ชีวิตที่พอเพียง : ๗๗๑. สนุกกับการสอนแบบไม่สอน


          วันที่ ๓ มิ.ย. ๕๒ ผมบินไปนครศรีธรรมราช    เพื่อไปสอนนักศึกษาแพทย์ปี ๑ ที่ มวล. ในวิชาแพทย์กับสังคม   ช่วง ๓ ชม. ที่ผมสอนเรียกว่าช่วงเรียน เวชจริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์    ตามที่เล่าไว้แล้ว
          ระหว่างเดินจากอาคารเรียนรวม ๑  ไปอาคารเรียนรวม ๓   เวลาประมาณ ๑๐ น. ใน มวล. ผมบอกนักศึกษาว่าคนกรุงเทพไม่มีสิทธิพิเศษที่จะได้หายใจอากาศที่สดชื่นอย่างนี้   ช่วงนั้นอากาศสดชื่นจริงๆ    ทำให้ผมระลึกชาติกลับไปเมื่อประมาณ ๑๐ ปีก่อน ช่วงที่ผมไปรักษาการอธิการบดีที่นั่นอยู่ ๔ เดือน   ผมมีความสุขมากกับการวิ่งออกกำลังตอนเช้าตรู่ในบรรยากาศที่ธรรมชาติสวยงาม    และอากาศบริสุทธิ์เหมือนวันนี้ 
          ช่วงเช้าผมได้มีโอกาสฟังการบรรยายของ ศ. แสวง บุญเฉลิมวิภาส กับ ผศ. นพ. ประเสริฐ วศินานุกร เรื่อง กฎหมายกับแพทย์ และ แพทย์กับสังคม    ได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับแพทย์ในปัจจุบัน ที่ผมรู้น้อยมาก   เพราะผมเป็นหมอที่ไม่ประกอบวิชาชีพแพทย์มานานกว่า ๓๐ ปี
          ตกบ่าย เป็นช่วงที่ผมทำหน้าที่ “สอนแบบไม่สอน”   คือกล่าวนำเพียงสั้นๆ ให้ นศพ. เข้าใจว่า ทั้งเรื่องจริยธรรมและเรื่องความสามารถในการคิดนั้น   การสอนได้ผลน้อยมาก   ที่จะได้ผลคือแต่ละคนต้องเรียนเอง เรียนตลอดชีวิต เรียนจากชีวิตจริง    แต่ละคนต้องสอนตนเอง เตือนสติตนเอง    การเรียนในช่วงนี้จะไม่เน้นเรียนสาระ แต่จะเน้นการฝึกความสามารถในการเรียน    หรือฝึกทักษะในการเรียน   ผ่านการประชุมกลุ่มแบบใช้หมวก ๖ ใบ โดยสมมติว่าจะหารือกันเรื่อง “การจัดงานรับน้องใหม่ปีหน้า”   ตามที่เล่าไว้แล้ว    โดยให้เวลาประชุมกลุ่มเพียง ๔๐ นาที    แล้วให้ผู้แทนแต่ละกลุ่มนำเสนอต่อเพื่อนทั้งห้อง (๔๘ คน  เป็นชายเพียง ๑๔ คน) กลุ่มละ ๕ นาที
          ปรากฎว่าการประชุมกลุ่มมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงมาก    มีทั้งความริเริ่มสร้างสรรค์และความรอบคอบในการวางแผนรับน้องใหม่ปีหน้า  
          เรามีเวลาเหลือครึ่งชั่วโมงสำหรับการทบทวนบทเรียน (reflection หรือ AAR) ว่าเครื่องมือหมวก ๖ ใบ ช่วยให้เกิดพลังของการคิดรวมหมู่ ทำให้เกิดการคิดร่วมกันแบบ critical thinking อย่างไร   นศ. ได้ร่วมกันสะท้อนการเรียนรู้จากการปฏิบัติอย่างคึกคักมาก   ทำให้อาจารย์ผู้ไม่สอนได้สนุกไปด้วย   Narrated PowerPoint ของการสอนแบบไม่สอนอยู่ที่นี่         

          ผมมีข้อสังเกตว่า นศพ. ที่นี่ไม่มีแฟชั่น “เสื้อคับ-กระโปรงมินิ” เลย น่าชื่นชมจริงๆ    

วิจารณ์ พานิช
๔ มิ.ย. ๕๒

ประชุมกลุ่มอย่างง่ายๆ ในห้องบรรยาย

ประชุมกลุ่ม

นำเสนอผลการประชุมกลุ่ม

การนำเสนอของอีกกลุ่มถ่ายให้เห็นการแต่งกายของนักศึกษาที่น่าชื่นชม

หมายเลขบันทึก: 267417เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2009 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 07:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ตามมาเรียนรู้ด้วยคนครับ
  • น่าชื่นชมการแต่งกายของนักศึกษานะครับ
  • การให้ระดมความคิด
  • นักศึกษาได้เรียนรู้มากกว่าสอน
  • เราผู้สอนก็ได้เรียนรู้ไปกับนักศึกษาด้วย
  • ขอบคุณครับ
เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

"สอนแบบไม่สอน" น่าสนใจมากครับ

เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

"สอนแบบไม่สอน"

นึกถึงปรัชญา Zen เลยครับ

ใช้ "โกอาน" เพื่อค้นหา "ใบหน้าที่แท้จริง" ของตัวเรา

"สอนให้เรียนรู้ด้วยตนเอง สอนให้เรียนรู้ตลอดชีวิต"

นึกถึงสุภาษิตโบราณที่บอกว่า

"การช่วยเหลือผู้ยากไร้ ไม่ใช่เพียงการหาปลาให้ทาน แต่ต้องสอนการจับปลาด้วย"

ขอบคุณสำหรับ "ความรู้ดีๆ" ที่มีมาทุกเช้าครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท