สอนจำให้คงทน


Mind Map & Review

                บางครั้งการได้เข้าร่วมอบรมพัฒนาในหลายๆ เรื่องก็ทำให้ไม่แน่ใจจะหยิบยกประเด็นใดมาเป็นเทคนิคในการสอนนักเรียน  ครูมืออาชีพควรมีเทคนิคประจำตัวและเทคนิคที่หลากหลายในการจัดกระบวนการเรียนรู้  วิธีการมีเยอะแยะมากมาย  ศาสตร์การสอนก็ได้แนะนำทั้งรูปแบบ  เทคนิค  และวิธีการ  จนบางครั้งก็คิดสะระตะว่าวิธีการไหน่าจะเหมาะกับตัวเองที่สุดและสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ยุ่งยาก  และที่สำคัญนักเรียนก็ชอบด้วย

                ผมชอบเข้าร้านขายหนังสือและต้องดูชั้นหนังสือขายดีก่อน   ตระหนักว่าคนส่วนใหญ่เขาอ่านหนังสืออะไรกัน  แต่บางครั้งก็ไม่ใช่คำตอบ  เดินไปเดินมาก็สะดุดหนังสือเล่มบางๆ ที่มีปกสวยงาม  เปิดดูก็พบเทคนิคมากมายในการพัฒนาสมอง  ก็เรื่องสมองเป็นเรื่องที่เราสนใจอยู่พอดี  จึงคว้ามาอ่านคร่าวๆ  ก็ประทับใจในเบื้องต้น  จึงสั่งซื้อเท่าที่มีทั้งหมดซึ่งเป็นผลงานของธัญญา-ขวัญฤดี  ผลอนันต์  ได้แก่ คัมภีร์ MIND MAP   บริหารสมองฉบับครูและผู้ปกครอง  แบบฝึกหัดคิดพิชิต MIND MAP   ใช้หัวคิด   ใช้หัวเรียน  และจำเลขจำร้อย

                นอกจากนั้นยังสนใจหนังสือที่เป็นผลงานของวนิษา  เรซ    อ่านหนังสือประเภท How to  โดยศึกษาวิธีการคิดและการใช้ชีวิตของผู้ที่สำเร็จบนโลกในนี้   แล้วประมวลผลว่าน่าจะใช้เทคนิคใดในการจัดการเรียนรู้  สุดท้ายก็ใช้วิธีให้นักเรียนบันทึกงานด้วยเทคนิค MIND MAP   เทคนิคนี้โทนี  บูซาน  เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาท  ซึ่งได้รับฉายาว่ามีดอเนกประสงค์ของสมองมีการันตีจาก นสพ.ไทมส์ยกย่องว่า  คัมภีร์ MIND MAP ฉบับภาพประกอบสี่สี  ของโทนี  บูซาน  ให้ความรู้เรื่องสมอง   อือ! น่าสนใจมาก  นักเรียนของเราบางทีสอนได้หน้าแล้วลืมหลัง   ไม่ได้เรียนรู้อย่างมีความหมาย  จึงทำให้มีความจำไม่ยาว(Long Term Memory)  เลยคิดว่าวิธีการนี้น่าจะดี  ลองเลยดีกว่าเทอมนี้แหละ 

                ในช่วงเดือนแรกที่ได้ทดลอง  ผมได้ค้นพบว่านักเรียนตั้งใจทำงานของตนเองเป็นอย่างดี  สนุกกับการทำ MIND MAP ของตนเอง  แต่ครูก็ควรใส่ใจพิเศษในบางเรื่อง  เช่น  กฎของ MIND MAP นักเรียนควรทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง  ในเรื่องอุปกรณ์ในการทำ MIND MAP  รูปแบบ  และวิธีการทำ  ผมจะอธิบายอุปกรณ์  รูปแบบ  และวิธีการทำ   ร่วมกับเล่าเรื่องที่เกิดในห้องเรียนให้ทราบว่า  อุปกรณ์ที่ต้องใช้ทำ MIND MAP  ได้แก่  กระดาษขนาด A4   แนวนอน  ปากกาสีอย่างน้อย 6 สี    ดินสอสี 12 สี  ปากกาเน้นสี  การทำแก่นแกน  กิ่งแก้ว  และกิ่งก้อย  การเพิ่มเส้นกิ่งเปล่าๆ เพื่อเพิ่มความคิดในโอกาสต่อไป  การตั้งคำถาม 5W1H  การใช้คำสั้นๆ คำสำคัญ(Key Word)  การใช้สัญลักษณ์  การใช้รูปภาพ 

                การเตรียมความพร้อม  เตรียมพร้อมทางความคิด  เปิดใจสร้างทัศนคติเชิงบวก  จงใจคัดลอกภาพต่างๆ รอบๆ ตัว  จริงจังและใจจดจ่อกับ MIND MAP  ของตนเอง  ตั้งใจเขียน MIND MAP  ให้สวยที่สุด  สุดท้ายให้ตรวจสอบ MIND MAP  อย่างรวดเร็ว  ที่สำคัญและควรจะต้องศึกษาต่อเพื่อให้ความจำคงทน คือ การทบทวน 

 เสริมความเข้มแข็งด้วยการทบทวน  หลังจากเรียนรู้นักเรียนควรจะต้องทบทวน MIND MAP ของตนเองตามช่วงเวลาทุกครั้งหลังการเรียนรู้    1 วันหลังการเรียนรู้    1 สัปดาห์หลังการเรียนรู้     1 เดือนหลังการเรียนรู้    3 เดือนหลังการเรียนรู้   และ 6 เดือนหลังการเรียนรู้   เวลาที่ใช้ในการทบทวนประมาณ 10-30 นาที   หมายความว่าให้วางแผนในการทบทวน MIND MAP ด้วย   อาจจะให้ทบทวนที่บ้านหรือในห้องเรียนก็ได้  การทบทวน MIND MAP เป็นเรื่องสนุก  เพราะมีคำน้อยและมีสีสันสวยงาม  อย่าลืมนะว่าสมองคนเราชอบรูปภาพ  สัญลักษณ์  คำสำคัญ  มากกว่าข้อความยาวๆ  แค่นี้นักเรียนก็จะจำบทเรียนของเราได้นานแสนนาน

ตัวอย่างกฎของ Mind Map ของ ธัญญา-ขวัญฤดี ผลอนันต์

ตัวอย่าง Mind Map

ตัวอย่าง Mind Map

คำสำคัญ (Tags): #เทคนิคการสอน
หมายเลขบันทึก: 284672เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2009 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท