงในสตูดิโอ จะเรียกว่าไฟเสริมและไฟลบลบเงาตามลำดับ อีกทั้งไม่มีคุณสมบัติในการสะท้อนสิ่งที่อยู่รอบข้างเหมือนหลักการเขียนภาพในเงาของแสงแดดในธรรมชาติ Fill Ligth นั้น ทำหน้าที่คุมน้ำหนักกลาง ปูพื้นทั่วทั้งฉาก หากเป็นการแสดงเวทีก็ทำหน้าที่คุมบรรยากาศโดยรวมให้กลมกลืนกัน และหากเป็นถ่ายภาพหรือภาพยนต์ ก็จะทำหน้าที่กุมโครงสีหรือ Colour Scheme โดย Key Ligth ก็จะตบแสงให้แสงในส่วนที่จ้า และ High Ligth ก็จะเน้นจำเพาะจุดอีกทีหนึ่ง หลักของการจัดแสงอย่างนี้ จะต้องการให้บรรยากาศความสมจริง สร้างให้เห็นความกลม แบน การซ้อนและความสัมพันธ์ระหว่างมิติลึก ใกล้ ไกล เหล่านี้ ให้เด่นชัด รวมทั้งสร้างจุดสนใจ และขับอารมณ์ของสิ่งจัดแสดงให้เกิดขึ้น ซึ่งแนวคิดก็จะต่างจากการเขียนแสงในเงาและไรแดด

ในเทคนิคการจัดแสงสตูดิโอนั้น จะมีเทคนิคช่วยให้วัตถุจัดแสดงลอยแยกออกจากฉากหลังโดยให้แสงฉากหลัง(Back Ligth) แยกให้เห็นความแตกต่างจากวัตถุ แล้วก็ตบแสงตามขอบของวัตถุ ทำให้วัตถุมีมิติลอยเด่นออกจากฉาก ซึ่งแสงชนิดนี้แหละครับเรียกว่า Rim Ligth อาจจะมีลักษณะเหมือนกับไรแดด แต่ไม่มีคุณสมบัติของการมาจากแหล่งกำเนิดแสงที่เป็นแสงอาทิตย์ เขาเลยเรียกเป็นเทคนิคเฉพาะอีกอย่างหนึ่ง ไม่เรียกว่าไรแดดครับ

Effect Ligth นี้ นอกจาก Rim Ligth แล้ว ก็มีเทคนิคเล็กๆน้อยๆเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์และความมีศิลปะของการจัดแสงอีกหลายอย่างครับ เช่น การให้แสงเพื่อทำแววตาให้เป็นประกาย เด่นลอยออกมาจากในเงา เรียกว่า Eye Ligth การตบแสงตามผม เพื่อทำให้เห็นความมันวาวสวยงามของเรือนผม เรียก Hair Ligth ซึ่งเป็นกลุ่มเทคนิคสำหรับออกแบบและจัดแสงในสตูดิโอน่ะครับ 

ในภาพตัวอย่างของอาจารย์นี้ หากเป็นการจัดแสงขึ้นเป็นการเฉพาะ เขาก็จะเรียกเทคนิคอย่างนี้ว่า Beam Ligth หรือ Spotting Ligth ครับ ถ้าหากเป็นแสงธรรมชาติก็เรียก Direct Spotting Ligth แต่เมื่อแปลเป็นไทย หากจะเรียกว่าไรแดด ก็จะไม่ได้ลักษณะความมีสุนทรียภาพอย่างที่กล่าวถึงในข้างต้น หากเรียกว่าภาพในลำแสงแทนเรียกว่าภาพในไรแดด ก็น่าจะเหมาะสมและสื่ออารมณ์ภาพได้ดีกว่าหรือเปล่านะครับ

May I copy this comment and knowledge to my diary?

Thanks in advance ka Ajarn.

There is one famous water color painting of Leelawadee trees with a very nice Shadow Painting or Colour of Shadow Paintning , Ajarn Sumran or ?

I cannot remember his name.

I will try searching and will come back again.

ค้นไม่พบค่ะอาจารย์

เป็นภาพต้นลั่นทมกับแสงเงา ดูสิคะ จำชื่ออาจารย์ศิลปินไม่ได้

จำได้ว่าอาจารย์ศิลปินท่านนี้มีลูกสาว และมีภาพหนึ่งที่นั่งกับลูกสาวแล้ววาดขึ้นมาให้ดูวิวัฒนาการของลูกสาวด้วยน่ะค่ะ

 

 

ด้วยความยินดีครับอาจารย์ ขอบพระคุณที่อาจารย์ให้ความสนใจเช่นกันครับ 

ภาพสีน้ำ เขียนดอกลีลาวดีนี่ ผมเองก็นึกถึงได้หลายคนครับ แต่ผมมักนึกไปถึงอาจารย์วิเชษฐ์ จันทร์นิยม เป็นเพื่อนผมเองด้วย แต่ที่นึกถึงนั้นไม่ใช่เพราะเป็นเพื่อนหรอกครับ เขาเขียนสีน้ำ ใส่ลูกเล่นเรื่องแสงเงา ดีมาก หากเป็นสีน้ำมันดอกลีลาวดี ที่นึกถึงได้ ก็จะนึกถึงอาจารย์สงัด ปุยอ๊อก เชียงใหม่ ท่านเขียนแสงเงาของภาพแจ่มใส ในเงาก็เหมือนมีความอุ่นและสดใสอย่างกับมีแสงแดด

กับจิตรกรไทยคนหนึ่งซึ่งก็นึกชื่อในตอนนี้ไม่ออกเหมือนกัน ผมได้ซื้อหนังสือรวมผลงานของเขาไว้เล่มหนึ่ง หากหาเจอแล้วจะไม่ลืมที่จะเอามาอวดกันนะครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท