Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ปรัชญาเกี่ยวกับใบขับขี่ : หน้าที่หรือสิทธิกันแน่ ? กรมการขนส่งทางบกควรคิดอย่างไร ?


วันนี้ (๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔) มีคนชื่อ “คุณน้ำหวาน” มาถาม อ.แหววใน http://www.gotoknow.org/ask/archanwell/14760  คำถามเป็นเรื่องการทำใบขับขี่ของคนต่างด้าวอีกแล้ว และเป็นกรณีของคนต่างด้าวที่มีสถานะเป็นราษฎรไทยอีกด้วย คำถามมีใจความดังนี้

“สวัสดีค่ะ อ.แหวว หนูชื่อ น้ำหวาน หนูเคยประสบความสำเร็จกับการขอโอนสัญชาติจากคำแนะนำของอาจานมาแล้ว ตอนนี้หนู อยากทราบถามว่า บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า(มีถิ่นที่อยู่ถาวร) บัตรสีส้มค่ะ สามารถยื่นขอทำใบขับขี่ได้ไหมค่ะ เห็นคนแถวบ้าน ว่า เลขบัตรประจำตัว ขึ้นด้วย เลข ๖ สามารถทำได้ จริงๆ แล้วสามารถทำได้ไหมค่ะ ?”

นึกถึงเรื่องนี้แล้ว อ.แหววรู้สึกหงุดหงิดใจมาก ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ความเป็นสมาชิกหนึ่งของประชาคมอาเซียนแล้ว ส่วนราชการที่ต้องดูแลการเปิดเสรียังไม่เข้าใจในแนวคิดที่ควรจะเป็นในเรื่องความปลอดภัยของท้องถนนเลย เรื่องของใบขับขี่เป็นหน้าที่ของคนต่างหาก

คำถามเป็นเรื่องของ “คนที่ถือบัตรประจำตัวบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ประเภทผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า” เอาล่ะซิ พวกเขาเป็นใคร ?

ขออธิบายง่ายๆ ว่า โดยนโยบายของรัฐไทยในราว พ.ศ.๒๕๓๕ – ๒๕๓๖ รัฐมนตรีว่า การกระทรวงมหาดไทยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ในการทำทะเบียนประวัติและออกบัตรประจำตัวให้แก่คนกลุ่มหนึ่งซึ่งหนีภัยความตายจากประเทศพม่าเข้ามาในประเทศไทยหลังจากวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๙ โดยเรียกกลุ่มบุคคลนี้ว่า “ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า”  

ขอให้สังเกตในประการแรกว่า คนเหล่านี้ถูกระบุว่า เป็นคนหลบหนีเข้าเมือง ก็เพราะพวกเขาคงไม่มีโอกาสร้องขออนุญาตเข้าเมืองไทย เพราะพวกเขาโดยส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยไร้รัฐที่เกิดในประเทศพม่า และแม้บางส่วนจะมีชื่อในทะเบียนราษฎรพม่า แต่ด้วยภัยความไม่สงบที่เกิดขึ้นจนต้องอพยพหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทย พวกเขาจึงมิได้มีเวลาที่จะร้องขอทำหนังสือเดินทางและขอวีซ่าเข้าเมือง บุคคลในสถานการณ์ดังกล่าวย่อมประสบปัญหาความไร้รัฐหรือเสมือนไร้รัฐ ดังนั้น การบันทึกในทะเบียนประวัติตามกฎหมายไทยจึงเป็นการขจัดปัญหาความไร้รัฐให้แก่พวกเขา คงเหลือแต่ปัญหาความไร้สัญชาติที่พวกเขายังเผชิญอยู่

ขอให้สังเกตในประการที่สองว่า คนเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ราว พ.ศ.๒๕๑๙ จนถึงปีที่ทำทะเบียนประวัติ กล่าวคือ พ.ศ.๒๕๓๕ ดังนั้น พวกเขาจึงอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาแล้วอย่างน้อย ๑๕ ปีขึ้นไป

ขอให้สังเกตในประการที่สามว่า บุตรของผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่าที่เกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ ได้รับการยอมรับให้มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ โดยมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่พวกเขาเป็นคนเกิดในประเทศไทยที่มีความกลมกลืนทางสังคมและวัฒนธรรมแล้ว

ในปัจจุบัน บัตรผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่าถูกยกเลิกแล้วและ​ให้บุคคลดังกล่าวที่ยังมีสถานะบุคคลเป็นคนต่างด้าวถือ "บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มี​สัญชาติไทย" แทน โดยให้มีข้อความระบุว่า "ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า” ปรากฏใต้คำว่า "บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มี​สัญชาติไทย"

คำถามของคุณน้ำหวานเกี่ยวกับความปรารถนาของคนที่มีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่าที่จะทำใบขับขี่ทำให้ อ.แหวว รู้สึกแปลกๆ ในหลายเรื่อง

ความแปลกใจในประการแรก ก็คือ มนุษย์ที่ไร้สัญชาติก็อยากทำหน้าที่ตามกฎหมายนะคะ แต่พวกเขาเข้าใจว่า ตนกำลังใช้สิทธิ อะไรเป็นสิทธิหรือหน้าที่ ดูจะสับสนกันดีนะคะ ประชาชนอยากทำหน้าที่ แต่คิดว่า เป็นสิทธิ แต่ภาคราชการที่ควรคิดว่า เป็นหน้าที่ของคนที่ใช้ถนน กลับคิดว่า เป็นสิทธิเหมือนกัน ไปบอกว่า
คนไม่ต้องทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยของถนน สับสนกันไปเรื่อยๆๆ

ความแปลกใจในประการที่สอง ก็คือ กรมการขนส่งทางบก โดย บันทึกกรมการขนส่งทางบกสำนักกฎหมายที่ คค.๐๔๐๘/ว.๑๐๘ ลงวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓
เรื่องการออกใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ให้กับคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง
 กลับปฏิเสธที่จะให้คนที่มีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่าทำใบขับขี่ บันทึกนี้ระบุว่า

“กรมการขนส่งทางบกยกเลิกหนังสือกรมการขนส่งทางบกที่ คค.๐๓๑๐/ว.๔๙ ลงวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๗ และกำหนดแนวทางการดำเนินการด้านใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ให้กับคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (บุคคลไร้สัญชาติและชนกลุ่มน้อย) ไว้ ดังต่อไปนี้

ให้นายทะเบียนออกใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ให้กับบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองจำนวน ๑๔ กลุ่ม โดยมีรายชื่อกลุ่มบุคคลต่างด้าวและหมายเลขบัตรประจำตัวคนต่างด้าวดังนี้ (๑) อดีตทหารจีนคณะชาติและจีนฮ่ออพยพ (๒) อดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา (ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย) (๓) ชาวเวียดนามอพยพ (เดิมเรียกญวนอพยพ) (๔) ไทยลื้อ (๕) ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกงกัมพูชา (๖) ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย (๗) จีนฮ่ออพยพ (๘) เนปาลอพยพ (๙) ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า (๑๐) ชาวเขาที่อพยพเข้ามาก่อนวันที่๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๘ (๑๑) ผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวลาวภูเขาอพยพที่เคยอาศัยอยู่ในประเทศไทย (๑๒) บุคคลบนพื้นที่สูงและชุมชนบนพื้นที่สูง (๑๓) ม้งในที่พักสงฆ์ถ้ำกระบอก (๑๔) ชาวมอแกน(ในพื้นที่ภัยพิบัติสึนามิ)”

จะเห็นว่า ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่าไม่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกให้ทำใบขับขี่ ทั้งที่สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยที่ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่ามีอยู่ ก็ไม่แตกต่างอะไรไปจาก ๑๔ กลุ่มที่กล่าวมา

แล้วกฎหมายไทยว่าอย่างไรในเรื่องใบขับขี่ ???

คำตอบก็คือ เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ แล้ว หลักกฎหมายก็ไม่น่าจะแตกต่างไปจากที่ยอมรับกันในกฎหมายของนานาอารยประเทศ
กล่าวคือ เมื่อใครสักคนจะขับรถ ใครคนนั้นก็จะต้องไปร้องขอทำใบอนุญาตขับขี่
และการอนุญาตขับขี่ก็จะต้องเกิดขึ้นเมื่อคนๆ นั้น ได้ผ่านการทดสอบความสามารถที่จะขับขี่ย่างปลอดภัยในท้องถนน

แล้วถ้ากฎหมายที่อ่านโดย อ.แหวว และโดยกรมการขนส่งทางบกแตกต่างกัน
คุณน้ำหวานจะเชื่อใครล่ะเนี่ย ??

ถ้าเชื่อกรมการขนส่งทางบก ก็ไม่ต้องทำอะไร

แต่ถ้าเชื่อ อ.แหวว ก็คงต้องไปร้องขอทำใบขับขี่ต่อกรมการขนส่งทางบก และก็แน่นอนที่กรมการขนส่งทางบกจะต้องปฏิเสธที่จะยอมรับให้เพื่อนแถวบ้านคุณน้ำหวานทำใบขับขี่ ซึ่งผู้ยื่นทำใบขับขี่ก็ต้องอุทธรณ์อีกหนึ่งครั้ง และถ้ากรมการขนส่งทางบกปฏิเสธอีกรอบ ก็ต้องไปฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ศาลมีคำสั่งบังคับให้กรมการขนส่งทางบกยอมรับให้ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่าเข้าสู่กระบวนการทำใบขับขี่

พอมาถึงตรงนี้... แม้เพื่อนแถวบ้านคุณน้ำหวานก็อาจจะเชื่อ อ.แหวว แต่ก็อาจจะถอดใจที่จะทำใบขับขี่ ก็อาจจะไม่อาจขับรถอีกต่อไป หรืออาจจะขับรถโดยไม่มีใบขับขี่

แต่ไม่ว่าเพื่อนแถวบ้านคุณน้ำหวานจะคิดอย่างไร สิ่งที่ชัดเจนในวันนี้ ก็คือ มนุษย์ที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ไม่ได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกันโดยกรมการขนส่งทางบก ไม่มีความเท่าเทียมกันสำหรับผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า

ในไม่ช้านี้ ประเทศไทยจะเผชิญกับคนต่างด้าวมากกว่านี้ เมื่อกฎบัตรอาเซียนนำไปสู่การปรากฏตัวอย่างเต็มรูปของประชาคมอาเซียน หากเรายังไม่มีแนวคิดในการจัดการคนต่างด้าวอย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาก็จะมากกว่านี้ท้องถนนของประเทศไทยจะเต็มไปด้วยคนขับรถที่มีใบขับขี่  หรือคนขับรถที่ไม่มีใบขับขี่ และใบขับขี่ที่คนขับรถถืออยู่นั้นจะเป็นใบขับขี่ที่ผ่านการพิสูจน์ความสามารถในการขับขี่อย่างดีแล้ว หรือเป็นใบขับขี่ที่คนถือไม่เคยผ่านการสอบคุณสมบัติใดๆ เลย แล้วท้องถนนของประเทศไทยจะเต็มไปด้วยความปลอดภัยหรือความไม่ปลอดภัยกันแน่

อยากชวนคุยเรื่องปรัชญาเกี่ยวกับใบขับขี่ค่ะ มนุษย์มีหน้าที่หรือสิทธิในการทำใบขับขี่กันแน่คะ ?

หมายเลขบันทึก: 464214เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2011 02:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แว่นแก้ววันก่อน

แว่นแก้ววันนี้ (1สัปดาห์)

 

ขอขอบคุณคุณโสภณค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์ ก่อนอื่นต้องขอบคุณอาจารย์มากค่ะ เพราะหนูได้รับความรู้เรื่องสถานะบุคคลจากบทความของอาจารย์มากมายค่ะ

หากถามถึงเรื่องการทำใบอนุญาตขับขี่ หนูก็ขอแสดงความคิดเห็นว่าน่าจะเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องปฎิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย เพื่อให้ระบบการจาราจรมีความปลอดภัยค่ะ

ขออนุญาตบ่นนิดหนึ่งค่ะ ทุกวันนี้มีพี่น้องถือบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนจำนวนมากค่ะที่โทรมาถามหนู ว่าทำไมเค้าถึงไม่สามารถทำใบอนุญาตขับขี่ได้ หนูก็อธิบายเค้าไปค่ะว่าระเบียบไม่ให้ แต่ในใจลึกๆแล้วอยากจะทำอะำไรสักอย่างเพื่อให้รู้ไปเลยว่า มันเป็นเรื่องของสิทธิหรือหน้าที่กันแน่ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

อาบู

เหมือนจะมีใครสักคนฟ้องคดีอยู่

แต่ถ้าฟ้องกันหลายๆๆ คนก็น่าจะดีนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท