การปฏิบัติราชการแทนและการรักษาราชการแทน


การปฏิบัติราชการแทนและการรักษาราชการแทน

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534
ว่าด้วยการปฏิบัติราชการแทนและการ
รักษาราชการแทน

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 เป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารราชการแผ่นดินของไทย โดยได้กำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานระหว่างส่วนราชการต่าง ๆ การจัดระเบียบการบริหารราชการของไทยในปัจจุบัน ได้จัดระเบียบบริหารราชการ แผ่นดินโดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ถือเป็นโครงสร้างหลักในการบริหารและการปกครองประเทศ ดังนี้1. ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง จะประกอบด้วย รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายในการจัดทำบริการสาธารณะ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการนำนโยบายไปปฏิบัติก็คือ กระทรวง ทบวง กรม ตั้งแต่รัฐบาลจนถึงกระทรวง ทบวง กรม รวมเรียกว่า ราชการบริหารส่วนกลาง ดังนั้น การบริหารราชการของส่วนกลาง จึงเป็นการรวมอำนาจ (Centralization) คือ การรวมการตัดสินใจไว้ที่ศูนย์กลางหรือส่วนกลาง2. ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค คือ ราชการที่ส่วนกลาง (กระทรวง ทบวง กรม) แบ่งแยกออกไปดำเนินการในพื้นที่ต่าง ๆ ตามการแบ่งเขตการปกครองของประเทศ(จังหวัดและอำเภอ) ทั้งนี้ เนื่องจากความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน ส่วนกลางจึงแต่งตั้งข้าราชการไปปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาคเพื่อสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ ในส่วนภูมิภาคจะมีหน่วยงานบริหารที่เล็กกว่าอำเภอ เรียกว่า ตำบลและหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการจัดระเบียบงานตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ขึ้นตรงต่ออำเภอ ทั้งนี้ แต่ละจังหวัดจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปกครองข้าราชการในจังหวัด แต่ละอำเภอก็จะมีนายอำเภอทำหน้าที่เช่นเดียวกัน ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ คือ ผู้ที่ส่วนกลางแบ่งอำนาจการ ปกครอง (Deconcentration) หรือหน้าที่รับผิดชอบบางส่วนให้ตัดสินใจแทนส่วนกลาง 3. ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น คือ การกระจายอำนาจทางการบริหาร (Decentralization) ของส่วนกลางให้ราษฎรในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ สามารถตัดสินใจเลือกผู้บริหารท้องถิ่นของตนและตัดสินใจในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นสาธารณะของท้องถิ่นได้ด้วยตนเอง ดังนั้น โดยหลักการแล้ว ผู้บริหารของหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นนั้น
ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 7 ได้กำหนดการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลางไว้ ดังนี้

1. สำนักนายกรัฐมนตรี (มีฐานะเป็นกระทรวง)2. กระทรวง หรือทบวงซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง3. ทบวง ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง4. กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ซึ่งสังกัดหรือไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวงการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 51 ได้การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ดังนี้1. จังหวัด2. อำเภอการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 70 ได้การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ดังนี้1. องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)2. เทศบาล3. สุขาภิบาล (ปัจจุบันยกเลิกไปหมดแล้ว)4. ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่กฎหมายกำหนด (ปัจจุบัน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบล)
การปฏิบัติราชการแทนและการรักษาราชการแทน
ในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร ราชการ กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดไว้ดังนี้1. ปฏิบัติหน้าที่แทน ใช้ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีเพราะนายกรัฐมนตรีตายหรือขาดคุณสมบัติ และคณะ รัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานไปจนกว่าจะตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน2.รักษาราชการแทน (เป็นกรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติ ราชการได้จึงต้องมีผู้รักษาราชการแทน) ใช้ในกรณีดังต่อไปนี้ 2.1 การรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคนให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน 2.2 การรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหรือรัฐมนตรีว่าการทบวง ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรือรัฐมนตรีว่าการทบวง หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวงเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวงหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวงคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวง หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน2.3 รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงหรือปลัดทบวง ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือปลัดทบวง หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองปลัดกระทรวงหรือรองปลัดทบวงเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองปลัดกระทรวงหรือรองปลัดทบวงหลายคน ให้นายกรัฐมนตรีสำหรับสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงหรือรัฐมนตรีว่าการทบวง แต่งตั้งรองปลัดกระทรวงหรือรองปลัดทบวงคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงหรือรองปลัดทบวงหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้นายกรัฐมนตรีสำหรับสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรือรัฐมนตรีว่าการทบวง แต่งตั้งข้าราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือเทียบเท่าเป็นผู้รักษาราชการแทน2.4 การรักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงหรือรองปลัดทบวง ในกรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงหรือรองปลัดทบวงหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ปลัดกระทรวงหรือปลัดทบวงแต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงหรือทบวงซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าเป็นผู้รักษาราชการแทนก็ได้2.5 การรักษาราชการแทนอธิบดี(หรือหัวหน้าส่วนราชการอื่นที่มีฐานะเป็นกรม) ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองอธิบดีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองอธิบดีหลายคน ให้ปลัดกระทรวงแต่งตั้งข้าราชการในกรมซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ารองอธิบดีหรือข้าราชการตั้งแต่ตำแหน่งหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไปคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน แต่ถ้านายกรัฐมนตรีสำหรับสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรือรัฐมนตรีว่าการทบวง เห็นสมควรเพื่อความเหมาะสมแก่การรับผิดชอบการปฏิบัติราชการในกรมนั้น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรือรัฐมนตรีว่าการทบวงจะแต่งตั้ง ข้าราชการคนใดคนหนึ่งซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอธิบดีหรือเทียบเท่าเป็นผู้รักษาราชการแทน2.6 การรักษาราชการแทนรองอธิบดี ในกรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า รองอธิบดีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ อธิบดีจะแต่งตั้งข้าราชการในกรมซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ารองอธิบดีหรือข้าราชการตั้งแต่ตำแหน่งหัวหน้ากอง หรือเทียบเท่าขึ้นไปเป็นผู้รักษา ราชการแทนก็ได้2.7 การรักษาราชการแทนเลขานุการรัฐมนตรี ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีเป็นผู้รักษา ราชการแทน ถ้ามีผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีหลายคน ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงหรือรัฐมนตรี ว่าการทบวง มอบหมายให้ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรือรัฐมนตรีว่าการทบวงแต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน2.8 การรักษาราชการแทนเลขานุการกรมหรือหัวหน้าส่วนราชการระดับกองหรือหัวหน้าส่วนราชการอื่น ในกรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขานุการกรม ผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากอง หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้อธิบดีแต่งตั้งข้าราชการในกรมคนหนึ่งซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากอง หรือเทียบเท่าเป็นผู้รักษาราชการแทน2.9 การรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีตัวผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้ช่วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ปลัดจังหวัดเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด หรือปลัดจังหวัดหลายคน ให้ปลัดกระทรวงแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด หรือปลัดจังหวัดคนใดคนหนึ่ง แล้วแต่กรณี เป็นผู้รักษาราชการ แทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด และปลัดจังหวัด หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด ซึ่งมีอาวุโสตามระเบียบแบบแผนของทางราชการเป็นผู้รักษาราชการแทน2.10 การรักษาราชการแทนนายอำเภอ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง นายอำเภอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งปลัดอำเภอ หรือหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอผู้มีอาวุโสตามระเบียบแบบแผนของทางราชการเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีผู้ดำรงตำแหน่ง นายอำเภอแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้นายอำเภอแต่งตั้งปลัดอำเภอหรือหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอผู้มีอาวุโสตามระเบียบแบบแผนของทางราชการเป็นผู้รักษาราชการแทน ในกรณีที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอมิได้แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนไว้ ให้ปลัดอำเภอหรือหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอผู้มีอาวุโสตามระเบียบแบบแผนของทางราชการเป็นผู้รักษาราชการแทน3. ปฏิบัติราชการแทน (มีผู้ดำรงตำแหน่ง แต่ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นกระจายอำนาจทางการบริหารโดยมอบอำนาจเป็นหนังสือให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทน ซึ่งเมื่อมอบอำนาจไปแล้วผู้มอบอำนาจก็หมดอำนาจในเรื่องที่มอบไปแล้วตามหลักกฎหมายมหาชน และผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจเต็มในเรื่องที่ได้รับมอบอำนาจนั้น และจะปฏิเสธไม่รับมอบอำนาจก็ไม่ได้ เพราะเป็นการมอบอำนาจตามกฎหมายรวมทั้งไม่สามารถมอบอำนาจช่วงได้ ยกเว้นจะมีกฎหมายให้อำนาจมอบอำนาจช่วงได้)มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการมอบอำนาจไว้ว่า “อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่นที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งนั้น หรือมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้ ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทนได้”ความหมายของมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 จึงหมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ซึ่งมีอำนาจในการสั่งการ หรือ ดำเนินการใด ๆ ตามกฎหมาย หรือตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการในเรื่องใด ๆ สามารถมอบอำนาจต่อไปให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทนได้ทั้งสิ้น โดยไม่มีข้อจำกัดว่าเป็นอำนาจเฉพาะตัวหรืออำนาจทั่วไปอีก ฉะนั้น โดยหลักของกฎหมายในข้อนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ ย่อมมีดุลยพินิจที่จะมอบอำนาจต่อไปให้ผู้อื่นปฏิบัติ ราชการแทนได้เสมอ ตามความเหมาะสมของการปฏิบัติราชการในแต่ละเรื่องที่สมควรให้มีการกระจายอำนาจต่อไปเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการปฏิบัติราชการ ยกเว้นว่า จะมีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งหรือมติคณะรัฐมนตรีได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่นที่แตกต่างจากมาตรา 38 ได้บัญญัติไว้ ซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติเหล่านั้นประสงค์จะกำหนดหลักเกณฑ์การมอบอำนาจในเรื่องนั้นเป็นการเฉพาะ ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติในเรื่องนั้น โดยยกเว้นจากการปฏิบัติในเรื่องมอบอำนาจตามกฎหมายนี้
การปฏิบัติราชการแทน ตามความแห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ แผ่นดิน พ.ศ.2534 ใช้ในกรณีดังต่อไปนี้
3.1 การปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี3.1.1 นายกรัฐมนตรีมอบอำนาจ โดยทำเป็นหนังสือให้รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่นที่นายกรัฐมนตรีจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใดและไม่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นกำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้3.1.2 นายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยทำเป็นหนังสือให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทน ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรมแต่มิได้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือทบวง3.2 การปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรือรัฐมนตรีว่าการทบวง3.2.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรือรัฐมนตรีว่าการทบวงมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวง หรือมอบให้ปลัดกระทรวง ปลัดทบวง อธิบดี หัวหน้าส่วนราชการซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่า หรือผู้ว่าราชการจังหวัดให้ปฏิบัติราชการแทนในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินการอื่นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวงจะพึงปฏิบัติ หรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งหรือมติของคณะรัฐมนตีในเรื่องใด และไม่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตีในเรื่องนั้นกำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้3.2.2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรือรัฐมนตรีว่าการทบวงมอบหมายโดยทำเป็นหนังสือให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวงปฏิบัติราชการแทนในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรือรัฐมนตรีว่าการทบวงเป็นผู้บังคับบัญชาส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรมแต่มิได้สังกัดกระทรวงหรือทบวง3.3 การปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวง
ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หรือปลัดทบวง มอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รองปลัดกระทรวง รองปลัดทบวง ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ช่วยปลัดกระทรวง ผู้ช่วยปลัดทบวง อธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าในสังกัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ให้ปฏิบัติราชการแทนในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่นที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หรือปลัดทบวง จะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด และไม่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นกำหนดเรื่องการ มอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่นหรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้

3.4 การปฏิบัติราชการแทนอธิบดี
3.4.1 อธิบดี หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่ามอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้รองอธิบดี ผู้ช่วยอธิบดี ผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากอง หัวหน้าส่วนราชการเทียบเท่ากอง ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ปฏิบัติราชการแทนในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินการอื่นที่อธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าจะพึงปฏิบัติ หรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด และไม่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นกำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่นหรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้

3.4.2 การปฏิบัติราชการแทนปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หรือปลัดทบวง ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดทบวง หรือการปฏิบัติราชการแทนของหัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีให้นำข้อความในข้อ 3.4.1 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

3.5 การปฏิบัติราชการแทนเลขานุการรัฐมนตรี

เลขานุการรัฐมนตรีมอบหมายโดยทำเป็นหนังสือให้ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีสั่งหรือปฏิบัติราชการแทนได้

3.6 การปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด

ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หรือหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอปฏิบัติราชการแทนในการ สั่งการอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินการอื่นที่ผู้ว่าราชการจังหวัด จะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งหรือมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด และไม่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งหรือมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นกำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้

3.7 การปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากองหรือผู้ดำรงตำแหน่ง เทียบเท่า

ผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากองหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่ามอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้ข้าราชการในกอง หรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากองปฏิบัติราชการในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินการอื่น ผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากอง หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าจะพึงปฏิบัติ หรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตีในเรื่องใด และไม่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นกำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

3.8 การปฏิบัติราชการแทนนายอำเภอ ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด

นายอำเภอ (ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ และหัวหน้าส่วน ราชการประจำจังหวัดให้นำวิธีการมอบอำนาจของนายอำเภอมาใช้โดยอนุโลม) มอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้ปลัดอำเภอ หรือหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอปฏิบัติราชการแทนในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินการอื่นที่นายอำเภอจะพึงปฏิบัติ หรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด และไม่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นกำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ.2546
ในเรื่องการมอบอำนาจนี้ ในปัจจุบัน ได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ.2546 ออกมาใช้บังคับโดยเห็นว่า การมอบอำนาจเป็นกลไกสำคัญในการปฏิบัติราชการของภาครัฐเพราะงานบริหารราชการนั้นจะครอบคลุมทุกกิจการของประเทศ มีขอบเขตกว้างขวาง ภารกิจที่ต้องกระทำมีอยู่มาก หัวหน้าส่วนราชการเพียงคนเดียวไม่อาจปฏิบัติงานให้ครบถ้วนทุกด้านได้ ซึ่งการที่ภาครัฐได้มีการกำหนดเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งต่าง ๆ ไว้นั้น เพื่อที่จะ รองรับการมอบอำนาจในการบริหารราชการ โดยผู้บังคับบัญชาสามารถพิจารณาความเหมาะสมของผู้ใต้บังคับบัญชาแต่ละระดับว่า ควรมอบอำนาจให้กระทำในเรื่องใดเพื่อให้การปฏิบัติราชการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด การมอบอำนาจในการบริหารราชการมิใช่เป็นเรื่องของ ตัวการและตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่การมอบอำนาจในการบริหาร ราชการเป็นเรื่องของการกระจายความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นกรณีของการร่วมมือกันในการปฏิบัติราชการให้เกิดประโยชน์สาธารณะ การมอบอำนาจจึงเป็นเรื่องการมอบหน้าที่ ในการปฏิบัติงานตามกฎหมาย ผู้รับมอบอำนาจไม่อาจปฏิเสธไม่ยอมรับมอบงานไปปฏิบัติได้ และในการปฏิบัติงานของผู้รับมอบอำนาจมิใช่ดำเนินการโดยมุ่งถึงประโยชน์ของผู้มอบอำนาจ แต่ ผู้รับมอบอำนาจมีหน้าที่ต้องปฏิบัติไปตามกฎหมาย กฎและระเบียบของทางราชการเช่นเดียวกับอำนาจหน้าที่ของผู้มอบอำนาจ ผลที่เกิดจากการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจจึงผูกพันรัฐ หากมีความเสียหายเกิดขึ้นรัฐต้องแก้ไขเยียวยา เพราะการมอบอำนาจมิใช่เป็นเรื่องผูกพันตัวบุคคล แต่ผูกพันถึงตำแหน่งหน้าที่ราชการ การมอบอำนาจจึงมิใช่เป็นเรื่องของการปัดภาระความรับผิดชอบในตำแหน่งหน้าที่ของตน แต่เป็นเรื่องการกระจายการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้งานราชการ มีความคล่องตัว สามารถให้บริการแก่ประชาชนโดยรวดเร็ว ลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน ทำให้งานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีผู้รับผิดชอบในผลของงานได้ชัดเจน พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มีความประสงค์ที่จะจัดระบบการมอบอำนาจให้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนแน่นอน และให้ทุกส่วนราชการดำเนินการในเรื่องการมอบอำนาจให้เป็นไปตามหลักการของการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ที่มุ่งลด ขั้นตอนในการปฏิบัติราชการ ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 28 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 กำหนดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ.2546 ออกมาใช้บังคับเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการมอบอำนาจขึ้นไว้เป็นแนวทางปฏิบัติของทุกส่วนราชการ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546
เป็นต้นไป

หมายเลขบันทึก: 110613เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2007 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2018 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท