dararat
ดร. ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

จำนวน คือ นามธรรมสำหรับเด็กปฐมวัย


จำนวน กับการเรียนการสอนเด็กปฐมวัย

จำนวน คือ นามธรรมสำหรับเด็กปฐมวัย

                เด็กปฐมวัยเป็นวัยเริ่มต้นของการเรียนรู้ ธรรมชาติของเด็กวัยนี้ คือ มีความอยากรู้อยากเห็น ช่างสังเกต ชอบสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว จำนวนสำหรับเด็กปฐมวัย คือ สิ่งที่เป็นนามธรรม การจะให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องจำนวนเป็นสิ่งที่ยากกว่าการนับเลข การนับเลขเป็นเรื่องง่ายและคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเมื่อเด็กนับเลขได้เด็กเกิดการเรียนรู้คณิตศาสตร์แล้ว แต่จริง ๆ นั้นการนับเลขเป็นการจำ เด็กยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องจำนวนที่นับ เพราะจำนวนเป็นนามธรรม เด็กไม่เข้าใจหน้าตาว่า สอง สาม สี่ มีหน้าตาเป็นอย่างไร ถ้าเราให้เด็กได้จับต้องสิ่งของหรือวัตถุต่าง ๆ เช่น ตุ๊กตา 2 ตัว รถ 3 คัน ไม้บรรทัด 1 อัน ฯลฯ เด็กจะเห็นเป็นรูปธรรมและสามารถจับต้องได้ เด็กได้สัมผัสด้วยประสาทสัมผัสของเด็กเองการเรียนรู้ของเด็กนั้น เด็กเรียนรู้จากการกระทำและของจริง

                ถ้าผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูหากจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทางคณิตศาสตร์อยู่เป็นประจำ เด็กจะได้รับการพัฒนาและเตรียมพร้อมต่อการเรียนคณิตศาสตร์ สำหรับทางบ้านขณะเล่นกับเด็ก ๆ สามารถใช้ของจริงในการให้เด็กเรียนรู้คณิตศาสตร์ เช่น แบ่งไม้บล็อกเป็นกลุ่มสี และแต่ละกลุ่มสีให้นับจำนวนของไม้บล็อก หรือเอาสิ่งของประเภทต่าง ๆ มารวมกัน ให้เด็กแยกประเภทของสิ่งของแล้วนับจำนวนประเภทของสิ่งของที่แยกออกมาเป็นประเภทต่าง ๆ ว่ามีจำนวนเท่าไร เป็นต้น การสอนคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยต้องเริ่มจากสิ่งที่เห็นหรือของจริง แล้วให้เด็กได้มีกิจกรรมการกระทำซึ่งได้สัมผัสด้วยประสาทสัมผัสของเด็ก

                การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัยและจะต้องเริ่มในแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสม ไม่ใช่ใช้วิธีเก่า ๆ ซึ่งผู้ใหญ่เคยมีประสบการณ์แล้วนำมาสอนคณิตศาสตร์ให้กับเด็กเล็ก ๆ เช่น นับเลขแบบไม่มีความหมาย  ทำแบบฝึกที่เป็นนามธรรม เป็นต้น

                การจัดการประสบการณ์การเรียนเรียนรู้คณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย อย่างเช่น การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง มุ่งให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงจากการปฏิบัติโดยใช้สื่อของจริง และสื่อรูปภาพ ใช้การสังเกต การเปรียบเทียบ การจัดกลุ่ม การจำแนก การคาดคะเน การตั้งข้อคาดเดาหรือการตั้งสมมุติฐาน การตั้งคำถาม การอภิปราย การให้เหตุผล การใช้เครื่องมือ การบันทึก การสรุป ซึ่งการเรียนรู้จากรูปแบบเหล่านี้เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กมีอิสระในการคิด วิเคราะห์ แม้ว่าจะใช้เวลาค่อนข้างมาก แต่เด็กจะได้ประโยชน์จารการเรียนรู้ด้วยตนเองมากกว่าการเรียนรู้ด้วยการบอกเล่าหรือการสรุปของครูผู้สอน

                ดังนั้น ถ้าจะให้เด็กไทยเก่งคณิตศาสตร์จะต้องช่วยกันเริ่มส่งเสริมตามหลักการที่ถูกต้องและพัฒนาการของเด็กเพราะคณิตศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาความคิดของมนุษย์เรา ทำให้มนุษย์มีความคิดอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ มีแบบแผน ส่งผลต่อการพัฒนาความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์และความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง ช่วยในการคาดการการวางแผนในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และที่สำคัญคณิตศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเป็นพื้นฐานในการศึกษาวิชาต่าง ๆ ของมนุษย์

หมายเลขบันทึก: 464435เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2011 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท