การเขียน สร้างจุดหมายใน "การมอง..."


สำหรับการดำเนินชีวิตในสังคม อายตนะทั้ง 6 ของเราคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ ต้องสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ รอบกายอยู่ตลอดเวลา

หลาย ๆ อย่างผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่ถ้าเรามีจุดหมายว่าเราจะต้องนำสิ่งนั้นไปใช้ทำอะไร นั้นเป็นการสร้างจุดหมายในการมอง...

การมองในนี้มิได้หมายความเพียงถึง การมองด้วยสายตาเท่านั้น

เพราะการที่เราจะมองสิ่งใด อาจเกิดขึ้นมาได้จากการที่หูได้ยิน จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นได้สัมผัสรส เมื่อสัมผัสแล้ว หากเราไม่ได้ตั้งจุดหมายว่าจะเอาสิ่งที่สัมผัสนั้นไปทำอะไร เราก็ปล่อยให้สิ่งนั้นผ่านไปและ "ผ่านไป..."

กว่า 6 ปี ที่ข้าพเจ้าได้รู้จักกับ Gotonow การมองของข้าพเจ้านั้นเปลี่ยนไป เมื่อก่อนนั้นมองทิ้ง มองขว้าง มองโลกไม่กว้างเหมือนในปัจจุบัน

การเขียนเป็นจุดหมายสำคัญที่เกิดขึ้นมาเมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าได้พบกับ Gotoknow

เมื่อมองเห็นใบไม้สักใบ ก็ต้องคิดต่อไปว่าจะเชื่อมโยงงานเขียนได้อย่างไร จึงเป็นเหตุที่ทำให้จิตใจจดจ่อพิจารณาสิ่งนั้นโดยละเอียด

 

การเขียนเพื่อให้สาธารณะชนได้อ่านนั้น มิใช่ว่าจะหวังแต่เพียงคำชื่นชมหรือเสียงสรรเสริญ แต่การที่คนอ่านงานของเรา ทำให้เราเป็นคนที่จะต้อง "คิดให้ลึก"

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ จากการที่เคยมองและคิดตื้น ๆ ทำให้ข้าพเจ้าต้องพิจารณาให้ลึกขึ้น สิ่งนั้นรู้แล้วก็เขียนได้เลย แต่ถ้าหากยังไม่รู้ คุ้น ๆ ว่ามีทฤษฎีใดอยู่ ก็ต้องไปศึกษาค้นคว้าแล้วนำมาเพิ่มเติมในงานเขียน

การถ่ายทอดภาษาผ่านงานเขียนนั้น ทีมงานได้แต่งแต้มสีสรรบริการ option ทางด้านแสง สี เสียง ทั้งรูปภาพ และวีดีโอ ให้ผู้ใช้บริการอย่างเรา ๆ สามารถออกแบบงานเขียนของเราให้สวยสดและงดงามมากยิ่งขึ้น

การเข้าถึงเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญในสภาวะสังคมที่เรียกว่า Knowledge Explosion ความรู้สามารถระเบิดออกมาได้จากจิตใจและร่างกายของทุก ๆ คน

ถ้าหากเรามีเป้าหมายในการเขียน เราก็สามารถเปิดประตูขุมทรัพย์ที่จิตสำนึกเก็บซ่อนไว้

เมื่อเราพิจารณาใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วน เราจะพบว่า "เรารู้มากกว่าที่เราเคยคิดว่าเรารู้"

การเขียนทำให้เรารู้พลังความสามารถของตัวเราเอง รู้ว่าเราทำได้ รู้ว่าเราสามารถพัฒนาตนเองได้ รู้ว่าเราสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมนี้ได้ทุกที่ ทุกเวลา...


หมายเลขบันทึก: 444426เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2011 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เมื่อมองแล้ว เห็นแล้ว นำกลับมาคิด มาเขียนจะช่วยให้การมองครั้งนั้นแจ่มชัดขึ้น

หากสิ่งใดยังพร่ามั่ว นึกกลับ ย้อนคิด มีโอกาส กลับไปพินิจพิจารณาย่อมเกิดคุณค่าทั้งการมองและการเขียน

หากมองแล้วไม่เขียน การมองครั้งนั้นอาจสูญเปล่า มองแล้วผ่านเลยไป

หากการมองครั้งใดมีจุดมุ่งหมาย สิ่งที่มองย่อมไม่สูญสลายไปในพริบตา...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท