งานวิจัยเครือข่ายพระสงฆ์


บทคัดย่องานวิจัย เรื่อง "การศึกษาและพัฒนาศึกยภาพเครือข่ายพระสงฆ์: กรณีศึกษาเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ"

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖-๒๕๔๗ อาจารย์เกียรติได้ทำการวิจัย เรื่อง “การศึกษาและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายพระสงฆ์ : กรณีศึกษาเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ” โดยได้รับการสนับสนุนทุนดำเนินการจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ซึ่งถือเป็นคณูปการต่อการพัฒนาเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในส่วนที่ท่านอาจารย์เกียรติได้ทำการศึกษาและพัฒนาไปพร้อมกัน รวมทั้งได้นำผลการวิจัยที่ได้มาดำเนินการให้เกิดการพัฒนาในระยะต่อมาด้วย จึงอยากนำคำนำและบทคัดย่องานวิจัยดังกล่าวมาแบ่งปัน ดังนี้

คำนำ

งานวิจัยนี้สำเร็จ ได้ด้วยดีเพราะผู้วิจัยได้รับคำแนะนำ และการช่วยเหลือจากบุคคลหลายฝ่าย

ผู้วิจัยขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับ พระมหา ดร.บุญช่วย  สิรินฺธโร สำหรับการให้โอกาสผู้วิจัยในการทำวิจัยชิ้นนี้ และขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งสำหรับ ร.ส.ดร.กาญจนา  แก้วเทพ, อ.เธียรชัย  อิศรเดช, ดร.สมสุข  หินวิมาน และคุณนเรศ  สงเคราะห์สุข สำหรับการให้คำปรึกษาที่มีค่ายิ่งต่องานวิจัย

ขอขอบคุณสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนสำหรับทุนอุดหนุนสำหรับการวิจัย

ความดีจากงานวิจัยครั้งนี้ขอมอบแด่สมาชิกเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือทุกท่าน ที่ยืนหยัดในงานพัฒนาบนฐานพุทธธรรม เพื่อสังคมศานติสุขสืบไป

เกียรติศักดิ์   ม่วงมิตร

 

ชื่อเรื่อง  การศึกษาและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายพระสงฆ์ : กรณีศึกษาเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ

ชื่อผู้วิจัย  เกียรติศักดิ์   ม่วงมิตร

บทคัดย่อ

               การวิจัย “(คพชน.)” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะของเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ, ผลการดำเนินงานของเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ, บทบาทของเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ, เงื่อนไขปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินงานและการแสดงบทบาทของเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ และ       เพื่อหาแนวทางในการเสริมความเข้มแข็งเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ

               การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสารที่เป็นแนวคิดทฤษฎี ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่าย เครือข่ายทางสังคม เครือข่ายการเรียนรู้ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเครือข่าย เพื่อกำหนดกรอบในการศึกษาวิจัย ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาโดยเก็บข้อมูลหลายวิธี ได้แก่ การศึกษาเอกสารของเครือข่าย การเข้าร่วมกิจกรรม การลงพื้นที่สังเกตแบบมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสมาชิกเครือข่าย การสัมภาษณ์บุคคล การสนทนากลุ่ม เวทีเสวนา รวมทั้งการเข้าร่วมการประชุมของสมาชิกเครือข่าย ฯลฯ ผู้วิจัยได้ตรวจสอบข้อมูลโดยการเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้จากแหล่งต่าง ๆ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการแยกแยะข้อมูลออกเป็นหมวดหมู่ แล้วทำการวิเคราะห์ข้อมูลตามกรอบทฤษฎีที่ได้ศึกษามาแล้ว

               ผลการศึกษาพบว่า

               ความเป็นมาของเครือข่าย 

               เครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ เป็นการรวมตัวของพระสงฆ์ที่ทำงานพัฒนาอยู่ในภาคเหนือ เริ่มก่อตั้งแบบไม่เป็นทางการมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ จากเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

               การประชุมคราวนั้นแกนนำชาวบ้านนิมนต์พระสงฆ์ไปรับสังฆทานยังจุดประท้วง ราว ๑๐ รูป เมื่อรับสังฆทานแล้วมีการเทศน์เตือนสติไม่ให้ใช้ความรุนแรง ชุมนุมอย่างสันติ พร้อมกันนั้นได้เรียกร้องฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่ให้ใช้ความรุนแรงต่อชาวบ้านเช่นกัน จากนั้นจึงได้รวมตัวตั้งเป็น “เครือข่ายพระสงฆ์เพื่อคนจน” ทำหนังสือเปิดผนึกและออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาคนจน ในระหว่างการชุมนุมมีการผลัดไปเยี่ยมชาวบ้านเป็นระยะๆ หลังจากสิ้นสุดการชุมนุมของชาวบ้านกลุ่มพระสงฆ์ในนาม “เครือข่ายพระสงฆ์เพื่อคนจน” ยังคงมีการพบปะแลกเปลี่ยนมาเป็นระยะ ช่วงแรก ๆ เป็นการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์เฉพาะกลุ่มพระสงฆ์ที่ทำงานในเชียงใหม่ ต่อมามีพระสงฆ์จากหลายจังหวัดในภาคเหนือเข้าร่วมประชุมด้วย การพบปะพูดคุยกันหลายครั้งในที่สุดจึงได้จัดตั้งเป็น “เครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ (คพชน.)” ในระยะต่อมา

               ปัจจุบันเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ มีสถานที่ประสานงานอยู่ที่ วัดสวนดอก ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีสถาบันโพธิยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยงานในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ เป็นกองเลขานุการ ทำหน้าที่ประสานงานให้กับเครือข่ายฯ

               องค์ประกอบของเครือข่าย 

               เครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก ๔ ประการ ได้แก่ ๑) หน่วยสมาชิก ซึ่งมีส่วนประกอบย่อย ๓ ส่วน คือ หน่วยประสานงาน (Star), ผู้ประสานงาน (Node) และ สมาชิก (Member) ๒) ทรัพยากร มีส่วนประกอบย่อย ๓ ส่วน คือ งบประมาณ, สิ่งของอำนวยความสะดวกในการทำงาน และข้อมูล/ความรู้/ประสบการณ์  ๓) การสื่อสาร ซึ่งมรการสื่อสาร ๓ รูปแบบ คือ แบบ Top – down, แบบ Bottom up และแบบ Horizontal และ ๔) กิจกรรม มีส่วนประกอบย่อย ๓ ประการ คือ การบริหารจัดการ, การเสริมสร้างศักยภาพสมาชิก และการขยายและธำรงรักษาเครือข่าย

               ลักษณะของเครือข่ายฯ 

               ลักษณะของเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ สามารถอธิบายได้ ๔ ลักษณะ ได้แก่ ๑) ลักษณะของการเชื่อมโยง มี ๓ ลักษณะ คือ การเชื่อมระหว่างปัจเจกต่อกลุ่ม, การเชื่อมระหว่างปัจเจกต่อเครือข่าย และการเชื่อมระหว่างกลุ่มต่อเครือข่าย  ๒) ลักษณะความสัมพันธ์ของเครือข่าย มี ๒ ลักษณะ คือ ความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง และความสัมพันธ์ในแนวระนาบ  ๓) ประเภทของความเชื่อมโยง มี ๒ ลักษณะ คือ เครือข่ายพื้นที่ และเครือข่ายประเด็น/กิจกรรม  และ ๔) เนื้อหาการเชื่อมโยง มี ๒ ระดับคือ ระดับเป้าหมาย/อุดมการณ์ และระดับกิจกรรม

               บทบาทของเครือข่ายฯ 

               บทบาทของเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ แบ่งออกเป็น ๓ ระดับ คือ
๑) ระดับปัจเจกฯ ได้แก่ เป็นต้นทุนที่มาของทรัพยากร, เป็นการหนุนเสริมทางด้านจิตใจ, เป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน, เป็นการพัฒนาศักยภาพ และเป็นช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความรู้ 
๒) ระดับกลุ่ม/เครือข่าย ได้แก่ การเชื่อมประสานสมาชิกและยึดโยงพื้นที่, เป็นพื้นที่ทางสังคม และการเป็นปากเสียง  ๓) ระดับชุมชน/พื้นที่เครือข่าย ได้แก่ การสร้างเสริมศักยภาพและขีดความสามารถของชุมชน, การเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหา และการรักษาต้นทุนทางสังคมของชุมชน

               ผลการดำเนินงานของเครือข่ายฯ  

               ผลการดำเนินงานของเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ได้แก่ ศักยภาพสมาชิกเครือข่ายฯ ทั้งในด้านความสามารถด้านการวิจัย/วิชาการและทักษะการทำงาน, พระนักพัฒนารุ่นใหม่, เสริมสร้างกำลังใจ, ได้รับการยอมรับจากภายนอกมากขึ้น, โอกาสและการเข้าถึงทรัพยากร, การเกิดขึ้นของกิจกรรมระดับพื้นที่ และความเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่ เป็นต้น

 

               ปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของเครือข่ายฯ

               ปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ ได้แก่ หน่วยประสานงานฯ, ผู้ประสานงาน, สมาชิกปัจเจกฯ, การพัฒนาศักยภาพสมาชิกอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง, การมีทรัพยากรสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ และเครือข่ายฯ เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับ

               จุดแข็งและศักยภาพของเครือข่ายฯ

               จุดแข็งหรือศักยภาพของเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือที่สำคัญ ได้แก่ หน่วยประสานงาน, เครือข่ายฯ เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับมากขึ้น, ศักยภาพและความสามารถของสมาชิกเครือข่ายฯ และฐานการทำงานกว้างขวางและหลากหลาย

               จุดอ่อนและข้อจำกัดของเครือข่ายฯ

               จุดอ่อนและข้อจำกัดของเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือที่สำคัญ ได้แก่ผลงานยังจำกัดอยู่กับสมาชิกวงใน, การหนุนเสริมความเข้มแข็งของกลุ่ม/เครือข่ายย่อยฯ ยังมีน้อย, การพึ่งพาทรัพยากรจากภายนอกสูง, การขยายฐานสมาชิกไปยังพระสงฆ์รุ่นใหม่ยังมีน้อยและทำได้ช้า

               แนวทางพัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายฯ

               สำหรับแนวทางพัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายฯ ในระยะต่อไปได้แก่ การขยายการทำงานให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น, การหนุนเสริมความสามารถการดำเนินงานระดับกลุ่ม/เครือข่ายย่อย, การแสวงหาและเสริมสร้างพระสงฆ์นักพัฒนารุ่นใหม่ และเพิ่มช่องทางในการระดมทรัพยากรมาใช้ในการทำงานให้มากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 450215เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2011 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบพระคุณพระอาจารย์นะคะที่เขียนบันทึกบอกเล่าเรื่องราวในสิ่งที่พี่หนานเกียรติได้ทำค่ะ

เรียนท่านพระอาจารย์

พึ่งจะรู้ว่า.. งานวิจัยเครือข่ายพระสงฆ์ฯ ชิ้นนี้ทำให้เครือข่ายพระสงค์ภาคเหนือตอนล่างพบกับเครือข่ายพระสงฆ์ภาคเหนือ ณ.วัดสวนดอก ขออุทิศ แด่...โยมเกียรติศักดิ์ ม่วงมิตร

มีเรื่องราวดีๆ มากมายที่ท่านอาจารย์เกียรติได้ทำไว้ สำหรับเรือข่ายพระสงฆ์ ครับ

เรียนท่านพระอาจารย์ที่เคารพ ดิฉัน อยากจะทราบถึงความต้องการและความพึงพอใจของพระสงฆ์ในชุดสังฆภัณฑ์

คือตอนนี้หนูได้ทำงานวิจัยที่เกี่ยวกับ ความต้องการและความพึงพอใจของพระสงฆ์ในชุดสังฆภัณฑ์ นะ คะ หนูไม่รู้ว่าจะต้องทำยัง

ไงถึงจะตอบโจรย์นี้ได้ เพราะต้องทำแบบสอบถามเกี่ยวกับพระสงฆ์ นะคะ

ถ้าจะถามพระสงฆ์เกี่ยวกับ ความต้องการและความพึงพอใจ ก็ถามได้

แต่อย่าลืมว่า พระสงฆ์มีข้อจำกัดตามพระธรรมวินัย ที่จะตอบว่าต้องการอะไร หรือมีความมากแค่ไหน ตามสุภาษิตไทยที่ว่า ใส่บาตรอย่างถามพระ

คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องถามพระสงฆ์โดยตรงแต่อย่างใด เพราะพระสงฆ์ก็มีฐานะเป็นคนคนหนึ่งที่ต้องใช้ปัจจัยดำรงชีวิตเหมือนกัน คืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค

แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ชุดสังฆทานที่มีอยู่ตามท้องตลาดในปัจจุบันนี้ มีอะไรบ้าง เหมาะกับสมณบริโภคหรือไม่ คุณภาพเป็นอย่างไร มีปริมาณเหมาะสมกับราคาที่จำหน่ายหรือไม่ ใครเป็นผู้ผลิต ระบุวันหมดอายุหรือไม่ พระได้ใช้ชุดสังฆทานนั้นหรือไม่ มากน้อยเพียงใด เก็บไว้นานแค่ไหนถึงจะนำไปบริโภค ฯลฯ

เพียงแค่ใช้สำนึกสามัญธรรมดา ก็บอกได้ว่าพึงพอใจหรือไม่ หรือต้องการแบบไหน

ไม่ทราบตอบคำถามหรือไม่ก็ไม่รู้นะ

http://www.youtube.com/watch?v=no42GLGm9gA&feature=player_embedded#!

อยากให้ทางกฎหมายพระสงฆ์จัดการจริงๆเลย ทำให้ศาสนาเสื่อมมากเลย มารในคาบพระสงฆ์ชัดๆ แรงมากอ่า รับไม่ได้ คลิปนี้เเรงมาก แจ้งทางเรื่องจริงผ่านจอไปถ่ายทำดีกว่า ฝากทุกๆคนดูด้วยครับ

1. เป็นกระบวนการท้าทายอำนาจองค์กรสงฆ์ ซึ่งเชื่อว่าไม่สามารถจัดการอะไรได้ ในที่สุดก็ปล่อยให้ทุกอย่างเงียบไปเหมือนเรื่องอื่นๆ

2. มีพระภิกษุสามเณรที่มีลักษณะการสอนที่ผิดเพี้ยนอีกจำนวนมาก ซึ่งองค์กรสงฆ์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ โยนเรื่องกันไปมา ในทำนองที่ว่าคนมีหน้าที่ไม่ทำ แต่คนทำไม่มีหน้าที่

3. ญาติโยม (อุบาสก อุบาสิกา) ที่ไม่เข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ขาดการศึกษาที่ถูกต้องก็มีมากด้วย จึงถูกชักจูงได้ง่าย เห็นพระที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนพระทั่วไป ก็นึกว่าท่านหลุดพ้นแล้ว น่าเคารพเลื่อมใส จึงเป็นช่องให้พระปฏิบัติตัวแปลกๆ อย่างที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบ้น

4. ญาติโยม (อุบาสก อุบาสิกา) ที่รู้หลักพระพุทธศาสนา ก็ไม่อยากเข้ามายุ่งด้วย เพราะเห็นว่าเป็นการเปลืองตัว เลยการเป็นประเภทปล่อยเลยตามเลย ยกภาระพระพุทธศาสนาให้เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัท คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำให้พระสงฆ์ส่วนหนึ่งก็ยึดว่าการจัดการพระพุทธศาสนาเป็นหน้าที่ของสงฆ์ ญาติโยมไม่ต้องยุ่ง

5. ทางออกที่สำคัญในระยะต่อไป คือ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพุทธบริษัทในการจัดการพระพุทธศาสนา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท