ปฏิรูปการศึกษาในโลกมุสลิม - Islamization of knowledge (1)


ซัยยิด นากิบ อัล อัตตาส จากสถาบันนานาชาติแห่งความคิดและอารยธรรมอิสลาม (International Institute of Islamic Thought and Civilization)(ISTAC)จากประเทศมาเลเซีย ได้กล่าวไว้คือ การทำให้องค์ความรู้ร่วมสมัยให้เป็นแบบฉบับอิสลาม(9) ศาสตราจารย์ ดร.อิสมาแอล อัลฟารุกี ชาวปาเลสไตน์ ของสถาบันอิสลามนานาชาติเกี่ยวกับแนวคิดอิสลาม หรือ International Institute of Islamic Thought (IIIT). ได้กล่าวว่า อิสลามานุวัตรเชิงความรู้ก็คือ การทำให้องค์ความรู้สมัยใหม่ให้เป็นแบบฉบับอิสลาม(10)

ปฏิรูปการศึกษาในโลกมุสลิม
อิสลามานุวัตร และ อิสลามานุวัตรองค์ความรู้
นิพนธ์ โซะเฮง : เขียน
อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง
มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.กาญจนบุรี

หมายเหตุ : บทความนี้ได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ
Islamization and Islamization of Knowledge: The Context of Muslims in Thailand
อิสลามานุวัตรและอิสลามานุวัตรองค์ความรู้: บริบทของมุสลิมในประเทศไทย

เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 37 หน้ากระดาษ A4)

บทนำ

กระแสอิสลามานุวัตร (Islamization current) เป็นกระแสหรือวาทกรรมทางปัญญาของปัญญาชนมุสลิมสมัยปัจจุบัน กระแสดังกล่าวเป็นการโต้เถียงกันอย่างมีเหตุผล ทั้งนี้โดยมีจุดประสงค์ต่าง ๆ อันหลากหลายตามความถนัดของนักวิชาการมุสลิมในหลายสาขาวิชา ท่ามกลางกระแสการอิสลามานุวัตรนักวิชาการทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์อิสลามานุวัตรเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับอิสลามานุวัตร อย่างไรก็ดีความคลุมเครือในบัญญัติคำศัพท์ยังคงมีอยู่ ดังนั้นการจำกัดความหมายดังกล่าวจึงเป็นเรื่องจำเป็นเบื้องต้นในการทำความเข้าใจ

"อิสลามานุวัตร" (Islamization) ถูกจำแนกว่าเป็นกระบวนการองค์รวมของการกล่อมเกลาทางศาสนา(1) บ้างก็บอกว่าเป็นมรรควิธี(Method)ที่จะนำมาซึ่งสังคมใหม่ ที่อุทิศให้กับหลักคำสอนของอิสลามในทุกแง่มุม(2) ความจริงอิสลามานุวัตรเป็นประวัติศาสตร์ทางปัญญาของอิสลาม ซึ่งปัญญาชนมุสลิมในอดีตถึงปัจจุบันได้เพียรพยายามทำตามแบบอย่างท่านศาสดา(3) กล่าวคือการกระทำใด ๆ ก็ตามให้สอดคล้องกับหลักการคำสอนของพระเจ้า

ในขณะที่ปัจจุบันอิสลามนุวัตรถือว่าเป็นกระบวนการการสังเคราะห์ (Synthesis) ที่นักวิชาการมุสลิมร่วมสมัยได้พยายามคิดค้นและแสวงหาทางออกให้กับสังคมมุสลิม ที่กำลังประสบวิกฤติการพัฒนาตามแบบฉบับของอิสลาม อิสลามานุวัตรจึงเป็นผลโดยตรงมาจากการสังเคราะห์แนวทางการพัฒนาเพื่อให้สอดประสานกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในสังคมสมัยใหม่(4) ซึ่งมีต้นแบบการพัฒนามาจากแนวทางการพัฒนาตามรูปแบบตะวันตกที่เน้นแนวทางการพัฒนาเชิงประจักษ์ (Emperical) เชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific) หรือการเน้นแนวทางการพัฒนาแบบโลกียนิยม (Secularism) ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการการทำให้เป็นแบบวิถีโลก(Secularization) ที่ต้องการลดความสำคัญและอิทธิพลของศาสนาออกไปจากชีวิตความเป็นจริงในด้านหนึ่ง(5)

กับอีกด้านหนึ่งก็คือแนวทางการพัฒนาสังคมมุสลิมแบบดั้งเดิม (Traditionalism) ซึ่งเน้นย้ำความเป็นแบบฉบับดั้งเดิม และยึดติดอยู่กับตัวบทและระเบียบที่เคร่งครัดตามแบบฉบับของตัวบทกฎหมาย (Legalistic)(6) นอกจากนี้แนวทางการพัฒนาสังคมมุสลิมแบบดั้งเดิมดังกล่าว ยังตัดขาดจากการพัฒนาตามรูปแบบตะวันตกที่เน้นย้ำไปทางการพัฒนาด้านวัตถุ

ดังนั้นทั้งสองแนวคิดดังกล่าวในสายตาของนักวิชาการมุสลิมสมัยใหม่(Muslim Modernists) ถือว่าต่างก็เป็นวิธีการที่บิดเบือนคำสอนอันเที่ยงตรงตามแบบฉบับที่ท่านศาสดามุฮำหมัด(ซ.ล.)(7) และพระองค์อัลลอฮ์(ซ.บ.)ต้องการ จากข้อบกพร่องของกระแสการพัฒนาแบบดั้งเดิม และกระแสการพัฒนาตามรูปแบบตะวันตกนี้ จึงเปิดโอกาสให้มุสลิมสมัยใหม่ให้ความสนใจรวมทั้งได้เสนอแนวทางการสังเคราะห์การพัฒนาแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้เองจึงถูกขนานนามว่าเป็นอิสลามานุวัตร(Islamization) ซึ่งเป็นการประสมประสานระหว่างแนวคิดและวิธีการการพัฒนาแบบวิทยาศาสตร์ให้เข้ากับหลักการศาสนาหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การพัฒนาทางวัตถุไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณ ซึ่งประกอบไปด้วยหลักการทางศาสนาเพื่อสร้างดุลยภาพ

ทั้งนี้ก็เพราะศาสนาอิสลามได้พร่ำสอนให้มุสลิมทุกคนได้ดำเนินชีวิตแบบเพียงพอ สายกลาง ไม่ให้เอียงซ้ายหรือเอียงขวา อิสลามานุวัตรจึงถูกพิจารณาจากนักวิชาการสมัยใหม่ว่า เป็นแนวทางการพัฒนาสังคมมุสลิมที่ถูกต้อง ทันโลกและทันเวลา(8) เพราะอันที่จริงแล้วหลักคำสอนของอิสลามไม่เคยล้าสมัย แต่นำสมัย. คำสอนของศาสนาอิสลามในหลาย ๆ เหตุการณ์ได้ถูกพิสูจน์แล้ว ตามหลักวิธีการทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นจริง

หนึ่งในกระแสอิสลามานุวัตรที่มีอิทธิพลต่อสังคมมุสลิมในสมัยปัจจุบันมาก ๆ ก็คือ กระแสหรือวาทกรรมอิสลามานุวัตรเชิงความรู้ หรือ อิสลามานุวัตรองค์ความรู้ (Islamization of knowledge) อิสลามานุวัตรเองค์ความรู้พอจะจำกัดใจความได้ ตามที่นักวิชาการมุสลิมที่มีชื่อเสียงทางด้านนี้ ได้ให้ความหมายไว้แตกต่างกันในด้านจุดเน้น เช่น

ในขณะที่ ซัยยิด นากิบ อัล อัตตาส จากสถาบันนานาชาติแห่งความคิดและอารยธรรมอิสลาม (International Institute of Islamic Thought and Civilization)(ISTAC)จากประเทศมาเลเซีย ได้กล่าวไว้คือ การทำให้องค์ความรู้ร่วมสมัยให้เป็นแบบฉบับอิสลาม(9) ศาสตราจารย์ ดร.อิสมาแอล อัลฟารุกี ชาวปาเลสไตน์ ของสถาบันอิสลามนานาชาติเกี่ยวกับแนวคิดอิสลาม หรือ International Institute of Islamic Thought (IIIT). ได้กล่าวว่า อิสลามานุวัตรเชิงความรู้ก็คือ การทำให้องค์ความรู้สมัยใหม่ให้เป็นแบบฉบับอิสลาม(10)

จะสังเกตเห็นว่านักวิชาการมุสลิมทั้งสองท่านต่างก็เน้นย้ำเรื่องการทำหรือสร้างองค์ความรู้สมัยใหม่หรือร่วมสมัยให้เป็นไปในแบบฉบับของอิสลาม องค์ความรู้สมัยใหม่หรือร่วมสมัยดังกล่าวนี้ก็คือ ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ (Human sciences) หรือองค์ความรู้ที่ชาวตะวันตกในยุครู้แจ้ง(the Enlightenment Era)ได้คิดค้นและสร้างขึ้น

ก่อนที่จะมาทำความเข้าใจกระบวนการการสร้างองค์ความรู้ตามแบบฉบับตะวันตก ให้เป็นแบบฉบับอิสลามหรือที่เรียกว่า(Islamization of Knowledge) นี้ ต้องมาทำความเข้าใจกับธรรมชาติ และคุณลักษณะที่สำคัญขององค์ความรู้สมัยใหม่( Modern knowledge)หรือร่วมสมัยเสียก่อน เพื่อว่าจะได้ทำความเข้าใจขบวนการอิสลามานุวัตร หรือขบวนการการทำให้เป็นแบบฉบับอิสลาม (Islamization Movement) รวมทั้งองค์ความรู้อิสลาม

ในความเป็นจริงองค์ความรู้สมัยใหม่ซึ่งเป็นความรู้กระแสหลัก หรือวาทกรรมหลักที่มนุษยชาติเกือบทุกมุมโลกกำลังสั่งสอนหรือถูกอบรมสั่งสอนอยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนกระทั่งถึงระดับชั้นอุดมศึกษาของปัญญาชน ดังนั้น ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนพยายามที่จะแยกแยะให้เห็นความแตกต่างระหว่างการทำองค์ความรู้ให้เป็นแบบฉบับอิสลาม หรืออิสลามานุวัตรองค์ความรู้(11) กับ ความรู้ตามแบบฉบับตะวันตก หรือความรู้สมัยใหม่(12) และประเด็นต่อมาก็เพื่อจะอธิบายกระแสและวาทกรรมของขบวนการการสร้างองค์ความรู้ให้เป็นแบบฉบับของอิสลาม (Islamization of Knowledge) ว่ามีที่มาและความสำคัญอย่างไร มีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง

สุดท้ายก็เพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์การพัฒนาการ ภาพรวมและแนวโน้มในอนาคต นอกจากนี้ก็เพื่อที่จะชี้ให้เห็นความสำเร็จและความล้มเหลวของกระแสการพัฒนาของอิสลามานุวัตรในเชิงสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมมุสลิมในประเทศไทยเป็นสำคัญ

การจำกัดความเรื่องความรู้สมัยใหม่กับการสร้างองค์ความรู้ในแบบฉบับของอิสลาม

ความรู้สมัยใหม่ หรือ ความรู้แห่งนวสมัย (Modern knowledge) ถูกจำกัดความตามตัวอักษรว่าเป็นความรู้ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงในสมัยปัจจุบัน กล่าวคือ ความรู้สมัยใหม่เป็นความรู้ที่อิงกับกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ กฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ ผ่านกระบวนการการทดลอง การสังเกต และพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้ได้มาซึ่งความแน่นอนขององค์ความรู้ใหม่เหล่านั้น

ในความเป็นจริงแล้วความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาตินั่นเอง ยกตัวอย่างเช่นการพิสูจน์และค้นพบกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ของ เซอร์ไอแซค นิวตัน ที่กล่าวว่ามันจะเป็นไปตามขั้นตอนของมันอย่างเคร่งครัด หรือแม้แต่การสร้างหลอดไฟฟ้าและการค้นพบกระแสไฟฟ้าของ โธมัส เอดิสัน ปี 1882 การเกิดโทรเลขในปี 1844 โทรศัพท์ ปี 1876 เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นที่มาของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์

หากจะมองกันด้วยความไม่ลำเอียงแล้ว ก็จะพบว่า การค้นพบความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือความรู้ที่ถูกเรียกว่าเป็นความรู้สมัยใหม่นี้ มิใช่แค่ชาวตะวันตกเท่านั้นที่มีส่วนในการค้นพบวิทยาการอันนำไปสู่ความทันสมัยในสมัยต่อ ๆ มาจนถึงยุคปัจจุบัน แต่ยังมีนักคิดชาวอาหรับ ชาวเตอร์กและชาวเปอร์เซียมุสลิมอีกหลายท่านซึ่งอยู่ในยุคที่อิสลามรุ่งเรืองระหว่างคริสศตวรรษที่ 8-11(ค.ศ. 750-1100) เช่น Jabir Ibnu Haiyam, Al-Khawarizmi, Al-razi, Al-Masudi, Abu Al-Wafa, Al-Bairuni, Omar Khayyam, Ibnu Sina, Ibnu Khaldun เป็นต้น บุคคลเหล่านี้ต่างก็มีส่วนร่วมในการรังสรรค์การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่รวมถึงสังคมศาสตร์แทบทั้งสิ้น(13)

ดังนั้นจึงถือได้ว่า องค์ความรู้สมัยใหม่ตามแบบแผนตะวันตกในสมัยปัจจุบัน ก็เป็นหนี้ความคิดนักเขียนมุสลิมชาวอาหรับ ชาวเปอร์เซีย หรือชาวเตอร์ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากย้อนประวัติศาสตร์ไปในสมัยยุคมืดของยุโรป (ค.ศ.10-15 ) ซึ่งตรงกับอาณาจักรอิสลามราชวงศ์อับบาซียะห์กำลังเจริญรุ่งเรือง มีหลักฐานมากมายที่บ่งบอกว่าชาวยุโรปในยุคมืดได้ไปศึกษาหาความรู้ในอาณาจักรอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นเมืองแบกแดด ในอิรัก หรืออันดาลุส ในเสปน(14) ก่อนที่อิสลามจะสูญเสียที่มั่นทางปัญญานี้ โดยฝีมือของ เจงกิสข่านแห่งราชวงศ์โมงโกล อารยธรรมและความก้าวหน้าทางความรู้ของอิสลามถูกทำลายลงไปพร้อม ๆ กันกับการล่มสลายของอาณาจักรอับบาซียะห์(15)

อย่างไรก็ดีมุสลิมมิอาจจะอ้างได้ว่า ความล้ำหน้าทางวิทยาการสมัยใหม่นั้นเป็นผลผลิตโดยตรงของพวกเขา มุสลิมมิควรที่จะหลงภาคภูมิใจกับภาพความสำเร็จในอดีตมากเกินไปจนลืมและละเลยที่จะคิดค้น เพิ่มพูนองค์ความรู้ของตนเองไป ทั้งนี้ก็เพราะความรู้สมัยใหม่นี้เองที่สร้างความแตกต่างระหว่างโลกมุสลิมกับโลกตะวันตกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้และทั้งนั้นผู้เขียนมิได้มีเจตนาจะติเตียนโลกมุสลิมที่กำลังล้าหลังโลกตะวันตกในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่สิ่งที่สมควรตำหนิมุสลิมก็คือ ความบกพร่องภายในระบบการศึกษาของโลกมุสลิมต่างหาก เพราะในระบบการศึกษาในโลกมุสลิมปัจจุบัน เกือบจะกล่าวได้ว่าเป็นการศึกษาที่แบ่งแยกเป็นสองระบบ กล่าวคือ

การศึกษาอิสลามแบบดั้งเดิม (Traditional Islamic System) กับการศึกษาแบบโลก (Secular System) ซึ่งเป็นการแยกการศึกษาเป็นสองส่วน และก็แยกกันโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ก็เพราะความบกพร่องจากภายในระบบการศึกษาของมุสลิมเองส่วนหนึ่ง กับอิทธิพลกระแสการศึกษาแบบตะวันตกที่เน้นการพัฒนาทางด้านวัตถุอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งการแยกระบบการศึกษาเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นรูปแบบการศึกษาที่ถูกต้องตามรูปแบบอิสลาม

ในทำนองเดียวกัน การพัฒนาตามแบบฉบับตะวันตกที่เป็นกระแสหลักของวาทกรรมโลกในสมัยปัจจุบันเองก็มีข้อบกพร่อง ยกตัวอย่างการพัฒนาที่เน้นทางวัตถุเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบจากการทำลายสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเทคโนโลยีโดยไม่คำนึงถึงวิธีการในการใช้ ที่จะไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางนิเวศวิทยา ซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตมากมายที่ต้องล้มหายตายจาก จากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เช่นการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ เป็นต้น

และในท้ายที่สุดระบบนิเวศวิทยาที่เสื่อมโทรมก็กลับมาทำลายมนุษย์เสียเอง เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือแม้แต่การเกิดสภาวะเรือนกระจกบนผิวบรรยากาศของโลก (Green House Effect) ทำให้ผิวโลกร้อนระอุขึ้น ล้วนเป็นผลมาจากฝีมือมนุษย์ที่ต้องการเอาชนะธรรมชาติ โดยการสร้างเครื่องปรับอากาศ เครื่องปรับอากาศนั่นเองก็สร้างผลกระทบในชั้นบรรยากาศของโลกให้เลวลงไปอีก

ถึงแม้ว่าไม่มีมนุษย์คนใดปฏิเสธความสะดวกสบายจากเทคโนโลยีดังกล่าวก็ตาม แต่ความสะดวกสบายเหล่านั้นกลับย้อนมาทำลายมนุษย์อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะคนจนระดับรากหญ้าที่ไม่สามารถหาซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่มีอยู่ในระบบบริโภคนิยม เพราะความยากจนและความด้อยโอกาสในสังคมยุคใหม่ที่ต้องแข่งขันกันสูง ผู้ที่ยืนหยัดอยู่ได้และได้รับการอำนวยความสะดวกก็คือ กลุ่มคนร่ำรวยและมีฐานะทางสังคม นี่จึงถือเป็นจุดด้อยของการพัฒนาสังคมสมัยใหม่อย่างเห็นได้ชัดเจน

ในส่วนผลกระทบทางด้านจริยธรรมก็มีให้เห็นกันเกลื่อนกลาด จริยธรรมของคนในสังคมสมัยใหม่เสื่อมทรามลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เข้ามาแทนที่วัฒนธรรมดั้งเดิมที่ใช้ระบบพึ่งพาอาศัย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การใช้หลักเกณฑ์ความถูกผิดโดยมีหลักจริยธรรมทางศาสนาเป็นส่วนประกอบไม่ว่าจะเป็น ศาสนา พุทธ อิสลาม หรือคริสต์ แต่วัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เน้นหนักเฉพาะเสรีภาพ ความเป็นอิสระของปัจเจกชน ความเห็นแก่ตัว ตัวใครตัวมัน ใช้ระบบการแข่งขันตามที่นักทฤษฎีสังคมดาร์วิน ชื่อ เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ที่ได้กล่าวไว้ว่า "ผู้ที่แข็งแรงที่สุดก็จะอยู่รอด" (The Survival of the Fittest)

ซึ่งก็หมายความว่า ผู้ที่ต้องการจะอยู่รอดต้องทำอย่างไรก็ได้เพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเองมีกำลังอำนาจและแข็งแรงและสามารถอยู่รอดได้ ในสังคมสมัยใหม่จะเปิดโอกาสให้ผู้อ่อนแอเข้าสู่ระบบการแข่งขันได้น้อยมาก นอกจากนี้หากได้รับโอกาสก็จะเป็นการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้เพราะผู้ได้รับโอกาสใหม่ ย่อมมีฐานในการแข่งขันที่ไม่แข็งแรงเท่ากันกับผู้ที่เคยมีโอกาสและที่เคยอยู่ในระบบเดิม

ผลจากความเสื่อมทางด้านจริยธรรมที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ก็คือจริยธรรมในสังคมสมัยใหม่ก็คือจริยธรรมที่ไม่เคยคำนึงถึงหลักความเชื่อหรือศรัทธาใด ๆ ของศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากสิ่งที่เป็นหลักเหตุและผลที่สามารถพิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่ผลที่ตามมาก็คือปัจเจกบุคคลเหล่านี้ต่างก็อ้างเหตุผล และผลประโยชน์แห่งตนเสียมากกว่า หลักที่ว่า "การปกครองภายใต้กฎหมาย" ก็กลายเป็นหลักกฎหมายที่บุคคลบางกลุ่มสร้างเป็นข้ออ้าง เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนเท่านั้น

ความเสื่อมทรามทางจริยธรรมในตะวันตกจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ในประเทศอเมริกาที่อ้างว่าประเทศตัวเองมีอารยธรรมมากที่สุด ข้อมูลจากการสำรวจอัตราการก่ออาชญากรรมของโลกโดยองค์การสหประชาชาติอเมริกา ก็มีอัตราการเกิดอาชญากรรมมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก(16) นักวิชาการผู้หนึ่งชื่อ นิวต์ กิงริช เขียนไว้ในหนังสือของท่าน To Renew America (หน้า 25-31) กล่าวว่า

"คนอเมริกันปัจจุบันนี้เป็นคนรุ่นแรกในประวัติศาสตร์อเมริกา ที่ต้องเผชิญกับการท้าทายของความเสื่อมโทรมศีลธรรมจากภายในตัวเอง มีสภาพวิกฤติที่แท้ขึ้นในการศึกษาและในชีวิตของประชาชน และเป็นปัญหาขึ้นมาว่า อเมริกันเรานี้ เป็นอารยธรรมจริงหรือเปล่า และมีอะไรบ้างหรือไม่ในอดีตของอเมริกาที่มีคุณค่าแก่การถ่ายทอดสืบต่อไป"(17)

แม้แต่นักวิชาการอเมริกันเองก็ยังกังขากับอารยธรรมของตนเอง ที่พัฒนาเฉพาะด้านวัตถุเช่นนี้ โดยที่ด้านศิลธรรมที่เป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่สำคัญของอารยธรรม (Civilization) กลับเสื่อมทรามลง

ความหมายองค์ความรู้แบบตะวันตก

การศึกษาความรู้และที่มาของความรู้ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักวิชาการตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะแต่ละคนต่างก็อ้างว่าความรู้ของตนเป็นความรู้แท้ ความรู้จริง(ultimate truth)นี่จึงเป็นที่มาของสาขาวิชาญานวิทยา(Epistemology) ในวิชาปรัชญา(Philosophy) ซึ่งศึกษาถึงที่มาและขอบเขตของความรู้(18) นอกจากนี้ยังมีอีกสาขาวิชาหนึ่งในปรัชญาก็คือสาขาวิชา(Teleology)ที่พยายามศึกษาถึงสาเหตุที่มาของความรู้รวมถึงปฐมเหตุของความรู้ (Ultimate Causes of Knowledge) ดังนั้นอะไรคือความรู้ (Knowledge) ดูจะเป็นคำถามที่นักคิดนักเขียนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันพยายามจะตอบคำถามกันอยู่เสมอ และความรู้ดังกล่าวนั้นเป็นความรู้แท้หรือความรู้เทียม

ในสังคมตะวันตกเองมีความพยายามจะตอบคำถามเหล่านี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ตามกระบวนวิธีคิดของตนเอง ความรู้จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์พยายามจะตอบคำถามให้ได้ และพยายามตรวจสอบจนกระทั่งว่าที่มาของความรู้นั้นมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ใครคือผู้บอกถึงความรู้นั้น (The authority of knowledge) และความรู้เหล่านั้นได้มาด้วยวิธีการใด นักวิชาการตะวันตกจึงได้พยายามแยกแยะวิธีการ ที่มาของความรู้เหล่านั้น เป็นสามวิธีหลัก ๆ คือ(19)

หนึ่ง ความรู้ที่ได้มาจากผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ (Authoritarian mode) เช่น ผู้ที่มีคุณสมบัติครอบครองความรู้นั้น เช่น กษัตริย์ นักบวช เป็นต้น

สอง ส่วนความรู้ที่ได้มาจากอีกวิธีหนึ่งคือ ความรู้ที่ได้มาจากวิธีที่ผิดธรรมชาติ ยากที่มนุษย์ธรรมดาจะหยั่งถึง (Mystical mode) เช่น ความรู้ของศาสดาต่าง ๆ โดยผ่านการดลบันดาลจากผู้ที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า "พระเจ้า" และ

สาม คือ ความรู้ที่ได้มาจากความเป็นเหตุเป็นผล (Rationalistic mode) กล่าวคือ ความรู้ที่ประมวลจากความเป็นเหตุเป็นผล โดยความสามารถจากสติปัญญาของมนุษย์เอง และมันต้องเป็นความรู้ที่เป็นไปตามหลักการของหลักเหตุผลเท่านั้น

จากวิธีการการได้มาซึ่งความรู้ดังกล่าว ที่ความรู้หรือองค์ความรู้ทั้งหลายมีอยู่ในปัจจุบันได้รับอิทธิพล แต่บรรดาวิธีการได้มาของความรู้ที่ทรงอิทธิพลต่อองค์ความรู้ตะวันตกในสมัยปัจจุบันก็คือ องค์ความรู้ที่ได้มาด้วยวิธีการตามหลักเหตุและผล และต้องเป็นหลักเหตุและผลที่มนุษย์สามารถหยั่งถึงสามารถพิสูจน์ได้เท่านั้น วิวัฒนาการทางความรู้สมัยใหม่ของตะวันตกจึงมีที่มาจากหลักเหตุผลของตัวมนุษย์เอง และก็เป็นหลักเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์ซึ่งจะอธิบายในตอนต่อไป

ความรู้สมัยใหม่ (Modern knowledge) อาจจะถูกจำกัดความได้ว่า เป็นองค์ความรู้สมัยใหม่ที่ยึดถือหลักความเป็นเหตุเป็นผล สามารถพิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการต่าง ๆ เช่น การทดลอง การสังเกตพฤติกรรม หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยใช้ประสาทสัมผัส (Senses) ตา หู ปาก จมูก ลิ้น ผิวหนัง ที่มนุษย์ครอบครองอยู่ หรือที่เรียกว่า องค์ความรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์จริงที่ปรากฏ เป็นเหตุและผลที่ทำให้เชื่อได้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นความจริง หรือที่เรียกว่าเหตุผลเชิงประจักษ์ (Emperical reason)

หรืออาจจะผ่านกระบวนการการทดลองแบบวิทยาศาสตร์ซึ่งเน้นความจริงที่เป็นความจริงจากการทดลองมิใช่ความเชื่อ

ทั้งนี้และทั้งนั้นกระบวนการในการตรวจสอบความรู้ดังกล่าวจะต้องมีเกณฑ์มาตรฐานวัดความถูกต้องขององค์ความรู้นั้น ๆ ความรู้สมัยใหม่แบบตะวันตกจึงมิใช่เป็นปรากฏการณ์สมัยใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตกาลมาแล้ว เพียงแต่ความรู้สมัยใหม่ได้รับการพัฒนาจนมีมาตรฐานและสามารถทดสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้ได้มาซึ่งความแน่นอนและแน่ใจได้ว่าเป็นความจริง เป็นองค์ความรู้ที่มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ

นอกจากนี้องค์ความรู้สมัยใหม่ยังมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือการพัฒนาวัตถุ จนเกิดการปฏิวัติทางความคิดและอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในยุคสมัยปัจจุบัน ปรากฏการณ์การพัฒนาทางวัตถุที่มนุษย์ได้พยายามสร้างขึ้นเหล่านี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคุณอนันต์ ทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน การพัฒนาดังกล่าวก็มีจุดบกพร่องและโทษมหันต์ ทั้งนี้มิใช่ด้วยตัวของเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่าง ๆ ที่เป็นโทษ แต่ปัญหาก็คือ ผู้ใช้คือมนุษย์ และการใช้ของมนุษย์ในทางที่ผิดต่างหาก ซึ่งข้อบกพร่องเหล่านี้สามารถที่จะได้รับการแก้ไขได้ หากมนุษย์ไม่ลืมหลักคุณธรรมและจริยธรรมตามแบบฉบับดั้งเดิมที่แต่ละศาสนาได้พร่ำสอนเพื่อปกป้องทั้งตัวมนุษย์เอง รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทั้งมวลด้วย

ความจริงปรากฏการณ์การพัฒนาทางด้านวัตถุดังกล่าวของตะวันตก เกิดขึ้นในยุคสมัยที่เรียกว่า ยุคโพล่งทางปัญญา (the Enlightenment Era) หรือยุคที่เรียกว่า ยุคสมัยแห่งเหตุผล (The age of reason) ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 16 ถึง ศตวรรษที่ 18(20) โดยมีวิธีคิดแบบใหม่ที่เน้นย้ำประสบการณ์ในโลกแห่งวัตถุ(22) โดยสรุปองค์ความรู้สมัยใหม่จึงเน้นพึ่งพาสติปัญญาของมนุษย์ ขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสงสัยผู้มีอำนาจทางศาสนาในแบบดั้งเดิม

หากจะสรุปประเด็นให้ชัดเจนเกี่ยวกับองค์ความรู้สมัยใหม่ก็คือ การปฏิเสธอำนาจและอิทธิพลของศาสนา ประเด็นต่อมาก็คือ องค์ความรู้ที่แท้จริงต้องมาจากสติปัญญาของมนุษย์เท่านั้น มนุษย์จึงกลายเป็นจุดศูนย์กลางขององค์ความรู้สมัยใหม่ทั้งมวล ศาสนาจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีคุณค่าและมีอิทธิพลต่อองค์ความรู้แต่อย่างใด ดังนั้นองค์ความรู้หรือทฤษฎีใหม่ ๆ อันใดก็ตาม จักต้องเป็นองค์ความรู้ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานตามหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการสังเกต ด้วยประสาทสัมผัส เช่น การสัมผัส การมองเห็น การได้ยิน และการได้ลิ้มชิมรส อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงประสาทสัมผัสของมนุษย์ไม่สามารถสังเกตโลกทางสังคมโดยตรง (Social world) ได้ทั้งหมดโดยใช้แค่เพียงประสาทสัมผัส

นอกจากนี้แล้วยังสามารถสรุปลักษณะสำคัญๆ ขององค์ความรู้สมัยใหม่หรือที่เรียกกันว่าเป็นศาสตร์ (Science) โดยที่ศาสตร์นี้มีข้อสมมติฐานต่าง ๆ หลายประการ ซึ่งเป็นพื้นฐานของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับองค์ความรู้สมัยใหม่ที่สำคัญที่สุด พื้นฐานเหล่านี้เป็นที่มาของความแตกต่างระหว่างการศึกษา"พื้นฐานความรู้ของตะวันตก"กับ"พื้นฐานความรู้ของอิสลาม" หรือที่เรียกว่า ญนวิทยา(Epistemology) หรือการศึกษาพื้นฐานของความรู้ ในบรรดาข้อสมมติฐานองค์ความรู้หรือศาสตร์แห่งความรู้ของตะวันตกจึงประกอบไปด้วยสมมติฐานดังนี้คือ(22)

1. ธรรมชาตินั้นมีระเบียบและดำเนินไปตามขั้นตอนของมัน กล่าวคือ ในภาวะธรรมชาติของโลก มีเหตุการณ์หรือการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เกิดขึ้น มิใช่เพราะความบังเอิญ แต่มันมีสาเหตุ (Cause) ที่ทำให้เหตุการณ์ หรือการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เหล่านั้นเกิดขึ้น เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้มิได้ถูกบังคับโดยสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติหรือพระเจ้า แต่มันเป็นไปตามธรรมชาติของมันเอง และที่สำคัญที่สุด ทุกเหตุการณ์และการเคลื่อนไหวบนพื้นโลกเกิดขึ้นเป็นวัฏจักรอย่างมีระบบระเบียบแบบแผน จึงอาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ หรืออภินิหาร จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ และไม่สามารถยอมรับได้ด้วยเหตุผลของมนุษย์

2. สมมติฐานข้อที่สองคือ มนุษย์สามารถหยั่งรู้ธรรมชาติได้ เพราะธรรมชาติเองได้สร้างกฎธรรมชาติขึ้นมาให้มีระบบระเบียบแบบแผน เป็นขั้นเป็นตอน มนุษย์ก็เช่นเดียวกันย่อมดำเนินชีวิตไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น

3. ความรู้สูงส่งกว่าความโง่เขลาเบาปัญญา เมื่อมนุษย์สามารถหยั่งรู้ธรรมชาติได้ มนุษย์ก็สามารถหาความรู้นั้น และเพื่อที่จะได้มาซึ่งสภาวการณ์ที่ดีกว่าของมนุษย์เอง ดังนั้นความรู้ที่แท้จริงจึงไม่ใช่ความรู้ที่สมบูรณ์ ความรู้สามารถเพิ่มพูนและเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

4. ปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งมวล ล้วนมีสาเหตุในการเกิดขึ้นมาทั้งสิ้น ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ไม่มีปรากฏการณ์ใดเกิดขึ้นโดยปราศจากสาเหตุหรือ (Causes)

5. ข้อสมมุติฐานประการต่อมาคือ ไม่มีอะไรที่เป็นหลักฐานในตัวของมันเอง กล่าวคือ การจะกล่าวว่าอะไรคือความจริงที่เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ จะต้องแสดงหรือสาธิตให้เห็นถึงความจริงอันนั้น จากความเป็นจริงที่ปรากฏ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะต้องเป็นความรู้ที่ไม่ได้มาจากความรู้สึกนึกคิดเอาเอง หรือทึกทักคาดเดาเอาเองว่าเป็นเช่นนั้น และความรู้ทางวิทยาศาสตร์นี้ จะต้องเป็นความรู้ที่สามารถพิสูจน์ความถูกต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้ โดยไม่ผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่เคยพิสูจน์มาก่อนแล้วว่าเป็นความรู้ ความจริง ดังนั้น การตรวจสอบความถูกต้องด้วยประสาทสัมผัสจึงเป็นความรู้ที่จริงแท้และถูกต้อง(Objective verification)

6. ประการสุดท้าย สมมุติฐานที่ว่า ความรู้เกิดจากการได้รับประสบการณ์ เพราะฉะนั้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ ที่จะแสดงองค์ความรู้เป็นตัวแทน ความจริงใดบนโลกจะต้องเป็นความรู้ที่มาจากประสบการณ์ หรือที่เรียกว่า ความรู้เชิงประจักษ์ (Emperical knowledge)คือ สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการสังเกต ประสบการณ์ และการรับรู้สัมผัสได้ วิธีการนี้นี่เองที่เป็นเสาหลักของกระบวนการการสร้างองค์ความรู้ ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

จากสมมุติฐานทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะสังเกตเห็นได้ว่า กระบวนการสร้างองค์ความรู้หรือวิธีการที่ได้มาซึ่งความทางวิทยาศาสตร์ จะปฏิเสธองค์ความรู้ใด ๆ ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ที่เป็นความเชื่อ ความศรัทธา ดังนั้น ความรู้ทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสนาที่นับถือพระเจ้า (Divine Religions) อย่างศาสนาคริสต์ ยูดาย หรืออิสลาม ต่างก็ได้รับความรู้ อันมีที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งตามหลักทางวิทยาศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ ต่างเห็นพ้องกันว่า ไม่สามารถพิสูจน์ และสังเกตได้ และก็อ้างว่าเป็นแค่ความรู้ที่บอกต่อ ๆ กันมาจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งโดยไม่มีมาตรฐานและวิธีการตรวจสอบที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือได้ ดังนั้นวิทยาศาสตร์จึงปฏิเสธความรู้ใด ๆ ที่ปราศจากการพิสูจน์ที่เป็นไปตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยสิ้นเชิง
คำสำคัญ (Tags): #islamization
หมายเลขบันทึก: 39672เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2006 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 20:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท