ผักหวานป่าและนวตกรรมใหม่ของพ่อแสน


..ดงหลวงมีสภาพเป็นป่ามากกว่า 90 % ของพื้นที่ และเป็นแหล่งต้นน้ำห้วยบางทราย ความอุดมสมบูรณ์ของป่ายังมีสภาพค่อนข้างดี ผักหวานป่าจึงมีขึ้นโดยทั่วไปและชาวท้องถิ่น ไทโซ่ หรือบรู รู้จักนำมาเป็นอาหารได้ดี เพราะรสชาติที่อร่อย ถูกปาก และสามารถขายได้ราคาดีมาก คนทั่วไปก็นิยมบริโภค จึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของท้องถิ่น...

1.        RDI เยี่ยมพื้นที่ดงหลวง:  ระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค. 49 RDI ทีม เดินทางเข้าพื้นที่ อ.ดงหลวงเพื่อศึกษาสภาพพื้นที่และงานที่สำคัญเพื่อทำความเข้าใจมากขึ้นในการประกอบการทำเรื่องถอดบทเรียน ซึ่งจะเดินทางไปทุกจังหวัด  ซึ่ง RDI สนใจลักษณะเด่นของพื้นที่ดงหลวงที่ว่า เป็นระบบนิเวศน์เกษตรวัฒนธรรมแบบดงหลวงและมีพืชที่สำคัญคือผักหวานป่า  ทางทีมงานดงหลวงก็จัดให้....และในวาระนี้ได้เยี่ยมแปลงเกษตรผสมผสานหลายคนดังมีสาระโดยสรุปต่อไปนี้

2.        ผักหวานป่า: เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าพื้นที่ใดมีป่าไม้ก็จะมีผักหวานป่าขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ และมีมากมายหลายพันธุ์  เช่น ใบเล็ก ใบใหญ่  ใบใหญ่มาก ใบอ้วนหนา ฯ แล้วแต่ท้องถิ่นจะเรียกตามความนิยม  บางพื้นที่ก็แบ่งเป็น ผักหวานดง ผักหวานโคก และยังมีผักหวานบ้าน ที่ดงหลวงมีสภาพเป็นป่ามากกว่า 90 % ของพื้นที่ และเป็นแหล่งต้นน้ำห้วยบางทราย ความอุดมสมบูรณ์ของป่ายังมีสภาพค่อนข้างดี  ผักหวานป่าจึงมีขึ้นโดยทั่วไปและชาวท้องถิ่น ไทโซ่ หรือบรู รู้จักนำมาเป็นอาหารได้ดี เพราะรสชาติที่อร่อย ถูกปาก และสามารถขายได้ราคาดีมาก คนทั่วไปก็นิยมบริโภค จึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของท้องถิ่น ที่ชาวบ้านทุกหมู่บ้านมักจะเดินขึ้นป่าพร้อมตะกร้าเก็บยอดผักหวานมาบริโภคและขายทั้งในหมู่บ้าน ท้องถิ่น และมีพ่อค้าคนกลางสั่งซื้อเพื่อนำไปขายต่อในเมืองตลอดมาทุกปี  จนปัจจุบันผักหวานป่าลดปริมาณลงอย่างมากเพราะความนิยม และเป็นพืชเศรษฐกิจดังกล่าวการนิยมเก็บมาขายเอาเงินจึงมีส่วนสำคัญในการทำให้ปริมาณลดลง เมื่อสังคมทุนนิยมบริโภคเข้ามา เมื่อสังคมดงหลวงเป็นสังคมเปิด

3.        พ่อใจ เชื้อคำฮด: ในพื้นที่งานสูบน้ำเพื่อการชลประทานห้วยบางทรายในอดีตส่วนใหญ่เกษตรกรบ้านพังแดงใช้ทำนาในฤดูฝนสำหรับที่ลุ่ม ส่วนที่ดอนก็ทำไร่มันสำปะหลัง ต่อมาก็มีคนนำยางพารามาเริ่มปลูกตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดและราคาน้ำยางที่เป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญ  ในขณะที่เจ้าหน้าที่โครงการเร่งทำการส่งเสริมการปลูก พืชแบบมีสัญญา (contract farming) โดยใช้ระบบน้ำจากโครงการสูบน้ำเพื่อการชลประทานห้วยบางทราย  แต่มีเกษตรกรรายหนึ่งทำสวนเกษตรผสมผสานมาหลายปีจนเกิดผลจนเจ้าของภูมิอกภูมิใจมาก  แม้ว่าบางขณะจะเกิดปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำแต่ก็ดิ้นรนจนได้อุปกรณ์นำน้ำเข้าแปลงมาจนได้  ยิ่งทำให้สวนเกษตรผสมผสานของเกษตรกรคนนี้ก้าวหน้ามากขึ้น  ปัจจุบันในสวนมีพืชมากกว่า 60 ชนิด รวมทั้งผักหวานโคกและผักหวานป่าด้วย และกำลังขยายจำนวนมากขึ้นเมื่อพบว่าพืชนี้ทำรายได้ดี  จุดเด่นของนายใจคือ หวายที่ปลูกสลับมะขามและพืชสวนอื่นๆ นายใจเป็นผู้หนึ่งที่ใช้ระบบชลประทานจุลภาคที่ให้ประโยชน์สูงสุด 

4.        พ่อบัวไล วงษ์กะโซ่: หรือสหายธีระ  หมอธีระ พ่อธีระ แห่งบ้านโพนสว่าง ผู้นำผู้มีความเบิกบานตลอดเวลาพาคณะชมแปลงผักหวานป่าจนค่ำมืด หมอธีระผู้มีประสบการณ์การเป็นหมอในป่ามาก่อน เคยผ่าตัดโรคภัยไข้เจ็บสหายในป่ามาก่อนอาศัยความรู้นี้มา ผ่าตัดต้นผักหวาน ในรูปของการตอนกิ่งผักหวานเทคนิคนี้ทำมานานแล้ว เพียงเพิ่งประกาศในคราวประชุมเปิดตัวเครือข่ายไทบรูครั้งที่ 1 ที่บ้านโพนแดง ต.ดงหลวงในปี พ.ศ. 2546/2547 ถือว่าเป็นแห่งแรกที่ใช้เทคนิคการขยายพันธุ์ผักหวานป่าด้วยวิธีนี้  ก่อนหน้านี้รู้เพียงว่า  ใช้เมล็ดผักหวานป่าขยายพันธุ์  และเป็นพืชที่เอาใจยาก ความสำเร็จในการขยายพันธุ์จึงมีน้อยเมื่อเทียบกับพืชป่าชนิดอื่นๆ พ่อบัวไลกล่าวไว้เมื่อปี 47 ว่าทดลองการขยายผักหวานป่ามาหลายแบบ ไม่ว่าเพาะเมล็ด เอากล้ามาจากในป่า  เอารากผักหวานป่ามาปลูก  แต่วิธีที่ชอบที่สุดคือการตอนกิ่ง  ซึ่งเป็นความถนัดเฉพาะตน

5.        พ่อแสน วงษ์กะโซ่: ในวงการไทบรูเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าพ่อแสนคือเซียนเกษตรผสมผสานท่านหนึ่ง และเป็นสถานที่ศึกษาดูงานมาหลายครั้ง  เป็นสถานที่ฝึกอบรม และเป็นกรณีศึกษามาตลอด  แม้ว่าที่ดินของพ่อแสนจะอยู่นอกกรอบโครงการ คฟป. เพราะที่ดินไม่ใช่ ส.ป.ก. 4-01 ซึ่งเงื่อนไขนี้พ่อแสนจึงไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการ  แต่พ่อแสนก็เป็นหลักและตัวอย่างที่ยอมรับกันในเรื่อง เกษตรผสมผสาน และ การเอาป่ามาไว้ในสวนซึ่งเป็นแนวคิดของเครือข่ายใหญ่อินแปง  พ่อแสนเป็นคนยิ้มง่าย ใจดี และเรียบง่ายเหมือนๆกับผู้นำไทบรูทุกคน กำลังสำคัญในการทำกิจกรรมการเกษตร คือแม่บ้านของพ่อแสนที่เกือบจะเป็นแรงงานหลักในการทำกิจกรรมในสวนเกษตรผสมผสานในปัจจุบัน ก่อนที่พ่อแสนจะออกไปทำ กิจกรรมสวนป่า ในที่ดินอีกแห่งหนึ่งตามหลักการที่ในเครือข่ายไทบรูส่งเสริมให้สมาชิกเครือข่ายทำกิจกรรมนี้กัน  ผักหวานของพ่อแสนก็น่าชื่นชม เพราะมีต้นสูงใหญ่  ได้กินได้ขาย และได้เมล็ดมาทำพันธุ์ด้วย...  แต่สิ่งที่เป็นสุดยอดของพ่อแสนคือ เล้าหมูเคลื่อนที่พ่อแสนซื้อหมูป่ามาคู่หนึ่งตั้งแต่ยังเล็กๆเลี้ยงจนใหญ่และได้เพิ่มมาอีก 1 ตัวเป็นสามตัว จะเลี้ยงอย่างไรในสวนที่กว้างขวางถึงจะสะดวกและเกิดประโยชน์สูงสุด  ความที่พ่อแสนเป็นคนเรียบง่ายและช่างคิดช่างตั้งประเด็นและสร้างสรรค์  แล้วก็เกิดความคิดขึ้นมาว่าทำไมไม่ทำเล้าหมูแบบเคลื่อนที่  จะได้ยกเล้าหมูไปได้รอบๆสวนตามที่เราต้องการ  โดยไม่ต้องไปสร้างคอกสร้างเล้าใหม่  สถานที่ที่ย้ายเล้าไปก็เรียบเตียนโล่งเพราะหมูมันใช้จมูกดุนผิวดินใหม่ทำให้หญ้าที่ขึ้นรกสูงเรียบเตียนโล่งไปด้วยแรงงานหมูป่าสามตัวนั่นเอง  คนไม่ต้องเสียแรงงานไปดายหญ้า เพียงย้ายคอกมันไปตามที่ต้องการเท่านั้น  พ่อแสนกล่าวว่า..หมูมันก็ชอบสถานที่ใหม่ๆ...มันได้ดุนดินใหม่ๆ   นับว่าเป็นนวัตกรรมที่วิศวกรหรือสัตวแพทย์จากที่ไหนๆก็คิดไม่ถึง  แต่คนรากหญ้า รากแก้ว  คิดออก.. ไม่เพียงเท่านี้ ความที่พ่อแสนเป็นนักคิด พ่อยังค้นพบยอดปุ๋ยอินทรีย์ใหม่จากปัญหาประจำวัน  อาจจะเรียกว่า  พิจารณาปัญหาจนเกิดโอกาสกล่าวคือ  ยามนอนจะพบว่ามีค้างคาวบินเข้ามาในห้องนอนในสวนแล้วแขวนตัวเองตรงขื่อ อกไก่หลังคาบ้านพร้อมกับ ฉี่ และถ่ายมูลออกมา ทำให้เป็นที่รำคาญและส่งกลิ่นเหม็นเพดาลมุ้งนอนยิ่งนัก  เคยฉายไฟส่องดูก็เห็นเป็นค้างคาวตัวเล็กๆแล้วมันก็บินหนีไป  เมื่อดับไฟฉายสักพักมันก็บินเข้ามาใหม่ เป็นเช่นนี้ตลอด  พ่อแสนกล่าวว่าเคยไล่ตีมันตกมาตายตัวหนึ่ง  แต่คงเป็นบังเอิญมากกว่า  เมื่อเกิดปัญหา  พ่อก็แก้ปัญหาโดยเอาพลาสติกผืนใหญ่มากางอยู่บนมุ้ง ใต้อกไก่ หรือขื่อบ้าน เพื่อรองมูลค้างคาวที่มันถ่ายเป็นประจำนั้น และ ฉี่ของมันด้วย  เมื่อวันคืนผ่านไป  พ่อแสนพบว่าพลาสติกที่ไปขึงกางนั้นได้ผล มีกองวัสดุตกอยู่กลางพลาสติกนั้น วันหนึ่งพ่อแสนก็เอาออกมาดูเพื่อจะเอาไปทิ้ง  แต่พบว่ามีมูลค้างคาวกองอยู่พอประมาณ และที่มากกว่านั้นคือ ปีกผีเสื้อ  ปีกตั๊กแตน  ตกปนอยู่กับมูลค้างคาว  พ่อแสนพูดให้เราฟัง เราเดาออกว่าพ่อแสนตื่นเต้นเหมือนค้นพบสิ่งสำคัญบางอย่าง.... ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ คือ พ่อแสนกล่าวว่า มูลค้างคาวที่เรารำคาญนี้คือปุ๋ยชั้นเลิศที่เราไม่ต้องปีนป่ายไปหาบนภูเขา  มันเอามาให้ถึงบ้าน  และดูเจ้าปีกผีเสื้อ ปีกตั๊กแตนนี่ซิ  มันคือศัตรูต้นไม้ของเรา  เจ้าค้างคาวมันไปจับศัตรูพืชของเรามาจากสวนเราแล้วคาบมากินบนในหลังคาเรา แล้วถ่ายมูลเป็นปุ๋ยให้เรา....นี่คือสิ่งวิเศษเราได้ประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่อง  ความจริงผู้เขียนเคยประสบปัญหานี้เช่นเดียวกันที่บ้านเกิด  แต่ไม่เคยคิดถึงมุมมองนี้เลย สุดยอดจริงๆพ่อแสน...   ความจริงพ่อแสนทดลอง และค้นพบ พิสูจน์อะไรอีกหลายอย่าง  เช่น เป็นผู้นำคนแรกที่เลี้ยงเขียดตะปาดในอ่างน้ำในสวน แล้วมันก็ไปหากินในสวน เมื่อมีสัตว์เช่นนี้วงจรห่วงโซ่อาหารก็เกิดขึ้น พบว่าดินสวนพ่อแสนอุดมมาก  เป็นคนแรกที่คิดใช้ประโยชน์จอมปลวกที่ตัวปลวกหนีไปทำใหม่แล้วให้เป็น รังตัวต่อเพื่อคนจะได้กินตัวอ่อนตัวต่ออีกที  และพ่อแสนพิสูจน์ว่ารากผักหวานก็สามารถขยายพันธุ์ได้ โดยการตัดรากต้นผักหวานที่ชอนไชไปใต้ดินเที่ยวหาอาหารห่างออกไปจากลำต้นแม่  ก็เอาจอบมาขุดแล้วตัดรากออกจากต้นแม่ให้ขาดจากกัน  โดยไม่ต้องเอาส่วนปลายไปปลูกใหม่  แต่ทิ้งไว้เช่นนั้น  รากส่วนปลายที่ถูกตัดออกจากต้นแม่นั้นจะงอกเป็นต้นผักหวานเพิ่มขึ้นใหม่ .... การจัดงานไทบรูปี 2550 ผู้เขียนจะเสนอโครงการควรจะพิจารณาให้รางวัลนักประดิษฐ์ชาวบ้านผู้เสริมสร้างนวัตกรรมรากหญ้าของเกษตรผสมผสาน   แก่พ่อแสน วงษ์กะโซ่..... กล่าวได้ว่าระบบนิเวศน์เกษตรวัฒนธรรมแบบดงหลวง นอกจากพืชหลักคือ ข้าวนาปี พืชไร่ต่างๆแล้ว และพืชสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ ผักหวานป่า

 

หมายเลขบันทึก: 72659เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2007 23:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 11:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

อ. ค่ะ ในฐานะที่ร่วมทำงานกับพ่อ แสน

อ. ช่วยวิเคราะห์ ให้ทราบหน่อยได้มั้ยค่ะ ว่า ทำไม พ่อแสนจึงเป็นนักคิด

ทำไมพ่อแสน จึงสามารถคิด และทำอะไรได้แตกต่างจากเกษตรกรท่านอื่นๆ

การที่คนเรา คิด และไฝ่รู้ (personal mastery ) มันน่าจะมีสาเหตุ หรือจุดที่แตกต่าง หรือมีที่มาที่ไป และพ่อแสน มีแก่น (core)ในการสร้างการเรียนรู้ของตนเองอย่างไร

และวิธีการเรียนรู้ ความโดดเด่นเหล่านี้ เราจะสามารถนำเอาไปสอน หรือ สร้างเกษตรกรท่านอื่นๆ ได้อย่างไร

อ. ลองคิดดูสิว่า ถ้าหากเราสามารถสอนให้เกษตรกร คิด หรือ ทำอะไรได้คล้ายคลึง พ่อแสน ต่อไปเกษตรกรไทยจะก้าวหน้ามากไปแค่ใหน

ขอบพระคุณ อ. มากค่ะ

 

  • ที่ภาคอีสานมีภูมิปัญญาอยู่มาก
  • ว่าจะแวะไปเยี่ยมครูบาสุทธินันท์เหมือนกันครับ
  • ขอบคุณครับ
คุณขจิตครับ... ท่านครูบาสุทธินันท์น่าที่จะได้รับสมญานาม "สุดยอดภูมิปัญญาพื้นบ้าน" ท่านยังทันสมัยในการรู้จักใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่เป็นเครื่องมือให้การศึกษาคนอีกด้วย สุดยอด สุดยอด
..เหว่า..เป็นคำถามที่สมกับเรียนดุษฎีบัณฑิต....ทำไม พ่อแสนจึงเป็นนักคิด สามารถคิด และทำอะไรได้แตกต่างจากเกษตรกรท่านอื่นๆ การที่คนเรา คิด และไฝ่รู้ (personal mastery ) มันน่าจะมีสาเหตุ หรือจุดที่แตกต่าง หรือมีที่มาที่ไป และพ่อแสน มีแก่น (core)ในการสร้างการเรียนรู้ของตนเองอย่างไร...  ·         ต้องยอมรับก่อนว่าคนเรามีความแตกต่างกันด้วยพื้นฐานต่างๆตั้งแต่ Gene ลักษณะเผ่าพันธุ์  เบ้าหลอมชีวิตในครอบครัว เบ้าหลอมชีวิตในสถานการศึกษา จนกระทั่งสังคมใหญ่ ที่หล่อหลอมให้เราเป็นเราเป็นท่าน ต่างเป็นปัจจัยให้กันและกันจนกล่าวว่ามีปัจจัยเพียงใดปัจจัยหนึ่งทำให้คนนั้นเป็นอย่างนั้นหรือที่เรียกว่า แยกส่วน ไม่ได้ ต่างมีส่วนแต่มากน้อยต่างกัน เป็นหลักเป็นรองต่างกัน ช่วงเวลาและสถานที่ต่างกัน มีแต่ว่าแรงขับใด(drive) ส่งผลมากกว่ากันในทางระบบคิด การปฏิบัติและรวมไปถึงพฤติกรรมอื่นๆด้วย..·         กรณีพ่อแสน วงษ์กระโซ่ ซึ่งเป็นชนเผ่าไทโซ่ หรือบรู ที่ดงหลวงนั้นก็ต่างจาก บรูดงหลวงคนอื่นๆ แต่ทั้งหมดจะมีเบ้าหลอมร่วมกันคือ การร่วมในพัฒนาประวัติศาสตร์ดงหลวงเหมือนกัน(ดูเรื่องเล่าจากดงหลวงเรื่องที่ 19)  อยู่ในระบบนิเวศน์เกษตรวัฒนธรรมเดียวกัน และอื่นๆ ซึ่งวิเคราะห์ว่าปัจจัยต่างๆต่อไปนี้น่าที่จะมีส่วนสำคัญทำให้เกิดลักษณะดังคำถาม (และมีน้ำหนักมากกว่ากระแสสังคมใหญ่ที่พ่อแสนปลีกวิเวกไปอยู่ในสวน) คือ

ลักษณะเผ่าพันธุ์ไทโซ่ มีวิถีชีวิตขึ้นต่อธรรมชาติของภูเขา คล้ายชาวเขาในภาคเหนือ

                                วิถีชีวิตของพ่อแสน วงษ์กระโซ่ (และผู้นำอีกหลายคน)·    มีชีวิตอย่างสันโดษ อยู่กับเรื่องของต้นไม้ สวน พืช ผัก สัตว์จากธรรมชาติและป่า ·    จึงสนใจพัฒนาความอยู่รอดของครอบครัวด้วยอาศัยธรรมชาติรอบข้างที่คลุกคลีมาตลอดชีวิต ·    แรงกระตุ้นที่สำคัญมาจากการเข้าร่วมงานพัฒนา แนวทางอยู่รอดของอินแปงและโครงการซึ่งมีหลักการที่ไปย้ำวิถีชีวิตที่มีอยู่แล้วว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว จึงมุ่งสร้างสรรค์จากสิ่งรอบตัว
ในช่วงการพัฒนาภายใต้โครงการ คฟป. ได้รับอิทธิพลความคิดของอินแปง และของโครงการที่เน้นระบบการพึ่งตนเองแบบพอเพียง
การที่ตกอยู่ในการปกครองของ พคท.มากกว่า 10 ปี อุดมการณ์ของ พคท.ซึมซับมาไม่มากก็น้อยในเรื่องเกี่ยวกับการต่อต้านลัทธิทุนนิยมเสรี
ที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ในพื้นที่ระหว่างภูเขา เทือกเขา มีพื้นที่ถือครองน้อย ผลผลิตข้างไม่พอกิน ต้องอาศัยป่า บังคับให้ต้องคิดต่อสู่ธรรมชาติเพื่อเอาตัวรอด
ที่บ้านพักในสวนไม่มีไฟฟ้า พ่อแสนไม่ยุ่งใดๆเลยเกี่ยวกับการเมือง การปกครอง ตำแหน่งต่างๆในสังคม สนใจสร้างครอบครัวให้มั่นคง
        
….และวิธีการเรียนรู้ ความโดดเด่นเหล่านี้ เราจะสามารถนำเอาไปสอน หรือ สร้างเกษตรกรท่านอื่นๆ ได้อย่างไร….

·       การคลุกคลีกับกระบวนการพัฒนาคนชนบทมา ตอบได้ว่าการเรียนรู้และความสำเร็จของการนำความรู้ไปใช้นั้นเป็นเรื่องเฉพาะคนเท่านั้น  เราสามารถวัดความรู้ของคนได้ว่าหลังกระบวนการเรียนรู้แล้วแต่ละคนรับรู้ไปเท่าใด..ทำไม่ยาก มีกรรมวิธีมากมายที่จะวัด แต่การจะนำความรู้นั้นๆไปปฏิบัติใช้ที่ซิ ไม่มีใครระบุได้เลยว่าจะเอาไปทำได้ซักกี่คน เอาความรู้กี่ส่วนที่ได้ไปใช้ อย่าว่าแต่ชาวบ้านเลย เรา เรา ท่านท่านๆก็เหมียนกันแหละ ลองเหลียวมองเพื่อนรอบข้างเราซี มีตัวอย่างเยอะไป

·       เราสรุปร่วมกันว่า เราไม่มีทางที่จะสร้างคนอย่างพ่อแสนจำนวนร้อยจำนวนพันขึ้นมาได้(ทั้งๆที่อยากจะเนรมิตใจแทบขาด..นะ) ในเพียงกระบวนการเดียว หรืออีกที คือ เราไม่สามารถสร้างคนที่มีคุณภาพในเชิงปริมาณได้ ใน Learning process เดียว แต่ขอให้มีแก่นแกนผู้นำที่เหมือนพ่อแสนขึ้นมาบ้างสัก 5 คน 10 คนก็เยี่ยมยอด มากแล้ว และสร้างกระบวนการแพร่ขยายแบบค่อยเป็นค่อยไปซึ่งอาจจะกลายเป็นปริมาณมากขึ้นในอนาคตอย่างหลักการ Critical mass ที่เราเรียนรู้มาในหลักการทางมานุษยวิทยา แม้เป็นเรื่องยากมากๆ เพราะเรื่องของครอบครัวที่ลงตัวทางการดำรงเศรษฐกิจพอเพียงและดำเนินชีวิตอย่างพ่อแสนนั้น เงื่อนไขของครอบครัวอื่นๆไม่เหมือนกัน มันไม่ลงตัวอย่างพ่อแสน มักจะขาดโน่น จำเป็นต้องทำนี่ ไม่มีสิ่งนั้น สิ่งที่มีไม่เหมาะ....สารพัดเงื่อนไข  ดังนั้นองค์ประกอบของพ่อแสนจึงเป็นแบบพ่อแสน ส่วนคนอื่นในหลักการเดียวกันจะลงตัวในรูปแบบอื่นๆที่อาจจะไม่เหมือนกันบ้าง และอาจจะมีในส่วนที่พ่อแสนไม่มีก็ได้

·       ดังนั้นเมื่อคนเรามีความแตกต่างในด้านเงื่อนไข ปัจจัย สิ่งสำคัญของกระบวนการเรียนรู้คือ เราต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ในหลักการ แล้วให้นำหลักการไปสร้างสรรค์เอาเองในทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับปัจจัย เงื่อนไขของแต่ละคน แต่ละครอบครัว แต่ละชุมชน ที่เรามักได้ยินครูบอกเราว่า ให้เอาเยี่ยง แต่ไม่ควรเอาอย่าง

·       มีประสบการณ์กระบวนการเรียนรู้ที่น่าสนใจ คือ สมัยที่ทำงานกับโครงการไทย-ออสเตรเลีย เรื่องการพัฒนาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในภาคอีสาน ซึ่งร่วมกับสภาพัฒน์ กรมอนามัย รพช. กรมโยธาธิการ กรมการปกครอง และศูนย์ฝึกอบรมของ กพ. มีผู้เชี่ยวชาญด้านฝึกอบรมจากออสเตรเลียมาประจำคนหนึ่ง เราได้คุยกันถึงกระบวนการฝึกอบรมในประเทศไทยโดยภาพรวม โดยเฉพาะทางระบบราชการมักจะเป็นดังนี้  สร้างหลักสูตรที่น่าสนใจแล้วก็ควานหาคนที่เหมาะสมให้เข้ามาฝึกอบรมหรือที่เรียกว่าเกณฑ์มาเข้าอบรม...เมื่อเกณฑ์มาเข้าอบรมและกลับไปเขียนรายงานให้เจ้านายทราบ  แล้วก็จบ... บางหลักสูตรดีมากๆว่าจะต้องปรับปรุงพัฒนาสิ่งโน้นสิ่งนี้จึงจะทำให้มีประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น  แต่เมื่อจบไปแล้ว นายไม่เข้าใจเพราะไม่ได้เข้าอบรมด้วย..ก็จบอีก ผู้เชี่ยวชาญฝรั่งท่านนั้นกำหนดใหม่ว่า หลักสูตรต่อไปนี้ไม่ต้องเกณฑ์ใครมา แต่จะส่งรายละเอียดไปแล้วถ้าสนใจและมีเงื่อนไขที่เหมาะสมก็สมัครเข้ามาเรียน  เมื่อมาเรียนจบแล้วผู้กำหนดหลักสูตรยังสรุปสาระเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหัวหน้างานขึ้นมาเป็นเอกสารส่งตรงไปถึงหัวหน้างานว่าหากต้องการพัฒนางานแล้วลูกน้องท่านสนใจจะปรับปรุงระบบ หรือวิธีการทำงาน ท่านควรพิจารณาสนับสนุนในสิ่งต่อไปนี้..... ในทำนองเดียวกันกระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้านโดยราชการก็ไม่ต่างกันกับรูปแบบดังกล่าวที่เป็นไทย ไทย.. ทั้งนี้เพราะเงื่อนไขระเบียบราชการ   มีหน่วยงานของราชการไทยที่เอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้มากกว่าที่กล่าวมาแล้วก็คือ ระบบในวิทยาลัยชุมชน และ กศน. ที่บอกว่า หากชาวบ้านสนใจอะไรก็รวมตัวกันเข้าแล้วทางวิทยาลัยจะหาผู้รู้ไปแนะนำให้ พี่ว่านี่แหละหลักการ Child center มากกว่าที่เขาพูดๆกันมากกว่า

·       ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้ที่น่าสนใจคือมีตัวอย่างแบบพ่อแสน แล้วสนับสนุนคนที่สนใจ(เท่านั้น) เท่านั้นไปกินอยู่หลับนอนเป็นเวลานานพอสมควรกับพ่อแสน แล้วให้พ่อแสนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตตนเองให้ฟัง ทำงานร่วมกัน คุยกันไป แลกเปลี่ยนกันไป จริงๆแล้วเหมือนสมัยโบราณที่จะเรียนรู้อะไรก็ไปสมัครเป็นศิษย์แล้วไปรับใช้ทุกอย่างกับอาจารย์เพื่อให้อาจารย์อบรมสั่งสอนในทุกขณะการใช้ชีวิตที่นั่นสมัยกรีกเรียกว่า Pedagogism... นอกจากลักษณะกระบวนการ ปัญหาและเงื่อนไขแล้ว องค์กรที่มีองค์ประกอบจะสามารถทำกระบวนการได้ดีทีสุดคือ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ยืดหยุ่นมากที่สุด และมีโอกาสประสบผลสำเร็จมากที่สุด..ฟันธง..โช้ะ....

เหว่า.. พี่ตอบใน word แล้ว copy file มา ปรากฏว่า ข้อมูลบางส่วนหลุดไป ไม่ได้มาด้วย พี่สะส่งไปทาง mail ก็แล้วกันนะ

 

ขอบพระคุณ อ. มากนะคะ

เหว่าขออนุญาต สำเนาเก็บไว้ เป็นhard copy นะคะ

ขอบพระคุณอีกครั้งนะคะ เหว่า มีอะไรๆ จะมาร่วมแลกเปลี่ยนอีกมากคะ ขอความกรุณาด้วย ช่วยเปิดปัญญาให้หนูด้วย

เรียนพี่คนสี่ภาคครับ

  • ผักหวานป่า เป็นผักที่ผมโปรดปรานมากครับ และกระซิบให้ฟังเบาๆ ว่า ผมแกงผักหวานใส่ไข่มดแดง อร่อยอย่าบอกใคร ขนาดภรรยาของผมเป็นคนใต้ยังต้องซื้อผักหวานมาให้ผมแกงให้กินเลย แถมยังตักแบ่งไปให้ญาติพี่น้องที่ "หวังเหวิด" ด้วย
  • หนึ่งปีได้กินหนนึง เคยบ่นว่าทำไมขายแพงจัง พอได้เข้าป่า ขึ้นเขาไปเก็บด้วยตนเอง จึงรู้ว่ากว่าจะได้มาแต่ละยอดนั้น ลำบากยากเย็นเสียนี่กระไร
  • อย่ากระนั้นเลย มีเรื่องราวของ การปลูกผักหวานด้วยเมล็ด มาแลกเปลี่นครับ ลองคลิกไปดูครับ

สวัสดีครับ P 7. หมอเล็ก

  • ผักหวานป่า เป็นผักที่ผมโปรดปรานมากครับ และกระซิบให้ฟังเบาๆ ว่า ผมแกงผักหวานใส่ไข่มดแดง อร่อยอย่าบอกใคร ขนาดภรรยาของผมเป็นคนใต้ยังต้องซื้อผักหวานมาให้ผมแกงให้กินเลย แถมยังตักแบ่งไปให้ญาติพี่น้องที่ "หวังเหวิด" ด้วย

หน้านี้ผักหวานป่าออกแล้วคนที่บ้านหมอเล็กคงได้อร่อยอีกแล้วนะครับ เสียดายผมเป็นพวกมังสวิรัติครับ ไม่งั้นจะเอาผักหวานป่าดงหลวงมาให้แกงลองชิมสักหน่อยคนรับ

  • หนึ่งปีได้กินหนนึง เคยบ่นว่าทำไมขายแพงจัง พอได้เข้าป่า ขึ้นเขาไปเก็บด้วยตนเอง จึงรู้ว่ากว่าจะได้มาแต่ละยอดนั้น ลำบากยากเย็นเสียนี่กระไร

ผมว่าเป็นพืชป่าเศรษฐกิจไปนานแล้ว  ผมเสียดายที่ของป่ากำลังสูญเพราะชาวบ้านเก็บดอกมาหมด ไม่ทิ้งไว้ให้ออกเมล็ดเลย อีกไม่กี่ปีก็หมดป่าแล้วครับ ผมพยายามจะรณรงค์เรื่องนี้อยู่ครับ

ขอบคุณครับที่เอาข้อมูลมาแลกเปลี่ยน ผมจะเอาไปให้ชาวบ้านศึกษาต่อครับ

ขอบคุณมากครับ  สักวันคงพบกันนะครับ

ผักหวานนี่ของชอบค่ะ อร่อยมากๆ ที่เมืองกาญจน์มีมากค่ะ เป็นของขึ้นชื่อเลย

ช่วงนี้ผมกินผักหวานแทบทุกวันครับ

คุณหมอครับ วันนี้ผมก็เอามาจากดงหลวง ชอบผัดผักหวานป่าครับ ชอบมาก อิอิ

ที่ดงหลวงฝนเริ่มตกแล้วครับ ชาวบ้านเริ่มขยับเรื่องทำนาทำสวนครับ บางวันร้อนมากๆ เคยขึ้นถึง 42 องศาเลยครับ อกจะแตก

ผมเข้าไปโหวตแล้วครับ ชอบจัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท