จิตวิทยาการเรียนรู้สำหรับครูเพื่อศิษย์ : ๔. ความเข้าใจคือความจำจำแลง สู่การฝึกตนฝนปัญญา


          หนังสือ Why don't students like school? เขียนโดยศาสตราจารย์ Daniel T. Willingham ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการเรียนรู้แห่งมหาวิทยาลัย เวอร์จิเนีย บททึ่ ๔ เรื่อง Why is it so hard for students to understand abstract ideas?  และบทที่ ๕ เรื่อง Is drilling worth it?
 
          เรื่องที่เป็นนามธรรมยากต่อความเข้าใจ   สมองสร้างมาสำหรับเข้าใจสิ่งที่เป็นรูปธรรม
 
          ความเข้าใจเกิดจากการเอาความรู้เดิมมาใช้แก้ปัญหา หรือประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่ (knowledge transfer)   แล้วเกิดความรู้ใหม่ หรือขยายความรู้เดิม   ระดับความเข้าใจจะเป็นระดับตื้นหากโครงสร้างความคิดเป็น surface structure   ระดับความเข้าใจจะเป็นระดับลึก หากโครงสร้างความคิดเป็น deep structure คือคิดในระดับความหมาย (meaning)
 
          เป็นหน้าที่ของครูเพื่อศิษย์ ที่จะฝึกศิษย์ เตรียมความพร้อมให้เข้าใจลึก โดยทำแบบฝึกหัดจับกลุ่ม categorize สิ่งของ, คู่เหมือน คู่ตรงกันข้าม เปรียบเทียบ   แบบฝึกหัดที่สนุกคือเล่นเกม อย่างที่ครู Rafe ฝึกให้ศิษย์ของตนเล่น ซึ่งอ่านบันทึกย่อได้ที่นี่

 

          ต้องเน้นความเข้าใจระดับลึก ในการออกแบบการเรียนรู้ ในการสื่อสาร ในการออกข้อสอบเพื่อทดสอบการเรียนรู้ และในการให้การบ้าน   ระมัดระวังไม่หยุดอยู่แค่ความเข้าใจระดับตื้น
 
          อย่ารังเกียจความรู้ระดับตื้น รู้บ้างดีกว่าไม่รู้เลย แต่ต้องไม่ย่อท้อที่จะช่วยให้ศิษย์เรียนรู้ความรู้ระดับลึก ซึ่งอาจต้องค่อยๆ พัฒนา บางคนอาจช้า บางคนเร็ว อาจใช้เวลาเป็นปีหรือหลายปี กว่าเด็กจะมีทักษะการคิดในระดับลึก
 
          การฝึกทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์  ทักษะพื้นฐานทางการเขียน (เรียงความ ย่อความ) มีประโยชน์ ๓ ประการ

 


           ๑. ได้ทักษะคิดลึก ได้ความรู้ที่ลึก
           ๒. ป้องกันลืม
           ๓. ช่วยการนำไปใช้ในสถานการณ์อื่นๆ (transfer)
 
          จะคิดเก่งต้องขยาย working memory โดยการฝึกฝนจนเกิดสภาพอัตโนมัติ คิดโดยไม่ต้องคิด หรือคิดอย่างเป็นอัตโนมัติ
 
          ตามปกติพื้นที่ของ working memory มีจำกัด  มีบางคนที่เกิดมาโชคดี สมองส่วนนี้ใหญ่ คือคนสมองดีหรือฉลาดนั่นเอง  แต่เด็กธรรมดาทั่วๆ ไปก็สามารถขยายพื้นที่ของ working memory ได้โดยการฝึกฝนอย่างหนัก   เป้าหมายสำคัญของการศึกษาคือการขยายพื้นที่ของ working memory ในสมองของเด็กทั้งประเทศ
 
          การเรียนแบบฝึกฝน 21st Centuryc Skills คือ 7C + 3R เป็นการฝึกฝนเพื่อขยาย working memory และฝึก deep thinking ไปในเวลาเดียวกัน
 
          น่าเสียดายที่ในช่วงเวลา ๕๐ ปีที่ผ่านมาการศึกษาไทยได้เลิกเรียนวิชาเรียงความ และวิชาย่อความ   ทำให้ทักษะการเขียนและการจับใจความใน working memory มีน้อยหรืออ่อนแอมาก   คนไทยสมัยใหม่จึงด้อยด้านการสื่อสารด้วยการเขียน และด้อยด้านการจับใจความเรื่องยาวๆ   ความอ่อนด้อยนี้มีผลต่อชีวิตอย่างมากมาย แต่มักไม่รู้ตัว
 
          คนที่มืพื้นที่ของ working memory แคบ จะสับสนง่ายเมื่อเผชิญเรื่องราวที่ซับซ้อน หรือหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน
 
          ผมคิดต่อเอาเองว่า คนที่ไม่รู้จักปัดกวาด working memory ปล่อยให้รก   คือมีเรื่องยุ่งๆ ในหัวค้างอยู่  จะทำงานต่างๆ ได้ไม่ดี  เพราะสมองไม่ว่าง   ทักษะในการปัดกวาดสมองให้ว่างและแจ่มใสอยู่ตลอดเวลาเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญยิ่ง  และเป็นโจทย์หรือแบบฝึกหัดที่ผมบอกให้ตนเองทำ หรือฝึกอยู่ตลอดชีวิต
 
          จะเห็นว่าการขยาย และปัดกวาด working memory เป็นแบบฝึกหัดที่ทั้งนักเรียน ครู และทุกๆ คนต้องฝึกฝน   ผมมีความเชื่อ (ไม่ทราบว่าถูกหรือผิด) ว่าถ้าไม่ฝึก พื้นที่ของ working memory ของตนเองจะหดแคบลง และรก   ทำให้สมองไม่ดี
 
          มีวิธีวัด working memory capacity, และวิธีวัดความสามารถในการคิด และพบว่าคะแนนของการทดสอบ ๒ ชนิดนี้ไปด้วยกัน   ความรู้นี้ ทำให้ผมตั้งคำถามว่า ทำไมเราไม่วัดผลการศึกษาด้วยการวัด working memory capacity  และให้น้ำหนักของส่วนนี้สัก ๕๐%  และให้น้ำหนักการทดสอบสาระวิชาเพียง ๕๐%
 
          ที่จริง ศ. Willingham เขียนว่าไม่มีวิธีฝึกเพื่อขยายพื้นที่ของ working memory  แต่การฝึกจะช่วยให้ใช้พื้นที่ของ working memory ที่มีจำกัดนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล   โดยวิธี chunking คือมัดรวมเรื่องหลายๆ เรื่องเข้าไว้ด้วยกัน เช่นมัดรวมชื่อสัตว์ ๑๐ ชนิดไว้ด้วยกัน ก็จะกินพื้นที่ของ working memory เพียง ๑ ส่วน แทนที่จะเป็น ๑๐ ส่วน   และอีกวิธีหนึ่งคือการทำให้หลายๆ กิจกรรมทางความคิดเกิดขึ้นโดยไม่กินพื้นที่ของ working memory  คือเกิดขึ้นอย่างเป็นอัตโนมัตินั่นเอง
 
          การฝึกฝนมีเป้าหมาย ๒ ระดับ ระดับแรกคือให้พอทำเป็น (minimum competence)  และระดับที่ ๒ คือให้ชำนาญ (proficiency)
 
          การฝึกฝนต่อเนื่องหลังจากทำได้เป็นอย่างดีแล้ว เป็นเรื่องน่าเบื่อ และคนทั่วไปมองไม่เห็นประโยชน์ ไม่คุ้มค่ากับเวลาและความพยายาม   แต่จริงๆ แล้วนี่คือดินแดนแห่งความเป็นเลิศเหนือคนทั่วไป ดังที่ Malcolm Gladwel เสนอไว้ในหนังสือ Outliers
 
          การคิด ความเข้าใจ ความจำที่ลึกซึ้งและเชื่อมโยง อย่างเหนือธรรมดา มาจากการฝึกฝนเคี่ยวกรำตนเอง   แต่การฝึกจำไม่เลือกเรื่อง น่าจะเปล่าประโยชน์และไม่ฉลาด  การเลือกจำเฉพาะเรื่องสำคัญ ที่เป็นความรู้พื้นฐานต่อเรื่องอื่น จึงน่าจะถูกต้อง
 
          ควรฝึกฝนต่อเนื่องโดยทิ้งช่วงพอประมาณ   บ่อยเกินไปไม่จำเป็น ห่างเกินไปอาจไม่ได้ผลเพิ่มพูน  ควรฝึกฝนทักษะที่สูงขึ้น   จะเห็นว่าการฝึกฝนต้องการโค้ชที่มีความสามารถ ยิ่งหากต้องการฝึกฝนสู่ระดับเป็นเลิศ ยิ่งต้องการโค้ชที่เข้าใจนักเรียนเป็นรายคน  และเป็นโค้ชที่มีความสามารถพิเศษ ดังระบุไว้ในหนังสือ Outliers   และครูเพื่อศิษย์สามารถทำหน้าที่เป็นโค้ช เคี่ยวกรำศิษย์ให้เรียนรู้สู่ระดับความคิดและทักษะขั้นสูงตามระดับพัฒนาการของตน   โดยที่ศิษย์มีความสุขกับการเคี่ยวกรำนั้น   เพราะสมองของศิษย์ได้รับรางวัลตลอดระยะเวลาของการเคี่ยวกรำนั้น
 
          ความจำที่สุดยอดคือจำเข้าไปในระบบอัตโนมัติของร่างกาย ดึงออกมาใช้ได้โดยไม่ต้องผ่านการคิด  ความจำกับทักษะและปัญญากลายเป็นสิ่งเดียวกัน
 
 
 
วิจารณ์ พานิช
๒๔ ม.ค. ๕๔
                  
                      

 
หมายเลขบันทึก: 426059เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2011 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2018 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิจารณ์

ขอบคุณมากๆ นะคะ ที่อาจารย์ได้ชี้จุดและเสนอจุดที่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเรียนรู้ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเรียนด้วยการมีผู้สอนหรือเรียนด้วยตนเอง แนวคิดทำให้เราเรียนรู้จะต้องฝึกฝนตนเองอย่างไร เพื่อออกแบบการเรียนรู้ให้ตัวเองในสิ่งที่ต้องการพัฒนาตนเอง

ขอบคุณมากๆ นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท