กระยาสารท : ความเป็มชุมชนบนอาหาร สุขภาวะจิตวิญญาณ และอีกพื้นฐานความสามัคคีคนหนองบัว


 

                         อธิบายภาพ : ชาวบ้าน บ้านตาลิน และชาวบ้านอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ รวมตัวกันทำกระยาสารท ซึ่งเป็นเทศกาลการทำอาหารอย่างหนึ่งที่มีมิติความเป็นชุมชนและกระบวนการเชิงวัฒนธรรม ซึ่งก่อเกิดกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมและสร้างสุขภาวะทางจิตวิญญาณของชุมชนขึ้นอย่างลึกซึ้ง  วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์ 

  ชุมชนหนองบัว   มีพื้นฐานเป็นชุมชนเกษตรกรรมเหมือนกับชุมชนส่วนใหญ่ของประเทศ พื้นที่ของอำเภอหนองบัว นอกจากจะเป็นที่ราบลุ่มเหนือบึงบระเพ็ดและแอ่งความอุดมสมบูรณ์สำหรับเพาะปลูกข้าวในภาคกลางของประเทศไทยแล้ว พื้นที่ส่วนหนึ่งก็เป็นป่าเขา มีเหมืองแร่ยิบซั่มที่ใหญ่ที่สุด มีป่าไม้และพืชพันธุ์หลากหลาย รวมทั้งเป็นที่ราบสำหรับการทำพืชไร่และการปศุสัตว์

การปลูกข้าวและการทำเกษตรกรรมจึงเป็นโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมการผลิต อันนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคม กิจกรรมชีวิต วิถีชุมชน ตลอดจนกระบวนการเรียนรู้ ผสมผสานไปกับวิถีทำกินในฤดูกาลต่างๆ

วัฒนธรรมอาหารเป็นจำนวนมากจึงมีความเชื่อมโยงและสะท้อนวิถีชีวิตของชุมชนอย่างใกล้ชิด จึงเป็นวิธีหนึ่งที่เราสามารถช่วยให้ชาวบ้านได้วิธีเรียบง่ายแต่แยบคายในอันที่จะเรียนรู้สังคม คะเนสภาวการณ์ เห็นความเป็นชุมชนและองค์ประกอบต่างๆภายในชุมชน จากการพิจารณามิติต่างๆในความเป็นอาหาร

  กระยาสารทกับมิติสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม  : เวทีกิจกรรมที่สร้างสำนึกสาธารณะด้วยอาหารตามฤดูกาล 

กระยาสารท เป็นหนึ่งในอาหารหวานที่แพร่หลาย ซึ่งในอดีตนั้นจะเป็นอาหารที่ทำขึ้นตามฤดูกาลเนื่องอยู่กับการทำบุญเดือนสิบ ดังปรากฏใน นิราศเดือน โดย หมื่นพรหมสมพัตร (นายมี ลูกศิษย์คนหนึ่งของสุนทรภู่) ว่า

                                                                    “………………………

                                                                    ถึงเดือนสิบเห็นกันเมื่อวันสารท
                                                                    ใส่อังคาสโภชนากระยาหาร
                                                                    กระยาสารทกล้วยไข่ใส่โตกพาน
                                                                    พวกชาวบ้านถ้วนหน้ามาธารณะ

                                                             ถ้างามคมห่มสีชุลีนบ
                                                             แล้วจับจบทัพพีน้อมศีรษะ
                                                             หยิบข้าวของกระยาสารทใส่บาตรพระ
                                                             ธารณะเสร็จสรรพกลับมาเรือน

                                                                    พอลับเนตรเชษฐาอุราร้อน
                                                                    แสนอาวรณ์โหยให้ใครจะเหมือน
                                                                    ไม่รู้ที่จะวานใครไปตักเตือน
                                                                    ให้มาเยือนเยี่ยมพี่ถึงที่นอน

                                                              …………………....”

                                                             ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
                                                             และ กวีคลับดอทคอม : สังคมดีๆของคนรักกลอน

คนหนองบัวทำกระยาสารทเป็นเทศกาลอาหารในเดือน ๑๐ เช่นเดียวกับอีกหลายภูมิภาคของสังคมไทย ทว่า รสชาดและส่วนประกอบของกระยาสารท ตลอดจนรูปแบบการทำและเครื่องประกอบในการกินก็อาจจะแตกต่างไปจากแหล่งอื่นๆในรายละเอียด เช่น ในบางปีที่น้ำท่าอุดมสมบูรณฺ์ ท้องถิ่นหนองบัวได้ผลผลิตดี ชาวบ้านแถวกำแพงเพชรสามารถส่งกล้วยไข่ไปขายถึงชุมแสง ชาวบ้านหนองบัวนำข้าวเปลือกไปแลกน้ำตาลและแบะแซไปทำกระยาสารทให้เครื่องถึงทั้งความหวานและมัน เหมาะสมที่จะกินกับกล้วยไข่ ชาวบ้านก็จะทำกระยาสารทให้เหมาะกับการกินกับกล้วยไข่

จะยากดีมีจนอย่างไร คนหนองบัวก็เหมือนกับคนไทยในทุกท้องถิ่นที่จะต้องไม่ขาดจากการทำบุญกุศล และกระยาสารทในแง่หนึ่งก็เป็นอาหารหวานที่เนื่องไปกับเทศกาลทำบุญเดือน ๑๐ มีนัยของการทำเพื่อสร้างบุญกุศล ชาวบ้านต้องคิดทำเหมือนเป็นการปฏิบัติสิ่งดี อาจแตกต่างกันไปในแต่ละปีบ้างแต่จะไม่ขาด ดังนั้น ความเป็นกระยาสารท จึงเชื่อมโยงอยู่กับวิถีทำอยู่ทำกินของชาวบ้านอย่างใกล้ชิด 

แต่โดยภาพรวมแล้วกระยาสารทกับคนในท้องถิ่นหนองบัวก็เป็นลักษณะความร่วมกันอย่างหนึ่งของชุมชนที่ทำไร่นา ปลูกถั่วงา อ้อย มะพร้าว มีความสำนึกต่อการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มก้อนและกินข้าวเป็นอาหารหลัก หรือเป็นสามัญลักษณะที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทยที่ยังมีความเป็นสังคมเกษตรกรรม เพียงแต่อาจแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด ซึ่งมักสะท้อนบริบทความเป็นท้องถิ่นพอสมควร

  การสร้างความเป็นชุมชนบนกระบวนการทำกระยาสารท 

การทำกระยาสารทนั้นมีจังหวะเคลื่อนไหวไปกับงานทำบุญงานประเพณี ทำให้เนื้อหากิจกรรมก่อเกิดขึ้นบนความสำนึกต่อการทำสิ่งดีงามเพื่อตนเองและสังคม เป็นวาระได้พัฒนาจิตใจ แสดงออกในความละเอียดประนีตทั้งศิลปะ การแต่งกาย ดังพรรณาในนิราศเดือนของหมื่นพหมสมพัตสรหรือนายมีศิษย์ของสุนทรภู่ ขณะเดียวกัน ก็เป็นอาหารหวานที่ต้องระดมความร่วมแรงร่วมใจช่วยกันทำหลายคน จึงเป็นเสมือนเวทีสร้างสรรค์ความเป็นสาธารณะซึ่งก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และเคลื่อนไหวชีวิตชุมชนหลายด้านให้ดำเนินไปอย่างมีชีวิตชีวา

  วตถุดิบของกระยาสารทสะท้อนผลผลิตและความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน 

การทำกระยาสารท จะอาศัยวัตถุดิบที่หาได้ในชุมชนและดัดแปลงส่วนประกอบต่างๆให้เหมาะไปตามผลผผลิตที่ได้รับในฤดูกาลทำนาแต่ละปี ข้าวตอกจะทำจากข้าวเก่าที่ได้จากผลผลิตในปีที่ผ่านไป ส่วนข้าวเม่าก็จะเป็นข้าวใหม่ที่ได้จากปีปัจจุบันที่ทำกระยาสารท มะพร้าวก็จะหิ้วมาช่วยกันจากบ้านต่างๆคนละลูกสองลูก ถั่วงา น้ำตาล ก็จะหิ้วมารวมกัน ๕-๑๐ ครัวเรือน ส่วนผสมของกระยาสารทจึงมีความสัมพันธ์กับความรักความผูกพันและความร่วมแรงร่วมใจกันของชุมชน

เมื่อรวมวัตถุดิบและรวมกลุ่มกันทำกระยาสารทเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะแบ่งปันกันทุกบ้านอย่างทั่วถึง ดังนั้น ในปีหนึ่งๆ รสชาด สัดส่วน ปริมาณและคุณภาพของกระยาสารท เช่น ความหวานหอมด้วยถึงน้ำตาลและข้าวเม่า ความเหนียวนุ่มด้วยถั่วแบะแซ ความหวานมันด้วยกะทิและถั่วงา เหล่านี้ ก็จะแตกต่างกันไปตามความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิต หากปีใดแล้งและผลผลิตไม่ดี กระยาสารทก็จะทำกันไปตามสภาพของสิ่งที่มีและหาได้ในหมู่บ้าน

บางปีอาจจะดัดแปลงทำให้ร่วนมากกว่าแหล่งอื่นเนื่องจากหลายแห่งของชาวบ้านหนองบัวทำน้ำตาลงบจากการหีบอ้อยและมีผลผลิตไม่ดีพอที่จะเอาข้าวเปลือกไปแลกน้ำตาลปีบ ถั่ว งา และแบะแซจากตลาดชุมแสง การลดน้ำตาลปีบและแบะแซก็จะทำให้กระยาสารทในปีนั้นๆร่วนและลดความหวานมันลงไปตามสภาวการณ์ต่างๆที่ชุมชนประสบ

  ความสามัคคีและการมีส่วนร่วมของปัจเจก 

การทำกระยาสารทจำเป็นต้องทำช่วยกันเป็นกลุ่มก้อนและมีการแบ่งงานกันอย่างซับซ้อน กระจายการมีส่วนร่วมได้อย่างทั่วถึงทั้งบนความแตกต่างระหว่างเพศชายหญิง ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ชายวัยแรงงาน กลุ่มสตรีแม่บ้าน เยาวชนและคนหนุ่มสาว ตลอดจนกลุ่มเด็กๆและเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุก็จะรวมกลุ่มสนทนาถึงสารทุกข์สุกดิบของลูกหลานพร้อมไปกับนั่งเก็บเปลือกถั่วงาและแกลบออกจากข้าวเม่า เด็กๆก็หาฟืนและวิ่งขนของช่วยผู้ใหญ่ ผู้ชายก็กวนส่วนประกอบต่างๆในกะทะใบบัวซึ่งต้องทนความร้อนและใช้ความแข็งแรงมาก กลุ่มคนหนุ่มสาวก็นั่งปลอกมะพร้าว ขูดมะพร้าว และคั้นน้ำกะทิ กลุ่มแม่บ้านก็คั่วข้าวตอก ขั่วข้าวเม่า ตำข้าวเม่าด้วยครกซ้อมมือ

เด็กๆได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองจากหน่วยทางสังคมขนาดเล็กแต่มีพลังการหล่อหลอมที่รอบด้าน ทั้งด้านจิตใจ ทักษะชีวิต ทักษะการปฏิบัติที่เหมาะสมด้วยกาลเทศะ ความสำนึกต่อส่วนรวมและทักษะเชิงสังคม คนหนุ่มสาวก็ได้สร้างความสนิทสนมและเรียนรู้จิตใจกันและกันในท่ามกลางสายตาของผู้ใหญ่ ปัจเจกและครอบครัวก็ได้เรียนรู้ที่จะผสมผสานความเป็นส่วนตัวกับความเป็นส่วนรวมให้มีความสมดุล พอดี และพอเพียง

  ดูกระยาสารท....จะเห็นสุขภาวะและความอยู่ดีมีสุขของชุมชน 

ความอร่อยและองค์ประกอบความเป็นกระยาสารทจึงเป็นสิ่งบ่งชี้ความเป็นชุมชน ความสมัครสมานสามัคคี ความทุกข์สุขของชุมชนเกี่ยวกับผลผลิตจากการทำนาไร่ และสัมผัสได้ถึงสุขภาวะทางจิตวิญญาณของชุมชนได้เป็นอย่างดี การได้กินกระยาสารทบนศาลาวัดหรือในสำรับอาหาร แล้วได้เห็นความหวานมันและเห็นสัดส่วนของข้าวเม่าซึ่งเป็นข้าวใหม่กับปริมาณข้าวตอกซึ่งเป็นข้าวเก่า เห็นความเหนียวหรือความร่วนซึ่งบ่งบอกการต้องยอมทำกระยาสารทด้วยน้ำตาลอ้อยของตนเองในกรณีที่ผลผลิตในปีนั้นๆไม่ดี หรือว่าผลผลิตดีได้ข้าวเปลือกพอให้ไปแลกน้ำตาลปีบกับแบะแซจากตลาดชุมแสง ซึ่งก็จะส่งผลต่อการได้ความหวานมันพอที่จะคิดเตรียมข้าวเปลือกไปแลกกล้วยไข่จากกำแพงเพชรมากินกับกระยาสารท หรืออาจจะต้องงดกล้วยไข่และรสชาดกระยาสารทที่หวานมันเข้มข้นลงไป ให้สอดคล้องกับผลผลิตจากการทำนาทำไร่ที่ได้รับ

ด้วยกระบวนการและความเป็นจริงอันเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบที่ซับซ้อน ครอบคลุมมิติต่างๆของชีวิตชุมชนและระบบนิเวศวิทยาสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นองค์รวมดังได้กล่าวมาโดยลำดับนี้ ก็จะทำให้เราสามารถอ่านสุขภาวะของชุมชนได้ทันทีว่า ในปีนั้นๆที่ได้กินกระยาสารท หมู่บ้านและชุมชนชาวหนองบัวจะมีสภาวการณ์เศรษฐกิจและความอยู่เย็นเป็นสุขกันมากน้อยเพียงใด .

หมายเลขบันทึก: 364104เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2010 12:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

สวัสดีครับท่านอาจารย์ วิรัติน์

ยังไม่เคยการกวนกระยาสารท

มาเรียนรู้เรื่องราวกระยาสารทจากบันทึกอาจารย์ เข้าใจถึงวิถีพุทธครับท่าน

สวัสดีครับท่านวอญ่า : วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

  • ท่านวอญ่านี่จับประเด็นแม่นดีจัง เป็นการเรียนรู้เพื่อเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย ผมเองนั้น หลายปีมานี้ก็ซื้อหนังสือเกี่ยวกับอิสลามและศาสนาอื่นๆมาศึกษาอยู่ตลอดเวลาครับ ทำให้เห็นมิติการอยู่อย่างเข้าใจกันของผู้คนที่มีความหลากหลายได้ดีขึ้นเยอะครับ
  • นอกจากเล่าเรื่องให้เห็นสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นต่างๆและเห็นความไม่ว่างเปล่าโดยเฉพาะในแง่ของภูิปัญญาของชุมชนแล้ว ผมก็กำลังชวนให้อ่านชีวิตชุมชนและสภาวการณ์ชุมชนจากการทำกินทำอยู่ของชาวบ้าน เพื่อทำความเข้าใจว่าชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆนั้นสามารถเข้าใจความแตกต่างหลากหลายผ่านการอยู่ร่วมกัน และผ่านการทำอยู่ทำกิน ได้อย่างไร
  • นอกจากจะทำให้เห็นว่าความเป็นชุมชนนั้นเป็นกระบวนการเรียนรู้และสร้างสะสมทางปัญญาที่เป็นองค์รวมแล้ว ก็แสดงให้เห็นนัยสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการพัฒนาสังคมและพัฒนาพลเมืองของสังคมจากเงื่อนไขและสิ่งที่สังคมมีอยู่ ทว่า ด้วยการคิดและทำให้แยบคายกว่าเดิมว่า การกินและการบริโภคปัจจัยต่างๆนั้น สามารถอ่านและเรียนรู้สังคมได้อย่างลึกซึ้งเช่นกัน เราสามารถอยู่ให้เข้าใจตนเองได้ดีขึ้น พร้อมกับเรียนรู้ผู้อื่นเพื่อความเคารพกันได้
  • เรื่องพวกนี้หากชี้แนะให้เห็นความสำคัญและแสดงให้เห็นถึงความสามารถเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาสมัยใหม่ในสังคมโลกาภิวัตน์ได้เป็นอย่างดี ชาวบ้านทุกคนก็จะรู้ว่าการดำเนินชีวิตของทุกคนเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ และทุกคนสามารถยกระดับชีวิตตนเองจากการเรียนรู้ไปกับการใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสมกับเงื่อนไขจำเพาะของตนได้

สวัสดีคะ อาจารย์วิรัตน์ :

  • เห็นภาพลายเส้นความร่วมมือของชุมชนในการทำอาหารเพื่อสุขภาวะแล้ว ทำให้นึกถึงชุมชนนี้เลยคะ ชุมชนบ้านวัดมะเกลือ ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ริมคลองนราภิรมย์ ซึ่งมีตัวแทนของคนในชุมชนพยายามรวมตัวคนในชุมชนโดยใช้ คลอง  และเรื่องราวของสะพานข้ามคลองนราภิรมย์มาเป็นจุดเชื่อมความเป็นชุมชนคะ
  • ในภาพแรกเป็นความสามัคคีในการทำแป้งขนมจีนเพื่อนำมาเลี้ยงคนในชุมชน และแขกเหรือที่มาร่วมงานบุญ ทอดกฐิน และนำเงินที่ได้มาทั้งหมดไปซ่อมแซมสะพานข้ามคลองนราภิรมย์ ที่มีประวัติยาวนานถึง ๑๐๐ ปี ซึ่งงานนี้ริเริ่มโดย กลุ่มคนรักษ์ถิ่น (คุณวลี สวดมาลัย หรือพี่ดำ) จาก ชุมชนบ้านวัดมะเกลือ  ซึ่งงานนี้นับว่าเป็นความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของชุมชนเพื่อชุมชนจริงๆ โดยมีเครือข่ายวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดล และ อปท. เป็นเครือข่ายสนับสนุน

                           

                           

นึกขึ้นได้ว่าเคยเขียนบันทึก ยืดอกพกถุง [คลิ๊ก] ซึ่งเป็นบันทึกที่เขียนถึงคุณยายท่านนึง (ซึ่งมาทราบทีหลังว่าเป็นคุณแม่ของพี่ดำคะ) ที่ขาดการรับทานหมากไม่ได้ แต่แกก็ไม่เคยบ้วนน้ำหมากเรี่ยะราด จะนำถุงติดตัวสำหรับบ้วนน้ำหมากทิ้งคะ หลังจากเวทีพลเมือง ครั้งที่ ๑ (๙ พฤศจิกายน ๕๑) ที่เรียกเวทีนี้ว่า รวมพลคนริมคลอง ของชุมชนบ้านวัดมะเกลือแห่งนี้จนมีการจัดตั้งกลุ่มคนรักษ์ถิ่นขึ้นมา จนสามารถทำการซ่อมสะพานข้ามคลองนราภิรมย์ได้สำเร็จคะ ..

เสียดายว่าวันฉลองสะพาน ๑๐๐ ปี บ้านวัดมะเกลือ เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๕๒ ที่วัดมะเกลือ ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล ไม่สามารถไปร่วมงานได้ จึงไม่มีภาพในวันนั้นคะ ..

แต่ทราบจากอาจารย์และท่านอื่นๆ ที่ได้ไปร่วมงานว่ามีกลิ่นอายของความอบอุ่น ความอิ่มเอิบของผู้คนที่ได้ร่วมกันทำบุญเพื่อชุมชนของตนเอง และยังได้สนุกสนานกับเพลงเรือของคนในชุมชน และน้องๆ นักศึกษาของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกด้วยคะ ..

ภาพลายเส้นของอาจารย์ เห็นความเป็นชุมชนที่มีความสามัคคีเด่นชัดมากคะ ..

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์

  • ดีจังเลยครับ อาจารย์ณัฐพัชร์ช่วยนำเอากิจกรรมของชุมชนในบริบทที่หลากหลายมาช่วยสานปะติดปะต่อให้เห็นกิจกรรมแสดงตัวอย่างความเป็นสังคมที่มีพื้นฐานเดียวกัน แต่มีบริบทท้องถิ่นที่แตกต่างกัน ได้แจ่มชัดและน่าสนใจมากขึ้นครับ
  • อย่างกรณีตัวอย่างกิจกรรมที่อาจารย์ได้ไปร่วมและได้ถ่ายภาพมาแบ่งปันกันนี้ก็เช่นกันครับ แต่เดิมนั้น เวทีระดมสมองเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมชุมชนด้วยแนวทางประชาคมที่เห็นจากภาพในครั้งนี้ ชุมชนก็จะใช้สะพานเก่าแก่ของชุมชนมาเป็นเงื่อนไขให้ได้คิดสร้างสะพานใหม่กันน่ะครับ
  • ตอนนั้นผมได้มีส่วนร่วมในการช่วยให้ชุมชนตั้งประเด็นให้เวทีใหม่ ผมใช้วาดรูปซึ่งมันสามารถประมวลข้อมูลและสะท้อนภาพรวมให้เวที เกิดความคืบหน้าในประเด็นการคิดไปในตัว
  • เลยสามารถจุดประกายจากการคิดให้ชุมชน จากแค่คิดสร้างสะพานและหาวิธีขอบริจาคไม้ เงิน และวัสดุสำหรับสร้างสะพาน มาเป็นการใช้โอกาสรวบรวมความรู้และจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผสมผสานไปกับทุกกิจกรรม ทำให้แทนที่จะได้แต่สะพานและผู้คนหลายฝ่ายก็จะถูกขอสิ่งของ แรงงาน ก็ได้ประสานความร่วมมือให้เกิดการรวบรวมข้อมูล ความรู้ ทั้งจากผู้คนเก่าแก่และจากแหล่งความรู้หลายอย่าง แล้วก็จะมาจัดกิจกรรมผสมผสานกัน ผู้คนได้เห็นคุณค่าและความหมายในการมีส่วนร่วมของตนเอง และได้เห็นสิ่งที่ชุมชนตนเองมีอยู่ ได้ดีกว่าเดิม
  • เลยเป็นโอกาสได้เคลื่อนไหวชุมชนแห่งการเรียนรู้ ก่อเกิดบทเรียนการจัดการความรู้และการจัดเวทีเรียนรู้ในบริบทของชุมชนได้บ้าง ได้ชุดสื่อและเอกสารความรู้ที่หลายคณะไปทำให้กับชุมชนและเชื่อมโยงประเด็นร่วมในวาระที่สอดคล้องกัน ได้สร้างศักยภาพและประสบการณ์ของจริงให้กับเครือข่ายผู้นำและชาวบ้าน รวมทั้งหน่วยงานและองค์กรท้องถิ่น
  • โดยเฉพาะบทเรียนตรงๆ ที่ทำให้ได้สัมผัสตรงว่าความแตกต่างกันนั้น บางทีก็ไม่จำเป็นต้องคิดหรือเปลี่ยนแปลงให้เหมือนกันไปหมดจนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง แต่ก็สามารถสร้างความเป็นส่วนรวมเพื่ออยู่ร่วมกันด้วยสุขภาวะและคุณภาพแห่งชีวิตอย่างใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้
  • เป็นอีกตัวอย่างของการทำกิจกรรมให้เป็นโอกาสเรียนรู้ทางสังคม ที่มีในระดับชุมชนอยู่เยอะครับ สะสมการเรียนรู้และนำมาพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ก็คงจะเกิดมิติใหม่ๆของการสร้างเสริมสุขภาวะทางสังคมได้ดีเหมือนกันนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์ ทุกวันนี้กระยาสาทรดังที่กำแพงเพชร มีหลายแม่... และอร่อยด้วยค่ะ

เวลาไปตลาดที่กำแพงเพชรมีขายทั้งปีค่ะ

ที่หนองบัว ดิฉันก็เคยไปตรวจตลาดสด เห็นมีกระยาสาทรขายบางช่วง

แต่ก็ล้วนเป็นวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นที่ควรอนุรักษ์สืบต่อไป

สวัสดีครับคุณ nana งาน พสว.ศอ.8 ครับ

  • กำแพงเพชรเขามีกล้วยไข่เป็นตัวช่วยชูโรงครับ กระยาสารทเลยเป็นของโดดเด่นไปด้วย เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมกับภรรยายังได้แวะซื้อเหง้ากล้วยไข่ไป ๓ เหง้า เพื่อจะเอากล้วยไข่กำแพงเพชรไปปลูกที่สันป่าตอง เชียงใหม่ ไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เมื่อก่อนที่อยู่บ้านหนองบัว นครสวรรค์ ชาวบ้านก็พยายามเอาพันธุ์กล้วยไข่ไปปลูกที่บ้านหนองบัวครับ แต่พออกลูกก็ได้ผลที่ดูภายนอกเหมือนกล้วยไข่ แต่เนื้อและรสชาดออกเปรี้ยว เพี้ยนไปหมด
  • กระยาสารทอย่างที่ทำขายกันนั้น ก็จะเป็นอีกแบบแล้วครับ อาจจะต้องใช้วิธีมองอีกแบบ เพราะกระบวนการผลิตก็จะหลุดอกจากมิติความเป็นชุมชน บางทีก็อาจจะเป็นสูตรเดียวกัน มีรสชาดและมาตรฐานการทำเหมือนๆกัน หากแผกต่างกันไปบ้าง คนก็อาจจะมองว่าไม่ได้มาตรฐาน
  • เช่น หากได้กระยาสารทร่วน ไม่หวาน ข้าวเม่าไม่หอม ก็จะกลายเป็นเรื่องของการลดต้นทุน การเอากำไร และผู้บริโภคกับผู้ซื้อก็จะกลายเป็นมองว่าตนเองขาดทุน ไม่อยากซื้อเพราะกินกระยาสารทแต่ด้านความอร่อยของวัตถุดิบ ภาครัฐและคนประเมินจากภายนอกก็เห็นแต่ของที่ไม่ได้มาตรฐาน
  • ไม่สามารถเห็นผู้คน ความเป็นชุมชน และความเป็นสังคมสิ่งแวดล้อมอยู่ในนั้น เช่น การที่ข้าวเม่าไม่หอมเพราะไม่มีข้าวใหม่ในปีนั้น เลยเอาข้าวเก่ามาทำซึ่งสีสันไม่สวยและไม่หอม
  • หากเห็นแง่มุมนี้ก็จะไม่ใช่เรื่องใช้วัตถุดิบไม่ดีมิติเดียวก็เป็นได้
  • แต่อาจจะทำให้เรารู้ว่าผู้คน ชาวบ้านและชุมชนที่มีวัตถุดิบอย่างนี้มาทำข้าวเม่ากำลังทุกข์ยากและจะเดือดร้อน ซึ่งอาจจะหมายถึงการศึกษาเล่าเรียนของลูกหลายจะแย่ สุขภาพทั้งของเองและเครือญาติจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น  กำลังในการทำบุญกุศลจะน้อยซึ่งหมายถึงความเป็นส่วนรวมของสังคมจะอ่อนแอ และการเอาตัวให้รอดจะมาก่อนคุณค่าทางจิตใจที่ลึกซึ้ง สุนทรียภาพและสุขภาวะทางจิตวิญญาณจะถอดถอย.....สืบเนื่องเป็นสายธารของความทุกข์สุขร่วมกัน
  • การเห็นแง่มุมของความเป็นวัฒนธรรมและความสะท้อนสุขภาวะของสังคมท้องถิ่นในบริบทหนึ่งๆจึงเป็นเรื่องดีมากเลยครับ เป็นการทำให้หลายมิติสามารถดำเนินไปพร้อมๆกันตามเงื่อนไขแวดล้อมของสังคม
  • เมื่อก่อนนี้ การไม่มีกระยาสารทในตลาดท้องถิ่นหนองบัว หรือมีแต่ร่วนและข้าวเม่าไม่เขียว-ไม่หอม ข้าวตอกดอกไม่ขาว เหล่านี้ จะสัมพันธ์กับน้ำท่า ผลผลิต และสุขภาวะด้านต่างๆของสังคมท้องถิ่นหนองบัวได้อย่างใกล้ชิดครับ
  • ทั้งนี้ก็เนื่องจากคนหนองบัวทั้งในตัวเมืองกระทั่งไปถึงบ้านผม ต้องไปซื้อหรือเอาข้าวเปลือกไปแลกของที่ตลาดชุมแสงอย่างเดียว ปีไหนทำนาไร่ได้ผลไม่ดี ก็ไม่มีข้าวเปลือกไปแลกของที่ชุมแสง ผลก็จะสะท้อนไปที่ลักษณะของกระยาสารทอย่างชัดเจน แต่เดี๋ยวนี้ไปไหนมาไหนได้สะดวกมากครับ กระยาสารทที่หนองบัวกับที่กำแพงเพชรสงสัยจะเป็นแม่เดียวกันก็เป็นได้
  • ดีใจที่มีคนนครสวรรค์เข้ามาแอ่วครับ

ความอร่อยและองค์ประกอบความเป็นกระยาสารทจึงเป็นสิ่งบ่งชี้ความเป็นชุมชน ความสมัครสมานสามัคคี ความทุกข์สุขของชุมชนเกี่ยวกับผลผลิตจากการทำนาไร่ และสัมผัสได้ถึงสุขภาวะทางจิตวิญญาณของชุมชนได้เป็นอย่างดี

สวัสดี ครับอาจารย์

คืนนี้แวะมาอ่าน 1 บันทึกที่นี่ นะครับ...

ด้วยความระลึกถึงอาจารย์ ครับ

 

  สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ 

  • ขอบคุณครับ ด้วยความรำลึกถึงเช่นกันครับ
  • ผมไปต่างจังหวัดมา ๔-๕ วันครับ เพิ่งได้เข้ามาเสวนา เลยต้องขออภัยครับ
  • แต่ก็พอมีโอกาสเข้ามาดูพอได้ทราบความเคลื่อนไหวต่างๆอยู่พอสมควรครับ
  • อาหารของปักษ์ใต้หลายอย่างก็เป็นอาหารที่สื่อสะท้อนชีวิตผู้คนและความเป็นชุมชนมากเลยนะครับ 
  • อาหารปักษ์ใต้นี่ เผ็ดไปถึงชาติหน้าจริงๆ แต่ไปทีไรก็อดที่จะชิมไม่ได้ทุกที
  • ผมเคยไปที่นครศรีธรรมราชแล้วอยากกินขนมจีนน้ำยาและแกงไตปลา กะว่าจะต้องเตรียมอดทนต่อความเผ็ดให้ได้ เพราะนานๆได้ไปที เลยอยากกินอาหารที่เป็นจิตวิญญาณของชุมชนท้องถิ่นทางใต้จริงๆ
  • พอกินเสร็จก็ไม่ผิดหวังอย่างที่เตรียมใจไว้ครับ คือ...ต้องน้ำหูน้ำตาไหล อ้าปากเดินแลบลิ้นให้ลมเป่าและน้ำลายไหลยืดไปสักเสาไฟฟ้าหนึ่งเห็นจะได้ถึงพอจะหายเผ็ด แถวบ้านผมที่บ้านนอกนั้นก็ว่ากินผักน้ำพริกเป็นวิถีชีวิตแล้วนะครับ เจอแกงใต้นี่ยอมเลย แต่ก็อร่อยและยังคงชอบอยู่ดีครับ

สวัสดีค่ะ

นอกจากจะมาได้ความรู้จากอาจารย์ ยังรู้เพิ่มจากความเห็นของ อ.ณัฐพัชรอีกด้วย แม้จะคนละชุมชนกัน

ขอบคุณทั้งสองท่านค่ะ

โดยเฉพาะ ภาพวาดลายเส้นของอาจารย์ ชอบสีหน้าคนในภาพค่ะ ดูหน้าหญิงสาวคนซ้ายล่างสุดของภาพ คล้ายๆกำลังทำงานไป คิดถึงใครบางคนไป ส่วนหนุ่มในกลางภาพ ก็คล้ายๆกำลังลอบมองมาทางเธอเลยค่ะ

มีกล้วยไม้มาฝากค่ะ

 

สวัสดีครับคุณณัฐรดา

  • ขอบคุณรูปดอกกล้วยไม้ครับ
  • ทดองแนวการเขียนอีกแนวหรือครับ
  • แนวนี้สวยงามไปอีกแบบนะครับ ให้อารมณ์ความเป็นการเขียนสีน้ำมากเลย
  • ภาพวาดลายเส้นของผมภาพนี้ ผมได้ลองเอาไปเป็นสื่อการเรียนรู้ชุมชนและวิถีสังคมของชุมชนในต่างจังหวัดอยู่บ้างแล้วครับ
  • เปิดประเด็นการพูดคุยและเชื่อมโยงเข้ากับการนำเอาวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ดีมากเลยครับโดยเฉพาะที่จังหวัดนครสวรรค์

สวัสดีครับคุณมาตายีครับ เป็นงานกราฟิคอาร์ตและการใส่ลูกเล่นที่แปลกตาดีครับ การนำภาพไปใส่ไว้บนผนังตึกนี่กลมกลืนจนมองไม่ออกเลยครับว่าเป็นการผสมภาพ 

สวัสดีค่ะ

เพิ่งกลับจากพัทยาด้วยติดตามเภสัชกรไปเรียนรู้เรื่องยาค่ะ

แล้วรีบอ่านบันทึกกระยาสารทนี้

ทำให้คิดถึงกล้วยไข่ค่ะ เป็นของคู่กัน

เหมือนกินข้างกับน้ำพริกต้องมีผักแนม

รูปวาดข้างบนบ่งบอกขั้นตอนวิธีทำกระยาสารท

และความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนเดียวกัน

ทำให้ได้ข้อคิดว่าสังคมบางสังคมในปัจจุบันนี้

ขาดความเกี่ยวดองกัน กิจกรรมสร้างสรรค์หายไป

กลายป็นสังคมตัวใคร ตัวมัน

ความเข้มแข็งของสังคมค่อยๆหายไป

พร้อมกับวิถีชีวิตความเป็นไทย

ขอบคุณบันทึกที่ทรงคุณค่าของความเป็นไทยค่ะ

เอากล้วยมาฝากไว้คู่กับกระยาสารทค่ะ

 

 

สวัสดีครับคุณครูkrutoitingครับ

  • ผมได้เข้ามาดูบล๊อกโกทูโนวและเห็นการเข้ามาเยือนของkrutoitingตั้งแต่เมื่อคืนแล้วละครับ
  • เข้ามาดูเมื่อตีสองกว่าแล้วครับ กำลังท้องกิ่ว พออ่านรื่องราวของkrutoitingก็ให้มีอันน้ำลายสอ แทบจะโดดเข้าไปในมอนิเตอร์เพื่อกินกล้วยไข่และกระยาสารทสักคำเลยละครับ
  • เมื่อตอนเป็นเด็ก แถวบ้านผมนั้น ไม่มีกล้วยไข่กินครับ ต้องรอหน้ากระยาสารทและกล้วยไข่จะมาจากกำแพงเพชร การได้กินกล้วยไข่สักหนึ่งลูกเลยเป็นของที่วิเศษที่สุด เป็นผลไม้ที่วิเศษที่สุดของคนบ้านนอกในยุคที่ไม่รู้จักและไม่เคยเห็นทุเรียน แอปเปิล หรือแก้วมังกรทั้งในตลาดท้องถิ่นและในชีวิต
  • มีความสุขkrutoitingครับ
  • เทศกาลสารทเดือน ๑๐
  • เป็นเทศกาลอาหารและเทศกาลของการนำเอาผลผลิตจากการทำอยู่ทำกิน มาเคลื่อนไหวสังคมและวัฒนธรรมให้มีชีวิต
  • แถวหนองบัว หน้าสารทเดือน ๑๐ นี้ ก็ต้องนึกถึงแบะแซและมะพร้าวจากชุมแสง น้ำตาลโตนดจากเกยไชย กล้วยไข่จากกำแพงเพชร การได้ถั่วงาจากการทำไร่ ได้ข้าวเม่าใหม่และน้ำนมข้าวจากข้าวเบานาดอน
  • ได้ข้าวตอกจากข้าวรอบการผลิตของปีที่ผ่านไป ซึ่งบ่งบอกถึงความอยู่ดีมีสุข ได้ข้าวเหลือทำบุญและเฉลิมฉลองการเข้าสู่รอบการผลิตใหม่ของปีปัจจุบัน
  • อิ่มกาย อิ่มใจอิ่มบุญ ได้บำรุงสืบทอดพระศาสนา ส่งให้พระได้จำพรรษาและศึกษาเล่าเรียน ได้บำรุงสังคมชุมชน สานความรักสามัคคีไปบนวิถีชีวิต
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท