พะเยา - พระเจ้าตนหลวง : วิสาขบูชา เมื่อทางล้านนาเรียก แปดเป็ง


อย่างไรก็ตาม "วันแปดเป็ง : ประเพณีนมัสการพระเจ้าตนหลวง" แม้รอบหนึ่งปีจะมีครั้งหนึ่งก็ตาม แต่การสร้างบุญบารมีควรมีหลาย ๆ ครั้งในรอบหนึ่งปี เพื่อความไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต ควรคิดสร้างทางไปสวรรค์ด้วยจิตวิญญาณแห่งพุทธะ

 

               ระหว่างวันที่ ๘ - ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา เป็นประเพณี  "๘  เป็ง  ไหว้สาป๋ารมีพระเจ้าตนหลวง" ครบ ๕๒๐ ปี อันเป็นประเพณีงานของจังหวัดพะเยา  ซึ่งเป็นงานที่จัดว่ายิ่งใหญ่ที่สุดและสำคัญอย่างยิ่งของจังหวัดเล็ก ๆ จังหวัดนี้เลยก็ว่าได้  เมื่อถึงเทศกาลประเพณีดังกล่าว ผู้คนจากทั่วสารทิศเดินทางมาสู่จังหวัดพะเยาเพื่อกราบนมัสการขอพรจากองค์พระเจ้าตนหลวงพระศักดิ์สิทธิ์เมืองล้านนาและสร้างธรรมบารมีให้กับตนเองอย่างไม่ขาดสาย  งานนี้ผู้คนเบียดเสียดเดินกันไปมามากมายทั้งผู้คนจากอำเภอต่าง ๆ ภายในจังหวัดพะเยาเอง  และต่างจังหวัด  เช่น  ลำปาง  เชียงใหม่  เชียงราย  ฯลฯ ในอดีตต่างประเทศ  เช่น เชียงตุง  ประเทศพม่า  สินสองปันนา ประเทศจีนตอนใต้ และประชาชนจากหลวงพระบาง ประเทศสาธาณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก็เดินทางมาเพื่อแสวงบุญกันอย่างล้นลาม  แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันทางการของแต่ละประเทศเข้มงวดกับประชาชนของตนจึงทำให้การเดินทางไม่สะดวกและจำนวนคนไม่เหมือนอย่างในอดีต

 

ความหมายของแปดเป็ง

                คำว่า   “ แปดเป็ง ”  นั้นเป็นภาษาพื้นเมืองของชาวล้านนาโดยแยกออกเป็นสองคำ คือ แปด  กับคำว่า  เป็ง  คำว่า  “ แปด ”  ก็คือวันเพ็ญเดือน ๘ (เหนือ)  ทางภาคกลางถือว่าเป็นเดือน  ๖  ซึ่งการนับเดือน  คนทางภาคเหนือโดยเฉพาะแถบล้านนาจะนับเดือนไวกว่าคนทางภาคกลางไปสองเดือน  ดังนั้นพอถึงเดือน  ๖  อันเป็นเดือนที่เสวยฤกษ์วิสาขะ หรือวันวิสาขบูชา (วันเพ็ญเดือน  ๖ ) คนทางเหนือจึงถือว่าเป็นเดือน  ๘ 

     ในเรื่องดังกล่าวนี้แตกต่างกันที่การนับ  เนื่องจากการนับวันเดือนปีของล้านนาตาม  “ ปักกะตืน ” (มาจากคำว่า ปักษ์  หมายถึงข้างขึ้น  ข้างแรม และ  ทิน  หมายถึง วัน) เป็นการนับตามจันทรคติ  ส่วนของภาคกลาง (กรุงเทพฯ)  นับตามสุริยคติซึ่งเรื่องนี้มีตั้งแต่ไทเขิน  ไทลื้อ  ความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามจะคล้ายกับคนล้านนา แต่การนับเวลาจะต่างกัน  คือไทเขิน  ไทลื้อ  นับเดือนเร็วกว่าคนไทยกรุงเทพ ฯ ไป  ๑  เดือน  แต่ช้ากว่าคนล้านนาไป  ๑  เดือน  เช่น  เดือน  ๕  ของคนกรุงเทพ ฯ จะตรงกับเดือน  ๖  ของไทเขิน  ไทลื้อ  และจะตรงกับเดือน  ๗  ของไทล้านนา  และอีกนัยหนึ่ง ไทล้านนานับเดือนก่อนคนกรุงเทพฯ  ๒  เดือน  เช่น  เดือน  ๘  ของไทล้านนาจะตรงกับเดือน  ๖  ของคนกรุงเทพ ฯ และในการนับพุทธศักราชชาวไทลื้อ  ไทใหญ่จะนับเร็วกว่าชาวสยาม  ๑  ปี  เช่น  จุลศักราช  ๑๓๕๑  ไทยสยามจะนับเป็นพุทธศักราช  ๒๕๓๒  แต่ไทเขิน  ไทลื้อ  ไทใหญ่จะนับเป็นพุทธศักราช  ๒๕๓๓  เหมือนของพม่าและลังกา  (วิมล  ปิงเมืองเหล็ก  , บทความ  มปท. ๒๕...)

                คำว่า  “เป็ง”  ก็คือคืนวันเพ็ญ  หรือคืนที่พระจันทร์เต็มดวงนั้นเอง  ซึ่งมีค่าแทนคำว่า  วันเพ็ญขึ้น  ๑๕  ค่ำ เมื่อรวมสองคำเข้าด้วยกันว่า  “ แปดเป็ง”  จึงมีความหมายว่า  วันเพ็ญเดือน ๖ (๘ เหนือ) พระจันทร์เต็มดวงเสวยฤกษ์วิสาขะ  ขึ้น  ๑๕  ค่ำ นั่นเอง

 

วันแปดเป็งหรือคือวิสาขบูชา

     ความสำคัญของวันแปดเป็ง  ก็คือ เป็นวันที่เราทราบกันดีว่าเป็นวันวิสาขบูชา  [1]  ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติ  ตรัสรู้  ปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นวันที่มหัศจรรย์และวันสำคัญที่สุดของชาวโลก  ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติได้ประกาศยกย่องและเชิดชูวันวิสาขบูชาให้เป็นวันสำคัญของโลกไปแล้วด้วย

  • ประสูติ                องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ  ณ  สวนลุมพินี

วัน  แคว้นสักกะ ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์อันเป็นของพระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดากับเมืองเทวทหะของพระนางสิริมหามายาพระราชมารดา  ปัจจุบันอยู่ในบริเวณประเทศเนปาล  ชื่อเมืองลุมมิดเด  เมื่อเช้าวันศุกร์  ปีจอ  ขึ้น  ๑๕  ค่ำ เดือน  ๖ (๘ เหนือ) ก่อนพุทธศักราชได้  ๘๐  ปี

 

  • ตรัสรู้                   เมื่อพระองค์ทรงเบื่อหน่ายต่อทุกข์ในชีวิตแบบฆราวาสและ

ต้องการแสวงหาความดับทุกข์จึงทรงออกผนวชด้วยวัย  ๒๙  พรรษา ทรงศึกษาในสำนักครูอาจารย์ต่าง ๆ มากมายและทรงใช้ความเพียรพยายามหลากหลายวิธีการ แต่ไม่ได้ผลและยังไม่สามารถที่จะหลุดพ้นได้ ต่อมาพระองค์ทรงลองหันมาใช้ทางสายกลางตามแบบมัชฌิมาปฏิปทา คือการฝึกปฏิบัติอบรมทางจิตและด้วยวิธีนี้เองพระองค์จึงทรงสามารถใช้ความรู้ลงสู่ภาคปฏิบัติ เป็นการผสมผสานกันอย่างลงตัวรวมเป็นระยะเวลานานถึง  ๖  ปี จนได้สำเร็จเป็นพระอนุตตระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการประกาศสัจจธรรมแห่งทฤษฎี หรือสูตรว่าความรู้แจ้งเห็นจริง  “อริยสัจจ ๔”  ในเวลาเช้ามืดของวันพุธขึ้น  ๑๕  ค่ำเดือน  ๖  (๘ เป็ง) ปีระกา ก่อนพุทธศักราชได้  ๔๕  ปี  ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  แคว้นมคธ  ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองพุทธคยา  แคว้นพิหาร  ประเทศอินเดีย 

 

  • ปรินิพพาน         เมื่อพระองค์  ได้ทรงประกาศพระศาสนาให้ตั้งมั่นดีแล้วเป็น

ระยะเวลาถึง  ๔๕  พรรษา  พระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะปรินิพพานด้วยวัย  ๘๐  พรรษา เมื่อวันอังคาร  ขึ้น  ๑๕  ค่ำเดือน  ๖  (๘ เป็ง) ปีมะเส็ง  ณ  สาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์  เมืองกุสินารา   แคว้นมัลละ  ปัจจุบันอยู่ในเขตพื้นที่เมืองกุสีนคร  แคว้นอุตตรประเทศ  ประเทศอินเดีย

 

แปดเป็งทำไมจึงมาผูกพันกับพระเจ้าตนหลวง 

     เราจะเห็นว่า  วันแปดเป็ง  เป็นวันสำคัญอย่างยิ่งด้วยเหตุฉะนี้  ส่วนที่จะเชื่อมโยงผูกพันกับพระเจ้าตนหลวงอย่างไรนั้น  จะอาศัยเพียงว่าเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเดียวมิได้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นวัดไหน ๆ ก็มีพระเจ้าตนหลวงกับประเพณี  ๘  เป็งคงมีเต็มไปหมดเป็นแน่  แท้ที่จริงนั้นมีนัยยะสำคัญถึง  ๕  ประการ  [2]    ดังนี้

                ๑.วันเริ่มโยนหินถมหนองเอี้ยงก้อนแรก คือวัน  ๘ เป็ง

                ตามตำนานสองตายายได้หาวันดีในการเริ่มถมหนองเอี้ยง วันแรกที่โยนลงไปนั้นตรงกับวันขึ้น  ๑๕  ค่ำเดือน ๘ (เหนือ) ซึ่งบริเวณที่จะสร้างองค์พระนั้นเป็นหนองน้ำแต่เดิม  ดินก็อ่อนตัว  จึงจำเป็นที่จะต้องปรับถมสภาพดินให้พื้นที่ดังกล่าวเสมอกันก่อนซึ่งตามตำนานต้องใช้เวลาในการถมถึง  ๒ ปี ๗ เดือนจึงจะสามารถใช้การได้

                ๒.วันเริ่มก่อสร้างองค์พระเจ้าตนหลวง  คือวัน  ๘ เป็ง 

                แม้ประวัติการเริ่มก่อสร้างจะไม่ชัดเจน  แต่ปีที่สร้างได้ระบุชัดเจนว่า ๒๐๓๔  เป็นการสร้างที่มีการเตรียมการไว้อย่างดีมาก  เช่น จำนวนอิฐที่จะใช้ก่อสร้าง, จำนวนวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ อีกมากมาย  ดังได้กล่าวเอาไว้แล้ว

                ๓.วันที่สร้างองค์พระเจ้าตนหลวงเสร็จเรียบร้อย  คือวัน  ๘  เป็ง

                การสร้างที่ใช้ระยะเวลายาวนานถึง  ๓๓  ปี ผ่านเจ้าผู้ครองเมืองพะเยาถึง  ๓  รุ่นแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ขององค์พระเจ้าตนหลวงที่คนในสมัยโบราณสามารถสร้างสิ่งที่มีขนาดใหญ่และมหัศจรรย์ที่สุดในแถบถิ่นล้านนา

                ๕.วันเฉลิมฉลองครั้งแรก  คือวัน  ๘  เป็ง

                ประวัติส่วนนี้ก็กล่าวเพียงว่าเมื่อองค์พระเจ้าตนหลวงเสร็จเรียบร้อยแล้วพญาเมืองตู้ เจ้าผู้ครองเมืองพะเยาได้ส่งสาสน์บอกพญาเมืองแก้วเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้ทรงทราบแล้ว  พระองค์ทรงปีติยินดีเป็นอย่างมาก จึงสั่งสร้างพระวิหารให้เสร็จภายใน  ๒  ปีแล้วจึงเฉลิมฉลองพร้อมกับองค์พระที่เดียว

                ๖.ประเพณีที่ชาวบ้านถือปฏิบัติเป็นประจำปี คือวันวิสาขบูชา หรือวัน  ๘ เป็ง

                สิ่งที่มีความสัมพันธ์กับพระเจ้าตนหลวงดังกล่าวมานั้นแม้ไม่ชัดเจนแต่ก็ประมาณได้จากพิธีกรรมที่กระทำสืบต่อกันมาคือวันวิสาขบูชา วันขึ้น  ๑๕  ค่ำ เดือน ๖ (๘ เหนือ) หรือวันแปดเป็งนั้นเอง  แต่ข้อสังเกตมีว่าปีไหนมีอธิกมาส  คือเดือน  ๘  สองหน  ทางวัดจะถือเอาเดือน  ๘ หนแรกเป็นงานประเพณี ซึ่งยึดถือติดต่อกันมาหลายชั่วอายุคนรวมปีปัจจุบัน  ๕๒๐  (๒๕๕๔)

 

มีอะไรในงานประเพณี  แปดเป็งนมัสการพระเจ้าตนหลวง 

                เมื่อถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาซึ่งมักจะอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุก ๆ ปี วันวิสาขบูชามาถึงทางวัดจะจัดให้มีงานเฉลิมฉลองเพื่อให้ญาติโยมเข้ามากราบไหว้บูชาพระเจ้าตนหลวงเป็นระยะเวลาถึง  ๑๐  วัน  ๑๐  คืน  และเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบหนึ่งปีของทางจังหวัดพะเยาทีเดียว

 

ลักษณะงานโดยทั่วไปอาจแบ่งได้เป็น  ๓  ส่วนใหญ่  คือ

                ๑.เขตมณฑลพุทธศาสนพิธี  จะประกอบไปด้วยบริเวณพระวิหาร และรอบศาลาราย  จำนวนประมาณ  ๒  ไร่  เขตพุทธศาสนพิธีนี้เป็นเรื่องของกิจกรรมทางศาสนาและพิธีกรรม เป็นเรื่องของจิตวิญญาณจะมีประชาชนทั่วไปหลั่งไหลกันมากราบนมัสการพระเจ้าตนหลวง  บ้างก็มานอนในพระวิหารหลวง  บ้างก็นอนรอบศาลาราย เพื่อรอร่วมพิธีกรรมวันสุดท้าย  อันสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างวิถีพุทธ เน้นถึงพฤติกรรมของคนที่แสดงออกมาโดยยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ทางวัดเองได้จัดให้มีกิจกรรมหลากหลายเริ่มตั้งแต่วันแรกของงานจัดให้มีการบูชาพระรัตนตรัย,  การสรงน้ำพระ,  การตักบาตร ๑๐๘,  การตักบาตรข้าวสาร,  การบูชาพระประจำวันเกิด โดยจะมีพิธีกรรมอื่น ๆ อีกมากซึ่งตลอดงานจะมีพิธีกรได้แนะนำให้รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีและวิธีการนมัสการพระเจ้าตนหลวง เมื่อถึงวันสำคัญ คือวันสุดท้ายของงาน หรือวัน  ๘ เป็ง อันเป็นวันพระใหญ่ขึ้น  ๑๕  ค่ำพระจันทร์วันเพ็ญ เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่จะมีการทำบุญตักบาตร,  ไหว้พระ,รับศีล,  พระสงฆ์แสดงธรรมเทศนา,  ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์,  รับพร ฯลฯ

      ส่วนตอนกลางวันก็มีการฝึกอบรมวิปัสสนากัมมัฏฐาน  ตอนบ่ายจะถวายจตุปัจจัยให้กับพระสงฆ์ที่มาจากวัดต่าง ๆ กลางคืนก็มีพิธีเวียนเทียน,  สวดมนต์ตั๋น (เป็นภาษาพื้นเมือง หมายความว่าการสวดมนต์ยาว), มีพระธรรมเทศนา,  การสวดเบิก  ไปจนถึงรุ่งเช้าของอีกวันหนึ่ง  แต่ไม่ให้เกินตีห้า  [3]

                ๒.เขตอารามิกชน  จะประกอบไปด้วยบริเวณลานวัดทั้งหมด คือเขตนอกศาลารายออกมาถึงแนวกำแพงวัด จำนวน  ๗๐  กว่าไร่  เขตนี้เป็นเรื่องของการออกร้านค้าขายเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ จิปาถะตั้งแต่สินค้าพลาสติก, ถ้วยกระเบื้อง  ฯลฯ ที่พ่อค้าแม่ค้าจะนำมานาน ๆ ทีจะมีสินค้าราคาถูกมาวางขายกันผู้คนก็เดินชม  เดินซื้อกันไป สินค้าโดยมากก็เป็นเครื่องประดับตกแต่ง  เสื้อผ้า  เครื่องอุปโภคบริโภค หรือแม้แต่ยาสมุนไพร และที่ดูแล้วนึกถึงอดีตก็คือ ได้มีพ่อค้าแม่ขายได้พากันนำของมาขายแบบแบกดิน  คือนั่งขายกับพื้นเหมือนอดีต  เช่น  กระเทียม  ผลไม้  ขนม  แหนม  เป็นต้น

                เขตนี้เป็นเรื่องของวิถีชีวิตที่ผูกพันกับชีวิตประจำวันของชาวบ้านมากที่สุด  คือกินเที่ยว พักผ่อน ต่อรองสินค้าซึ่งปี  ๆ  หนึ่งจะมีสินค้าแปลก ๆ ใหม่ ๆ มาวางขายกันเต็มไปหมด  เรียกได้ว่าทุกตารางนิ้วมีราคาก็ว่าได้

                ๓.เขตกิจกรรมบันเทิง        จะเป็นบริเวณสนามหน้าวัดทั้งหมดจำนวน  ๑๘  ไร่ เขตนี้เป็นกิจกรรมการแสดงมโหรสพต่าง ๆ มากมายทั้งชิงช้าสวรรค์  ม้าหมุน  รถไต่ถัง  มวย  ภาพยนตร์  ดนตรี  และการละเล่นต่าง ๆ อีกมากมาย กิจกรรมนี้เป็นการระดมผู้คนมาชุมนุมกันมิใช่น้อย ๆ 

                ลูกค้าส่วนมากจะเป็นพวกเด็ก ๆ และวัยรุ่น ที่ชักชวนพ่อแม่ปู่ย่าตายายมาดูงาน  ซึ่งว่ากันตามจริงแล้ววัดเป็นสถานที่สนองต่อบุคคล  ๓  วัย กล่าวคือ  วัยต้นของชีวิต,  วัยทำงาน, วัยผู้สูงอายุ  โดยจะแยกอธิบาย ดังนี้

                วัยต้นของชีวิต                    คือเด็กและวัยรุ่นเป็นวัยที่ไม่ต้องการเหตุและผลมากมายนัก  มักชื่นชอบในเรื่องที่สนุกสนานรื่นเริง  ดังนั้นเขตกิจกรรมบันเทิงที่จัดนอกวัดหรือหน้าวัดซึ่งเป็นเรื่องของการละเล่นและถูกจริตของคนกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก  อย่างน้อยแม้ไม่ลึกซึ้งในเรื่องของธรรมะ  แต่ก็ทำให้คนกลุ่มนี้ได้มาใกล้ชิด  ได้เห็นพิธีกรรม  ได้มาไหว้พระ  และได้มาเป็นเพื่อนผู้เฒ่าผู้แก่  เป็นต้น

                วัยทำงาน              คือผู้ใหญ่คนวัยทำงานทั้งหลายที่ชีวิตกำลังวุ่นอยู่กับหน้าที่การงานเป็นวัยที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว  วัยนี้จะสนใจในเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุดคือเรื่องของการกินอยู่-มีใช้  วัยนี้จะหาซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคของที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน , เรื่องศรัทธากับสิ่งที่ตอบแทน เช่น อ้อนวอน  แสวงโชค  เป็นต้น  ถือว่าเป็นวัยที่มีเหตุผลมากกว่ากลุ่มแรก

                วัยสูงอายุ              ผู้เฒ่าผู้แก่  โดยมากจะเน้นกิจกรรมในพระวิหารเป็นส่วนใหญ่ซึ่งมีกิจกรรมที่ให้คุณค่าทางจิตใจมากกว่า  เพราะเป็นวัยที่ล่วงกาลผ่านวัยมามากจึงทำให้เห็นสัจจะของชีวิตหลายอย่าง  จึงมุ่งถึงความดีสูงสุดและความสงบทางจิตใจมากขึ้น  สามารถอดทนฟังและพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่ลูกหลานบอกว่าน่าเบื่อ, เข้าใจยาก  เช่น  ธรรมะบรรยาย, การสวดมนต์, การสวดเบิก  เป็นต้น

     อย่างไรก็ตาม "วันแปดเป็ง : ประเพณีนมัสการพระเจ้าตนหลวง" แม้รอบหนึ่งปีจะมีครั้งหนึ่งก็ตาม แต่การสร้างบุญบารมีควรมีหลาย ๆ ครั้งในรอบหนึ่งปี เพื่อความไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต ควรคิดสร้างทางไปสวรรค์ ด้วยจิตวิญญาณแห่งพุทธะ

[1] สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ  วันสำคัญ  ๒๕๓๗  หน้า  ๙๓

[2] ทัศนะของวิมล  ปิงเมืองเหล็ก  มีความเกี่ยวข้อง  ๓  ประเด็น บทความเรื่อง แปดเป็งวันเกิดพระเจ้าตนหลวง

[3] มีผู้เล่าให้ฟังว่าถ้าไม่ลุกหนีกลับบ้านก่อนตีห้า มีเรื่องเล่าเล่น ๆ ว่าจะมียักษ์มาจับกิน 

หมายเลขบันทึก: 440193เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2011 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

กระผมก็เป็นคนพะเยาครับ อยู่มาแต่เล็ก ไปเที่ยวงานแปดเป็งก็บ่อย เพิ่งมารู้รายละเอียดเกี่ยวกับพระเจ้าตนหลวงกับวันแปดเป็งเอาวันนี้นี่เอง ขอขอบพระคุณท่านมากครับผม

เจริญพร ท่านอาจารย์ (หนานวัฒน์) มาเที่ยวพะเยาก็แวะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่นกันได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท