KM Tools : เครื่องมือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้


เครื่องมือการจัดการความรู้ก็เหมือนเครื่องมือของช่างไม้ ในกล่องเครื่องมือมีอยู่หลายชนิด เราเองต้องเลือกมาใช้ให้เหมาะกับงาน เหมาะกับคน เหมาะกับโอกาส จึงจะได้ประโยชน์จริง เครื่องมือทุกชิ้นจึงมีประโยชน์ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับคนใช้งาน ถ้าไปเอาเลื่อยมาตอกตะปูแล้วบอกว่าไม่ได้เรื่อง คงไม่ได้ เพราะเราใช้ผิดประเภท

                      ในการจัดการความรู้ มีองค์ประกอบที่หลากหลาย แล้วแต่ทฤษฎีหรือตัวแบบ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากและขาดไม่ได้คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge sharing) ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบทั้งเวทีจริง (F2F)และเวทีเสมือน (B2B) ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เราสามารถใช้รูปแบบหรือกระบวนการได้หลายรูปแบบ เช่น 

1.  ชุมชนนักปฏิบัติ Community of practice : Co P เป็นการจัดกลุ่มคุณกิจที่ทำเรื่องเดียวกัน มารวมตัวกันด้วยเรื่องที่สนใจเรื่องเดียวกัน (Domain) มาพบปะกันสม่ำเสมอ (Community) และมาพัมนาวิธีการทำงานในเรื่องนั้นๆให้ดีขึ้น (Best practice)

 

2.  การศึกษาดูงาน (Study tour) หรือ สุนทรียทัศนา เป็นการขอไปเรียนลัดจากประสบการณ์ของผู้อื่นโดยเข้าไปดูสถานที่จริง การปฏิบัติจริงๆของเขา หรืออาจใช้ในหน่วยงานตนเองโดยการให้เพื่อนที่ทำดีๆสาธิตหรือทำเป้นตัวอย่างให้เราดู ให้เราเรียนรู้ก็ได้

3.  การทบทวนหลังปฏิบัติการหรือการถอดบทเรียน : After action review (AAR) เมื่อทำงานเรื่องใดเรื่องหนึ่งเสร็จแล้ว ก็มีการมานั่งทบทวนร่วมกันผ่านทางการเขียนและการพูด ด้วยการตอบคำถามง่ายๆว่า วันนี้ที่ทำนี่เพื่ออะไรหรืออยากได้อะไร ทำแล้วได้ตามที่คาดหวังไว้ไหม ทำไมถึงได้มากกว่าหรือน้อยกว่า ได้อะไรดีๆเพิ่มขึ้นมาบ้างและถ้าจะทำแบบนี้อีกควรปรับปรุงอย่างไร ในระยะหลังมีคนคิดการทบทวนก่อนปฏิบัติ (Before action review : BAR)ขึ้นมาใช้และการทบทวนขณะปฏิบัติ (During action review : DAR)

4.  การเรียนรู้ร่วมกันหลังงานสำเร็จ : Retrospect เป็นกิจกรรมที่ทีมทำงานสำเร็จไปแล้วระยะหนึ่ง ก็นัดเจอกันเพื่อทบทวนย้อนหลังงานนั้นๆ เช่นทบทวนการดูแลผู้ป่วย การสัมนาผู้ป่วย เป็นต้น 

5.  เรื่องเล่าเร้าพลัง : Springboard Storytelling เป็นการถอดความรู้ฝังลึกโดยการมอบหมายให้ผู้ที่มีผลงานดีหรือมีวิธีการทำงานที่ดี มาเล่าให้คนอื่นๆฟังว่าทำอย่างไร คนเล่าจะต้องเล่าให้สนุก น่าฟัง เร้าใจ เล่าให้เห็นการปฏิบัติ เห็นบุคคล ตัวละครในเหตุการณ์ ใช้ภาษาเชิงปฏิบัติจริง เล่าสิ่งที่ตนเองทำจริงๆกับมือ ไม่ปรุงแต่ง ใส่สีตีไข่ เล่าเหมือนเล่านิทานเด็กฟัง

6. การค้นหาสิ่งดีๆรอบๆตัว : Appreciative Inquiring หรือสุนทรียสาธก เป็นการมองเชิงบวก พยายามค้นหาสิ่งดีๆ ความสุข คำชื่นชม ความดีงามที่อยู่ในตัวคน ในองค์การ ในการทำงานหรือนวัตกรรมต่างๆเพื่อนำมาเผยแพร่ให้คนอื่นๆได้ทราบ

7.  เวทีเสวนา : Dialogue หรือสุนทรียสนทนา เป็นจัดกลุ่มพูดคุยกันเพื่อเอาสิ่งดีๆที่แต่ละคนมีอยู่ในตัวเองหรือในการปฏิบัติออกมา โดยไม่ขีดวงที่ชัดเจนมากเกินไป มีเพียงการกำหนดประเด็นกว้างๆในเรื่องที่จะสนทนากัน ไม่รู้คำตอบสุดท้ายว่าคืออะไร ไม่กำหนดเวลาสนทนาของแต่ละคน เปิดกว้างด้านเวลา สถานที่ บุคคลและเปิดกว้างทางใจของทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมกัน บรรยากาศสบายๆ บรรยากาศเชิงบวก พูดเรื่องเก่า ท้าวความหลังที่ดีๆ พูดถึงสิ่งที่ทำจริงๆในอดีต ไม่ใช่ความคิดเห็นที่จะทำในอนาคต ลักษณะสำคัญของการเข้ากลุ่มสุนทรียสนทนาในการจัดการความรู้จึงมีลักษณะสำคัญ 4 ประการคือพูดอย่างจริงใจ ฟังอย่างตั้งใจ ถามอย่างซาบซึ้งใจและจดอย่างเข้าใจใส่ใจ 

8. เพื่อนช่วยเพื่อน : Peer Assist  เชิญทีมอื่นมาแบ่งปันประสบการณ์ดีๆให้เรา มาแนะ มาสอน มาบอก มาเล่าให้เราได้ฟังเพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานเรา

9.  Action Learning การเรียนรู้โดยการปฏิบัติ เป็นการรวมกลุ่มกันของผู้ปฏิบัติเพื่อจะแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่ง โดยการวิเคราะห์สาเหตุ วิเคราะห์ทางเลือก เลือกทางเลือกที่เหมาะสมแล้วนำไปปฏิบัติ พร้อมทั้งติดตามประเมินผลเพื่อปรับให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในภาษานักคุณภาพเขาเรียกทำ CQI Story

10.  Benchmarking มาตรฐานเปรียบเทียบ เป็นการตกลงกันเองในกลุ่มผู้ปฏิบัติอาจเป้นระดับบุคคล งาน แผนก ฝ่าย กลุ่มงานหรือองค์การก็ได้ กำหนดประเด็นร่วมกันแล้วนำมาเปรียบเทียบกันเพื่อร่วมมือกันในการยกระดับงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เปรียบเทียบเพื่อแข่งขันเอารางวัลกัน แต่เปรียบเทียบเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน ในการเปรียบเทียบมาตรฐานปฏิบัติมี 2 แบบคือ Process Benchmarking และ Result Benchmarking เครื่องมือที่นำหลักการเปรียเบทียบมาตรฐานปฏิบัติมาใช้คือเครื่องมือชุดธารปัญญา

11.  Coaching การสอนงาน เป็นการขับเคลื่อนความรู้ข้ามบุคคลที่ง่ายและใกล้ตัวคนทำงานมากที่สุด ให้ผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่าหรือรุ่นพี่ที่มีผลงานดี มาแนะนำ สอน ให้คนที่มาใหม่หรือคนที่มีผลงานไม่ดีได้เรียนรู้ปรับปรุงวิธีการทำงาน มักใช้ในกลุ่มผู้ปฏิบัติหรืองานระดับปฏิบัติการ

12.  Mentoring การเป็นพี่เลี้ยง เป็นการให้คนทำงานที่อยู่คนละฝ่ายหรือกลุ่มงานหรือแผนกหรือแผนกเดียวกันก็ได้ มาช่วยแนะนำวิธีการทำงาน ช่วยเหลือสนับสนุน คอยให้คำปรึกษาชี้แนะ มักใช้ในการเรียนรู้ในกลุ่มผู้บริหารหรือผู้ที่จะก้าวไปเป็นผู้บริหาร

13.  Portfolio แฟ้มงานเพื่อการพัฒนา เป็นการบันทึกผลงานดีๆ นวัตกรรมในการทำงาน คำชื่นชม ความภาคภูมิใจทั้งระดับบุคคล ระดับแผนกหรือระดับองค์การ เรียกอีกอย่างว่าบัญชีความสุข

14.  บทเรียนจากความผิดพลาด : Lesson Learned ผมมักเรียกกิจกรรมนี้ว่า ผิดเป็นครู ในทางการแพทย์มักจะมีการทำอยู่บ่อยๆเพื่อลดความผิดพลาดในการรักษาผู้ป่วย ที่เรียกว่า Dead case conference ในการทำกิจกรรมผิดเป็นครูนี้ ถ้าเริ่มทำKMใหม่ๆ ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะคนยังไม่มีความสัมพันธ์กันดีพอ ยังไม่เปิดใจเข้าหากัน อาจเป็นบ่อเกิดของการโทษกันหรือทะเลาะกินใจกันได้ กิจกรรมผืดเป็นครูที่ดี ควรเป็นคนที่ทำผิดพลาดหรือทำงานไม่สำเร็จ เป็นผู้ที่นำเอาความผิดพลาดนั้นมาเล่าให้คนอื่นๆฟังอย่างเต็มใจ เล่าให้เห็นวิธีการ เหมือนทำเรื่องเล่าเร้าพลัง เล่าโดยไม่พยายามปกป้องตนเอง คนฟังก็ต้องฟังอย่างเข้าใจ เห้นใจ ไม่ตำหนิ ไม่ว่ากล่าวโทษ ไม่หาผู้กระทำผิด แต่เป็นการเรียนรู้จากเหตุการณ์เพื่อหาสาเหตุของความผิดพลาด จะได้วางระบบเพื่อป้องกันความผิดพลาดนั้นๆ ไม่ให้คนอื่นๆผิดพลาดซ้ำอีก ในการทำคุณภาพจะมีการทำการบริหารความเสี่ยง (Risk management : RM) ก็เป็นไปตามหลักการนี้ กิจกรรมผิดเป็นครูนี้ ดีมากสำหรับการเรียนรู้ของตนเอง เพราะถ้าเราเรียนรู้แบบผิดเป็นครู ก็จะไม่เกิดสภาพที่ว่า ผิดเป็นกู(ทุกที)

                จะเห็นได้ว่า เครื่องมือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีอยู่มากมาย เราต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับเวที บุคคล สถานที่ เหตุการณ์ ก็จะส่งผลประโยชน์ที่แท้จริงในการแลกเปลี่ยนได้ เรียกว่า งานได้ผล คนสุขใจ ไปได้พร้อมๆกัน

หมายเลขบันทึก: 119306เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2007 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
ขอบพระคุณ คุณหมอ มากเลยค่ะ ที่ช่วยรวบรวมเครื่องมือในการทำ KM ให้ครบถ้วนพร้อมอธิบายว่าคืออะไรได้อย่างเห็นภาพ เป็นประโยชน์มากค่ะ ขออนุญาตนำ link นี้ไปเผยแพร่ให้ นักเรียน และเพื่อนร่วมงานของดิฉันด้วยนะคะ ได้คำศัพท์ใหม่เพียบเลยค่ะ
นุ้ย พงศ์ทร วงศ์พุธ

ขออนุญาตเอาไป อ้างอิง การทำ Team building เหมือนกันครับ

ขอบคุณครับ

อยากทราบว่า เครื่องมือในการจัดการความรู้ จะมีกี่แบบค่ะ

ช่วยยกตัวอย่างให้ดูด้วยได้เปล่าค่ะ

ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ สำหรับคำตอบ

การจัดการความรู้ในโรงเรียน ห้องเรียน ควรมีแบบเก็บข้อมูลเครื่องมือในด้านใดบ้างค่ะ

ขออนุญาตนำข้อมูลของ ดร.พิเชษฐ ในส่วนของเครื่องมือในการจัดการความรู้ ไปอ้างอิงในเวบบล๊อกของผมด้วยนะครับ ขอบคุณครับ / นิสิตข้าวโพด

ขออนุญาต นำข้อความไปเผยแพร่ในการจัดการความรู้ของหน่วยงานค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

 

ขอบคุณ คุณหมอพิเชฐ ที่ให้ความรู้ดีๆ และขอนำไปเผยแพร่เป็นความรู้ให้พี่ๆน้องชาวเหมืองนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท