ข้อเสนอการปฏิรูประบบวิจัยของประเทศ


 

          วันที่ ๑๒ ก.ค. ๕๔ สถาบันคลังสมอง และ วช. จัดการประชุมสาธารณะ "ประชุมวิจารณ์ข้อเสนอปฏิรูประบบวิจัยของประเทศ ครั้งที่ ๑" ผมไปนั่งฟังตลอดบ่าย ฟังแล้วได้ความรู้มาก โดยเฉพาะด้านวิธีคิด หรือการคิดอย่างเป็นระบบ

 

          กรอบการทำงานมองการจัดการระบบวิจัย ๙ มิติ ได้แก่ (๑) นโยบายและยุทธศาสตร์ (๒) องค์กรสนับสนุนทุน (๓) งบประมาณ (๔) หน่วยทำวิจัย (๕) บุคลากร (๖) โครงสร้างพื้นฐาน (๗) มาตรฐาน (๘) การจัดการผลผลิต (๙) การประเมิน

          และแบ่งงานวิจัยออกเป็น ๔ track ตามเป้าประสงค์ของงานวิจัย ได้แก่ Track 1 เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ Track 2 เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ Track 3 เพื่อเสริมสร้างพลังสังคมและชุมชน และ Track 4 เพื่อนโยบาย

          ฟังแล้วผมได้ความรู้ หรือได้คำ impact-led research system โดยมองเงินและทรัพยากรอื่นๆ ที่ใช้ในการวิจัยเป็นการลงทุน เป็น investment ไม่ใช่ expense จึงต้องมีการจัดการการลงทุนนี้ ให้ได้ impact ต่อบ้านเมืองตามเป้าหมายของการลงทุนนั้น โดยต้องมีความพอดีหรือดุลยภาพระหว่าง bureaucrat cum researchers – driven กับ market – driven research หรือใช้สัดส่วน 1 : 2

           ในทุกสถานที่ที่คุยกันเรื่องระบบวิจัย จะมีคนบอกว่าระบบค่าตอบแทนนักวิชาการที่มีอยู่จริงในปัจจุบัน ไม่เอื้อต่อการทำงานวิจัย เพราะงานสอน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสอนหลักสูตรพิเศษ หรือนอกที่ตั้ง) ให้ค่าตอบแทนสูงกว่าหลายเท่า และเป็นงานที่ง่ายกว่า  ประเด็นค่าตอบแทนนักวิจัยเก่งๆนี้ น่าจะเป็นโจทย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบวิจัยด้วย ถือเป็นส่วนหนึ่งของมิติที่ ๕ ข้างบน

          ผมชอบแนวคิดที่ ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร เสนอว่า งานวิจัยต้องแสดง accountability ต่อ เจ้าของและขอแสดงความยินดีต่อ วช. และสถาบันคลังสมอง ในความสำเร็จของการประชุมนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมคับคั่งกว่า ๓๐๐ คน

            ในฐานะที่เป็นกรรมการกำกับทิศ ของการวิจัยนี้ ผมขอเสนอว่า ประเด็นสำคัญที่ควรมี การทำความชัดเจนเพิ่มขึ้น เพื่อหาทางสร้างระบบ ได้แก่

         * การสร้างความต่อเนื่องของทุนสนับสนุนการวิจัยที่สำคัญ ด้วยการเก็บค่าธรรมเนียม การวิจัย จากผู้ได้รับประโยชน์จากการวิจัยนั้น โดยที่หากผู้ได้รับ ประโยชน์เป็นคนเล็ก คนน้อย รัฐออกเงินแทน หากภาคธุรกิจได้ประโยชน์ ภาคธุรกิจ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม นั้น (เป็นข้อเสนอหลักการโดย ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร)

 * ควรมีโจทย์วิจัยย่อย เรื่องแนวทางการจัดให้มีการลงทุนวิจัยอย่างต่อเนื่องและเพียงพอ ในระดับประเทศ โดยมีแหล่งทุนวิจัยจากหลากหลายแหล่ง ไม่ขึ้นกับนโยบาย งบประมาณรายปีของประเทศเท่านั้น

 * งานวิจัยเพื่อสังคมและชุมชน มีลักษณะคล้ายคลึงกับงานวิจัยเพื่อพัฒนางานประจำ (R2R - Routine to Research) ที่ริเริ่มโดยศิริราช และ หลังจากนั้น สวรส. ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ได้ร่วมกันสนับสนุนให้มีการนำไปใช้เป็นเครื่องมือ พัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาองค์กร ในวงการสุขภาพ ทั่วประเทศ อ่านเรื่องราว ได้ที่นี่ ที่นี่ และที่นี่ ทีมวิจัย Track 3 น่าจะได้เข้าไปทำความรู้จักและตีความ เพื่อ พิจารณาขยายขอบเขตของ Track 3 ให้กว้างขึ้น โดยที่งานวิจัยในกลุ่มนี้อาจเรียกว่าเป็น people-empowerment research

งานวิจัย Track 4 เพื่อนโยบาย เกี่ยวข้องกับงานวิจัยระบบ ซึ่งเรามี สวรส.  ทำงานวิจัย และสนับสนุนการวิจัยระบบสาธารณสุข ก่อความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและเชิง นโยบายด้านสุขภาพอย่างมากมาย เช่น การเกิด สสส., การเกิดระบบประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า และ สปสช., การเกิด สช. เป็นต้น นอกจากนั้น สวรส. ยังก่อกำเนิดสถาบัน วิจัยนโยบายอีก ๒ สถาบัน คือ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เป็นหน่วยงานวิจัยนโยบายอยู่ภายในกระทรวงสาธารณสุข และได้รับทุนวิจัยจากทั้ง ในประเทศและต่างประเทศ เป็นที่ยอมรับนับถือมาก ขอเสนอให้ทีมวิจัย Track 4 พิจารณาว่าควรขยายผลการวิจัยไปครอบคลุมด้วยหรือไม่

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ก.ค. ๕๔

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 448808เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2011 08:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

1.กราบขอบพระคุณ อาจารย์ ที่ Update สถานการณ์ ความเคลื่อนไหว ให้อย่างต่อเนื่องตลอดมา..โดยเฉพาะท่านที่พลาดการเข้าร่วม"ประชุมวิจารณ์ข้อเสนอปฏิรูประบบวิจัยของประเทศ ครั้งที่ ๑"

2.โดยส่วนตัว .. ยังคงห่วง งานวิทยานิพนธ์ หรือ งานวิจัย ในระดับบัณฑิตศึกษาทั้ง โท และเอก ของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ อย่างมาก เมื่อได้เข้าไปได้มีส่วนร่วมรู้เห็น กระบวนวิธีการทำงานของ ทั้งอาจารย์ที่มีบทบาทเป็น ที่ปรึกษา กรรมการวิทยานิพนธ์ และ นิสิต นักศึกษา ที่เป็นผู้ทำ..... / งานวิจัย ในระดับบัณฑิตศึกษา น่าจะถือเป็นก้าวแรก ของผู้ที่จะเข้าสู่กระบวนการเป็น  "นักวิจัย" ในอนาคต

มหาวิทยาลัยราชภัฎ บางแห่งในเมืองหลวง ระบบการบริหารงานบัณฑิตศึกษา โดยเฉพาะกระบวนการ ทั้งระบบของ การทำวิทยานิพนธ์ ... "ล้มเหลว"  อย่างไม่น่าเชื่อ...

ในขณะที่หลักสูตร ก็ยังคงเปิดรับนักศึกษาใหม่ ได้อย่างต่อเนืื่อง....

ไม่แน่ใจว่า ประเด็นนี้ น่าจะอยู่ในส่วนใด ของการปฏิรูประบบวิจัยของประเทศ  หรือไม่....???

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท