ชีวิตที่พอเพียง : ๕๖๒. ประวัติศาสตร์บอกเล่าชาวชุมพร


ดังได้เล่าในตอนที่แล้ว ว่าน้องชายคนที่ ๔ ของผม (นับผมเป็นคนที่ ๑) ชื่อนายวิเชียร พานิช อายุ ๕๖ ปี เป็นคนสนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชุมพร เชื่อมโยงกับประวัติต้นตระกูลของตน ได้ศึกษาค้นคว้าจากเอกสารโบราณ และวัตถุโบราณ ของตระกูลที่เก็บไว้ที่บ้าน และซักถามจดจำจากบรรพบุรุษ/สตรี หลายท่าน ได้เล่าให้ลูกสาวของผม นส. มุทิตา พานิช และผม เมื่อคืนวันที่ ๖ ธ.ค. ๕๑ และลูกสาวได้ใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค บันทึกไว้ และผมได้เป็นผู้ตรวจแก้ไข โดยให้ยังคงอรรถรสของการบันทึกประวัติศาสตร์บอกเล่า เอามาบันทึกไว้ดังต่อไปนี้ หากจะมีข้อความพาดพิงถึงผู้ใด หรือบรรพบุรุษของผู้ใด ในเชิงลบ ก็ขออภัยไว้ด้วย เป็นการบันทึกเรื่องราวไว้เป็นความรู้แก่อนุชน ไม่มีเจตนากล่าวร้ายแก่ผู้ใดทั้งสิ้น และท่านผู้อ่านพึงอ่านด้วยวิจารณญาณว่านี่เป็นเรื่องที่เล่าต่อๆ กันมา ประกอบกับหลักฐานบางอย่าง อาจมีความจำกัดด้านความแม่นยำในบางตอน
คำเรียกญาติต้นตระกูลจะใช้คำเรียกของคนรุ่นน้องชาย (และผม) เพื่อไม่ให้สับสน

ต้นตระกูลที่ตั้งตัวจากจังหวัดชุมพร

ได้แก่ตระกูล เลาหเรณู กาญจนจารี ศรียาภัย ประจวบเหมาะ อังศุสิงห์ เจริญพานิช
ตระกูลกาญจนจารีไม่มีสมบัติเหลือที่ปากน้ำแล้ว ขายหมด เดิมทวดให้อยู่ตรงนั้น ข้างๆก็ที่ ของทวดเหมือนกัน มีที่เยอะมากที่ปากน้ำ อ่านในพินัยกรรมก็รู้ (ทวดคือหลงจู๊กีหยง แซ่อึ่ง ต้นตระกูลบุษราทิจ)
มีไม่กี่ตระกูลที่เป็นเศรษฐีใหญ่
ต้นตระกูลกาญจนจารี คือขุนอารีราชกิจ ส่งลูกชาย ๒ คนไปเรียนที่สิงคโปร์ และต่อมาไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา คือนายเทียม กับ นายซิว กาญจนจารี

ต้นตระกูลเจริญพานิช ชื่อ ขุนประชุมชลมุข (สุน แซ่เล็ก) เป็นคนตั้งปากน้ำชุมพร ตั้งแต่มีคน ๓ ครัวเรือน มาจากสมุทรสงคราม มาจับปลาได้มากจึงชักชวนคนมาตั้งบ้านเรือน มีลูกคนเดียวคือคุณอู๊ด ต่อมาเป็น ขุนพิพัฒน์พานิช ร. ๖ พระราชทานนามสกุลว่า เจริญพานิช ร่ำรวย มาก มีที่ดินมากมายแถวปากน้ำชุมพร คุณอู๊ดไปขอย่าทรัพย์ แต่ทวดหยงไม่ให้ เพราะคุณอู๊ดเป็นคนแต้จิ๋ว ศักดิ์ต่ำกว่าคนฮกเกี้ยน ต่อมาย่าทรัพย์จึงหนีไปอยู่กับคุณอู๊ด และ ถูก พ่อแม่โกรธอยู่นาน และไม่ได้รับมรดกของตระกูล ขุนพิพัฒน์พานิชเป็นคนเก่ง สร้างความเจริญให้แก่ปากน้ำชุมพรมาก แต่อายุสั้น เสียชีวิตตั้งแต่อายุ ๓๘ หากมีชีวิตยืนนานอาจทำให้จังหวัดชุมพรมีที่ตั้งของตัวจังหวัดอยู่ที่ปากน้ำ ทำให้ลักษณะของจังหวัดชุมพร เป็น คล้ายจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เมื่อมีทางรถไฟผ่านสถานีรถไฟไม่ได้อยู่ในตัวจังหวัด แต่อยู่ที่อำเภอพุนพิน และจังหวัดอุบลฯ ที่สถานีรถไฟอยู่ที่อำเภอวารินชำราบ ที่ปากน้ำมี ฮวงซุ๊ยของขุนประชุมชลมุข และของขุนพิพัฒน์พานิช อยู่ที่เชิงเขาหลังเมือง และมีประวัติจารึกไว้ที่ปากน้ำด้วย
หลานปู่คนหนึ่งของขุนพิพัฒน์พานิช ชื่อพินิจ เจริญพานิช เวลานี้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม

ต้นตระกูลฝ่ายย่า (นางคุ้ม บุษราทิจ พานิช)
เอกสารเก่าสุดของแม่แก้ว (น่าจะประมาณ ร.๑ – ๒) เป็นญาติสูงสุดที่สืบได้
เป็นคนกรุงเทพที่สามีมารับราชการที่ชุมพร เล่ากันว่าเป็นลูกหลานขุนนางกรุงเก่า (อยุธยา) สายแม่แก้วมีเครื่องยศขุนนางเป็นหลักฐาน (หอกดาบ หมวก โล่ พระราชทาน - มีเก็บอยู่ที่บ้านน้องชาย) ไม่รู้ว่ายศชั้นไหน เข้าใจว่าสามีมาปราบพม่าสมัย ร. ๑ ให้อยู่เป็นฝ่ายปกครองเมือง (ปลัดเมือง) (แต่ไม่ใช่เจ้าเมือง) ดูจากศักดินา (นา) จะขนานกับที่นาของเจ้าเมือง สมัย ร. ๑, ๒ ที่นาเป็นของกษัตริย์หมด ได้แบ่งก็เฉพาะขุนนาง

แม่แก้วมีลูกสามคนเป็นผู้หญิงหมด แม่ร่ม แม่รื่น แม่ร่อน แม่ร่อนมีสามีเป็นพระยา ก็เลยได้เป็นคุณหญิง ที่ชื่อร่อน เพราะเกิดสมัยศึกพม่า ต้องเร่ร่อนหนีพม่าไปเกิด
สันนิษฐานว่าสามีแม่แก้วมารับราชการก่อนเกิดศึกพม่าครั้งสุดท้าย
แม่ร่มมีลูกคนเดียวชื่อแม่มาก เป็นสายบรรพบุรุษตระกูลพานิช
แม่รื่นไม่ปรากฏหลักฐานลูกเต้า
คุณหญิงร่อน สามีเป็นเจ้าเมืองบางสะพานคนแรก สมัย ร. ๓ ร. ๓ ตั้งเมืองจัตวาใหม่สองเมือง เมืองระนอง กับเมืองกำเนิดนพคุณ ขึ้นกับเมืองชุมพร (เมืองชั้นตรี) สามีคุณหญิง ตอนแรกเป็นพระกำเนิดนพคุณ เป็นลูกพระยาซุ่ยเจ้าเมืองชุมพร พระกำเนิดฯ มีความดีความชอบ เข้าใจว่าขุดทองได้ ที่บางสะพานมีทองเยอะ ได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยา
ต่อมาเมืองไชยา (ชั้นตรี) เจ้าเมืองตาย พระยากำเนิดนพคุณได้ไปครองเมือง มีลูก พระยาไชยา (ขำ) ครองเมืองไชยาต่อ
เจ้าเมืองไชยาก่อนพระยากำเนิดฯ เป็นคนเชียงใหม่ สมัยก่อนทางใต้ถูกพม่าเผา เลยต้องเอาคนมาจากในกรุง
พระยาไชยา (ขำ) ได้รับเรียกเข้ากรุงเป็น พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) เป็นต้นกำเนิดตระกูลศรียาภัย

แม่มากได้สามีเป็นคนจีนชื่อ นายยิด แซ่อึ่ง มาจากเมืองจีน เป็นจีนฮกเกี้ยน มีลูกสามคน กี่หยง (ชาย), แช่ม (หญิง), ช้อย (หญิง)
นายยิดตายตั้งแต่กี่หยงหกขวบ แม่มากพาลูกสามคนไปพึ่งน้า (คุณหญิงร่อน) ที่เมืองไชยา ไปอยู่ ๑๔ ปีจนลูกคนโตครบบวช เลยกลับมาอยู่ท่ายาง นายกี่หยงแต่งงานกับนางเลี่ยน แซ่เล่า (ภาษาฮกเกี้ยน ภาษาแต้จิ๋ว แซ่เล้า) มีลูกคือ จิ๋น (หญิง), คุ้ม(ญ), กัน(ญ), กี้ (ช), ทรัพย์ (ญ) นายกี่หยงทำอากรยาฝิ่นที่บ้านดอน ได้ภรรยาอีกคน ชื่อ วันเลี่ยน มีลูกหนึ่งคนชื่ออ๋อง (ช) นางเลี่ยนรู้ว่ามีเมียน้อย ก็ให้เอาลูกเมียน้อยมาเลี้ยง
นางคุ้มแต่งกับนายเสี้ยง พานิช มีลูกออกมาเป็นพ่อ (นายดำริ พานิช)
ตอนตั้งนามสกุลทวดกี่หยง มีคนตั้งนามสกุลให้ว่าบุษราทิจ เพราะ ยิด แปลว่าพระอาทิตย์ แซ่อึ่ง แปลว่าสีเหลือง บุษราคัม คือพลอยสีเหลือง
นายยิด แซ่อึ่งอ่านหนังสือไม่ออก ทำบัญชีโดยใช้เชือกผูกเป็นปม ดูระยะห่างของปม ก็จะรู้ว่าเท่าไร บัญชีของแต่ละเจ้าก็เชือกแต่ละมัด

ต้นตระกูลฝ่ายปู่เสี้ยง (นายเสี้ยง พานิช)


นายยี่กอ แซ่คอ
(สำเนียงฮกเกี้ยน แต้จิ๋วคือ แซ่โค้ว) มาจากเมืองจีน เมืองโผวเล้ง มณฑลกวางตุ้ง มาอยู่ไชยา ตอนนั้นเป็นเมืองชั้นตรี ตัวเมืองอยู่ที่พุมเรียง ได้กับนางจีน (คนไทยเชื้อจีน) บ้านนายยี่กอที่เมืองจีนอยู่ห่างบ้านของคอซู่เจียง กี่โผวโล้ว (โผวโล้ว เป็นมาตราบอกระยะทาง) ก็ไม่รู้ คอซู่เจียงมาอยู่ที่ระนอง เป็นกรรมกรหาบแร่ที่ระนอง นายคอซู่เจียงได้เป็นพระยาระนอง เรียกกันว่าพระยาระนองเฒ่ากินข้าวหมู มีไม้คานหาบแร่เอาไปเลี่ยมทอง เป็นที่ระลึก แรกเข้ามาเมืองไทยเป็นกรรมกร ขยันมาก โรงอาหารเอาอาหารไปเทให้หมูแล้ว เลยต้องไปกินข้าวหมู เดิมเป็นกรรมกร ต่อมาเป็นเถ้าแก่ค้าแร่ เถ้าแก่คอซู่เจียงก็เลยได้เป็นเจ้าเมืองระนอง (ต้นตระกูล ณ ระนอง) มีเมียหลายคน ลูกหลายคน เป็นเจ้าเมืองหลายเมือง คนที่ดังที่สุด คอซิมบี๊ ณ ระนอง เจ้าเมืองตรัง (พระยารัษฎานุประดิษฐ์) อ่านหนังสือไม่ออก
นายคอยี่กอความรู้ดี เป็นไส้หู้ ทำหน้าที่คนปรุงเหล้าให้โรงต้มเหล้าของเจ้าเมืองไชยา ต้องทำให้เหล้ารสเหมือนกันทุกขวดในแต่ละชนิด ต้องชิมเหล้า เลยติดเหล้า ตายเมื่ออายุยังน้อย (คำว่า ไส้หู้ น่าจะตรงกับหน้าที่ช่างเทคนิค หรือช่างผู้เชี่ยวชาญ)
นางจีนพิการปากแหว่ง มีลูกสามคน เป็นชายล้วน เซี้ยง เสี้ยง อั้น
นางจีนมีพี่ชายคนหนึ่ง บวชตั้งแต่หนุ่ม ความรู้ดี เป็นสมภารวัดพุมเรียง ชื่อพ่อท่านอุ เดิมยังไม่เป็นสมภาร เป็นพระอุ นายยี่กอตาย ลูกสามคนไปอยู่วัด เพื่อเรียนหนังสือ นางจีนอาชีพค้าขาย ออกเงินกู้ ลูกทุกคนโตที่วัด
นายเสี้ยงบวชเณรตั้งแต่แปดขวบ พอยี่สิบปีก็บวชพระ หลวงลุงอุได้เป็นสมภารต่อจากองค์ก่อนถึงแก่มรณภาพ พ่อท่านอุมรณะ พระเสี้ยงก็รักษาการเจ้าอาวาส แต่ไม่ชอบเลยไปอยู่วัดปทุมคงคาที่กรุงเทพฯ เพราะลายมือสวยความรู้ดี ได้เป็นเลขา (พระใบฎีกา) เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา พระเสี้ยงเป็นที่เกรงใจของพระอื่นๆ บวชจนอายุสี่สิบก็สึก (บวชอยู่ยี่สิบแปดปี) มาทำงานกับพระยาวจี สัตยารักษ์ เจ้าเมืองไชยา พระยาวจีให้มาอยู่ท่ายาง คุมเรือบรรทุกรังนกไปขายสิงคโปร์ ตำแหน่งจุ้นจู๊ (ผู้จัดการสินค้าในเรือ) ปู่เสี้ยงเอาของใหม่ๆจากสิงคโปร์กลับมา มีพันธุ์ไม้แปลกๆ เช่น ต้นเชอรี่ด้วย

พระยาวจีฯ เป็นเจ้าของสัมปทาน (สมัยนั้นเรียกว่านายอากร) ทำรังนก ให้นาย กี่หยง บุษราทิจ เป็นหลงจู๊ (ผู้จัดการ) พระยาวจีฯ ขอลูกสาวของนายกี่หยงให้นายเสี้ยง หลงจู๊กี่หยงร่ำรวยมาก หนังสือเล่าไว้เมื่อวัยสนธยา บอกว่านายเสี้ยงได้ลูกคนมีอะไรต่ออะไรที่ชุมพร นาย กี่หยงเป็นเศรษฐีอันดับหนึ่งของชุมพร ร่ำรวยมาก
สมัยแม่มากเป็นผู้ดีตกยาก นายกี่หยงประกอบอาชีพทำมาค้าขาย มีเรือไปแลกสินค้าที่ท่าแซะ เอาของมาจากเรือสำเภาไปแลกข้าว พอมาทำงานให้พระยาวจีก็รวย เพราะได้เงินเดือนสองร้อยบาท ตอนนั้นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เงินเดือนยี่สิบบาท

ทวดเลี่ยนไม่มีอะไรเลย เพราะเตี่ยทำธุรกิจเจ๊ง ไม่มีสมบัติ แม่ของทวดเลี่ยนได้สามีใหม่ที่หลังสวน มีลูกอีกหลายคน เตี่ยหนีหนี้ภาษีผูกอากรของหลวงเยอะ พาแม่หนี ทิ้งเมียไว้หลังสวน ทวดเลี่ยนหนีมากับย่ากับเตี่ย ย่าแก่ ไม่มีฟัน ต้องบดข้าวให้ย่ากิน ต้องอยู่ป่าหลบอากร ไม่มีเครื่องมือบดข้าว เลยเคี้ยวแล้วคายให้กิน มาถึงท่ายางอยู่กับเตี่ยของทวดเพี้ยน (พ่อของแม่ดัด – นามสกุลเดิม เลาหเรณู นามสกุลแต่งงาน ประจวบเหมาะ)
บ้านเราบ้านเดียวที่ไม่สนิทสนมกับครอบครัวของแม่ดัด เพราะพ่อ (นายดำริ) เกิดตอนฐานะทางบ้านยากจนลง เกรงว่าคนรวยจะดูถูก อามัย อานวย ย่าทรัพย์ สนิทสนมกับพวกแม่ดัดมาก มีแต่ทางปู่ไม่ได้ยุ่ง ทำให้พวกเราไม่รู้จักญาติทางแม่ดัดเลย
ทวดหยงทำโรงสีส่งแปะขุ้นไปเรียนวิชาทำโรงสีกับนายมิ่ง เลาหเรณู (พี่คนโตสุดของแม่ดัด แม่ดัดเป็นน้องเล็ก) ทวดเพี้ยนมีลูกหลายคน ส่วนใหญ่ไปค้าขายเพชรบุรี นายมิ่งทำโรงสีใหญ่โตที่เพชรบุรี ลูกสาวนายมิ่งทำแพปลาที่สะพานปลาอันดับหนึ่งชื่อแพเม้งกี่ รู้สึกเป็นลูกสาวคนโตของนายมิ่ง เมียนายมิ่งหนีไปกับคนขับรถ คุณชื่น ศรียาภัย (เป็นคนสร้างอาคารศรียาภัยให้ที่วัดท่าตะเภาเหนือ ) เป็นลูกคนโตของพระยาวจีฯ คุณชื่นได้อิสริยาภรณ์เท่าคุณหญิงแต่ไม่มีสามี จึงเรียก “คุณ” คุณชื่นทำธุรกิจเจ๊งหมด เดิมร่ำรวยมหาศาล เมื่อแก่จนลง คุณชื่นขอเมียใหม่ให้นายมิ่ง เมียใหม่เป็นลูกขุนสมุทรที่สมุทรสงคราม ขุนสมุทรมีนาเยอะ แต่พ่อปู่เนื่องอยู่สมุทรสงครามเหมือนกัน มีนามากกว่า (ปู่เนื่องคือนายเนื่อง สุวรรณเมนะ สามีของย่ากัน ลูกสาวคนหนึ่งของทวดหยง)

พระยาวจีเป็นที่โปรดปรานของร.๖ มาก ร่ำรวยมาก ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นราช ทินนามอื่น แต่ไม่มีชื่อเสียงเท่าราชทินนามพระยาวจีสัตยารักษ์ ผู้รับผิดชอบการให้สัตย์ปฏิญญาณถือน้ำพิพัฒน์สัตยา คุณชื่นใช้จ่ายทรัพย์สมบัติของบิดาหมด ไม่ยอมให้น้องๆ บ้านศรียาภัยแถวสีลมก็ของคุณชื่น (พ่อดำริเล่าว่า) เมื่อก่อนปู่เสี้ยงจะไปที่บ้านศรียาภัยของพระยาวจีฯ ที่ศาลาแดงบ่อย คุณชื่นให้ชมพูมะเหมี่ยว ๑ ลูก บอกว่าอร่อยมาก ให้จุนจู้เอาไปกิน เอาเมล็ดทำพันธุ์ ปู่เสี้ยงเอาเมล็ดมาปลูกที่บ้านท่านางสังข์ เมล็ดของต้นแรกเอามาปลูกที่หน้าบ้านเก่าที่เวลานี้เป็นหน้าบ้านนายวิชิต พานิช
คุณชื่นใช้จ่ายเก่ง ชอบต่อยมวย มาท่ายางบ่อย มาหาน้อง ชื่อ สุย ศรียาภัย ให้คนแถวนี้ชกมวยให้ดู จะเข้าไปหาต้องหมอบกราบ ลุงชิตที่ท่ายางเล่าว่า หากคุณชื่นไม่พอใจ เช่นชกมวยไม่ดี จะถีบ คุณชื่นเป็นคุณ(หญิง) ตราตั้ง (ในหลวง ร.๖ พระราชทาน) คุณหญิงสะอาดไม่ใช่คุณหญิงตราตั้ง ได้ชื่อคุณหญิงเพราะสามีเป็นพระยา คือพระยาพิพิธภักดีอำพล (อังศุสิงห์) เป็นเจ้าเมืองชุมพร พระยาพิพิธฯ เดิมเป็นปลัด (หลวงเรืองรักษาราษฎร์) ชื่อเดิม เผดิม อังศุสิงห์ พ่อชื่อนายอัง (แปลว่า แดง) พระยาพิพิธเดิม เป็นนายอำเภอชุมพร ปราบอั้งยี่ชุมพรสำเร็จ รู้สึกจะเป็นพ่อของอาจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์ (รุ่นน้องนายเขตร ศรียาภัยหนึ่งปี) นายเขตร ศรียาภัยเป็นน้องคนละแม่ของคุณชื่น ลายมือสวย เขียนหนังสือมวยไทยปริทรรศน์ เขียนหนังสือฝรั่งสวยมาก มีหลักฐานหนังสือ ไชยาเป็นเมืองนักมวย พวกศรียาภัยจะชอบมวย

พระยากำเนิดนพคุณไม่รู้มีลูกกี่คน พระยากำเนิดฯ เกิดที่ท่ายาง ที่นาของพระยาซุย (พ่อ) ยังอยู่จนปัจจุบัน นาป้าลังเซี้ยง คือนาพระยาวจีฯ มีเมียคนสุดท้าย ชื่อคุณนายจีบ คุณนายจีบยกที่ให้ป้าลังเซี้ยง ที่ดินจากบ้านป้าเผียนไปไกลน่าจะเป็นนาเจ้าเมืองชุมพรคนแรกกับคนที่สอง (เป็นพี่น้องกัน) ถัดมาเป็นนากรมการเมือง เจ้าเมืองคนที่สาม (พระยาซุย) ได้นาต่อไป ที่นาเหนือ พระยาซุยตาย พระยากำเนิดได้ศักดินาต่อ ไปอยู่ไชยา ศักดินาเก่าเป็นของพระยาวจี กับทวดซุย ต่อมาตกเป็นของแม่แส ระบบศักดินาโบราณมีหลักฐานดูได้จากที่นา

คุณเข่ง ศรียาภัย อยู่ที่ไชยา มีลูกชื่อพระยาอรรถกรมมนตรี (อธิบดีกรมอัยการ) ทำให้คนไชยานิยมไปเรียนกฎหมาย
ทวดหยงทำหน้าที่ผู้จัดการบริษัทรังนกยี่สิบกว่าปีจนอายุหกสิบ ทวดขอลาจากเป็นผู้จัดการ พระยาวจีเห็นความดีความชอบ เลยยกสัมปทานที่สงขลาให้ทำสามปี ให้ทวดซุยน้องสุดท้องพระยาวจีมาเรียนวิธีจัดการกับทวดหยง ทวดหยงให้ลูกเขยคนโต ชื่อนายเจริญ รจนา ไปทำสัมปทาน หลังจากนั้นมาทำโรงสี ให้ลูกหลานทำ
ลูกคนแรกของทวดหยง คือ ย่าจีน สามีคนแรกชื่อเจ๊กเสมียน มาจากเมืองจีน เป็นคนมีความรู้ มาอยู่กับทวดหยง จึงให้ทำงานด้านบัญชีและหนังสือ จึงเรียกกันว่าเจ๊กเสมียน และเจ้านายรัก จึงยกลูกสาวให้ มีลูกคนเดียวคือนายขุ้น รจนา (สามีป้าบู่) เจ๊กเสมียนตาย ย่าจีนจึงได้แต่งกับปู่เจริญมีลูกคือ ป้าเจน กับลุงชอบ ปู่เจริญเดิมเป็นข้าราชการ ลาออกมาแต่งงาน และทำธุรกิจ
สมัยเด็กผมคิดว่าป้าเจนเป็นคุณนาย บ้านเราจน ป้าเจนรับราชการเป็นครูโรงเรียนการช่างสตรี ลุงชิตสามีของป้าเจน ก็เป็นนายตำรวจใหญ่โตยศร้อยเอก ผมคิดว่าตนเองเป็นพวกชาวสวนธรรมดา แม่กลัวลูกไปทำไม่ดีให้คนดูถูก

พ่อดำริเป็นลูกกำพร้า แม่ตาย พ่อ (นายเสี้ยง) สมถะไม่ขวนขวาย ไม่สร้างสมบัติ ไม่สะสม ฐานะไม่ดี
สมัยนายกี่หยงเป็นเศรษฐี ลูกสบายไม่ต้องทำอะไร ทวดคุ้มไม่ทำอะไรเลย ใช้แต่บ่าว ตัวเองเล่นไพ่ ไม่ทำมาหากิน มารุ่นถัดไปลูกๆก็ไม่ค่อยได้เรื่อง รุ่นหลังฐานะแย่ลง นายดำริเด็กๆฐานะไม่ดี เริ่มจากไม่มีเงิน ตอนแต่งงานมีเงินตั้งตัว ๑๑๐ บาท ตอนหนุ่มนายดำริเป็นเพลย์บอย เพื่อนฝูงเยอะ งานก็ไม่ค่อยทำ ให้เป็นครูไปสองสามวันเลิก ชอบอิสระ
สมัยผมเด็กๆหลังสงคราม ผ้าหายาก เสื้อนอกของพ่อมีหลายตัว แม่ให้เอามาสวมกันหนาวตอนหน้าหนาว กางเกงขายาวผ้าชาร์คสกิ้นสีขาวครีมอย่างดี พอผมเริ่มหนุ่มอายุสิบสามสิบสี่ แม่เอามาย้อมสีดำตัดขาให้นุ่ง แต่พอแต่งงานมีลูกพ่อก็ตั้งหน้าทำมาหากิน ขับรถ ฯลฯ เดิมเป็นหลานคนรวย แต่จน(ปู่เสี้ยงไม่สะสม) นายดำริเปลี่ยนจากเสเพลเป็นเพลย์บอยกลายเป็นคนขยันทำมาหากินเพื่อตั้งตัว ตอนไปขอแม่ ยายจะไม่ให้เพราะไม่มีงานทำจริงจัง แต่ก็ยกให้เพราะมีคนที่เป็นที่นับถือมารับรอง พ่อนางเขียวซึ่งเป็นเพื่อนแม่รับรองให้ เพราะรู้จักกัน ก่อนแต่งงานแม่ขายขนมในตลาด พ่อมีเพื่อนเยอะไปเที่ยวในตลาด คงนอนอยู่บ้านข้างตลาด (บ้านครูเจียม นายสุจินต์ ชยัมพร ครูเจียมเป็นลูกคนมีเงิน ครูเจียมเป็นเพื่อนรักปู่ดำริ บ้านนี้ข้างล่างขายของ เพื่อนๆไปสุมหัวกันจนสาวๆไม่ กล้าไปซื้อของ ตอนหลังครูเจียมเป็นครูใหญ่รร.จีน ตอนหลังมาเป็นผู้จัดการ ธ.กสิกร) ปู่เดิมไปทำงานโรงสีทวด ที่ยกให้ปู่กี้ (นายเกียรติ บุษราทิจ เดิมชื่อกิมกี้ ช่วงนั้นจีนนิยม นายกิมกี้ เป็นพ่อ ศ. นพ.สมพร บุษราทิจ) พ่อไปทำโรงสีกับนายกี้ (น้า) ทะเลาะกัน นายกี้ขี้เหล้าเมาอยู่เรื่อย ไม่ถูกกับนายดำริ นายดำริเลิกทำโรงสี เที่ยวอย่างเดียว
แม่ทำขนมขาย สมัยก่อนขายขนมบัวลอย หลังแต่งงานทวดเลี่ยนสอนให้กวนขนมเปียกปูน ทวดทำอร่อย สอนเย็บจาก ทวดเลี่ยนมีที่เยอะ แม่เดิมเป็นคนเพชรบุรี เป็นลูกคนจนอยู่ในเมืองชุมพร มาอยู่ที่ท่ายางซึ่งเป็นเมืองเก่าสมัยสังคมเกษตร ต้องปรับตัวเปลี่ยนวิถีชีวิตจากคนเมืองมาเป็นคนบ้านนอกแท้ๆ ท่ายางเป็นที่ตั้งกรมการเมืองอยู่ ๒๖ ปี ร. ๑ ถึงส่วนหนึ่งของ ร. ๓

แม่ของกัญญา (น้องสะใภ้) บอกว่าตอนเรียน ป.สอง ครูออกข้อสอบว่าตึกหลังแรกของชุมพรอยู่ที่ไหน (อยู่ที่ตึกของทวดหยง อยู่ตรงท่าน้ำ ในตลาดท่ายาง ใกล้ๆบ้านป้าบู่)


ประวัติเมืองชุมพร

ร. ๑ ตั้งพระยาฉิม (มหาดเล็ก ร. ๑) เป็นเจ้าเมือง ที่ท่ายาง เมื่อพระยาฉิมตาย น้องชื่อพระยาเกตุ ขึ้นเป็นเจ้าเมือง ต่อมาเมื่อพระยาเกตุตาย พระยาซุ่ยขึ้น (เป็นคนท้องถิ่น) เจ้าเมืองต้องเป็นคนรบเก่ง พระยาซุ่ยเก่งด้านทัพเรือ เป็นแม่ทัพเรือไปปราบกบฏไทรบุรี (ได้สมญาว่าพระยาตับเหล็ก) ไปรบพม่าก็เป็นแม่ทัพเรือ ไปปล้นปราบกวาดต้อนคนพม่ามาบ่อย ส่วนมากเป็นเมืองมะริด ไปต่อเรือที่เมืองชุมพรหน้านอก แถวกระบุรี (ฝั่งชายทะเลตะวันออกเรียกว่าเมืองชุมพรหน้าใน) ไปตีเมืองมะริด ต่อมาอังกฤษมายึดเมืองมะริด กรุงเทพส่งหนังสือมาบอกว่าอย่าไปยุ่งกับเมืองมะริด แต่พระยาซุ่ยก็ยังไป ครั้งสุดท้ายแพ้ ทหารถูกจับไปมาก อังกฤษไปฟ้อง ร.สาม เลยมีความผิด ถูกจับไปจองจำที่กรุงเทพ ร. ๓ ให้พระยาครุฑที่เป็นปลัดเมืองขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน ตอนหลัง พระยาครุฑย้ายเมือง และไปสร้างวัดสุบรรณนิมิตที่ท่าตะเภา (สุบรรณแปลว่าครุฑ) ไม่รู้ย้ายเพราะอะไร แต่สงสัยว่าเพราะที่นาที่ท่ายางหมดแล้ว (ข้าราชการได้ไปหมดแล้ว) น่าจะย้ายไปรับที่นาที่ใหม่ หลังจากนั้นขยายมารับศักดินาที่นาทุ่งด้วย รวมเวลาที่ที่ว่าการเมืองชุมพรตั้งอยู่ที่ท่ายาง ๒๖ ปี ในช่วง ร. ๑ – ๓ ของกรุงรัตนโกสินทร์
ต่อจากพระยาครุฑเป็นพระยากล่อม (คนที่ห้า) ไปสร้างวัดราชคฤห์ดาวคะนอง (ท่าตะเภาเหนือ) (ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดชุมพรรังสรรค์) กับวัดตะเคียนทองดาวกระจาย (วัดนาทุ่ง) เข้าใจว่าพระยากล่อมคงไปเอาศักดินา
วัดท่าตะเภาเหนืออยู่ใกล้กรมเมืองใหม่ เดิมที่วัดจะอยู่ใกล้เมือง ป่าช้าจะอยู่ไกลเมือง แล้วเพื่อให้สะดวกเลยสร้างที่พักสงฆ์ที่ป่าช้า ช่วง ร. ๑ ตรงบ้านที่อยู่นี้เป็นป่าช้า
วัดโบสถ์ เดิมชื่อวัดพิชัยยาราม (กรมพระราชวังบวรศักดิพลเสพ สร้างให้เป็นอนุสรณ์ที่ตั้งค่ายหลังกลับมาจากรบชนะสงครามพม่าสมัย ร. ๒) เป็นวัดที่มีโบสถ์ เดิมวัดบ้านนอกโดยทั่วไปไม่มีโบสถ์ ตอนนี้เรียกวัดท่ายางกลาง ทางราชการเปลี่ยนชื่อโดยไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์

กรมพระราชวังบวรที่เคยมาตั้งทัพที่ท่ายางมี ๒ องค์ องค์แรก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (สมัย ร. ๑) รบชนะพม่าในสงครามเก้าทัพ แล้วมาตั้งทัพที่ท่ายาง และจัดตั้งชุมชนขึ้น กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ (สมัย ร. ๒) มารบศึกพม่า เมื่อรบชนะพม่าก็มาตั้งทัพที่ท่ายาง และสร้างวัดพิชัยยาราม รวมทั้งตั้งท่ายางเป็นตัวเมืองชุมพร


หลักฐานเก่าสุดของแม่แก้ว อยากให้คนไปอ่าน ภาษาเก่าโบราณ อยากรู้ อยู่ในกลักไม้ไผ่โบราณ

เมืองระนองตั้งขึ้นสมัย ร. ๓ โปรดให้ตั้งเมืองกำเนิดนพคุณและเมืองระนอง เป็นเมืองที่ขึ้นกับเมืองชุมพร สมัยนั้นเมืองชุมพรส่งส่วย ๒ อย่างเข้าเมืองหลวง คือทองกับรังนกนางแอ่น ที่ตั้งเมืองกำเนิดนพคุณก็เพื่อหาแร่ทอง ในปัจจุบันเมืองกำเนิดนพคุณกลายเป็นอำเภอบางสะพาน ขึ้นกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ก่อนหน้านั้น มีเมืองกระบุรีอยู่ก่อนแล้ว เมืองกระบุรีขึ้นกับเมืองชุมพร

วิจารณ์ พานิช
๑๘ ธ.ค. ๕๑

อาแดง (วิเชียร) กำลังเล่า หลานจด พี่สะใภ้นั่งฟัง

ตรายี่ห้อเล้าเรืองกี่ ของตระกูลเลาหเรณู อายุกว่า ๑๐๐ ปี

วงสนทนาเรื่องประวัติเมืองชุมพร

วงสนทนาฝ่ายหญิง นานๆ พบกันทีมีเรื่องเตรียมแต่งงานหลายคู่


หมายเลขบันทึก: 233456เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2009 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2015 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
สวัสดีปีใหม่ครับอาจารย์ ผมได้อ่านแล้วก้รู้สึกว่าดีมากๆครับ ได้ทรายประวัติเมืองชุมพร ที่เป็นอะไรใหม่ๆบ้าง ผมสนใจศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับชุมพรครับ แต่ไม่ทราบว่าจะหาได้จากที่ไหน ส่วนใหญ่ก็ซ้ำกันครับ เบื่อแล้ว และก็อยากให้คนชุมพรด้วยกัน มีอะไรดีๆ ทราบเรื่องราวอะไรที่เป็นความภูมิใจของชุมชนตนเองก็มาเล่าสู่กันฟัง มันจะกลายเป็นเรื่องราวที่ได้รับการส่งผ่านไปสู่คนรุ่นต่อไปครับ ขอขอบคุณท่านอาจารย์มากครับที่มีเรื่องราวดีๆมาเล่า สนุกมากๆครับ จริงๆผมอยากเรียกท่านอาจารย์ว่าพี่ด้วยนะครับ เพราะผมก็ลูกศิษย์ศรียาภัยครับ ท่านอาจารย์ก็เหมือนเป็นรุ่นพี่โรงเรียนครับ ผมรุ่น 107 ครับ จบเมื่อศรียาภัยมีอายุ 107 ปีครับ

ขอขอบพระคุณครับท่านอาจารย์หมอ

  • "วัดโบสถ์ เดิมชื่อวัดพิชัยยาราม (กรมพระราชวังบวรฯ สร้างให้เป็นอนุสรณ์ที่ตั้งค่ายหลังกลับมาจากรบชนะสงครามไทรบุรี)   เป็นวัดที่มีโบสถ์ เดิมวัดบ้านนอกโดยทั่วไปไม่มีโบสถ์   ตอนนี้เรียกวัดท่ายางกลาง    ทางราชการเปลี่ยนชื่อโดยไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์" <<<< ผมเพิ่งทราบจริงๆครับ หากเป็นไปได้ จะไปกราบนมัสการท่านเจ้าอาวาส "พระมหาสมศักดิ์ กิจฺจสาโร ปธ.๙" ได้รับรู้เรื่องนี้ (เข้าใจว่าท่านยังไม่ทราบ) อันอาจจะเป็นประโยชน์ของวัดต่อไป
  • อีก ๒ วัดละครับ วัดท่ายางใต้ (วัดคงคานาม) กับวัดท่ายางเหนือ (วัดตะเคียนทอง) ละครับ
  • ขอบพระคุณครับ

ขอขอบคุณ ข้อมูลนี้มีประโยชย์มากเลยครับ

ตระกูลนี้ ต้นสกุลเป็นรองเจ้าเมืองชุมพร(ฝ่ายจีน) น่าจะมีนามว่า พระภักดีชุมพร ส่วนฝ่ายไทยนามว่า พระชุมพร หรือปลัดเมืองชุมพร ครับ

แก้ไขเป็น ส่วนฝ่ายไทยนามว่า พระยาชุมพร รองเจ้าเมืองชุมพร หรือปลัดเมืองชุมพร

สวัสดีครับอาจารย์ ผมเองสนใจประวัติเมืองชุมพร ค้นหาการบันทึกมีน้อยมาก เหมือนกับว่าจงใจไม่เขียนไว้ ก็เลยมีการศึกษากันอย่างไม่ชัดเจน เขียนเบบรวบรัด ทั้งเมื่อศึกษาดีๆ แล้วช่วงเวลาต่างกัน กว่า 200 ปี สายสกุลผมเองก็จะครอบครองนาทุ่งหลวง เกือบทั้งแปลง คุณทวดลิ้ม บ่วงราบ เกิด พ.ศ.2410-2492 ท่านทำนาทุ่งหลวง 800 ไร่ ก็รู้กันภายในสายสกุลเท่านั้น มรดกที่ตกทอดมาขายบ้างยังอยู่บ้าง เช่น ที่ดินบางส่วนขายให้วัดคอออม นาบางส่วนก็ขายให้ทำศูนย์เด็กเล็กเทศบาลวังไผ่ นี้เป็นแค่บางส่วนเท่านั้น...

ดังนั้นตอนนี้ผมสนใจของการรวมข้อมูลเมืองชุมพรทั้งหมดที่ไม่ถูกบันทึกไว้จำนวนมาก ดังเช่น ขุนนางเมืองชุมพร ลูกหลานท่านยังอยู่จำนวนมากที่ไม่มีข้อมูล เพราะเมืองชุมพรถูกปิด เมื่อ 100 กว่าปี นี้คือที่มา ใครเป็นลูกหลานของ ขุนนางเก่า ในตำแหนง ดังนี้

เจ้าเมืองชุมพร นามว่า พระยาเพชรกำแหงสงคราม

รองเจ้าเมืองชุมพร หรือ ปลัดเมืองชุมพรขวา (ฝ่ายไทย) นามว่า พระยาชุมพร

รองเจ้าเมืองชุมพร หรือ ปลัดเมืองชุมพรซ้าย (ฝ่ายจีน หรือ ทูตจีน) นามว่า พระภักดีชุมพร

รองเจ้าเมืองชุมพร หรือ แม่ทัพเมืองชุมพร (ฝ่ายทหาร รับผิดชอบ กองทัพบก กองทัพเรือ) นามว่า พระพลสงคราม

กรมการเมืองชุมพร นามว่า หลวงยกบัตรเมืองชุมพร

กรมการแขวงเมืองปะทิว นามว่า หลวงปะทิว

กรมการแขวงเมืองท่าแซะ (เมืองหน้าด่าน) นามว่า พระเทพไชยบุรินทร์ รองกรมการแขวงเมืองท่าแซะ นามว่า หลวงภักดีท่าแซะ

กรมการแขวงเมืองตะโก นามว่า หลวงตะโก

กรมการแขวงเมืองหลังสวน นามว่า หลวงหลังสวน

กรมการแขวงเมืองตระ นามว่า หลวงตระ

กรมการแขวงเมืองระนอง นามว่า หลวงระนอง

กรมการแขวงเมืองมะลิวันย์ นามว่า หลวงมะลิวันย์

กรมการแขวงเมืองกำเนิดนพคุณ นามว่า พระกำเหนิดนพคุณ *ควบคุมการขุนทองคำ คนแรก พระกำเหนิดนพคุณ บิดา พระยาวจี สัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย)

สามารถเข้าไปเขียนบทความเล่าเรื่อง ตระกูลตนเองได้ เพื่อประวัติเมืองชุมพรกันครับ

ที่เว็บไซต์ http://www.buangrap.com/

กระทู้ http://buangrap.board.ob.tc/-View.php?N=19

ยินดีตอนรับทุกคน ผิดพลาดประการใดวิจารณ์ได้ต้องการข้อมูลจริงเพื่อประวัติศาสตร์ที่ชัดเจน ครับ

อาจารย์คะ พระยาพิพิธท่านเป็นพี่ชายของคุณตาปกรณ์ค่ะ

ผู้สมัครเลือกตั้ง หมื่นวิมลประเสริฐสุข นาคดนตรี สมัยรัชกาลที่.5 เสด็จประพาสหัวเมือง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท