ยินดีกับผู้ได้รับรางวัล R2R..โรงพยาบาลศรีนครินทร์


รพ ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับรางวัล R2R กลุ่ม 3 ระดับบริการตติยภูมิ 2 เรื่อง จากผลงานที่ส่ง 6 เรื่อง

จากผลงานที่ส่งมาจากทั่วประเทศ 113 เรื่อง

เป็นผลงานจาก รพ มหาวิทยาลัยที่ส่ง ศิริราชส่ง 10 เรื่อง รพ สงขลานครินทร์ 8 เรื่อง  ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเศก มหิดล 3 เรื่อง รพ มหาราชเชียงใหม่ 2 เรื่อง และวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า 1 เรื่อง

ผลการพิจารณางานวิจัย R2R

ในกลุ่มโรงเรียนแพทย์ ที่ได้รับรางวัล จำนวน 6 เรื่อง

  • ศิริราช 3 เรื่อง
  • ศรีนครินทร์ 2 เรื่อง
  • เชียงใหม่ 1 เรื่อง

กลุม รพ ศูนย์และทั่วไป 6 เรื่อง

  • อุบล นครราชสีมา สุราษฎร์ หาดใหญ่ ราชบุรีและนนทบุรี

สำหรับเรื่องที่ไม่ได้รับรางวัลแต่เป็นเรื่องน่าสนใจ คณะกรรมการคัดเลือกให้มานำเสนอ Poster 10 รางวัล

วิเคราะห์งานวิจัย จำนวน 73 เรื่อง ไม่ได้ตีพิมพ์ เพราะยังไม่ได้นำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ บางงานวิจัยเป็น CQI ระเบียบวิจัยยังอ่อนมาก การวัดผล เน้นการวัดผู้ให้บริการและกระบวนการ โดยยังไม่วัดผลลงไปถึงผู้ใช้บริการ กรณีวัดก็วัดเฉพาะความพึงพอใจ และการวัดผลบางส่วนไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ผลงานที่ทำคนเดียวก็จะถูกคัดออกเช่นกัน เพราะการทำ R2R ต้องทำเป็นทีม

ผลงานวิจัย R2R ที่สามารถผ่านเกณฑ์

การนำผลการวิจัยมาใช้ประโยชน์และต่อยอดจะได้ประโยชน์มากกว่า เช่นงานวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการดูแลบาดแผลโดยใช้ความรู้เชิงประจักษ์ ผู้วิจัยค้นหาความรู้จากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีอยู่แล้วจนได้องค์ความรู้ในการทำแผล การเลือกใช้น้ำยา วัสดุปิดแผล และวิธีการทำแผล ทำให้ผลงานชิ้นนี้เป็นตัวอย่างที่ดีและได้รับรางวัลในครั้งนี้ด้วย

เอกสารอ้างอิง ศ นพ สมบูรณ์ เทียนทอง, 2554. การสังเคราะห์ความรู้จากผลงานวิจัย R2R กลุ่มที่ 3 ระดับบริการตติยภูมิ ในหนังสือประกอบการประชุม การสังเคราะห์ปัญญาเพื่อพัฒนา R2R ปี 2554 

....................................................................................................

ในโอกาสนี้ดิฉันขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่ได้รับรางวัล รวมทั้งงานของ รพ ศรีนครินทร์ด้วยนะคะ

รศ. ดร. เบญจมาศ พระธานี  จากภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เรื่อง โปรแกรมการฝึกเสียงด้วยตนเองในผู้ป่วยเสียงแหบ(The Self-Training Voice Therapy for Patients with Hoarseness)  

ที่มาของปัญหา ความชุก:  OPD ENT ร้อยละ 0.26-3.2 คลินิกฝึกพูดร้อยละ 88.79 ของโรคเสียงแหบ  อาชีพต่างๆ ในสถานที่ทำงานร้อยละ 0.19-4.20 สาเหตุ: การใช้เสียงผิดวิธี (vocal abuse or vocal misuse syndrome) หรือการใช้กล้ามเนื้อในการพูดผิดวิธี (muscle tension dysphonia) ทำให้เกิดผลเสีย ดังนั้นจึงเกิด      วิธีคิดในการตั้งคำถามวิจัย การรักษา( การฝึกพูด (voice therapy) และ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เสียงใหม่  ระยะยาว (long term treatment): 3 เดือน – 2 ปี ในต่างประเทศพบปัญหาการลางานทุก 1-2 ครั้ง/สัปดาห์ ส่วนประเทศไทย  พบปัญหาการขาดแคลนนักแก้ไขการพูด การลางานทุก 1 ครั้ง/ 1-2 เดือน (ในช่วงเวลา 3 เดือน – 2 ปี) ดังนั้น คำถามวิจัย: คือ โปรแกรมการฝึกเสียงด้วยตนเองในผู้ป่วยเสียงแหบสามารถลดอาการเสียงแหบจากการใช้เสียงผิดวิธีโดยการเพิ่มค่าเวลาของการออกเสียงยาวที่สุด (Maximum Phonation Time: MPT) ใน10 สัปดาห์ได้หรือไม่ ?

การฝึกแบบเดิม: ฝึกเดี่ยว & ฝึกเองที่บ้าน ในท่า นอน นั่ง ยืน เดิน

การฝึกแบบใหม่: ฝึกกลุ่ม & ฝึกจากวิดิทัศน์  (ขบวนการจัดวิดิทัศน์เสียงแหบ สุขอนามัยของเสียง & วิดิทัศน์การฝึกเสียง 15 ตอน )ในท่า นอน นั่ง ยืน เดิน

ประโยชน์และการเปลี่ยนแปลง หน่วยงาน:  ประสานงานอย่างเป็นระบบ และ สหสาขาวิชาชีพ

ผู้ป่วย: เข้าใจ เห็นภาพ และแนวทางแก้ไขปัญหาสุขภาพตนเอง ฝึกเป็นกลุ่มเกิดเพื่อช่งยเพื่อน ลดการลางานและระยะเวลาในการรักษา ลดระยะเวลาการฝึกเหลือ 10 สัปดาห์ (จากเดิมถ้าในต่างประเทศ ใช้เวลา 8-10 สัปดาห์ และประเทศไทย 8-16 สัปดาห์)  ลดค่าใช้จ่าย 2,105 บาท(จากเดิมถ้าในต่างประเทศ 8,420 บาท  และประเทศไทย 4,210 บาท) นักแก้ไขการพูด และ ผู้ปฏิบัติงาน:  ทำงานเป็นทีม ฝึกตามแนวทางที่ทำไว้

มีวิดิทัศน์ทำให้ประหยัดเวลา ฝึกเป็นกลุ่ม ไม่ต้องอธิบายซ้ำๆ องค์กรและระบบสาธารณสุขของประเทศ: หน่วยบริการตติยภูมิที่ให้บริการผู้ป่วยเสียงแหบได้อย่างทั่วถึง และ บริการผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น อย่างมีประสิทธิ์ภาพ

 ปัจจัยแห่งความสำเร็จคือการทำงานเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพออย่างเป็นระบบ

ผศ. (พิเศษ) นพ. ไพโรจน์ บุณลักษณ์ศิริ: ให้คำชื่นชมหลังผู้นำเสนอจบ ว่าเป็นงานวิจัย R2R อย่างแท้จริง (real R2R) คนทำมีความสุข ผู้ป่วยได้ประโยชน์ องค์กรได้ประโยชน์

 

เรื่องที่ 2

การส่งเสริมการเลี้ยงลูกที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอดในทารกที่มารับการฝึกให้นมแม่ในหอผู้ป่วยหลังคลอด (2ข.) โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น

พรเพ็ญ ปทุมวิวัฒนา, สุธิดา ทองสุขโข, ธาริณี นราธิปกร, สุธีรา ประดับวงษ์, กุสุมา ชูศิลป์  งานบริการพยาบาล โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์     มหาวิทยาลัยขอนแก่น  

 ปัญหาและความเป็นมา

               โรงพยาบาลศรีนครินทร์มีผู้รับบริการผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่รายใหม่ปีละ 200 ราย ทารกที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่มักจะประสบกับปัญหาในการให้นม  จึงส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการตั้งแต่แรกคลอด   เดิมการดูแลการให้นมทารกเหล่านี้ต้องแยกทารกไปดูแลที่หอผู้ป่วยเด็กและมารดาอยู่ที่หอผู้ป่วยหลังคลอด   ให้นมโดยวิธีการใส่สายให้อาหาร(NG  tube feeding)  หรือบางรายสามารถใส่เพดานเทียมได้ก็ใช้ขวดนมที่เจาะรูจุกนมให้ใหญ่ขึ้นเนื่องจากขวดนมพิเศษสำหรับทารกกลุ่มนี้มีราคาแพง   ทำให้ทารกเกิดปัญหาสำลักนมบ่อย  ทารกกลุ่มนี้มักมีปัญหาปอดอักเสบ  เป็นหวัดเรื้อรัง   หูชั้นกลางอักเสบ และมีภาวะทุพโภชนาการ     เมื่อทารกมีภาวะเจ็บป่วยจึงส่งผลต่อการผ่าตัดทำให้ไม่สามารถผ่าตัดตามเวลาได้  ในด้านของมารดาที่คลอดทารกพิการส่วนใหญ่มักจะปฏิเสธการเลี้ยงดูทารก  ทอดทิ้งทารกหรือเลี้ยงดูแบบหลบซ่อน  ขาดการติดตามการรักษาที่ต่อเนื่องเพราะอับอายเพื่อนบ้าน  ไม่กล้านำลูกออกสู่สังคม   พยาบาลจึงนำแนวคิดโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่-ลูกมาปฏิบัติต่อมารดาที่คลอดทารกพิการปากแหว่งเพดานโหว่  และนำแนวคิดกลไกการหลั่งน้ำนมแม่ที่มีความสัมพันธ์กับการดูดการกลืน การหายใจของทารกรวมทั้งตอบสนองต่อกลไกการบีบ เพื่อให้น้ำนมถูกสร้างและเพื่อทำให้ทารกได้รับน้ำนมเพียงพอ    เพราะทารกเหล่านี้มีปัญหาที่ไม่สามารถทำให้ช่องปากเป็นสุญญากาศ(negative pressure)ได้ ส่งผลให้สามารถช่วยเหลือให้ทารกปากแหว่งเพดานโหว่ดูดนมแม่จากเต้านมแม่โดยตรงได้  โดยน้ำหนักทารกมีการเพิ่มขึ้นเหมือนทารกปกติ  และไม่มีภาวะแทรกซ้อนและไม่ต้องใช้เพดานเทียม  และยังทำให้มารดาเกิดการยอมรับความพิการของทารก   เกิดความรักความผูกพันต่อทารก   และเห็นว่าการให้อาหารทารกไม่ได้แตกต่างจากทารกทั่วไป   ไม่รู้สึกอายที่จะนำทารกออกสู่สังคม  รวมทั้งทำให้ทารกได้การรักษาอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ต่อมาทีมสหสาขาวิชาชีพได้เล็งเห็นความสำคัญของทีมพยาบาลหลังคลอดจึงให้เป็นหนึ่งในทีมที่ให้การดูแลทารกปากแหว่งเพดานโหว่   และให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากเต้าเป็นรูปแบบแนวทางในการดูแลทารกปากแหว่งเพดานโหว่และได้ส่งมารดาและทารกที่คลอดจากโรงพยาบาลอื่นๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ที่ส่งตัวมารักษาเนื่องจากปัญหาสำลักนม มาฝึกการให้นมแม่ที่หอผู้ป่วยหลังคลอด    ผู้วิจัยจึงต้องการจะติดตามว่าทารกเหล่านี้หลังจากส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยแม่ด้วยการดูดจากเต้าที่โรงพยาบาลสำเร็จแล้ว   จะสามารถเลี้ยงได้ต่อเนื่องนานเท่าไรและมีการเจริญเติบโตเป็นอย่างไร   มีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่และปัจจัยอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการไม่สามารถให้น้ำนมแม่จากเต้าต่อเนื่องได้

วัตถุประสงค์  

  • เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ทารกที่มีภาวะปากแหว่งและเพดานโหว่ชนิดสมบูรณ์ สามารถดูดนมแม่จากเต้าได้โดยตรงและได้นมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดถึง  6 เดือน
  •  เพื่อศึกษาปัจจัยที่ทำให้มารดาไม่สามารถให้ทารกที่มีภาวะปากแหว่งและเพดานโหว่ชนิดสมบูรณ์ดูดนมจากเต้าได้ต่อเนื่องจนถึง 6 เดือน 

ระเบียบวิธีวิจัย  กลุ่มตัวอย่าง   เป็นมารดาที่คลอดทารกปากแหว่งเพดานโหว่ทั้งที่คลอดในโรงพยาบาลศรีนครินทร์   และคลอดจากโรงพยาบาลอื่นที่ได้รับการส่งตัวมารับการรักษาด้วยปัญหาดูดนมไม่ได้   สำลักนม  ทารกให้นมด้วยสายให้อาหาร(NG) หรือด้วยวิธีอื่นๆมาก่อน มารดายังอยู่ในระยะที่น้ำนมยังไม่หมด(ไม่เกิน 1 เดือนหลังคลอด)ทั้งมารดาและทารกรับไว้ดูแลที่หอผู้ป่วยหลังคลอด

ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม  พ.ศ. 2552  และติดตามการให้นมแม่จนถึงปีพ.ศ. 2553หรือจนมารดายุติการให้นมแม่

วิธีการศึกษา   มารดาและทารกปากแหว่งเพดานโหว่ได้รับการปฏิบัติตามนโยบายโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่-ลูกครบตามบันได 10 ขั้น(10 Step )  พยาบาลเข้าช่วยเหลือให้แม่ทราบวิธีให้ลูกดูดนมแม่ตั้งแต่เริ่มแรก  ในเรื่องท่าอุ้ม  วิธีการประคองเต้านม  วิธีการทำให้ทารกอ้าปากกว้าง  วิธีการอมหัวนมแม่   วิธีการบีบน้ำนมเพื่อช่วยให้ทารกได้รับน้ำนมอย่างพียงพอ  และจังหวะการบีบนมที่สัมพันธ์กับการดูด การกลืน และการหายใจ    ติดตามประเมินความเพียงพอของน้ำนมโดยชั่งน้ำหนักทารกทุกวัน  ประเมินจำนวนปัสสาวะ อุจจาระทุกวันและประเมินประสิทธิภาพของการดูดนมทารกโดยใช้เครื่องมือเครื่องมือแลช (LATCH Score) นัดติดตามน้ำหนักทารก   การให้นมแม่จากเต้า   ความเพียงพอของนมแม่  โดยนัดมารดาและทารกมาที่คลินิกนมแม่ โรงพยาบาลศรีนครินทร์  หลังจำหน่าย 1 สัปดาห์   และเมื่อทารกอายุครบ   1 เดือน  2 เดือน  4 เดือน และ 6 เดือน   

ผลการศึกษา    พบว่า   ทารกปากแหว่งเพดานโหว่ชนิดสมบูรณ์(Complete cleft lip and cleft palate) จำนวน 20 คู่  ขณะอยู่โรงพยาบาลสามารถดูดนมแม่จากเต้าได้สำเร็จทุกราย โดยน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ น้ำหนักลดไม่เกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักแรกคลอดและน้ำหนักทารกเริ่มเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยวันที่  5   และเมื่อติดตามหลังจำหน่าย 1 สัปดาห์  และเมื่อทารกอายุ  1 เดือน 2 เดือน 4 เดือนและ 6 เดือน เพื่อติดตามการให้นมแม่พบว่า  มีทารก 2 รายที่ได้รับนมแม่อย่างเดียว (Exclusive breastfeeding )ครบ 6 เดือน โดยมารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควบคู่กับอาหารเสริมต่อเนื่องจนทารกอายุ 15-18 เดือน และมีทารก 2 รายที่มารดาให้นมแม่เพียง  2 เดือน อีก 16 รายให้ได้นาน 3-4 เดือน ทารกทุกรายที่อยู่ในระหว่างให้นมแม่มีสุขภาพดี ไม่มีภาวะสำลักนมและไม่มีภาวะแทรกซ้อน น้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์และมารดามีน้ำนมเพียงพอ  สัมพันธภาพระหว่างบิดามารดาและทารกดีมาก  ทั้งมารดาและบิดาเป็นผู้ที่นำทารกมาติดตามการรักษาต่อเนื่องและได้รับการผ่าตัดตามกำหนดเวลา   ส่วนปัจจัยที่ทำให้หยุดให้นมแม่คือ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจทำให้แม่ต้องกลับไปทำงานเพื่อหารายได้เสริมครอบครัว

 การนำผลการวิจัยไปใช้ในงานประจำ

       ปัจจุบันได้ใช้เป็นแนวทาง(Guideline) ในการดูแลทารกที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่รวมทั้งทารกที่มีความพิการของศีรษะและใบหน้าในโรงพยาบาลศรีนครินทร์   และได้ขยายผลให้กับพยาบาลในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    โดยการจัดอบรมให้กับแพทย์  พยาบาลและทันตแพทย์ที่ดูแลทารก  และได้นำผลงานเผยแพร่ในทีมสหสาขาวิชาชีพที่ดูแลทารกปากแหว่งเพดานโหว่ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

ผลกระทบต่องาน   ทำให้การดูแลมารดาที่คลอดทารกพิการปากแหว่งเพดานโหว่ง่ายขึ้น  มารดาเลี้ยงทารกโดยเฉพาะการให้นมง่ายขึ้นไม่ซับซ้อน  ทั้งบิดาและมารดามีสัมพันธภาพที่ดีมากต่อทารกพิการ   ยอมรับความพิการของทารกโดยนำทารกออกสู่สังคม โดยไม่รู้สึกอาย  เลี้ยงดูทารกด้วยความเอาใจใส่โดยการนำทารกมารับการรักษาอย่างต่อเนื่องซึ่งไม่ได้สิ้นสุดที่เพียงแค่การเย็บริมฝีปากเพื่อปิดบังความพิการเหมือนก่อน  ครอบครัวได้เติมเต็มความรักความผูกพัน ทารกไม่ถูกทอดทิ้งให้เป็นปัญหาของสังคม    ทีมสหสาขาวิชาชีพเกิดความพึงพอใจที่การรักษาต่อเนื่อง   พยาบาลเกิดความพึงพอใจในบทบาทอิสระของตนเอง  บิดามารดาพึงพอใจและเข้าใจต่อการให้บริการของพยาบาลและทีม

บทเรียนที่ได้รับ    ลบล้างความเชื่อและทฤษฎีที่ว่าทารกปากแหว่งเพดานโหว่ชนิดสมบูรณ์ไม่สามารถดูดนมแม่จากเต้าได้   ความสำเร็จเกิดจากการมองเห็นความทุกข์ของมารดาที่มีทารกพิการและเห็นประโยชน์ว่านมแม่  จะเป็นตัวเชื่อมสัมพันธภาพระหว่างแม่และลูกทำให้ค้นพบองค์ความรู้ใหม่คือทารกปากแหว่งเพดานโหว่ชนิดสมบูรณ์ดูดนมแม่จากเต้าได้  โดยเจริญเติบโตได้เหมือนทารกปกติ

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ  พยาบาลแก้ปัญหาโดยมองประโยชน์ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางโดยไม่เกี่ยงว่างานนั้นจะเพิ่มภาระให้กับเราหรือไม่  ความร่วมมือของทีมงานและการได้รับเกียรติจากทีมสหสาขาวิชาชีพ  และการสนับสนุนจากผู้บริหารที่ส่งเสริมการพัฒนางาน

 โครงการนี้สำเร็จเพราะได้รับการสนับสนุนจาก  ทีมสหสาขาวิชาชีพโดยเฉพาะกุมารแพทย์ที่มองเห็นความทุกข์ของมารดาและมองเห็นความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาของทีมพยาบาล  และที่สำคัญคือ  หัวหน้าศูนย์วิจัยผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า      มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้โครงการตะวันฉาย(ศูนย์ตะวันฉาย)ที่ให้งบสนับสนุนโครงการวิจัยเพื่อให้มารดามีค่าเดินทางในการนำทารกมาติดตามผลการวิจัย

 

หมายเลขบันทึก: 451188เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2011 06:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ในโอกาสนี้ คุณเกศนี ได้รับเลือกให้ไปนำเสนอผลงานด้วยค่ะ

การพัฒนารูปแบบสานฝันผู้ป่วยเด็กวัยรุ่นที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย

Developing a model of fulfilling dreams for adolescents with cancer

เกศนี บุณยวัฒนางกุล* สุรพล เวียงนนท์** ภูริทัศน์ คู่ชัยภูมิ*** ไพพร ศรีประย่า**** สุดารัตน์ สุภาพงษ์***** เลี่ยมทอง ช่อเพชรกุล****** ศิริพร นานอก*******โรงพยาบาลศรีนครินทร์  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น

มาร่วมแสดงความยินดีด้วยครับ

และเป็นกำลังใจให้รายอื่น ต่อไปครับ

แสดงความยินดีกับ พี่พรเพ็ญและอจารย์เบญจมาศ ค่ะ

มีผลงานที่มีคุณภาพ เชียร์........

ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ

  • พี่แก้ว
  • ขอแสดงความยินดีกับพี่ๆทุกๆท่านด้วยครับ
  • ฝากความระลึกถึงคุณหมอสมบูรณ์ด้วยครับ

ดีใจด้วยนะครับ...

ทีมงาน ร.พ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น

สุดยอดทุกท่านครับ

  • สวัสดีครับพี่แก้ว
  • ชื่นชม ยินดี กับพี่ๆ ทุกท่าน เยี่ยมมากๆ ครับ

สวัสดีค่ะพี่แก้ว

ยินดีด้วยกับพี่ๆค่ะ ชื่นชมค่ะ

ขอบคุณทุกท่านที่มาเชียร์

คนทำงานค่ะ...

ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ วันนั้ก็ได้เข้าไปร่วมงานเหมือนกัน ได้ไปนั่งฟังพี่เค้าพูด แต่ไม่ได้เข้าไปทัก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท