เรื่องเล่าจากดงหลวง 54 ผักหวานป่ากับ “อีเห็น”


เราใช้ธรรมชาติมากเกินไป ความสมดุลของเขาลดลงอย่างที่เราไม่รู้ตัว มัวแต่มุ่งหน้าตักตวงประโยชน์จากเขาอย่างเมามัน คิดไปก็ไม่อยากกินผักหวานป่าอีกแล้ว ใช่ครับมันไม่ได้แก้ไขที่ผู้บริโภคฝ่ายเดียว ไม่ใช่พ่อค้าฝ่ายเดียว ไม่ใช่ชาวบ้านฝ่ายเดียว แต่ทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้ละมือครับ

ผักหวานป่าพืชป่าทำเงิน: เมื่อผักหวานป่าเริ่มแตกใบอ่อน ชาวบ้านก็ขึ้นภูไปเก็บยอดอ่อนทั้งมากินและขาย โดยมีพ่อค้าจากอำเภอนาแกมารับซื้อในหมู่บ้านโดยตรง หรือผ่านพ่อค้ารวบรวมในหมู่บ้านอีกต่อหนึ่ง ในราคาที่ชาวบ้านพึงพอใจ และขายได้ตลอด เก็บมาได้เท่าใดก็ขายได้หมด เป็นวิธีการหาเงินที่ง่ายๆ เพียงเข้าป่าแล้วหาต้นผักหวานแล้วก็รีบเก็บยอดอ่อนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้แล้วก็เอามาขายในหมู่บ้านที่พ่อค้านัดหมายว่าจะมารับซื้อประมาณ 10 โมงเช้า แล้วก็รับเงินสดๆไป

ใครเก็บมาได้มากก็ได้เงินมาก เมื่อผักหวานป่าเป็นของสาธารณะไม่มีใครอ้างความเป็นเจ้าของได้  ทุกคนก็มีอิสรเสรีในการที่จะไปเก็บตามอัธยาศัย ใน 1 ฤดูกาลสามารถเก็บผักหวานป่าได้ประมาณ 5 เดือนคือตั้งแต่ กุมภาพันธ์ ถึงเดือน มิถุนายน เก็บได้วันละ 2 ครั้ง คือเช้ากับบ่าย เช้าออกแต่ตี 4 ตี 5 แล้วกลับเข้ามาประมาณ 9-10 โมงเช้า ตอนบ่ายก็ประมาณ บ่าย 2 โมงถึง 5 โมงเย็น และสามารถออกเก็บได้ทุกวันในบางหมู่บ้านที่มีที่ตั้งเป็นภูเขาล้อมรอบ  มีบางคนที่สามารถเก็บผักหวานป่าได้สูงสุดถึงประมาณ 10,000 บาท ต่อหนึ่งฤดูกาล

วิกฤติผักหวานป่า: เมื่อผักหวานเป็นเงินเป็นทอง และการเก็บผักหวานป่าเพื่อขายจึงเป็นสิ่งที่พี่น้องดงหลวงต้องการ จึงเกิดการตื่นตัวในการขึ้นภูเก็บผักหวานป่ากันโดยทั่วไป แม้เด็กนักเรียน เมื่อปิดเทอม หรือวันหยุด ก็ขึ้นภูไปเก็บผักหวานป่ากันส่วนใหญ่ เด็กมีรายได้ และเขาก็นำเงินไปซื้อสิ่งที่เขาหมายปองเอาไว้  แต่แล้วก็เกิดวิกฤติขึ้นมาเมื่อการเก็บผักหวานป่า

ขยายไปถึงการเก็บดอกผักหวานป่า  เพราะมันกินได้ และราคาดีกว่าใบผักหวานป่าอีก ถึง กก.ละ 400 บาทและดอกผักหวานป่าก็หมดเรียบทั้งภูเขาทุกแห่งหน  โดยต่างบอกว่า ผมไม่เก็บคนอื่นก็เก็บ บ้านเราไม่เก็บบ้านอื่นก็มาเก็บ เมื่อการคิดเป็นเช่นนี้ มีหรือดอกผักหวานป่าจะเหลือเล็ดลอดเติบโตขึ้นไปจนถึงการเห็นเมล็ดผักหวานป่าสุก เหลือง ส้ม เต็มต้น ไม่มีอีกต่อไปแล้ว เมล็ดผักหวานป่าเมื่อยังเขียวที่มีขนาดเท่านิ้วกลาง ชาวบ้าน(ในอดีต) จะเก็บมานึ่งกิน  หรือเมื่อสุก ก็กินเนื้อได้ รสออกหวานๆ  แต่เมล็ดในกินไม่ได้เป็นพิษ หรือทำให้เมา

สหายธีระเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ตนเองที่กินเนื้อในเมล็ดผักหวานป่ากับข้าวต้ม เกิดอาหารเมามาก จนทำอะไรไม่ได้เลย อาการนี้เป็นทั้งผักหวานโคกและผักหวานดง ส่วนผักหวานขนนั้นเป็นพิษถึงเสียชีวิต กินไม่ได้เลย  ผักหวานป่าเมื่อถูกเก็บดอกไปขาย ก็เท่ากับชาวบ้านทำลายตัวเอง หรือรังแกผักหวานป่ามากเกินไป เกินพอดี  เพราะต่างมุ่งเงินทองเข้ากระเป๋า

สถานการณ์นี้ไม่มีใครกล่าวถึง ไม่มีใครตระหนัก ไม่มีการพูดถึงการสิ้นสุดของดงผักหวานป่าที่ดงหลวงอีกไม่นานในอนาคตนี้  ไม่ว่าชาวบ้าน ผู้นำชุมชน แม้ทางราชการที่ดูแลรักษาป่าไม้ เมื่อเป็นเช่นนี้ต้นผักหวานป่าที่มีชีวิตอยู่ในป่าปัจจุบันที่ให้ชาวบ้านได้เก็บในอ่อนไปขายนี้ ก็เป็นรุ่นสุดท้ายแล้ว เพราะไม่มีเมล็ดสืบสายพันธ์ผักหวานป่าอีกต่อไป  

อีเห็น กับผักหวานป่า: อีเห็นคือสัตว์ป่าชนิดหนึ่ง ทางดงหลวงมี อีเห็น สองชนิดคือ อีเห็นอ้น กับ อีเห็นแผงอีเห็นอ้นชอบอยู่บนต้นไม้และหาผลไม้กินเป็นส่วนใหญ่ ส่วนอีเห็นแผงอยู่ตามพื้นดินชอบกินสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นอาหาร เช่น หนู ปลา เป็นต้น และมันก็ชอบกินเมล็ดผักหวานป่าสุกที่หล่นลงจากต้น  นี่เองที่เป็นผู้ขยายพันธุ์ผักหวานป่า

สหายธีระกล่าวว่า อีเห็นแผงชอบใช้ชีวิตที่คลุกคลีกับก้อนหินที่มันสามารถจับสัตว์ต่างๆที่หลบซ่อนอยู่ตามซอกหินนั้นๆได้   ชาวบ้านจะจับอีเห็นแผงได้ง่ายๆด้วยวิธีเดินหาแหล่งที่มันถ่ายมูลออกมาว่าอยู่ที่ใด เมื่อพบแล้วก็ หาทางหลบซ่อนคอยมันกลับมาถ่ายมูลในมื้อต่อๆไป  มันเป็นสัตว์ป่าที่มีวินัยที่เมื่อถ่ายตรงไหนแล้วก็จะมาถ่ายตรงนั้นเป็นประจำ  ซึ่งหารู้ไม่ว่าความมีวินัยของเขากลายเป็นจุดที่เขาต้องจบชีวิตลงด้วยมนุษย์เรียนรู้พฤติกรรมนี้และคอยจ้องจับด้วยวิธีต่างๆ เช่น ยิง หรือใช้ตาข่ายดักจับ 

แต่ที่ผู้เขียนต้องการชี้คือ กองมูลของอีเห็นแผงนี้คือแหล่งผักหวานป่าจะขยายพันธุ์ เพราะเมื่อเขาไปกินเมล็ดผักหวานป่ามาก็มาถ่ายที่นี่ และเมื่อฝนตกลงมา สภาพแวดล้อมเหมาะสมเมล็ดผักหวานป่ามีดิน มีปุ๋ยคือมูลของอีเห็น และน้ำฝน เมล็ดก็เกิดต้นผักหวานใหม่ที่ซอกหินแห่งนั้นเอง และเกิดเป็นกลุ่ม หรือกระจุกต้นผักหวานป่าด้วยซ้ำไป นี่คือวงจรธรรมชาติของการแพร่พันธุ์ของต้นผักหวานป่าโดยผ่านอีเห็นแผงตามคำบอกเล่าของสหายธีระ 

มาวันนี้อีเห็นแผงหายหน้าไปจากชาวบ้านนานมากแล้ว  และที่สำคัญสมมุติว่าจะมีอีเห็นแผงหลงเหลือจำนวนมาก เขาก็ไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสเมล็ดผักหวานสุกอีกต่อไปแล้ว เพราะไม่มีเมล็ดผักหวานอีกต่อไป เพราะไม่มีโอกาสโตขึ้นมาอีกแล้ว ใครต่อใครเล่าลือกันถึงความเอร็ดอร่อยของผักหวานป่า โดยไม่ทราบว่ากำลังสนับสนุนให้เกิดการทำลายล้างเผ่าพันธุ์จนหมดสิ้นในอีกไม่นานนี้ (รวมถึงผู้เขียนบันทึกด้วย) 

เราใช้ธรรมชาติมากเกินไป ความสมดุลของเขาลดลงอย่างที่เราไม่รู้ตัว  มัวแต่มุ่งหน้าตักตวงประโยชน์จากเขาอย่างเมามัน  คิดไปก็ไม่อยากกินผักหวานป่าอีกแล้ว ใช่ครับมันไม่ได้แก้ไขที่ผู้บริโภคฝ่ายเดียว  ไม่ใช่พ่อค้าฝ่ายเดียว ไม่ใช่ชาวบ้านฝ่ายเดียว แต่ทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้ละมือครับ 

 รวมเรื่องผักหวานป่าที่นี่ครับ

คำสำคัญ (Tags): #อีเห็น
หมายเลขบันทึก: 85481เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2007 00:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

เห็นด้วยค่ะพี่บู๊ท  คนเราใช้ธรรมชาติเกินพอดีจนเป็นการรังแกธรรมชาติ  แล้วพอเจอธรรมชาติพิโรธทีก็เดือดร้อนกันหมดนะคะ  แต่บางทีเขาก็ลืมคิดกัน  ว่าใครทำใครก่อน

หลังจากทราบมาว่า  เขามักจะเผาป่าเพื่อเป็นการเร่งให้ผักหวานแตกยอดอ่อนใหม่นั้น  หนิงไม่กล้ากินผักหวานเลยค่ะ  ไม่อยากสนับสนุนการเร่งแบบนี้ค่ะพี่บู๊ท

  • น้องหนิง พี่ก็เอร็ดอร่อยกับเขาไปด้วย
  • เมื่อเข้ามารู้รายละเอียดมากขึ้นของวงจรชีวิต ความสัมพันธ์ทางระบบธรรมชาติ ก็กินไม่ลงแล้ว  (ยกเว้นผักหวานที่ปลูกเอง)
  • สิ่งที่เหลือคือ ย้อนกลับไปปลุกให้คนตื่นขึ้นมาแล้วมีส่วนรว่มในการแก้ไขสิ่งนี้
  • งานน่ะมันมีตลอดนะ น้องหนิง เหลือแต่คนทำ
  • ขอบคุณครับ
ทำอย่างไรนะชาวบ้านถึงจะตระหนักถึงวิกฤตเหล่านี้...

สวัสดีค่ะคุณบางทราย

จะคอยดู คอยเอาใจช่วย .." ระบบการจัดการผักหวานป่าโดยชุมชน " นะคะ

เมื่อเรามีระบบที่ดี เราก็สามารถกำหนดราคาพืชเศรษฐกิจตัวนี้ได้โดยคนในชุมชน..และที่นี่อาจเป็นที่แรกที่สามารถเพาะผักหวานป่าได้ก็ได้นะคะ..^ ^

ท่านบางทราย

เปลี่ยนจากกินไปขาย ธรรมชาติหายหมด

แทบทุกเรื่อง ขนาดจุดฟางเพื่อไล่หนูตัวเล็กๆพี่ไทยก็ทำมาแล้ว จอมปลวงที่เรเลี้ยงไว้ก็มาขุดเอานางพญาไปกิน ที่สวนมีคนมาแหย่ไข่มดแดงไปขายปีๆหนึ่งได้เงินเท่าๆกับขายผักหวานนั่นแหละ ผึ้งหลวงรังใหญ่ๆก็เอาไฟเผาตัวมันตายเกลื่อน

เรื่องนี้ต้องแก้ไขที่ไหน ระบบในชุมชน ระบบในโรงเรียนไม่สัมพันธ์กัน อ่อนเรื่องพวกนี้ ไปบ้าท่องสูตรเคมีอย่างเดียว ไม่เรียนให้ครบกระบวนความ มันก็ทำลายธรรมชาติมากกว่าที่จะรักษา ส่วนมากจะอนุรักษ์ด้วยป้ายประกาศ เขตนั่นเขตนี่ แล้วก็เหลือแต่ตอ เรื่องนี้เรื่องใหญ่ ยังไม่เห็นแผนสอดรับกันทางสังคม ต่างคนต่างทำกันนิดๆหน่อย มันไม่เข้าไปอยู่ในจารีตนิยมแบบสมัยก่อน ประเพณี วัฒนธรรม ถ้าเปลี่ยนไปรับของต่างด้าวมาแทนของไทยเดิม มันก็ยากจะปรับแก้ พวกเราก็นั่งตาปริบๆ ได้แต่เสียดาย นึกไม่ออกครับว่าจะทำยังงไง เรื่องพวกนี้มันถึงจะออกจากภาคทฤษฎีได้

  • สวัสดีครับคุณ ชอลิ้วเฮียง
  • เป็นคำถามสั้นๆ แต่ตอบยาวมากครับ
  • คนบางคนเมื่อเอาเหตุผลมาอธิบายกัน เข้าใจกันได้และยอมรับ จนถึงการเกิดสำนึกได้ด้วยเหตุผลนั้น
  • แต่คนหลายคนต่อให้อ้างเหตุผลร้อยแปด จนถึงแสนล้าน ก็พยักหน้าว่า เออ เข้าใจ แต่ยังเหมือนเดิมอยู่
  • มีบางคนต้องเผชิญวิกฤติก่อนจึงจะน้ำตาตก แล้วตะโกนสุดเสียงว่า เข้าใจแล้ว ยอมแล้ว ไม่เอาแล้ว เข็ดแล้ว จะทำใหม่แล้ว  ซึ่งผมก็เคยพบชาวบ้านที่เกิดสำนึกสุดๆขึ้นได้เช่นกัน
  • หากเอาเรื่องนี้ไปคุยกับนักปกครอง ท่านก็บอกว่าต้องรณรงค์ โดยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องประกาศให้ทุกคนทราบและช่วยกันหลีกเลี่ยง
  • นักป่าไม้ก็บอกว่าต้องตั้งกฏเกณฑ์ขึ้นมาแล้วเอาความผิดแก่คนที่ไปเก็บดอกผักหวานป่าหนักๆ เอาความผิดกับคนที่ไปยิง "อีเห็น"
  • นักสังคม อาจจะลงไปเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนในรอบๆด้านว่าเขาคิดอย่างไร ประพฤติอย่างไร ทำอะไรบ้าง ฯลฯ แล้วประชุมกับเขาเพื่อให้เขาร่วมการหาทางออก .....
  • นัก โน้น  นักนี่ .....นักนั่น...
  • ทุกนักมีส่วนในการแก้ไข  ทุกฝ่ายมีส่วนในการทำความเข้าใจผลเสียที่เกิด และช่วยกัน
  • อย่างไรก็ตามผู้ที่ยืดหยุ่นที่สุดในการทำความเข้าใจปัญหาและค่อยๆแกะ ร่องรอยที่เหมาะสมที่สุดในการสร้างสำนึกนี้น่าที่จะเป็นกลุ่มนักพัฒนาอิสระ และใช้เครื่องไม้เครื่องมือทุกอย่างที่คิดว่ามีประสิทธิภาพมาใช้เพื่อการสร้างความเข้าใจและปลุกสำนึกให้เห็นผลเสียมากกว่าผลได้ แล้วร่วมกันเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ในการเก็บผักหวานป่า
  • เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของทางออกครับ
  • ผมว่ามีทางออกอีกมากมายที่เพื่อนๆสามารถเสนอแนะได้ครับ
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีครับคุณ เบิร์ด
  • ผมแหย่คำถามชาวบ้าน ผู้นำ หลายคนว่า ทำอย่างไรจึงจะทำความเข้าใจและขอให้ทุกคนที่ขึ้นภูอย่าเก็บดอกผักหวานป่า  แต่เก็บในอ่อนได้? คำตอบก็คือ ไม่ได้หรอกครับ ผมไม่เอา ฉันไม่เอา คนอื่นก็เอา คนบ้านเราไม่เอา คนบ้านอื่นก็เอา....???
  • ผมตั้งคำถามต่อว่า  ในพื้นที่ป่าชุมชนของเรานั้นเราสามารถสร้างกฏเกณฑ์ขึ้นมาได้ตามความเหมาะสม เราก็เพิ่มข้อห้ามไม่ให้เก็บดอกผักหวานป่า ไม่ได้หรือ??? ผู้นำท่านนั้นกล่าวว่า น่าที่จะเป็นไปได้  แต่ในป่าสาธารณะ(ความจริงเป็นป่าสงวน ป่าอุทยานฯ) ห้ามกันไม่ได้  ไม่ได้
  • อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ามันน่าที่จะมีทางออก แต่ยังไม่ได้ปรึกษาหารือกันอย่างจริงจัง แต่อย่างใด  ซึ่งเรื่องนี้ผมก็เพิ่งเข้ามาศึกษานี่แหละครับ
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีครับท่านครูบา
  • เจ๋ง เป้ง..ต้องแก้ไขที่ไหน ระบบในชุมชน ระบบในโรงเรียนไม่สัมพันธ์กัน อ่อนเรื่องพวกนี้ ไปบ้าท่องสูตรเคมีอย่างเดียว ไม่เรียนให้ครบกระบวนความ มันก็ทำลายธรรมชาติมากกว่าที่จะรักษา
  • เราก็คุยกันมากว่า ไอ้หลักสูตรในโรงเรียนที่ไปเอาคนภาคเหนือไปเรียนเรื่องทะเล เอาคนอีสานไปชุบทองให้เป็นฝรั่ง  นี่บางจังหวัดยกระดับเขยฝรั่งเป็นวันสำคัญประจำปีไปแล้วมั๊งครับ เพี้ยนกันไปหมด คิดอะไรง่ายๆ ผิวเผิน เอาแต่ความสนุกสนาน สาระที่เป็นแก่นรากเหง้าชีวิตของเรากลับมองไม่เห็นกัน
  • พูดถึงโรงเรียนผมยังจำไม่หาย (สมเพศ ใจหาย วุ้นว้าย..) ครูเกษตรสอนลูกสาวเรื่องการตอนกิ่งไม้ แล้วให้เด็กทุกคนกลับไปตอนกิ่งมะม่วงมาทุกคนภายใน 1 สัปดาห์ เอาไปส่งครูเพื่อเอาคะแนน  สิ้นสัปดาห์เด็กทุกคนเอากิ่งตอนมะม่วงไปส่งครูได้ทุกคน   แต่ไม่ได้ทำเอง ไปซื้อมาจากร้านเกษตรที่มีอยู่เต็มเมืองขอนแก่น  รวมทั้งลูกสาวผมด้วย ไม่งั้นเธอร้องไห้  สรุปแล้วครูได้กิ่งมะม่วงกลับบ้านนับหลายสิบกิ่งไปปลูก  เด็กเอาคะแนนไป สิ้นปีผมเอาลูกผมออกจากโรงเรียนเลยครับ
  • ระบบหน่วยงานที่ทำหน้าที่เขาอยู่นั้น มันไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีหวังอะไรอีกต่อไปแล้วในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากร ก็มีแต่คนทำงานบ้าๆอย่างพวกผมและท่านๆนี่แหละมั๊ง ที่มาพร่ำ หยิบเอาปัญหานั้นมาพูด เอาเรื่องดีๆชาวบ้านที่นี่มาบอกกล่าวกัน คุยกันไปหาทางเสริมปัญญากันไป และเอาส่วนที่ทำได้ไปก่อการดีให้เกิดขึ้น  แลกเปลี่ยนประสบการกัน เอาประสบการณ์ดีๆไปปรับใช้กันมากกว่าจะมุด..อยู่ในกรอบระเบียบ ข้อบังคับที่ล้าหลัง
  • "นึกไม่ออกครับว่าจะทำยังงไง เรื่องพวกนี้มันถึงจะออกจากภาคทฤษฎีได้"  เรื่องนี้ผมว่าคนอย่างท่านแหละเหมาะที่สุด  จุดอ่อนของกลุ่มทฤษฎีคือ ข้อเท็จจริงจากสนามซึ่งท่านครูบาขลุกอยู่ในสนามนี่แหละครับ "ของจริง"  กระแทกให้แรงๆ "ของแท้แท้" อย่างอะไหล่รถยนต์นั้น มันสู้ "ของแท้" ไม่ได้หรอกครับ อย่างดีก็ถูลู่ถูกังไป ข้างๆ คูๆ คนที่สำนึกก็ยอมรับได้  คนที่ทิฐิจัด ก็อาจจะปล่อยให้ไปที่ชอบ ที่ชอบ ครับท่าน
  • ขอบคุณครับที่มาเยี่ยม

ป่าชุมชน ต.นาบอน อ.คำม่วง เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของชุมชนที่ตระหนักในวิกฤติที่เกิดขึ้นป่าของชุมชน อันเนื่องมาจากคนในชุมชนและคนภายนอกชุมชนที่เข้ามาตักตวง...ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้จนกระทั่งเกิดการคณะกรรมการอนุรักษ์ป่าชมชน และสร้างการมีส่วนร่วมของคนในตำบลในการจัดการป่าได้อย่างกว้างขวาง...จุดเด่นที่ ตำบลนาบอนสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาสได้ คือ

  • ความตระหนักในปัญหาของตัวเอง เห็นป่า อาหารป่าหายไปจนน่าตกใจ และเริ่มแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง แรกเริ่มมีอาสาสมัครเพียง 15 คน
  • มีหน่วยงานให้การสนับสนุนต่อยอดในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เช่น ศึกษาดูงานชุมชนที่ปัญหาคล้ายกันและฝ่าฟันวิกฤติมาได้ ช่วยปรับเปลี่ยนเจตคติได้ดี การศึกษาดูงานรูปแบบการจัดการป่าชุมชนอื่นเพื่อเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ เช่น พิธีบวชป่า นำมาประยุกต์เป็นผูกเสี่ยวกับต้นไม้ เป็นต้น รวมถึงการอบรมเพื่อสร้างทักษะ ความรู้อื่น ๆ ที่ชุมชนอยากเรียนรู้เพิ่มเติม
  • สร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ โดยการประชาสัมพันธ์ เช่น เวทีสัญจร  และการให้ชุมชนเสนอแนะระเบียบข้อบังคับ ว่ารับได้หรือไม่ อันไหนรับไม่ได้จะปรับอย่างไร ช่วยให้เกิดการยอมรับได้
  • จึงเกิดการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างสมดุล
  • ผมว่าการเริ่มจากการสร้างความตระหนักถึงวิกฤติหรือปัญหาสำคัญมาก อาจเริ่มด้วยการพูดคุยกับผู้นำในชุมชน ชวนพูดคุย ตั้งคำถามเพื่อให้คิด...เมื่อเกิดกลุ่มผู้สนใจแล้ว ลองพาไปดูของจริงเพื่อกระตุ้นแนวคิด...เพื่อให้ได้ย้อนกลับมาดูชุมชนของตัวเอง...ชวนคิดชวนคุยสรุปบทเรียนไปเรื่อยๆ ทั้งตัวต่อตัว ทั้งการประชุม แล้วค่อยขยายไปสู่ชุมชน ขยายไปสู่ตำบลควบคู่ไปกับการสร้างกระบวนการเรียนรู้...
  • สำคัญที่ว่ามันเป็นปัญหาของเค้าหรือเปล่า...หรือเป็นสิ่งที่เราอยากเห็นเขาทำ?
  • ถ้าสนใจศึกษาดูงานการจัดการป่าชุมชนตำบลนาบอน ยินดีประสานงานให้ครับ...เรื่องของชาวบ้าน ให้ชาวบ้านเล่าเอง จะละเอียดกว่านี้เยอะ

 

 

  • สวัสดีครับ ชอลิ้วเฮียง
  • น่าสนใจครับข้อมูลที่เล่าให้ฟัง และขอบคุณที่เสนอตัวช่วยเหลือที่จะประสานงานให้ครับ
  • ทางผมจะลองไปปรึกษากับเพื่อนร่วมงาน แต่ที่สำคัญคือ กำลังอยู่ช่วงสุดท้ายของโครงการ แต่อย่างไรก็ตามเครือข่ายยังคงทำงานต่อน่าที่จะคุยกันได้
  • ขอบคุณครับที่มีตัวอย่างดีๆมาเล่าสู่กันฟัง

ผมเป็นคนระแวกนั้นครับส่วนมากจะเป็นคนหมู่บ้านอื่นที่มาเก็บของป่าไปขาย จริงๆแล้วชาวบ้านที่นั่นเขาหาแต่พอกินคับไม่ได้หวังจะเอามากมายเพื่อไปขายเขาหาของป่าตามฤดูแต่เราก็ห้ามเขาไม่ได้หรอกคับส่วนตัวผมได่แต่บอกว่าห้ามไม่ให้พวกเขาตัดต้นผักหวานบางต้นมีขนาดใหญ่ปีนลำบากบางคนก็ใช้มีดขวานตัดต้นมันลงมาเพื่อเก็บเอายอดมันป่าธรรมชาติที่นั่นยังสมบูรณ์อยู่ครับยังมีหมูป่าเม่นอีเห็นและสัตว์อื่นๆให้เห็นอยู่คับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท