บัวชูฝัก
นาย เศกสรร ครูเศก แสงจินดาวงศ์เมือง (สายวงศ์คำ)

ลิเกฮูลู


“ลิเกฮูลู” หรือ ดิเกฮูลู มาจากคำว่า ลิเก หรือดิเก และฮูลู ท่านผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่าลิเกหรือ ดิเกมาจากคำว่า ซี เกร์ หมายถึง การอ่านทำนองเสนาะ ส่วนคำว่าฮูลู แปลว่า ใต้หรือทิศใต้ รวมความแล้วหมายถึง การขับบทกลอนเป็นทำนองเสนาะจากทางใต้

  ลิเกฮูลู

         

             วันนี้ขออนุญาตพัก การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน ไว้ก่อนนะครับ ช่วงที่ผมได้ไปร่วมงานมหัศจรรย์เด็กไทย ระหว่างวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ได้ชมการแสดงของนักเรียนจากจังหวัดต่างๆ และได้เคยนำเสนอ ฟ้อนวี เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ในงานวันนั้นมีการแสดงชุดหนึ่งที่น่ารักมาก บนเวทีการแสดงของภาคใต้ จึงเข้าไปเก็บภาพไว้ การแสดงชุดนั้นก็คือลิเกฮูลู

ลิเกฮูลูหรือ ดิเกฮูลู มาจากคำว่า ลิเก หรือดิเก และฮูลู ท่านผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่าลิเกหรือ ดิเกมาจากคำว่า ซี เกร์ หมายถึง การอ่านทำนองเสนาะ ส่วนคำว่าฮูลู แปลว่า ใต้หรือทิศใต้ รวมความแล้วหมายถึง การขับบทกลอนเป็นทำนองเสนาะจากทางใต้

    “ลิเกฮูลูเป็นการละเล่นพื้นบ้านแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับความนิยมมากของชาวไทยมุสลิม มักจะใช้แสดงในงานมาแกปูโละ งานสุหนัด งานเมาลิด งานฮารีรายอแล้ว คำว่า "ลิเก" หรือ "ดิเกร์" เป็นศัพท์เปอร์เซีย มีความหมาย ๒ ประการ คือ
    ๑. เพลงสวดสรรเสริญพระเจ้า ซึ่งเรียกการสวดดังกล่าวนี้ว่า "ดิเกร์เมาลิด"
    ๒. กลอนเพลงโต้ตอบ นิยมเล่นกันเป็นกลุ่มคณะ เรียกว่า "ลิเกฮูลู" บ้างก็ว่าได้รับแบบอย่างมาจากคนพื้นเมืองเผ่าซาไก เรียกว่า มโนห์ราคนซาไก บ้างก็ว่าเอาแบบอย่างการเล่นลำตัดของไทยผสมเข้าไปด้วย

 


          การตั้งวงคล้ายกับการตั้งวงลำตัดหรือเพลงฉ่อยของภาคกลาง คณะหนึ่งมีลูกคู่ประมาณ ๑๐ กว่าคน ผู้ร้องเพลงและขับร้องมีประจำคณะอย่างน้อย ๒ - ๓ คน และอาจมีนักร้องภายนอกวงมาสมทบร่วมสนุกอีกก็ได้ กล่าวคือ คนดูคนใดนึกสนุกอยากร่วมวงก็จะได้รับอนุญาตจากคณะลิเกคล้ายๆ กับการเล่นเพลงบอกภาคใต้ เวทีแสดงยกสูงไม่เกิน ๑ เมตร โล่งๆ ไม่มีม่านหรือฉาก ลูกคู่ขึ้นไปนั่งล้อมวงร้องรับและตบมือ โยกตัวเข้ากับจังหวะดนตรี ส่วนผู้ร้อง หรือผู้โต้กลอนจะลุกขึ้นยืนข้างๆ วงลูกคู่ ถ้ากรณีมีการประชันกันแต่ละคณะจะขึ้นนั่งบนเวทีด้วยกัน แต่ล้อมวงแยกกัน การแสดงก็ผลัดกันร้องทีละรอบ ทั้งรุกทั้งรับเป็นที่ครึกครื้นสบอารมณ์ผู้ชม

การแต่งกาย
     แต่เดิมผู้เล่นจะโพกหัว สวมเสื้อคอกลม นุ่งโสร่ง บางครั้งอาจเหน็บขวานทำนองไว้ข่มขวัญคู่ต่อสู้ ต่อมามีการแต่งกายแบบการเล่นสิละ แต่ไม่เหน็บกริชหรือถือกริช อาจเหน็บขวาน ในปัจจุบันมักแต่งกายแบบไทยมุสลิมทั่วไปหรือตามแบบสมัยนิยม

เครื่องดนตรี
   
ประกอบด้วย รำมะนา(รือบานา) อย่างน้อย ๒ ใบ ฆ้อง ๑ วง และลูกแซ็ก ๑ - ๒ คู่ อาจมีขลุ่ยเป่าคลอขณะลูกคู่ร้อง และดนตรีบรรเลง ดนตรีจะหยุดเมื่อมีการร้องหรือขับ ทำนองเดียวกับการร้องลำตัดหรือเพลงฉ่อย ท่วงทำนองปัจจุบันมี ๓ จังหวะ คือ สโลว์ แมมโบสเลว์ และจังหวะนาฏศิลป์อินเดีย ซึ่งเนื้อร้องจังหวะใดก็ต้องใช้ร้องกับจังหวะนั้นๆ จะใช้ร้องต่างจังหวะกันไม่ได้

วิธีการเล่น
    
วิธีการเล่น เริ่มแสดงดนตรีโหมโรงเพื่อเร้าอารมณ์คนดู สมัยก่อนมีการไหว้ครูในกรณีที่มีการประชันกันระหว่างหมู่บ้าน หรืออาจมีหมอผีของแต่ละฝ่ายปัดรังควานไล่ผีคู่ต่อสู้ก็มี ปัจจุบันสู้กันด้วยศิลปคารมอย่างเดียว เมื่อลูกคู่โหมโรงต้นเสียงจะออกมาร้องทีละคน เริ่มด้วยวัตถุประสงค์ของการแสดง หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าสู่เรื่องราว อาจจะเป็นเหตุการณ์บ้านเมือง หรือความรักของหนุ่มสาว หรือเรื่องตลก ในกรณีที่มีการประชัน หรือบางครั้งก็เป็นเรื่องราวการกระทบกระแทก เสียดสีกัน หรือหยิบปัญหาต่าง ๆ มากล่าวเพื่อให้ผู้ชมชื่นชอบในคารมและปฏิภาณ

 โอกาสและเวลาที่เล่น
    แต่เดิมนิยมแสดงในงานพิธีต่าง ๆ เช่น เข้าสุหนัต งานแต่งงาน (มาแกปูโล๊ะ) ปัจจุบันลิเกฮูลูยังแสดงในงานเทศกาลต่าง ๆ ร่วมกับมหรสพอื่น ๆ บางท้องที่ก็แสดงในงานพิธีสำคัญ เช่น พิธีถวายพระพรวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น  

หมายเลขบันทึก: 147276เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2007 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีครับ

  • เคยดูในโทรทัศน์ สนุกดีครับ คล้ายๆ ลำตัดของภาคกลาง แต่บางทีก็มีร้องเป็นภาษามลายูด้วย
  • ปัจจุบันเข้าใจว่านำมาสอนนักเรียนในโรงเรียนด้วย ได้ทั้งศิลปะการแสดง ดนตรี และปฏิภาณการด้นกลอนด้วยนะครับ
  • ชอบชมการแสดงชุดนี้ค่ะ.....สนุก ดูแล้วเพลินดี
  • ไม่เบื่อค่ะ....ดูแล้วดูอีก....ชอบ..ชอบ...

ขอบคุณมากสำหรับความรู้ที่ไม่ต้องค้นคว้าจากที่อื่นได้ความรู้เรื่องลิเกฮูลูแล้วอยากรู้เรื่องลิเกป่าครับ มันมีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วเล่นกันยังไง มันเหมือนกับเล่นลิเกของภาคกลางไหม ยังไม่เคยดูเคยแต่ได้ยินชื่อครับ

  • สวัสดีครับ
  • ตอนนี้อยู่ที่ดหลวง ..อาศัยคอมฯ น้องออตมาทักทาย
  • ว่าแต่ "ฟ้อนวี" ...  หมายถึง  "รำพัด"  ใช่ไหมครับ

 

  • สวัสดีค่ะ อ.บัวชูฝัก
  • เคยเห็นทางทีวีค่ะ
  • แล้วก็ชอบมากด้วย
  • ชอบคณะแหลมทราย จ.ปัตตานี
  • ชอบคุณลุงอยู่คนหนึ่ง แกจะหน้าตาย
  • แต่ลอยหน้าลอยตา สนุกมาก
  • อยากดูอีกค่ะ
  • สวัสดีครับคุณธวัชชัยP
  • เป็นการแสดงที่มีความสนุกสนานโดยเฉพาะตอนที่ลูกคู่ร้องรับ
  • เป็นการแสดงพื้นเมืองภาคใต้ชุดหนึ่ง ที่นักเรียนจะต้องรู้จักอย่างน้อยก็สามารถเรียนรู้ประวัติความเป็นมาครับ
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีครับคุณครูหญ้าบัวP
  • การแสดงชุดนี้ดูเหมือนเรียบๆ
  • แต่ก็แฝงไว้ด้วยความสนุกสนาน
  • และยังประยุกต์สอดแทรกความรู้ข้อคิดเห็นเข้าไปในเนื้อร้องได้อีกด้วย
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีครับท่านบัณฑูรP
  • ขอบคุณที่ท่านได้ติดตามอ่านเสมอมา
  • ลิเก มีข้อมูลแล้วครับ หนังสือที่ใช้ช่วงที่เรียนยังเก็บไว้ทุกเล่ม
  • แต่ขอเวลาหาภาพประกอบ
  • รับรองได้ชมแน่นอนครับ
  • ขอบคุณมากครับ
  • สวัสดีครับอ.แผ่นดินP
  • ที่ดงหลวงคงสบายดีนะครับ
  • อย่าลืมเล่าบรรยากาศที่โน้นให้ฟังบ้างนะครับ
  • ฟ้อนวี หมายถึง รำพัด ถูกต้องแล้วครับ
  • วี ภาษาเหนือ และภาษาหล่ม แปลว่าพัดครับ
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีครับหมอกุ้งP
  • ช่วงหลังการแสดงลิเกฮูลู ถ่ายทอดทางโทรทัศน์บ่อยมากครับ
  • คณะแหลมทราย เป็นคณะที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงครับ
  • เสน่ห์ของการแสดงชุดนี้อยู่ที่การลอยหน้าลอยตาครับ
  • ขอบคุณครับ

ผมอยากได้เนื้อร้องและท่ารำของลิเกฮูลูอ่ะคับ ขอความกรุณาด้วย

วันนี้ได้นำนักเรียนภาคกลางดูตัวอย่างการแสดงฮูลูด้วยขอบคุณจริง ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท