BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

จริยศาสตร์คุณธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๒.


จริยศาสตร์คุณธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่

1. ความหมายและแนวคิดพื้นฐาน               

คำว่า จริยศาสตร์คุณธรรม มาจากภาษาอังกฤษว่า “virtue ethics” ซึ่ง คอลเลอร์ (Kollar, Nathan R.) ได้ให้ความหมายไว้ว่า วิธีเข้าถึงซึ่งความเข้าใจและการดำเนินชีวิตที่ดี โดยมีพื้นฐานอยู่ที่คุณธรรม คุณธรรม คือ แนวโน้มที่มีอยู่ก่อนซึ่งโน้มเอียงไปทางการกระทำความดีซึ่งวางกรอบไว้โดยการตัดสินทางศีลธรรมและระเบียบวินัยประจำวัน[1] 

และคอลเลอร์ได้ให้นัยสำคัญของจริยศาสตร์คุณธรรมไว้ว่า ความคิดทางจริยธรรมปัจจุบันโดยมากขึ้นอยู่กับกฎ หลักการ ข้อผูกพัน และผลลัพธ์ จริยศาสตร์คุณธรรมมีประเด็นสำคัญอยู่ที่ปัจเจกชนและสังคมคือการเป็นคนดี[2]                

อนึ่ง จริยศาสตร์คุณธรรมในวรรณกรรมตะวันตกร่วมสมัยมีคำที่ใช้อยู่หลายคำ เช่น “virtue ethics”, “aretaic ethics” และ “character ethics” โดยวางเกณฑ์ตัดสินการกระทำอยู่ที่คุณสมบัติคืออุปนิสัยของผู้กระทำว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด อนึ่ง เพื่อความเข้าใจแนวคิดจริยศาสตร์คุณธรรมร่วมสมัยได้ดียิ่งขึ้น ผู้วิจัยจะเริ่มต้นด้วยความหมายของคุณธรรมก่อน ต่อจากนั้นจะนำเสนอแนวคิดของอริสโตเติลและนักจริยศาสตร์ร่วมสมัยบางท่านเพื่อแสดงให้เห็นแนวคิดพื้นฐานและนำมาเปรียบเทียบกับแนวคิดปัจจุบัน                

. คุณธรรม               

ชารา (Chara, Paul J., Jr.) ได้ให้ความหมายของคุณธรรมไว้ว่า หลักการเกี่ยวกับความดีและความถูกต้องทางอุปนิสัยและการกระทำซึ่งทำให้คนเข้าถึงความยอดเยี่ยมทางศีลธรรมและหลีกห่างจากความชั่วร้ายทางศีลธรรม[3]

และชาราได้ให้นัยสำคัญไว้ว่า รายละเอียดที่หลากหลายของหลักการทางคุณธรรม เช่น คุณธรรมหลัก คุณธรรมเชิงเทววิทยา ซึ่งวัฒนธรรมต่างๆ ใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินความดีทางศีลธรรม[4] 

ชาราได้อธิบายเพิ่มเติมว่าคุณธรรมนั้นมีนัยหลากหลาย โดยแยกสาขาออกไปตามวัฒนธรรม เช่น คุณธรรมของขงจื้อ คุณธรรมของพระพุทธศาสนา คุณธรรมของท่านมะหะหมัดและศาสนาอิสลาม ส่วนในตะวันตกก็มีคุณธรรมของกรีกโบราณ เป็นต้น แต่คุณธรรมเหล่านั้นอยู่นอกกรอบของการวิจัยครั้งนี้ ดังนั้น ผู้วิจัยจะเน้นเฉพาะแนวคิดของอริสโตเติล ซึ่งเขาได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดของพลาโต เพราะทฤษฎีคุณธรรมร่วมสมัยประยุกต์มาจากแนวคิดของอริสโตเติล                  

ความหมายของ คุณธรรมและ คุณธรรมหลัก ราชบัณฑิตยสถานได้อธิบายไว้ว่า Virtue คุณธรรม : หลักที่มนุษย์ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิต เช่น ถือว่าความยุติธรรม ความเมตตา ฯลฯ เป็นคุณธรรม[5]               

Cardinal virtue คุณธรรมหลัก : คุณธรรมขั้นปฐมภูมิ ซึ่งเป็นแม่บทของคุณธรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังหรือที่สำคัญน้อยกว่า เช่น ในปรัชญาของพลาโต มีคุณธรรมมหลัก 4 ประการ คือ ปัญญา ความกล้าหาญ ความรู้จักประมาณ และความยุติธรรม[6] 

แนวคิดเรื่องคุณธรรมหลักของพลาโตนี้ อริสโตเติลได้นำมาอธิบายใหม่ซึ่ง กีรติ บุญเจือ ได้ชี้ให้เห็นความแตกต่างไว้ว่า คุณธรรมหลักของพลาโตเป็นการเปรียบเทียบการควบคุมจิตใจกับการปกครองรัฐตามแนวคิดในอุตมรัฐ คือ ฝ่ายปกครองต้องมีปรีชาญาณ ฝ่ายทหารต้องมีความกล้าหาญ ฝ่ายธุรการต้องมีการรู้จักประมาณ และทุกฝ่ายต้องอยู่ภายใต้กติกาเดียวกันซึ่งได้แก่ความยุติธรรม ส่วนอริสโตเติลซึ่งเป็นศิษย์ของพลาโตได้รับแนวคิดนี้มา แต่ได้เปลี่ยนข้อแรกคือปรีชาญาณเป็นความรอบคอบ โดยอธิบายว่าความรอบคอบคือปรีชาญาณที่สามารถประยุกต์ลงสู่การปฏิบัตินั่นเอง แนวคิดเพิ่มเติมของอริสโตเติลก็คือ คุณธรรมได้แก่การเดินสายกลางระหว่างกิเลสที่ตรงข้ามกัน เช่น ความกล้าหาญเป็นทางสายกลางระหว่างความขลาดกลัวกับความบ้าบิ่น[7] 

ส่วนความหมายของคุณธรรมในปัจจุบัน โบฌองพ์ได้อธิบายไว้ตอนหนึ่งว่า คุณธรรม มิใช่ข้อกำหนดทางศีลธรรม (moral requirement) เพราะเป็นหลักการหรือข้อความที่บ่งชี้ สิ่งที่ควรกระทำ (what ought to be done) ซึ่งได้แก่ลักษณะอุปนิสัยที่มีคุณค่าทางสังคมนั่นเอง โดยคุณธรรมนี้มีทั้งที่เป็นศีลธรรมและมิใช่ศีลธรรม ที่เป็นคุณธรรมทางศีลธรรมก็เช่น คำสัตย์ เกียรติยศ และความสุภาพอ่อนโยน เป็นต้น[8]                

และแนวคิดคุณธรรมในปัจจุบัน วิลเลี่ยมส์ได้อธิบายไว้ว่าเป็นมโนทัศน์ที่ใช้สนับสนุนคำอธิบายทางจริยปรัชญา แต่ทฤษฎีคุณธรรมก็ไม่ปรากฏว่าคล้ายคลึงกับทฤษฎีจริยศาสตร์เหล่าอื่นในความพยายามที่จะใช้เป็นเครื่องชี้นำการกระทำ แม้ว่าคุณธรรมยุคใหม่มีพื้นฐานมาจากแนวคิดของอริสโตเติลแต่ก็ได้รับการขยายความตามความเห็นในยุคสมัยใหม่ คำถามที่เกี่ยวกับคุณธรรมก็คือ เอกภาพของคุณธรรม อัตลักษณ์เชิงจิตวิทยาของคุณธรรมในฐานะสิ่งที่มีอิทธิพลต่อผู้กระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เราจะต้องชี้แจงความหลากหลายของสิ่งที่ถูกระบุไว้ว่าคุณธรรมได้อย่างไร               

และวิลเลี่ยมส์ได้อธิบายเรื่องความชั่วร้ายว่า ตามความเห็นของอริสโตเติล ความชั่วร้ายก็คือความล้มเหลว แต่ความเห็นสมัยใหม่จะต้องมีคำชี้แจงถึงรูปแบบที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นของสิ่งที่ชั่วร้าย และจำเป็นที่ต้องยอมรับว่าความดีเป็นสิ่งที่เชื่อมต่อกันอย่างใกล้ชิดกับความชั่วร้ายเกินกว่าความเห็นที่ระบุไว้ในอดีต ทฤษฎีคุณธรรมช่วยในการอภิปรายปัญหาเหล่านั้นโดยการเสนอว่าแนวคิดพื้นฐานจากสัจนิยมทางจิตวิทยาสำคัญกว่าแนวคิดอื่นๆ[9]               

ผู้วิจัยจะนำเสนอแนวคิดจริยศาสตร์ของอริสโตเติลสืบต่อไป เพื่อจะได้เห็นความชัดเจนยิ่งขึ้น                

. แนวคิดของอริสโตเติล               

วิลคอกซ์ (Wilcox, joel) ระบุว่าทฤษฎีจริยศาสตร์ของอริสโตเติลมาจากหนังสือ 2 เล่ม Nicomachean Ethics และ Eudemian Ethics  ซึ่งปัจจุบันให้ความสนใจเล่มแรกมากกว่า อนึ่ง ยังมีอยู่ในหนังสืออีกเล่มชื่อ  Magna Moralia แต่มีข้อสันนิษฐานว่ามิใช่ของอริสโตเติล                

วิลคอกซ์มีความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดของอริสโตเติลไว้ว่า ในฐานะนักชีววิทยาคนหนึ่ง อริสโตเติลจึงมีความเห็นว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหมดมีแนวโน้มเพื่อพัฒนาไปสู่ความเจริญเติบโตหรือความสำเร็จตามแบบอย่างของมัน สำหรับมนุษย์เป็นสัตว์สังคมตามธรรมชาติจึงมีแนวโน้มที่จะเจริญเติบโตเพื่อเป็นผู้มีคุณธรรม และชีวิตที่ดีจะนำไปสู่การเป็นผู้สร้างกฎด้วยตัวของเขาเอง ส่วนการกระทำผิดเป็นเพียงสภาพที่ขัดขวางการพัฒนาของมนุษย์เท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้ วิลคอกซ์ให้ความเห็นว่า อริสโตเติลได้วางทฤษฎีกฎธรรมชาติไว้กว้างๆ[10]               

วิลคอกซ์ให้ความเห็นว่า Nicomachean Ethics เป็นที่สนใจของนักจริยศาสตร์ร่วมสมัย และจากการสำรวจวรรณกรรมผู้วิจัยก็พบว่าทฤษฎีคุณธรรมร่วมสมัยจะนำเอาเนื้อหาใน Nicomachean Ethics บางส่วนมานำเสนอหรือได้สรุปแนวคิดไว้ด้วยเสมอ   หรืออาจกล่าวได้ว่าจริยศาสตร์คุณธรรมร่วมสมัยมาจากหนังสือของอริสโตเติลเล่มนี้                

International Encyclopedia of Ethics ได้ให้นัยสำคัญของหนังสือ Nicomachean Ethics ไว้ว่า กำหนดบุคคลมีคุณธรรมว่าเป็นผู้ต้องการความดีที่เข้าใจได้ด้วยพุทธิปัญญา ซึ่งความดีเช่นนั้นก็คือทางสายกลางระหว่างที่สุดโต่งของส่วนที่มากเกินไปกับน้อยเกินไป[11] 

และได้ประมวลเนื้อหาใน หนังสือ Nicomachean Ethics ว่า อริสโตเติลสันนิษฐานว่าทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งสัตว์มนุษย์มีจุดหมายคือต้องการความสำเร็จตามธรรมชาติของมัน การเข้าใจคุณธรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ เราจะต้องค้นหาความดีซึ่งเป็นความมุ่งหมายเฉพาะของมนุษย์ โดยอริสโตเติลวิเคราะห์ว่าธรรมชาติของมนุษย์มีอยู่สองระดับ คือ ไม่มีเหตุผลและมีเหตุผล ซึ่งแต่ละระดับจะมีความดีที่เกี่ยวข้องอยู่กับคุณธรรม               

ระดับมีเหตุผล เป็นการคิดและการไตร่ตรองความจริง โดยคุณธรรมระดับนี้จะมีคุณค่าในตัวมันเอง ไม่ได้มีนัยสำคัญตามหลักศีลธรรม เพราะเมื่อธรรมชาติของมนุษย์ทั้งสองระดับทำงานร่วมกัน หลักศีลธรรมเป็นเพียงสิ่งที่เป็นไปได้เท่านั้น               

ระดับไม่มีเหตุผล เป็นเรื่องของเจริญเติบโตทางชีววิทยาซึ่งอยู่เหนือการควบคุม และเรื่องของความอยาก เช่น ความหิว หรือความต้องการทางเพศ ซึ่งสามารถควบคุมได้ด้วยเหตุผล โดยคุณธรรมระดับนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อความอยากเพื่อต้องการความดีที่เข้าใจได้โดยพุทธิปัญญา นั่นคือ คุณธรรมทางศีลธรรม ซึ่งมิใช่ต้องการเพียงการทำความเข้าใจเท่านั้น แต่ยังต้องปฏิบัติเพื่อพัฒนาพฤติกรรมทางศีลธรรมให้เป็นนิสัยอีกด้วย โดยอริสโตเติลบอกว่าวิธีการที่ดีจะอยู่ระหว่างที่สุดโต่งทั้งสองส่วน เช่น ความกล้าหาญจะอยู่ระหว่างความบ้าบิ่นกับความขลาดกลัว เป็นต้น[12]                

ประเด็นว่า ความดีที่เข้าใจได้โดยพุทธิปัญญาคือคุณธรรมทางศีลธรรม  ผู้วิจัยมีความเห็นว่าเป็นแนวคิดนำไปสู่เรื่องการเรียนรู้และฝึกหัดด้านคุณธรรมของอริสโตเติล ซึ่งวิลคอกซ์ได้อธิบายให้เห็นการแบ่งแยกความดีไว้ว่า

ตามความเห็นของวิลคอกซ์ อริสโตเติลแบ่งความดีออกเป็น 2 อย่าง คือ ความดีทางศีลธรรมกับความดีเชิงพุทธิปัญญา โดยความดีทางศีลธรรมจะประกอบด้วยคุณธรรม เช่น ความกล้าหาญ ความรู้จักประมาณ ความกรุณา และความมีใจกว้าง เป็นต้น ซึ่งการที่อริสโตเติลบอกว่าคุณธรรมมีหลายอย่างนี้ทำให้บางท่านมีความเห็นว่ามีลักษณะเป็นสัมพัทธนิยม แต่วิลคอกซ์ให้ความเห็นว่า อริสโตเติลเชื่อว่าทฤษฎีของเขาขึ้นอยู่กับธรรมชาติของมนุษย์และเขาก็มิได้จงใจให้เป็นสัมพัทธนิยม

ส่วนความดีเชิงพุทธิปัญญามี 2 อย่าง คือ ด้านปฏิบัติและด้านทฤษฎี โดยปัญญาเชิงปฏิบัติเป็นการแสวงหาการกระทำ เนื่องจากการกระทำที่ซับซ้อนไม่สามารถวางเป็นกฎได้จึงต้องอาศัยประสบการณ์ในการตัดสินใจ ส่วนปัญญาเชิงทฤษฎีเป็นความรู้เพื่อความจริงที่เป็นพื้นฐานทางปรัชญา[13] 

ผู้วิจัยมีความเห็นว่าปัญญาเชิงปฏิบัติซึ่งเป็นการเรียนรู้และฝึกหัดด้านคุณธรรมนี้เองที่นัก จริยศาสตร์ร่วมสมัยเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญและนำมาใช้เป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาขัดแย้งในทฤษฎีจริยศาสตร์ปัจจุบัน ดังที่โบฌองพ์อธิบายไว้ว่า

ตามแนวคิดของโบฌองพ์ อริสโตเติลแบ่งคุณธรรมออกเป็นสองส่วนตามธรรมชาติของคน คือ คุณธรรมเชิงพุทธิปัญญา กับ คุณธรรมเชิงปฏิบัติ โดยความฉลาดด้านพุทธิปัญญาอาจนำไปสู่การกระทำที่ชั่วร้ายได้ แต่คนที่ประกอบด้วยปัญญาเชิงปฏิบัติจะรู้วัตถุประสงค์ที่ได้เลือกไว้และรู้ว่าจะเข้าถึงวัตถุประสงค์เหล่านั้นในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างไร ในขณะเดียวกันก็จะรักษาอารมณ์ไว้กับสิ่งที่มุ่งหวังและตัดสินใจเลือกขอบเขตของกระทำที่เป็นไปได้ ลักษณะนี้เป็นการตัดสินทางศีลธรรมเชิงปฏิบัติของอริสโตเติล ซึ่งแนวคิดนี้จะดีกว่าการยึดถือกฎแนวคิดของประโยชน์นิยมหรือลัทธิคานต์[14] 

ส่วนข้อบกพร่องของแนวคิดอริสโตเติลก็มีผู้วิจารณ์ไว้มาก เช่น ขาดมาตรฐานในการตัดสินเพราะยึดถือสามัญสำนึกของผู้กระทำเป็นเกณฑ์

อนึ่ง อริสโตเติลถือว่า จริยศาสตร์เป็นแขนงหนึ่งของการเมือง ฉะนั้น การที่จะเข้าใจชัดเจนก็ต้องศึกษาแนวคิดทางการเมืองของเขาควบคู่ไปด้วย แต่ผู้วิจัยมิได้นำมาเสนอเพราะอยู่นอกประเด็นของการวิจัยครั้งนี้

สรุปแนวคิดของอริสโตเติลได้ว่า เน้นที่การใช้ปัญญาเพื่อพัฒนาคุณธรรมเชิงปฏิบัติโดยการฝึกหัดอุปนิสัยในการเลือกดำเนินการการกระทำแต่ละสถานการณ์ ซึ่งข้อนี้คือจุดเด่นที่ได้นำมาพัฒนาเป็นจริยศาสตร์คุณธรรมในปัจจุบัน 



[1] International Encyclopedia of Ethics (London : Selem Press, 1995), p. 917.
[2] Ibid.
[3] Ibid, p. 912.
[4] Ibid.
[5] พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ-ไทย (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2532), หน้า 120.
[6] อ้างแล้ว, หน้า 15.
[7] อ้างแล้ว, หน้า 79-80.
[8] Tom L. Beauchamp. Philosophical Ethics. (New York : McGraw-Hill, 1991), p. 213.
[9] Concise Routledge Encyclopedia of Philosophy (London : Routledge, 2000), pp. 917-918.
[10] International Encyclopedia of Ethics (London : Selem Press, 1995), p. 51.   
[11] Ibid, p.611.
[12] Ibid, pp. 611-612.
[13] Ibid, p. 51.
[14] Tom L. Beauchamp. Philosophical Ethics. (New York : McGraw-Hill, 1991), p. 218.
หมายเลขบันทึก: 68855เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท