ชีวิตที่พอเพียง : ๑๔๑๐. สังคมที่มีกลไกควบคุมจริยธรรมกันเอง


          อ. หมอกิตติศักดิ์ กุลวิชิตส่ง ลิ้งค์นี้ http://www.guardian.co.uk/media/2011/sep/14/johann-hari-apologises-orwell-prize   มาให้   ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจเขียนบันทึกนี้

          ไม่ว่าในยุคไหน คนเราพลาดพลั้งทำผิด ก่อกวนสังคมหรือผู้อื่นได้เสมอ  นี่คือปัญหาจริยธรรม หรือความประพฤติที่เป็นภัยต่อความสงบสุขในสังคม   ถ้าความเสียหายรุนแรง สังคมก็ช่วยกันออกกฎหมายมาป้องกันและลงโทษ   แต่ก็มีส่วนที่ความเสียหายไม่รุนแรงมากนัก   กฎหมายเอื้อมไม่ถึง เราก็มีข้อกำหนดกติกาเชิงจริยธรรมไว้ยึดถือร่วมกัน   ถือเป็นข้อตกลงเชิงจริยธรรมในวงการ/วิชาชีพ/สังคม

         กรณีคุณ Johann Hari นักเขียนในค่าย นสพ. The Independent ในอังกฤษ ผู้เคยได้รับรางวัล Orwell Prize อันทรงเกียรติ   ทำชั่วโดยการปลอมชื่อไปเขียนด่าว่าคนอื่นใน Wikipedia แล้วถูกจับได้ 

         รวมทั้งโดนกล่าวหาว่า เอาข้อเขียนของคนอื่นไปใช้ โดยตีขลุมว่าเป็นของตนเอง   เป็นข้อหา “โจรกรรมวิชาการ” (plagiarism)

          สังคมโลกเปิดมากขึ้นเรื่อยๆ   มีเครื่องมือสื่อสารที่เปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ   ซึ่งมีข้อดีในด้านที่ทำให้มีช่องทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากขึ้น  แต่ก็มีด้านลบที่คนชั่วอาศัยเป็นช่องทางหาประโยชน์ใส่ตัวในทางมิชอบได้มากขึ้น   ดังกรณีในข่าวนี้  ยิ่งเป็นคนเก่งก็ยิ่งทำชั่วได้แนบเนียนและรุนแรงมากขึ้น

          กลไกกำกับหรือควบคุมได้แก่ (๑) กฎหมาย  (๒) ข้อกำหนดจริยธรรม  และ (๓) การบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรมในตัวปัจเจกบุคคลผ่านการอบรมในครอบครัว ในโรงเรียน และในสังคม  

            ผมคิดว่าในสังคมไทยเรากลไกดังกล่าวยังไม่เข้มแข็ง   ยังล้าหลังพัฒนาการของเครื่องมือที่อาจใช้ทำชั่วได้สะดวก

          ที่จริงเรื่องนี้เป็นโอกาสสูงมากสำหรับครู ที่จะจัดการเรียนรู้ให้ศิษย์มีทักษะในการกำกับควบคุมตนเอง ให้ทนทานต่อความเย้ายวนที่จะทำชั่ว เพื่อผลประโยชน์ระยะสั้นหรือชั่วแล่น  วิธีการเรียนรู้แบบ PBL โดยหยิบยกกรณีตัวอย่างเอามาให้นักเรียนทำความเข้าใจ ตีความโยงเข้ากับชีวิตตนเอง   ทำความเข้าใจว่าความเย้ายวนให้ทำชั่วเช่นนั้นคืออะไรบ้าง   ทำไมบางคนทำ บางคนไม่ทำ   เมื่อทำหรือไม่ทำแล้วเกิดผลดีและผลร้ายต่อชีวิตในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร  เมื่อมีการเรียนรู้แบบนี้ซ้ำๆ เด็กจะเกิดความรู้ที่ลึกในระดับทักษะ ที่จะอดทนต่อความเย้ายวนต่อการทำชั่ว    

 

วิจารณ์ พานิช
๑๖ ก.ย. ๕๔

                              
          

หมายเลขบันทึก: 464411เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2011 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอฝากข้อแนะนำให้ครูอาจารย์ค่ะ

การให้ความรู้เรื่อง knowledge sharing ผ่าน  social media จะเป็นการลด plagiarism ได้ค่ะ เพราะเป็นการนำความรู้มาใช้โดยอ้างถึงเจ้าของและแหล่งที่มาได้โดยอัตโนมัติค่ะ

และควรปลูกฝังค่านิยมการยกย่องที่มาและผู้เขียนอย่างสม่ำเสมอค่ะ พร้อมใช้กลวิธีการต่างๆ ที่จะเป็นแบบฝึกหัดให้นักเรียนได้รู้จักใช้ social media เพื่อการอ้างอิงค่ะ และฝึกให้นักเรียนได้รู้จักการสรุปและวิเคราะห์วิจารณ์มากกว่าที่จะเป็นการทำรายงานแบบ copy & paste ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท