จากรายการกล้าคิดกล้าทำ เช็คชื่อสร้างสรรค์ โทรทัศน์ครู สู่การเรียนรู้ในห้องเรียน


เปลี่ยนความจำเจซ้ำซาก มาสู่การเช็คชื่อโดยให้เด็กคิดหาคำตอบอื่น ๆ แทนคำตอบ "มาค่ะ" "มาครับ"

      จากรายการกล้าคิดกล้าทำ : เช็คชื่อสร้างสรรค์  โทรทัศน์ครู

ซึ่งเป็นกิจกรรมลองเปลี่ยนวิธีการเช็คชื่อในชั่วโมงโฮมรูมของครูที่ปรึกษาจากที่ขานชื่อนักเรียนทีละคน ๆ แล้วนักเรียนก็ขานว่า "มาค่ะ"  "มาครับ"  ซึ่งเป็นความจำเจซ้ำซาก  มาสู่การเช็คชื่อโดยให้เด็กคิดหาคำตอบอื่น ๆ แทนคำตอบ "มาค่ะ"  "มาครับ" 

      วิธีการ

      ๑. ครูเตรียมลำดับเลขที่ลงบนกระดาษสีดำที่สามารถเขียนชอล์กได้

      ๒. เตรียมผู้ช่วยในการเขียนประเด็นบนกระดาน

      ๓. ครูแจ้งให้นักเรียนทราบว่า วันนี้จะให้นักเรียนช่วยกันตอบโจทย์ ประเด็นอะไร เช่น 

           - จงบอกวิธีการประหยัดพลังงานมาคนละ ๑ ข้อ

           - จงบอกวิธีการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

           - ถ้านักเรียนมีเงิน ๑,๐๐๐ บาทจะทำอะไร

                              ฯลฯ

       ๔. ครูขานชื่อ  ทีละคน เมื่อเพื่อนตอบ ผู้ช่วยเขียนคำตอบบนกระดาน  เมื่อครบก็นำข้อมูลไปจัดบอร์ด ตามจุดต่าง ๆ  (ซึ่งจากคำตอบจะทำให้ครูทราบว่าใครมาหรือไม่มา  และทำให้รู้วิธีการคิดของเด็กด้วย)

 

 

        จากกรณีศึกษานำสู่กิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียน

       วิชาภาษาไทย ม.๒

        ๑. ครูเขียนเลขที่ บนกระดาน ตามลำดับ  จนครบทุกคน

        ๒. เปิดประเด็น "จงเขียนชื่อขนมหวานของไทย" คนละ ๑ ชนิด

             นักเรียนก็จะเขียน

                 ขนมตาล   ขนมถ้วย  ลอดช่อง  เม็ดขนุน ทองหยิบ ทองหยอด ทองม้วน ฯลฯ

         ๓. สอนให้สังเกต  บอกที่มาของชื่อขนม  เช่น

               ขนมตาล ทำจากลูกตาล    ขนมถ้วย  อยู่ในถ้วย

               ลอดช่อง  เกิดจากนำแป้งลอดช่อง

               เม็ดขนุน  รูปลักษ์คล้ายเม็ดขนุน

               ทองหยิบ เมื่อนำขึ้นมาจากน้ำเชื่อม ใช้มือหยิบจับจีบ

                                ฯลฯ

         ๔. เชื่อมโยงไปสู่ความรู้เรื่อง "คำประสม"  นักเรียนก็ได้ความรู้เรื่องคำประสม และได้ยกตัวอย่าง ร่วมกิจกรรมอย่างทั่วถึง

         ๕.  ลบข้อมูลเดิมออก  ตั้งประเด็นใหม่   ให้นักเรียนเขียนชื่อตนเองให้ตรงตามเลขที่

         ๖. ครูเขียนชื่อครูและทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

              ภาทิพ     ศรีสุทธิ์

              ป  ต        ป   ต    (คำเป็นคำตาย)

         ๗. ให้นักเรียนเขียนคำเป็นคำตายที่ชื่อตนเอง

         ๘. ครูและนักเรียนช่วยกันตรวจคำตอบของเพื่อนและสรุปความรู้เรื่องคำเป็นคำตาย

         ๙. ที่ชื่อครู   ครูเขียนเสียงวรรณยุกต์ให้นักเรียนดูเป็นตัวอย่าง

               ภาทิพ     ศรีสุทธิ์

              ส    ต         จ    อ     (สามัญ ตรี จัตวา เอก)

         ๑๐. นักเรียนออกไปเขียนเสียงวรรณยุกต์กำกับที่ชื่อของนักเรียน

        ๑๑. นักเรียนและครูร่วมกันตรวจคำตอบและสรุปความรู้เรื่องเสียงวรรณยุกต์

 

          จากกิจกรรมที่กล่าวมา  จะเห็นว่าเป็นกิจกรรมง่าย ๆ ไม่ต้องลงทุนออกแบบอะไรมากมาย

          จุดเด่น  นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วม  ไม่ต้องรอลุ้นว่าครูจะเรียกเรามั้ย

          จุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง  ทำอย่างไรที่จะให้มีลำดับเลขที่เตรียมพร้อมไว้  โดยนักเรียนไม่ต้องรอครูเขียนเลขที่ในขณะนั้น

          ข้อเสนอแนะ   การออกมาเขียนไม่จำเป็นต้องเริ่มจากเลขที่ ๑ เสมอไป  อาจจะสลับ   ต้น  กลาง  ปลาย  ปลาย  กลาง  ต้น  บ้างก็ได้

      

แรงบันดาลใจจาก รายการกล้าคิดกล้าทำ :เช็คชื่อสร้างสรรค์ โทรทัศน์ครู

http://www.thaiteachers.tv/tv/?t=6&c=18&v_page=2

       

                

หมายเลขบันทึก: 439719เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2011 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

นักเรียนชุดนี้ ออกมา จะเป็นคนจับประเด็น ตั้งคำถาม เขียน แมปเป็นแน่นอน

ถือเป็นการเรียนรู้ที่มีส่วนร่วมในการฝึก

สวัสดีค่ะ ท่านวอญ่า

  • บรรยากาศในห้องเรียนเดิม  ท่านวอญ่าคงเคยเห็นนะคะ  เด็กหลายคนอยากตอบ แต่ครูมองไม่ถึง  ชี้ไม่ถึง  เด็กตอบครูไม่ได้ยิน   เด็กหลายคนไม่มีโอกาสแสดงออก

 

  • แต่กิจกรรมนี้ เด็กได้แสดงความรู้ความคิดทุกคน  และกิจกรรมอย่างนี้เด็กก็ควรจะได้คะแนน  เพราะเขามีส่วนร่วม   ไม่ใช่ไปวัดผลเอาตอนสอบอย่างเดียว
  • เด็กมีโอกาสเห็นตัวอย่างความรู้ที่หลากหลาย  เด็กที่ไม่เข้าใจก็จะเข้าใจจากทีได้เห็นตัวอย่างของเพื่อน
  • แต่ครูต้องเหนื่อยหน่อยนะคะ  ต้องเดิน  ต้องพูดกระตุ้นท้าทายให้เด็กคิด
  • ขอบคุณค่ะ
  • มาเยี่ยมกิจกรรมครับ
  • กล้าคิดกล้าทำ
  • แบบนี้นักเรียนจะกล้ามากขึ้นนะครับ
  • สวัสดีค่ะ
  • ครูภาทิพคะ
  • อ่านบันทึกนี้แล้วอยากให้ดอกไม้อีกหลายๆดอกอีกแล้วค่ะ
  • ครูเล่าวิธีสอนภาษาไทยที่สนุกสนาน เด็กมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน
  • อยากให้คุณครูทุกๆคนได้อ่านบันทึกนี้จังเลยค่ะ
  • ขอบคุณมากค่ะ นำมาเล่าอีกนะคะ จะขอนำไปบอกครูต่อๆไปค่ะ

ตอนที่เรียน ป. สี่ครูให้ออกไปเล่าเรื่องความฝันของฉัน เล่าไม่ออก

แต่บอกเล่าเรื่องอะไรก็ได้ เรื่อง ทำว่าว ยิงนก ตกปลา หาลูกคลักหาเห็ดเหม็ด เล่าได้ไม่ตกหล่น จึงเป็นคนเล่าเรื่องมาถึงวันนี้ครับครู

สวัสดีค่ะ ท่าน ผศ.โสภณ

  อิอิ  วันนี้มีเวลาเตรียมตัวดี (คาบแรกว่างให้เตรียมตัว) กิจกรรมก็ค่อนข้างเป็นที่พอใจของเด็กและครู   แต่ไม่แน่นะ  ถ้าคุณใหญ่สมัยก่อนมาเห็น  ครูภาทิพอาจจะถูกดุก็ได้

เพราะเด็กดังและพลุกพล่านมาก  สมัยเป็นครูสาว ๆ ถูกครูอาวุโสค้อนเอาบ่อยเพราะชอบให้เด็กเล่นเกม  แล้วเสียงเด็กดังไปถึงห้องข้าง ๆ

ขอบคุณสำหรับกำลังใจที่มอบมาค่ะ

สวัสดีค่ะ ท่านศน.

Ico48

ครูภาทิพเป็นโรคจิต ที่ต้องเตรียมการสอน  กังวลกับสิ่งที่จะสอน  ถ้าไม่เตรียมความพร้อม  การสอนจะค่อนข้างล้มเหลวค่ะ 

หากขอได้ ก็จะขอฝ่ายตารางสอนว่า ขอคาบแรกให้ว่างนะ  จะได้มีเวลาเตรียมตัว

ก่อนนี้ในการสอนครั้งหนึ่ง ๆ จะเตรียมสื่อมากมายเกินความจำเป็น  พอแก่ตัวเข้าจะเน้นไปที่กระบวนการมากกว่า  ซึ่งก็จะพบว่า กระบวนการง่าย ๆ สื่อไม่ต้องยุ่งยากซับซ้อนก็ทำให้เด็กสนุกได้  เดี๋ยวนี้ชอบให้นักเรียนออกมาเขียนบนกระดาน  ซึ่งช่วยแก้ป้ญหาการดูแลเด็กไม่ทั่วถึงด้วยค่ะ (ห้องละ ๕๐ คน)  หากปล่อยเด็กนั่งมาก ๆ เขาจะยุ่งอยู่กับเครื่องมือสื่อสาร

 

ขอบคุณค่ะ 

ค่ะ ท่านวอญ่า  หลักการเรียนรู้เหมือนกันกับหลักการทำงาน 

    เรียนรู้เรื่องใกล้ตัวเด็กจะมีความมั่นใจมากกว่า  เมื่อเขามั่นใจแล้วจึงก้าวไปสู่เรื่องไกลตัว

    ทำงานในสิ่งที่รัก  ผลงานย่อมดีกว่างานที่ทำโดยผู้อื่นสั่งการ

    เด็กที่อ่านหนังสือไม่ออกหรืออ่านช้า  ถ้าให้เขาอ่านเรื่องราวที่เขาชอบ เขาสนใจ น่าจะได้ผลกว่านำหนังสือของกระทรวงไปให้อ่าน

 

    ขอบคุณสำหรับคำแนะนำดี ๆ ค่ะ

*ขอบคุณค่ะ..น่าชื่นชมแนวคิดนี้มากค่ะ..อยาก(กลับไป)เป็นเด็กนักเรียนของครูภาทิพ จังเลยค่ะ..ทำให้ตื่นตัวอยู่เสมอ..

*เก็บภาพ โครงการ “รวมพล (ครอบครัว) คนพันธุ์ Rh-” ประจำปี ๒๕๕๔ มาฝากค่ะ

สวัสดีครับ

ผมเห็นดีมากครับ ที่ให้เด็กคิดมากที่สุด

คนไทยจะได้คิดมาก ๆ และสร้างสรรค์ครับ

สบายดีนะครับ

สวัสดีค่ะ น้องทิมดาบ

  • ขอบคุณสำหรับการมาเยี่ยมพร้อมดอกไม้กำลังใจค่ะ
  • ช่วงนี้คงต้องขอโทษหากไม่ค่อยได้แวะไปเยี่ยมเยียนนะคะ

เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ดีมากๆ อยากให่ครูมาอ่านแล้วนำไปปฏิบัติจริงๆ

เป็นกิจกรรมที่ส้รางสรรค์ขอนำไปใช้ในชั้นประถมคงไม่ว่ากันนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท