Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

อุปนิสัยที่ 5 เข้าใจผู้อื่นก่อนจะให้ผู้อื่นเข้าใจเรา (Seek first to understand, then to be understood)


อุปนิสัยของการเอาใจเค้า มาใส่ใจเรา : รับฟังความต้องการและข้อแนะนำของผู้อื่น ด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน

หลักการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Communication)

 การคิดแบบชนะชนะ ทำให้คนเราจะยอมเข้าใจคนอื่นก่อน การจะเข้าใจคนอื่นก่อนได้ ต้องฟังให้มาก ๆ เพื่อเรียนรู้และเข้าใจผู้ที่เราฟัง โดยพยายามฟังและเข้าใจกับสิ่งที่ผู้อื่นอธิบาย  เอาตัวเราเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ของเขา เมื่อเราเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น  ฝ่ายตรงข้ามจะมีความรู้สึกที่ผ่อนคลายและเปิดกว้างในการรับฟังเรามากขึ้น  เมื่อเข้าใจเขาแล้ว เขาจะเข้าใจเราเช่นกัน

ความเข้าใจซึ่งกันและกัน เป็นกุญแจสำคัญของหลักการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลที่มีประสิทธิผลการติดต่อสื่อสารถือเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดในชีวิต เราใช้เวลาหลายปีในการเรียนรู้วิธีการคิด อ่าน เขียน และพูด แต่น้อยคนที่ได้ผ่านการฝึกอบรมเรื่องการฟัง  การฟังในที่นี้หมายถึงการฟังเพื่อแสวงหาความเข้าใจซึ่งมากกว่าการสนใจฟัง  ในการสนทนาพูดคุยหรือปรึกษาหารือในเรื่องต่างๆหรือปัญหาต่างๆ  เราควรรับฟังกันด้วยความตั้งใจ  เพื่อที่จะเข้าใจว่าผู้อื่นต้องการอะไรมากกว่าที่เค้าพูด  การพยายามเข้าใจผู้อื่นจะช่วยให้ทราบปัญหาและความต้องการของผู้อื่นได้ชัดเจน  ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดและสามารถพูดอย่างเปิดเผย เราต้องฟังด้วยหู ด้วยหัวใจ ด้วยความรู้สึก ด้วยความหมายที่แสดงออกมา  เราต้องฟังถึงพฤติกรรมและใช้สมองด้านซ้ายและขวาไปพร้อมกัน การรับฟังเพื่อแสวงหาความเข้าใจส่งผลดีอย่างมากเพราะทำให้เราได้ข้อมูลที่ถูกต้อง

การเข้าใจเขาก่อนที่จะให้เขาเข้าใจเรา มีวิธีง่ายๆ ก็คือ "การฟัง" เขาบอกว่า  คนเรามักไม่ชอบฟังผู้อื่น มักคิดถึงแต่สิ่งที่ตนจะพูดเท่านั้น และมักด่วนสรุปตัดสินใครง่ายๆ จากการฟังไม่กี่ประโยคเพื่อที่จะให้คำแนะนำจากประสบการณ์ของเราเอง นิสัยนี้เขาจึงสอนให้เราฟังคนอื่นแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา นั่นเอง

การเข้าใจผู้อื่นก่อนที่จะให้ผู้อื่นมาเข้าใจเรา  เป็นทักษะที่สำคัญที่สุด  การที่จะทำให้เรามีอุปนิสัยนี้ คือ "การฟัง"  ตามปกติคนเราจะชอบพูดมากกว่าชอบฟัง บางครั้งเราฟัง แต่ไม่ได้ตั้งใจฟังจริง ฟังเพื่อรอคิวที่จะถึงเวลาเราพูด  ดังนั้น เราจะสามารถเข้าใจผู้อื่นได้ดี เราต้อง "ฟังเพื่อให้เข้าใจ" ไม่ใช่ "ฟังเพื่อจะตอบ หรือเพื่อจะพูด"  หรือฟังแบบว่า ฟังไม่ได้ศัพท์  แล้วจับกระเดียด นำไปสู่ความเข้าใจผิด ก่อให้เกิดความขัดแย้งได้

การฟังจึงเป็นทักษะสำคัญที่จำเป็นต้องเรียนรู้  ทักษะการฟังที่ดีนำมาซึ่งความสำเร็จในชีวิต เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญของทักษะการเข้าสังคม สามารถลดความเข้าใจผิด ความขัดแย้งในการปฏิสัมพันธ์กับคน นอกจากนี้การพัฒนาทักษะการฟังยังส่งผลต่อการพัฒนาในด้านสติปัญญา ในแง่ของการฝึกใช้ความคิด การจับประเด็น ฝึกความจำ และฝึกฝนการจดจ่อแน่วแน่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือมีสมาธิที่ต้องการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การฟังอย่างมีประสิทธิภาพนั้นเป็นสิ่งที่สามารถสอนและฝึกฝนกันได้ โดยพื้นฐานสำคัญอันดับแรกสุดในการฝึกฝนนั้น คือ การฝึกฝนความอดทนในการเป็นผู้ฟังที่ดี อย่าพูดสอดแทรก  รอให้อีกฝ่ายพูดจนจบก่อน  มีมารยาทในการฟัง เรียนรู้ที่จะให้เกียรติผู้พูด เป็นการฝึกฝนให้ตนไม่เป็นคนที่เย่อหยิ่งหรือเอาตนเองเป็นศูนย์กลางคิดว่าความคิดของตนดีกว่าจนไม่ยอมรับฟังผู้ใด จนเป็นเหตุให้เกิดการปิดกั้นการเรียนรู้จากแหล่งต่าง ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย รวมทั้งเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีต่อทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ทำให้การสนทนานั้นเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และจบลงด้วยดี

ผู้ฟังที่ดีจะต้องมีลักษณะแห่งความกระตือรือร้นอยู่ด้วย หรือที่เรียกว่า Active Listening คือ แสดงท่าทางภายนอกว่ากำลังฟังอยู่ และในสมองต้องมีการทำงานแล้วคิดไปด้วยอยู่ตลอดเวลา  ผู้ฟังที่ดีจะต้องพัฒนาความสามารถในการจับประเด็นไปด้วย  เพราะเป็นตัวชี้ว่าการสื่อสารที่เกิดขึ้นนั้นผู้ส่งสารสามารถบรรลุเป้าหมายในการสื่อสารที่ต้องการไปยังผู้รับสารหรือไม่   การสื่อสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ดังนั้น ผู้ฟังที่ดี ต้องตั้งใจฟัง รู้ถึงความรู้สึกและอารมณ์ของเขา รับฟังอย่างมีสติมั่นคง รับฟังอย่างเป็นกลางสายตาอยู่ที่ผู้พูด อย่าเพียงแต่ได้ยิน  โดยที่ในใจคิดเรื่องอื่นอยู่ 

 เคล็ดลับ  คนเรามักยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง อยากให้ใคร ๆ มาเข้าใจเรา ทำในสิ่งที่เรา แต่คนที่มีเสน่ห์ คือ คนที่รับฟัง แล้วเข้าใจผู้อื่น ทำได้โดย ฟังให้มากขึ้น พูดให้น้อยลง และที่สำคัญการฟังนั้น ต้องฟังในสิ่งที่เค้าไม่ได้พูด จะทำให้เข้าใจผู้อื่นได้จริง ๆ

  

   อ่านอุปนิสัยข้ออื่นได้ที่นี่ค่ะ  http://gotoknow.org/blog/the7habits

หมายเลขบันทึก: 293874เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2009 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2012 10:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอบคุณนะคะที่อ่าน แล้วช่วยแสดงความคิดเห็น

ยินดีมากเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณมากนะคะ

ให้ความรุแตกฉานขึ้นเยอะเลยค่ะ

"ฟังในสิ่งที่เขาไม่ได้พูด" นี่เป็นสุดยอดวิชาของการเข้าใจผู้อื่นแล้ว

ขอบคุณค่ะ แต่ว่าถ้าฟังไม่เข้าใจแล้วเราถามเขาได้ไหมคะ

อาจารคับ "ฟ้งในสื่งที่เค้า ไม่ได้พูด" มีวิธี ที่จะให้ บรรลุ เข้าใจ และเข้าถึง ความหมาย ของ ประโยคนี้ได้ อย่างยชัดเจน

แบบนำไปปฎิบัติใชั ได้ในสถานการและชีวิต รายวัน มั้ยครับ รบกวนด้วย ครับ

ถ้าเราเปีดใจเข้าใจในสิ่งที่เข้าเป็น แต่เขาไม่ปับตัวยอมรับไม่ปับตัวในสื่งที่เราเป็นละค่ะ จะทำยังไง

สุวันชัย ใจเยี่ยม

เป็นจริงครับมีแต่เป็นผู้ฟังและที่ปรึกษาใครมีอะไรทุกข์ใจก้อจะมาขอความช่วยเหลือส่วนมากจะขอข้อคิดความคิดเห็นเป็นเหมือนคนที่เข้าใจผู้อื่นมากกว่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท