Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

อุปนิสัยที่ 7 ลับเลื่อยให้คม (Sharpen the saw)


อุปนิสัยของการเติมพลังชีวิต: พัฒนาตนเองด้านกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา

หลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning)”

 สิ่งใดก็ตาม  ถ้าหากเราใช้ไปโดยไม่หยุดพัก เมื่อถึงวันหนึ่งก็จะชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ต่อไป ลับเลื่อยให้คมจึงเป็นการให้พลังกับชีวิต ถ้าเลื่อยมันทื่อเพราะใช้งานหนัก ก็ลับมันบ้าง ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์  สังคม สติปัญญา  เพราะถึงที่สุดแล้ว ชีวิตต้องมีความสมดุล จึงจะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ถ้าคนเก่ง หรือคนที่คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว แต่ไม่พัฒนาตัวเอง ความรู้ความสามารถที่มีอยู่เดิมอาจจะใช้การไม่ได้ เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  ผลงานที่เคยทำได้ดีก็อาจจะไม่ดีเหมือนเคย เหมือนกับเลื่อยที่ถูกใช้งานไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่หมั่นลับคม สักวันมีดก็ทื่อ ใช้การไม่ได้ในที่สุด

"ลับเลื่อยให้คม" หมายถึง การแสวงหาความรู้ใหม่ๆให้แก่ตนเองอยู่เสมอใน 4 ด้าน การแสดงให้เห็นถึงพลังขับดันทั้ง 4 อย่างและการฝึกหัดใช้พลังทั้ง 4 ที่มีอยู่ในตัวเราอย่างต่อเนื่อง  สม่ำเสมอ อย่างฉลาดและสมดุลย์ ซึ่งจะทำได้ก็ต้องเป็นคนที่ชอบลงมือก่อน  โดยหมั่นเติมพลังให้ชีวิต ทั้ง 4 ด้านได้แก่

1.      ด้านกายภาพ เช่น หมั่นออกกำลังกาย พักผ่อนให้พอ กินอาหารที่มีประโยชน์

2.   ด้านอารมณ์ เช่น มองโลกในแง่ดี  คิดในสิ่งที่ดี ทำความดี สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง  เอาใจเค้ามาใส่ในเราและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น

3.      ด้านสติปัญญา เช่น อ่านหนังสือ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การเดินทางหาประสบการณ์  การเข้าอบรมสัมมนาในหลักสูตรต่างๆ

4.      ด้านจิตวิญญาณ เช่น เข้าวัด ทำบุญ  ปฏิบัติธรรม อยู่กับธรรมชาติ

อุปนิสัยที่ 7 เป็นหลักการปรับตัวใหม่ให้สมดุลซึ่งทำให้อุปนิสัยที่เหลือทั้งหมดทำงานได้ผล  เปรียบเสมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ช่วยรักษาและเพิ่มคุณค่าที่มีอยู่ในตัวให้มากขึ้น เป็นการปรับเปลี่ยนของสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราโดยธรรมชาติ 4 อย่าง ได้แก่  ร่างกาย จิตวิญญาณ สติปัญญา และความรู้สึกที่มีต่อสังคม ในขณะที่ภาคร่างกาย สติปัญญา และใจเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับอุปนิสัยที่ 1, 2 และ 3 ซึ่งมีศูนย์รวมเน้นไปที่วิสัยทัศน์ส่วนตัว ความเป็นผู้นำ และการจัดการ แต่ทางภาคสังคมและอารมณ์จะเน้นไปที่อุปนิสัยที่ 4, 5 และ 6 ซึ่งมีศูนย์รวมที่เน้นไปที่การติดต่อระหว่างบุคคลของการเป็นผู้นำ การติดต่อสื่อสาร และการร่วมมือกันสร้างสรรค์ ดังนั้นการที่จะประสบความสำเร็จในอุปนิสัยที่ 4, 5 และ 6 นั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของสติปัญญาแต่เป็นเรื่องของอารมณ์

            นิทานสอนเด็กบางครั้งก็มีคติเตือนใจเราได้มาก  ถ้าเราจะลองพิจารณาดู อย่างเรื่อง  ห่านทองคำ ที่เราเรียน และได้ฟังมาตั้งแต่เล็ก

 นิทานเรื่อง ห่านทองคำ

เรื่องมีว่าชายคนหนึ่งโชคดีได้ห่านมา  ห่านตัวนี้ออกไข่มาเป็นทองคำทุกวัน ๆ เจ้าของดีใจมาก  แต่ตอนหลังรู้สึกว่าได้วันละฟองมันน้อยไป อยากจะได้มากกว่านั้น  และก็เชื่อว่าในตัวห่านน่าจะมีไข่ที่เป็นทองคำอีกตั้งเยอะแยะ  ถ้าจะรอให้มันออกมาวันละฟอง ๆ มันช้าไป  อย่ากระนั้นเลยคว้านท้องเอาไข่ออกมาดีกว่า  ก็เลยฆ่าห่านตัวนั้น ปรากฏว่าไม่ได้ไข่ทองคำแม่แต่ฟองเดียว  ชายคนนั้นลืมไปว่าถ้าอยากจะได้ไข่ทองคำมาก ๆ ก็ต้องดูแลรักษาตัวห่านให้ดี แต่นี่กลับไม่สนใจ มิหนำซ้ำไปฆ่ามันเสีย ก็เท่ากับว่าไปฆ่าต้นทุนเสีย จะมีผลงอกงามได้อย่างไร

 ข้อคิดของนิทานเรื่องนี้

นิทานเรื่องนี้นอกจากจะสอนว่า "โลภมาก ลาภมักหาย"  อย่างที่เราได้ยินครูสอนตอนเด็ก ๆ แล้ว ยังสอนผู้ใหญ่ด้วยว่า  อยากได้ผล ก็ต้องสนใจที่ต้นทุนหรือเหตุปัจจัย  ถ้าอยากได้ไข่เยอะ ๆ ก็อย่าไปใช้ทางลัด  เช่น คว้านท้องห่าน วิธีที่ถูกต้องก็คือ ดูแลห่านให้ดีให้มันกินอิ่ม นอนนุ่ม  มีสุขภาพดี ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องตระหนักด้วยว่า ห่านก็มีขีดจำกัดในการให้ไข่  ไม่ใช่ว่าวันหนึ่ง ๆ จะให้กี่ฟองก็ได้ตามใจเรา

เหมือนกับชีวิตของเราซึ่งมีขอบเขตจำกัดในการทำงาน วันหนึ่งร่างกายของเราทำงานได้อย่างมากก็ ๑๘ ชั่วโมง  ถ้าไปเร่งหรือบังคับทำงานมากกว่านั้น เช่น กินกาแฟหรือยาบ้าจะได้ไม่ต้องหลับ ไม่นานก็ต้องล้มพับ  โรครุมเร้า เท่ากับเป็นการทำร้ายร่างกายของเรา ไม่ต่างจากชายที่ฆ่าห่านเพื่อจะได้ไข่เยอะ ๆ สุดท้ายก็ไม้ได้อะไรเลย ผลก็ไม่ได้ ต้นทุนที่เคยมีก็เสียไป

อุปนิสัยที่ 7 เป็นการปฏิบัติตามอุปนิสัยที่กล่าวมาทั้ง 6 ประการ และผสมผสานอุปนิสัยเหล่านั้นให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสุขภาพทางด้านร่างกายและจิตใจของตนเอง ตลอดจนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข  หมั่นทบทวนและนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน  อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ  โดยใช้อย่างฉลาดและสมดุล  แล้วจะทำให้เราเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต  เพราะดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิผลสูงสุด

 

 นิทานเรื่อง คนตัดไม้

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีคนตัดไม้ที่เก่งมากคนหนึ่ง ซึ่งได้ทำงานกับพ่อค้าไม้ เนื่องจากพ่อค้าไม้ได้จ่ายผลตอบแทนและสภาพการทำงานที่ดีให้แก่เขา ดังนั้น คนตัดไม้จึงตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำงานของเขาให้ดีที่สุด เจ้านายได้ให้ขวานและบอกให้เขาไปตัดไม้ในพื้นที่ที่กำหนดให้

ในวันแรกคนตัดไม้ สามารถตัดไม้ได้ถึง 18 ต้น เจ้านายประทับใจในตัวเขามาก และกล่าวชมเขา ดีมาก ทำงานให้ดีต่อไปน่ะ

เพราะเขาได้รับกำลังใจที่ดีจากเจ้านาย เขาจึงตั้งใจที่จะทำงานหนักขึ้นในวันต่อมา แต่เขากลับตัดไม้ได้เพียง 15 ต้นเท่านั้น

ในวันที่สาม  เขาเพียรพยายามมากขึ้นไปอีก แต่กลับตัดไม้ได้เพียง 10 ต้นเท่านั้น

แต่ละวันผ่านไปเขากลับตัดไม้ได้น้อยลงทุกที คนตัดไม้รำพึงกับตนเองว่า ความแข็งแรงของเขาคงลดน้อยถอยลงเสียแล้ว

เขาจึงไปหาเจ้านายของเขาเพื่อขอโทษ และบอกกับเจ้านายว่า เขาไม่เข้าใจว่าทำไมผลลัพธ์มันจึงเป็นเช่นนี้

เจ้านายจึงถามเขาว่า เธอได้ลับขวานครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?”

ลับขวานเหรอครับ ? ผมไม่มีเวลาที่จะลับขวานของผมเลย ผมยุ่งอยู่แต่การตัดต้นไม้

  ข้อคิดของนิทานเรื่องนี้

บางครั้งคนเราก็เหมือนกับชายคนนี้  คือ เอาแต่เลื่อยอย่างเดียวไม่ยอมหยุด  ทั้ง ๆ ที่การหยุดพักจะทำให้มีพลังดีขึ้น  และถ้ารู้จักหยุดเพื่อลับคมเลื่อยให้คมขึ้น  ก็จะทำให้เลื่อยได้เร็วขึ้น ทุ่นทั้งแรงทุ่นทั้งเวลา  แต่เขาก็ยังไม่ยอมเลย  เหตุผลที่เขาให้ก็คือ กำลังวุ่นอยู่กับการเลื่อย  เลยไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ไม่สนใจแม้กระทั่งการทำให้เลื่อยคมขึ้น  เขาหาได้เฉลียวใจไม่ว่า  เพียงแค่เสียเวลานิดหน่อยก็จะทำให้การเลื่อยนั้นเร็วขึ้นดีขึ้น  และเหนื่อยน้อยลง เขาไม่ยอมหยุดเพราะคิดว่า จะทำให้เสียเวลา  ลึก ๆ ก็เพราะคิดว่า ทำอะไรมาก แล้วมันจะดี  แต่ที่จริงแล้วทำน้อยลง แต่อาจได้ผลดีกว่าก็ได้  ในประสบการณ์ของเรา  เราพบบ่อยไปว่า การทำอะไรให้ช้าลงกลับทำให้ได้ผลดีขึ้น

ชีวิตของพวกเราก็เช่นกัน  บางครั้งเรายุ่งเสียจนไม่มีเวลาจะลับขวานให้คมอยู่เสมอ ในโลกทุกวันนี้ดูเหมือนทุกคนจะยุ่งมากขึ้น  ทำงานมากขึ้น แต่กลับมีความสุขน้อยลง ทุกข์มากขึ้นกว่าเคย  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?

เป็นไปได้ไม่ว่า พวกเราลืมที่จะมีชีวิตอยู่อย่างชาญฉลาด  มันไม่ผิดที่เราจะทำงานหนัก แต่เราไม่ควรจะเร่งรีบ  วุ่นวายจนละเลยสิ่งที่สำคัญในชีวิต เช่น ชีวิตส่วนตัว ครอบครัว ศาสนา การทำความดี  เอาใจใส่ผู้อื่น การท่องเที่ยว และอื่นๆ

เราทุกคนต้องการเวลาที่จะพักผ่อน คลายเครียด ที่จะคิด ที่จะสร้างสมาธิ  เจริญสติ เพื่อที่จะได้เรียนรู้และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราไม่ยอมใช้เวลาที่จะลับคมให้แก่ชีวิตของเรา เราจะกลายเป็นผู้ที่โง่เขลาและสูญเสียซึ่งประสิทธิผลและศักยภาพของเรา

เราต้องมีความรับผิดชอบที่จะรักษาและพัฒนาศักยภาพของเรา เพราะมันจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะรับประกันความสำเร็จ และความเป็นที่ต้องการในอาชีพของตัวเรา ดังนั้น ขอให้เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้  ลองคิดหาหนทางที่จะพัฒนาศักยภาพของเรา เพื่อที่จะทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่งานของเรามากขึ้น

การไปปฏิบัติธรรม  จะเรียกว่า เป็นการมาลับคมเลื่อยก็ได้  เราวางเลื่อยเอาไว้ก่อน แล้วมาลับคมเลื่อย ก่อนที่จะเลื่อยต่อไป  การพักผ่อนในตัวมันเองก็เป็นการลับคมเลื่อยอยู่แล้ว  แค่พักผ่อนร่างกายก็สำคัญไม่น้อย  เพราะว่าร่างกายชองเราก็คือ ตัวเลื่อยนั่นเอง  แต่ตอนนี้มันบิ่นแล้ว ทำงานมากมันก็บิ่น มันไม่คมแล้ว  เพียงแค่การมาพักร่างกายอย่างเดียว ก็จะช่วยให้เลื่อยคมขึ้น  

เรามาพักใจด้วยการฝึกจิตให้สงบมีสติมีความมั่นคง  และทำให้ชีวิตมีสมดุล ก็เท่ากับว่าเลื่อยถูกลับให้คมขึ้นกว่าเดิม  ถ้าเรากลับไปเลื่อยต่อเมื่อไหร่  ก็แน่ใจได้ว่าจะเลื่อยได้ดีขึ้นเร็วขึ้น  แต่ถ้าเราไม่พักเสียเลย อย่างชายคนนั้นไม่พักเสียเลย  แทนที่จะทำได้เร็วก็กลับทำได้ช้า  หรืออาจจะทำไม่เสร็จเลยก็ได้ เพราะว่าล้มพับเสียก่อน  แทนที่จะเสร็จในตอนค่ำก็มาเสร็จวันรุ่งขึ้นช้าไปอีกตั้งหลายชั่วโมง  เพราะว่าป่วยเสียก่อน หรือไม่มือไม้ก็พองทำต่อไม่ได้  ยิ่งอยากจะให้เสร็จไว ๆ กลับเสร็จช้าแต่ถ้าเว้นวรรคให้ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อนบ้าง ก็จะทำงานได้ดี  การหยุดพักนั้นดูเผิน ๆ เหมือนจะทำให้เสร็จช้าลง  แต่ที่จริงทำให้เสร็จไวขึ้น

คนเรามักไปเน้นเรื่องผลหรือความสำเร็จมากไป  แต่ลืมต้นทุนที่จะเอาลงไปในงานนั้น ๆ ผลสำเร็จหรือผลงานก็เหมือนกับผลไม้  ผลไม้ออกมาดีหรือไม่ต้องอาศัยต้นทุนคือ ต้นไม้  ถ้าต้นไม้นั้นเราเอาใจใส่ดูแล รักษา รดน้ำพรวนดิน  ใส่ปุ๋ย ต้นไม้เติบโตแข็งแรง ก็ย่อมให้ผลดี ทั้งดก และหอมหวานทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ยเงินฝาก จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนที่ฝาก  ถ้าเงินต้นก้อนนิดเดียวดอกเบี้ยก็น้อยตามไปด้วย  ถ้าสนใจแต่ดอกเบี้ย อยากได้ดอกเบี้ยเยอะ ๆแต่ไม่สนใจต้นทุนความอยากนั้นก็เป็นแค่ความฝันลม ๆ แล้ง ๆ แต่ว่าคนจำนวนมากก็ทำอย่างนั้นจริง ๆ ก็คือว่า อยากจะให้งานออกมาดี ประสบความสำเร็จเต็มที่  แต่ว่าไม่ได้เอาใจใส่ต้นทุนคือร่างกายและจิตใจ  ร่างกายและจิตใจเป็นต้นทุนสำคัญ หรือปัจจัยพื้นฐานที่จำนำไปสู่งานที่ดีได้  ถ้าร่างกายอ่อนแอ จิตใจห่อเหี่ยว ท้อแท้อารมณ์ไม่ดี  ความสำเร็จก็เกิดขึ้นได้ยาก

            อุปนิสัยนี้ ต้องการบอกให้เราหมั่นฝึกฝนพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นเก่งขึ้นอยู่เสมอนั่นเอง 

 

 เคล็ดลับ  การสร้างสมดุลในการเรียนรู้ตลอดชีวิต การฝึกฝน และการพัฒนาตนเองกับการทำงาน คือ การลับเลื่อยให้คมอยู่เสมอนั่นเอง เพราะโลกหมุนเร็วไปทุกวัน เราต้องหมุนให้เร็วกว่าโลก หรือ อย่างน้อยต้องไม่ช้ากว่าโลก เมื่อก่อนมีคำว่า "ถ้าเราหยุด ก็เหมือนกับถอยหลัง"  แต่ตอนนี้ "แค่เราเดิน ก็เหมือนถอยหลังแล้ว เพราะคนอื่นเขาวิ่งกัน!! " ดังนั้น  อย่าหยุดนิ่งอยู่กับที่…”

 

   อ่านอุปนิสัยข้ออื่นได้ที่นี่ค่ะ  http://gotoknow.org/blog/the7habits

หมายเลขบันทึก: 295698เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2009 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท