คำนิยม หนังสือ “ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ”


ครู เรฟ เอสควิธ ได้ค้นพบวิธีทำหน้าที่ “ครูฝึก” (coach) ให้ศิษย์ชั้น ป. ๕ ได้มีทักษะที่ซับซ้อน นอกเหนือจากความรู้ตามที่ระบุไว้ในหลักสูตรมาตรฐาน ก่อนที่ทฤษฎีเรื่อง 21st Century Skills จะเกิดขึ้นเสียอีก

คำนิยม หนังสือ “ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ”

สสค. และสำนักพิมพ์สวนเงินมีมาจะเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ โดยเชิญ “ครูเรฟ” (Rafe Esquith) ผู้แต่งหนังสือมาร่วมงานเสวนาและเปิดตัวหนังสือ “ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ” วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม 2554 เวลา 13.30 -  15.30 น.ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (งานมหกรรมสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที 16)   โดยหัวข้อการเสวนาคือ “21st Century Skills ในแบบของ ‘ครูเรฟ’ : ชวน คนดัง คุยถึง ครูดี” 

ผมได้รับเกียรติให้เขียนคำนิยมหนังสือเล่มนี้ และเข้าร่วมเสวนาในวันที่ ๑๐ ต.ค. ๕๔ ด้วย   จึงนำคำนิยมของผมมาเผยแพร่ล่วงหน้าเป็นการโหมโรง 

 

คำนิยม

หนังสือ ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ

วิจารณ์ พานิช

………….

 

เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๑ รศ. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ กรุณาส่งหนังสือ “Teach Like Your Hair’s on Fire : The Methods and Madness Inside Room 56” เขียนโดย Rafe Esquith มาให้ผม   อ่านแล้ววางไม่ลง   

พลังของหนังสือทำให้คำว่า “ครูเพื่อศิษย์” ผุดขึ้นมาในสำนึก   และทำให้ผมเขียนบันทึกความประทับใจลงใน บล็อก Gotoknow.org เป็นตอนๆ   อ่านได้ที่ http://gotoknow.org/blog/thaikm/tag/rafe   นำไปสู่การเสาะแสวงหา “ครูเพื่อศิษย์” ไทย  และขบวนการ “ครูเพื่อศิษย์” ตามที่ท่านอาจารย์มานิจ สุขสมจิตร ได้เขียนไว้ในคำนิยมของท่าน

ผมได้แนะนำหนังสือนี้ต่อมิตรสหายจำนวนมาก  และเป็นที่ชื่นชอบทั่วกัน  ผมได้พยายามยุยงให้มีการแปลหนังสือนี้ แต่ไม่สำเร็จ   ดังนั้นเมื่อสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ดำเนินการแปลหนังสือเล่มนี้เพื่อเผยแพร่ในสังคมไทย ในชื่อ “ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ”   ผมจึงมีความยินดีอย่างยิ่ง   เพราะเชื่อว่า หนังสือเล่มนี้จะจุดประกายแรงบันดาลใจให้แก่ครูจำนวนมาก  รวมทั้งเปิดทางสว่างให้พ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียน ได้เห็นช่องทางสนับสนุนให้ลูกหลานได้เรียนรุ้อย่างถูกวิธี

หนังสือเล่มนี้เขียนแบบเล่าเรื่อง (storytelling) จึงมีพลังมาก  เป็นหนังสือว่าด้วยวิธีการและศิลปะในการจัดให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างลึกและเชื่อมโยง   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรียนจากการลงมือทำหรือฝึก ที่เรียกว่า action learning  หรือ project-based learning (PBL)   ในทางวิชาการ เรียกทักษะอันหลากหลายที่ศิษย์ของครู เรฟ เอสควิธ ได้เรียนรู้งอกงามขึ้นจากภายในตนว่า 21st Century Skills  

เท่ากับ ครู เรฟ เอสควิธ ได้ค้นพบวิธีทำหน้าที่ “ครูฝึก” (coach) ให้ศิษย์ชั้น ป. ๕   ได้มีทักษะที่ซับซ้อน นอกเหนือจากความรู้ตามที่ระบุไว้ในหลักสูตรมาตรฐาน   ก่อนที่ทฤษฎีเรื่อง 21st Century Skills จะเกิดขึ้นเสียอีก   เป็นการยืนยันว่า โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ค้นพบวิธีปฏิบัติก่อนค้นพบทฤษฎี

ผมจึงใคร่ขอเรียกว่า หนังสือ “ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ” เล่มนี้ เป็นหนังสือ “ภาคปฏิบัติ” สำหรับการฝึกฝนปลูกฝัง “ทักษะสำหรับศตวรรษที่ ๒๑” (21st Century Skills)   และเป็นหนังสือที่ต้องมีไว้ประจำห้องสมุดในโรงเรียน โรงเรียนละหลายๆ เล่ม  เป็นหนังสือที่นักการศึกษา ครูและนักศึกษาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทุกคนต้องอ่าน  ไม่ว่าจะสอนนักเรียนระดับใดก็ตาม   รวมทั้งผู้เป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กก็ควรอ่าน

จากข้อความทั้งหมดในหนังสือ เราจะเห็นว่าครูเรฟสนุกอยู่กับการตีความคุณค่าต่อชีวิตของศิษย์ จากบทเรียนที่ตนจัดให้   และหมั่นเรียนรู้และปรับปรุงการจัดการเรียนรู้สู่คุณค่านั้น   ไม่ใช่แค่ทำตามข้อกำหนดของหน่วยเหนืออย่างเชื่องๆ   การเรียนทุกกิจกรรมเป็นไปเพื่อสร้าง ทักษะชีวิตให้แก่ศิษย์   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียนรู้ด้วยกีฬาในบทที่ ๑๐  และการเรียนรู้ จากระบบเศรษฐกิจ ในบทที่ ๑๑   ครูเรฟ ออกแบบการเรียนรู้เหล่านี้ให้ศิษย์ซึมซับจากการ ปฏิบัติด้วยตนเอง   ไม่ใช่จากการสอนหน้าชั้นเรียนของครู

เป็นหนังสือที่หลักการจัดการเรียนรู้ซ่อนหรือแฝงอยู่ในที่ต่างๆ ของเรื่องเล่า   ท่านผู้อ่านพึงอ่านอย่างสังเกต จะจับหลักการได้มากมาย เป็นหลักการที่วงการศึกษาไทย มักละเลย   ตัวอย่างเช่น ในบทที่ ๔ หัวข้อย่อย ขั้นที่ ๑ เริ่มต้น : ไวยากรณ์  ข้อความทั้งหมด ในย่อหน้าที่สาม "เด็กเหล่านี้เรียนหนักด้วยเหตุผลสามข้อ ข้อแรก เด็กหลายๆ คนเริ่มสนุกกับไวยากรณ์   เด็กนักเรียนของผมทุกคนพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง   พวกเขาเห็นคุณค่าของการหัดเขียนภาษาใหม่ได้อย่างถูกต้อง   เด็กๆ เห็นความก้าวหน้าของตัวเอง   และเนื่องจากเด็กๆ รู้สึกสบายใจเมื่ออยู่ในห้อง ๕๖   พวกเขาจึงไม่ต้องกังวลว่าตนเองจะทำผิด   พวกเขารู้ว่าจะไม่มีใครหัวเราะเยาะหรือดุว่าพวกเขา"  ข้อความทุกประโยคในย่อหน้านี้ คือหลักของการจัดการเรียนรู้ที่ให้ผลลัพธ์ด้านการเรียนรู้ (learning outcome) สูง   ที่มักถูกละเลย

โปรดอ่านต่อไป จะเห็นว่า ตอนต่อไปก็คือหลักการจัดการเรียนรู้ที่ดีอีกนั่นแหละ   ผมจึงเรียกหนังสือเล่มนี้ว่า   หนังสือว่าด้วยสุดยอดหลักการทางการศึกษา ที่เขียนโดยนักปฏิบัติ และเขียนด้วยภาษาของการลงมือทำ

ข้อความทั้งเล่มเล่าเรื่องการเรียนรู้ของศิษย์ ที่มีครูเรฟเป็นเพื่อน เป็น "ครูฝึก" ที่ทำให้ห้องเรียนเป็นสถานที่แห่งมิตรไมตรี ที่ศิษย์มั่นใจในความปลอดภัยที่จะเรียนโดยการลงมือทำด้วยตนเอง โดยการทดลอง และไม่กังวลต่อการทำผิด   เพราะเขารู้เองว่า การทำผิดเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ไปสู่การทำถูก   และเขารู้เองว่าวิธีการที่ถูกต้องไม่ได้มีวิธีเดียว   นี่คือทักษะว่าด้วยการเรียนรู้ (learning skill)   ผมอ่านแล้วมั่นใจว่าวิธีการของครูเรฟจะทำให้ศิษย์มีทักษะในการเรียนรู้โดยที่ ครูเรฟสอนแบบไม่สอน   คือให้ศิษย์เรียนรู้เองจากการปฏิบัติด้วยตนเอง

จุดอ่อนหรือจุดบอดสำคัญที่สุดของวงการศึกษาไทยคือการสอบ ที่ใช้การสอบในทาง ที่ผิด เป็นโทษต่อการเรียนรู้ของนักเรียน แทนที่จะเป็นคุณ   เรื่องราวในบทที่ ๖ จะบอกเราว่า วิธีการใช้การสอบและการเตรียมสอบให้เกิดความสนุก ไม่เครียด และพร้อมที่จะเข้าสอบ ทำอย่างไร   ท่าทีของครูที่ใช้การสอบช่วยการเรียนรู้ของศิษย์เป็นอย่างไร   ครูเรฟ ได้ใช้การฝึกทำข้อสอบเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้ ให้ศิษย์มีความรู้ที่แจ่มชัดไม่คลุมเครือ และมีทักษะในการคิดอย่างลึกซึ้งและซับซ้อน (critical thinking) โดยไม่ต้องเอ่ยถึงคำเหล่านี้    โดยนักเรียนต้องอธิบายทุกคำตอบ ว่าทำไมคำตอบนั้นจึงเป็นคำตอบที่ถูก และอธิบายทุกคำตอบอื่นๆ ว่าเพราะเหตุใดจึงผิด   รวมทั้งจะมีการฝึกหาคำตอบ และฝึกตั้งคำตอบลวงด้วย   เท่ากับเตรียมพร้อมจับผิดข้อสอบไว้ล่วงหน้า   จะเห็นว่าเรื่องการสอบกลายเป็นเรื่องสนุกสนานสำหรับนักเรียน ป. ๕ ของครูเรฟ   โดยที่ครูเรฟ มองคุณค่าของการฝึกแก้ปัญหาไปไกลกว่าการสอบ แต่มองไปที่การได้ทักษะในการมองสิ่งต่างๆ อย่างละเอียดลออ รู้เท่าทัน และมีทักษะในการเผชิญปัญหาอย่างมีสติและมีปัญญา   การเรียนรู้เกี่ยวกับการสอบเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ทักษะชีวิตในสายตาของครูเรฟ

 และที่สำคัญที่สุดคือ ครูต้องชี้ให้ศิษย์เข้าใจข้อจำกัดของข้อสอบและการสอบ   ข้อสอบเป็นเพียงการทดสอบขั้นต่ำ   นักเรียนที่ต้องการเรียนรู้เพื่อปูทางชีวิตที่ดีในอนาคตต้อง เรียนรู้อีกหลายอย่างที่ไม่มีการสอบ   และครูก็ต้องจัดให้ศิษย์ได้เรียนและเห็นคุณค่าของ สิ่งเหล่านั้น   อันได้แก่ความมีน้ำใจ ความมีวินัย ความอดทน ความอดกลั้น ความซื่อสัตย์ ความขยันขันแข็ง ฯลฯ

ครูเรฟตีคุณค่าของการเรียนรู้ที่ตนจัดให้แก่ศิษย์ ชั้น ป. ๕ อายุ ๑๐ ขวบ ไว้ในหนังสือเล่มนี้   อธิบายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่าการเรียนรู้ที่ถูกต้องสำหรับเด็กวัยนี้คืออะไร   และผมตีความว่า คำตอบคือ   การเรียนเพื่อสร้างบุคลิกความเป็นคนดีของสังคม หรือความเป็นพลเมืองดี สำคัญยิ่งกว่าการเรียนวิชา

การฝึกทักษะ และอิทธิบาทสี่ ในการทำเพื่อผู้อื่น มีอยู่เต็มไปหมดในหนังสือเล่มนี้   เป็นการฝึกด้วยการลงมือทำ   โดยที่ไม่จำเป็นต้องเอ่ยคำว่าจิตอาสา   ผมจับประเด็นนี้ได้ตอนอ่านเรื่องวงดนตรีเพลงคริสต์มาส และโครงการเลี้ยงอาหารโลกแก่คนไร้ที่อยู่อาศัย   การฝึกฝนทำงานจริงจังต่อเนื่องตลอดปี เพื่อทำงานแก่คนไร้ที่อยู่อาศัยวันเดียว เป็นการฝึกฝนที่สุดยอดสำหรับผม คือฝึกความมีความมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อเป้าหมายระยะยาว   คุณสมบัตินี้เป็นทักษะชีวิตที่สำคัญยิ่ง  

โปรดสังเกตว่า ห้อง ๕๖ ของครูเรฟ ไม่ใช่เป็นแค่ชั้นเรียนของนักเรียน ป. ๕ เท่านั้น   นักเรียนที่ผ่านขึ้นไปเรียนชั้นสูงขึ้นไป แม้ถึงขั้นมัธยม ก็ยังมาเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อการฝึกฝนตนเอง เช่นกิจกรรมเลี้ยงอาหารโลก  ครูเรฟไม่ได้เป็นครูของนักเรียนเพียงปีที่เรียนชั้น ป. ๕ เพียงปีเดียว   แต่ยัง “สอนแบบไม่สอน” แก่ศิษย์ที่เรียนชั้นสูงขึ้นไปแล้ว แต่ยังสนุกที่จะมาเรียนจากการปฏิบัติร่วมกับครูเรฟ    

การเรียนรู้ในโรงเรียนไทย เกือบทั้งหมดยังมุ่งที่สาระความรู้   ยังไปไม่ถึงการพัฒนาทักษะ ที่เป็นทักษะที่ซับซ้อน ที่เรียกว่า “ทักษะสำหรับศตวรรษที่ ๒๑”   หากสภาพเช่นนี้ยังดำรงต่อไป คนไทยในอนาคตจะ “โง่ทั้งชาติ”   และจะตามชาติอื่นไม่ทัน  ถือเป็นความท้าทายหรือความเสี่ยง หรืออาจเรียกในภาษาทหารว่าเป็น “ปัจจัยเสี่ยงด้านความมั่นคงของชาติ” ที่เรายังไม่รู้สึก

ผมจึงขอตั้งความหวังว่า หนังสือเล่มนี้จะช่วยปลุกให้ผู้รับผิดชอบการศึกษาไทยตื่นขึ้นมาดำเนินการ “ปฏิรูปการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ ๒๑” อย่างจริงจังเสียที   มิใช่ปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองอย่างปลอมๆ เช่นที่กำลังดำเนินการอยู่

 

วิจารณ์ พานิช

๓ สิงหาคม ๒๕๕๔

หมายเลขบันทึก: 456433เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2011 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยครับอาจารย์..ขอบคุณครับผม

ขอบคุณมากครับ ผมได้ความเข้าใจชีวิตของ "ครู" ดีขึ้นมากจากหนังสือเบ่มนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท