มัทนา
มัทนา (พฤกษาพงษ์) เกษตระทัต

ว่าด้วยเรื่องน้ำยาบ้วนปาก


[บันทึกนี้สืบเนื่องมาจากคำถามที่ได้รับมากค่ะ] 

WHY|ใช้น้ำยาบ้วนปากไปทำไม

  • ป้องกันรักษาโรคฟันผุ และ/หรือ

  • ป้องกันรักษาโรคเหงือกอักเสบ และ/หรือ

  • ป้องกันรักษาโรคปริทันต และ/หรือ

  • ป้องกันรักษาปัญหากลิ่นปาก และ/หรือ

  • ดูแลรักษาแผลหลังการผ่าตัดภายในช่องปาก ป้องกันการติดเชื้อ

หมายเหตุ: การใช้น้ำยาบ้วนปากเป็นวิธีเสริม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก ม่ใช่วิธีทดแทนการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน

แนะนำให้อ่านบันทึกอ.หมอวัลลภต่อค่ะท่านเขียนสรุปเรื่องการแปรงฟัน  ใช้ไหมขัดฟันไว้ดีแล้ว 

WHAT|น้ำยาบ้วนปากมีกี่ชนิด

  • มีรสหอม ไปกลบกลิ่นปากเฉยๆ ได้ผลระยะสั้น

  • มีตัวยากำจัดสารเคมีที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก (volatile sulfur compounds)

  • มีสารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ลดปริมาณคราบจุลินทรีย์ (plaque) 

  • มีฟลูโอไรด์ป้องกันฟันผุ

  • มีคุณสมบัติรวมหลายๆข้อดังที่กล่าวมาข้างต้น

การเลือกใช้น้ำยาบ้วนปากนั้น ข้อแรกคือต้องถามตัวเอง(หรือไม่หมอฟันก็จะบอกเอง)ว่า เราต้องการคุณสมบัติข้อไหน

ตอบได้แล้วก็มาดูกันที่ส่วนประกอบเป็นอันดับแรกค่ะ แล้วก็ค่อยมาดูที่สี กลิ่น รสแล้วก็ราคา มาช่วยประกอบการตัดสินใจ

อ่านที่ฉลากบนขวด ข้างขวด หาว่าเค้าเขียนไว้ว่ามันทำหน้าที่อะไร แล้วก็พลิกต่อไปอ่านว่ามีส่วนประกอบที่เป็นสารออกฤทธิ์ (active ingredient) อะไรบ้าง

----------------------------------------

วันนี้มีโพยมาให้ค่ะ เผื่อเอาไว้เทียบ

พวกที่ 1: น้ำมันสะกัดจากพืช (essential oil) เช่น เมนทอล, thymol, menthyl salicylate, pepermint, clove, eucalyptol พวกนี้มีกลิ่นหอมและฆ่าเชื้อแบคทีเรียในช่องปากและบนคราบจุลินทรีย์ที่เกาะบนฟัน

พวกที่ 2: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น chlorhexidine gluconate, hexetidine, benzalkonium chloride, cetylpyridinium chloride, hydrogen peroxide, tricosan  

พวกที่ 3: ฟลูโอไรด์ (Fluoride) ช่วยป้องกันฟันผุ หรือ รักษารอยผุเบื้องต้นที่ยังไม่เป็นรู แต่เป็นสีขาวขุ่นๆ

พวกที่ 4: มีสาร zinc ion, zinc chloride (ZnCl2) แก้ปัญหากลิ่นปาก ทำหน้าที่เปลี่ยนสภาพสารระเหยซัลเฟอร์ (volatile sulfur compound)  ให้กลายรูปไปไม่ให้เป็นสารระเหยเหม็นๆอีกต่อไป

พวกที่ 5: มีตัวยาที่ไม่ได้ใช้กันในชีวิตประจำวันเช่น Povidone-iodine ทำหน้าที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา โปรโตซัว หรือ ยา Mycostatin, Nilstat  ทำหน้าที่ฆ่าเชื้อรา (ตัวนี้อมแล้วกลืน ต่างจากตัวอื่นที่ให้บ้วนทิ้ง) หรือ allopurinol บรรเทาอาการแผลในปากจากการฉายรังสี/เคมีบำบัด

ตรวจเช็ครายชื่อน้ำยาบ้วนปากที่มีขายในเมืองไทยได้ที่นี่ค่ะ มีส่วนประกอบให้ดูด้วยค่ะ (กราบขอบคุณกรมอนามัยงามๆเลยค่ะ)

----------------------------------------

ยังมีอีกหลายตัวค่ะ โดยเฉพาะยาสมุนไพร ทั้งไทยทั้งเทศ วันนี้ขอละเอาไว้ก่อน เล่าให้ฟังเฉพาะชนิดที่มีงานวิจัยรับรองแล้วก่อนนะคะ

=ว่าด้วยเรื่อง Alcohol=

ถ้ามีทางเลือก มีตัวเลือกควรเลี่ยงยาบ้วนปากที่ผสม alcohol ค่ะ หรือไม่ก็เลือกชนิดที่มี % alcohol น้อยๆ เพราะ alcohol ทำให้ปากแห้ง ในระยะยาวภาวะปากแห้งนี่แบคทีเรียชอบค่ะ นอกจากนี้ยังแสบอีกต่างหาก 

 

WHO, WHEN AND HOW|ใครใช้ ใช้อย่างไร ตอนไหนบ้าง

ผลวิพากษ์งานวิจัยสรุปไว้ว่า

  • ถ้าใช้น้ำยาบ้วนปากชนิดที่ผสมฟลูโอไรด์ควบคู่ไปกับการแปรงฟัน ด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูโอไรด์ในเด็กวัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ จะลดโรคฟันผุได้มากกว่าการแปรงฟัน (ด้วยยาสีฟันทที่ผสมฟลูโอไรด์)เฉยๆ 
  • ในเด็กที่ยังควบคุมการกลืนไม่ได้ (ต่ำกว่า 6 ขวบ) ยังไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปาก
  • เด็กประถมควรมีคนคอยดูเวลาใช้น้ำยาบ้วนปากชนิดที่ผสมฟลูโอไรด์
  • คนที่ใส่เหล็กดัดฟันแล้วมีรอยฟันเริ่มผุขาวๆขุ่นๆรอบๆตัวเหล็กดัด ก็สามารถได้รับประโยชน์เสริมจากการใช้น้ำยาบ้วนปากชนิดที่ผสมฟลูโอไรด์เช่นกัน
  • สำหรับคนที่มีปัญหากลิ่นปาก ควรพบทันตแพทย์หรือแพทย์เพื่อตรวจดูว่าเป็นจากในปากหรือโรคอื่นๆเช่น ไซนัสหรือทอนซิลอักเสบ การติดเชื้อในช่องคอ ช่องท้อง ทางเดินหายใจ หรือ โรคทางระบบอื่นๆ
  • ดูแลรักษาในช่องปากไม่ให้มีฝันผุ หรือ เหงือกอักเสบ พยายามลดเชื้อแบคทีเรียในปากด้วยการแปรงฟัน ใช้ไหม แปรงลิ้น (สำคัญมาก) แล้วก็ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมข้อ 1, 2, 4
  •  ส่วนเรื่องการป้องกันโรคเหงือกอักเสบและปริทันต์นั้นส่วนผสมข้อ 1,2 ช่วยได้ แต่ผลงานวิจัยสรุปผลว่าโอเค ได้ผลในทางป้องกัน แต่ถ้าเป็นโรคปริทันต์ขึ้นมาแล้วยังไม่เห็นผลสำเร็จในทางแก้ (cure) ว่าน้ำยาบ้วนปากทำให้หายเร็วเท่าไรนัก จะหนักไปในการใช้เพื่อเป็นการรักษาสภาพ (maintenance) หลังการผ่าตัดภายในช่องปากมากกว่า
  • โดยกลุ่มยาพวก chlorhexidine gluconate, hexetidine นิยมใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังการผ่าตัด เช่น การผ่าปลูกเหงือก หรือการฝังรากเทียม เป็นต้น นอกจากนี้ 2 ตัวยานี้ยังใช้กลั้วคอ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (strep) ที่ทำให้เจ็บคอ อีกด้วย
  • กลุ่มยาพวก chlorhexidine gluconate, hexetidine  และ ส่วนประกอบพวกที่ 5 นั้นหมอจะสั่งเอง ก็ใช้ตามหมอสั่งค่ะ

----------------------------------------

โดยทั่วไปไม่ว่าเป็นชนิดไหน มักจะใช้วันละ 2 ครั้ง คู่ไปกับการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน ให้ใช้เป็นประจำ ยกเว้นยาพวกที่หมอสั่งเฉพาะ

สำคัญมาก! ให้อ่านวิธีใช้ข้างขวดดีๆว่าให้กลั้วนานเท่าไหร่ และ ให้บ้วนน้ำตามหรือไม่ให้บ้วน แล้วทานน้ำต่อได้ไม๊

เนื่องจากน้ำยาบ้วนปากมีหลายชนิดมาก ถ้าเขียนแล้วงงก็ถามได้ค่ะ กฎทองคือให้อ่านข้างขวดดีๆแล้วก็ ทำตามที่หมอและหมอฟันประจำตัวสั่งค่ะ

---------------------------------------- 

อ้างอิง:

Cochrane Database of Systematic Reviews

  • Marinho, VCC; Higgins, JPT; Logan, S; Sheiham, A. Fluoride mouthrinses for preventing dental caries in children and adolescents [Reviews] Date of Most Recent Update: 25-February-2004
  • Worthington, HV; Clarkson, JE; Eden, OB. Interventions for treating oral mucositis for patients with cancer receiving treatment [Reviews] Date of Most Recent Update: 21-May-2004
Other Reviews
  • ADA Council on Scientific Affairs. J Am Dent Assoc. Vol 134, No2, 209-214
  • FDI Commission. Mouthrinse and periodotal disease. [Review] Interntional Dental Journal. 52(5):346-52, 2002 Oct.
  • Slots, J. Selection of antimicrobial agents in periodontal therapy. [Review] Journal of Periodontal Research. 37(5):389-98, 2002 Oct.
  • Loesche, Walter J. Kazor, Christopher. Microbiology and treatment of halitosis. Periodontoloyy. 2002. 28:256-79, 2002
  • Walker CB. Microbial effects of mouthrinse containing antimicrobials [Review]. Journal of Clinical Periodontology. 15(8):499-505, 1988 Sep.

หมายเลขบันทึก: 94764เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2007 02:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ขอบคุณมากครับคุณ P มัทนา

ได้ความรู้และเป็นประโยชน์มากเลยครับ   เพราะปกติเวลาซื้อก็ดูฉลากเปรียบเที่ยบ แต่แล้วก็ไม่ได้อะไร เพราะไม่รู้ว่าส่วนผสมต่างๆมันคืออะไร/เอาไว้ทำอะไร ....ทำให้ต้องพึ่งแต่โฆษณา (ขึ้นอยู่กับอทธิพลของหนังโฆษณา) อย่างเดียวครับ.....

  • มาแอบเอาหน้า ... แทนกรมอนามัยค่ะ อิ อิ
  • อนาคต กรมฯ จะทำ logo แปรงสีฟันติดดาวแล้วนะคะ ตอนนี้กำลังเริ่มต้นตรวจสอบแปรงสีฟัน จากบริษัทที่ลงทะเบียนเข้าร่วมค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์มัทนาP

  • เข้ามาอ่านค่ะ...พออ่านปุ๊บเลยรีบไปบ้วนปากเลยค่ะ            (      *     *     )
  • ต้องขอบคุณสำหรับบันทึกดี  ดี  ค่ะ

mr. join_to_know, ajarncath phamui: ขอบคุณค่ะ ดีใจมากค่ะที่เห็นว่าบันทึกมีประโยชน์ : )   

พี่หมอนนท์ (เพื่อนร่วมทาง): ได้รายชื่อกรมอนามัยมานี่ช่วยได้เยอะมากๆค่ะพี่ ไว้จะรออ่านเรื่อง logo แปรงติดดาวนะคะ : )

 

ขอบคุณมากค่ะ บันทึกนี้นอกจากจะมีประโยชน์ในด้านการแพทย์แล้ว ยังมีประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมด้วยค่ะ ดิฉันทำงานด้านสิ่งแวดล้อมกำลังหาทางบำบัดน้ำเสียของน้ำยาบ้วนปากที่ไม่ได้ เสป็ค และหมดอายุพอดี (^_^)

น่าสนใจมากเลยค่ะคุณกัญญา ถ้ามาเวลารบกวนแวะมาแลกเปลี่ยนกันต่อนะคะ ว่าสารอะไรที่เป็นโทษกับสิ่งแวดล้อมบ้าง แล้งระบบบำบัดเป็นอย่างไร น่าสนใจมากค่ะ

ขอเพิ่มเติม เรื่องสารระงับกลิ่นปาก มีชื่อว่า Catechin พบในชาเขียว เป็นสารที่ไปทำปฏิกิริยากับ Mercaptan หรือสารประกอบพวก sulfur ที่มีอยู่ในปากและน้ำลายของเรา ทำให้ไม่มีกลิ่นปากได้

การใช้ยา chlorhexidine บ้วนปากนาน 2 สัปดาห์ ทำให้ช่องปากและฟันมีสีเปลี่ยนได้ เมื่อเลิกใช้สักระยะหนึ่งก็จะหายครับ

ยา Triclosan ปัจจุบันในอเมริกา ถูกห้ามใช้ผสมในน้ำยาล้างมือ เพราะจะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง แต่ในน้ำยาบ้วนปากยังไม่ทราบว่าห้ามหรือเปล่าครับ

อยากเรียนถามอาจารย์ว่า ในทางวิชาการ การเปรียบเทียบว่าน้ำยาบ้วนปากยี่ห้อไหนมีประสิทธิภาพดีกว่ากัน เขานิยมใช้อะไรเป็นตัวบ่งชี้ครับ เช่น การเทียบปริมาณ Plaque การเทียบค่า MIC ในการฆ่าเชื้อ ...... ฯลฯ ขอบคุณครับ

ตัว outcome นั้น ยิ่งเป็น surrogate end point ยิ่งไม่น่าจะเป็นประโยชน์ค่ะ (เช่น Plaque หรือ จำนวนเชื้อ)

ถ้าเป็น outcome ไกลๆ เช่น การอักเสบของเหงือก รอยโรคฟันผุ หรือ การสูญเสียฟันไปเลยน่าจะดีกว่า

หรือการมีกลิ่นปากวัดสาร Volatile Sulphur Compounds ก็ยังดีกว่าวัดจำนวนเชื้อหรือ plaque ค่ะ

ก็เลือกใช้ index ที่มีความหมายทางคลินิกไปเลยจะดีกว่า [= direct practical importance]

แต่ก็ใช้ surrogate end point ก็เก็บข้อมูลง่ายและเร็วค่ะ ก็ขึ้นอยู่กับกรอบเวลาที่จะทำการศึกษาด้วยค่ะ

- มัทนา

ปล. tricosan ยังมีทั้งในยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากหลายยี่ห้อค่ะ

ขอบคุณมากๆค่ะ อาจารย์ที่รวบรวม และมาสรุปให้ได้อ่านกัน ได้ความรูมากค่ะ

เพราะตอนแรกไม่รู้จะเชื่อ references ไหนดี (เพราะไม่แน่ใจว่ามีเรื่องการตลาดมาเกี่ยวของรึเปล่าค่ะ) อิอิ

เบน

บันทึกนี้ไม่ update นะ เพราะพี่ไม่ได้เขียนถึง cetylpyridinium chloride (CPC) หรืออะไรที่มันไม่ได้อยู่ใน review ปีนั้้น ต้องคอยตาม study อีกที

เคยซื้อน้ำยาบ้วนปากหลังอาหาร มีส่วนประกอบ chloroxylenol อยากทราบว่ามีคุณสมบัติอย่างไร ซื้อจากแผนกเภสัชกรรม ศิริราช

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท