ชวนไปเรียนรู้เกี่ยวกับเงินตรา และระบบธนาคารกลางของประเทศ ที่พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย


หลักฐานทางประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการทางการเงินของเรา เป็นประจักษ์พยานเป็นอย่างดีว่า เราเป็นชาติที่มีความเจริญมีวัฒนธรรมมาแต่เก่าก่อน

เมื่อวันที่ 8 มกราคม ศกนี้ ดิฉันได้ นัดไปพบปะคุยกันกับเพื่อนที่ทำงานอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย 2คน จริงๆแล้วมีเพื่อนที่ทำงานที่นี่ 5 คน  แต่ได้ขอลาออกไปก่อน(Early Retirement) เสีย 3 คน

  สาเหตุเพราะ..เครียดงาน  คนที่ไปก่อนเพื่อน  เป็นถึง ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ เลยเป็นข้อสังเกตว่า คนทำงานด้านการเงิน มักจะเครียดมากกว่า อาชีพอื่นๆบ้างหรือไม่ หรือ เป็นเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น ยังไม่มีข้อสรุปค่ะ

 

จึงถือโอกาสเข้าไปชม วังบางขุนพรหม ที่เพิ่งปรับปรุงใหม่ สวยงามมาก วังนี้ มีอายุ 100 ปีเมื่อ 28 ธันวาคม 2549 ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งห้องรับแขกของธนาคารแห่งประเทศไทย ยามเมื่อ พระราชวงศ์ ผู้นำประเทศ และอาคันตุกะทั้งในและต่างประเทศมาเยือน

 รวมทั้ง เป็นห้องเรียนนอกโรงเรียนให้แก่กุลบุตรกุลธิดาไทย ได้มาเรียนรู้เกี่ยวกับวิวํฒนาการเงินตราไทยและระบบธนาคารกลางของประเทศ ซึ่งป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทย และเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกในความรักชาคิให้แก่เยาวชน เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในชาติสืบไป

ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดทำห้องเทิดพระเกียรติ รัชกาลที่ 8ไว้ด้วย..(พระรูปอยู่บนสุดค่ะ) เนื่องจากพระองค์ท่านเคยเสด็จพระราชดำเนินมายังธนาคารแห่งนี้ ครั้งหนึ่ง เพื่อร่วมงานประจำปี ของผู้ที่เคยเรียน ในมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดและเคมบริดจ์ ในประเทศอังกฤษ

วังบางขุนพรหม เดิม เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต   มาตั้งแต่ วันที่ 28 ธันวาคม 2449 จวบจนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 พระองค์และครอบครัว จึงต้องเสด็จไปประทับที่ เมืองบันดุง ประเทศอินโดเนเซีย

นับแต่นั้น วังนี้ ได้เป็นที่ทำการของรัฐหลายหน่วยงาน จนสุดท้าย ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มาใช้วังนี้ เป็นสำนักงานใหญ่ ตั้งแต่ 5 มีนาคม 2488 ต่อมา ที่ตำหนักใหญ่ ได้ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อ 9 มกราคม 2536

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ สวยงามสง่าโดดเด่น ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสถาปัตยกรรมยุคบาโรก และโรโกโก มีห้องจัดแสดง ประกอบด้วย..

1.ห้องเปิดโลกเงินตราไทย ซึ่งประกอบด้วย เงินตราโบราณ นำเสนอแบบวีดิทัศน์ ในรูป Animation ตั้งแต่ยุค ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคทวาราวดี  ศรีวิชัย ล้านนา ล้านช้าง เป็นต้น และยังมีเงินพดด้วง ที่ใช้มาจนถึงรัชกาลที่ 5 แสดงแบบสื่อมัลติมีเดีย  สุดท้ายคือ กษาปณ์ไทย แสดงตั้งแต่ยุคเหรียญแรก ผลิตด้วยมือ มีวิธีการผลิตเหรียญกษาปณ์แสดงด้วยค่ะ

การแลกเปลี่ยนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ คนเราก็มีการแลกเปลี่ยนผลิตผลระหว่างกัน เช่น การนำขวานหินไปแลกข้าวหรือเนื้อสัตว์ ต่อมาจึงมีการใช้สิ่งมีค่าเป็นที่ต้องการทั้งสองฝ่ายเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน ได้แก่ เปลือกหอย เมล็ดพืช ปศุสัตว์ ลูกปัด ขวานทองแดง หัวธนู เครื่องมือการเกษตร เป็นต้น และในที่สุดได้นำโลหะทองแดง โลหะเงิน โลหะทอง ซึ่งหายาก มีความคงทน ตัดแบ่งได้ง่ายมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เมื่อมีการรวมดินแดนต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นประเทศในสมัยโบราณ ผู้มีอำนาจในการปกครองได้ใช้ตราเครื่องหมายของตนประทับลงบนเม็ดเงินที่ใช้ชำระหนี้ โลหะเงินประทับตราจึงเกิดเป็น เงินตรา ขึ้น

2.ห้องประวัติและการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงแบบสื่อMagic Vision

3.ห้องสีชมพู เป็นห้องที่งดงามที่สุดค่ะ ใช้เป็นที่ถวายการต้อนรับพระมหากษัตริย์และผู้นำต่างประเทศ

4.ห้องบริพัตร แสดงพระราชประวัติ พระกรณียกิจ พระอัจฉริยภาพ มีพระรูปหล่อไฟเบอร์กลาส เหมือนพระองค์จริง สวยงามมากค่ะ และท่านทรงเป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านดนตรีไทยและสากลอย่างยิ่งยวด  และได้พระนิพนธ์เพลงไว้มากทั้งเพลงไทยและสากล  ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่แต่งเพลงมาร์ช เช่น มาร์ชบริพัตร เป็นต้น

%e0%b8%97%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%82%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%9a%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%82%e0%b8%b8%e0%b8%99%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%ab%e0%b8%a1

5.ห้องสีน้ำเงินเป็นห้องรับแขก  6.ห้องวิวัฒนไชยานุสรณ์ เป็นอดีตห้องทำงานของผู้ว่าการธนาคารชาติพระองค์แรกคือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย และ 7. ห้องประชุมเล็ก เป็นห้องเก็บเครื่องดนตรีของวังบางขุนพรหม ห้องนี้ มีรูปหล่อของครึ่งตัวของดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 7 ซึ่งอยู่ในตำแหน่งยาวนานกว่า 12 ปี

การที่ดิฉัน ได้ไปชมพิพิธภัณฑ์ฯในครั้งนี้ นับเป็นการกระตุ้นความจำที่เรียนเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย สมัยเด็กๆ ให้กลับคืนเด่นชัดขึ้นอีกครั้งค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของดินแดนสุวรรณภูมิ อันอุดมไปด้วย ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ และเป็นศูนย์กลางการค้า มาตั้งแต่โบราณกาล

%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b9%87%e0%b8%88

และเชื่อหรือไม่ว่า..ว่า มีอาณาจักรต่างๆที่ตั้งอยู่ในดินแดนแถบนี้มายาวนานกว่าพันปี ซึ่งได้แก่...

1.อาณาจักรฟูนัน ใช้เงินตราพระอาทิตย์   2.อาณาจักรทวาราวดี ใช้เหรียญทวาราวดี  

 3. อาณาจักรสุโขทัย ใช้เงินพดด้วง  4.อาณาจักรล้านนา ใช้เงินเจียง 

 5.อาณาจักรล้านช้าง ใช้เงินอ้อย   และอาณาจักรศรีวิชัย ใช้เงินนโม

ก่อนกลับ ดิฉันแวะที่ วังเทวะเวสม์  ด้วยค่ะ ภาพข้างล่างนี้ค่ะ มีรูปปั้นช้างสีดำตัวใหญ่เห็นเด่นเป็นสง่าอยู่ ข้างหน้าตึก อดีตเคยเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระบิดาแห่งการต่างประเทศของไทย

 ผู้ทรงมีคุณูปการยิ่ง ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ในสมัยรัชกาลที่ 5 และที่ 6

วังนี้เคยเป็นที่ทำการของกระทรวงสาธารณสุขมาตั้งแต่ ปี2493-2537 รวม 44 ปี ต่อมาได้ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการต่างประเทศในการบูรณะ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เริ่มทำการบูรณะ มาตั้งแต่ปี 2538 โดยเริ่มที่เรือนแพก่อน และทะยอยบูรณะตำหนักเดิมๆเพิ่มเติม  จนถึงตำหนักใหญ่  บูรณะแล้วเสร็จหมดเมื่อ ตุลาคม 2547

วันนี้ ดิฉันกลับบ้านด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจในชาติบ้านเมืองของเรา ที่ได้เห็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการทางการเงินของเรา  ซึ่งเป็นประจักษ์พยานเป็นอย่างดีว่า เราเป็นชาติที่มีความเจริญมีวัฒนธรรมมาแต่เก่าก่อน

นอกจากนี้ เราก็เป็นประเทศที่ อุดมด้วยสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับน้ำ มากกว่า ประเทศอื่นใดในโลก น้ำแทรกซึมอยู่ในสิ่งต่างๆ เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรม วรรณกรรม นาฏศิลป์ ศิลปะพื้นบ้าน จิตรกรรม ปฎิมากรรม สถาปัตยกรรม หรือการวางผังเมืองเป็นต้น

นี่คือภูมิหลังประเทศไทยค่ะ  ถ้าสนใจ  ที่จะเข้าชม สามารถติดต่อได้ ที่ธนาคารฯเลยค่ะ รับรอง ประทับใจแน่นอนค่ะ    มีเจ้าหน้าที่ของธนาคารฯ เป็นผู้บรรยายและนำชมอย่างละเอียดค่ะ

หมายเหตุ::ข้อมูลเรื่องเงินตราไทย อ้างอิง จาก พิพิธภัณฑ์ ธนาคารแห่งประเทศไทยและกรมธนารักษ์ ส่วนข้อมูลเรื่องวังบางขุนพรหม และวังเทวะเวสม์ อ้างอิงจากหนังสือ 100 ปี วังบางขุนพรหมและหนังสือ วังเทวะเวสม์



ความเห็น (127)
พระสยามเทวาธิราชองค์จำลองที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

ตำหนักสมเด็จ เป็นตำหนัก ที่เชื่อมต่อกับ ตำหนักใหญ่  มีลักษณะสวยงามมากโดยเฉพาะภาพเขียนสีด้านบน ยังสวยงาม ไม่ต่างจากร้อยปีที่แล้วเท่าใดนัก

หลักการอนุรักษ์ จะเป็นแบบบูรณะหรือ Renovation คือเก็บคุณค่าที่สำคัญๆของอาคารไว้ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

 การเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องคำนึงถึงคุณค่าเหล่านี้ ไม่ให้เสื่อมสลาย หรืออาจจะส่งเสริมให้คุณค่าเหล่านี้ ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดขึ้น

ได้มีโอกาส ไปกราบถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชองค์จำลอง โดยจะมีคาถาสวดให้กล่าวเป็นภาษาบาลี  ซึ่งแปลเป็นไทย ความว่า

ด้วยอานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และคาถาสวดบูชาพระสยามเทวาธิราช ที่ข้าน้อย ได้สวดจบไปนี้แล้ว

ขอให้ไปค้ำชูอุดหนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ ประเทศสยาม  บิดามารดา ครูอุปัชฌาอาจารย์ และญาติมิตรเพื่อนฝูง สัตว์น้อยใหญ่ ให้รอดพ้น จากภัยพิบัติทั้งหลาย

และขอให้ข้าน้อยและครอบครัว จงอยู่ด้วยความร่มเย็น เป้นสุข ตลอดกาลนานเทอญ

เรื่องและรูปสวยมากค่ะ

ขอถามว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้อยู่ที่นี่ มาแต่เริ่มเลยหรือคะ

เห็นอยู่ที่นี่ตั้งนานแล้ว

สวัสดีค่ะคุณกฤษณา

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงาน ขึ้นตั้งแต่ 17 ต.ค. 2482 แล้วค่ะ ก่อนคุณเกิดค่ะ

ต่อมาเปิดดำเนินงาน เมื่อ 24 มิถุนายน 2483 ใช้ตึกบริเวรพระบรมมหาราชวัง ด้านข้าประตูวิเศษไชยศรี เป็นที่ทำงาน เดี๋ยวนี้ รื้อแล้วค่ะ

สมัยนายปรีดี พนมยงค์เป็น รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลัง และท่านเป็นผู้วางรากฐาน การจัดตั้งสำนักงาน ธนาคารชาติไทยขึ้นค่ะ

ต่อมารัฐบาลไทย ได้ตราพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้น เมื่อปีพ.ศ.2485 และมีพิธีเปิดเมื่อ 10 ธ.ค. 2485  ที่ตึกธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ ปากคลองผดุงกรุงเกษม โดยมี จอมพลป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดค่ะ

นี่เป็นประวัติ แรกๆเลยค่ะ

มีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และดูแลระบบการเงินของประเทศ เพื่อที่เศรษฐกิจของประเทศจะได้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพต่อไป

ศึกษารายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ

ไม่นึกว่าจะสวยมากขนาดนี้ครับ เห็นแต่ ข้างนอก ตอนไป ดูระบบเรื่อง Network ของ ธนาคาร ตอนแรก นึกว่า เป็นที่ ทำการ ธนาคาร แห่งแรก นะเนี่ย ตั้งอยู่ โดดๆ ตึกเดียว มองภายนอก ก็ สวยมากแล้ว ภายใน ล้วนมีคุณค่า มากๆ ครับ อยู่ติดสะพาน พระรามแปด

สวัสดีครับ
รูปสวยมากๆ เลย ครับ
แหม..อยากไป ที่นั่นบ้างจังครับ  น่าศึกษา เหลือเกิน
ขอบพระคุณครับ

แล้วทำไม ธนาคารมาอยู่ที่วังนี้ได้คะ

ไม่เห็นเล่าต่อ ผ่านมาอ่าน ชอบใจค่ะ สวยมากๆ

สวัสดีค่ะคุณผักคะน้า

สงสัยจะชอบทานผักนี้มากนะคะ ชื่อน่ารักจัง

เมื่อตอนมีการฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200ปี เมื่อพ.ศ.2525 ได้มีกิจกรรม ทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นหลายประเภทค่ะ โดยเฉพาะด้านการอนุรักษ์อาคารประวัติศาสตร์ในพระบรมมหาราชวัง และบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์

โครงการอนุรักษ์วังบางขุนพรหม ก็เป็นแนวคิด เป็นโครงการแรกๆค่ะ และเป็นต้นแบบให้กับการอนุรักษ์ อาคารในลักษณะเดียวกันนี้อีกหลายแห่งค่ะ

ดิฉันถ่ายภาพสะพานพระราม 8 มาให้ชมด้วยนะคะ

ปัญหาหลักของการบูรณะอาคารโบราณคือ เรื่องความชื้นค่ะ

มีหลายลักษณะ ทั้งจากที่น้ำฝนรั่วเข้ามา และจากความชื้นใต้ดิน และยังมีเรื่องอาคารทรุดตัวด้วยค่ะ

ดิฉันเดินเข้าไปในอาคาร จะรู้สึกเลยว่า พื้นอาคารเอียงอยู่บ้างค่ะ

แต อาคารนี้สวยมากนะคะ มีเวลาไปชมอีกทีซีคะ

สวัสดีค่ะ

คุณแม่เคยทำงานที่สภาวัฒนธรรม และก็ใช้ที่นี่เป็นสำนักงานค่ะ

รู้สึกจะมี วันวัฒนธรรม และเขามีงานกันด้วย ในวันที่ 28 กันยายน เดี๋ยวนี้ ไม่มีแล้วนะคะ แสดงว่า สมัยก่อนผู้คน มีงานฉลองกันมากกว่าเดียวนี้ ชีวิตสบายๆมากกว่าไหมคะ

สวัสดีค่ะ

           ดิฉันเปิดเข้ามาดูแล้วสวยจริงๆ และภูมิใจมาก

           และน่าดีใจที่มีการอนุรักษ์ สถาปัตยกรรม        

 นาฏศิลป์   จิตรกรรม ปฎิมากรรม  แต่ก็มีค่าใช้จ่าย    สูงในการปรับปรุงดูแล แต่ก็คุ้มค่ามากให้คนรุ่นหลังได้ดูเหมือนกัน  ขอบคุณค่ะ

  • สวัสดีค่ะพี่ศศินันท์ แวะมาพร้อมค่าเงินบาทแข็งค่ะ
  • โอ้โห ภายในสวยงามมากๆ เคยแต่ผ่านไปผ่านมา ไม่นึกว่าจะมีความสวยงามหลายๆด้านซ่อนอยู่
  • แต่เงินตราก็คือ อสรพิษสำหรับใครๆหลายคนนะคะ

สวัสดีค่ะ

มาอ่านบันทึกนี้ชอบใจค่ะ เพราะได้ทั้งความรู้และดูภาพสวยๆ

และมีเรื่องอยากจะรบกวนถามพี่ศศินันท์ ว่าพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ไหนค่ะ เผื่อมีโอกาสได้เข้าเมืองกรุง อยากจะหาเวลาแวะไปดูค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

ผ่านมาพบ บันทึกนี้

ไม่คิดว่าข้างในจะสวยอย่างนี้ น่าสนใจ ไปดูบ้างดีกว่า ขอบคุณฮะ

สวัสดีค่ะ

      ดิฉันเข้าไปดูบันทึกแล้วชอบมากเลยค่ะ 

        ท่านเจ้าของวังเป็นเจ้าคุณปู่ของคุณปรีดิยาธรใช่ไหมค่ะ 

        ดิฉันยังไม่เคยไปเลยทั้ง  2  ที่ 

        ดิฉันเป็นครูค่ะ คงต้องพานักเรียนไปทัศนศึกษาแล้วค่ะ

 

สวัสดีครับsasinanda

เชื่อไหมครับว่ากระผมไม่เคยสัมผัสกับ"วัง"เลย ตอนเด็กๆ อยู่บ้านนอกจะเข้าไปในอำเภอ ก็เรียกว่าไปเมือง เด็กๆ ชนบทได้เห็นเมืองจะดีใจมากครับ ขอบคุณครับ 

สวัสดีครับ

     เพื่อนผมแนะนำให้เข้ามาดูในบันทึก  เพราะตอนนี้ผมกำลังเรียนศิลปกรรม อยู่ครับ หามุมวาดรูปสวยๆอยู่ครับ  และอีกอย่างผมก็เคยผ่านเหมือนกัน  ถ้าจะเข้าไปหามุมวาดรูปภาพ ไม่รู้ว่าจะอนุญาตได้หรือเปล่าครับ 

 

สวัสดีค่ะ คุณพี่ศศินันท์

ว้าว งามมากๆ ค่ะ ไว้เข้าเมืองกรุง จะได้ไปเยี่ยมชมบ้าง

คุณพี่สบายดีนะคะ

ด้วยรฤกค่ะ ปู

  • สวัสดีค่ะ
  • สวยงามมากค่ะ  เห็นภาพแล้วอยากไปดูของจริง
  • ขอบคุณภาพสวย ๆ ที่นำมาฝากค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ นิรันดร์   นายนิรันดร์

โอ้โฮ หายไปนานมากๆ ไปต่างจังหวัดหรือเปล่าคะ ขับรถดีๆนะคะ อย่าประมาทเป็นอันขาด

ขอบคุณที่ชมว่ารูปสวย

วัตถุประสงค์ในการตั้งพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยนี้ ก็เพื่อ.....

1.เพื่ออนุรักษ์เงินตราไทย

2.เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเงินตราไทย

3.เผยแพร่บทบาทหน้าที่ของธนาคาแห่งประเทศไทย

4.เพื่ออนุรักษ์อาคาร อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและศิลปกรรม ในอาคารตำหนักวังบางขุนพรหม ไว้ให้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรม ของชาติสืบไป

ถ้ามีเวลา ลองไปซีคะ คุ้มค่า กับการไปเที่ยวชมแน่นอนค่ะ ทั้งในตึกและสวน สนามหญ้ารอบๆ มีการดูแล อย่างดีมากค่ะ

สวัสดีค่ะคุณอาน้อย

เรื่องที่คุณอยากทราบ ขอผลัดไปอีกนิดนะคะ พอดี ต้องใช้เวลาตอบหน่อยน่ะค่ะ

 แต่เวลาไปชมพิพิธภัณฑ์ และเราพาเด็กไปด้วย ควรต้องเตรียมตัวเล็กน้อยค่ะ

1.แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย และถอดรองเท้าก่อนเข้าไป

2.ไม่จับต้องวัตถุที่จัดแสดง

3.ห้ามถ่ายภาพ ในสิ่งที่ห้ามถ่าย

5.ห้ามส่งเสียงดัง

6.ห้ามนำอาหารเข้ามา

7.และห้ามสูบุหรี่เด็ดขาดค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์ ขอบคุณที่ไปจูงมือชวนมาเที่ยวนะคะ ให้ได้เรียนรู้เรื่องราวของเงินตราและระบบธนาคารกลางบ้านเรา ทั้งยังได้ชมความงามในสถาปัตยกรรมและการตกแต่ง

เมื่อก่อนผ่านที่แห่งนี้บ่อยมาก แต่ไม่เคยแวะเข้าไปสักที่ค่ะ ดีใจที่ได้ความรู้นี้ค่ะ

นุชไปลำปาง แล้วก็เลยขึ้นไปเชียงใหม่มาสามสี่วัน ห่างหายไปหลายวัน มีเรื่องเข้าคิวไว้เล่าด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ อาน้อยอีกที พอดีเมื่อสักครู่ไปธุระมา

มาต่อกันเรื่อง ธนาคารแห่งประเทศไทย จากตึกธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้  เมื่อ พ.ศ. 2485   มาอยู่ที่นี่ได้อย่างไรนะคะ.......

ระหว่างที่ ธนาคารใช้ตึกฮ่องกงเซี่ยงไฮ้อยู่นั้น คณะกรรมการธนาคาร ได้เตรียมจัดหาสถานที่ทำการถาวร เพราะทราบดีว่า ต้องคืนสถานที่ให้แก่เจ้าของต่อไป เมื่อสิ้นสงคราม โดยพิจารณาไว้ 2 แห่งคือ วังบางขุนพรหม กับโรงแรมรัตนโกสินทร์

ซึ่งสรุปว่า เลือก วังบางขุนพรหม

และได้ย้าย มายังที่ทำการใหม่นี้ ตั้งแต่ 14 ก.พ. 2488 เวลา 10 น.

และได้มีการเปิดทำงานวันแรกในเช้าวันจันทร์ที่ 5 มี.ค. 2488 ค่ะ

- ขอชื่นชมในความสวยงามที่เกิดจากฝีมือของบรรพบุรุษของพวกเราทุกๆคน อลังการมากภาคภูมิใจจริงๆครับที่เกิดมาในแผ่นดินนี้

- ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ดิน อิฐ ทุกก้อนบอกเล่าถึงอารยธรรมอันงดงามของชนชาติไทย รักกันไว้เถิดครับ ถึงแม้ว่าจะขุ่นมัวกับสภาวการณ์การเมืองที่ยังอึมครึมอยู่ในขณะนี้ก็ตาม

- ขอขอบคุณสำหรับสิ่งดีงามที่มีให้กับชาว G2K โดยตลอดครับ

- ชาวโรงเรียนอุตรดิตถ์ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยครับ

ตอนนี้ วังบางขุนพรหม เป็นของธนาคารแล้วใช่ไหมครับ ไม่ได้เช่า กระทรวงการคลังแล้ว

รู้สึกว่า โทรทัศน์ ช่อง 4 บางขุนพรหม ก็เคยอยู่ที่เดียวกันนี้ ใช่ไหมครับ ชักจะลืมๆ เสียแล้วครับ

สวัสดีค่ะ คุณ วาณี P

ค่ะ เดิมวังบางขุนพรหมอยุ่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ต่อมา สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ส่งมอบวังบางขุนพรหม ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ และทางกระทรวง ได้ให้ สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ราชบัณฑิตยสถานและพุทธสมาคมฯ

ในวันที่ 28 กันยายาของทุกปี สภาวัฒนธรรม ได้จัดงานวันเกิด เรียกว่า วันวัฒนธรรม มีงานอุทยานสโมสร มีดนตรีไทยบรรเลงด้วยค่ะ

สมัยก่อน ชีวิตดู น่ารื่นรมย์ดีเหมือนกันค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ สุ 

 ขอบคุณที่มาชมค่ะ

ดิฉันได้ฟังการบรรยาย ของเจ้าหน้าที่ วันที่ไปชม ทราบว่า 

วัตถุประสงค์หลักของการบูรณะสถาปัตยกรรมภายในของ ตำหนักวังบางขุนพรหม

คือการทำให้รูปแบบภายในอาคาร กลับไปสู่สภาพดั้งเดิม เมื่อแรกให้มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน ภายในอาคาร ก็ต้องมีการปรับปรุง ให้เหมาะสมกับ ประโยชน์ใช้สอยใหม่ ที่จะเป็นพิพิธภัณฑ์ธนาคาร ห้องบรรยาย และห้องทำงาน โดยยังคุณค่าสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้

ค่าใช้จ่าย ในการบำรุงรักษา คงจะไม่น้อยค่ะ แต่ ก็คุ้มค่า ในการที่จะเก็บรักษามรดกทางวัฒนธรรมนี้ ไว้ลูกหลานต่อไป

 ปัจจุบัน  พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ใน ตำหนักวังบางขุนพรหม ซึ่งเป็นโบราณสถานที่มี ความงดงามทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม แห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์

จัดแสดง วิวัฒนาการด้านเงินตราที่สมบูรณ์แบบของประเทศ เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่บุคคลทั่วไป

โดยเฉพาะ เยาวชน ให้ตระหนักถึงคุณค่าแห่งมรดกทางวัฒนธรรมของชาติค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ  naree suwan

คุณนารีบอกว่า...โอ้โห ภายในสวยงามมากๆ เคยแต่ผ่านไปผ่านมา ไม่นึกว่าจะมีความสวยงามหลายๆด้านซ่อนอยู่

แสดงว่า ที่นี่ธนาคารชาติอ่อนการประชาสัมพันธ์นะคะ เลยมีคนรู้น้อยไปหน่อย จริงๆ ก็เป็นพิพิธภัณฑ์มานานแล้วค่ะ ตั้งแต่ 9 ม.ค.2536

ส่วนการบูรณะ ก็เริ่มมาตั้งแต่ ก็เริ่มเก็บข้อมูล ทางสถาปัตยกรรม มาตั้งแต่ ปี 2527

มีการสำรวจข้อมูลกันหลายด้าน ทั้งในด้านเอกสาร หนังสือเก่า จดหมายและบันทึกต่างๆ ที่บรรยายถึงชีวิตและกิจกรรม ที่เกิดขึ้นภายในวังบางขุนพรหมสมัยนั้น รวมทั้ง ศึกษาจากภาพถ่ายเก่าๆบุคคลที่เคยอยู่ในวังเก่าๆ รวมทั้งการสำรวจกายภาพอาคาร

จนได้เป็นข้อมูลที่สำคัญที่สุดในการจะออกแบบบูรณะอาคารได้

เรียกว่า เป็นงานช้างค่ะ ไม่ง่ายนะคะ นี่แค่ ขั้นตอนสำรวจข้อมูลเท่านั้น

ผลที่ปรากฎออกมา จึงเป็นสถานที่สวยงามมากๆค่ะ

สวัสดีค่ะน้อง  มะปรางเปรี้ยว

ขอบคุณที่ชอบบันทึกนี้ค่ะ

อย่างที่ตอบคุณนารีค่ะว่า สงสัยที่ธนาคารนี้ จะประชาสัมพันธ์น้อยไป

เขามีการปรับปรุงบูรณะมาหลายปี กว่าจะเสร็จ เป็นอาคารประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่ามาก และไม่ได้จำกัดเพียงแค่ สถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่หมายรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาคารและที่ตั้ง ภูมิสถาปัตยกรรม อาคารและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ในบริเวณด้วย

สภาพแวดล้อมก็สำคัญค่ะ เป็นส่วนหนึ่งของอาคารเหมือนกัน และมักเกี่ยวเนื่องกับบุคคลหรือเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นช่วงต่างๆ ของประวัติศาสตร์ด้วยค่ะ

  • ขอบคุณพี่ศศินันท์คะเป็นภาพที่สวยและได้ความรุ้เพิ่มเติมคะ

สวัสดีปีใหม่คะพี่นกก็มาช้าคะขอบคุณคะ

MySpace and Orkut Rose Glitter Graphic - 6

  • สวัสดีค่ะ คุณ  sasinanda
  • ต้องขอสารภาพว่า เข้ามาอ่านบันทึกของคุณ  sasinanda ครั้งใด ไม่เคยผิดหวัง ทั้งเนื้อหา และภาพประกอบ
  • โดยเฉพาะบันทึกตอนนี้ โดนใจอีกแล้วค่ะ
  • ส่วนตัว หนูเป็นคนชอบสถาปัตยกรรมของตึกโบราณสไตล์นี้ค่ะ
  • เคยฝันว่าอยากมีบ้านที่มีหน้าต่างแบบนี้ มีบันไดแบบนี้
  • แต่ไม่จำเป็นต้องหรูหรางดงามวิจิตรเท่านี้
  • เป็นความฝันเฟื่องไปอย่างนั้นเองค่ะ อิอิ
  • ยังมีอีกตึกหนึ่งที่สำนักงานธ.ไทยพาณิชย์ แต่เสียดาย หนูจำไม่ได้ว่าอยู่สาขาไหน เคยอ่านเจอในหนังสือ ที่นั่นก็สวยงามมาก ไม่ได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่เป็นธนาคารที่ยังเปิดทำการอยู่
  • ยังติดตา ติดใจ อยู่ไม่หายค่ะ
  • ขอบคุณที่นำข้อมูลดีดี และที่สำคัญภาพสวย ๆ มาให้ชมให้อ่านกันนะคะ

 

  • มาอีกรอบค่ะ
  • หนูทราบแล้วค่ะว่าสาขาไหน มีรูปมาโชว์ด้วยค่ะ ^-^
  • ธ.ไทยพาณิชย์ สาขาถนนเพชรบุรี

น้องมะปรางเปร้ยวคะ

ลืมไป ขอเพิ่มเติม

ที่ถามว่า พิพิธภัณฑ์นี้ ตั้งอยู่ที่ไหน และจะติดต่ออย่างไร ในการเข้าชม

 ติดต่อที่......ธนาคารแห่งประเทศไทย 273 ถนนสามเสน เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 โทร. 0-2283-5353 บริการข้อมูลอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง 0-2283-6789

แต่การเข้าชม น่าจะต้องไป ขอร่วมกับหมู่คณะนะคะต้องโทรไปก่อนค่ะที่พี่ไป ไปกับเพื่อนที่ทำงานในนั้นและพอดี ไปชมรวมกับโรงเรียนหนึ่ง ที่พาเด็กมาชม แยะเชียวค่ะ

แต่น่าไปค่ะ มีรายละเอียดมาก ที่น่าเรียนรู้ ยิ่งไปกันหลายๆคนยิ่งดีที่จอดรถสะดวกค่ะ แต่อย่าลืมนำบัตรประจำตัวประชาชนไปด้วยนะคะ เพราะต้องแลกบัตร และการจะถ่ายรูปภายใน ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อน บางแห่ง เขาก็ไม่ให้ถ่าย เพราะ แสงแฟลช อาจทำให้รูป สีจางลงเร็ว

มีผู้เข้าชม ทุกวัยค่ะ ตั้งแต่เด็กประถมเลย เพราะจะมีโบรชัวร์สำหรับเด็กแจกด้วย ในห้องแสดง มีการแสดงลักษณะเป็นการ์ตูน ให้เด็กๆเข้าใจง่ายๆค่ะ

 

สวัสดีค่ะคุณวิชัย
 คุณวิชัย บอกว่า บังเอิญsearch พบบันทึก และว่า ไม่นึกว่า ภายในวังบางขุนพรหมจะสวยอย่างนี้

ค่ะ ข้างในวังบุรณะใหม่ สวยงามมากมีรูปที่นำมาฝาก
 แต่เป็นรูปเล็กๆ ที่เหมือนมีวงOrchestra อยู่ในรูปด้านบนค่ะเป็นเรื่องของศิลปวัฒนธรรมของคนในยุคนั้น 2449-2475
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นผู้ที่ทรงมีพระอัฉริยภาพทั้งดนตรีไทยและสากลอย่างยิ่งยวดค่ะ
มีห้องทรงดนตรี เรียกว่า ห้องพิณพาทย์ อยู่ในตึกนี้ด้วย เรียกว่า มีบรรยากาศแห่งดนตรี อยู่เป็นประจำในวังบางขุนพรหม
 จะมีวงดนตรี 2วง คือวงเครื่องสาย อีกวงคือ วงจางวางทั่ว พาทยโกศลยังมีคณะ พาทยโกศล มาถึงปัจจุบันนี้ค่ะ
สวัสดีค่ะ คุณหนิง
คุณถามว่า ท่านเจ้าของวังเป็นเจ้าคุณปู่ของคุณปรีดิยาธรใช่ไหมค่ะ 

        ดิฉันยังไม่เคยไปเลยทั้ง  2  ที่ 

        ดิฉันเป็นครูค่ะ คงต้องพานักเรียนไปทัศนศึกษาแล้วค่ะ

ค่ะ คุณคงหมายถึง ที่วัง เทวะเวสม์ นะคะ

 

วังเทวะเวสม์ เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เมื่อ พ.ศ. 2457 บนที่ดิน 24 ไร่ 3 งาน 78 ตารางวา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศเหนือของวังบางขุนพรหม ทางทิศใต้ของวังเทเวศร์ บนถนนสามเสน ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้

ตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยเอดเวิร์ด ฮีลีย์ สถาปนิกชาวอังกฤษ ลักษณะเป็นอาคารแบบยุโรป 3 ชั้น หันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ศิลปะแบบนีโอคลาสสิค

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานในวังเทวะเวสม์ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 ได้บูรณะเรือนแพ และตำหนักใหญ่ แล้วเสร็จ

เปิดเป็นพิพิธภัณฑสถาน มีห้องแสดงพระประวัติของบุคคลสำคัญ และห้องแสดงวิธีอนุรักษ์โบราณสถานวังบางขุนพรหมและวังเทวะเวสม์ในเชิงวิชาการด้านสถาปัตยกรรม

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาเสด็จฯ มาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดวังเทวะเวสม์ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2547

หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล

เป็นบุตรของพลตรี หม่อมเจ้าปรีดิเทพย์พงษ์ เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และหม่อมแตงไทย เดชผล

เป็นหลานปู่ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ  คนเดินดิน

ที่ดิฉัน เขียนบันทึกนี้ขึ้นมา คือ จุดมีประสงค์หลัก เป็นการนำเสนอพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเรื่องเงินตราและระบบธนาคารกลางของประเทศค่ะ

 แต่บังเอิญว่า พิพิธภัณฑ์นี้ ไปอยู่ในวังบางขุนพรหม ซึ่งปัจจุบัน เป็นอาคารเก่าแก่ มีอายุ 100ปี ที่ได้รับการบูรณะ อย่างสวยสง่างาม มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและศิลปกรรม

เป็นตัวอย่างของอาคารที่ออกแบบโดย สถาปนิกต่างชาติ ที่นำแนวความคิดและรุปแบบทางสถาปัตยกรรมที่เป็นที่นิยมกันในสมัยนั้น มาประยุกต์เข้ากับ ประโยชน์ ใช้สอย และภูมิอากาศ ของประเทศไทย

ผสมผสานกันได้อย่าง ลงตัว สามารถสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรม ที่มีเอกลักษณ์และงดงามได้

นอกจากนี้ อาคารวังบางขุนพรหม ยังสะท้อนให้เห็นถึง ลักษณะ สังคมของราชวงศ์ไทย สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ปรากฏ

ในลักษณะพื้นที่ใช้สอย การวางผังอาคาร การตกแต่งภายใน และภูมิทัศน์แวดล้อม

จึงเป็นหลักฐานให้คนปัจจุบัน ได้ศึกษา เรียนรู้ ประวัติศาสตร์เสี้ยวหนึ่งของประเทศ ได้เป็นอย่างดีค่ะ  

สวัสดีค่ะคุณ นนท์ คุณบอกว่า.....กำลังเรียนศิลปกรรม อยู่ครับ หามุมวาดรูปสวยๆอยู่ครับ  และอีกอย่างผมก็เคยผ่านเหมือนกัน  ถ้าจะเข้าไปหามุมวาดรูปภาพ ไม่รู้ว่าจะอนุญาตได้หรือเปล่าครับ  ดิฉันคิดว่า ไม่น่ามีปัญหา ถ้าคุณเข้าไปติดต่อ ขออนุญาตก่อน ที่ธนาคารฯค่ะ  ในวันและเวลา ราชการ เขาอาจจัดพื้นที่ ให้คุณก็ได้ ลองดูนะคะมีมุมสวยๆมากมาย โดยเฉพาะที่ติดกับ แม่น้ำ เจ้าพระยาค่ะ

สวัสดีครับ

       เพื่อนผมให้เข้ามาเปิดบันทึกอ่านดูครับ  ผมชอบมากครับ  เป็นวังที่สวยงาม  มีอายุตั้ง  100 ปี  ผมต้องอาโอกาสเข้าไปชมครับ  อ้อ ผมเห็นรูปพระสยาม    เทวาธิราช  อยู่ที่วังด้วยหรอครับ  ถ้าจะเข้าไปกราบไหว้ ได้หรือเปล่า เพราะจะได้เป็นสิริมงคลกับตัวเอง

  • มาเที่ยวตามคำเชิญชวนแล้วค่ะ
  • เคยดูพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่าน TV แล้วจากหลายรายการ ในวาระต่างๆกัน
  • ทุกครั้งที่ได้ชมรายการสร้างสรร ประเทืองปัญญายิ่งสร้างความรักและภาคภูมิใจและหวงแหนสมบัติอันล้ำค่าของชาติเป็นอย่างยิ่งค่ะ
  • โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยที่
  • P 
  • กรุณานำพาไปเที่ยวครั้งนี้ สร้างความสุขได้มาก ขอขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ

ขอบพระคุณครับคุณsasinanda
 ที่ได้นำสิ่งที่มีคุณค่าอย่างสูงมานำเสนอให้ได้เรียนรู้

สวยงามมากๆครับแต่ที่มากกว่าความสวยงามคือการแสดงถึงความเจริญงอกงามทางวัฒนธรรมที่นำเสนออย่างทันสมัยครับ

สวัสดีค่ะคุณ อ้อ

ถ้ามีโอกาสอย่าลืมไปนะคะ

ขอกล่าวถึง ตำหนักสมเด็จอีกนิดค่ะ เพราะชอบรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบ Art Nouveau ที่แพร่หลายมากเมื่อ ปลายศตวรรษที่ 19 ค่ะ

ส่วนใหญ่ศิลปะแบบนี้ มักใช้ออกแบบให้กับบ้าน อาคาร ที่อยู่นอกเมือง และมีที่ดินผืนใหญ่ๆ เน้นความสะดวกสบาย และการรับอากาศบริสุทธิ์และแสงแดด

และมักไม่มีห้องใต้ดิน ส่วนการจัดวางผังห้อง ก็เน้นประโยชน์ใช้สอย และให้ชั้นหนึ่งอยู่ติดกับดิน อยู่ใกล้ธรรมชาติมากที่สุดค่ะ

ส่วนที่สวยที่สุดส่วนหนึ่ง ของตำหนักสมเด็จ คือ บันไดโค้ง ที่เน้นเส้นสายอันงดงาม ยาวต่อเนื่อง ไปจนถึงระเบียงชั้น 2 พื้นห้องปูด้วยแผ่นหินอ่อน ดำสลับขาว กันเป็นลาย

องค์ประกอบของสถาปัตยกรรมที่ตำหนักนี้ มีความงดงามในรายละเอียดมากค่ะ ลายแกะสลักไม้ ก็มีต้นแบบมาจากพรรณพฤกษาต่างๆ

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้  มาจากความชอบส่วนตัว เรื่องของสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในค่ะ ดิฉันเอง มีหนังสือแบบนี้ หลายเล่ม และสนใจทีเดียวค่ะ

สถาปนิกที่ออกแบบ เยี่ยมมากที่ออกแบบองค์ประกอบทางด้านสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบที่ใช้ตกแต่งภายใน เช่น ลวดลายฝ้าเพดาน ลายปูปั้น แผงไม้ฉลุ และภาพเขียนฝาผนัง ได้อย่างเยี่ยมค่ะ

 มีความผสมกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนไม่สามารถแยกออกจากกันได้

สวัสดีค่ะคุณ . poo

ดีใจที่เข้ามาเยี่ยมค่ะ ไม่ได้มาเสียนานนะคะ

ตึก 2 ตึกที่วังบางขุนพรหม และวังเทวะเวสม์ มีการตกแต่ภายในที่สวยงามลงตัวมากค่ะ

อย่าง ตำหนักสมเด็จ ที่เชื่อมต่อกับ ตำหนักใหญ่ ที่เห็นในภาพเป็นบันได ยาวโค้งสวยงามนั่น

เป็นอาคารสูง 2 ชั้นเองค่ะ แต่ยกสูงกว่าพื้นดินนิดหน่อย

ที่นี่ ใช้ไม้ฉลุลายค่อนข้างมาก แสดงถึงอิทธิพลการตกแต่ง ของช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ค่ะ

มีแผงไม้ฉลุ มีห้องโถงกว้างขวาง มีความโปร่ง เบาสบาย และลวดลายการฉลุก็เป็น แนวโค้ง รี เป็นลายแบบอาร์ต นูโว

ที่ดิฉันชอบมากคือ ที่ผนังห้องโถง จะกรุด้วยกระเบื้องเคลือบ สี่เหลี่ยมจัตุรัส สีน้ำตาลเข้ม ไม่มีลวดลาย

การใช้กระเบื้องกรุตามฝาผนัง เป็นที่นิยมในยุโรป ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เพราะดีในเรื่องการรักษาความสะอาดด้วย ที่ดี กว่าการตกแต่งผิวผนัง ด้วยวัสดุอื่นๆ

ถ้าคุณชอบ มากรุงเทพฯ แวะไปชมได้ค่ะ ได้ประโยชน์ในการดูหลายอย่างพร้อมๆกันเลยค่ะ

สวัสดีคะ

        อยากทราบเรื่องวังเทวะเวสม์บ้างคะ  ไม่ค่อยพูดถึง  ข้างในสวยไหมคะ  และมีจัดแสดงอะไรบ้าง

สวัสดีค่ะอาจารย์   คุณนายดอกเตอร์

คิดถึงค่ะ เลยไปเคาะประตูเยี่ยม เห็นหายไปค่ะ ทราบว่า สดชื่นดี ก็เบาใจค่ะ

ที่ไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์นี้  พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้นำชม และเล่าให้ฟังว่า...... 

ดินแดนซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ก่อน พุทธศตวรรษที่ 6 

ซึ่งกลุ่มชนเหล่านี้ได้มีการติดต่อกับชุมชนอื่นในบริเวณใกล้เคียง โดยใช้สื่อกลางใน การแลกเปลี่ยนหลายรูปแบบ เช่น ลูกปัด เปลือกหอย เมล็ดพืช เป็นต้น  

สำหรับชนชาติไทย

สันนิษฐานว่าได้มีการนำโลหะเงินมาใช้เป็นเงินตรามาตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย เรียกกัว่า เงินพดด้วง ซึ่งมีเอกลักษณ์ เป็นของตัวเอง และแสดงให้เห็นถึง  ความเจริญของชนชาติไทยที่ได้ผลิตเงินตราขึ้นใช้เองเป็นเวลาหลายร้อยปีจวบจนมีการนำเงินเหรียญตามแบบสากลเข้ามาใช้   ดูภาพเงินพดด้วง อันใหญ่ที่สุด  ด้านบนค่ะ

 

เงินตราฟูนัน

          อาณาจักรฟูนัน  อยู่ทางใต้ของลุ่มน้ำโขง ประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 และล่มสลายลง ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 จากการโจมตีของพวกเจนละ

 อาณาจักรฟูนันได้รับอารยธรรมด้านการปกครองโดยกษัตริย์ และการนับถือศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูจากอินเดีย เงินตราที่ใช้จะมีสัญลักษณ์ เกี่ยวกับกษัตริย์ การปกครอง และศาสนา โดยมีลักษณะเป็นเหรียญเงินด้านหนึ่งมีสัญลักษณ์พระอาทิตย์ครึ่งดวงเปล่งรัศมี อีกด้านหนึ่งเป็นรูปพระศรีวัตสะ กลองบัณเฑาะว์ที่พราหมณ์ใช้ในพิธีต่างๆ และมีเครื่องหมายสวัสดิกะซึ่งหมายถึงความโชคดี

 เงินตราทวารวดี          
อาณาจักรทวารวดีเริ่มขึ้นมื่อพุทธศตวรรษที่ 12 และล่มสลายลงในพุทธศตวรรษที่ 16 สันนิษฐานว่ามีศูนย์กลางการปกครองอยู่บริเวณจังหวัดนครปฐม

 การปกครองยังคงอยู่ในระบบกษัตริย์ ประชาชนนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน เงินตราที่พบยังคงมีสัญลักษณ์เกี่ยวกับกษัตริย์ อำนาจการปกครอง ความอุดมสมบูรณ์ และศาสนา เช่น เหรียญเงินด้านหนึ่งเป็นรูปบูรณกลศ (หม้อน้ำที่มีน้ำเต็ม) ซึ่งหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ อีกด้านเป็นภาษาสันสกฤตโบราณ อ่านว่า "ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ" แปลว่า "บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี" เป็นต้น

 

เงินตราศรีวิชัย

          ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 การค้าทางทะเลมีความสำคัญมากขึ้น ส่งผลให้เมืองที่อยู่บน คาบสมุทรสุวรรณภูมิ ได้แก่ ไชยา และนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นตลาดกลางของสินค้าจากทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และอินเดีย ทางฝั่งตะวันตก และสินค้าจากจีน ขอม ทวารวดี ทางฝั่งตะวันออก มีความสำคัญขึ้นเช่นกัน จนในที่สุด

ดินแดนแถบนี้จนถึงเกาะสุมาตราได้รวมตัวกันเป็นอาณาจักรศรีวิชัย การปกครองได้ใช้ระบบพระมหากษัตริย์ ประชาชนนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน

เงินตราที่ใช้ทำด้วยเงินและทองคำ มี 2 ชนิด คือ "เงินดอกจัน" ด้านหนึ่งมีลวดลายเป็นรูปสี่แฉก อีกด้านหนึ่งมีอักษรสันสกฤตว่า "วร" แปลว่า "ประเสริฐ"

เงินตราอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า "เงินนโม" ด้านหนึ่งมีร่องเล็กๆ คล้ายเมล็ดกาแฟอีกด้านหนึ่งเป็น ภาษาสันสกฤตว่า "น" ด้วยเหตุที่ประชาชนในบริเวณนี้นับถือพุทธศาสนา จึงได้ตั้งชื่อเงินตราที่มีอักษร "น" ว่า "เงินนโม" อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลงในพุทธศตวรรษที่ 18

 

เงินตราสุโขทัย

          ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ราชอาณาจักรสุโขทัยถือกำเนิดขึ้น ได้ติดต่อค้าขายกับราชอาณาจักรในลุ่มเจ้าพระยา คือกรุงศรีอยุธยา ตลอดจนดำเนินการค้าทางทะเลกับจีน อินเดีย ยุโรป และกลุ่มชนทางตอนเหนือของไทย เช่น ล้านช้าง ยูนนาน น่านเจ้า และไปไกลถึงเปอร์เซีย อาหรับ

โดยที่ ราชอาณาจักรสุโขทัยได้ผลิตเงินตราขึ้นใช้ในระบบเศรษฐกิจ คือ เงินพดด้วง นอกจากนี้ยังใช้ "เบี้ย" เป็นเงินปลีกสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้าราคาต่ำ

เงินพดด้วงสันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย และใช้ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมเป็นเวลากว่า 600 ปี

ดยทำขึ้นจากแท่งเงินทุบปลายงอเข้าหากันแล้วตอกประทับตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาลลงไป ด้วยเหตุที่มีสัณฐานกลมคล้ายตัวด้วง คนไทยจึงเรียกว่าเงินพดด้วง ขณะที่ชาวต่างประเทศเรียกเงินชนิดนี้ว่า เงินลูกปืน (BULLET MONEY)

 เงินพดด้วงถือได้ว่าเป็นเงินที่มีรูปร่างเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนเงินตราตระกูลใดในโลก ในสมัยสุโขทัย เงินพดด้วงมักมีตราประทับไว้มากกว่า 2 ดวง และเป็นรูปสัตว์ชั้นสูง เช่น วัว กระต่าย หอยสังข์ และราชสีห์ เป็นต้น

 

ในสมัยกรุงธนบุรี ยังคงใช้เงินพดด้วงเช่นครั้งกรุงเก่า สันนิษฐานว่ามีการผลิตเงินพดด้วงขึ้นใช้เพียง 2 ชนิดคือ เงินพดด้วงตราตรีศูลและตราทวิวุธ

เงินตราสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
          ในปี พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรี มาอยู่ฝั่งตรงข้ามคือ กรุงเทพมหานคร และสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้น เงินตราที่ใช้ในยุคต้นๆ ยังคงใช้เงินพดด้วง โดยที่ตราประทับบนเงินพดด้วงคือตราจักร ซึ่งเป็นตราประจำแผ่นดิน และตราประจำรัชกาล ซึ่งได้แก่
รัชกาลที่ 1 ตราบัวอุณาโลม
รัชกาลที่ 2 ตราครุฑ
รัชกาลที่ 3 ตราปราสาท
รัชกาลที่4 ตรามงกุฏ
รัชกาลที่ 5 ตราพระเกี้ยว

สมัยรัชกาลที่ 4

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศก็ได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว พ่อค้าชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขายมากขึ้นและได้นำเงินเหรียญของตนมาแลกกับเงินพดด้วงจากรัฐบาลไทยเพื่อนำไปซื้อสินค้าจากราษฎร

แต่ด้วยเหตุที่เงินพดด้วงผลิตด้วยมือจึงทำให้มีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกและการค้าของประเทศเสียประโยชน์ พระองค์จึงมีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนรูปเงินตราของไทยจากเงินพดด้วงเป็นเงินเหรียญ
          ในปี พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้คณะทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียที่ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ได้จัดส่งเครื่องทำเหรียญเงินขนาดเล็กเข้ามาถวาย เป็นราชบรรณาการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าให้จัดทำเหรียญกษาปณ์จากเครื่องจักรขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกกันว่า "เหรียญเงินบรรณาการ"

ในขณะเดียวกันคณะทูตก็ได้สั่งซื้อเครื่องจักรทำเงินจากบริษัท เทเลอร์ เข้ามา

ในปลายปี 2401 พระองค์จึงโปรดเกล้าให้สร้างโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ ในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่า "โรงกระสาปณ์สิทธิการ"

ในสมัยนี้จึงถือว่ามีการใช้เหรียญกษาปณ์แบบสากลนิยมขึ้นเป็นครั้งแรก

 ต่อมาแม้ได้ประกาศให้ใช้เงินตราแบบเหรียญแล้วก็ยังโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เงินพดด้วงอยู่เพียงแต่ไม่มีการผลิตเพิ่มเติม

 จนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่มีการนำธนบัตรออกใช้แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ออกประกาศให้เลิกใช้เงินพดด้วงทุกชนิด ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2447 เป็นต้นมา

 

สมัยรัชกาลที่ 5 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเงินที่สำคัญ พระองค์มีพระราชดำริว่า มาตราของไทยที่ใช้อยู่ในขณะนั้น คือ ชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง เป็นระบบที่ยากต่อการคำนวณ และการจัดทำบัญชี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงใหม่ โดยใช้หน่วยเป็นบาท และสตางค์ คือ 100 สตางค์ เป็น 1 บาท ตั้งแต่ พ.ศ. 2441 อันเป็นมาตราเงินตราไทยมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพระบรมรูปของพระองค์ประทับลงบนเหรียญ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์ไทยประทับลงบนเหรียญกษาปณ์

สมัยรัชกาลที่ 6
          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระ
ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ออกใช้แต่ไม่มี การเปลี่ยนแปลงรูปแบบมากนัก ส่วนใหญ่เป็นเหรียญกษาปณ์ที่มีราคาไม่สูงนัก คือ 1 บาท, 50 สตางค์, 25 สตางค์, 10 สตางค์, 5 สตางค์, และ 1 สตางค์


          ในช่วงต้นรัชกาลยังคงใช้เหรียญที่ผลิตในรัชกาลที่ 5 ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 จึงโปรดเกล้าฯให้ผลิตเหรียญเงินหนึ่งบาทประจำรัชกาล เป็นเหรียญตราพระบรมรูป-ไอราพต

 

สมัยรัชกาลที่ 9
          เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ใช้ในรัชกาลปัจจุบัน มี 8 ชนิดราคา คือ 1 สตางค์ 5 สตางค์ 10 สตางค์ 25 สตางค์ 50 สตางค์ 1 บาท 5 บาท และ 10 บาท 


          นอกจากนี้ยังมีการจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เพื่อบันทึกเหตุการณ์สำคัญ อันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และหน่วยงานต่าง ๆ โดยผลิตทั้งเหรียญประเภทธรรมดาและเหรียญประเภทขัดเงา

ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย และ กรมธนารักษ์---วิวัฒนาการเงินตราไทย

 

สวัสดีค่ะอาจารย์ โต

อาจารย์ บอกว่า.....ขอชื่นชมในความสวยงามที่เกิดจากฝีมือของบรรพบุรุษของพวกเราทุกๆคน อลังการมากภาคภูมิใจจริงๆครับที่เกิดมาในแผ่นดินนี้

ค่ะ ที่วังบางขุนพรหม อันประกอบด้วย 2 ตึกใหญ่ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สง่างาม อย่างตะวันตก แต่สอดคล้องกับการใช้งาน การใช้สอย ของวังเจ้านายอย่างไทย ได้อย่างน่าชื่นชม ในฝีมือออกแบบมากค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ โคจร

ค่ะ ตอนนี้ วังบางขุนพรหม เป็นกรรมสิทธิ์ ของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วค่ะ ดังที่เรียนให้ทราบไปข้างต้นแล้ว

ส่วนเรื่อง สถานีโทรทัศน์ ช่อง 4 มาสร้างห้องส่งในบริเวณวังบางขุนพรหม ก็เกิดจากการผลักดัน ของผู้ที่มีอำนาจทางการเมือง ในขณะนั้น คือ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดี กรมตำรวจ และประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ ในวังบางขุนพรหมแต่อย่างใด

ต่อมาอีกนานหลายปี ทางโทรทัศน์ ช่อง4 จึงจะสามารถ ย้ายออกไป ตั้งที่ทำการใหม่ ที่ๆดินของกรมประชาสัมพันธ์ ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ได้

สวัสดีค่ะคุณ . รัตน์ชนก

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับพรปีใหม่ ดอกุหลาบก็สวยจับใจ ชอบมากๆค่ะ ดอกกุหลาบ

วันที่ไปชมพิพิธภัณฑ์ มีนักเรียนโรงเรียนหนึ่งไปชมด้วย การนำเสนอประวัติต่างๆ จึงค่อนข้างสมบูรณ์ค่ะ

มีความเป็นมาของ การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ที่น่าสนใจค่ะ ขอนำมาถ่ายทอดนะคะ

ในปี 2521 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการทำงานพิจารณา จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ของธนาคาร โดยมีหน้าที่ 1.จัดทำประวัติ เหรียญกษาปณ์ ธนบัตร ตลอดจนหลักทรัพย์รัฐบาลต่างๆ

2.จัดทำประวัติวังบางขุนพรหม

3.จัดทำประวัติ สถาบันการเงินต่างๆ เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาเปิดพิพิธภัณฑ์ เมื่อ 9 ม.ค. 2536

ดังนั้น ถ้ามีโอกาส อย่าลืมไปชมนะคะ เป็นแหล่งเรียรู้ที่ดีมากค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณstardust

คุณบอกว่า...

 ส่วนตัว หนูเป็นคนชอบสถาปัตยกรรมของตึกโบราณสไตล์นี้ค่ะ

  • เคยฝันว่าอยากมีบ้านที่มีหน้าต่างแบบนี้ มีบันไดแบบนี้
  • แต่ไม่จำเป็นต้องหรูหรางดงามวิจิตรเท่านี้

    สงสัยว่า เราจะชอบสไตล์ของสถาปัตยกรรมที่คล้ายกันค่ะ

    พี่เองเป็นคนชอบ งานทางด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งอยู่แล้ว เลยรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ

    เมื่อครั้งการออกแบบ ตำหนักใหญ่ วังบางขุนพรหมในปี 2439และ 2444 นั้น สถาปัตยกรรมทางยุโรปอยู่ในยุคเปลี่ยนแปลง การปฎิวัติอุตสาหกรรม ทำให้เกิดวัสดุก่อสร้างใหม่ๆ  เช่นคอนกรีตเสริมเหล็ก และกระจกเป็นต้น แต่สถาปัตยกรรมโบราณ ก็ยังแพร่หลายอยู่มาก จึงมีการนำรูปแบบโบราณในยุคต่างๆ มาเป็นแนวในการออกแบบ เช่นกรีก โรมัน กอทิค เรอเนซองซ์ บาโรก โรโกโก เป็นต้น

  • ของทางวังบางขุนพรหม ออกไปในแนวบาโรก และโรโกโกค่ะ เช่น เส้นโค้งของผนัง ของชายคา ช่องเปิดต่างๆ ลายปูนปั้น

    ที่วังนี้ มีเอกลักษณ์ด้วยการแต่งปูนปั้นอันวิจิตรค่ะ เป้นอาคารที่มีลวดลาย สวยที่สุดแห่งหนึ่ง ในเมืองไทยค่ะ

    สวัสดีค่ะคุณ อำพล

    คุณบอกว่า.....

    ผมเห็นรูปพระสยาม    เทวาธิราช  อยู่ที่วังด้วยหรอครับ  ถ้าจะเข้าไปกราบไหว้ ได้หรือเปล่า เพราะจะได้เป็นสิริมงคลกับตัวเอง

    คงไม่ได้ค่ะ  เขาไม่ได้เปิดให้ทั่วไปค่ะ

    อยากให้ดูระเบียงทางเดิน ในตำหนักใหญ่ เป็นพื้นปูหินอ่อน วางบนโครงสร้างพื้นไม้ค่ะ

    สวัสดีค่ะ คุณ sasinanda

    P

    ขอคุณสำหรับบันทึกดีๆ ที่ให้ประโยชน์อย่างมาก รวมทั้งภาพสวยๆ ค่ะ และจะขออนุญาตเข้ามาทักทายใหม่นะค่ะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Lin Hui

    ที่วังสมเด็จ อันเป็นตึกที่เชื่อมต่อกับตำหนักใหญ่ มีภาพเขียนสวยงามมากค่ะ

    นายริโกลี จิตรกร ชาวอิตาลี ป็นคนเขียน เป็นภาพสตรี ชาวตะวันตกในสวนดอกไม้ ใช่เทคนิคการเขียนภาพแบบปูนเปียก--Fresco--เทคนิคนี้ เป็นที่นิยมในอิตาลีมากค่ะ ใช้การเขียน ตอนปูนยังหมาดอยู่ ทำให้สีคงทน และแนบสนิท เป็นเนื้อเดียวกับผนัง

    นอกจากนี้ จิตรกรคนนี้ ยังเขียนภาพที่ใต้โดมพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วยค่ะ

    ภาพที่เห็นนี้ ไม่ทราบความหมาย แต่มีความเหมาะสมกับอาคารนี้มากค่ะ

    ยอดเลย บันทึกนี้ มาพบโดยบังเอิญนะเนี่ย!

    ขอบคุณในข้อมูลและภาพครับ

    สวัสดีครับ พี่ศศินันท์

    ต้องขอบคุณพี่มากครับ สำหรับบันทึกที่ทรงคุณค่าและตั้งใจ ปราณีตในการนำเสนอ ผมชื่นชมเสมอๆครับ

    ผมได้ไปเที่ยวในที่ๆผมไม่เคยไป และได้ความรู้จากบันทึกGotoknow มาก ภาพสวยมากด้วยครับ

    วันก่อนไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ฯที่น่านมา สวยงาม และทรงคุณค่าเช่นเดียวกัน แต่มีการห้ามถ่ายภาพ ผมเลยไม่ได้เอาภาพสวยๆมากฝาก มีแต่ก็ภาพอาคารครับ

    ที่เชียงใหม่ ก็มีพิพิธภัณฑ์ฯ ที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ตรงนั้นรวมเรื่องราวดีๆของคนล้านนา ที่ผมเข้าไปชมแล้วขนลุกเลยครับ เพราะความเป็นคนล้านนาแท้ๆของผม เห็นภาพเรื่องราวบรรพชนแล้วภูมิใจดีใจครับ

    -----------

    มีโอกาสผมต้องไปชมวังบางขุนพรหม ให้ได้ครับ

    สวัสดีค่ะคุณ ว่าที่ ร.ต. วุฒิชัย สังข์พงษ์

    คุณชื่นชมว่าที่พิพิธภัณฑ์นี้ มีการนำเสนอถึงความเจริญงอกงามทางวัฒนธรรมที่นำเสนออย่างทันสมัย นอกเหนือจากความสวยงามแล้ว

    ค่ะ ที่นี่ มีการจัดรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ที่ สวยงาม ทันสมัย มีสื่อที่ทันสมัยประกอบการบรรยาย โดยวิทยากร ของธนาคารแห่งประเทศไทยเอง จึงสามารถ ตอบปัญหา ได้เป็นอย่างดี ทุกปัญหาค่ะ

    การเข้าชม จะมีวิทยากรนำชมนะคะ เพราะเราเดินไปชมเอง คงไม่ได้ข้อมูลมาก และถูกต้อง และที่สำคัญ เขาก็อาจไม่เปิดให้เข้าชมด้วย เพราะในแต่ละห้อง ก็มีสมบัติของชาติ อันล้ำค่า ตั้งแสดงอยู่ค่ะ

    วันเด็กนี้ ทราบว่า มีการกิจกรรมการเรียนรู้เป็นพิเศษด้วยค่ะ

    • สวัสดีตอนเช้า ๆเกือบสายคะพี่

    Glitter Graphics

    สวัสดีครับ... พี่ศศินันท์

    เข้ามาในบันทึกนี้ แต่ก็ไม่สามารถบันทึกอะไรได้เลย   เพราะประสบปัญหาเรื่องอินเตอร์เน็ต

    ....

    ในชีวิตผมเดินทางบ่อยก็จริง   แต่เป็นการเดินทางในวิถีการงาน  ซึ่งส่วนใหญ่มากเป็นการเดินทางไปสู่หมู่บ้าน - ชนบทมากกว่าตัวเมือง  ยกเว้นการประชุมสัมมนาเท่านั้นที่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตการเดินทางในเมืองและชีวิตอันเป็นแสง สีเสียง...

    ดังนั้นการเดินทางของชีวิตจึงผ่านพบแต่ทุ่งกว้าง,  ภูเขา,  ลำน้ำ  ความสดเขียวในฤดูฝน และความแห้งโหยในฤดุแล้ง  หรือแม้แต่ความหม่นมัวของหมอกหนาว -

    .....

    ผมโชคดีที่ได้เรียนรู้แหล่งแห่งการท่องเที่ยวและเรียนรู้จากบล็อก  (ใช้บล็อกมากกว่าการออนไลน์อื่น ๆ )  ซึ่งหลายท่านได้นำเรื่องราวที่ไม่มีโอกาสได้ไปพบเจอมาแบ่งปัน   โดยเฉพาะที่ตนเองชื่นชอบในแนวประวัติศาสตร์,  สังคม วัฒนธรรม, ประเพณี,  ธรรมชาติ, ฯลฯ  .... (ขอบคุณครับ)

    .....

    ที่บ้าน,  ผมสะสมเงินโบราณไว้บ้าง  ทั้งหมดมาจากมรดกตกทอด  เพราะผมไม่มีกำลัง รวมถึงรสนิยมในการซื้อ หรือประมูลมาสะสมไว้   (แต่ไม่แน่ครับ  ในอนาคตถ้ามีความพร้อมก็คงได้ดำเนินการบ้าง)

    ....

     

    ผมโชคดีมากครับ...คราวนี้บันทึกได้ -

    ......

    เคยคุยกับชาวบ้านเหมือนกัน ... ชาวบ้านไม่เข้าใจหรอกว่า  การฟื้นฟูเศรษฐกิจนั่นเกี่ยวโยงกับสถาบันการเงิน หรือธนาคารเช่นใดบ้าง   เขารับรู้ (หรือชอบ)  ว่า   การที่มีเม็ดเงินจ่ายผ่านลงไปสู่หมู่บ้านในรูปของกองทุนฯ   SML  และอื่น ๆ   คือวิธีการที่ช่วยให้เขาได้ปลดเปลื้องความทุกข์ยาก (อันแสนสั้น)  ได้  ก็สุขใจแล้ว  และยังไม่พร้อมที่จะถอดบทเรียนซากปรักหักพังของกองทุนฯ ต่าง ๆ  อย่างเท่าที่ควร ...

    และซากปรักหักพังนั้น   ได้บอกอะไรบ้าง ... และถ้านั่นคือหนึ่งในวิธีการที่ถูกต้องและใช้ได้   แล้วอะไรล่ะคือวิธีการที่ต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ ...

    นั่นคือ,  ความจริงส่วนหนึ่งที่ผมพบเจอจากการเดินทางของตนเอง ครับ -

    สวัสดีค่ะพี่ sasinanda ช่วงนี้แหววมีเวลาเข้า g2k น้อยมากๆ ดีใจค่ะที่ได้มาอ่านบันทึกนี้ ทรงคุณค่าจริงๆค่ะ...เป็นประโยชน์มากๆ เพราะว่าตัวเองไม่ค่อยได้ไปไหนเท่าใดนัก...สวยจังค่ะ...ได้ทั้งความรู้และอารมณ์ความรู้สึกจากความงดงาม...ขอบพระคุณนะคะ

    สวัสดีค่ะคุณ กรรณิกา


    คุณบอกว่า....อยากทราบเรื่องวังเทวะเวสม์บ้างคะ  ไม่ค่อยพูดถึง  ข้างในสวยไหมคะ  และมีจัดแสดงอะไรบ้าง

    ค่ะ วังนี้เคยเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระบิดาแห่งการต่างประเทศของไทย ผู้ทรงมีคุณูปการยิ่ง ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ในสมัยรัชกาลที่ 5 และที่ 6

    วังนี้เคยเป็นที่ทำการของกระทรวงสาธารณสุขมาตั้งแต่ ปี2493-2537 รวม 44 ปี ต่อมาได้ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการต่างประเทศ

    ในการบูรณะ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เริ่มทำการบูรณะ มาตั้งแต่ปี 2538 โดยเริ่มที่เรือนแพก่อน และทะยอยบูรณะตำหนักเดิมๆเพิ่ม จนถึงตำหนักใหญ่ บูรณะเสร็จเมื่อ ตุลาคม 2547

    จัดแสดงให้ชั้นที่ 1 เป็น ห้องนิทรรศการถาวรแสดงพระประวัติของสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และห้องแสดงการอนุรักษ์โบราณสถาน

    ชั้นที่ 2 เป็นห้องเลี้ยงรับรองและห้องบรรยายทางวิชาการ

    ชั้นที่3 และ 4 เป็นห้องที่ทำการของพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย

    เพื่อให้มีการใช้งานในตำหนักใหญ่อย่างมีคุณค่า และเป็นศรีสง่าแห่งพระนคร

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  ท่านเล่าว่า ท่านก็เกิดที่ในวังนี้ค่ะ

    สวัสดีค่ะคุณพี่ศศนันท์

    มาขอบคุณสำหรับบันทึกความรู้ดีๆ และภาพสวยๆ อีกครั้งค่ะ  ^ ^

    P


    นี่คือเรือนแพที่กล่าวถึงค่ะ

    เป็นอาคารไม้สักชั้นเดียว หลังคาปีกนก มุงกระเบื้องว่าว ตัวอาคารมีหน้าต่างโดยรอบ มีการประดับตกแต่งอาคารด้วยลวดลายฉลุไม้ตามแบบเรือนขนนมปังขิง มีห้องสองห้องใหญ่ มีทางเดินเชื่อมระหว่างห้อง ยาวตลอดตัวอาคาร

    ข้างล่างนี้คือ ห้องโถงใหญ่ค่ะ

    สวัสดีค่ะ พี่ sasinanda

    ส้มพยายามเข้ามาให้ความเห็นเป็นรอบที่ 3 แล้วค่ะ ไม่ทราบมีอาถรรพ์อะไร  ครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ พอกดบันทึกเสร็จ เจอ page error มาวันนี้ พิมพ์เสร็จเกิดหายไปดื้อๆ

    อยากจะเรียนให้พี่ทราบว่าขอบพระคุณมากๆ ที่นำสิ่งสวยงามมาถ่ายทอด เป็นเรื่องราว และนำมาเที่ยวชมด้วยค่ะ ตัวเองไม่เคยไปที่ธนาคารแห่งนี้เลย ทราบแต่ว่างดงาม และเป็นวังเก่าค่ะ  

    สวัสดีค่ะคุณนพพร

    ขอบคุณที่มาอ่านบันทึกนี้ค่ะ และ ประวัติของวังบางขุนพรหม ก็เป็น อุทาหรณ์ได้อย่างดี ของการเปลี่ยนแปลง ในโลกนี้ ที่ไม่มีอะไร เที่ยงแท้ค่ะ

    วังบางขุนพรหม เดิม เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต   มาตั้งแต่ วันที่ 28 ธันวาคม 2449 จวบจนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475  เป็นเวลา 29ปี 1 เดือน 3 วัน พระองค์และครอบครัว จึงต้องเสด็จไปประทับที่ เมืองบันดุง ประเทศอินโดเนเซีย

    ท่านได้ มีลายพระหัตถ์ มอบวังบางขุนพรหม ให้แก่รัฐบาลคณะราษฏร์ เพื่อเป็นการช่วยชาติ และเพื่อเป็นเครื่องประกันสวัสดิภาพของพระองค์ และพระประยูรญาติ หลังจากที่เสด็จจากวังไปแล้ว

    แต่จากนี้ ก็ใช้เวลา กว่า 2 เดือน ที่จะสามารถโอนวังบางขุนพรหมให้แก่รัฐบาลคณะราษฎร์ได้

    นับแต่นั้นมา วังบางขุนพรหม จึงกลายเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน มีประโยชน์ใช้สอย และมีการเปลี่ยนแปลง เป็นลำดับมาจนทุกวันนี้ค่ะ

    สวัสดีค่ะคุณ จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

    ขอบคุณสำหรับคำชมที่ทำให้ปลื้มค่ะ แม้รู้ ว่า มียาหอมปนอยู่ด้วยเยอะ ก็ยังชอบ ยิ้มไม่หุบเลยค่ะ

    เหตุผลหนึ่ง นอกเหนือจากการไปเรียนรู้เรื่องเงินตราที่นี่ ปัดฝุ่น ความจำเดิม ที่ออกจะเลือนไปบ้าง ก็คือ ชอบเรื่องสถาปัตยกรรมการออกแบบค่ะ  ที่เห็นที่วังนี้ เป็นแบบของสถาปัตยกรรมยุคกลาง  แต่มานิยมกันมากๆ สมัยบาโรก เช่นการออกแบบกรอบหน้าต่างด้วยเสาเกลียว---Barley Sugar Column----

    การออกแบบๆนี้มีให้เห็นทั้ง เฟอร์นิเจอร์ และการก่อสร้างเสารับอาคารใหญ่ๆค่ะ คนออกแบบ ดั้งเดิม เป็นสถาปนิกอิตาเลียน ชื่อ เบอร์นินี่ เป็นสถาปนิกบาโรกที่มีชื่อเสียงของอิตาลี่

    ทุกชาติ ที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่ ก็จะมีสถาปัตยกรรม ประจำชาติ มาให้เห็นเป็น ของดี ของล้ำค่า  ของเขานะคะ รวมทั้ง สถาปัตยกรรมไทยเรา ก็ไม่เป็นรองใครเช่นกันค่ะ

     

    สวัสดีครับ พี่sasinanda

    พอดีมาเยี่ยมอีกทีครับ

    ที่ผมชื่นชมนั้น ชื่นชมด้วยใจจริงครับ อิอิ

    เพราะ บันทึกพี่มีความตั้งใจในการนำเสนอดีเยี่ยมมาก กรณีเดียวกับของซูซาน ที่เขาพยายามให้บันทึกเขาละเมียดละไมทั้งเนื้อหา รูป และแม้กระทั่งดนตรีเพลงที่สอดคล้อง

    ผมก็ชม ซูซาน เขาบ่อยๆครับ

    ---------------

    งั้นขอเปิดข้อเสนอแนะอีกที ไม่มียาหอมครับ :)

     

    เป็นตัวอย่างที่ดี ที่ผมยึดถือเป็นต้นแบบด้วยครับผม

    สวัสดีค่ะคุณ  รัตน์ชนก

    ดอกกุหลาบที่นำมาฝากสวยมากค่ะ โชคดีที่ไปพิพิธภัณฑ์คราวนี้ ได้เห็นเงินสกุลที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น....เงินเจียง และยังได้รู้ประวัติ ของเรื่องเงินตราของล้านนาด้วยค่ะ

    เงินตราสมัยล้านนา

    แต่ก่อน มีการใช้หอยเบี้ย และโลหะมีค่าอื่นเช่น แท่งเงิน ก้อน หรือผงทองคำ ทองแดง และสำริด ในการชำระหนี้แล้ว ยังใช้วัตถุ และสินค้า บางชนิด เป็นสื่อกลาง ในการแลกเปลี่ยน เช่น ผ้า เกลือ ใบชา หินมีค่า ใบยาสูบ ฝาง ไม้หอม งาช้าง ถ้วยชาม เป็นต้น

    ต่อมา พญามังรายแห่งแคว้นโยนก ทรงสถาปนาอาณาจักรล้านนาขึ้นใน พ.ศ. 1839 ประกอบด้วยดินแดน บริเวณ 8 จังหวัดภาคเหนือของไทย และบางส่วน ในประเทศพม่าปัจจุบัน มีเมืองเชียงใหม่ เป็นเมืองหลวง

    เมืองเชียงใหม่จึงเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ อาณาจักรล้านนามีระบบเงินตรา คือ เบี้ย เงินเจียงและเงินกำไล เงินท๊อก  ที่สำคัญคือเงินเจียง

    เงินเจียง

    เรียกกันว่าเงินขาคีม มีรูปคล้ายเกือกม้าสองวงปลายต่อกันคอดกลาง ทำให้หักออกและทอนค่าลงได้ มีการตีตราประทับด้านละ 3 ดวง บอกน้ำหนักของเงินชื่อเมืองที่ทำขึ้น และตราจักรตามลำดับ มีมากกว่า 60 เมือง เช่น แสน (เชียงแสน) หม (เชียงใหม่) กก หาง สบฝางหรือฝาง นาน (น่าน) คอน (ลำปาง) แพร (แพร่) บางอันมีตราเล็กๆ อีก 1 ดวงประทับอยู่ตรงปลายขา

    เงินเจียงมีขนาดมาตรฐานหนัก 4 บาท ตามมาตรฐานของชาวไทย และมีขนาดอื่นบ้าง ได้แก่ 2 บาทครึ่ง 1 บาท กึ่งบาท และเฟื้องหนึ่ง

    สวัสดีค่ะคุณ แผ่นดิน

    คุณพนัสบอกว่า...ผมโชคดีที่ได้เรียนรู้แหล่งแห่งการท่องเที่ยวและเรียนรู้จากบล็อก    ซึ่งหลายท่านได้นำเรื่องราวที่ไม่มีโอกาสได้ไปพบเจอมาแบ่งปัน   โดยเฉพาะที่ตนเองชื่นชอบในแนวประวัติศาสตร์,  สังคม วัฒนธรรม, ประเพณี,  ธรรมชาติ, ฯลฯ

    พี่ก็เหมือนกันค่ะ ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆจากที่บล็อกมากมายค่ะ ทั้งเรื่องวิชาการและเรื่องที่ประเทืองปัญญาในด้านต่างๆ

    ปกติเวลา ที่ยังทำงานมากๆ พี่ไม่ค่อยได้มีโอกาศไปไหน ถึงไปก็ไปอย่างผ่านๆ ไม่มีเวลา จะไปชื่นชมสิ่งดีๆ หลายๆแง่มุม ให้ลึกซึ้งมากนัก

    ตอนนี้พอมีเวลา จึงอยากจะ ไปเปิดหูเปิดตาให้มากขึ้น ต่อไป อาจมากกว่านี้ เพราะ ต้องพาหลานไปทัศนศึกษาด้วยค่ะ

    อย่างเรื่องเงินตราต่างๆ......ซึ่งก็น่าสนใจศึกษษ ความเป็นมา ตั้งแต่แรกเริ่มค่ะ

    มึรูปอยู่ด้านบนแล้วค่ะ

    เงินตราร่วมยุคสมัยเดียวกัน


     อาณาจักรล้านนา ถือเป็นยุคร่วมสมัย กับอาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรสุโขทัย ซึ่งต่อมาผนวกเข้ากับ อาณาจักรอยุธยา จากหลักฐาน ทางประวัติศาสตร์ พบว่า อาณาจักรเหล่านี้ มีความสัมพันธ์ กันทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ การค้า ตลอดจนการถ่ายทอด การเผยแผ่ศาสนา วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน แต่ละอาณาจักร ก็มีการผลิตเงินตราขึ้นใช้กัน ดังนั้น ความสัมพันธ์ทางด้านการค้า จึงทำให้ มีการนำเงินตรามาใช้จ่าย และแลกเปลี่ยน อยู่ตลอดเวลา

     อาณาจักรล้านนา ถือว่าเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ ทางภาคเหนือที่มีชนชาติต่างๆ เดินทางเข้ามารติดต่อค้าขายด้วยได้แก่ ชาวพม่า ชาวจีน ชาวลาว และชาวไทยจากสุโขทัย จึงมีเงินตราของชนชาติต่างๆ หลายชนิดเข้าไปในดินแดนของอาณาจักรล้านนา อาทิเช่น....

    เงินพดด้วง
     อาณาจักรไทยทางใต้ของดินแดนล้านนาได้แก่ กรุงสุโขทัย ซึ่งต่อมาคือ กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์


    เงินล้านช้าง

    เงินฮ้อย 
    ทำจากโลหะเงินเจือด้วยทองลงหิน ลักษณะคล้ายเรือขุด เรือชะล่า

    เหรียญกษาปณ์ เงินสมัยรัชกาลที่ 5 

    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนรูปแบบ และวิธีผลิตเงินบาทด้วยมือมาเป็นเครื่องจักร

    เงินบาทพดด้วงจึงเปลี่ยนเป็นเหรียญกลมแบนตั้งแต่ พ.ศ. 2501 เป็นต้นมา

    แต่ก็เข้ามายังดินแดนล้านนาน้อยมากในรัชกาลที่ 5 เนื่องจากการขนส่ง ไม่สะดวกและผลิตได้ในปริมาณน้อย จนเมื่อการสร้างทางรถไฟเชื่อมโยงหัวเมืองทางเหนือกับภาคกลางได้แล้วใน พ.ศ. 2464 เหรียญบาทจึงได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน


     


    • สวัสดีค่ะ
    • ปีที่แล้ว..มีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชม...
    • ได้ความรู้มากค่ะ
    • ดีใจที่ได้เห็นภาพ...อีกครั้งหนึ่ง...ณ ที่นี่
    • อยากให้คนที่อยู่ใกล้(กทม.)...และคนที่อยู่ไกล(ตจว.)...มีโอกาสได้ไปเยือนด้วยตาตนเอง....

    สวัสดีอีกทีค่ะคุณพนัส     เพราะคุณมาหัวข้อใหม่   เรื่องชาวบ้านกับเศรษฐกิจ

    ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนามากมาย ที่มี "เศรษฐกิจที่มีแรงงานเหลือเฟือ" (labour surplus economy) ซึ่งส่วนใหญ่หรือทั้งหมด อยู่ในภาคเกษตรกรรม

    ขณะที่มีความสามารถทางเศรษฐกิจโดยรวมต่ำ ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถดูดซับแรงงาน ที่มีอยู่ได้ทั้งหมด จึงมีปัญหาการว่างงาน และการว่างงานแอบแฝงตามมา ซึ่งเป็นลักษณะหรือปัญหาที่ยังดำรงอยู่มาโดยตลอดของเศรษฐกิจของเราค่ะเท่าที่เราเห็นกันมาทุกคนโดยตลอด   และพี่เอง มีประสบการณ์นี้มาด้วยตัวเอง เป็นเวลาหลายปี คือ.....

    มีความพยายามที่จะโยกย้ายแรงงานในภาคเกษตรกรรมที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไปสู่ภาคนอกเกษตรกรรม หรือภาคอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานอย่างมีประสิทธิภาพ ให้พยายามใช้แรงงานส่วนเกินที่มีอยู่ให้มาก และใช้ทุน/ เทคโนโลยีพอประมาณ ในขณะเดียวกัน ทำให้แรงงานส่วนเกินที่ไร้ฝีมือนี้  ให้มีฝีมือขึ้นโดยผ่านทางการลงทุนในด้านการศึกษา และการฝึกอบรม ให้แก่แรงงานเหล่านั้นดังนั้น

    การฝึกอบรมและพัฒนา จึงเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการผลิตในการนี้  ได้ส่งผลดีให้ทั้ง 2 ส่วนค่ะในภาคเกษตรกรรม เมื่อประชาชนจะมีงานอื่นๆให้ทำทำมากขึ้น  คนทำการเกษตรกรรมก็ไม่มากเกินไป  น่าจะส่งผลดีขึ้นในด้านประสิทธิภาพการผลิต ในขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรม ก็จะได้รับแรงงานเพิ่มขึ้นด้วยค่ะ

    ตัวอย่างในประเทศพัฒนาแล้ว (ยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น) คนอยู่ในภาคเกษตร ที่ทำหน้าที่ผลิตอาหารเลี้ยงดูคนในประเทศ มีเพียง 3-5% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ

    ทั้งนี้เพราะเขาปรับ ปรุงด้าน "ผลิตภาพ" (productivity) อย่างมากมาย จึงใช้คนไม่ต้องมาก ในสัดส่วนดังกล่าวก็สามารถผลิตเพียงพอ สนองความต้องการของคนในประเทศได้

    แต่    ถ้าพูดถึง ธนาคารกลางของทุกประเทศแล้ว   จะมีความสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจมากค่ะเพราะ มีหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม คำว่าเหมาะสมนี้ หมายถึงการที่รักษาความสมดุลของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ กับระดับอัตราเงินเฟ้อ เพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน 

     สำหรับมาตรการที่ใช้กันมากที่สุดคือ "การกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ หรือ Inflation Targeting" โดยใช้อัตราดอกเบี้ยในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ถ้าหากว่าเศรษฐกิจเติบโตร้อนแรงมากเกินไป (อัตราการเติบโตที่เกิดจริงสูงกว่าระดับแนวโน้มปกติที่เป็นไปตามศักยภาพการผลิตมาก) ก็จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง

    หรือถ้าหากเกรงว่าเศรษฐกิจชะลอตัวหรือจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ก็จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน และการลงทุนของภาคครัวเรือน

     แต่เรื่องการเงินนี้ เป็นเรื่องละเอียดและซับซ้อนมากค่ะ ถ้าจะให้เข้าใจจริงๆ ต้องมีการศึกษาอย่างละเอียด และลึกซึ้งหน่อยค่ะ  

    สวัสดีค่ะ คุณพชรวรัตถ์ แสงทองชนาพงศ์

    คุณแหววคงมีธุระยุ่งนะคะ หายไปนาน คิดถึงออกค่ะ ขอบคุณที่บอกว่า อ่านแล้วได้ความรู้และภาพสวย

    ตัวพี่เอง ก็พลอยได้ปัดฝุ่นความรู้เดิมๆที่เรียนมาสมัยเด็กๆด้วยค่ะ

    ที่ตำหนักใหญ่ ของวังบางขุนพรหม ลองทายซิคะ อะไร เป็นศูนย์กลางของอาคาร........

    โถงบันไดค่ะ มีขนาดใหญ่มาก สง่างาม น่าประทับใจ มองเห็นทันที เมื่อเข้ามา เป็นลักษณะการวางผัง แบบบาโรก จนถึงศตวรรษที่ 19

    เรียกบันไดแบบนี้ว่า Ceremonial Stairค่ะ

    สวัสดีค่ะอาจารย์  กมลวัลย์

    ที่พี่ไปพิพิธภัณฑ์นี้ ตั้งใจจะไปดูรูปงานสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นของชอบด้วยค่ะ ดูของสวยงาม และศิลปะต่างๆแล้ว จิตใจมันสดชื่น ยังไง บอกไม่ถูก ชื่นชม ความคิดสร้างสรรค์สวยงาม  ของมนุษย์ค่ะ ไม่ว่าชาติไหน

    ที่ตำหนักสมเด็จที่เชื่อมต่อกับตำหนักใหญ่

    มีการทำสีลวดลายต่างๆสวยงามประดับผนังค่ะ ในสมัยโบราณ สีที่ใช้ทาผนัง มักเป็นการผสมฝุ่นสีกับน้ำปูนที่ได้จากปูนหมัก ซึ่งมีคุณสมบัติ ในการฆ่าเชื้อโรคด้วยค่ะ

    ต่อมามีการพัฒนาเรื่องการผลิตสี การทาสีภายในอาคารก็ยิ่งแพร่หลายค่ะ ช่วงนี้ มีการปิดผนังด้วยwall paper แล้วนะคะ แต่ราคาแพงมาก และกระดาษ ยังต้องทำด้วยมือ เป็นของนำเข้า จากประเทศจีน

    ดังนั้นการทาสีหรือStencilling จึงได้รับความนิยม จนสมัยศตวรรษ ที่ 19

    Stencil เป็นการระบายสีลงผนัง ผ่านแบบฉลุลวดลายที่ต้องการ สีที่ใช้ เป็นผงสี ผสมกับ น้ำมันสน หรือ linseed oil ทาลงผนังผ่านลวดลาย จะได้ความเข้มของสี ต่างกัน ไม่ทึบ มักใช้กับลายต่อเนื่อง เช่น ลายบัวด้านบนของผนัง และขอบของ panel

    ที่ตำหนักสมเด็จนี้ มีการใช้ Stencilอยู่หลายห้อง ซึ่งดูเหมาะสมกับแบบสถาปัตยกรรม ไม่มีการตกแต่งองค์ประกอบมากเหมือนตำหนักใหญ่

    ตัวอย่าง ลวดลายในรูปค่ะ

     

    สวัสดีค่ะ คุณ citrus

    ขอบคุณที่มาเยี่ยมค่ะ

    และถ้าว่าง ก็ชวนให้ไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย และพิพิธภัณฑ์วังเทวะเวสม์ 

     โดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์พร้อมความงดงามทางสถาปัตยกรรมของวังทั้งสอง     จึงนำวังทั้งสองแห่งจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นค่ะ 

     มีการ จัดแสดงวิวัฒนาการเงินตราไทย เริ่มตั้งแต่สิ่งที่ใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และวิวัฒนาการมาเป็นเงินตราโบราณยุคต่าง ๆ จนถึงเงินตรายุคปัจจุบัน รวมทั้งบทบาทหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ประวัติผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
    ธนาคารแห่งประเทศไทย  ตั้งอยู่ที่....เลขที่ 273 ถ.สามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
      เปิดในวันและเวลาทำการของธนาคาร 9.30-12.00 และ 13.30-16.00 น.
      0-2283-6722-3
      ไม่เก็บค่าเข้าชม
    ตำหนักวังบางขุนพรหม เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้เพียง 30 ปี

    เริ่ม ก่อสร้างในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยคาร์ล ดอห์ริง(Karl Dohring) สถาปนิกชาวเยอรมันเป็นผู้ออกแบบ ตัวตึกเป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างเรเนอซองส์ บาโร้ค ร้อคโคโค่ และอาร์ตนูโว ซึ่งสถาปัตยกรรมรูปแบบดังกล่าวเป็นที่นิยมมากในประเทศไทยในช่วงเวลานั้น

     ส่วน วังเทวะเวสม์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพระราชทานแก่สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เพื่อเป็นที่ประทับในยามมีพระชันษาแล้ว  ออกแบบและก่อสร้างโดย เอมิลโย โจวันนี อูเจนโย กอลโล วิศวกรชาวอิตาลี วังเทวะเวสม์มีสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก  เริ่มสร้างในปี 2457 เสด็จขึ้นวังในปี 2461  สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ประทับอยู่ที่วังนี้ได้เพียง 5 ปี ก็สิ้นพระชนม์  
    สวัสดีค่ะ  ครูหล้า
     ตอนที่ครูหล้าไปชม ได้ชมห้องที่เกี่ยวกับการพิม์ธนบัตรไหมคะ น่าชมค่ะ
    ห้องงานพิมพ์ธนบัตร
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราช ดำเนินเปิด โรงพิมพ์ธนบัตร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2512
    นับแต่นั้นมา ประเทศไทยจึงพิมพ์ธนบัตรได้ เอง ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญ ประการหนึ่งของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ห้องนี้จัดแสดง กระบวนการผลิตธนบัตร ตั้งแต่ การออกแบบ การผลิตหมึกพิมพ์ การทำแม่แบบ- แม่พิมพ์ การพิมพ์ธนบัตร จนถึงการตรวจสอบ คุณภาพ ตัด มัด และบรรจุหีบห่อ 
     ห้องแนะนำวิธีดูธนบัตร จัดแสดงวิธีดูธนบัตรปลอม และคำแนะนำ เกี่ยวกับการแลกคืนธนบัตร ชำรุด รวมถึงแหล่ง กำเนิดเงินตราที่สำคัญของโลก ตราประทับที่ ปรากฏ ในเงินพดด้วงสมัยต่าง ๆ ตั้งแต่กรุงสุโขทัย จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ และตัวอย่างธนบัตรต่างประเทศ

    นอกจากนี้ ก็มีห้องทองตรา  

    ที่นี่น่าชมมากจัดแสดงเงินพดด้วงและเหรียญกษาปณ์ทองคำ

    ซึ่งพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด เกล้าฯ ให้ผลิตขึ้นเรียกว่า "ทองตรา"

    รวมถึงจัด แสดงเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เหรียญที่ระลึกใน โอกาส พิเศษ ได้แก่ เหรียญทองคำ เงิน นิกเกิล ทองคำแท่ง ที่ใช้เป็น ทุนสำรองเงินตราและ พันธบัตรทองคำ

     ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยค่ะ

    บันทึกนี้ ได้ความรู้และภาพประกอบก็สวยมากค่ะ ต้องหาโอกาศไปให้ได้

    เขียนบันทึกด้วยความตั้งใจจริงๆนะคะ ชื่นชมค่ะ

    ขอบคุณๆ  จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร มากค่ะ

    ที่มาเน้นว่า ไม่มียาหอมแน่ๆ....ในการกล่าวคำชมเชย อิๆๆๆ ปลื้มค่ะ ปลื้ม นานๆ จะมีคนชมซักที....

    พี่ติดตามอ่านงานและบันทึกคุณเอกอยู่เสมอ ก็เห็นเลยว่า คุณเอกปฎิบัติธรรม สังคหะวัตถุ ๔  คือ  ทาน  ปิยะวาจา  อัตถจริยา สมานัตตา ครบ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

    สำหรับพิพิธภัณฑ์ฯ ที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ พี่คงต้องไปแน่นอน ยังไม่เคยไปเลยค่ะ

    ปีนี้ จะต้องไปเชียงใหม่อีกสักที  ที่นั่น มีภูมิประเทศสวยงาม มีของดีๆให้ชมมากมาย คราวปีใหม่ที่แล้ว ไปมา 4  วัน ยังไม่ทั่วเลยค่ะ ขอบคุณที่แนะนำค่ะ

    สังคหวัตถุ 4

    สังคหวัตถุ 4 หมายถึง หลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น ผูกไมตรี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล หรือเป็นหลักการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน มีอยู่ 4 ประการ ได้แก่


    1. ทาน คือ การให้ การเสียสละ หรือการเอื้อเฟื้อแบ่งปันของๆตนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้ไม่เป็นคนละโมบ ไม่เห็นแก่ตัว เราควรคำนึงอยู่เสมอว่า ทรัพย์สิ่งของที่เราหามาได้ มิใช่สิ่งจีรังยั่งยืน เมื่อเราสิ้นชีวิตไปแล้วก็ไม่สามารถจะนำติดตัวเอาไปได้


    2. ปิยวาจา คือ การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน พูดด้วยความจริงใจ ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เหมาะสำหรับกาลเทศะ พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับการพูดเป็นอย่างยิ่ง เพราะการพูดเป็นบันไดขั้นแรกที่จะสร้างมนุษย์สัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้น วิธีการที่จะพูดให้เป็นปิยวาจานั้น จะต้องพูดโดยยึดถือหลักเกณฑ์
    ดังต่อไป


    เว้นจากการพูดเท็จ
    เว้นจากการพูดส่อเสียด
    เว้นจากการพูดคำหยาบ
    เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อนี้


    3. อัตถจริยา คือ การสงเคราะห์ทุกชนิดหรือการประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น


    4. สมานัตตา คือ การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ หรือมีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้เราเป็นคนมีจิตใจหนักแน่นไม่โลเล รวมทั้งยังเป็นการสร้างความนิยม และไว้วางใจให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย

    สวัสดีค่ะพี่ศศินันท์

    ในสัปดาห์ที่ผ่ามา ได้อ่านหนังสือเรื่อง "ก่อนเสด็จ...ลับเลือนหาย" เป็นหนังสือที่เขียนโดย มรว.หญิงกิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี เป็นธิดาคนเดียวในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ซึ่งเป็นผู้ว่าการพระองค์แรกของธนาคารชาติ...เป็นหนังสือที่เล่าถึงความทรงจำที่ท่านมีต่อรัชกาลที่ 8 เมื่อครั้งตั้งแต่พระองค์ท่านเสด็จนิวัตพระนครของรัชกาลที่ 8 จวบจนท่านเสด็จสู่สวรรคาลัย ... ซึ่งตอนนั้น มรว.หญิงกิติวัฒนา อายุประมาณ 12 ปี...ในตอนหนึ่งท่านเล่าถึงว่า ท่านพ่อของท่านจัดงานอ๊อกซฟร์ดและเคมบริดจ์ดินเนอร์ โดยมีรัชกาลที่ 8 เสด็จเป็นองค์ประธาน...ท่านได้อธิบายว่า วังบางขุนพรหมสวยงาม สง่าโอ่โถง มีบริเวณกว้างขวางสุดลูกหูลูกตา มีตำหนักน้อยอยู่ริมน้ำ วังนี้เป็นวังที่มีสถาปัตยกรรมอันล้ำเลิศมีหน้าต่างบานใหญ่ เปิดรับลมจากแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นท่านก็บรรยายถึงลักษณ์ของห้องและการตกแต่งเพื่อให้สมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...ทำให้พยายามนึกภาพความสวยงาม โอ่โถงของวังแห่งนี้ แต่ก็นึกไม่ค่อยออกค่ะ...จนกระทั่งได้มาเห็นภาพที่พี่ศศินันท์ เอามาให้ชมนี้ ... สวยมากๆ โอโถง และสง่างามจริงๆ ค่ะ...ขอบคุณมากๆค่ะ

    กลับมาที่หนังสือเล่มนี้อีกทีนะคะ ... ช่วงที่อ่านตอนแรกก็เศร้านิดๆ ค่ะพอตอนใกล้จบ ก็เป็นช่วงที่สมเด็จพระพี่นางเสด็จสู่สวรรคาลัย ทำให้ยิ่งเกิดความรู้เศร้ามากค่ะ ยิ่งมาเจอกลอนตอนจบ ซึ่งแต่งโดย มรว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ยิ่งเกิดความรู้สึกอาลัยทั้ง 2 พระองค์มากค่ะ

    "แต่นี้ไม่มีแล้ว           ทูลกระหม่อมแก้วที่เคยเห็น"

     

    สวัสดีค่ะคุณ ขวัญตา

    ดิฉันไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหลายครั้ง เพราะมีเพื่อนหลายคนทำงานอยู่ที่นั่น แต่ไม่เคยได้สังเกตว่า หลังจากมีการบูรณะวังบางขุนพรหมและวังเทวะเวสม์แล้ว ได้มีการปรับภูมิทัศน์ใหม่ จนพื้นที่ ทั้งหมดแห่งนี้ เป็นพื้นที่ริมน้ำ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีความสวยงามมากแห่งหนึ่ง ของกรุงเทพมหานครค่ะ

    การไปชมพิพิธภัณฑ์ของดิฉันครั้งนี้ จึงได้รับประโยชน์ หลายต่อทีเดียวค่ะ สนับสนุนให้ไปชมค่ะ

    สวัสดีค่ะอาจารย์ paew

    ที่อาจารย์เอ่ยถึง.....

    ในหนังสือเรื่อง "ก่อนเสด็จ...ลับเลือนหาย"ตอนหนึ่งท่านเล่าถึงว่า ท่านพ่อของท่านจัดงานอ๊อกซฟร์ดและเคมบริดจ์ดินเนอร์ โดยมีรัชกาลที่ 8 เสด็จเป็นองค์ประธาน..

    จากนั้นท่านก็บรรยายถึงลักษณ์ของห้องและการตกแต่งเพื่อให้สมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.

    และก็  เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2489 รัชกาลที่ 8 ก็ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปงานประจำปี ของผู้ที่เคยเรียนในมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งดังกล่าวอีกค่ะ ที่วังบางขุนพรหม ณ ห้องกิมตึ๊ง

     ในการนี้ มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมลายพระราชหัตถ์ ประดิษฐานในกรอบไม้ ลายไทยสีทอง มีพระปรมาภิไธย อปร พร้อมแผ่นโลหะ สลักข้อความว่า ....

    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    โปรดเกล้าฯ พระราชทาน ธนาคารแห่งประเทศไทย

    ในวันที่เสด็จพระราชดำเนิน ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย

    ในวันที่ 30 มีนาคม  2489

    ตั้งแต่ปี 2488 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เช่าที่ตั้ง วังบางขุนพรหม จาก กรมธนารักษ์

    ต่อมา ในเดือน ตุลาคม 2502 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เริ่มดำเนินการที่จะให้ได้ วังบางขุนพรหม เป็นกรรมสิทธ์ ของธนาคารเอง โดยการริเริ่มของ ท่านผู้ว่าการ ป๋วย อึ้งภากรณ์ค่ะ

    ในโอกาสที่ วังบางขุนพรหม มีอายุครบ 100 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดทำห้องเทิดพระเกียรติ รัชกาลที่ 8 ด้วยค่ะ

     

    นำรูปกล้องถ่ายทีวี ของทีวี ช่อง 4 ยุคแรก ตอนที่มีที่ทำการอยู่ในบริเวณวังบางขุนพรหมมาฝากค่ะ

     

    • สวัสดีค่ะ
    • อยากถามความคิดเห็นค่ะว่าน่าจะหาคน
    • มารับช่วงศึกษาต่อเกี่ยวกับเชื้อราที่เกิดบนน้ำทับทิม
    • http://gotoknow.org/blog/remotesensing/159015
    • เพื่อต่อดความรู้นำไปสู่การพัฒนาให้เกิดประโยชน์ด้าต่างๆค่ะ
    • รูปเชื้อราจะโพสให้ดูภายหลังค่ะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Lin Hui

    เรื่องเชื้อราในน้ำทับทิม ได้ใหความเห็นไว้ที่บล็อกคุณแล้วนะคะ

    ขอบคุณที่มาเยี่ยมค่ะ

    เงินเจียง  ซ้ายบน   เงินทวาราวดี รูปกลาง   เงินพดด้วง  ขวาสุด

       และการทำเหรียญกษาปณ์ รูปล่าง

    • ได้ทั้งความรู้และได้ดูภาพสวยๆด้วย
    • พยายามมองหารูปอาจารย์ ป๋วย
    • ครึ่งตัว หาไม่พบครับ
    • ขอบคุณครับ
    • Lin Hui ขอส่งรูปเชื้อราบนน้ำทับทิมาให้ดูตามที่เคยบอกค่ะ
    • Fungus

    ค่ะ  

     สาเหตุประการหนึ่งของการเสื่อมเสียของอาหาร มักเป็นผลมาจากการเจริญของเชื้อรา  ซึ่งมักจะพบปนเปื้อนทั้งในอาหารของคนและสัตว์ เชื้อราบางชนิด  สามารถเจริญได้ในที่มีความชื้นต่ำสร้างสารอะฟลาทอกซิล ซึ่งเป็นสารก่อนมะเร็งตับที่ร้ายแรงของคนและสัตว์

     นอกจากนั้นยังมีผลต่ออวัยวะภายในอื่นๆ เช่น ปอด ไต และลำไส้ใหญ่ ความรุนแรงจะขึ้นกับปริมาณทอกซินที่ได้รับ

    อยากให้ ติดต่อ ที่ Food and Bio Technology ....at Chula ..ค่ะ คณะวิทยาศาสตร์ ที่นี่วิชามากค่ะ 

    สวัสดีค่ะคุณขจิต

    ตอนที่ไปชมพิพิธภัณฑ์ ก็เข้าไปเยี่ยมชมห้องทำงานท่านอาจารย์ ป๋วยด้วยค่ะ  มีlinkระวัติท่าน ตามแนบมานี้ค่ะ

    และได้เคยอ่าน สรุปคุณธรรมหลายๆประการที่น่ายกย่องของท่าน ขอนำมาถ่ายทอดย่อๆอีกทีค่ะค่ะ

    1. มีความรักชาติพร้อมที่จะเสียสละเพื่อแผ่นดินแม่

    มีความจริงใจให้แก่ประเทศอันเป็นที่รักยิ่ง แม้ว่าท่านนั้นจะมีบทบาทในฐานะเศรฐศาสตร์คนสำคัญของรัฐบาล แต่ท่านนั้นก็ได้เปลี่ยนความสนใจจากปัญหาทางเศษรฐกิจ มาสู่ปัญหาการศึกษาและการพัฒนาสังคม ทั้งๆ ที่ท่านมีภาระมากมาย ตำแหน่งอื่นๆ อีกหลายตำแหน่งแต่ท่านก็ยังแบ่งเวลาให้กับการบรรยาย เข้าร่วมการสัมนา และเขียนบทความต่าง ๆ รวมถึงการที่ท่าน ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไปดำรงตำแหน่งคณะบดี เพราะเห็นความสำคัญของการศึกษาระดับวิทยาลัย ว่าเป็นเครื่องมือของการสร้างปัญญาชนที่มีคุณภาพ ไปช่วยพัฒนาประเทศ

    2.  มีความซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่การงาน ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง 

    3.  มีความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่

    4.มีความปรารถนาดีและรักเพื่อนมนุษย์

    5 . มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ไม่ยอมก้มหัวให้แก่อำนาจอธรรมผ่ายใด

    ได้เห็นสถานที่น่าสนใจจากบันทึกนี้แล้ว ประทับใจมากค่ะ 
    สถานที่สำคัญๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ - พระราชวังบางแห่ง -ฯลฯ มักจะไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในโปรแกรมท่องเที่ยว...เพราะ คนไม่รู้ หรือไม่ใฝ่หาข้อมูล หรือ ไม่มีการประชาสัมพันธ์ (ททท. อาจจะรู้ หรือไม่รู้ หรือว่าไม่เน้น ...ขึ้นอยู่กับการตลาดและการประชาสัมพันธ์)

    สังเกตไหมคะว่า... เด็กไทย ไม่ได้รับการปลูกฝังให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง หรือ จะกล่าวว่าหนังสือเรียนไม่ละเอียด หรือ แผนการสอนไม่ได้หยั่งถึง  ยกตัวอย่าง เช่น เราไล่อาณาจักรต่างๆ ลงมา หรือ ฟังเพลงคาราบาว ว่า ....มาตั้งแต่ก่อนสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี ยุคสมัยนี้ เป็นกทม. เมืองที่คนตกท่อ ..... ดิฉันได้แจ่มแจ้งมาตอนโตแล้วว่า อยุธยาน่ะ ก็มีอยู่ในเวลาเดียวกันกับสุโขทัยนะแหละ แต่ความรุ่งเรืองมันไม่เสมอกัน ดูได้จากเรื่องสุริโยทัย.... ไม่ค่อยแปลกใจกับตัวเองเท่าไหร่ค่ะ เพราะไม่เก่งในวิชาประวัติศาสตร์เลย ยอมรับตัวเอง จึงเป็นห่วงประเทศชาติในรุ่นต่อๆ ไป ค่ะ  หรือ ชื่อกรุงเทพฯ เต็มๆ เนี่ย ถ้าไม่ได้ พี่อัสนี&วสันต์ มาแต่งทำนองให้ได้จังหวะจะโคน แล้วละกัน คงยากที่จะจำได้หมด

    ทั้งนี้ขอบคุณพี่มากค่ะ นำสิ่งดีๆ มาฝากสมาชิกอ่านกันเสมอๆ พร้อมรูปประกอบสวยใส ชวนเที่ยวมากๆ ค่ะ พี่น่าจะไปอยู่ ททท นะคะ

    สวัสดีค่ะคุณ Trip Maker เรียก หุย ก็ได้ค่ะ

    ขอบคุณที่มาเยี่ยมค่ะ

    และก็แปลกใจมากที่ สถานที่สำคัญๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ - พระราชวังบางแห่ง -ฯลฯ มักจะไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในโปรแกรมท่องเที่ยว...เพราะ คนไม่รู้ หรือไม่ใฝ่หาข้อมูล หรือ ไม่มีการประชาสัมพันธ์ (ททท. อาจจะรู้ หรือไม่รู้ หรือว่าไม่เน้น

    จริงๆแล้ว สถานที่ดังกล่าว มีของดีๆมากมายและสวยงามมากด้วยค่ะ อุตส่าห์เสียงบประมาณบูรณะปรับปรุงไปมากมาย น่าที่จะ เชิญชวนให้ คนทั่วไปเข้ามาชมกันให้มากๆนะคะ

    การเลือกสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อบรรจุในโปรแกรมท่องเที่ยว ต้องมีปัจจัยหลักๆ ดังนี้ค่ะ
    1. สถานที่อยู่ใกล้ไกลจาก แหล่งท่องเที่ยวต่อเนื่อง หรือไม่ ใกล้ร้านอาหารที่จะต้องแวะไปทาน มื้อเที่ยง หรือ ใกล้กับที่พัก หากว่าไกลกันมากเกินไป โปรแกรมในวันนี้จะหมดความน่าสนใจไปเลยค่ะ ยกตัวอย่างง่ายๆ ค่ะ ทำไมภาคอีสาน จึงไม่ได้ค่อยได้รับความนิยมมากเท่าภาคอื่นๆ เพราะ สถานที่แต่ละแห่งไกลกันมาก ต้องนั่งรถเป็นชั่วโมง หมดไป 1 วัน ไปเที่ยวได้แค่ 1-2 แห่งเท่านั้น ยกเว้นว่าลูกค้ามีความประสงค์ มีความชอบส่วนตัวจะไปทำบุญวัดนี้ ให้ได้ ไปดูไดโนเสาร์ อยากดูมาก เราก็ใส่ให้ค่ะ ภาคอีสานจะมีความน่าสนใจในด้านวัฒนธรรมและเทศกาลประเพณีมากกว่าตัวสถานที่ค่ะ
    2. สถานที่จอดรถ (ยกเว้นบางแห่ง อย่างเช่นวัดพระแก้ว ต้องไปชมให้ได้ รถต้องไปหาที่จอดเอง) สมัยก่อนไม่มีมือถือ ก็ต้องนัดเวลาแล้ววนมาเจอกัน รองรับนักท่องเที่ยวหมู่คณะได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ หาที่จอดรถยากขึ้นทุกที

    3. การจัดการของแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ   ทั้งในด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ รวมถึงการบริหารเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว อย่างที่ได้กล่าวไว้ค่ะ ว่า สถานที่นั้นๆ ได้เสียงบประมาณในการปรับปรุง ซ่อมแซม พัฒนาการสื่อความรู้ ความน่าสนใจอย่างดี แต่ถ้าขาดการประชาสัมพันธ์ ประชาชนไม่รู้ว่า ......มีด้วยหรือ.....ข้อมูลละเอียดหรือไม่ เช่น ตั้งอยู่ที่ไหน มีอะไรน่าสนใจ มีความสำคัญอย่างไร (จุดขายเพื่อให้คนอยากไปดู)  เดินทางไปอย่างไร เปิด-ปิดกี่โมง ค่าเข้าชมเท่าไหร่ ติดต่อสอบถามได้ที่ใด

    สถานที่บางแห่งทั้งในและนอกประเทศ (ขอบอก) ว่าไปดูกับตาแล้ว ไม่มีอะไรซักเท่าไหร่เล๊ยยย แต่ประชาสัมพันธ์ดีมากๆๆๆ เช่น สิงคโปร์ เกาะเล็กนิดเดียวค่ะ สถานที่ท่องเที่ยวหลายๆแห่งไม่ได้เร้าใจเลยค่ะ แต่เขาทำแผ่นพับ มีศูนย์ข้อมูลอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว เดี๋ยวนี้ มีสาวๆ ใส่ชุดจีนสวยงาม คอยให้คำแนะนำด้านแหล่งท่องเที่ยวในอาคารแอร์เย็นฉ่ำพร้อมแผ่นพับเป็นร้อยๆ แห่ง ทั้งๆ ที่ เขามีสถานที่ท่องเที่ยวน้อยกว่าเราไม่รู้กี่เท่า และพอเราไปตามคำแนะนำ ขอบอกได้เลยว่า ไม่ติดฝุ่นบ้านเราเลยค่ะ อาทิ ไชน่าทาวน์ สู้เยาวราชบ้านเราไม่ได้เลย คือเป็นร้านรวงอาคารสะอาดสะอ้านค่ะ แต่ความรู้สึกส่วนตัวนะคะ มันไม่มีกลิ่นอายความเป็นตลาดน่ะค่ะ มันเหมือนเดินห้าง บ้านเราห้างน่าเดินกว่าเยอะ เพราะมีรถเข็น ขายได้ทุกอย่าง ไม้จิ้มฟัน ยันเรือรบ  ส่วนลิตเติ้ลอินเดียมีวัดแขก สวยค่ะ (วัดแขกบ้านเราสวยไม่แพ้เขาเลย) ตัวอาคารทาสี จัดจ้านสวยนะคะ แต่ไม่มีกลิ่นไอของเครื่องเทศ สมุนไพร อย่างพาหุรัดค่ะ ได้อารมณ์กว่าเยอะ  แต่เขามีการจัดการ การบริหารประชาสัมพันธ์ได้ดีมากเลยค่ะ  ข้อนี้สำคัญมากค่ะ คนไทยไม่ค่อยมีประสบการณ์ในด้านนี้ ทุกวงการค่ะ หาจุดขายตัวเองไม่เจอ แล้วก็ไม่รู้จะสื่อให้คนรู้อย่างไร
    ทั้งนี้ รวมถึงการพัฒนาการจัดการแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ อย่างยั่งยืน ไม่ใช่สุกเอาเผากิน หรือ ต้องการนักท่องเที่ยวเยอะๆ สร้างบ้าๆ บอๆ ผิดหลักกับสิ่งที่ตนเองมีค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ไปสร้างอัฒจรรย์ใหญ่โต เพื่อแสดงโชว์ลิงเก็บมะพร้าว ทั้งๆ ที่ควรจะทำในสวนที่มีต้นมะพร้าว ท่ามกลางธรรมชาติแบบชาวบ้าน เหมือนของโรงเรียนฝึกลิงของลุงสมพร (ปัจจุบันลูกสาวรับช่วงต่อ) ที่ทำเก้าอี้ให้นั่งง่ายๆ ใกล้ชิดคนดู ร่มรื่น เป็นต้น
    4. นักท่องเที่ยวค่ะ สำคัญ....เราต้องรู้ใจเขา คิดแทนเขาว่า ถ้าเขามา เขาจะชอบหรือไม่ กลุ่มนักท่องเที่ยวเฉพาะ  เช่น เคยพาฝรั่งไปฟาร์มโชคชัย (ต้องแวะระหว่างทาง และกินข้าวเที่ยง)  เขาเฉยๆ มากเลยค่ะ ดูพวกคาวบอย ก็เฉยๆ เขาบอกว่า....บ้านเขาก็มี  ในขณะที่พาครอบครัวฝรั่งไปแม่กลองไปนอนโฮมสเตย์ (ตอนพาไปครั้งแรกๆ ก็ไม่แน่ใจว่ามาทำไม มากินๆ นอนๆ บ้านสวน คือเราชินไงคะ บ้านเราเป็นเรื่องธรรมดามาก แต่ปัจจุบัน ไม่ธรรมดาค่ะเพราะหาชีวิตสงบสุขแบบนี้ในเมืองย๊าก ยาก ยังไงส่วนตัวก็ชอบด้วย) ปรากฎว่า ประทับใจทุกคน ไม่มีใครไม่ชอบค่ะ เพราะว่า คนในยุคนี้ทำงานในเมือง หรือ ฝรั่งเขามีชีวิตแบบเร่งรีบ หรือมีเครื่องอำนวยความสะดวกมากพอแล้ว เขาอยากได้สัมผัสวิถีชาวบ้าน ในสวนเขียวขจี มีผลไม้ พายเรือเล่น โดดน้ำคลอง ล่องเรือเย็นๆ โอ๊ย.....เท่านี้เองค่ะ 

    กล่าวถึง พิพิธภัณฑ์ เกี่ยวมาซะหน่อย.....สถาบันศึกษา หรือหน่วยงาน...ให้ความสำคัญกับการศึกษาดูงานนอกสถานที่ หรือเปล่า คิดว่ามีประโยชน์ต่อกลุ่มชนโดยรวมหรือไม่  วิสัยทัศน์ของผู้นำค่ะ ที่จะเปิดโลกให้ผู้น้อยหรือไม่ (บางทีวิสัยทัศน์ของผู้นำอาจจะน้อยกว่า) ฯลฯ

    รู้สึกว่าจะแสดงความคิดเห็นยาวไปค่ะ เอาเป็นว่าแค่นี้ดีกว่า ไว้มาเยี่ยมใหม่นะคะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Trip Maker เรียก หุย ก็ได้ค่ะ

    ได้คำอธิบายจากผู้รู้จริงในวงการ นี่ดีจริงๆนะคะ

    ภูมิหลังของพี่คือ คุณพ่อคุณแม่ ชอบพาลูกๆเที่ยวค่ะ ไปมาหมด บางแห่งก็ไปมีบ้านไว้ด้วย ถ้าชอบ เช่น บ้านริมแม่น้ำบางปะกง และเรามีเรือออกทะเลได้ด้วย เลยติดนิสัย ชอบเที่ยวดูอะไรต่ออะไรอยู่เสมอๆ ไม่ค่อยชอบอยู่นิ่งๆนานๆ

     และนิสัยนี้ ก็ส่งต่อให้ลูกด้วยค่ะ เขาชอบ explore อะไรๆอยู่เสมอ ซอกแซก ไปในที่แปลกๆ ถ้ามีเวลา แต่เป็นคนมีหัวการค้า เวลาไปเที่ยวต่างประเทศสมัยเขาเด็กๆวัยรุ่น จะต้องซื้อของมาขาย(มีคนฝากตลอดเวลา)แต่ซื้อ ตาม ที่มีคนสั่งอย่างเดียว และคนสั่ง ต้องรีบให้ ค่าซื้อด้วยความเต็มใจ ไม่งั้นไม่ซื้อมาให้

    ตอนนี้ โตแล้ว ก็ยังซื้อๆขายๆเป็นงานอดิเรก เพราะไม่ว่า จะซื้ออะไรมา เพื่อนๆต้องมาอ้อนวอน ขอซื้อต่อทุกที ใครๆบอกว่า เป็นคนมีดวง เรื่องการค้า  แปลกดึ  เล่าสนุกๆค่ะ

    เรื่องที่คุณหุย ให้ข้อสังเกต ใช่ ทุกข้อค่ะ

    เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ต้องการความสะดวก เขาไม่ชอบไปเที่ยวแบบลำบากกันเท่าไร ถ้าจะไปเที่ยวแบบ ธรรมชาติ ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง

    การจัดการ และการบริหารการประชาสัมพันธ์ นี่เรื่องใหญ่เลย พี่เคยไปชายหาดริเวียร่า ไปแล้ว ภูเก็ตเรา สวยกว่ามากๆ แต่ เขาก็ดังกว่า

    มีอยู่ทีหนึ่ง ไปฝรั่งเศส เจอนักท่องเที่ยวอเมริกัน พวกเขาปลื้ม ฝรั่งเศสมากๆ บอกว่า ขอให้ครั้งหนึ่ง ได้มาเที่ยว ก็พอใจแล้ว

    ฝรั่งเศสประชาสัมพันธ์มาก และเขาก็ลงทุน แต่งบ้านเมือง ให้ดึงดูดนักท่องเที่ยว จริงๆ ฝรั่งเศส ขายทั้งความเก่า ความใหม่ ของตัวเองอย่างเป็นล่ำเป็นสันเลย (หลงตัวเองสุดๆ) 

    สำคัญ....เราต้องรู้ใจเขา คิดแทนเขาว่า ถ้าเขามา เขาจะชอบหรือไม่

    ส่วนเรื่องพิพิธภัณฑ์ หรือโบราณสถาน ทางเราไม่พร้อมเองค่ะ วันที่ไป ที่ธนาคารแห่งประเทสไทยนี้ มีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นมาด้วย แต่เขาคงไม่ประทับใจนัก เพราะ ไม่มี brochureภาษาอังกฤษ และตัววิทยากร ก็พูดภาษาอังกฤษได้ไม่ดีนัก

    คงมุ่งเน้น คนไทยด้วยกันเองมากกว่า แม้แต่ คนไทยด้วยกัน ก็มีที่ไม่ทราบอีกมากนะคะ เรื่องว่า ที่นี่มีดีอะไร ที่น่าเข้าไปดู ไปเรียนรู้บ้าง

    • สวัสดีค่ะ ..

    เข้ามาบันทึกนี้เมื่อใดก็จะได้อ่านเรื่องราวประวัติความเป็นมา  ตลอดจนได้ชมภาพสวยๆ ทุกที

    ขอบคุณค่ะ  ^^  คุณพี่ศศินันท์เป็นผู้หญิงที่เก่งจังเลยนะคะ   รอบรู้ไปเสียทุกเรื่อง

    สวัสดีค่ะน้องต้อม เนปาลี

    เขียนบันทึกตอบเป็นครั้งที่ 2 ค่ะ

    ครั้งแรกโพสแล้วหายไปเลยขอบคุณที่ชมค่ะ หนังจีน เขาจะบอกว่า  ท่านชมเราเกินไปแล้ว

    ไม่ได้เก่งอะไร แต่อาศัยมีประสบการณ์มาบ้าง และมีคนรู้จริงๆอยู่รอบตัวหลายคนหน่อย เลยมีโอกาสได้สนทนาธรรมกันบ่อยๆค่ะเลยอยากเล่าเพิ่มว่า... ท่านเจ้าของวัวบางขุนพรหมนี้  ท่านชอบเล่นกล้วยไม้มากค่ะ และได้แต่งตำรากล้วยไม้เล่มแรกของประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2459 เพื่อนำรายได้ไปจัดหาเตียงคนไข้ให้แก่รงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ค่ะ กล้วยไม้สกุลแคทลียา ที่เป็นชื่อท่านก็มีนะคะ ชื่อ เจ้าชายบริพัตร หรือ Prince Paribatra

    นำรูปดอกแคทลียามาให้ชมค่ะ แต่ไม่ใช่ ดอก เจ้าชายบริพัตรค่ะ

     สวัสดีค่ะคุณ Lin Hui

    ไปทานข้าวมาแล้ว 1 จานค่ะ อร่อยมากๆ เห็นชอบเรื่องสมุนไพร เลยเอาเรื่องต้นตะลิงปลิงมาฝากค่ะ เป็นต้นไม้ที่เก่าแก่ และเห็นเด่นมากที่  วังบางขุนพรหม  ค่ะ ที่นี่  มีต้นไม้ดอกไม้ไทยๆมากค่ะ

    เดี๋ยวนี้ คนก็ยังนิยมปลูกเอามาทำเป็นเครื่องประกอบอาหารนะคะ

    ตะลิงปลิง
    (Biimbing, Cucumber tree)
    Averrhoa bilimbi Linn.
    ชื่ออื่น
    ลิงปิ้ง หลิ้งปิ้ง หลี้งตี้ง ลีหมิง เฟืองเทศ
    ลักษณะ
    ตะลิงปลิงอยู่ในวงศ์ Oxailidaceae เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงประมาณ 5 – 10 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งก้านเปราะหักง่าย ใบเป็นใบประกอบมีใบย่อยเรียงตัวกันเป็นคู่ ใบคล้ายใบมะยม ดอกออกเป็นช่อตามลำต้นและกิ่งดอกขนาดเล็ก สีแดง ดอกมีกลิ่นหอม ผลกลมยาว ขนาดโตประมาณข้อนิ้วมือ ผลเป็นร่องตามยาวผล 5 ร่อง สีเขียวเมื่อสุกมีสีเหลือง ฉ่ำน้ำ เมล็ดแบน มีรสเปรี้ยวจัด เพราะมีกรดออกซาลิกอยู่สูง
    แหล่งที่พบ
    ตะลิงปลิงเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในดินโดนีเซียและมาเลเซีย พบทั่วไปตามสวนและตามบ้าน
    การขยายพันธุ์
    ตะลิงปลิงขยายพันธุ์ได้หลายวิธี คือ การเพาะเมล็ด การติดตา การต่อกิ่ง การทาบกิ่ง และการตอนกิ่ง การตอนกิ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยม และดีกว่าวิธีอื่น


    การบริโภคและสรรพคุณ
    ผลตะลิงปลิงมีรสเปรี้ยวจัด นิยมใช้แกงส้ม แกงคั่ว ทำน้ำพริก ต้มหมู ต้มเนื้อ ยำต่าง ๆ นำมาดอง หรือหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ กินกับขนมจีน ใส่ในน้ำบูดู ผลของตะลิงปลิงมีผลแสลงไข้ ผู้มีไข้ไม่ควรบริโภค ยอดอ่อนและก้านดอกใช้ต้มจิ้มน้ำพริก
    ผลมีสรรพคุณทางสมุนไพรเป็นยาบำรุงช่วยให้เจริญอาหาร ขับเสมหะ
    ตามตลาดมักขายตะลิงปลิงโดยวางเป็นกอง ๆ

    สวัสดีค่ะคุณหมอnithimar

    ขอนำภาพรถยนต์สมัยเก่าที่วิ่งอยู่ตามถนนเมื่อ พ.ศ.2475 มาฝากนะคะ

    %e0%b8%a3%e0%b8%96%e0%b8%a2%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b9%8c%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%a2%e0%b8%9b%e0%b8%b5+2475

    ช่วงเวลานี่ เป็นช่วงเวลา เปลี่ยนการปกครองของประเทศเราค่ะ

    วังบางขุนพรหม เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เพราะได้ใช้เงินพระคลังข้างที่ อันเป็นเงินส่วนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน

    ดังนั้น คณะราษฎร์ จึงมิได้ยึดวังบางขุนพรหม เป็นของรัฐ แต่ได้ใช้กลวิธีบีบให้ ท่านลงพระนามมอบวังบางขุนพรหมให้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับอิสระภาพของพระองค์

    สวัสดีค่ะ คุณพี่ ศศินันท์

    ชื่นใจ ปลื้มใจ ซาบซึ้งใจ บอกไม่ถูกเลยค่ะ 

    ขอบพระคุณมากค่ะ

    อ๋อค่ะ

    สวัสดีคุณพี่ Sasinanda อีกครั้งนะคะ

    ขอบพระคุณสำหรับกาแฟและขนมหวาน น่าทานขนาดนั้น คนอยากผอมอย่างอ๋ออดใจไม่ไหวหรอกค่ะ งานนี้อ้วนต่อก็ยอมค่ะ

    อ๋อค่ะ

    สวัสดีค่ะ

    • ขออนุญาตเรียกคุณพี่คนเก่งค่ะ
    • แวะมาเยี่ยมชมบันทึก ได้ทั้งความรู้และความงามของถาพต่างๆ ไม่ผิดหวังเลยค่ะ
    • เป็นวิทยาทาน สำหรับคนประสบการณ์น้อย
    • ขอบพระคุณมากนะคะ

      สวัสดีค่ะคุณหมอ nithimar

    อยากเล่า ตอนต่อไปของท่าเจ้าของวังอีกหน่อยค่ะ เพราะเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เตือนใจเราทุกคนเหมือนกันค่ะว่า อะไรๆๆ ในโลกนี้ ล้วนไม่เที่ยงแท้แน่นอนน่ะค่ะ

    เมื่อท่านเดินทางออกจากประเทศไทยไปประทับที่ บันดุงแล้ว ท่านไปประทับที่บ้านเช่าก่อน ต่อมา จึงซื้อที่ดินแถบเชิงภูเขาไฟ ตังกูบัน ปาราฮู เพื่อสร้างตำหนัก โดยมีสถาปนิก ชาวดัตช์ เป็นผู้ออกแบบ เป็นบ้านชั้นเดียว ชื่อว่า ตำหนักประเสบัน ดังในภาพค่ะ

    สวัสดีค่ะ อาจารย์ Lin Hui

    ไปทานมาแล้วหนึ่งจาน อร่อยมาก ของชอบเลยค่ะ สะเดาน้ำปลาหวานเนี่ย.....ขอบอก

    ขอเล่าต่อนะคะ  ...

    ในสมัยรัชกาลที่ 8 ได้ทรงพระกรูณาโปรดเกล้าฯเฉลิมพระนามเป็น "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต" เมื่อวันที่ 10 กรกฏาคม 2478 เป็นพระอิสริยยศ สุดท้ายค่ะ

    เมื่อพ.ศ.2480 พระโรคเกาต์ที่เป็น มีอาการกำเริบขึ้น บางที ต้องนั่งถัดไปกับพื้น ต่อมาก็ประชวรด้วยโรคพระหทัย และพระวักกะ และยังมีพระโรคต้อที่พระเนตรเข้ามาอีก

    แต่ก็ยังทรงพระนิพนธ์เพลง ด้วยเป็นสิ่งที่ทรงรัก เพลงสุดท้าย คือเพลง สุดถวิล ต่อมาเริ่มทรงพระประชวร และสิ้นพระชนม์ ในเวลาต่อมาอย่างสงบ

    ต่อมาได้มีการอัญเชิญพระศพกลับเมืองไทย เมื่อ วันที่ 27 มิถุนายน 2491 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

    และมีพระราชทานเพลิงพระศพ ณ ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2493

    เมื่อวันที่ 17 เมษายน เชิญพระอัฐิไปประดิษฐาน บนพระวิมานพระที่นั่งจักรี มหาปราสาทด้วย

    ในภาพนี้ เป็นขบวนแห่ ในวันพระราชทานเพลิงศพค่ะ

    สวัสดีค่ะ คุณจุฑารัตน์

    ยินดีต้อนรับค่ะ เมื่อไปได้เห็น ได้ชมอะไรมา ก็นำมาแบ่งปันกันค่ะ อาจจะเป็นประโยชน์บ้าง ไม่มากก็น้อยนะคะ

    นอกจาก จะได้รียนรู้ ประวัติการเงิน การธนาคารของไทยแล้ว

    ยังได้ไปชื่นชมความสวยงามของอาคารตำหนักวังบางขุนพรหม

    ซึ่ง เป็นอาคารที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมค่ะ

    นำภาพบึงแก่นนครที่ขอนแก่นยามเช้าตอนไปเดินออกกำลังกาย มาคลายเครียดคนกรุงครับ

    ชีวิต

    ขอบคุณมากค่ะอาจารย์   JJ

    ธรรมชาติสวยๆ ทำให้จิตใจเราสบายขึ้นจริงๆค่ะ  สวยมากนะคะ

     

    บึงแก่นนครเป็นบึงธรรมชาติ คู่เมืองขอนแก่น เข้าใจว่า  มีความกว้างถึง ๖,๐๐๐ไร่ นะคะ

    ในฤดูฝนจะมีน้ำปริ่มฝั่ง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่สวยงาม และสำคัญแห่งหนึ่ง ของชาวขอนแก่นอยู่ในเขตเทศบาลเมืองขอนแก่น ติดกับถนนนิกรสำราญ มีถนนรอบบึงด้วย ที่นี่ มีดีๆหลายอย่างค่ะ เช่น......

     

    มีการปลูกต้นไม้ไว้ร่มรื่นสวยงาม มีสนามเด็กเล่น และอาหารจำหน่าย สำหรับผู้มาพักผ่อน ยามเย็น มีคุ้มวัฒนธรรมอีสานสำหรับให้ศึกษาเรือนอีสาน   "ท้าวเพี้ยเมืองแพน"    ผู้ก่อตั้งเมืองขอนแก่น   สร้างไว้เป็น อนุสรณ์แก่คนรุ่นหลัง ๆ ให้ได้รู้จักกันนะคะ  

    สวัสดีค่ะ คุณพี่  Sasinanda

    เขินเลยค่ะ

    ตั้งใจจะแอบมาหาความรู้เพิ่มเติม คุณพี่  Sasinanda  ก็รู้ทันทุกทีค่ะ

    ขอบพระคุณค่ะ ภาพที่นี่ทุกภาพสวยจังนะคะ goodliving โดยแท้ค่ะ

    อ๋อค่ะ

     

    สวัสดีค่ะคุณหมอ nithimar


    คุณหมอใจดี แวะมาทักทาย พี่เลยอดไม่ได้ ต้องนำภาพห้องที่สวยที่สุดของวังบางขุนพรหม มาให้ดูเป็นของกำนัลค่ะ ภายในห้องมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงามมากค่ะ ใช้เป็นที่รับแขกและประกอบพิธีทางศาสนา มีการตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น มากกว่าห้องอื่นๆ คล้ายคลึงกับองค์ประกอบที่เป็นที่นิยมในสมัยบาโรกค่ะ

     

    P
    • สวัสดีค่ะ
    • สบายดีนะค่ะ
    • "พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย" เป็นสถานที่สวยงามมากค่ะ
    • ยังไม่เคยมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมเลยค่ะ
    • รักษาสุขภาพด้วยนะค่ะ

    สวัสดีค่ะน้อง อ้อยควั้น

    ดีใจที่มาเยี่ยมค่ะ

    การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์นี้ ก้เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ เกี่ยวกับวิวัฒนาการเงินตราไทย อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติเราค่ะ

    ไปดูแล้ว เกิดความรักและคส่มภาคภูมิใจมากเลยค่ะ ว่างๆ อย่าลืมไปชมนะคะ โทรไปติดต่อก่อนค่ะ

    สวัสดีค่ะ คุณพี่ Sasinanda

    ขอบพระคุณสำหรับภาพสวยๆค่ะ 

    มาเยี่ยมทีไรก็ได้สิ่งดีๆกลับไปทุกทีค่ะ

    อ๋อค่ะ

     

    • ผมอ่านบันทึกคุณศศินันท์ครั้งใด....รู้สึกอิ่มอูมกับภูมิปัญญาที่ได้รับจริงๆ
    • ผมจะต้องศึกษาแบบอย่าง และวิถีชีวิตของท่าน นำมาเล่าให้ลูกศิษย์ของผมฟังครับ

     สวัสดีและขอบคุณ คุณหมอ nithimar นะคะ

    ที่จะมีอะไรสวยๆมาฝาก

    คิดถึงคุณหมอเช่นกันค่ะ

    สวัสดีค่ะอาจารย์ พิสูจน์

     ดีใจที่อาจารย์มาเยี่ยมค่ะ

    หลังจากไปพบเห็นสิ่งที่เป็นความรู้ และอาคารตำหนักสวยงามที่เป็น สถาปัตยกรรมที่มีค่า ควรอนุรักษ์ไว้ ก็เลยนำมาแบ่งปัน ให้ชมกันค่ะ เผื่อเป็นประโยชน์บ้างค่ะ

    สวัสดีค่ะ คุณพี่ Sasinanda

    ไปๆมาๆแล้วภาพที่อ๋อมีก็ยังไม่สวยเท่าที่คุณพี่มีอยู่แล้วค่ะ เดี๋ยวหากอ๋อมีภาพสวยๆจะนำมาฝากคุณพี่ในภายหลังนะคะ

    อ๋อค่ะ

    สวัสดีครับ พี่ Sasinanda

    • เป้าหมายหลักครับ สำหรับวังนี้ อยากไปเก็บภาพครับ
    • ลงกรุงเทพฯ เมื่อไหร่ ไปแน่ครับ
    • ขอบคุณสำหรับภาพสวย ๆ ครับพี่
    ขอบพระคุณครับ

    20060613-182432-king-60th

    สวัสดีค่ะ คุณพี่ Sasinanda 
     

    ภาพช่อดอกไม้ ในงานพระราชพิธี นำมาฝากคุณพี่ ค่ะ

    ทำเป็นแล้วค่ะ ขอบพระคุณคุณพี่ ที่กรุณาชี้แนะวิธีแปะภาพนะคะ

    เพิ่งทำเป็นวันนี้ค่ะ

    อ๋อค่ะ

     ฝากคุณพี่ศศินันท์ อีกภาพนะคะ

    เด็กไทยน่ารักคนนี้ นอนกลิ้งน่าเอ็นดูอยู่บนโต๊ะเสวยค่ะ

    20060613-191506-king-60th

    อ๋อค่ะ

    น้องคุณหมอ อ๋อ

    • นี่แวะมาแปะภาพให้พี่ Sasinanda  เขาเหรอครับ
    • แหม สนุกใหญ่เลยนะครับ

    อิ อิ

    สวัสดีค่ะคุณหมอ และอาจารย์   Wasawat Deemarn

      

    ขอบคุณสำหรับรูปสวยๆค่ะ ดีใจที่คุณหมอ นำรูปภาพ ขึ้นบันทึกได้แล้ว
    และขอบคุณอาจารย์ ที่แวะมาเยี่ยมค่ะ
    ถ้ามากรุงเทพฯ ควรจะไปชมค่ะ เพราะได้ความรู้ ทั้งเรื่องเงินตราและการธนาคารกับ ได้เห็นร)แบบสถาปัตยกรรม ของตำหนัก บางขุนพรหมและวังเทวะเวสม์ด้วยคะ สวยงามมากค่ะ

    มีอยู่ห้องหนึ่งที่สวยงามเหมือนกัน เปิดแสดงให้ ประชาชนชมด้วย ได้รับการบูรณะและตกแต่งอย่างดีมากค่ะ ที่วังบางขุนพรหม

    ชื่อ ห้องม้าสน

    ปัจจุบันจัดแสดงเครื่องลายคราม ถ้วยชาม สังคโลก เหมือนเมื่อครั้ง อดีตของวังบางขุนพรหม แต่เดิมฝาผนังตอนบนของห้องนี้ เขียน รูปม้า และ ต้นสน กลางห้องปูพรมรูปม้า จึงเรียกว่า "ห้องม้าสน"

    สวัสดีค่ะ คุณพี่ Sasinanda  และคุณพี่อาจารย์ Wasawat Deemarn

    อ๋อรู้สึกดีจังค่ะ เด็กดีจังเลย แสนจะอบอุ่นใจ มีแต่พี่ๆทั้งนั้นเลยค่ะ

    ขอบพระคุณค่ะ

    อ๋อค่ะ

    สวัสดีค่ะคุณพี่ Sasinanda


    551000000343108

    ขอมอบดอกไม้ในสวน แด่คุณพี่ Sasinanda ค่ะ

    อ๋อค่ะ

     

    สวัสดีครับ

    ผมชอบไปเที่ยว ไปนั่งเล่นที่ตีนสะพานพระรามแปดครับ บรรยากาศดี  ลมเย็น  มองสายน้ำและวิถีชีวิตแล้วสบายใจผ่อนคลาย  หายเหนื่อยจากความสับสนวุ่นวายครับ

    ผมไปแถวนั้นบ่อย  ชอบไปนั่งที่หอสมุดแห่งชาติ  ตกค่ำก็ไปนุ่งที่ตีนสะพานพระรามแปดฝั่งธนฯ ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาในตอนต้น  ระหว่างทางต้อเดินผ่าน วังบางขุนพรหม ยอมรับว่าสวยมาก  โดดเด่นด้วยลายปูนปั่นและเหล็กดัด  และสีเหลืองที่เพิ่มความขลัง  แต่ก็ไม่มีโอกาศได้เข้าไปดูด้านในเลยครับ  ไม่รู้จะเข้าได้หรือเปล่า  ได้แต่ยืนจดข้อมูลตรงป้ายบอกสถานที่  ว่าจะเอามาลงให้อ่านกันครับ  ขอมูลยังนอนสงบนิ่งอยู่ในสมุดบันทึกอยู่เลย 

    ได้ดูรูปที่คุณพี่เอามาลง  ก็เพิ่มความอยากเข้าไปอีก ถ้าได้ดูของจริงผมว่าต้องประทับใจแน่เลยครับ

    คิดถึงเสมอครับคุณพี่

     สวัสดีค่ะคุณหมอ

    ขอบคุณในหลายสิ่งหลายอย่าง ที่คุณหมอมีน้ำใจให้นะคะ

    คุณหมอเป็นคนมีจิตใจงดงามค่ะ แม้ว่า ข้อเขียนอาจจะดู เข้มๆ สักนิด แต่ดีค่ะ ชอบอ่านสไตล์แบบนี้ด้วยค่ะ

    ยังมีเพลงอีก ถ้าไม่ลำบาก email ไปให้ด้วยก็ได้ค่ะ ชอบๆๆๆ เพราะมากๆๆ
    เพลงบรรเลง ของบีโธเฟ่นบ้าง ก็ได้ค่ะ ขอบคุณค่ะ
     สวัสดีค่ะ คุณ วาทิน ศานติ์ สันติ

    หายไปนานอีกแล้ว สบายดีนะคะ วันหลังผ่านไปในเวลาราชการ  เข้าได้ค่ะ  แต่ที่ดีคือ ควรโทร ไปก่อน และไปพร้อมกับกลุ่มอื่นๆ จะมีเจ้าหน้าที่นำชม และอธิบายด้วยค่ะ 

    ไปดูของจริง ต้องประทับใจแน่เลยค่ะ


    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท