กิจกรรมปัจฉิมนิเทศหลักสูตรพนักงานควบคุมไฟฟ้ากับงานจิตอาสาที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก กาญจนบุรี


เราได้เชื่อมโยงกิจกรรมนี้ไปยังเรื่องของ Team Spirit, Safety & Service Mind รวมทั้งเรื่อง Management/Rule & Regulation อีกทั้งยังประหยัดงบประมาณด้วย

 

 

หลังจากที่เราได้นำกิจกรรมจิตอาสามาเชื่อมโยงกับงานฝึกอบรมพนักงาน มีผลตอบรับจากผู้ที่เกี่ยวข้องดีพอสมควร แต่อุปสรรคของเราที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือเรื่องงบประมาณ  ดังนั้นทีมเราก็ได้คุยกันเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนารูปแบบให้เหมาะสมมากขึ้น ค่าใช้จ่ายที่เห็นชัดที่สุดคือค่ารถ อาหาร และที่พัก และจากการสำรวจพื้นที่ของทีมงานเราก็ได้สถานที่ ที่รองรับความต้องการของพวกเราได้เกือบทั้งหมด ที่ยังอยู่ใน Concept ของจิตอาสาและประหยัดงบประมาณ นั่นคือ โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ของมูลนิธิเด็ก จ. กาญนบุรีนั่นเอง (http://www.ffc.or.th/mbd/th/index.php)

 

 

กิจกรรมปัจฉิมนิเทศของพนักงานควบคุมรถไฟฟ้าครั้งนี้ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14-15 ตุลาคม 2553 มีพนักงานควบคุมรถไฟฟ้าเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 19 คน วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมนี้ จัดขึ้นเพื่อให้พนักงานสามารถเชื่อมโยงการองค์ความรู้ของตัวพนักงานเองไปยังเรื่องของความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และทัศนคิตที่เกี่ยวข้องกับ การทำงานเป็นทีม จิตสำนึกด้านความปลอดภัยและการให้บริการ ครอบคลุมไปถึงเรื่องการบริหารจัดการและกฏระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติ ต่างๆ (Procedure/Work Instruction/Rule & Regulation) ที่ต้องปฏิบัติด้วยความมีจิตสำนึกอย่างเต็มใจ ก่อนที่พนักงานเหล่านี้จะต้องไปฝึกปฏิบัติงานที่สถานที่จริง (OJT : On the Job Training)

 

 

แนวคิดและแผนงานอย่างคร่าวๆ เราวางไว้ดังนี้คือ ให้พนักงานเดินทางด้วยรถไฟสวัสดิการรัฐ (ฟรี) จากสถานีบางกอกน้อย ไปยังสถานีสะพานแควใหญ่ แล้วเอารถสองแถวไปรับ เพื่อไปส่งยัง โรงเรียนหมู่บ้านเด็กที่อยู่ห่างจากตัวสถานีประมาณ 30 กม. จากนั้นก็รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับเด็กๆที่อยู่ในความดูแลของโรงเรียน ทั้งหมด 155 คน ซึ่งเราจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงในมื้อนั้นในราคาเพียง 3,000 บาทเท่านั้นเอง หลังจากรับประทานอาหารเสร็จก็มอบของบริจาคที่เราได้รวบรวมเรี่ยไรให้กับโรงเรียน กิจกรรมช่วงบ่ายก็จะเป็นกิจกรรมช่วยน้องขุดดินทำแปลงผัก ส่วนกิจกรรมตอนกลางคืนก็จะเป็นกิจกรรมเปิดใจ และจบลงด้วยกิจกรรมสร้างจิตสำนึกสติสมาธิ ให้เห็นความสำคัญของการอบรมที่ผ่านมาทั้งหมด และกิจกรรมสุดท้ายในวันรุ่งขึ้นก็จะเป็นกิจกรรมสรุปรวมสิ่งที่ได้จากกิจกรรมที่มาทำในสองวันนี้ทั้งหมด (AAR : After Action Review)

 

 

กิจกรรมที่เราวางแผนไว้จะเชื่อมโยงไปยังเรื่องฝึกอบรมทุกกิจกรรมตั้งแต่เริ่มเดินทางออกจากบ้าน เพราะเรานัดกันที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย เวลา 7.00 น. (ก่อนรถออกประมาณครึ่งชั่วโมง เพื่อเตรียมการเรื่อง Check in ต่างๆ ให้เรียบร้อย) ถ้าใครไปไม่ทันอาจพิจารณาให้ไม่ผ่านการอบรมในครั้งนี้ เพราะการทำหน้าที่พนักงานควบคุมรถไฟฟ้าต้องเป็นผู้ที่ดูแลเรื่องการเดินรถให้ตรงเวลา ซึ่งต้องมีจิตสำนึกในการทำหน้าที่อย่างตรงเวลาที่สุด และถ้าขึ้นรถไฟไม่ทันต้องเดินทางไปโรงเรียนหมู่บ้านเด็กให้ทันเวลาที่กำหนดด้วยวิธีการใดก็ได้  ระหว่างการเดินทางเราได้ให้งานกับพนักงานไว้โดยให้สังเกตการให้บริการของรฟท. เปรียบเทียบกับการให้บริการรของ BTS ว่าแต่ละองค์การมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร และจะนำไปปรับใช้กับองค์กรของเราได้อย่างไรโดยเฉพาะเรื่องความความปลอดภัย การบริการของพนักงาน การบริหารจัดการ เป็นต้น

 

 

เมื่อถึงวันเดินทางจริงเราพบปัญหาอุปสรรคที่คาดไม่ถึงหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องการ Delay ของรฟท. เพราะตามตารางเวลาการเดินรถ รถไฟต้องออกจากสถานีบางกอกน้อยประมาณ 7.30 น. แต่กว่าจะออกมาได้ก็เกือบเก้าโมง ทำให้กว่าที่จะเดินทางถึงหมู่บ้านเด็กก็เลยเวลาอาหารกลางวันไปค่อนข้างมากแล้ว ทำให้เราไม่ได้ร่วมรับประทานอาหารกับเด็ก เราจึงปรับแผนโดยการมอบของบริจาคก่อนแล้วค่อยไปรับประทานอาหารเที่ยง ซึ่งก็เลยเวลามามากจนเกือบบ่ายสองโมงแล้ว ระว่างการเดินทางของพนักงานผมไม่ได้เดินทางโดยรถไฟไปกับพนักงานด้วย แต่ได้เดินทางโดยรถส่วนตัวล่วงหน้ามาก่อนทั้งที่สถานีรถไฟสะพานข้ามแม่น้ำแคว และโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เพื่อช่วยประสานงานเตรียมงานเบื้องต้นร่วมกับทีมงานอื่นๆ ที่ล่วงหน้ามาก่อนเช่นกัน  

 

 

ระหว่างที่รอพนักงานเดินทางมาถึงนั้นผมได้คุยกับ “แม่นี” เจ้าหน้าที่ประสานงานของหลักของโรงเรียน สิ่งที่ผมได้สนทนากับเธอผู้นี้เป็นที่ประทับใจผมอย่างมาก มีหลายเรื่องเป็นที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ผมได้สัมผัสกับความมีอุดมการณ์อันแรงกล้าของการแก้ปัญหาพัฒนาเด็ก การพัฒนาคน ขยายไปถึงการพัฒนาปฏิรูปประเทศ ตามแนวคิดปรัชญาตะวันออก เศรษฐกิจพอเพียง เรารู้สึกคุยกันถูกคออาจเป็นเพราะเราเป็นคนอีสานเหมือนกัน มีพื้นฐานรากเหง้าของความเป็นคนบ้านนอกเหมือนกัน มีทักษะความรู้ที่เป็นเรื่องพื้นฐานชีวิตของคนบ้านนอกเหมือนกัน โดยที่ทักษะความรู้นั้นเป็นเรื่องธรรมชาติติดตัวจากการสอนของพ่อแม่อยู่แล้ว เช่น การทำมาหากินกับธรรมชาติ อาหารพื้นเมือง การหุงหาอาหาร การปรุงอาหาร เป็นต้น สนใจเรื่องเดียวกัน อย่างเช่น แนวคิดของนักการศึกษาแบบองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นจอนโฮลล์ (Summer Hill) แนวคิดที่นี่ไม่มีโรงเรียน (ไอวาล อิลสิช) แนวคิดเด็กตามธรรมชาติ การสอนเด็กแบบบูรณาการ แนวคิดจิตปัญญาศึกษาของนักคิดหลักๆ เช่น ท่าน ส.ศิวลักษณ์ อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู เป็นต้น บันทึกต่อๆ ไปจะได้นำเสนออย่างละเอียดต่อไปครับ

 

 

หลังจากรับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว เราก็ได้มารวมตัวกันที่ใต้ถุนเรือนไทยซึ่งเป็นที่พักของพวกเรา เพื่อทำกิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนที่จะไปขุดดินกัน กิจกรรมช่วงนี้ ครูเศกทำหน้าที่เป็นผู้นำกิจกรรม โดยเน้นไปในเรื่องของสติและสมาธิ เช่น การนับเลขพร้อมกับจัดท่าทางให้ถูกต้อง นอกจากนี้ครูเศกยังได้เชื่อมโยงกิจกรรมละลายพฤติกรรมอื่นๆ เช่น การมอบหมายให้ทำหน้าที่ตามขั้นตอน กับการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน การปฏิบัติตามขั้นตอนระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด การไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ครูเศกใช้เวลาประมาณชั่วโมงนิดๆ หลังจากนั้นเราก็แบ่งกลุ่มเป็น 4 กลุ่มกลุ่มละ 4-5 คน เพื่อช่วยกันขุดแปลงผักจำนวน 4 แปลง กิจกรรมการขุดแปลงผักนี้เราจะเชื่อมโยงไปยังเรื่อง Team Spirit, Safety & Service Mind, Management และ /Rule & Regulation ซึ่งวันรุ่งขึ้นเราจะให้พนักงานสรุปช่วยกันต่อไป

 

 

หลังจากที่ทุกคนได้ออกแรงจนเหนื่อยและได้ผลงานเป็นที่พอใจแล้ว เราก็ให้ทุกคนได้พักผ่อนตามอัธยาศัย ก่อนที่จะรับประทานอาหารเย็นต่อไป ระหว่างนั้นเราได้ร่วมกันเล่นน้ำที่ท่าน้ำของลำน้ำ เข้าใจว่าน่าจะเป็นแม่น้ำที่ปล่อยออกมาจากเขื่อนท่าทุ่งนา กิจกรรมนี้ดูเผินๆอาจจะเป็นแค่กิจกรรมสนุกสนานเท่านั้น แต่ลึกๆ แล้ว เราสามารถเชื่อมโยงไปยังเรื่อง Team Spirit, Safety & Service Mind, Management และ /Rule & Regulation ได้อย่างเนียนๆ

 

 

กิจกรรมช่วงค่ำเราเริ่มกันหลังจากที่รับประทานอาหารค่ำเรียบร้อยแล้วประมาณหกโมงเย็น ซึ่งบรรยากาศก็เริ่มมืดแล้ว กิจกรรมนี้นำทีมโดยครูจุ๋มเป็นผู้นำกิจกรรม ใช้ชื่อว่า กิจกรรม “เปิดใจ” ที่นำแนวคิดของ Dialogue มาใช้ โดยให้ทุกคนล้อมวงกันแล้วให้ฟังเพลงเพื่อ Build อารมณ์กันก่อน โดยการหลับตาแล้วพิจารณาตามเนื้อร้องทำนองเพลง  (วันนั้นเราใช้เพลง “เพื่อนไม่ทิ้งกัน” ของนริทร ณ บางช้าง)  จากนั้นก็ให้แต่ละคนจุดเทียนซึ่งเป็นตัวแทนของแต่ละคนนำไปวางไปที่รูปหัวใจกลางวง  จากนั้นก็ให้ทุกคนเริ่มพูดตามความต้องการ ใครอยากพูดอะไรก็พูด ให้พูดทีละคน ไม่แย่งกันพูด ไม่พูดแทรก ไม่พูดแบบ Discuss กัน ไม่เถียงกัน ไม่โน้มน้าวกัน ปล่อยวางความคิดและการตัดสินใจของตน มุ่งหากระแสการไหลของความคิด เน้นการฟัง ไม่มีการพูดคุยซุบซิบในกลุ่ม ไม่ครอบครองการพูดเพียงคนเดียว ไม่มุ่งหาข้อสรุป ไม่วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น

 

 

และเนื่องจากเรายังไม่แน่ใจว่าจะใช้เรื่องอะไรนำการพูดครั้งนี้ เราก็ได้กำหนดหัวข้อการพูดให้แคบเข้ามา เช่น เพื่อนที่ดีเป็นอย่างไร อะไรเป็นสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้การทำงานเป็นทีมประสบความสำเร็จ เป็นต้น ผลตอบของการคุยในช่วงแรกพบว่าค่อนข้างน่าเบื่อ ผมพยายามใช้ทฤษฎีเข้าเงียบเพื่อให้คนในวงได้พิจารณาคำพูดและเสียงในหัวของตัวเอง แต่พบว่าทุกคนแสดงอาการเบื่อหน่ายและง่วงนอน ซึ่งอาจเป็นเพราะตื่นแต่เช้าและทำกิจกรรมออกแรงช่วงกลางวันมาก เราจึงปรับเปลี่ยนแผนใหม่โดยให้ทุกคนได้พูดตามหัวข้อดังนี้

- ขอโทษคนที่เราอยากจะขอโทษ

- ขอบคุณคนที่เราอยากจะขอบคุณ

- ขอสิ่งที่เราอยากได้จากวงหรืออยากให้ใครทำอะไรกับเรา

- ให้สิ่งที่เราอยากจะให้กับวงหรือบอกสิ่งที่เราต้องการบอกกับใครที่เราอยากจะให้

หลังจากที่ทุกคนได้พูดก็ทำให้บรรยากาศดีขึ้นครูจุ๋มจะเน้นการสัมผัสกัน เช่น การจับมือ การกอด หลังจากที่แต่ละคนได้แสดงความรู้สึกระหว่างกันและกันแล้ว ในวงไม่เฉพาะพนักงานที่เข้าร่วมกิจกรรมเท่านั้น ผมในฐานะครูฝึกภาพรวมของพนักงานเหล่านี้ก็ได้มีโอกาสแสดงความรู้สึกในทั้ง 4 ข้อดังกล่าวด้วย ทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น และมีความรู้สึกดีๆ ให้แก่กันระหว่างเพื่อนร่วมห้องและครูกับศิษย์ เสร็จจากการคุยกันเราก็ Build อารมณ์กันอีกครั้งด้วยการจับมือไขว้กันล้อมวงแล้วร่วมฟังเพลงกันด้วยเพลง “โชคดีนะเพื่อน” ของไมโคร กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมสุดท้าย

 

 

กิจกรรมสุดท้ายในช่วงค่ำได้ถูกขมวด Wrap Up โดยครูเศก ซึ่งครูเศกได้ตั้งชื่อกิจกรรมนี้ว่ากิจกรรม “เปลี่ยนใจ”  ที่เน้นสรุปอารมณ์ของความผูกพันระหว่างความสัมพันธ์ คนที่เกี่ยวข้องกับเรา โดยให้แต่ละคนแลกเปลี่ยนความคาดหวังกัน ที่สมมุติว่าถ้าคืนนี้เป็นคืนสุดท้ายของการมีชีวิต เราอยากจะทำอะไรมากที่สุด ผลที่ออกมาส่วนใหญ่จะเน้นไปในเรื่องความกตัญญูต่อพ่อแม่ผู้มีพระคุณกว่า 95 % ครูเศกก็ได้ในแนวคิดว่าสิ่งที่เราอยากจะทำให้รีบทำซะ อย่าคิดมาก เพราะถ้ามัวแต่คิดก็ไม่ได้ทำ โดยเฉพาะเรื่องการตอบแทนบุญคุณ สุดท้ายครูเศกได้ Build อารมณ์ต่อไปยังความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ และจบลงด้วยการผูกข้อไม้ข้อมืออวยพรกัน

 

 

กิจกรรมวันรุ่งขึ้นผมรับหน้าที่เป็นผู้นำกิจกรรม ที่สรุปรวมสิ่งที่ได้จากการมาอยู่ร่วมกันทำกิจกรรมตั้งแต่ออกเดินทางจากกรุงเทพ จนถึงเวลา ณ ขณะนี้ จากแนวคิดของ AAR : After Action Review โดยผมให้แต่ละคนช่วยกันคิดช่วยกันเขียนสิ่งต่างๆ ดังนี้

1. รู้สึกอย่างไรกับกิจกรรมทั้งหมดตั้งแต่ออกเดินทางจากกรุงเทพ จนถึงเวลา ณ ขณะนี้

2. ได้อะไรจากกิจกรรรมทั้งหมดเหล่านี้

3. กิจกรรรมทั้งหมดเหล่านี้เชื่อมโยงไปยังเรื่อง Team Spirit, Safety & Service Mind, Management และ /Rule & Regulation อย่างไรบ้าง

4. จะนำสิ่งที่ได้จากข้อ 1,2 และ 3 นี้ ไปใช้ในชีวิตการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างไร

 

 

หลังจากนั้นผมก็ให้แต่ละคนได้นำเสนอและพูดคุยกันในเรื่องที่ได้เขียนมาทั้งหมด ซึ่งทุกคนได้มีโอกาสพูด สิ่งเหล่านี้คือองค์ความรู้ที่ทุกคนได้สร้างร่วมกัน ดังนั้นจึงพูดได้ว่านี่คือความรู้มือหนึ่งที่ทุกคนได้สร้างร่วมกัน แต่จะนำไปใช้ได้ได้อย่างมีประสิทธิผลหรือไม่ต้องนำไปปฏิบัติเห็นจริงอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยให้ตัวแทนของห้องรวบรวมเรียบเรียงแล้วส่งที่เหล่านี้ให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งเพื่อนร่วมห้อง ผู้บังคับบัญชา และครูผู้สอนทั้งหมด

 

 

หลังจากจบกิจกรรมนี้เราก็รับประทานอาหารกลางวันและเตรียมตัวกลับ ซึ่งตามแผนเดิมวางไว้ว่าจะให้กลับโดยรถไฟกัน แต่ดูสภาพแล้วกว่าจะกลับถึงกรุงเทพคงดึกและอ่อนเพลียกันมาก เพราะวันรุ่งขึ้นบางคนต้องทำงานเข้ากะตาม Duty ที่เกี่ยวข้อง เราจึงให้เดินทางกลับซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพียงคนละ 110 บาทเท่านั้น โดยให้รถสองแถวไปส่งที่ท่ารถตู้เพื่อเดินทางต่อไป

 

 

กิจกรรมปัจฉิมนิเทศ 2 วัน 1 คืน สำหรับพนักงาน 19 คน รวมเจ้าหน้าที่ครูฝึกและต้นสังกัดอีกประมาณ 10 คน รวมเบ็ดเสร็จ 30 คน นี้ เราของบประมาณไว้เพียง 14,000 บาท เท่านั้น เผื่อเบ็ดเตล็ดไว้ 5,000 บาท รวม 19,000 บาท ผมคิดว่าการอบรมครั้งนี้ใช้งบประมาณน้อยมาก เฉลี่ยต่อหัวไม่ถึง 700 บาท เพราะงบประมาณเหล่านี้ครอบคลุมทั้งเรื่องที่พัก อาหาร ทั้งอาหารหลักและอาหารว่าง 4 มื้อ ข้าวต้มรอบดึก ค่าเดินทาง  ผมคิดว่าสถานที่แห่งนี้น่าจะเป็นสถานที่หลักสำหรับการทำกิจกรรมจิตอาสาเชื่อมโยงไปยังเรื่องการฝึกอบรมกับหลักสูตรอื่นๆได้ด้วย เพราะโรงเรียนยังมีเรื่องให้ทำอีกมาก เช่น การซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่างๆ การทำการเกษตร การเติมเต็มสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถประชาสัมพันธ์ตามแนว CSR ได้อีกด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 403378เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2010 04:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 10:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สุดยอดเลยค่ะคุณครูพี่หนึ่ง...คิดว่ากิจกรรม "เปิดใจ" ครั้งหน้าจะต้องปรับหรือหาเทคนิคมาช่วยให้เกิดความน่าสนใจมากขึ้นค่ะ ขอบคุณนะคะที่ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรม

ตัวแทนของห้องได้สรุปรวมรวบเรียบเรียงองค์ความรู้ได้ดังนี้ครับ

กิจกรรม Smile Heart Smart Team . ณ มูลนิธิบ้านเด็ก จังหวัด กาญจนบุรี 14 – 15 ตุลาคม 2553

สิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรม ตั้งแต่เริ่มเดินทางจนถึงสิ้นสุดกิจกรรม คือ

* ก่อนการเข้าร่วมกิจกรรมสิ่งแรก คือ ทุกคนมีความแตกต่างกันหลายอย่าง ตั้งแต่ คุณวุฒิ วัยวุฒิ อาชีพ นิสัยใจคอ

ฯลฯ เมื่อมาอยู่ร่วมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความคิดที่หลากหลายแตกต่างกัน การยอมรับซึ่งกันและกัน ไม่รู้นิสัยใจคอกัน

ความขัดแย้งย่อมต้องมีเกิดขึ้นบ้างเป็นธรรมดา บางคนเป็นคนตรงก็พูดออกมาเลย บางคนเงียบก็เก็บความไม่พอใจไว้ในใจ โดยไม่มีใครรู้ว่าใครทำให้ไม่พอใจ จนทำให้รู้สึกอึดอัดในการอยู่ร่วมกัน ไม่อยากมองหน้ากัน เกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อกัน ทำให้เกิดบรรยากาศที่ไม่ดีในการอยู่ร่วมกันโดยไม่รู้ตัว

* หลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมแล้ว ทุกคนได้มีโอกาสเหนื่อยร่วมกัน สนุกร่วมกัน ใช้ความสามัคคีในการทำกิจกรรมให้สำเร็จตามภารกิจที่ดีรับมอบหมาย กินนอนด้วยกัน ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงมีกิจกรรม เปิดใจ ที่ทำให้ทุกคนได้มีโอกาสพูด ในสิ่งที่อยากพูด อยากบอก อย่างอิสระได้มีโอกาสพิจารณาข้อบกพร่องข้อที่ไม่ดีของกันและกัน ทำให้เกิดยอมรับและเข้าใจนิสัยใจคอของกันและกันมากขึ้น ทำให้รู้ถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างไรให้มีความสุข

การปรับตัวเมื่ออยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้เป็นการละลายพฤติกรรมของทุกคนได้เป็นอย่างดี

ได้รู้ความหมายของคำว่า

Team คือ การทำงานร่วมกันอย่างมีระบบแบบแผน มีรูปแบบ มีการวางแผนงาน การติดต่อสื่อสาร การแบ่งงานกันทำ ความร่วมมือ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามภารกิจหรือสิ่งที่ไดรับมอบหมาย

Safety คือ เรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน เริ่มตั้งแต่การเตรียมตนเองให้พร้อมสำหรับงาน มีการสื่อสารที่ชัดเจนในการทำงาน การทบทวนคำสั่ง อุปกรณ์ในการทำงานต้องพร้อม สถานที่ในการปฏิบัติงานต้องปลอดภัย การมีสติและสมาธิในการทำงานอยู่เสมอ

Service คือ การบริการ ได้ทำงานบริการสังคม ได้ดูแลบริการคนที่มาอยู่ร่วมกัน มีรอยยิ้ม มิตรภาพ และการแบ่งปันกัน การมีน้ำใจ ความจริงใจ การทำงานที่มาจากใจ

Management คือ เรื่องของการจัดการ ในการทำกิจกรรมให้สำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายนั้น ต้องมีการจัดการและการวางแผนงานที่ดี เช่น กิจกรรมยกร่องแปลงผัก ต้องมีการแบ่งความรับผิดชอบ แบ่งกลุ่ม แบ่งหน้าที่กัน จัดสรรเวลา อุปกรณ์ สถานที่ อย่างชัดเจน ว่าเริ่มจากจุดไหน ใครเริ่มก่อน สิ้นสุดที่ใคร เวลาในการทำงานเท่าไหร่ ในการทำงานที่ดีก็เช่นกัน ต้องมีการจัดการที่ดี เพื่อให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมาย ที่ได้วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

Rule ; Regulation คือ กฎ กติกา การอยู่ร่วมกันในสังคมได้ต้องมีกฎกติกาในการอยู่ร่วมกันเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ในการทำกิจกรรมก็เช่นกันต้องมีกฎ ว่าเกมนี้ต้องเล่นอย่างไร มีข้อจำกัดอย่างไร มีกรอบเวลา อย่างไร เราต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อกำหนดที่ได้วางไว้ จึงถือว่าเราได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้ว ในบ้านเมืองมีกฎหมายไว้ให้ปฏิบัติตาม ในบริษัทก็มีข้อกำหนดและระเบียบให้เราปฏิบัติตามเช่นกัน เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ในแนวทางเดียวกัน

การนำสิ่งที่ได้จากการร่วมกิจกรรมไปประยุกต์ใช้ในชีวิตการทำงาน

- การอยู่ร่วมกันในที่ทำงาน

- การตรงต่อเวลาในการปฏิบัติงาน

- ความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น

- การรู้หน้าที่ของตนเอง

- การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

- การเคารพซึ่งกันและกัน

- การทำงานเป็นทีม

- การมีสติและสมาธิในการทำงาน

- ความปลอดภัยในการทำงาน

- การตรวจสอบความพร้อมของ ตนเอง อุปกรณ์ สถานที่

- การสื่อสารในการทำงานที่ชัดเจน

- ความรอบคอบ การประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นขณะปฏิบัติงาน

- ความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น

- การทำงานด้วยความเต็มใจและจริงใจ

- การปฏิบัติตามกฎ และกติกา อย่างเคร่งครัด

- ต้องคารวะห้าจอกจริง ๆ ทั้งครูหนึ่ง, ครูจุ๋ม เพิ่งพบกันหลักสูตรนี้ครั้งเดียวของ สคส. ก็เก็บเกี่ยวและนำไปใช้ได้ล้ำวงจรจริง ๆ บุคลากรคับแก้วเยี่ยงนี้ BTS คงไม่ขึ้นค่าโดยสารอีกนานนนน เป็นตัวอย่างของผู้ถึงพร้อมด้วยคนทำงานมืออาชีพจริง ๆ

- เป็นการปรับใช้ KM เข้ากับ Training ได้อย่างเนียนลงตัวเกิดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรองค์กรเยี่ยมจริง ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท