Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ตอบคุณธนา : บุตรของบิดาสัญชาติไทยกับมารดาสัญชาติจีนเกิดในประเทศไทยจะถือสัญชาติใดบ้าง ? จะทำอย่างไรให้ถือสัญชาติจีนได้ ?


บันทึกตอบคำถามเกี่ยวกับสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายของประชาชนที่ถามมา โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔

คำถาม

คุณธนา [IP: 203.156.27.66] เข้ามาถาม  อ.แหวว เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๐๖ น.

ใน http://www.gotoknow.org/blog/people-management/259492  

โดยมีใจความว่า “สวัสดีครับ ผมเป็นคนไทยแต่งงานกับหญิงจีนและจดทะเบียนสมรสที่ประเทศจีน ตอนนี้ฝ่ายหญิงทำงานที่เมืองไทย อยากทราบว่าถ้าคลอดลูกที่เมืองไทย ลูกจะเป็นคนไทยหรือคนจีนครับ และถ้าให้ลูกถือสัญชาติจีนจะต้องทำอย่างไรครับ ขอบคุณครับ”

-------

คำตอบ

-------

ประเด็นที่คุณธนาต้องการทราบ ก็คือ (๑) บุตรที่เกิดในประเทศไทยจากตนซึ่งมีสัญชาติไทยและภริยาซึ่งมีสัญชาติจีนจะ “ถือ” สัญชาติของรัฐใดบ้าง ?  และ (๒) ทำอย่างไรบุตรจึงจะถือสัญชาติจีน ?

ขอตอบในประการแรกว่า บุตรของคุณธนาย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาและโดยหลักดินแดน และมีสิทธิในสัญชาติจีนโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา อันทำให้บุตรมีสถานะเป็น “คนที่มีสองสัญชาติ” แต่การใช้สิทธิในแต่ละสัญชาติจะขึ้นอยู่กับกฎหมายสัญชาติของรัฐเจ้าของสัญชาตินั้นๆ ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวของคุณธนา กฎหมายที่เกี่ยวข้องมีอยู่ ๒ กฎหมาย กล่าวคือ (๑) กฎหมายไทยซึ่งเป็นกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติของบิดาและกฎหมายของรัฐเจ้าของดินแดนที่บุคคลเกิด และ (๒) กฎหมายจีน ซึ่งเป็นกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติของมารดา ข้อเท็จจริงของกฎหมายทั้งสอง ณ วันที่ อ.แหววเขียนบันทึกนี้ ก็คือ กฎหมายไทยยอมรับให้ใช้สิทธิในสัญชาติโดยการเกิดได้พร้อมกันได้ ในขณะที่กฎหมายจีนไม่ยอมรับในลักษณะเดียวกัน กล่าวโดยง่ายๆ อีกครั้งว่า กฎหมายไทยยอมรับให้คนสองสัญชาติโดยการเกิดใช้สิทธิในทุกสัญชาติที่มี แต่กฎหมายจีนไม่ยอมรับให้คนสองสัญชาติโดยการเกิดใช้สิทธิในทุกสัญชาติที่มี ถ้าจะใช้สิทธิในสัญชาติจีน ก็จะต้องไม่มีสถานะเป็นคนที่ใช้สิทธิในสัญชาติอื่น

ในประการที่สอง หากคุณธนาประสงค์จะให้บุตรมีและใช้สิทธิในสัญชาติไทย คุณธนาก็ดำเนินการแจ้งการเกิดของบุตรในสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย และเมื่อเขตหรืออำเภอ “รับรอง” บุตรในทะเบียนบ้านซึ่งเป็นทะเบียนคนอยู่ถาวรตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทย  (ท.ร.๑๔) ในสถานะคนสัญชาติไทย บุตรก็จะมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทย บุตรจึงอาจ “ถือ” สัญชาติไทยได้  

ขอให้ตระหนักว่า แม้บุพการีจะไม่แจ้งการเกิดแก่บุตรเพื่อการใช้สิทธิในสัญชาติจีนในขณะที่บุตรเกิดก็ตาม เมื่อบุตรโตขึ้นมา เขาก็อาจไปใช้สิทธิพิสูจน์สัญชาติจีนได้ตราบเท่าที่เขายังไม่เสียสิทธิดังกล่าวตามกฎหมายจีน  แต่ดังได้ให้ข้อมูลแล้วว่า ในวันนี้ กฎหมายจีนยังไม่ยอมรับให้บุคคลธรรมดาใช้สิทธิใน ๒ สัญชาติพร้อมกันไม่ว่าในกรณีใดๆ หากบุตรได้ใช้สิทธิในสัญชาติไทยตามบิดาหรือดินแดนแล้ว นายทะเบียนราษฎรจีนย่อมไม่อาจยอมรับรองสิทธิในสัญชาติจีนของบุตร บุตรก็จะไม่อาจถือสัญชาติจีนได้ เขาจึงต้องสละสิทธิในสัญชาติไทยตามกฎหมายไทยก่อน จึงจะไปใช้สิทธิในสัญชาติจีนตามกฎหมายสัญชาติจีนได้ ในเงื่อนไขนี้ เขาก็จะมีสิทธิ “ถือ” สัญชาติจีน  

ในประการที่สาม หากคุณธนาประสงค์จะให้บุตรมีและใช้สิทธิในสัญชาติจีนคุณธนาก็อาจไปแจ้งการเกิดของบุตรในสถานะคนสัญชาติจีนในทะเบียนราษฎรของรัฐจีนต่อสถานกงสุลจีนในประเทศไทยโดยตรง และเมื่อรัฐจีน “รับรอง” สถานะคนสัญชาติจีนในทะเบียนราษฎรจีนแล้ว บุตรก็จะมีสถานะเป็นคนสัญชาติจีนแต่อย่างใด บุตรจึงอาจ “ถือ” สัญชาติจีนได้ในความเป็นจริง บุตรก็จะได้รับการออกเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลตามกฎหมายจีน โดยทางปฏิบัติ ก็จะถูกบันทึกในหนังสือเดืนทางจีนที่มารดาถืออยู่

 ในประการที่สี่ ในกรณีที่ต้องการให้บุตรถือสัญชาติจีน อ.แหววขอให้คุณธนาพึงระวังหากคุณธนาจะไปร้องขอทำสูติบัตรให้แก่บุตรตามกฎหมายไทยก่อนไปแจ้งการเกิดต่อสถานกงสุลจีนประจำประเทศไทย ก็คือ หากคุณธนาต้องการให้บุตรถือสัญชาติจีน เมื่อได้รับหนังสือรับรองการเกิดที่ออกโดยโรงพยาบาลไทยไปแจ้งการเกิดที่เขตหรืออำเภอไทยเพื่อขอ “สูติบัตร” ซึ่งเป็นเอกสารเพื่อการจดทะเบียนการเกิดตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทย แม้เอกสารนี้จะระบุว่า บุตรมีสัญชาติไทย เพราะนายทะเบียนราษฎรจะตระหนักว่า บิดาเป็นคนสัญชาติไทย แต่อย่าเพิ่มชื่อบุตรในทะเบียนบ้านซึ่งเป็นทะเบียนคนอยู่ถาวรตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทย  (ท.ร.๑๔) ในสถานะคนสัญชาติไทย เพราะหากมีการเพิ่มชื่อบุตรในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะคนสัญชาติไทยแล้ว ก็เท่ากับว่า บุตรได้ใช้สิทธิในสัญชาติไทยแล้ว อันจะทำให้บุตรใช้สิทธิในสัญชาติจีนไม่ได้

ในประการที่ห้า อ.แหววอยากเตือนให้ตระหนักถึงผลเสียของการไม่ถือสัญชาติไทยในประเทศไทยของบุตรเอาไว้ด้วย ขอให้ตระหนักให้ดีว่า การที่คุณธนาไม่ยอมเพิ่มชื่อของบุตรในสถานะคนสัญชาติไทยใน ท.ร.๑๔ จะทำให้บุตร “ถูกถือเป็นคนต่างด้าวโดยมาตรา ๕๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒”  และจะถูกถือโดยรัฐไทยว่า มีสถานะเป็นคนสัญชาติจีน อันทำให้ถูกจำกัดสิทธิอันพึงมีหลายประการอันจำเป็นสำหรับการอาศัยในประเทศไทย อาทิ สิทธิในเสรีภาพที่จะเลือกประกอบอาชีพ หรือสิทธิในการถือครองอสังหาริมทรัพย์

ในประการที่หก อ.แหววก็อยากเรียนว่า  บุตรที่เกิดจากคุณธนานั้นย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด ดังนั้น ตราบเท่าที่ไม่มีการกระทำอันทำให้เสียสัญชาติไทย บุตรก็กลับมาพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยได้ เพื่อขอให้นายทะเบียนราษฎรไทยรับรองเพิ่มชื่อบุตรในทะเบียนบ้านซึ่งเป็นทะเบียนคนอยู่ถาวรตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทย  (ท.ร.๑๔) ในสถานะคนสัญชาติไทย แต่การใช้สิทธิในสัญชาติไทยย่อมกระทบต่อความสามารถที่จะถือสิทธิในสัญชาติจีนหากกฎหมายสัญชาติจีนยังไม่เปลี่ยนแปลง

ปัญหานี้เป็นปัญหาที่น่าสนใจสำหรับโลกที่มีลักษณะโลกาภิวัตน์อย่างยิ่ง คาดว่า ในไม่ช้า กฎหมายสัญชาติจีนก็จะถฏปฏิรูปเพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดตลาดเสรีของจีนเอง เรื่องของสัญชาติในประชาคมโลกมีลักษณะเป็นเสรีภาพมากขึ้น เพราะลัทธิสัญชาตินิยมเริ่มเสื่อมลงทุกวันกับความไร้พรมแดนของสังคมมนุษย์

 

หมายเลขบันทึก: 443415เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2011 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ อ.แหวว

ต้องขอบคุณอ.แหววด้วยนะค่ะ ที่ได้อธิบายคำตอบให้คุณธนา หนูก็เลยได้มาเรียนรู้ไปด้วยค่ะ ^_^

สวัสดีค่ะ อ.แหวน

ขอบคุณอ.แหวนมากนะค่ะที่ตอบคำถามคุณธนา ดิฉันได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากเลย เพราะปัญหาคุณธนาตรงกับดิฉันค่ะ แค่สลับกันดิฉันเป็นคนไทยแต่สามีเป็นจีน แต่เราใช้ชีวิติที่จีน แต่ลูกของเราจะถือ 2 สัญชาติได้ไม่อันนี้ดิฉันกังวลมากค่ะ 

เหมือนกันค่ะสามีเป็นคนจีนค่ะแต่เราเป็นคนไทย. คงไม่ทันแล้วเพราะได้เพิ่มชื่อลูกๆไว้ที่ทะเบียนบ้านแล้ว

ทำอย่างไรดีเด็กถึงจะถือสองสัญชาติได้ค่ะ

คนจีนทั้งสวยทั้งหล่อ

เคยไปเที่ยวเมืองจีน เจอผู้หญิงจีนสวยเยอะ ผู้ชายจีนก็หล่อดูเซ็กซี่ แต่คนจีนส่วนใหญ่ตัวเตี้ยแคระแกร่น มีคนตัวสูงแต่น้อยมาก แต่ผู้ชายชอบถุยน้ำลายบนถนน แต่ไม่ทำในตึก

เป็นคนไม่นิยมฝรั่งทั้งๆ ที่ทำงานแปล เพราะดูหน้าฝรั่งไม่รู้เรื่องว่าหล่อยังไง


ผมเป็นคนไทยภรรยาเป็นคนจีน ลูกผมเกิดที่เมืองไทยได้สัญชาติไทยตามใบเกิด แต่ขอสัญชาติจีนให้ลูกได้เรียบร้อย โดยแปลเอกสารใบเกิด และทะเบียนสมรส เป็นภาษาอังกฤษและจีน รับรองเอกสาร โดยกงสุนไทยและสถานทูตจีน อ่อลืมบอกผมจดทะเบียนสมรสที่เมืองไทย นำเอกสารเหล่านี้ขอสัญชาติจีนตามมารดาได้เลย กฎหมายจีนคือคนจีนห้ามถือ 2สัญชาติ แต่ลูกผมเป็นคนไทยก่อน แล้วค่อยขอสัญชาติจีน เอ๊ะฟังแปลกๆๆ คอนเฟริม

คุณเฉินค่ะ ดิฉันมีสามีจีน อยากปรึกษาเรื่องขอสัญชาติลูก จะติดต่อสอบถามยังไงคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท