BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เปรียบเทียบเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมตะวันตกกับวิภัชชวาทในพุทธปรัชญา ๑


เปรียบเทียบเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมตะวันตกกับวิภัชชวาทในพุทธปรัชญา

๑. บทนำ         

ในการตัดสินการกระทำทางศีลธรรมหรือจริยธรรมว่าถูกหรือผิด วิชาจริยศาสตร์เรียกว่าเกณฑ์ตัดสินจริยธรรม ซึ่งมีอยู่สองฝ่าย คือ ฝ่ายที่อาศัยหลักคำสอนของศาสนากับฝ่ายที่ไม่อาศัยหลักคำสอนของศาสนา โดยศาสนาทั้งหมดจะมีหลักคำสอนส่วนหนึ่งที่ว่าด้วยการตัดสินการกระทำอยู่ด้วยเสมอ แต่หลักคำสอนของศาสนาหนึ่งอาจไม่เหมาะสมกับอีกศาสนาหนึ่งเพราะมีความเชื่อพื้นฐานแตกต่างกัน เช่น เรื่องพระผู้เป็นเจ้าสร้างโลกหรือเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด บางพวกก็เชื่อบางพวกก็ไม่เชื่อ เป็นต้น ฉะนั้น จึงต้องมีอีกฝ่ายที่ไม่อาศัยหลักคำสอนศาสนา ซึ่งฝ่ายนี้เรียกอีกชื่อว่า จริยศาสตร์สากล โดยจะใช้เหตุผลในการอธิบายว่าการกระทำนั้นถูกหรือผิดตามความเห็นของตน พวกนี้ก็มีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน เช่น บางกลุ่มใช้แรงจูงใจในการกระทำเป็นเกณฑ์ บางกลุ่มก็ใช้เจตนาหรือความตั้งใจในการกระทำเป็นเกณฑ์ บางกลุ่มก็ใช้ผลลัพธ์ของการกระทำเป็นเกณฑ์ เป็นต้น และแต่ละกลุ่มก็แบ่งย่อยๆ ออกไปอีก จนกระทั้งยากที่จะศึกษาให้เข้าใจทั้งหมดได้            

ผู้เขียนจะนำแนวคิดของกลุ่มที่ใช้ผลลัพธ์และกลุ่มอื่นๆ เป็นเกณฑ์ตัดสินมาเปรียบเทียบกับแนวคิดของพระพุทธศาสนาตามหลักวิภัชชวาท โดยจะยกเป็นเรื่องราวสนุกๆ เพื่อเป็นอาหารสมองเล็กๆ น้อย    

๒. ผลนิยม

          ผลนิยม คือ แนวคิดที่ยึดถือว่าการกระทำจะถูกหรือผิดก็ขึ้นอยู่ที่ผลลัพธ์ของการกระทำเป็นเกณฑ์ แนวคิดนี้มี ๒ กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มที่ยึดถือผลลัพธ์ส่วนตัว และกลุ่มที่ยึดถือผลลัพธ์ส่วนรวม ซึ่งวิธีการคิดก็ธรรมดามาก และเราก็ใช้อยู่เสมอในชีวิตประจำวัน เช่น

            สมมติว่า เราเดินกลับจากทำงานและตั้งใจว่าจะซื้อลองกองไปกินกับคนอื่นๆ ซึ่งอยู่ที่บ้าน มีเงินที่จะซื้อลองกองอยู่ร้อยบาท เมื่อผ่านตลาดที่ขายผลไม้ มองเห็นว่ามีอยู่หลายร้านที่มีลองกอง บางร้านปักป้ายว่ากิโลสามสิบ บางร้านก็กิโลยี่สิบ บางร้านก็กิโลยี่สิบห้า เราตรวจดูแล้วขนาดและความสดความงามของลองกองก็พอๆ กัน ลองชิมดูแล้วก็รู้สึกว่าความหวานหอมก็พอกัน ถามว่าเรา จะซื้อเจ้าไหน? สำหรับผู้เขียนตอบได้ว่า จะซื้อร้านที่ขายกิโลยี่สิบแน่นอน เพราะจะได้ลองกองถึงห้ากิโล และผู้เขียนก็เชื่อว่าคงไม่มีใครโง่ซื้อร้านที่แพงกว่าแน่นอน (ส่วนกรณีต้องการเอาใจแม่ค้าบางคนเพราะสวยกว่าคนอื่น เป็นต้น นั่น! ต้องการจีบแม่ค้า ไม่ใช่ซื้อลองกอง หรือ บางร้านเป็นลูกหนี้ เราจึงได้ซื้อ เพราะไม่ต้องจ่ายค่าลองกอง นอกประเด็น ฯลฯ  )

            สมมติว่า ลูกสาวของเราเรียนจบแล้วไปสมัครงานบริษัท มีปัญหาในการตัดสินใจจึงมาปรึกษา คือ บริษัทหนึ่งให้เดือนแปดพัน แต่อีกบริษัทให้หนึ่งหมื่น ทั้งสองบริษัทอยู่ใกล้บ้านพอๆ กัน และสามารถมีความมั่นคงหรือก้าวหน้าในหน้าที่การงานพอๆ กัน เราจะให้ลูกสาวเลือกบริษัทไหน ถ้าเป็นผู้เขียน จะให้ลูกสาวเลือกบริษัทที่ให้เงินเดือนหนึ่งหมื่นแน่นอน

            และอีกปีต่อมาลูกสาวแต่งงานแล้วไปอยู่บ้านสามี ลูกชายเรียนจบจึงมาปรึกษาว่า ได้ไปสมัครงานที่โรงงานไว้กับบริษัท ตอนนี้มีหนังสือแจ้งมาให้ไปรายงานตัว และให้เลือกว่าจะอยู่โรงงานไหน โรงงานแรกตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้เดือนสามหมื่นห้า โรงงานที่สองตั้งอยู่ชุมพรให้เดือนสามหมื่น และอีกโรงตั้งอยู่ในซอยตรงข้ามกับบ้านเรา แต่บริษัทให้เดือนสองหมื่นห้าเท่านั้น ลูกชายบอกว่าเลือกไม่ถูกจึงมาปรึกษา เราคงจะให้ลูกชายเลือกอยู่โรงงานที่ใกล้บ้านด้วยอ้างว่า แม้เงินเดือนจะน้อยแต่ก็อยู่กับบ้าน อยู่บ้านเราดีกว่าไม่ต้องเสียค่าเช่าบ้าน อย่าไปอยู่เลยกรุงเทพฯ ถึงแม้เงินเดือนจะสูงแต่ปัญหามาก เช่น ของก็แพง รถก็ติด อากาศก็ไม่ดี และ ชุมพร อย่าไปอยู่เพราะไกลบ้าน ใครตายลงหรือมีงานอะไรก็ต้องกลับมาอีก ยุ่งยากการเดินทาง ได้เพิ่มขึ้นสี่ห้าพันไม่คุ้ม อยู่บ้านเราดีหว่า อะไรทำนองนี้... แต่เราไม่บอกว่า กูแก่แล้ว ไม่ค่อยสบาย ถ้าสูไปอยู่อื่นหมดแล้วกูอยู่กับใคร! อะไรทำนองนี้...

            แนวคิดทำนองนี้ใช้ผลลัพธ์ของการกระทำเป็นเกณฑ์ โดยเน้นผลลัพธ์ที่เราจะได้รับมากที่สุดว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง กลุ่มนี้มีสูตรในการตัดสินการกระทำอยู่ว่า

          การกระทำที่ถูกต้อง คือ การกระทำที่เสนอผลประโยชน์ให้แก่เรามากที่สุด          การกระทำนี้เป็นการกระทำที่ถูกต้อง เพราะยังไม่มีการกระทำอื่นที่ให้ผลประโยชน์แก่เรามากกว่าการกระทำชนิดนี้

            ตามตัวอย่าง เราเลือกลองกองกิโลละยี่สิบเพราะเราจะได้ลองกองถึงห้ากิโล หรือเราแนะนำให้ลูกสาวเลือกบริษัทที่ให้เงินเดือนหนึ่งหมื่นเพราะเห็นว่ามากกว่าแปดพัน เราเห็นว่าการกระทำอย่างนี้ถูกต้องเพราะเป็นการกระทำที่เสนอผลประโยชน์ให้แก่เรามากที่สุด หรือเพราะยังไม่มีการกระทำอย่างอื่นที่ให้ผลประโยชน์แก่เรามากกว่านี้

            แต่ ถ้าเรายังไม่ทันได้ซื้อลองกอง มีเจ้าใหม่เข้ามาในตลาดและเสนอขายกิโลละสิบห้า หรือบริษัทที่จะให้เงินเดือนแปดพันได้รับข่าวว่าลูกสาวจะไม่เลือกทำงานในบริษัทของตนจึงขอเพิ่มเงินเดือนให้เป็นหมื่นห้าพัน เราคงจะเปลี่ยนใจมาซื้อลองกองของเจ้าที่ขายกิโลละสิบห้า และให้ลูกสาวกลับไปเลือกบริษัทที่เสนอมาใหม่แน่นอน ลักษณะนี้แสดงให้เห็นว่า การกระทำเดิมที่เราเห็นว่าถูกต้องในอดีต แต่ปัจจุบันกลับไม่ถูกต้อง เพราะมีการกระทำใหม่ที่เสนอผลประโยชน์ให้มากกว่า อนึ่ง การให้ความเห็นแก่ลูกชายว่าให้เลือกโรงงานใกล้บ้านนั้น เป็นการบ่งบอกให้เห็นแนวคิดที่ยึดถือว่า การกระทำที่เป็นประโยชน์แก่เราเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ได้อย่างชัดเจน 

            เราลองย้อนระลึกไปถึงชีวิตที่ผ่านมาว่าคนที่คิดทำนองนี้หรือพูดทำนองนี้มีหรือไม่ ? ส่วนชีวิตผู้เขียนเท่าที่ผ่านมาเจอคนทำนองนี้เยอะแยะ มีเรื่องเล่าว่าคนหนึ่งบอกลูกที่จบนิติศาสตร์และกำลังเรียนเนติบัณฑิตย์ว่าเรียนจบให้ไปสมัครเป็นอัยการดีกว่าเป็นผู้พิพากษา เพราะแม้ผู้พิพากษาจะเงินเดือนมากกว่าเล็กน้อย แต่ก็กินไม่ได้ (กินสินบนไม่ได้หรือคอรัปชั่นไม่ได้) การสอนลูกทำนองนี้ก็บ่งบอกให้เห็นว่าเป็นการยึดถือว่า การกระทำที่ให้ผลประโยชน์แก่เรามากที่สุดเป็นการกระทำที่ถูกต้อง เช่นเดียวกัน

            ในความเป็นอยู่ของเราที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีคนที่คิดเห็นทำนองนี้มาก บางคนถึงกับยึดถือว่าใครๆ ก็คิดแบบนี้ทั้งนั้น ฉะนั้น โลกนี้จึงมีความสับสนวุ่นวาย แก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่นซึ่งกันและกัน เพราะทุกคนมุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่เคยคิดถึงผลประโยชน์ของผู้อื่นหรือของส่วนรวมเลย  พวกที่มีความคิดความเห็นทำนองนี้เรียกว่า พวกมองโลกในแง่ร้าย แต่บางคนอาจไม่เห็นด้วยกับผู้เขียน ก็ไม่เป็นไร โปรดอ่านต่อ ยังมีแนวคิดอื่นอีกหลายกลุ่ม

            แต่ ก่อนที่จะขึ้นแนวคิดอื่น จะเล่าเรื่องนี้ต่ออีกนิดเป็นเรื่องเพิ่มเติม คือ นักปรัชญาฝรั่งบางคนก็มีความเห็นทำนองนี้ เช่น นายฮอบส์ชาวอังกฤษ นายคนนี้ได้อธิบายต่อไปอีกว่า ถ้าทุกคนคิดอย่างนี้และดำเนินชีวิตทำนองนี้โลกก็จะเกิดกลียุค จะมีการรบราฆ่าฟันกัน ปราศจากความสงบสุข เพราะเราทุกคนไม่มีใครโง่กว่าใคร ถ้าใครเก่งกว่าหรือมีกำลังมากกว่า เราก็รวมหัว ร่วมมือกัน หรือรุมกันตีไอ้คนที่มีกำลังกว่าให้ตายไปก่อนแล้วเราค่อยมาแย่งชิงกันอีกต่อไป... ถ้าอย่างนั้น ทำอย่างไรให้โลกหรือสังคมสงบสุขได้ ทุกคนก็รวมหัวกันมอบอำนาจให้ใครคนหนึ่งเป็น ผู้ยิ่งใหญ่ และยอมรับอำนาจของผู้ยิ่งใหญ่คนนั้น เขาจะสั่งให้ทำอะไรก็ยอมรับตามคำสั่งของเขา ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะเกิดความสงบสุข ไม่ต้องแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นซึ่งกันและกัน และเป็นการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยด้วย... แนวคิดทำนองนี้มีอยู่ในวิชาปรัชญาการเมือง โดยมีข้อสรุปแนวคิดนี้ว่า อำนาจคือความถูกต้อง หมายความว่า ผู้ที่มีอำนาจคิดอะไร หรือสั่งให้ทำอะไร ให้ยึดถือว่าการกระทำนั้นถูกต้อง ซึ่งคนที่ยึดถือการกระทำตามความเห็นหรือตามคำสั่งของผู้มีอำนาจว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องก็ยังมีอยู่ในโลกเช่นเดียวกัน แม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม... จบเรื่องเพิ่มเติมเพียงแค่นี้

            มีเรื่องจริงที่ผู้เขียนเคยพบเห็นตอนเล็กๆ และเคยได้ฟังผู้ใหญ่คุยกันสนุกๆ เกี่ยวกับเรื่องแบ่งปลาอยู่เสมอ เล่าเรื่องว่าผู้เขียนอยู่บ้านคูขุดซึ่งเป็นหมู่บ้านริมทะเลสาบสงขลา การจับปลาในทะเลสาบมาเป็นอาหารและขายส่วนที่เหลือนับว่าเป็นเรื่องธรรมดา ผู้เขียนจะเห็นการชำแหละหรือการทำปลาชะโดตัวใหญ่แล้วเอามาแบ่งกันเกือบทุกเช้า คือ  เมื่อได้ปลาตัวใหญ่ขายไม่ได้ก็แบ่งออกเป็นสี่หรือห้าส่วน บางทีพวกที่ต้องการปลาชะโดไปประกอบอาหารก็จะหุ้นกันซื้อทั้งตัวแล้วมาแบ่งกัน การแบ่งปลาชะโดจะละเอียดและรอบคอบมาก อวัยวะปลาทุกชิ้นส่วน ไม่ว่าจะเป็นตับ กระเพาะ หรือไข่ ก็จะแบ่งเป็นสี่หรือห้าส่วนตามจำนวนคน และบางส่วนของปลาก็อร่อยเป็นพิเศษ เช่น หัวปลาชะโดต้มเต้าเจียวหรือต้มส้มแขกอร่อยที่สุด หัวปลาก็จะต้องแบ่งให้เท่ากัน ส่วนอื่นๆ ก็จะต้องแบ่งให้เท่ากัน ผู้ที่ทำปลาแล้วแบ่งมักจะเป็นคนในเรือนของหุ้นส่วน เช่น ภรรยา แม่ พ่อ หรือลูกๆ บางคนที่เป็นผู้ใหญ่ ส่วนผู้ที่รอรับส่วนแบ่งปลาชะโดมักจะเป็นเด็กๆ ในบ้าน โดยจะนั่งล้อมวงดูคนทำปลาแล้วตั้งไว้เป็นกองๆ ข้างหน้าหุ้นส่วนแต่ละคน เมื่อแบ่งเสร็จแล้วผู้แบ่งจะบอกว่าให้เลือกว่า เอากองไหน! ซึ่งโดยมากจะเอากองข้างหน้าของตน เรื่องนี้ไม่ค่อยมีปัญหา  แต่มีพ่อลุงคนหนึ่งอายุมากแล้วเป็นคนแบ่งปลา หลังจากแบ่งเสร็จแล้วก็บอกตามกติกาว่าให้เลือกเอากองไหน แล้วก็พูดต่อว่า กูเอากองข้างหน้ากูนี้แหละ เด็กๆ ไม่ยอมเพราะต่างก็ต้องการเอากองข้างหน้าพ่อลุงเช่นเดียวกัน พ่อลุงก็บอกว่า ไม่ได้! ไม่ได้!” เมื่อไม่มีใครยอมก็เลยจะต้องเอาชิ้นส่วนปลามารวมกันและแบ่งใหม่อีกครั้ง การแบ่งครั้งที่สองนี้ แต่ละชิ้นที่แยกออกไปสู่แต่ละกอง พ่อลุงจะถามว่า เท่ากันนะ!” ทุกครั้ง พ่อลุงได้ทะเลาะอยู่กับพวกเด็กอยู่นานกว่าจะแบ่งปลาเสร็จ เรื่องการแบ่งปลาของพ่อลุงกลายเรื่องตลกของชาวบ้านคูขุดในสมัยนั้นอยู่หลายวันทีเดียว

            ในการแบ่งปลาของพ่อลุงครั้งแรกนี้ ชี้ให้เห็นว่าการใช้ เกณฑ์ผลลัพธ์ส่วนตัว ซึ่งยึดถือว่า การกระทำที่เสนอผลประโยชน์แก่เรามากที่สุดเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ยังมีข้อบกพร่องอยู่ เพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของพ่อลุงหรือพวกเด็กที่เป็นหุ้นส่วนได้ คือ ทุกคนไม่ยอมรับ ฉะนั้น เกณฑ์ผลลัพธ์ส่วนตัวจึงใช้เป็นเครื่องวัดว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องไม่ได้ แต่การแบ่งปลาครั้งที่สองของพ่อลุง สามารถตอบสนองความต้องการของทุกคนได้ คือ ทุกคนยอมรับและเห็นว่าถูกต้อง การแบ่งปลาของพ่อลุงครั้งที่สองนี้ชี้ให้เห็นว่าใช้ความพึงพอใจของสมาชิกทั้งหมดเป็นเกณฑ์ หรือเรียกว่า เกณฑ์ผลลัพธ์ส่วนรวม กลุ่มนี้มีแนวคิดอยู่ว่า

          การกระทำที่ถูกต้อง คือ การกระทำที่ให้ประโยชน์มากที่สุดแก่สมาชิกจำนวนมากที่สุด

            อ่านดูแล้วหลายคนคงจะเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ วิธีการทำให้เกิดผลประโยชน์มากที่สุดแก่สมาชิกจำนวนมากที่สุดก็ไม่ยาก เอาจำนวนผลประโยชน์หรือความพึงพอใจทั้งหมดตั้งแล้วก็หารด้วยจำนวนของสมาชิกทั้งหมด ได้ผลลัพธ์เท่าไหร่ก็แจกจ่ายกันไป วิธีการนี้มีผู้ใช้ทั่วไป เช่น การทำบุญกับเรือพระ ผู้เขียนสังเกตเห็นทุกครั้งเมื่อไปเที่ยวงานชักพระในวันออกพรรษา ที่แหลมสนอ่อน หาดสมิหรา เรือพระจากวัดต่างๆ มีจำนวนมาก นักบุญบางท่านพอใจที่จะทำบุญสักยี่สิบสามสิบบาทก็เลยแลกเหรียญบาทแล้วก็ใส่บาตรเรือพระวัดต่างๆ วัดละบาทๆ จนครบ หรือนักบุญบางท่านพอใจที่จะทำบุญสักสองสามร้อยก็แลกเป็นเหรียญสิบใส่บาตร โดยคิดว่าวิธีการนี้เป็นการกระทำที่ถูกต้องเพราะให้ประโยชน์แก่สมาชิกคือเรือพระมากที่สุดและได้จำนวนมากที่สุด ผู้กระทำอย่างนี้เรียกว่าใช้ เกณฑ์ผลลัพธ์ส่วนรวมเชิงปริมาณ เพราะใช้ปริมาณคือจำนวนเป็นเกณฑ์

            แต่ ผู้เขียนสังเกตว่านักบุญบางคนไม่ทำอย่างนั้น บางคนเห็นเรือพระลำไหนสวยงามมากก็ทำบุญมากเพราะมีความเห็นว่าลงทุนมาก เรือพระลำไหนทำพอดีพอร้ายแสดงว่าลงทุนน้อยก็ทำบุญน้อย นักบุญบางท่านมีความเห็นต่างออกไปอีกในการทำบุญ วิธีการก็คือ ไม่ได้ให้สำคัญว่าเรือพระสวยหรือไม่สวย ลงทุนมากหรือลงทุนน้อย แต่ให้ความสำคัญว่าเป็นเรือพระของวัดไหน ถ้ามาจากวัดที่อยู่ไกลๆ หรือมาจากวัดที่ฐานะขัดสนขาดแคลนก็ทำบุญมาก ถ้ามาจากวัดใกล้ๆ หรือมีฐานะมั่งคั่งสมบูรณ์ก็ทำบุญน้อย โดยคิดว่าวิธีการทำบุญแบบนี้เป็นการกระทำที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด เพราะคุณภาพของเรือพระหรือของวัดแต่ละวัดไม่เท่าเทียมกัน ผู้กระทำอย่างนี้เรียกว่าใช้ เกณฑ์ผลลัพธ์ส่วนรวมเชิงคุณภาพ ผู้อ่านซึ่งเป็นนักบุญเช่นเดียวกันเคยตรวจสอบการทำบุญของตนเองหรือไม่ว่าใช้เกณฑ์ใด คือชอบทำบุญ เชิงปริมาณ หรือ เชิงคุณภาพ 

            นักปรัชญาฝรั่งชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อนายมิลล์มีความเห็นว่าคุณภาพดีกว่าปริมาณ มีคำพูดของเขาซึ่งหนังสือจริยศาสตร์ชอบอ้างบ่อยๆ คือ เป็นมนุษย์ที่ผอมโซดีกว่าเป็นหมูที่อ้วนพี เป็นโสคราตีสที่หิวโหยดีกว่าเป็นคนโง่ที่อิ่มหนำหมายความว่า นายมิลล์คนนี้เข้าข้างตัวเองว่ามนุษย์มีคุณภาพสูงกว่าหมู ดังนั้น แม้เป็นมนุษย์ผอมๆ ก็ยังดีกว่าเป็นหมูที่อ้วนๆ และมีความเห็นว่าความรู้หรือปัญญามีคุณภาพสูงกว่าวัตถุหรือกำลัง เพราะพวกตะวันตกยอมรับกันว่านายโสคราตีสที่นายมิลล์อ้างถึงเป็นผู้ฉลาดที่สุด (ตามประวัติกรีกโปราณ นายโสคราตีสมีชีวิตอยู่ประมาณพุทธศักราชหนึ่งร้อย ได้มีชาวบ้านไปถามคนเข้าทรงที่ภูเขาโอลิมปัสว่าใครฉลาดที่สุดในโลก คนเข้าทรงก็ตอบว่านายโสคราตีสคนนี้แหละฉลาดที่สุด เมื่อมีคนเล่าลือกันมาก นายโสคราตีสไม่เชื่อ ก็เลยไปเที่ยวถามนักปราชญ์สมัยนั้นเพื่อพิสูจน์ว่าตนเองมิได้ฉลาดอะไรเลย แต่คุยไปคุยมา นักปราชญ์เหล่านั้นก็ยอมรับว่าตนเองมิได้มีความรู้หรือฉลาดอะไรเลย แต่กลับยกย่องว่านายโสคราตีสเป็นผู้ฉลาดกว่าตน) ผู้อ่านทั้งหลายเห็นด้วยกับนายมิลล์หรือไม่ว่า มนุษย์มีคุณภาพสูงกว่าหมู และปัญญามีคุณภาพสูงกว่ากำลัง ความเห็นว่าการกระทำใดถูกต้องจะต้องคิดถึงผลลัพธ์ส่วนรวมเชิงคุณภาพนี้เป็นของนายมิลล์ โดยเขาได้เสนอวิธีการคำนวณคุณภาพของผลลัพธ์ไว้ด้วย และยังมีแนวคิดที่ใช้ผลลัพธ์เป็นเกณฑ์ตัดสินแขนงอื่นๆ อีกหลายอย่าง แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่ายากเกินกว่าที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ จึงยุติเรื่องการอธิบายไว้เพียงแค่นี้ เพื่อจะได้นำปัญหาเรื่องเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมสู่หัวข้อต่อไป

 ๓. จริยธรรมตัดสินได้หรือไม่ ?

            ก่อนจะเริ่มต้นเรื่องอื่น เรามาพิจารณาปัญหาที่บ้านของผู้เขียน นานมาแล้ว เมื่อผู้เขียนยังอยู่บ้านเป็นวัยรุ่นอายุประมาณ ๑๗-๑๘ วันหนึ่ง น้องๆ ของผู้เขียนกำลังชมหนังกาตูนส์ทางโทรทัศน์ ผู้เขียนไปเปลี่ยนช่องเพื่อจะชมรายการเพลงสตริง กำลังเถียงกับน้องว่ารายการเพลงน่าดูกว่าหนังกาตูนส์อยู่พอดี พ่อก็ออกมาแล้วเปลี่ยนไปเปิดช่องมวยไทย เสียงก็เลยดังลั่น เพราะต่างคนก็ไม่ยอม และเปลี่ยนช่องไปมาอยู่เรื่อย ฉะนั้น ผู้เขียนขอตั้งปัญหาถามว่า กาตูนส์ เพลง และมวย อะไรน่าดูน่าชมมากที่สุด บางคนก็อาจตอบว่า มวย เพลง หรือกาตูนส์ น่าดูน่าชมมากที่สุด หรือบางคนอาจตอบว่าทั้งหมดนั้นไม่น่าดูเลย เกมส์โชว์ต่างหากที่น่าดูน่าชมมากว่า อะไรทำนองนี้... และอาจมีบางคนว่าเรื่องนี้ตอบไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของรสนิยม หรือเป็นเรื่องของความพอใจส่วนตัวมากกว่า อะไรทำนองนี้...

            ในเรื่องการตัดสินว่าการกระทำอย่างใดถูกต้องก็เช่นเดียวกัน เป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก เช่นตัวอย่างของนักบุญที่ทำบุญในวันชักพระ พวกที่ทำบุญเชิงปริมาณคือใส่บาตรกับเรือพระเท่ากันทุกวัด กับพวกที่ทำบุญเชิงคุณภาพโดยพิจารณาคุณภาพของเรือพระสวยหรือไม่สวย เรือพระมาจากใกล้หรือจากไกล หรือเปรียบเทียบเรือพระของวัดที่เพียบพร้อมกับขัดสนเป็นเกณฑ์ ฯลฯ ไม่สามารถตัดสินได้ว่าการกระทำบุญแบบใดถูกต้องกว่ากัน เพราะเป็นเรื่องของความชอบใจหรือรสนิยมส่วนตัว นักปรัชญาชาวสกอตต์คนหนึ่งชื่อนายฮูมก็มีความเห็นทำนองนี้ เขาบอกว่าถ้าเป็นวิชาเลขคณิต เช่น ๒ + ๓ = หรือ =   สามารถใช้เหตุผลอธิบายได้ว่าถูกหรือผิด และวิชาข้อเท็จจริง เช่น ตำบลคูขุดตั้งอยู่ในอำเภอระโนด หรือ เกาะโคบอยู่ติดกับเกาะแหลมกรวด สามารถพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือเท็จ แต่การกระทำตามหลักศีลธรรมหรือจริยธรรม ไม่สามารถใช้เหตุผลอธิบายได้ว่าถูกหรือผิดและไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือเท็จ เพราะศีลธรรมหรือจริยธรรมเป็นเรื่องของรสนิยม มิใช่เป็นเรื่องของเหตุผลหรือข้อเท็จจริง ดังนั้น จึงไม่สามารถตัดสินได้ว่าการกระทำใดหรือแนวคิดใดถูกต้อง ถามว่า ใครเห็นด้วยกับนายฮูมบ้าง ?

๔. ฝ่ายคัดค้านผลนิยม

            ผู้เขียนเล่ามาจนกระทั้งล่วงเลยเรื่องผลนิยม กลายเป็นเรื่องการกระทำทางศีลธรรมหรือจริยธรรมตัดสินได้หรือไม่ ดังนั้นจะเอวังผลนิยมแต่เพียงแค่นี้ ที่จริงผลนิยมนี้ยังมีแนวคิดกลุ่มปลีกน้อยอีกมาก และมีกลุ่มอื่นๆ อีกเยอะแยะ ที่ไม่เห็นด้วยกับพวกผลนิยม เช่น นายค้านต์นักปรัชญาชาวเยอรมันบอกว่าผลลัพธ์ของการกระทำใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินไม่ได้ จะต้องใช้เจตนาดีเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าการกระทำนั้นถูกต้อง เจตนาดี ของนายคานต์ก็คือ เราต้องการให้การกระทำที่เรากระทำนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องกระทำอย่างนั้นด้วย ซึ่งเรียกตามนายคานต์ว่า กฎสากล เช่น ปรกติเราพูดคำสัตย์คำจริง เพราะเรารู้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แม้บางครั้งเราอาจพูดเท็จหรือพูดไม่จริงบ้าง แต่เราก็รู้ว่าการพูดเท็จพูดไม่จริงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่ามีเสียงกระซิบมาจากความรู้สึกภายในว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง นายคานต์เรียกว่า คำสั่งเด็ดขาดที่ไม่มีเงื่อนไข การทำตามคำสั่งเด็ดขาดที่ไม่มีเงื่อนไข คือ ความต้องการให้การกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องกระทำที่เรียกว่ากฎสากลนี้แหละเป็นการกระทำที่ถูกต้องของนายคานต์ แต่ ถ้ามีเสียงกระซิบภายในว่า ถ้าต้องการได้คะแนนเสียงมากก็ต้องซื้อเสียงซิ! หรือ ถ้าอยากได้คะแนนสอบมากก็เขียนใส่เศษกระดาษเข้าไปลอกในห้องสอบซิ! เรียกว่า คำสั่งที่มีเงื่อนไข เพราะต้องการผลลัพธ์บางอย่างจึงได้สั่งให้กระทำอย่างนั้น ฉะนั้น การกระทำตามคำสั่งที่มีเงื่อนไขจึงไม่ถูกต้อง

            แนวคิดของนายคานต์ขัดแย้งกับแนวคิดของกลุ่มที่ใช้ผลลัพธ์เป็นเกณฑ์วัดการกระทำทุกอย่าง เราจะเห็นได้ว่าสังคมปัจจุบันวุ่นวายและเสื่อมโทรมเพราะคนในสังคมใช้ผลลัพธ์เป็นเกณฑ์มาก ถ้านักการเมืองและนักเรียนใช้เกณฑ์ตัดสินของนายคานต์ โดยการไม่ซื้อเสียงและไม่ทุจริตในห้องสอบ สังคมคงจะมีความสุขสงบและเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น แต่มิใช่ว่าแนวคิดของนายคานต์จะถูกทั้งหมด ยังมีผู้ไม่เห็นด้วยกับนายคานต์อีกมาก และยังมีปัญหาในการใช้อีกหลายกรณี ยกตัวอย่างว่า ผู้เขียนเดินเล่นอยู่ภายในวัดประมาณสามทุ่มกว่าๆ  ภายในวัดคืนนั้นก็ปลอดคนอื่นๆ ในลานวัด มีหญิงสาวคนหนึ่งวิ่งหน้าตาตื่นเข้ามาในวัด สภาพของหญิงสาวคนนี้บอกได้ว่าถูกรังแกมาหรือหนีการทำมิดีมิร้ายมา เมื่อมาถึงก็บอกว่า ช่วยด้วย ! พี่หลวง ผู้เขียนหันกลับไปดูหน้าวัด เห็นพวกวัยรุ่นวิ่งตามมาแต่ยังอยู่อีกไกล ประมาณ ๔-๕ คน ผู้เขียนจึงบอกว่า เข้าไปอยู่ในห้องน้ำ !” แล้วก็รีบใช้กุญแจห้องล๊อคประตูไว้ เมื่อกลุ่มวัยรุ่นมาถึงก็เข้ามาถามว่า หลวง ! เห็นผู้หญิงวิ่งไปไหนแล้ว ผู้เขียนจะตอบอย่างไร ? ถ้าผู้เขียนบอกตามความจริงก็ถูกต้องตามหลักการของนายคานต์ เพราะนายคานต์บอกว่าเป็นกฎสากลตายตัว ไม่มีเงื่อนไข และไม่ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์หรืออะไรเลย  แต่ถ้าผู้เขียนต้องการช่วยหญิงสาวคนนี้ปลอดภัยจริงๆ  ผู้เขียนต้องใช้ผลนิยมโดยการพูดเท็จหรือพูดบิดเบือนไปอื่น... จะเห็นได้ว่าแนวคิดทั้งสองนี้ขัดแย้งกัน ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นศิษย์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เป็นวิภัชชวาทีเสมอในกรณีต่างๆ ผู้เขียนก็จะต้องใช้วิภัชชวาทตามพระบรมครูไปด้วย วิภัชชวาทเป็นอย่างไร โปรดอ่านต่อข้อต่อไป  

หมายเลขบันทึก: 67327เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2006 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

ได้ความรู้มากเลยค่ะขอบคุณมากค่ะ แล้วสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และก็เป็นการบ้านได้ด้วยค่ะ  หายากมากๆเลย

จ้า 

ด้วยความยินดี

เจริญพร

หากเราเรียกเกณฑ์ตัสินนี้ว่า Norm จะได้ไหม พอเทียบเคียงได้ไหมพระคุณเจ้า

เกณฑ์นี้น่าจะมีหลาย ๆ Item รวมเป็น Component หากใช่จะขอว่าต่อ มองอย่างนี้ เกณฑ์ที่ใช้กับชุมชนหรือสังคมเล็ก ๆ ย่อมมีหลาย Item กว่าชุมชนหรือสังคมใหญ่ ๆ ความเข้มข้นของจริยธรรมในชุมชนหรือสังคมเล็ก ๆก็ต้องสูงกว่าชุมชนหรือสังคมใหญ่เป็นธรรมดา ภายใต้เงื่อนไขว่าเกณฑ์นั้นชุมชน/สังคมนั้นๆให้การยอมรับ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับความว่างแบบว่างๆ นะพระคุณท่าน

จ้า ว่าง

ใช้ norm ก็ได้  ปทัสถาน ก็ได้ เกณฑ์  หรือ กรอบ ระเบียบ บรรทัด มาตรฐาน ก็พอได้ ..ความหมายอาจต่างกันนิดหน่ย แต่บ่งชี้ ว่า ขัดแย้งกับ อำเภอใจ ...ทำนองนั้นแหล

ส่วนประเด็น 4 บรรทัดต่อมา ไม่เข้าใจ ถ้าสนใจจริงๆ ก็ถามมาใหม่ นะจ้า

นอกเรื่องหน่อยนะ ว่าง ตอนนี้ ดูไอทีวีถอดระหัส เรื่อง โชว์วิว มั้ง ? เรื่องเณรแชทกะสาวแล้วหลอกไปข่มขืนมั้ง ?..ค่อนข้างเศร้าปนเซ็งสงท้ายปีเก่าเลย

ยุคนี้ รู้สึกว่านักปรัชญาคิดไม่ทันแล้ว ไปเร็วเหลือเกิน

จ้า 

Item ประมาณว่าเป็นข้อย่อยในองค์ประกอบใหญ่ ๆ (Component) นะครับ Component ในที่นี้หมายถึงองค์ประกอบของการตัดสินจริยธรรม ประมาณนั้นนะ แล้วสังคม ชุมชน เล็กใหญ่หรือสภาพต่างกัน น่าจะมี จำนวน Item ไม่เท่ากัน และอาจจะไม่เหมือนกัน space เชื่อในประเด็นจำนวนข้อของ Item ว่าสังคม ชุมชน เล็ก ๆ จะมีมากกว่า สังคม ชุมชนใหญ่ ๆ ก็จะมีน้อยกว่า

จ้า ว่าง พอเข้าใจ แล้ว

แต่มีปัญหาที่ว่างต้องอธิบายเพิ่มเติม นั่นคือ สังคมเล็ก ทำไมจึงต้องมีข้อย่อยมาก ...ขณะที่สังคมใหญ่จึงต้องมีข้อย่อยน้อย ...

ความน่าจะเป็น ควรที่จะแปรผันตรง คือถ้าสิ่งหนึ่งมากสิ่งหนึ่งควรจะมากไปด้วย แต่นี้เป็นการแปรผันผกผัน คือเมื่อสิ่งหนึ่งน้อยสิ่งหนึ่งกลับมากขึ้น ...

ตามนัยข้างบน มาก หมายถึงสังคมใหญ่ ส่วน น้อยหมายถึงสังคมเล็ก

มิใช่ยวนหรือเวียดนามนะ 5 5 5 แต่จะต้องปรับระดับความหมายของความเข้าใจก่อนเพื่อความชัดเจน..

หลวงพี่ค่ะ...เข้ามาแอบชำเลืองดูก่อนค่ะท่าน พรุ้งนี้จะเข้ามาอ่านรายละเอียดอีกรอบค่ะ คงมีประเด็นให้ ลปรร.หลายประเด็นเชียวค่ะ

 

ที่แปรผกผันกันนั้นก็ด้วยเหตุผลของสังคมนี่แหละนะ

เพราะสังคมโดยรวม (ใหญ่) จะยอมรับอะไรได้ (ที่คุยกันคือ Item แต่ละ Item) ก็ต้องเหมือนกันกับที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับได้ นั่นก็คือหากเอามาจากสังคมเล็ก ๆ ซึ่งมีข้อย่อยมากพอมาเป็นสังคมใหญ่ก็จะเลือกเอาแต่ที่เหมือนกัน ที่ต่างกันก็ละทิ้ง ทำให้จำนวนข้อยิ่งลดน้อยถอยลง จึงเป็นการแปรผกผัน

สังคมใหญ่ที่รายละเอียดของเกณฑ์ลดลง ย่อมมีอิสระมากขึ้น เป็นไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์ แต่คุณธรรมจริยธรรมก็จะลดลงตรงนี้แปรผกผันกันอีกแล้วนะกับความอิสระที่ฝันหา

จ้า ว่าง พยายามทำความเข้าใจนะ

ตามความเห็น ว่าง นะ สังคมเล็กๆ ก็คงคล้ายๆ ที่แคบซึ่งมีความคล่องตัวน้อย ส่วนสังคมใหญ่ๆ คือที่กว้างๆ มีความคล่องตัวมาก ....เป็นการแปรผกผัน ทำนองนี้มั้ง ?

ว่าง ยกคำใหม่ขึ้นมาคือ กระแสโลกาภิวัฒน์ โดยบอกว่าสังคมใหญ่จะไหลบ่าไปตามนี้ ...กระแสโลกาภิวัฒน์คือการทำอะไรที่เป็นไปทำนองเดีวกัน อย่างนั้นหรือ ?

ประเด็นสุดท้าย คุณธรรมจริยธรรมจะลดน้อยลงไปสู่อิสระที่ฝันหา....

ถ้าการแปลความหมายของ ว่าง ใกล้เคียงตามนี้ ...คุณธรรมจริยธรรม ตามประเด็นสุดในในความหมายของ ว่าง นะ เป็นอย่างไร ?... อีกอย่าง กระเสโลกาภิวัฒน์เป็นอย่างไร ?

มีคำเดิมๆ ต้องทำความเข้าใจอยู่อีกหลายคำ คือ สังคม สัมคมเล็ก สังคมใหญ่...คำเหล่านนี้ ว่าง ยกขึ้นมาซึ่งเรายังไม่เข้าใจว่า ว่าง หมายความอย่างไรด้วย...อนึ่ง ถ้าจะคุยต่อ เรามีคำที่จะวางไว้ล่วงหน้า ๒ คำ คือ

สังคมเชิงเดียว คือ สังคมที่มีเกณฑ์ทำนองเดียวกัน เป็นสังคมที่มีสมาชิกไม่มากนัก เช่น สังคมครอบครัว ตระกูล หรือหมู่บ้านขนาดเล็กไม่เกินร้อยหลังคาเรือน...

สังคมเชิงซ้อน คือ สังคมเชิงเดียวหลายจำนวนซ้อนทับปะปนกันอยู่ โดยที่สมาชิกของสังคมเชิงซ้อนนี้จะเป็นสมาชิกสังคมเชิงเดียวหลายๆ สังคม (ทำนองว่าสมาชิกต้องใช้หมวกใบหนึ่งเสมอเมื่อเข้าสังคมหนึ่ง) ประมาณนี้....อ๋อ หมวก คือ เกณฑ์ หรือปทัสถาน ทำนองนั้น

 

space ก็ชักงงเหมือนกัน 555 เอาเป็นว่า space รู้แล้วว่าทำไมคนอื่นงง เพราะ space เองก็งงไงจ๊ะ

space ไม่ได้อ่านตำราและไม่ค่อยได้สนทนาด้านนี้เลย สังคมเชิงเดี่ยวก็คือสังคมเล็ก น่าจะใช่สิ่งเดียวกันกับที่ยกมา สังคมใหญ่ก็จึงเป็นสังคมเชิงซ้อนที่ว่าไว้ด้วยเช่นกัน

เอาที่เป็นจริงไม่ใช่ที่ตั้งขึ้นไว้ แท้จริงแล้ว space เชื่อว่าสังคมเล็กมีเกณฑ์ในส่วนข้อปลีกย่อยเยอะกว่าสังคมใหญ่ เช่นสังคมเล็กจะไม่ยอมให้ออกจากบ้านเมื่อยามค่ำแล้ว สังคมใหญ่จะเฉยๆ และมองว่าห้ามอย่างนั้นเชย ขาดอิสระภาพ สังคมเล็กบอกว่าให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ แต่สังคมใหญ่บอกว่าผู้ใหญ่ก็ไม่ได้ถูกทุกเรื่องอย่าเพิ่งเชื่อ

ที่ว่ามาไม่ได้บอกว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรใช่อะไรไม่ใช่เพียงยกเท่าที่นึกได้ขึ้นมาพอให้เห็นว่าสังคมใหญ่คอยลดเกณฑ์จากสังคมเล็กๆ

จ้า ว่าง

สรุปก็แล้วกันนะ สังคมขนาดเล็กหรือเชิงเดียวนั้น ระเบียบกฎเกณฑ์ค่อนข้างน้อยและขาดความยืดหยุ่น อีกอย่างสภาพบังคับของระเบียบกฎเกณฑ์ในสังคมขนาดเล็กฝ่าฝืนยาก เพราะถ้าฝ่าฝืนก็ยากส์ที่จะอยู่ในสังคมนั้นได้ ทำนองว่าถูกมัดมือชกไม่มีทางเลือก...ประมาณนี้แหละ

ต่างกับสังคมขนาดใหญ่หรือเชิงซ้อน เราสามารถเลือกได้ ไม่ชอบกลุ่มนี้เราก็ไปอยู่กลุ่มโน้น แม้แต่ละกลุ่มอาจมีกฎเกณฑ์แตกต่างกันไปมากบ้างน้อยบ้างก็ตาม ...

ทั้งเล็กและใหญ่หรือเชิงเดียวหรือซ้อน ต่างก็มีลักษณะเด่นเฉพาะของมัน... โดยสังคมเล็กหรือเชิงเดียวจะมีความรักใคร่อบอุ่นช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน (หมู่บ้านเล็กๆ).. ขณะที่สังคมขนาดใหญ่หรือเชิงซ้อนความมีน้ำใจตามแบบเชิงเดียวจะขาดหายไป ต้องพึ่งตัวเอง และต้องเรียนรู้ ปรับตัวเพื่อให้ดำเนินชีวิตไปได้ตลอด (เมืองใหญ่)

ยกตัวอย่างอีกประเด็น หมู่บ้านเล็กๆ มีเพื่อนร่วมวัยอยู่ 5-10 คน เราต้องอยู่ในกลุ่มนี้เท่านั้น ชอบหรือไม่ชอบก็ต้องเล่นไปตามเพื่อน... จะไปซื้อของก็มีอยู่1-2 ร้าน จะเอาไม่เอา..มีศาสนาเดียวและวัดก็มีแห่งเดียว....นั่นคือมีทางเลือกน้อย

ขณะที่เมืองใหญ่ วัยรุ่นไม่ชอบพวกที่เล่นเกมส์ร้านนี้ ก็ไปร้านโน้น ไม่ไปร้านเกมส์ก็ไปสนามกีฬา อ่านหนังสือหอสมุด...ร้านขายของก็มีเยอะแยะหลายระดับเลือกได้ ..ผู้เฒ่าผู้แก่ก็เลือกวัดที่จะไปได้ ไม่ชอบศาสนานี้ก็ไปนับถือศาสนาโน้นได้ ...นั่นคือมีทางเลือกมาก

ยังมีประเด็นที่ขยายได้อีกเยอะ ...และตอนนี้ยังไม่ถึงประเด็นเรื่องกฎหมาย เพราเกณฑ์จริยธรรมหรือธรรมเนียมของสังคมนี้ไม่มีอำนาจบังคับ จึงต้องมี กฎหมาย ...แต่ว่าเหนื่อยแล้ว

     หลวงพี่ครับ ตามอ่าน คห.ทั้ง 2 ท่าน ชอบมากครับ แล้วจะนัดหมายเพื่อไปกราบนมัสการ และขอ ลปรร.ด้วยน่าจะได้นะครับ แล้วจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่งครับ

เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะหลวงพี่... 

เท่าที่เก็บประเด็นได้นะคะ...ไม่มีเกณฑ์ตัดสินใดดีที่สุด ทุกอย่างมีข้อดีข้อเสียอยู่ในตัว ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับมนุษย์ที่ต้องนำวิธีการต่าง ๆ เหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ เพราะขวาเกินก็ไม่ดี ซ้ายเกินก็ไม่ถูก จึงควรเลือกเกณฑ์ตัดสินที่ว่าเลือกทางที่ดีที่สุด...ซึ่งเกณฑ์นั้นอาจจะไม่ถูกต้องที่สุด แต่ก็ไม่ใช่เป็นเกณฑ์ที่ผิดที่สุด แต่เป็นเกณฑ์ที่เลือกแล้วดีที่สุด ในสถานการณ์นั้น ๆ

เจริญพร จ้า

คุณชายขอบ ครับ ถ้ามาก็ด้วยความยินดี แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นนะครับ คงจะเป็นเพียงสิ่งที่เป็นไปได้เท่านั้น ใช่มั้ยครับ

อาจารย์vij  เค้าก็โต้แย้งและจัดระบบไปเท่านั้น ไม่มีอะไรมากครับ ...ส่วนวรรคสุดท้ายว่า " ซึ่งเกณฑ์นั้นอาจจะไม่ถูกต้องที่สุด แต่ก็ไม่ใช่เป็นเกณฑ์ที่ผิดที่สุด แต่เป็นเกณฑ์ที่เลือกแล้วดีที่สุด ในสถานการณ์นั้น ๆ " เค้าเรียกว่า สัมพัทธนิยม ครับ

เจริญพร

     เป็นไปได้ครับ ช่วงนี้ผมเดินทางไปสอนที่ มรภ.สงขลา ทุปสัปดาห์ครับ เพียงแต่เรื่องวันมีเปลี่ยนแปลงบ้างตามภารกิจประจำที่ สสจ.พัทลุง นะครับ

ดีมากเลยครับพระอาจารย์

P

สุคล ศรีอ่อน

ตยา วุตตวจนํ สาธุ โหติ

อามนฺตา 

นมัสการ หลวงพี่ ค่ะ

  กราบขอบคุณ ในความกระจ่างในหัวข้อ และขอนำไปอ้างอิงในบทที่สองของงานวิจัย

นมัสการ หลวงพี่ ครับ

กราบขอบคุณ ในความกระจ่างในหัวข้อ และขอนำไปอ้างอิงในการ นำไปพูดเสริมกับ ผู้ที่สมาคม อยู่ด้วย เพราะยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันอยู่มากครับ

ไม่มีรูป

bugs

 

  • อนุโมทนา....

เจริญพร

นมัสการ พระคุณเจ้า

ขอกราบเรียนถามปัญหาเกี่ยวกับปัญหาจริยศาศตร์ สัก 2ข้อนะครับ

1. จากคำพูดของฮอบส์ ที่กล่าวว่า "การทำประโยชน์ให้ผู้อื่นเป็นเพียงการ"ลงทุน" ที่จะทำประโยชน์ให้กับตนเองภายหลัง คุณธรรมป้นเรื่องของความรอบคอบของคนฉลาด" หากจะให้อธิบายตามแวพุทธจะอธิบายอย่างไรดีครับ ขอความกรุณาด้วยครับ!

2. ช่วยเปรียบเทียบให้เห็นเกี่ยวกับอุดมคติชีวิตของกลุ่ม สุขนิยม อสุขนิยม กับหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับเรื่องความสุข

เนื่องจากต้องความกระจ่างชัดในทัศนะเหล่านี้จึงขอกราบเรียนถามมายังพระคุณเจ้า ขอความกรุณาช่วยแก้ข้อติดข้องด้วยนะครับ

ไม่มีรูป

วัยศึกษา

 

  • ข้อ๑. คิดว่า ไม่ยากน่าจะพอคิดเองได้... ส่วนข้อ๒. หาอ่านได้จากหนังสือปรัชญาหรือจริยศาสตร์ทั่วไป ที่พระภิกษุ (หรือผู้ที่เคยบวชเรียน) เขียน มักจะมีการขยายความประเด็นนี้...

จะตอบเฉพาะข้อแรกนิดหน่อย... ฮอบส์ มีประพจน์พื้นฐานว่า มนุษย์ทั่วไปเป็นผู้เห็นแก่ตัว และ มนุษย์ทั่วไปเป็นผู้กระหายอำนาจ ถ้าทะเลาะกันก็เกิดวุ่นวาย จึงยอมเพื่อทุกคนจะได้ปลอดภัย และการยอมนั่นคือการลงทุน จริยศาสตร์ของฮอบส์มีพื้นฐานมาจากความคิดทำนองนี้.......

แต่คำสอนทางพระพุทธศาสนา มีประพจน์พื้นฐานว่า มนุษย์ทั่วไปเป็นผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตาย และ มนุษย์ทั่วไปเป็นทุกข์เพราะตัณหา ดังนั้น จริยศาสตร์ทางพระพุทธศาสนาจึงเกิดขึ้นจากพื้นฐานความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และเป็นอยู่เพื่อให้สอดคล้องกับการเกิดแก่เจ็บตาย..........

จะเห็นได้ว่า แนวคิดของฮอบส์และพระพุทธศาสนามีประพจน์พื้นฐานแตกต่างกัน......

เจริญพร

เพื่อให้ได้ภาพที่จัดเจน รบกวนหลวงพี่ช่วยกรุณานำเสนอเกณฑ์ตัดสินคุณธรรมจริยในพระพุทธศาสนาเข้าไปประกอบด้วยนะครับ จะเป็นพระคุณยิ่ง

ไม่มีรูป MCUKM

 

 

ไม่แน่ใจว่า คุณโยมอ่านตอนต่อไปหรือยัง เพราะได้ยกวิภัชชวาทมาเปรียบเทียบไว้ด้วย

คุณโยมลองอ่านแล้วพิจารณาอีกครั้ง

เจริญพร

ท.สมหวัง พงสะหวัน (ผมขอเขียนชื่อและนามสกุล ในรูปแบบพาสาลาว อักสอนไทยนะครับ พระอาจารย์)

ผมได้อ่านความคิดเห็นและคำถามละหว่างพระอาจารย์กัยผู้ถามแล้ว สิ่งเหล่านั้นได้ช่วยสร้างความเข้าใจให้แก่ตัวผมมากเลยครับ และปะเด็นที่ผมสนใจที่สุดในขณะที่อ่านก็คือ พระอาจารย์บอกสอน สื่อความหมายในสิ่งต่างๆได้ดีมากเลยครับ ผมเลยเกิดสงสัยว่า คำที่ว่า พระท่านทำ สะมาทิมากๆ แล้วเกิดปัญญาอันล้ำเลิศทุกรูปแบบจะเกิดขื้น
สิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดเหตุเช่นนั้นได้ชัดเจนใช้หรือไม่ครับ พระอาจารย์
(ผมขอเขียนชื่อและนามสกุล และ คำบางคำในรูปแบบพาสาลาว อักสอนไทยนะครับ) เรียงถืงด้วยความเคารพครับ พระอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท