ยินดีกับความพัฒนาการของวารสารอินฟอร์เมชั่น


เห็นความก้าวหน้าของวารสารที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 19 ปี ไม่ให้ดีใจอย่างไรไหว

มีโอกาสได้รับข้อมูลจากบรรณาธิการประจำวารสารอินฟอร์เมชั่น ประจำปี 2554 นางนายิกา เดิดขุนทด ว่า วารสารอินฟอร์เมชั้น ซึ่งมีสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นเจ้าของนั้น มีค่า impact factor ซึ่งจัดโดยสถาบัน  Thai-journal Citation Index  Center (TCI) หรือศูนย์อ้างอิงดัชนีวารสารไทย ว่า ในปี 2553 นี้ วารสารอินฟอร์เมชั่นได้ค่า Impac Factor= 0.074  อาจจะดูน้อยไปเมื่อเทียบกับวารสารระดับสากล แต่นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่มีส่วนส่งเสริมความเข้มแข็งของสาขาวิชานี้

เพราะวารสารฉบับนี้ตั้งใจจะเป็นแหล่งเผยแพร่บทความวิจัย บทความวิชาการ และสาระน่ารู้ที่มีเนื้อหาทางด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานห้องสมุดหรือการบริการสารสนเทศ

ในฐานะของตนเองเคยได้รับโอกาสให้เป็นกองบรรณาธิการวารสารฉบับนี้ในช่วงปี 2546-2551 ขอบอกเล่าว่า ทางผู้จัดทำได้ผลักดันให้วารสารอินฟอรเมชั่นได้ก้าวสู่วารสารที่มี peer review ในปี 2551  แม้ว่าจะพบกับความยากลำบาก แต่นับว่าเป็นการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการ 

คำบอกเล่าของนายิกา บรรณาธิการคนปัจจุบัน (ปี 2554) เล่าว่าเหตุผลที่วารสารอินฟอร์เมชั่นมีอายุยาวนานมา เนื่องจาก

1. เป็นกลไกในการสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคลากรสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลอดจนบุคลากรสายสนับสนุนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถพัฒนาผลงานวิชาการเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น

2. เป็นสื่อที่สามารถใช้เผยแพร่วิชาการในสาขาบรรณารักษศาสตร์ สารสนเทศศาสตร์ และสาขาวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาสัมพันธ์สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้วงวิชาชีพบรรณารักษ์และวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องได้ทราบข่าวความเคลื่อนไหว

3. สร้างบรรยากาศทางวิชาการและเป็นการเผยแพร่ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของสำนักวิทยบริการ รวมทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น

4. เป็นการเพิ่มมูลค่าสำหรับองค์กร เป็นอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) ทางวิชาการและวิชาชีพที่มีผู้ติดตามต่อเนื่อง ใช้เวลาพัฒนามายาวนานร่วม 20 ปี

5. เป็นวารสารที่มีคุณภาพที่มีค่า Impact Factor อยู่ในระดับแนวหน้า โดยในปี 2553 มีค่า Thai Journal Impact Factors = 0.074 อยู่ในระดับที่ 11 ของวารสารด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และอยู่ในระดับที่ 1 ของวารสารสาขาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์

6. ปัจจุบันวารสารที่จัดพิมพ์เผยแพร่ทางด้านบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์มีจำนวนเพียง 6 รายชื่อที่ได้รับการยอมรับและมีชื่อปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) ดังนี้

          (1) วารสารบรรณศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

          (2) วารสารสารสนเทศศาสตร์

          (3) วารสารสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          (4) วารสารสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยทักษิณ

          (5) วารสารห้องสมุด

          (6) อินฟอร์เมชั่น

การจัดทำวารสารนับว่าเป็นการบริการวิชาการแก่สังคม ถึงแม้ว่าสำนักวิทยบริการจะเป็นหน่วยงานสายสนับสนุน แต่ก็เป็นหน่วยงานที่มีสถานภาพเทียบเท่าคณะ จึงจำเป็นต้องกำหนดพันธกิจที่สนับสนุนพันธกิจของมหาวิทยาลัยให้บรรลุเป้าประสงค์  ดังนั้นการจัดทำวารสารอินฟอร์เมชั่น อาจถือได้ว่าเป็นบทบาทของสำนักวิทยบริการในการพัฒนามหาวิทยาลัยและพัฒนาประเทศได้แนวทางหนึ่ง แม้จะเป็นทางอ้อม แต่เป็นการบริการวิชาการที่สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สังคมและประเทศชาติ โดยเป็นแหล่งตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานที่เกี่ยวกับห้องสมุด เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีการศึกษา ที่ช่วยให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา อาจารย์ บรรณารักษ์ นักเอกสารสนเทศ นักวิชาการโสตทัศนศึกษาและวิชาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องการเผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการ แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ของตนได้ใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนร่วมวิชาชีพ  ทั้งนี้เพราะวารสารเฉพาะทางด้านบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์มีเพียงไม่กี่รายชื่อดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นที่ต้องการของผู้มีความประสงค์จะเผยแพร่ผลงานของตนออกสู่สาธารณชน อินฟอร์เมชั่นจึงมีส่วนช่วยทำให้มีมหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต และผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ชำนาญการพิเศษ/เชี่ยวชาญ/เชี่ยวชาญพิเศษ เพิ่มจำนวนมากขึ้น

นอกจากนี้อินฟอร์เมชั่นยังเป็นแหล่งความรู้ของนักศึกษาในสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ สารนิเทศศาสตร์ และสาขาวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเป็นแหล่งความรู้ของผู้ปฏิบัติงานห้องสมุด นับว่าอินฟอร์เมชั่นมีบทบาทในการสร้างความเข้มแข็งให้กับวิชาชีพ สังคมและประเทศชาติ

----------------

นี่ยังแอบเข้าข้างอินฟอร์เมชั่นนะคะ ว่าหลายคนในแวดวงห้องสมุด ที่รู้จักอินฟอร์เมชั่น จะรู้จักสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บางแนวคิดอาจจะเห็นว่า การผลิตวารสารไม่ใช่พันธกิจของหน่วยงานบริการ น่าจะเป็นพันธกิจของคณะวิชา หรือ องค์กรวิชาชีพเฉพาะทาง  แนวคิดนี้ก็ไม่ผิด  หากแต่พอที่จะทำได้คงจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสาขาวิชานี้มากขึ้น มุมที่เป็นประโยชน์ก็ยังมี   เหมือนว่าการขึ้นยอดเขาหากเก็บเกี่ยวดอกหญ้าระหว่างทาง ก็จะทำให้มีอะไรๆ มากขึ้นกว่าผลสำเร็จที่ต้องได้แน่นอนอยู่แล้ว

หากแต่เป็นภาระองค์กรมากไปในด้านงบประมาณหรือการจัดการ  อาจจะเปลี่ยนแปลงการจัดการในการมีค่าธรรมเนียมเพื่อนำบทความลงตีพิมพ์ เพราะในการดำเนินงานมีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ทรงคุณวุฒิ  ทั้งนี้ไม่ได้หวังผลกำไร แต่เพื่อแบ่งเบาภาระด้านงบประมาณ   หรือบริหารจัดการด้านค่าล่วงเวลา ทั้งนี้ในปัจจุบันบรรณารักษ์ก็ทำงานตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน๊อตอยู่แล้ว   

ความคิดตัวเอง เสนอ ค่าธรรมเนียมสมาชิก 3  Rate 1)สำหรับบุคลากรสำนักวิทยบริการเอง เป็นแรงจูงใจในการผลิตผลงานวิชาการ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม  2)ผู้ที่เป็นสมาชิก คิดร้อยละ 50 ของค่าธรรมเนียม และ 3) บุคคลทั้วไป นักศึกษาป.โท คิดร้อยละ 100

หมายเลขบันทึก: 451506เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2011 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 15:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท