พระบรมราโชวาท เกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้มีความรู้


พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๙ กรกฎาคม ๒๕๒๔

การที่ได้อุตสาหะศึกษาค้นคว้าวิชาการจนถึงขั้นสูงอย่างนี้ เท่ากับแต่ละคนได้สร้างสมกำลังอันแรงกล้าขึ้นไว้ในตัว คือกำลังแห่งความรู้ กำลังแห่งความรู้นี้เป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง ที่จะส่งเสริมให้ปฏิบัติการต่างๆได้ดีขึ้นมากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้สามารถสร้างสรรค์สะสมผลประโยชน์สำหรับตัวได้มากมาย ทั้งในทางที่ถูกและทางที่ผิด ถ้าใช้กำลังไปในทางที่ถูกต้อง ก็ได้รับผลดี ที่เป็นประโยชน์แท้จริงอันพึงประสงค์ ถ้าใช้ไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ก็ได้รับผลร้าย เป็นความเสียหายทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น ผู้มีกำลังความรู้ความสามารถสูง จึงต้องวินิจฉัยให้ออกว่าควรจะใช้กำลังของตนไปในทางใด และสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์ มิใช่ประโยชน์นั้น เป็นอย่างไร จักได้สามารถควบคุมการใช้กำลังของตนให้เหมาะสมเที่ยงตรงได้ การวินิจฉัยและควบคุมการใช้กำลังโดยถูกต้องดังนี้ เป็นหน้าที่อย่างสำคัญยิ่งของผู้มีกำลังความรู้ทุกๆคน ยิ่งรู้สูงรู้มากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งต้องมีความรับผิดชอบมากและสูงขึ้นเท่านั้น จึงจะสร้างสรรค์ความเจริญ ความดีงาม และความมั่นคงผาสุกได้สำเร็จดังที่มาดหมาย

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๔
ความรับผิดชอบดังกล่าวนั้น อาจกล่าวได้ว่ามีประเด็นสำคัญอยู่ ๓ ข้อ ข้อแรก จะต้องระวังตั้งใจใช้กำลังเพื่อสร้างประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว ให้ได้ทั้งประโยชน์ตน ทั้งประโยชน์ส่วนรวม พร้อมกันนั้นก็จะต้องคอยป้องกันและแก้ไขอยู่ตลอดเวลา มิให้ความเสียหายเกิดขึ้น และข้อสาม ซึ่งเป็นข้อสำคัญอย่างยิ่งจะต้องพยายามสร้างเสริมกำลังนั้นให้หนักแน่นมั่น คง และทวีขึ้น ซึ่งมีทางทำได้หลายทาง ทางที่เหมาะอย่างหนึ่งก็โดยพยายามทำประโยชน์ เสียสละเพื่อผู้อื่นและส่วนรวมให้มากขึ้น การปฏิบัติงานด้วยความเสียสละอย่างนั้น ยิ่งกระทำมากเท่าใด จะช่วยให้เกิดความสามารถและความเชี่ยวชำนาญขึ้นเท่านั้น ทั้งเมื่อเคยชินกับการประพฤติปฏิบัติความดีแล้ว ก็จะสามารถป้องกันความชั่วและความเสื่อมเสียทั้งปวงได้อย่างดีที่สุดด้วย จึงขอให้บัณฑิตทั้งปวงนำไปพิจารณาใคร่ครวญดูให้เห็นชัด เพื่อประโยชน์ในกาลภายหน้าของตน ๆ

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๒๔
การเสียสละทำงานทำดีเพื่อการสร้างสรรค์ ด้วยความรับผิดชอบเต็มที่นั้นช่วยให้ผู้ปฏิบัติได้รับผลดีอย่างหนึ่ง คือมีผู้ศรัทธาเชื่อถือ และนิยมยกย่องอย่างกว้างขวาง บุคคลเหล่านั้นเมื่อศรัทธาเชื่อถือในตัวผู้ปฏิบัติดีแล้ว ย่อมจะรับเอาความคิดจิตใจของผู้ปฏิบัติดี ที่นิยมยึดมั่นในความดี เข้าไว้ด้วยแล้วน้อมนำมาปฏิบัติชอบปฏิบัติดีด้วยตนเอง ดังนี้ ก็จะมีผู้ที่ศรัทธาในความดีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เมื่อคนส่วนใหญ่มีศรัทธาความเชื่อมั่นในคุณความดีร่วมกันและเสมอกันแล้ว ก็จะเกิดเป็นความสามัคคีปรองดองเป็นปึกแผ่นขึ้น ความสามัคคีเป็นปึกแผ่นนี้คือกำลังอันแข็งกล้าที่สุดในแผ่นดิน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะบันดาลให้คนในชาติมีสมานฉันท์ มุ่งมั่นที่จะร่วมกำลังกันสร้างสรรค์ความเจริญมั่นคงของบ้านเมือง ให้สมบูรณ์บริบูรณ์ขึ้นทุกสถาน

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๙
งานสิ่งใดสาขาใดที่ท่านจะออกไปปฏิบัตินั้น ไม่มีสักสิ่งเดียวที่จะสำเร็จสมบูรณ์ได้ในตัวเอง หากจะต้องเกี่ยวเนื่องถึงงานอื่น ๆ อีกหลายๆด้าน. ทั้งนี้เพราะงานต่าง ๆ นั้น เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า แท้จริงย่อมเป็นปัจจัยส่งเสริมเกื้อกูลกันอยู่เป็นส่วนมาก และย่อมประกอบกันเข้าเป็นงานส่วนรวมอันเดียวกันของบ้านเมืองด้วย ดังนั้นงานแต่ละชิ้นแต่ละส่วน จึงต้องปฏิบัติให้ประสานสอดคล้องกัน ทั้งให้สำเร็จและให้พัฒนาไปพร้อมๆกัน โดยเท่าเทียมกัน เพื่อมิให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหยุดชะงักและพาให้ส่วนรวมรวนเรล่าช้าไปทั้ง กระบวน. ท่านทั้งหลายควรจักได้เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม ที่จะปฏิบัติงานประสานกับบุคคลอื่นฝ่ายอื่นอย่างขะมักเขม้นและฉลาดเหมาะสม "

ค้นเจอข้อความเมื่อหลายปีก่อน จำได้ว่านำมาจากเว็บไซต์ของจังหวัดเชียงราย แต่กลับไปหาอีกทีเพื่อลิงก์ไปยังต้นทางก็ไม่เจอแล้ว 

หมายเลขบันทึก: 139422เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2007 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับพี่

  • ขอบคุณมากครับพี่
  • ได้อ่านทีไร แล้วคิดตามไป ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัยจริงๆ นะครับ เหมือนยังสดๆ อยู่ตลอดเวลา
  • มีความสุข ซาบซึ้งทุกครั้งที่ได้อ่านครับ
  • ผมอ่านเอาจากเล่มนี้ด้วยครับ

    คำพ่อสอน
  • ขอบคุณมากครับ

อีกรอบครับ อธิบายเพิ่มเติมครับ

เล่มนี้บำรุงสมอง "คำพ่อสอน" ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เรียนรู้แต่ละบทแต่ละเรื่อง ตั้งแต่วัยเด็ก นักเรียนและเยาวชน นักศึกษา การทำงาน หน้าที่และความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง มีข้อความดีๆ ทั้งนั้นเลยครับนะครับ ลองดูซักประโยคนะครับ "วัยเด็ก การให้การศึกษาแก่เด็กต้องเริ่มตั้งแต่เกิด", "นักเรียนและเยาวชน เด็กๆ นอกจากจะต้องเรียนความรู้แล้ว ยังต้องหัดทำการงานและทำความดีด้วย"

 น่าจะเป็นหนังสือสามัญประจำบ้านเอาไว้ให้เด็กๆ อ่าน นะครับ อ่านดังๆ ในบ้านทุกๆ คืน อ่านแล้วอ่านอีกเป็นกิจกรรมในครัวเรือนก็คงดีครับ

ขอบคุณค่ะำสำหรับลิงค์คำพ่อสอน  เอาไปเผยแพร่ต่อให้ลูกศิษย์แล้วค่ะที่ http://campus.en.kku.ac.th/campusboard

การให้การศึกษาแก่เด็กต้องเริ่มตั้งแต่เกิด", "นักเรียนและเยาวชน เด็กๆ นอกจากจะต้องเรียนความรู้แล้ว ยังต้องหัดทำการงานและทำความดีด้วย"

พี่ทำตามคำสอนนี้ค่ะ

สอนเด็ก ต้องสอนตั้งแต่เกิด และต้องย้ำทำ ให้เกิดการประพฤติปฎิบัติ จนเป็นนิสัยค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท