วิธีอ่านหนังสือเพื่อขัดเกลาตนเอง ( ๑ ) ... (โยชิโนริ โนงุจิ)


ควรเริ่มอ่านหนังสือพร้อมกับความคิดที่ว่า "อ่านเพื่อพัฒนาตนเอง" "อ่านเพื่อขัดเกลาตนเอง"

อีกตอนหนึ่งในหนังสือ ชื่อ "มองด้วยใจ" ที่เขียนโดย "โยชิโนริ โนงุจิ" แปลโดย "ทิพย์วรรณ ยามาโมโตะ" ซึ่ง "โยชิโนริ โนงุจิ" เป็นผู้เขียนหนังสือขายดี เช่น กฎแห่งกระจก, EQ Note ความสำเร็จเริ่มต้นที่หัวใจ, กฎแห่งกระจก ฉบับการ์ตูน ฯลฯ

เป็นเรื่อง "วิธีการอ่านหนังสือเพื่อขัดเกลาตนเอง" ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวมากและก็ยังเป็นสิ่งที่ผมทำประจำทุกวัน คือ การอ่านหนังสือ 

 

ลองฟังข้อคิดของงานเขียนตอนนี้ดูนะครับ ...

 

 

วิธีอ่านหนังสือเพื่อขัดเกลาตนเอง ( ๑ )

 

คุณมีวัตถุประสงค์อย่างไรในการอ่านหนังสือ บางครั้งอาจจะอ่านเพื่อค้นคว้าหาความรู้และข้อมูล หรือบางครั้งอาจจะอ่านเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินจากเนื้อเรื่องและเนื้อหาสาระ

สิ่งที่ผมอยากแนะนำมากที่สุดก็คือ "วิธีอ่านหนังสือเพื่อขัดเกลาตนเอง" การอ่านหนังสือมีผลช่วยกระตุ้นการเติบโตในการขัดเกลาตนเอง และมีประสิทธิผลอันมหาศาลเสียด้วย

ก่อนที่จะอ่านหนังสือเพื่อขัดเกลาตนเองได้ อันดับแรกคุณต้องเลือกหนังสือที่จะช่วยขัดเกลาตนเองให้เป็นเสียก่อน ผมขอแนะนำวิธีการที่ผมกำลังปฏิบัติอยู่ 2 ข้อ คือ

 

(1) ควรหาโอกาสอ่านหนังสือให้มากที่สุด

ยิ่งอ่านหนังสือผ่านตาจำนวนมากเท่าใด แน่นอนว่าจำนวนครั้งที่จะได้พบหนังสือดีก็ย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น สำหรับผมจะไปร้านหนังสืออย่างสม่ำเสมอ แม้ในเวลาที่เดินผ่านร้านหนังสือก็มักจะแวะเข้าไปราวกับมีแรงดึงดูด

แล้วก็ไปยืนอยู่หน้าชั้นหนังสือ (ผมชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง ประวัติศาสตร์ และปรัชญาตะวันออกเป็นพิเศษ) หยิบหนังสือที่มีชื่อน่าสนใจเปิดอ่านแบบผ่าน ๆ เพื่อให้ได้สัมผัสกับหนังสือจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และเมื่อพบเล่มที่รู้สึกว่า "อยากอ่าน" ก็จะตัดสินใจซื้อทันทีโดยไม่ลังเล

แม้ผมจะหมดเงินซื้อหนังสือจำนวนไม่น้อย แต่พอคิดถึงสิ่งที่ได้รับจากการอ่านหนังสือว่ามีค่ามากเพียงใด ผมก็คิดว่า นั่นคือการลงทุนกับตัวเองที่ไม่ควรนึกเสียดาย นอกจากนี้การที่เรารู้จักกระเบียดกระเสียรเงินเพื่อซื้อหนังสือสักเล่มหนึ่ง ยังทำให้เรารู้สึกตั้งใจอย่างเต็มที่ในการ "เรียนรู้จากหนังสือเล่มนั้น"

 

(2) อ่านวรรณคดีและชีวประวัติ

วิธีการเลือกหนังสือได้อย่างมั่นใจวิธีหนึ่งก็คือ การเลือกหนังสือประเภท Long Seller หรือหนังสือขายดีที่มีผู้อ่านต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน

หนังสือที่เรียกได้ว่าเป็น Long Seller ขนานแท้ ก็คือ "วรรณคดี" นั่นเอง วรรณคดีเป็นหนังสือที่มีผู้อ่านข้ามยุคข้ามสมัย และเป็นของแท้ที่ผ่านการกลั่นกรองในช่วงเวลาอันยาวนาน

ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปเพียงใด แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงก็คือ ธาตุแท้ของคน นี่คือเหตุผลที่วรรณคดีเป็นที่นิยมมาหลายยุคหลายสมัย ก็เพราะวรรณคดีสั่งสอนเราให้มีความรู้ที่มีพื้นฐานอยู่บนธาตุแท้ของคนนั่นเอง

ผมขอแนะนำให้อ่านวรรณคดีของจีน เช่น "หลุนอวี่" (Lun Yu), "เมิ่งจื่อ" (Meng Zi), "เหลาจื่อ" (Lao Zi), "จวงจื่อ" (Zhuang Zi) และ "คัมภีร์ไช่เกินถาน" (Caigentan) เพราะต่างก็เป็นวรรณคดีที่เข้าใจง่ายเมื่อนำมาเทียบกับชีวิตจริง อีกทั้งยังมีหนังสืออธิบายประกอบให้เข้าใจง่ายขึ้นวางจำหน่ายเป็นจำนวนมากอีกด้วย

นอกจากนี้ ผมขอแนะนำให้อ่านหนังสือชีวประวัติของวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะชีวประวัติของบุคคลที่มีชีวิตอยู่ด้วยความตั้งมั่นในอุดมการณ์ว่า "อยากทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม" จะช่วยจุดประกายแสงสว่างให้เราได้เป็นอย่างดี

 

ชินโซ โมริ ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น "บิดาแห่งการศึกษาของญี่ปุ่น" ได้เขียนไว้ในผลงานเรื่อง "ชูชินเคียวจูโรคุ" ของเขาว่า

 

"ชีวประวัติของวีรบุรุษเป็นเรื่องที่กล่าวถึงความเป็นไปในการฝึกฝนและการขัดเกลาจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของคนคนหนึ่งไว้อย่างชัดเจนที่สุด ย่อมแตกต่างจากหนังสือที่เขียนแต่ทฤษฎีที่เป็นเรื่องนามธรรม ชีวประวัติของวีรบุรุษจึงเป็นเรื่องที่ใครก็เข้าใจได้ และเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจของคนทุกคนเป็นอย่างดีอีกด้วย ในบรรดาความรู้ทั้งหลาย ความรู้ที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของคนเราก็คือ ทำอย่างไรจึงจะใช้ชีวิตที่มีโอกาสเพียงครั้งเดียวนี้ให้คุ้มค่ามากที่สุด ดังนั้นการเริ่มต้นจากการอ่านชีวประวัติของวีรบุรุษจึงน่าจะเหมาะสมที่สุด"

 

 

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญยิ่งสำหรับวิธีการอ่านเพื่อขัดเกลาตนเอง คือ ความตั้งใจขณะอ่านหนังสือ เมื่อผมอ่านหนังสือจะตั้งสติและคำนึงถึง 3 ข้อ ต่อไปนี้

 

1. อ่านอย่างมีจุดมุ่งหมาย

ควรเริ่มอ่านหนังสือพร้อมกับความคิดที่ว่า "อ่านเพื่อพัฒนาตนเอง" "อ่านเพื่อขัดเกลาตนเอง"

เมื่อเราตั้งสติได้เช่นนั้น เสาอากาศที่ทำหน้าที่รับข้อมูลสำหรับการขัดเกลาตนเองก็จะเริ่มทำงาน ทั้งนี้ผลที่ได้รับจากการอ่านย่อมแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน ขึ้นอยู่ที่การทำงานของเสาอากาศนั่นเอง

 

2. อ่านโดยตั้งคำถาม

เมื่ออ่านหนังสือ สิ่งสำคัญคือการตั้งคำถาม เช่น "ทำอย่างไรจึงจะมีชีวิตอยู่โดยไม่รู้สึกเสียใจในภายหลัง" "การขัดเกลาตนเองคืออะไร" "หากตนเองมีภารกิจ (หน้าที่) อยู่จริง สิ่งนั้นคืออะไร" และอื่น ๆ เมื่อมีคำถามที่ชัดเจน คนเราจะพยายามคิดเพื่อหาคำตอบกับคำถามนั้น

ทว่ามีข้อแม้ว่าต้องคิดคำถามด้วยตัวคุณเอง เรามักจะคิดว่า "คำถามคือสิ่งที่ต้องมาจากคนอื่น" เพราะชินกับการเรียนในระบบโรงเรียน แต่คำถามที่เกิดขึ้นจากภายในตัวเราเองต่างหากที่เรียกว่า เป็นการเรียนรู้ที่แท้จริง

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือ เราควรตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอ ไม่ใช่เฉพาะเวลาที่อ่านหนังสือเท่านั้น แต่ควรตั้งคำถามให้เป็นกิจวัตร หากในชีวิตประจำวันเราได้ถามและตอบตัวเองอยู่บ่อย ๆ ก็เท่ากับเราได้ฝึกฝนความคิดที่เป็นตัวของตัวเองสำหรับเป็นคำตอบของคำถามเหล่านั้น

หากเราฝึกฝนความคิดแล้ว เมื่ออ่านข้อความในหนังสือความคิดทั้งของเราและของผู้เขียนก็จะผสมกลมกลืนเข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยให้เราเกิดความรู้อย่างลึกซึ้งในบางเรื่องได้

 

3. อ่านด้วยความรู้สึกเหมือนกำลังคุยกับผู้เขียน

เมื่ออ่านหนังสือ ไม่เพียงแต่เราจะเก็บข้อมูลเท่านั้น เราควรอ่านด้วยความรู้สึกเหมือนกับกำลังพูดคุยกับผู้เขียนซึ่งเป็นคนคนหนึ่งอยู่ คืออ่านด้วยความคิดว่า ผู้เขียนกำลังคุยกับเราแบบตัวต่อตัว

สำหรับผม หากกำลังจะเริ่มต้นอ่านหนังสือเล่มใหม่ ผมจะคำนับหนังสือเล่มนั้นก่อนหนึ่งครั้ง แล้วจึงเปิดอ่านหน้าแรก การทำให้เป็นพิธีการเช่นนั้นทำให้ผมรู้สึกว่า "ตอนนี้เรากำลังจะเริ่มคุยกับผู้เขียนแล้วนะ" และในระหว่างนั้นจะรู้สึกประหม่าเล็กน้อยแบบกำลังดีอีกด้วย

 

ยังมีต่ออีกตอนในบันทึกหน้าครับ ;)...

 

................................................................................................................................................

 

คล้ายผมเลย ผมชอบไปเดินร้านหนังสือเพื่อไปหาหนังสือที่ "อยากอ่าน" แต่เนื่องจากกระเป๋าสตางค์มักจะมีอยู่จำกัดอยู่เสมอตามฐานะ "อยากอ่าน" แต่จองไว้ในใจก่อน หรือไม่ก็คิดแล้วคิดอีกว่า "อยากอ่าน" จริงไหมหนอ "ควรรู้" ตอนนี้ไหมหนอ

พอมีสตางค์มากขึ้นก็มักจะเดินอีกสักครั้งเพื่อจำต้องเป็นเจ้าของในเล่มที่จองในใจ

ว่าไปชั่วชีวิตคิดว่าหลายแสนได้แล้วมั้งเนี่ย ;(...

 

"อัตชีวประวัติ" เป็นหนังสือหนึ่งที่ผมอ่านเสมอ เหมือนวิ่งค้นหาแรงบันดาลใจจากคนที่ประสบความสำเร็จในด้านการสร้างคุณค่าอันดีงามให้กับสังคมและผู้อื่น

 

แน่นอนว่า สำหรับผม "หนังสือ คือ ครู" ทุกครั้งที่อ่านคือ การพัฒนาตนเองทั้งความคิดและสติปัญญาที่มีไม่ค่อยเยอะเหมือนคนอื่น

มีแต่พรแสวงมากกว่าพรสวรรค์อันน้อยนิด

 

ขอบคุณหนังสือเท่าไหร่ก็คงไม่หมด คงต้องได้แต่ทำความดีตอบแทน 

 

บุญรักษา ทุกท่านครับ ;)...

 

................................................................................................................................................

ขอบคุณหนังสือดี ๆ

โนงุจิ, โยชิโนริ (ทิพย์วรรณ ยามาโมโตะ แปล).  มองด้วยใจ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ How-To, 2553.

 

หมายเลขบันทึก: 454314เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2011 00:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ความรู้ที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของคนเราก็คือ ทำอย่างไรจึงจะใช้ชีวิตที่มีโอกาสเพียงครั้งเดียวนี้ให้คุ้มค่ามากที่สุด ดังนั้นการเริ่มต้นจากการอ่านชีวประวัติของวีรบุรุษจึงน่าจะเหมาะสมที่สุด"

เข้ามาเก็บเล็กผสมน้อย
ชอบอ่านชีวประวัติ  เวลาอ่านเหมือนถูกดูดเข้าไปในไทม์แมชิน 555

ขอบคุณครับ คุณหมอบางเวลา CMUpal ที่ถูกดึงดูดจากหนังสืออัตชีวประวัติ ;)...

เหมือนกันเลย ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท